กาพย์ห่อโคลงนิราศ ธาร โศก ข้อคิด

ประวัติกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

            กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง เป็นบทประพันธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชย

เชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเมื่อครั้นตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บรมโกศโดยชลมารคไปมนัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี ทั้งนี้่คำว่าธารทองแดงเป็นชื่อ

ลำน้ำที่เขาพระพุทธบาท ที่อยู่ในบริ เวณพระพุทธบาท อันเป็นที่รื่นรมย์ด้วยธรรมชาติ มี

สัตว์ต่าง ๆ และพันธุ์ไม้ต่าง ๆ อยู่มากมาย

            นอกจากนี้ ที่แห่งนี้เป็นบริเวณที่ตั้งพระตำหนักธารเกษม ที่มีมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ในหนังสือปริทรรศน์แห่งวรรณคดีไทยของ "นายตารา ณ เมืองใต้" ซึ่งเรียบเรียงเมื่อ พ.ศ. 2484 เรียกชื่อวรรณคดีเรื่องนี้ว่า "กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง" ตามลักษณะคำประพันธ์และเนื้อเรื่อง

            ต่อมาเมื่อกรมศิลปากรอนุญาตให้นำเรื่องนี้ไปพิมพ์รวมกับพระนิพนธ์เรื่องอื่นของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร เพื่อเผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาเลขวณิชธรรมวิทกษ์ (เยี่ยม เลขะวณิช) ใน พ.ศ. 2505 ก็ได้เขียนคำนำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เรียกชื่อว่า นิราศ โดยเทียบกับชื่อพระนิพนธ์อีกเรื่องหนึ่งที่แต่งคู่กันคือ กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเรื่องนี้มีชื่อว่ากาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง และเข้าใจเช่นนี้มาจนกระทังปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในหนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์จะใช้ชื่อเดิมว่า กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

ประวัติเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง

            เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่ 1 ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชย์ได้สถาปนาตั้งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงมีพระนิสัยสืบมาจากบรรพชนหลายประการ  คือมีพระนิสัยเป็นกวีอย่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงดุดันเหมือนสมเด็จพระเจ้าเสือ เช่น เมื่อครั้งหนึ่งเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงใช้พระแสงดาบไล่ฟันกรมขุนสุเรนทรพิทักษ์ ซึ่งดำรงเพศเป็นภิกษุ จนเป็นเหตุให้ต้องหนีไปผนวชอยู่เป็นเวลา 2 ปี ณ วัดโคกแสง เพื่อให้พ้นพระราชอาญา และขณะที่ทรงหนีไปผนวชนั้น ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนา 2 เรื่อง คือ นันโทปนันทสูตรคำหลวงกับพระมาลัยคำหลวง

           ต่อมาเจ้าฟ้ากุ้งได้ลาสมณเพศเมื่อ พ.ศ. 2284 ซึ่งพระบิดาคงจะประทานอภัยหายกริ้วแล้ว จึงโปรดให้ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราช ในระหว่างนี้เจ้าฟ้ากุ้งได้นิพนธ์เรื่องทำนองพิศวาสที่ทำให้พระองค์ได้มีชื่อเสียงว่าเป็นกวีเอกผู้หนึ่ง คือ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท และที่ดีที่สุด คือ กาพย์เห่เรือ อย่างไรก็ตามเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2298 เพราะทรงเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลซึ่งเป็นพระสนมในพระราชบิดา เป็นเหตุให้ต้องพระราชอาญาโบยจนสิ้นพระชนม์

            สำหรับงานนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย คือ นันทโปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง กาพย์เห่เรือ กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาทและเพลงยาว

 ลักษณะคำประพันธ์กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

            กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง มีลักษณะทางฉันทลักษณ์ดังนี้ ขึ้นต้นด้วยกาพย์ยานี 1 บท แล้วตามด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บทใจความเหมือนกัน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง นั้นมีกาพย์ยานีและโคลงสี่สุภาพรวม 108 คู่ และโคลงปิดท้ายมี 2 บท จุดประสงค์ในการแต่ง คือ เป็นบทชมธรรมชาติ เพื่อความเพลิดเพลินในการเดินทาง  เพื่อพรรณนากระบวนเสด็จทางสถลมารคจากท่าเจ้าสนุกถึงธารทองแดง และพรรณนาธรรมชาติบริเวณธารทองแดง ซึ่งเป็นธารน้ำที่อยู่ในบริเวณพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ข้อคิดที่ได้จากกาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง

 คุณค่าที่ได้รับโคลงประพาสธารทองแดงมีหลายข้อ ดังต่อไปนี้...

        -ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ เพื่อให้ระบบนิเวศน์ดีขึ้น

             -การรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเป็นหน้าที่ของทุกคน

             -กวีสามารถสร้างสรรค์งาน โดยอาศัยการสังเกตจากธรรมชาติ

             -การบันทึกประวัติศาสตร์จะอาศัยข้อมูลจากวรรณคดีในแต่ละสมัย

             -การเขียน-อ่านคำประพันธ์ ทำให้มนุษย์มีจิตใจที่ละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้น

           เมื่อเราได้ศึกษากาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงแล้ว จะเห็นได้ว่ากาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดงมีคุณค่าและความจรรโลงใจให้กับผู้อ่านได้มากมาย ทั้งยังทำให้ผู้อ่านมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพืชพรรณต่าง ๆ สัตว์นานาชนิด ในขณะเดียวกันก็จะได้ศึกษาวิธีการใช้ถ้อยคำของกวีที่สามารถเลือกสรรคำที่เข้าใจง่าย สื่อความหมายได้อย่างชัดเจนอีกด้วย และยังทำให้เห็นว่าวรรณคดีไม่ใช่เรื่องที่อ่านยาก เข้าใจยาก หรือน่าเบื่อแต่อย่างใด

ที่มา : http://education.kapook.com/view104577.html

วิดีโอ YouTube