เพราะเหตุใด EU จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญๆเกิดขึ้นมากมาย ร้อนแรงไม่ต่างจากอุณหภูมิในบ้านเราเลย ไม่ว่าจะเป็นในบ้านเราที่เกิดเหตุไฟไหม้ Central World หรือเหตุการณ์ไฟไหม้มรดกโลกอย่างวิหาร Notre Dame แต่สำหรับพี่ทุยแล้วอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มีความร้อนแรงไม่แพ้กันก็คือข่าวเรื่อง Brexit เนี่ยแหละ พี่ทุยบอกเลยว่า หากเหตุการณ์มันลุกลามใหญ่โตและจบไม่สวยมันอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าไฟไหม้เสียด้วยซ้ำ

ในช่วงนี้ วิทยุ ทีวีต่างๆก็ยังจะพูดถึงคำว่า “No deal Brexit” มันคืออะไรมีความสำคัญอย่างไร บทความนี้พี่ทุยจะเล่าให้ฟัง สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยพี่ทุยจะสรุปเหตุการณ์ของ Brexit ให้อีกรอบรวมถึงคำศัพท์ต่างๆ สำหรับผู้ที่อยากติดตามข่าวนี้  Brexit เนี่ยมันก็ย่อตรงๆเลย มาจาก British Exit หรือแปลง่ายๆ ก็คือ การที่สหราชอาณาจักรหรือประเทศอังกฤษขอออกจากสหภาพยุโรป (EU)

โดยที่ EU เนี่ยก็คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในยุโรป ซึ่ง EU รวมกันถึงขนาดที่ใช้เงินสกุลเดียวกันแล้วก็คือเงินยูโรนั่นเอง และใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายร่วมกัน นอกจากนั้นยังมีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีด้วย ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เรามีแค่ Schengen Visa เราก็เดินทางไปเกือบทั่วยุโรปได้แล้ว จริงๆแล้วบ้านเราก็พยายามจะทำคล้ายๆ กับ EU นั่นแหละที่เราเรียกว่า AEC คือการรวมกลุ่มกันในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลายคนคงแปลกใจว่า อยู่กลุ่มใหญ่ๆ จริงๆก็ดีอยู่แล้วไม่ใช่หรอ จะออกทำไม ตามที่นักวิเคราะห์ต่างๆทั่วโลกเขาคิดกันก็มีมากมายหลายเหตุผล แต่พี่ทุยอยากจะยกขึ้นมา 2 ข้อใหญ่ๆ ที่เห็นภาพตามง่ายๆแล้วกัน

1. เหตุผลทางเศรษฐกิจ

ถ้ายังจำกันได้หลังจากการวิกฤตเศรษฐกิจ Subprime ในปี 2009 หลายประเทศในกลุ่ม EU ก็เกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างยาวนานและยากจะแก้ไขโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประเทศ Greece ซึ่งนับเป็นความล้มเหลวอย่างยิ่งของกลุ่ม EU แล้วนอกจากนี้อังกฤษต้องจ่ายค่าสมาชิกที่เป็นเงินจำนวนมากเพื่อที่จะนำเงินส่วนนี้คอยช่วยเหลือประเทศต่างๆในกลุ่มสมาชิกที่เกิดปัญหา ซึ่งนับเป็นอีกประเด็นที่สร้างความไม่พอใจแก่คนบางกลุ่มในอังกฤษอย่างมาก

2. ความเป็นชาตินิยมของคนอังกฤษ

คนอังกฤษขึ้นชื่อเลยว่าเป็นพวกชาตินิยมรุนแรงมาก ตามที่พี่ทุยได้เล่าไปว่าในกลุ่ม EU เนี่ยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้เสรีเลยหรือก็คือคนเดินทางไปทำงานที่ไหนก็ใน EU ได้อย่างอิสระสะดวกสบายเลย ประกอบกับพิษเศรษฐกิจที่ตกต่ำ จึงทำให้แรงงานจำนวนมากไหลเข้ามาในมาในอังกฤษ ถึงขนาดที่ว่ามี ผลสำรวจของของมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง Oxford ไปสอบถามปัญหาทั่วๆไปของคนอังกฤษ พบว่ามีถึง 45 % ที่ตอบว่าปัญหาอพยพแรงงานเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดในช่วงนั้นกันเลยทีเดียว

จริงๆก็เหมือนอารมณ์ครูเอาเด็กห้องบ๊วยมาเรียนรวมกับเด็กห้องคิง พอเด็กห้องบ๊วยเพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆทีละคนสองคน ห้องก็เริ่มแน่นอัดแอ มันย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับเด็กห้องคิงบางคนอย่างแน่นอน ทรัพยากรเท่าเดิมแต่คนร่วมใช้เยอะขึ้นก็ไม่แฮปปี้เป็นธรรมดา

ทีนี้บ้านเมืองเขาเนี่ยไม่ใช่ไม่พอใจอะไรนึกอยากจะเข้าก็เข้า อยากออกก็ออกได้ง่ายๆแบบนั้น เขาจึงมีการโหวตกันในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 ที่เราเรียกกันว่า Referendum คำถามให้โหวตก็ง่ายๆเลยคือ อยู่ต่อหรือออก ปรากฏว่าผลสูสีกันมากฝ่ายโหวตออกได้คะแนนไป 51.9% หลายคนคงเริ่มสงสัยว่าโหวตรู้ผลกันตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว ทำไมปัจจุบันก็ยังมีการคุยกันเจราจากันอยู่เลย

จริงๆ ตอนแรกเขาตกลงกันว่าจะออกในวันที่ 29 มีนาคม 2019 แต่แล้วก็เหมือนการเจรจายังไม่บรรลุผลเท่าไหร่จึงเลื่อนมาในวันที่ 12 เมษายน 2019 ซึ่งพี่ทุยก็นั่งลุ้นผลกันตัวโก่งเลยทีเดียว ผลออกมาว่าเลื่อนอีกเช่นเดิม เป็นไป 31 ตุลาคม 2019

คำถามที่ว่าทำไมถึงออกยากออกเย็นแบบนี้ แล้วทำไมพี่ทุยถึงต้องลุ้นผลแบบนี้ด้วยล่ะ จริงๆแล้วในช่วงแรกที่อังกฤษ จะออกจาก EU ใหม่ๆ กระแส Referendum ก็แรงมากจริงๆ สำนักวิเคราะห์ต่างๆ กลัวมากว่าจะไม่จบแค่ UK เท่านั้นอาจจะมีการทำ Referendum ในหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และอาจถึงขนาดทำให้ EU แตกเลยก็เป็นได้ แล้วถ้า EU แตกจริงๆ ก็คงวุ่นวายน่าดูไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้าต่างๆ ที่เคยผ่านเข้าออกได้เต็มที่ไม่มีภาษีใดๆ จู่ๆจะเก็บภาษีขึ้นมา หรือจะสกุลเงินที่ไม่ได้ใช้มานานแล้วต้องนำกลับมาใช้ใหม่จะคิดค่าเงินเท่าไหนอย่างไร แค่คิดพี่ทุยก็ปวดหัวแล้ว แต่ตอนนี้ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีเหตุการณ์แนวๆนี้ขึ้นมาเราก็ติดตามกันต่อไป

แต่สิ่งที่ทำให้การออกจากกลุ่มของอังกฤษทำได้ยาก พี่ทุยคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ “เกมส์การเมือง” ด้วย เนื่องจากว่า EU เองเนี่ยก็พยายามที่จะรักษาอำนาจต่างๆ ของตัว EU ไว้เหมือนกัน โดยการแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่ากลุ่มเศรษฐกิจของเขายังแข็งแกร่งเช่นเดิมอยู่ ไม่ได้มีความแตกแยกใดๆ ตัวประเทศอังกฤษเองต่างหากที่อยากจะออกก็ออกไปไม่สนใจ

ซึ่งถ้าจะย้อนกลับไปตัวอย่างที่พี่ทุยเปรียบเทียบตอนแรกเรื่องเด็กห้องคิง EU ก็คงมองว่าตัวเองก็เป็นเด็กห้องคิงเช่นกันและเป็นเสียงส่วนใหญ่ด้วย ไม่แคร์หรอกจะง้อคนที่อยากออกทำไม จึงเป็นที่มาว่าหลายๆ สำนักวิเคราะห์ถึงพยายามที่จะทายว่าผลการออกจะเป็นแบบไหนไม่ว่าจะเป็น Soft Brexit หรือ Hard Brexit หรือ No deal Brexit หรือหมายความง่ายๆว่า ออกแบบง่าย ยากและแบบไร้ข้อตกลง

จริงๆ แล้วข้อตกลงในการออกที่เป็นผลดีที่สุดของอังกฤษ ก็คงจะเป็นการออกแบบที่ตกลงการค้าแบบนอร์เวย์คือ อังกฤษยังอยู่ในสหภาพศุลกากรอยู่ (Customs Union) ก็คือยังคงทำการค้าเสรีกับประเทศใน EU ได้อยู่ และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าสมาชิกที่แพงมหาศาลด้วย แต่อันนี้ส่วนตัวพี่ทุยมองว่าเป็นไปได้ยากมากกกกกกก !!

EU คงไม่ยอมแน่นอน แล้วผลก็เป็นอย่างงั้นจริงๆ EU ได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2018 ดังนั้น Hard Brexit กับ No Deal ซึ่งเป็นที่การออกแบบยากขึ้นมาหน่อยก็เลยมีความน่าจะเป็นมากขึ้น โดยการออกทั้ง 2 แบบคงจะเกี่ยวข้องกับการระงับสิทธิ์ของอังกฤษ เรื่องภาษีในการนำเข้าส่งออกสินค้ากับ EU อย่างแน่นอน

แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆก็จะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ผู้ส่งออกอย่างมาก แล้วอีกส่วนนึงที่น่าจะโดนผลกระทบไปด้วยก็คือภาคการเงินการลงทุนที่อยู่อังกฤษ มีนักวิเคราะห์มองว่าการทำธุรกรรมทางการเงินของอังกฤษ อาจจะติดขัดและถึงขนาดทำให้ภาคการเงินต่างๆ ย้ายออกจากอังกฤษไปอยู่ฝั่ง EU มากขึ้นอาจทำให้ มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และก่อให้เกิดปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมาราคาที่อยู่อาศัยในอังกฤษก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆเช่นกันจากความกังวลดังกล่าว

แต่ไม่ว่าการออกจะเป็นแบบไหนก็ตามมัน พี่ทุยว่าอังกฤษ และ EU คงวุ่นวายมากๆแน่ๆแหละ รวมถึงความเชื่อมั่นในการลงทุนต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบทางลบไปด้วยแน่ๆ

Brexit ส่งผลกระทบกับไทย ตรงไหน ยังไงบ้าง ?

ก่อนอื่นเลยพี่ทุย อยากจะให้ดูข้อมูล World GDP ซักเล็กน้อย ตั้งแต่ประมาณปี 2000 เป็นต้นมา UK ถือว่าเป็นประเทศที่มี GDP มาเป็นอันดับต้นๆของโลกมาโดยตลอดติด TOP 5 แทบจะทุกปีเลยนะ จะเป็นรองก็เพียงแค่ จีน อเมริกา ญี่ปุ่นและเยอรมันเท่านั้นเอง นอกจากนี้ 5 ประเทศที่กล่าวไปก็นับเป็น GDP ของโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่งเสียแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจของ UK และประเทศในกลุ่ม EU มีความสำคัญค่อนข้างมากต่อทิศทางเศรษฐกิจโลก

เพราะเหตุใด EU จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

ที่มา: Knoema

ทีนี้หันมาดูประเทศเรากันบ้าง พี่ทุยคิดว่าประเทศไทยมีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นทุกวัน สังเกตง่ายๆ เศรษฐกิจปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับ “การส่งออก” ค่อนข้างมาก เราให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวจีน ตลาดหุ้นบ้านเราก็ขึ้นอยู่กับเงินทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก

นอกจากนี้เรายังสามารถดูได้จาก “อัตราการเปิดประเทศ (Degree of Openness)” ที่คำนวณโดยการนำ ปริมาณส่งออกและนำเข้าหารด้วย GDP ซึ่งพี่ทุยลองไปคำนวณดูจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เราเปิดประเทศขึ้นมากจริงๆ จากประมาณไม่เกิน 120% ในช่วงปี 2000 ปัจจุบันเราอยู่ที่ประมาณ 146% ในปี 2018 นอกจากนี้ การส่งออกเป็นแรงส่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดและมีน้ำหนักใน GDP ค่อนข้างมาก จากประมาณ 36% ในปี 1993 เพิ่มเป็นเกือบ 70% ในปัจจุบัน

เพราะเหตุใด EU จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ หากมาดูกันให้ลึกอีกซักหน่อย โดยดูจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยทั้งหมด (Trading Partner‘s GDP) พี่ทุยไปหยิบของแบงก์ชาติที่เขามีการคำนวณไว้แล้ว โดยให้น้ำหนักตามปริมาณการส่งออกของไทยไปประเทศต่างๆ จะพบว่า กลุ่ม EU มีน้ำหนักประมาณ 10% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่น้อยเหมือนกัน

เพราะเหตุใด EU จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมากทั้งในรูปแบบของการส่งออกสินค้าและส่งออกบริการ

จากข้อมูลทั้ง 3 อย่างที่พี่ทุยได้เล่าไป พี่ทุยจึงอยากสรุปว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมากทั้งในรูปแบบของการส่งออกสินค้าและส่งออกบริการ” หนำซ้ำ EU ยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญกับประเทศไทยอีกด้วย และนอกจากนี้ตัวประเทศอังกฤษและ EU ยังมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก จึงอาจกล่าวได้ว่าอนาคตของเศรษฐกิจไทยเราก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ Brexit และนี่เป็นผลในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้นยังไม่นับรวมความผันผวนในตลาดทุน การไหลเข้าออกของเงินทุนต่างๆที่จะเกิดขึ้น นี่แหละเป็นเหตุผลว่าทำไมพี่ทุยถึงนั่งลุ้นผล Brexit ว่าจะเป็นเช่นไร หากออกมาไม่ดีมันย่อมส่งผลกับไทยค่อนข้างมากอย่างแน่นอน

จริงๆแล้วผลกระทบของ Brexit เนี่ยก็เป็นไปได้หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับมองมุมของแต่ละคน นักวิเคราะห์ในประเทศตอนนี้จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกจะมองว่า Brexit จะส่งผลกระทบในเชิงลบกับอังกฤษเองเท่านั้น หากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากไทยมีความสัมพันธ์ด้านการส่งออกกับอังกฤษไม่มากและบางสำนักวิเคราะห์ว่าเป็นโอกาสดีเสียด้วยซ้ำที่จะได้เจรจาทางการค้ากับอังกฤษใหม่ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง เชื่อว่า Brexit จะก่อให้เกิดความผันผวนต่อ EU ด้วยเช่นกันโดยจะทำให้เศรษฐกิจของ EU ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก มีเงินทุนไหลออกจาก EU เป็นจำนวนมากไปเนื่องจากไม่เชื่อมั่นในสกุลยูโรอีกต่อไปจะหันกลับไปถือครองดอลลาร์ จึงทำให้ปริมาณการค้าโลกชะงักไปอาจรวมถึงค่าเงินมีความผันผวนด้วยเช่นกัน หากเป็นเช่นนี้จริงๆ World GDP คงลดลงเป็นอย่างมากและน่าจะส่งผลกระทบต่อไทยค่อนข้างมากทีเดียวทั้งในด้านการส่งออก ค่าเงิน และด้านตลาดทุน

แต่ในตอนนี้เนื่องจาก Brexit ยังหาข้อสรุปไม่ได้และยังเลื่อนออกไป ผนวกกับเหตุการณ์ Trade War บวกกับ IMF ออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจชะลอทั่วโลกอีก จึงทำให้บรรยากาศต่อการลงทุนไม่สู้จะดีนักและดูเหมือนจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ อะไรๆก็ยังไม่แน่นอนอะไรๆ ก็มีความเสี่ยง หน่วยงานต่างๆของบ้านเราไม่ว่าจะแบงก์ชาติ สำนักเศรษฐกิจการคลัง เริ่มที่จะพูดตรงกันว่าเห็นสัญญาณชะลอการลงทุนค่อนข้างชัดเจน

พี่ทุยก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสุดท้ายแล้ว Brexit จะจบลงเช่นไร แต่สิ่งหนึ่งที่พี่ทุยค่อนข้างแน่นอนก็คือ ประเทศไทยของเราเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจพูดได้ว่าเหตุการณ์ของโลกก็เหมือนเหตุการณ์ของเรานั้นแหละ ยังไงก็ตามถ้าเหตุการณ์ Brexit มีความคืบหน้าพี่ทุยจะมารายงานให้ฟังเป็นระยะนะจ้ะ