การวางแผนเชิงกลยุทธ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

ความสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์

          ถ้าเราสังเกตข่าวสารสำคัญในรายการโทรทัศน์  วิทยุ  และวารสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ  ไม่ว่าจะภายในหรือต่างประเทศ   จะพบว่าเนื้อความในข่าวจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและผลกระทบที่จะพึงมีต่อการดำเนินของธุรกิจในอนาคต  เช่น  การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม  ดรรชนีทางเศรษฐกิจหรือการเปิดเสรีทางการค้า  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนถึงความสำคัญของการศึกษากลยุทธ์ธุรกิจ โดยเฉพาะการประกอบธุรกิจในโลกปัจจุบันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ อย่างรวดเร็ว   ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง  และเทคโนโลยี  ตลอดจนกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของธุรกิจ  เช่น  ผู้ขายวัตถุดิบ  ลูกค้า  และคู่แข่งขัน  เป็นต้น  ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานขององค์การใน  ด้านต่างๆ  เช่นการตลาดการเงินการผลิตและการบริการแม้กระทั่งการดำเนินกิจกรรมภายในองค์การก็ล้วนแต่ได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งสิ้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้สร้างแรงกดดันให้กับองค์การทั้งในด้านระยะเวลาของการตอบสนองที่หดสั้นลงตลอดจนความสลับซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นของกระบวนการทางธุรกิจ  ส่งผลให้ผู้บริหารต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล  สามารถตัดสินใจในโอกาสหรือปัญหาที่เผชิญอยู่  โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่มีต่อองค์การอย่างเหมาะสม

การที่บุคคลโดยเฉพาะผู้ที่สนใจศึกษาในสาขาวิชาบริหารธุรกิจสามารถนำความรู้  ทักษะและความชำนาญในสาขาวิชาต่างๆ  ที่เรียนมาไปประยุกต์ในการทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในกลยุทธ์เป็นอย่างดี  โดยที่การจัดการเชิงกลยุทธ์จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถบูรณาการความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจเข้าด้วยกัน  เพื่อให้เข้าใจศักยภาพของธุรกิจอย่างเต็มที่  ซึ่งจะช่วยให้บุคคลมีความเป็นนักบริหารที่สมบูรณ์  นอกจากนี้หลักการของการจัดการเชิงกลยุทธ์ยังช่วยให้ผู้บริหารสามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยที่การจัดการเชิงกลยุทธ์มีประโยชน์ต่อองค์การ 4 ประการดังต่อไปนี้

1. กำหนดทิศทางขององค์การ (Set Direction) กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยให้ผู้บริหารเกิดความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงและมีวิสัยทัศน์ต่ออนาคต  ทำให้สามารถกำหนดวัตถุประสงค์และทิศทางการดำเนินงานของธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. สร้างความสอดคล้องในการปฏิบัติ (Harmony) การจัดการเชิงกลยุทธ์ให้ความสนใจกับการกำหนด  การประยุกต์  การตรวจสอบ  และการควบคุมกลยุทธ์ขององค์การในฐานะระบบที่ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญต่างๆ  รวมเข้าด้วยกัน  แนวคิดนี้ก่อให้เกิดวิสัยทัศน์และความเข้าใจร่วมกันในวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินธุรกิจ  ซึ่งจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรและการดำเนินงานเป็นเอกภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การ

3. สร้างความพร้อมให้แก่องค์การ (Provide Readiness)  การศึกษา  การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและการกำหนดกฉยุทธ์  ช่วยให้ผู้บริหาร  ผู้จัดการในส่วนต่างๆ และองค์การเกิดความเข้าใจในภาพรวมและศักยภาพของธุรกิจ  ตลอดจนอิทธิพลของปัจจัยที่มีต่อองค์การ  ทำให้องค์การมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายที่จะเกิดขึ้น

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

รูปที่ 1.3 ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่มีต่อองค์การ

4. สร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน (Improve Competitive Efficiency) การจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยสร้างประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ  เนื่องจากการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ช่วยพัฒนาความสามารถของผู้บริหาร  ขณะเดียวกันก็ช่วยเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักปภาพแก่สมาชิก  ตลอดจนช่วยสร้างความเข้าใจและแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและคู่แข่งขัน  ประการสำคัญ การจัดการเชิงกลยุทธ์ช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจในภาพรวม  ความต้องการขององค์การ  และความสามารถในปัจจุบันขององค์การ  จึงทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการดำเนินงานและเป้าหมาย  ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานอย่างเหมาะสมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร

รูปที่ 1.4 ความสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์

ปัจจุบันการจัดการเชิงกลยุทธ์ได้ทวีความสำคัญต่อการดำรงอยู่และการเจริญเติบโตของธุรกิจ        ซึ่งธุรกิจที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ผู้บริหารต้องมีความสามารถในการทําความเข้าใจทำการปรับตัว  และฉกฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสม  ดังคำกล่าวของ      สมชายภคภาสน์วิวัฒน์ (2540) ในหนังสือเรื่อง“ กลยุทธ์การแข่งขันของธุรกิจ” ที่ว่า“ ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม  อาจกล่าวได้ว่าการบริหารเชิงกลยุทธ์กลายเป็นหัวใจสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจสมัยใหม่  โดยเฉพาะธุรกิจไทยที่กำลังเผชิญการท้าทายจากการแข่งขันที่ไร้พรมแดน” ดังนั้นผู้บริหารที่จะประสบความสำเร็จในการแข่งชั้นสำหรับอนาคตไม่เพียงแต่จะต้องเป็นผู้จัดการที่ดี  แต่จะต้องเป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ (Strategic Leader) ที่เก่ง  เพื่อที่จะนำพาองค์การของตนไปสู่เป้าหมายอย่างราบรื่นและคงรักษาความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

ผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องการจัดการเชิงกลยุทธ์จากผลงานของท่าน ผอ.พงศ์พันธุ์ ไชยวัณณ์ อดีตผอ.สพป. ชม. 4 ที่ได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ เห็นว่ามีประโยชน์จึงได้นำมาขยายผลให้ผู้อ่านที่ชื่นชอบการจัดการเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ได้ศึกษาเพิ่มเติม โดยการจัดการเชิงกลยุทธ์ มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
ผอ.พงศ์พันธุ์ ไชยวัณณ์
  • Wheelen  และ Hunger (2006)  ให้ความหมายของการจัดการเชิงกลยุทธ์ว่า  หมายถึง  การตัดสินใจในการปฏิบัติการเพื่อให้องค์การประสบผลสำเร็จในการดำเนินการในระยะยาว
  • Pearce  และ Robinson (2009)  ให้ความหมายการจัดการเชิงกลยุทธ์ว่า คือชุดการตัดสินใจของการกระทำที่ส่งผลให้เกิดการทำแผนและการปฏิบัติตามแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
  • วรางคณา   ผลประเสริฐ (2556:6) ได้ให้ความหมายไว้ว่าการจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการบริหารอย่างมีระบบที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ผู้ของผู้นำและอาศัยการวางแผนอย่างมีขั้นตอน โดยผ่านการตัดสินใจและการประเมินแล้วว่าเหมาะสมกับองค์การและสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์การ

สรุป การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการจัดการอย่างเป็นระบบจากวิสัยทัศน์ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินอย่างเป็นระบบเพื่อการวางแผนดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์สู่ความสำเร็จ


ความสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์

การจัดการเชิงกลยุทธ์ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้นักบริหารกำหนดทิศทางขององศ์กร โดยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์กร เพื่อที่จะนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปประยุกต์ปฏิบัติและควบคุมประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรได้ กลยุทธ์การบริหารที่ทรงคุณภาพนี้ จะต้องดีพร้อมสมบูรณ์ตามความหมายทั้ง 2 อย่างคือ การมีประสิทธิผล(Effectiveness) ที่สามารถบรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายนั้นๆได้ และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่สำเร็จในเป้าหมายเหล่านั้นโดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดด้วย