การค้ากับต่างประเทศ ใช้วิธีการ

ประวัติการค้าของไทยกับต่างประเทศ

                 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจระบบเปิดมีการค้าติดต่อกันกับต่างประเทศมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย และในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ.2398 ประเทศไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการค้ากับต่างประเทศเป็นฉบับแรก คือสนธิสัญญาเบาริงกับประเทศอังกฤษ มีข้อความที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องยินยอมให้คนอังกฤษเข้ามาลงทุนค้าขายในประเทศได้อย่างเสรี ให้เก็บภาษีขาเข้าได้เพียงร้อยละ 3 ให้นำฝิ่นเข้ามาค้าขายได้ และให้คนอังกฤษมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินได้ทุกแห่ง ยกเว้น 4 ไมล์จากพระบรมมหาราชวัง จากสนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของการค้าระหว่างประเทศของประเทศไทย
การค้าขายระหว่างประเทศของไทย ถ้าแบ่งตามช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ช่วง คือ

                 1. ปี พ.ศ.2398-2474 มีการจัดทำสนธิสัญญาเบาริงและมีการติดต่อค้าขายกับบริษัทในยุโรปเป็นส่วนใหญ่

                 2. ปี พ.ศ.2475-2479 เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่การติดต่อค้าขายส่วนมากยังคงมีการติดต่อค้าขายกับประเทศยุโรป และเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับประเทศญี่ปุ่น

                 3. ปี พ.ศ.2480-2499 เป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทจากยุโรปเริ่มหายไป มีการการติดต่อค้าขายกับประเทศจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นมากขึ้น

                 4. ปี พ.ศ.2500-2515 เป็นระยะเวลาที่มีการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นช่วงสำคัญที่มีการลงทุนส่งเสริมทางการค้าระหว่างประเทศ มีการก่อตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเข้าเป็นสมาชิกองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ ส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า และเร่งให้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมอุตสาหกรรม
                 
                 5. ปี พ.ศ.2516-2528 มีเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศลดลง ประกอบกับมีวิกฤตการณ์น้ำมันส่งผลให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อโดยทั่วไป

                 6. ปี 2528 ถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงประมาณร้อยละ 8 ในปี 2537 การติดต่อค้าขายส่วนมากจะเป็นการติดต่อค้าขายกับประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชีย (สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง) ประเทศเหล่านี้ส่วนหนึ่งมุ่งเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก เนื่องจากประเทศไทยมีแรงจูงใจในเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับต้นทุนการผลิตถูกกว่าแหล่งอื่น

                 ในปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเมื่อพิจารณาจากช่วงที่ 4 อันเป็นช่วงที่เริ่มมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ประเทศไทยมีการค้าขายคิดเป็นมูลค่า 2600 ล้านบาท หลังจากนั้นในช่วงที่ 6 ซึ่งเป็นช่วงปัจจุบัน ในปี 2534 ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าถึง 1670000 ล้านบาท หรือเพิ่มเป็น 64 เท่า เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์ประชาชาติ ปรากฎว่ามูลค่าการค้าระหวางประเทศเพิ่มขึ้นจากที่เคยเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของ GNP ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 เป็นร้อยละ 60-70 ของ GNP เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6
การที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยขยายตัวมากขึ้นนั้นเป็นเพราะการที่ประเทศไทยใช้นโยบายเปิดกว้างสำหรับการค้า ขายกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของไทย เพราะภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยเจริญได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งช่วยให้มีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น อันเป็นกลไกสำคัญสำหรับเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่การที่เศรษฐกิจของ ไทยเปิดกว้างมากย่อมมีผลทำให้เศรษฐกิจของไทยต้องขึ้นกับเศรษฐกิจโลกหรือเศรษฐกิจประเทศ อุตสาหกรรมใหญ่ ๆ และยังต้องผันผวนไปตามความไม่แน่นอนของตลาดโลกอีกด้วย ถ้าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว หรือมีสถานการณ์ดีก็ส่งผลให้ประเทศ ไทยพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกผันผวน หรือเกิดปัญหาขึ้นย่อมทำให้เศรษฐกิจไทย ประสบอุปสรรคหรือมีปัญหา อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจระยะยาวจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อโครงสร้างของสินค้า เข้าและสินค้าออกของไทย
                 จากการที่ประเทศไทยมีเศรษฐกิจแบบเปิด มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียด้วยกันคือ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง ดังนั้นในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศต้องนำเข้าสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องจักร เครื่องยนต์ และสินค้าประเภทกึ่งวัตถุดิบ และวัตถุดิบ เช่น โลหะ เคมีภัณฑ์ กระดาษ และเยื่อกระดาษ มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราสูงเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปี มูลค่าของสินค้าเข้าเพิ่มจาก 10287.3 ล้านบาทในปี 2504 เป็น 980000 ล้านบาท ในปี 2534 เมื่อแยกประเภทของสินค้านำเข้าตามลักษณะการใช้ทางเศรษฐกิจแล้วจะเห็นว่าสินค้าบริโภคมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สินค้าประเภทเครื่องจักรที่นำมาใช้เป็นทุนในการผลิตสินค้าอุตสหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น
                 เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าสูงคือสินค้าประเภทเครื่องจักรกลเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เหล็ก และเหล็กกล้า เชื้อเพลิงที่ได้จากแร่ น้ำมัน ยานบก ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานบก พลาสติก และของที่ทำด้วยพลาสติกเป็นสินค้าที่มีการนำเข้าในอันดับต้น ๆ (จากสถิติเปรียบเทียบสินค้านำเข้า ปีงบประมาณ 2535 และ 2536 ในเดือนกันยายน) ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้ามากที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา และเยอรมันตะวันตก ดังสถิติ ญี่ปุ่น 30.3% ตลาดร่วมยุโรป 14.5% อาเซียน 12.3% สหรัฐอเมริกา 10.8% อื่น ๆ 32.1%

REF : http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/soc3/so31-3-3.htm 08/02/2008