ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร

ถึงจะอยากให้ สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามใหญ่ครั้งสุดท้าย แต่ 20 ปีผ่านไป สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้นอีกครั้ง (แถมยังร้ายแรงกว่าเดิมมาก ๆ เลยด้วย) ว่าแต่… สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นได้อย่างไร และนอกจากการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีเหตุการณ์อะไรที่สำคัญอีกบ้าง วันนี้บทเรียนออนไลน์จาก StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปหาคำตอบ

(แต่เราขอเตือนไว้ก่อนว่าบทความนี้ยาวมาก ๆๆๆๆ ถ้าเพื่อน ๆ อยากรู้สรุปสงครามโลกครั้งที่ 2 แบบรวดเร็วภายใน 30 นาที เราแนะนำให้โหลดแอปฯ StartDee มานั่งฟังกันดีกว่านะ)

ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร

 

สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1939 และจบลงในปี ค.ศ. 1945 กินเวลาราว 6 ปีและมีมูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถือว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุด สร้างความเสียหายมากที่สุด และมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ว่าแต่สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร ? ทำไมเราถึงต้องรบกันอีกครั้ง ? ไปดูกันดีกว่าว่าก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการ เกิดอะไรขึ้นบ้างในโลกของเรา

สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร

The signing of the treaty of peace at Versailles, 28 June 1919. Wikimedia Commons.

‘สนธิสัญญาแวร์ซาย’ ที่เซ็นไปหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 1 มีเนื้อหาที่ค่อนข้างไม่เป็นธรรมต่อผู้แพ้สงครามอย่างเยอรมนี นอกจากการกดขี่ด้านการค้า เศรษฐกิจ และสิทธิการถือครองดินแดน เยอรมนียังต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามกว่า 132 พันล้านมาร์คทอง* (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 269 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 92 ปีกว่าจะชดใช้ได้หมด ปัญหาที่ตามมาคือความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจในเยอรมนี เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เงินมาร์คในสาธารณรัฐไวมาร์ (สถานะของเยอรมนีในช่วง ค.ศ. 1918 - 1933) ด้อยค่าลงอย่างมาก

*มาร์ค (Mark) หรือมาร์คทอง (Goldmark) เป็นสกุลเงินของจักรวรรดิเยอรมัน สาเหตุที่เรียกว่ามาร์คทองเพราะใช้มาตรฐานทองคำในการเปรียบเทียบ โดย 2,790 มาร์คทองสามารถแลกทองคำบริสุทธิ์ได้ 1 กิโลกรัม

 

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression)

ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ยุโรปบอบช้ำในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นคือด้านเศรษฐกิจ ในช่วงนี้หลาย ๆ ประเทศในยุโรปจึงต้องฟื้นฟูประเทศและระบบเศรษฐกิจให้กลับมาดีดังเดิม โดยยุโรปได้รับความช่วยเหลือด้านสินเชื่อและอุตสาหกรรมจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ

แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ทั่วโลกก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย* เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่รวมภาวะเงินเฟ้อยิ่งยวด (Hyperinflation) ในหลายประเทศทั่วยุโรป ก็ทำให้ชีวิตของประชาชนดำเนินไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะเงินเฟ้อนี้ยังทำให้พรรคนาซีได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) จึงกลายมาเป็นผู้นำคนสำคัญของเยอรมนีในเวลาต่อมา

*ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนี้เช่นกัน และปัญหาด้านเศรษฐกิจที่สั่งสมมายาวนานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในเวลาต่อมาด้วย

 

ลัทธิฟาสซิสต์และแนวคิดยึดมั่นในตัวผู้นำ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นผู้นำของพรรคนาซี (Nazi: National Socialist German Workers’ Party*) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด (Far - right party)  มีนโยบายแบบประชานิยม ส่งเสริมให้ประชาชนรักชาติ เชิดชูความยิ่งใหญ่ของชาติเยอรมันและเชื้อสายชาวอารยัน โดยฮิตเลอร์ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับผู้นำที่แข็งแกร่งมาจากเบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ผู้นำของอิตาลีและ ‘ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)’ ในขณะนั้น เมื่อฮิตเลอร์นำแนวคิดแบบฟาสซิสต์มาปรับใช้กับพรรคนาซีก็ส่งผลให้พรรคนาซีประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งของเยอรมนี และทำให้เยอรมนีกับอิตาลีเป็นพันธมิตรหลักต่อกันในช่วงสงคราม

* หรือ NSDAP: Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei ในภาษาเยอรมัน

ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร

The infamous 1936 Nuremberg Rally (Alamy), independent.co.uk.

การขยายอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่น

ลัทธิฟาสซิสต์กลายเป็นแนวคิดหลักของฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และนอกจากในยุโรป แนวคิดแบบฟาสซิสต์ยังขยายอิทธิพลมาถึงเอเชียด้วย ยกตัวอย่างเช่นการปกครองของญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ที่ทหารเริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง และนำแนวคิดแบบฟาสซิสต์มาปรับใช้เพื่อส่งเสริมความยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ จากนั้นญี่ปุ่นก็เริ่มขยายอำนาจด้วยการบุกยึดแมนจูเรียของจีนและก่อตั้งประเทศแมนจูกัว รวมถึงยกกองกำลังทหารไปยึดประเทศอื่น ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินี 

 

การขยายดินแดนของเยอรมนี

เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ในช่วง ค.ศ. 1930 เยอรมนีเองก็ขยายดินแดนในยุโรปเรื่อย ๆ ด้วยการเข้ารวมกับออสเตรีย ไปจนถึงการเข้ายึดครอง Sudeten (Sudetenland) ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างเยอรมนีและประเทศเชโกสโลวาเกีย การขยายอำนาจด้วยการเข้ายึดครองดินแดนของประเทศเพื่อนบ้านทำให้ประเทศต่าง ๆ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด เนื่องจากกลัวว่าเยอรมนีจะก่อสงครามเพื่อสร้างความเป็นใหญ่ในยุโรปอีกครั้ง (ซึ่งฮิตเลอร์ก็ทำจริง ๆ ในเวลาต่อมา)

 

ความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติ

การขยายอำนาจของนาซีเยอรมนีและญี่ปุ่นหนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ แต่องค์การสันนิบาตชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพในโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการบุกแมนจูเรียของญี่ปุ่น การบุกเอธิโอเปียของอิตาลี การบุกยึดดินแดนของเยอรมนี สิ่งนี้แสดงถึงความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติ และทำให้องค์การสันนิบาติชาติถูกยุบในเวลาต่อมา

 

จุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2

 

“ดูสภาพกรุงวอร์ซอเสียให้เต็มตา นี่คือวิธีที่ฉันจะจัดการกับเมืองในยุโรปเมืองไหนก็ได้”

— อดอล์ฟ ฮิตเลอร์กล่าวกับนักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ขณะทัวร์รอบกรุงวอร์ซอในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1939,  The Mental Floss History of the world, P. 431

 

ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีใช้ยุทธการสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) บุกโปแลนด์แบบไม่ทันตั้งตัว และในที่สุดก็ยึดกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์มาครองได้ ทว่าในตอนนั้นโปแลนด์แยกตัวออกมาจากรัสเซียแล้ว และอังกฤษกับฝรั่งเศสก็มีส่วนในการรับรองเอกราชนี้ด้วย การบุกโปแลนด์ของนาซีเยอรมันถือเป็นการละเมิดอธิปไตยของโปแลนด์ ทำให้สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนีอย่างเป็นทางการ

 

ใครเป็นใครในสงครามโลกครั้งที่ 2

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เราสามารถแบ่งคู่ขัดแย้งได้เป็นสองฝ่ายหลัก ๆ คือ ฝ่ายอักษะ (Axis) และฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies) ผู้นำที่สำคัญของฝ่ายอักษะ ได้แก่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซี - เยอรมัน เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini) ผู้นำอิตาลีและลัทธิฟาสซิสต์ ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรก็มีสามผู้ยิ่งใหญ่ (The Big Three) ได้แก่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำสหภาพโซเวียต และแฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 

ดังนั้นประเทศคู่ขัดแย้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงแบ่งเป็นฝ่ายอักษะ ได้แก่ นาซีเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น กับฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา 

ฝ่าย

ฝ่ายอักษะ (Axis)

ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies)

ประเทศคู่ขัดแย้ง

เยอรมนี

อิตาลี

ญี่ปุ่น

อังกฤษ 

ฝรั่งเศส

สหภาพโซเวียต

สหรัฐอเมริกา

ผู้นำสำคัญ

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)

เบนิโต มุสโสลินี (Benito Mussolini)

ฮิเดกิ โตโจ

วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)

-

โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)

แฟรงคลิน ดี รูสเวลท์ (Franklin D. Roosevelt)

 

 

เหตุการณ์สำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2

ตลอดระยะเวลา 6 ปีของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย สมรภูมิการรบที่สำคัญมีทั้งในทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย และเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น เราจะแบ่งพิจารณาเหตุการณ์สำคัญตามสถานที่เหล่านี้

ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร

 

เหตุการณ์สำคัญในทวีปยุโรป

ด้วยความที่เป็นพันธมิตรต่อกัน นาซีเยอรมนีและอิตาลีจึงทำสัญญาว่าจะไม่รุกรานกัน จากนั้นนาซี - เยอรมนีก็ขยายอาณาเขตด้วยการรวบรวมออสเตรียและบางส่วนของเชโกสโลวาเกียเข้ามา จากนั้นจึงบุกโปแลนด์ ตามด้วยการบุกนอร์เวย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1940 การยึดนอร์เวย์ได้ทำให้นาซีเยอรมนีมีเมืองท่าสำหรับออกทะเลเหนือ ทำให้เป็นฐานปิดล้อมอังกฤษทางทะเลได้ จากนั้นนาซีเยอรมนีจึงเริ่มบุกฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1940 รวมถึงประเทศทางผ่านอย่าง เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์กด้วย

เป้าหมายต่อไปของนาซีเยอรมนีคือการบุกยึดอังกฤษ ยุทธการบริเตน (Battle of Britain) จึงเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1940 การสู้รบส่วนใหญ่เป็นการรบทางทะเลและทางอากาศ การสู้รบยืดเยื้อและใช้เวลานานเกือบปี สถานที่สำคัญในอังกฤษถูกเครื่องบินของกองทัพเยอรมนีทิ้งระเบิดใส่และได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่ถึงอย่างไรเยอรมนีก็ไม่ประสบความสำเร็จในการยึดครองอังกฤษ 

เมื่อยึดครองอังกฤษไม่สำเร็จ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1941 เยอรมนีจึงหันไปบุกยึดดินแดนต่าง ๆ ในสหภาพโซเวียตด้วยปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa) นอกจากความหวังที่จะได้ดินแดนเพิ่มเติม การบุกสหภาพโซเวียตยังเป็นเหมือนใบเบิกทางสู่ตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมัน อันเป็นทรัพยากรสำคัญทางการทหาร นอกจากนี้เยอรมนียังบุกยึดประเทศอื่น ๆ ในแถบยุโรป เช่น กรีซ และยูโกสลาเวียด้วย ชัยชนะต่อเนื่องของกองทัพนาซีทำให้ในช่วงแรกฝ่ายอักษะดูเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบอยู่มากในสงครามครั้งนี้

ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร


Alliances during the Second World War, 1939-1945. Wikimedia Commons.

สีฟ้า น้ำเงินและแดง = ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allies): Western Allies (independent countriescolonies or occupied) Eastern Allies

สีดำและเทาเข้ม = ฝ่ายอักษะ (Axis): countriescolonies or occupied, including Vichy France

สีเทาอ่อน = ประเทศที่วางตัวเป็นกลาง (neutral)

 

เหตุการณ์สำคัญในทวีปเอเชีย

ส่วนสถานการณ์ในฝั่งเอเชียเราจะเห็นว่าญี่ปุ่นพยายามขยายอำนาจในเอเชียมาตั้งแต่ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเสียอีก ยกตัวอย่างเช่น การบุกเกาหลี การบุกจีนและก่อตั้งประเทศแมนจูกัว (Manchukuo) ในปี ค.ศ. 1931 เป้าหมายต่อไปของญี่ปุ่นคือการบุกดินแดนต่าง ๆ นมหาสมุทรแปซิฟิก และโจมตี ‘เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor)’ ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือในฮาวายของสหรัฐอเมริกา 

แผนของกองทัพญี่ปุ่นคือการบุกยึดหลาย ๆ สถานที่ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (ซึ่งการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์นี้ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ) และในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 ญี่ปุ่นก็โจมตีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง บุกฟิลิปปินส์ ยกพลขึ้นบกบริเวณแนวชายฝั่งของไทยและมาลายา จากนั้นจึงเริ่มโจมตีออสเตรเลียด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศอย่างต่อเนื่อง


ผลกระทบสงครามโลกครั้งที่ 2 คืออะไร
Pearl Harbor Attack, 7 December 1941. Wikimedia Commons.

 

การตอบโต้ของฝ่ายสัมพันธมิตร

D-Day

ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งทหารสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติอื่น ๆ กว่าแสนนายยกพลขึ้นบกที่แคว้นนอร์ม็องดีในประเทศฝรั่งเศส แคว้นนอร์ม็องดีมีชายหาดที่ยาวมาก ประกอบด้วยหาดที่สำคัญทั้งหมด 5 หาด ได้แก่ หาด Utah, Omaha, Gold, Juno และ Sword โดยกองทัพสหรัฐอเมริกายกพลขึ้นบกที่หาด Utah และหาด Omaha กองทัพอังกฤษยกพลขึ้นที่หาด Gold และหาด Sword ส่วนกองทัพจากเครือจักรภพของอังกฤษ (เช่น แคนาดา) จะยกทัพขึ้นที่หาด Juno แผนการนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถปลดปล่อยกรุงปารีสได้ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1944 ผลักดันกองทัพของนาซีเยอรมนีออกจากยุโรปตะวันตกได้ และทำให้ทิศทางของสงครามเริ่มเปลี่ยนแปลง

 

สหภาพโซเวียตพิชิตกรุงเบอร์ลิน

ในที่สุดสหภาพโซเวียตก็พิชิตกรุงเบอร์ลินได้ในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 แต่ก่อนหน้านี้ฮิตเลอร์ได้กระทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) ไปก่อนแล้ว 

 

Victory in Europe Day (VE - Day) 

ในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยชนะอย่างสมบูรณ์เหนือทวีปยุโรป สงครามโลกครั้งที่ 2 จึงสิ้นสุดในยุโรปอย่างเป็นทางการ 

 

สหรัฐอเมริกาตอบโต้ญี่ปุ่น

กองทัพสหรัฐอเมริกาเริ่มลำเลียงกองกำลังในมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อตอบโต้ญี่ปุ่น โดยยกพลขึ้นเกาะ Gilberta เกาะ Marshalla เกาะ Guam เกาะ Mariany และเกาะ Iwojima กองทัพสหรัฐอเมริกาเริ่มสร้างสนามบินในแต่ละเกาะ จากนั้นจึงบินไปทิ้งระเบิดที่เกาะญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง จากนั้นกองทัพสหรัฐอเมริกาก็บุกยึดปาปัวนิวกินีและฟิลิปปินส์กลับคืนมาได้สำเร็จ

 

แมนฮัตตันโปรเจกต์ (Manhattan Project)

สงครามโลกครั้งที่ 2 ดำเนินมาถึงจุดจบ เมื่อสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่นที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เนื่องจากระเบิดปรมาณูเป็นอาวุธใหม่ ไม่มีทางที่กองทัพญี่ปุ่นจะตอบโต้ได้ ทำให้ญี่ปุ่นต้องยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข และมีการลงนามยอมแพ้สงครามบนเรือรบมิสซูรี ในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945

โดยระเบิดปรมาณูเป็นอาวุธลับที่สหรัฐอเมริกาคิดค้นขึ้นผ่าน ‘โครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project)’ ซึ่งเป็นโครงการที่รวบรวมทหาร นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยที่มีความสามารถมากมายมาร่วมกันคิดค้นอาวุธสงครามนี้ขึ้น (นักวิทยาศาสตร์ในโครงการส่วนหนึ่งคือชาวยิวที่หลบหนีมาจากการกวาดล้างของนาซีในยุโรป)

 

 

บทสรุปและผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้นาซีเยอรมนีล่มสลาย เมื่อสงครามจบลง เยอรมนีจึงอยู่ในสถานะที่ไร้ผู้นำ ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ชนะสงครามจึงแบ่งแยกกันปกครองเยอรมนี โดย เยอรมนีตะวันตกถูกปกครองโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ส่วนเยอรมนีตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต ขณะที่กรุงเบอร์ลินก็ถูกแบ่งกันปกครองโดยประเทศผู้ชนะเช่นกัน

จากความล้มเหลวขององค์การสันนิบาตชาติในการรักษาสันติภาพของโลก ทำให้องค์การสันนิบาตชาติถูกยุบ และมีการก่อตั้ง องค์การสหประชาชาติ (United Nations - UN) ขึ้นมาแทนด้วยกฎกติกาที่รัดกุมยิ่งขึ้น 

นอกจากการสู้รบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั่วโลก สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังมีอิทธิพลต่อสื่อและวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกอีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ อย่างเช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) ที่ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญที่มนุษยชาติควรเรียนรู้และตระหนักถึงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหญ่ของโลก แต่ความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ของทั้งสองกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นในเวลาต่อมา

 

ส่วนเรื่องราวของสงครามเย็นจะเป็นอย่างไร เพื่อน ๆ สามารถรอติดตามได้ในบทความหน้า แต่ถ้าใครอดใจรอไม่ไหวก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนล่วงหน้ากันก่อนได้เลย หรือจะกลับไปทบทวนบทเรียนสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์เพิ่มเติม ที่นี่ ก็ได้เช่นกัน

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก:

  1. อิทธิพล จึงวัฒนาวงค์ (ครูจั๊มป์)
  2. สุรรังสรรค์ ผาสุขวงษ์ (ครูกอล์ฟ)

 

Reference:

Blakemore, E. (2019, June 27). Germany's World War I Debt Was So Crushing It Took 92 Years to Pay Off. Retrieved January 20, 2021, from https://www.history.com/news/germany-world-war-i-debt-treaty-versailles

Sass, E., & จันทร สุวิชชา. (2561). To the Blink of the Abyss สู่ปากเหว. In ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง (The Mental Floss History of the world) (pp. 426–469). essay, abook. 

Weiss, E. The Nobel Prize Winners in Science. The Impact of the Intellectual Migration on the United States and Eastern Europe. https://www.vanderbilt.edu/AnS/physics/brau/H182/Term Papers/Eric Weiss.html. 

ไกรปกรณ์, โดม. (n.d.). สงครามโลกครั้งที่ 2 (นิยม รัฐอมฤต, Ed.). Retrieved January 20, 2021, from http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=สงครามโลกครั้งที่_2

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่. (2020, August 15). Retrieved January 20, 2021, from https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88

สงครามโลกครั้งที่สอง. (n.d.). Retrieved January 20, 2021, from https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87#ฝ่ายอักษะเคลื่อนทัพ