ขุนนางเขมรที่เข้ายึดครองสุโขทัยก่อนการสถาปนาเป็นอาณาจักรสุโขทัยคือใคร

กรุงสุโขทัย “แปรพักตร์” ไปยกย่องลัทธิเถรวาท และฝักใฝ่ใกล้ชิดกับรัฐสุพรรณภูมิมากขึ้น เป็นเหตุให้ขอมสบาดโขลญลำพงยอมไม่ได้ จึงต้องยึดอำนาจกรุงสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย แล้วก็ได้ครองอำนาจทั้งเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัย

เหตุการณ์ตอนนี้เป็นที่รู้จักทั่วไปในนิทานเรื่องขอมดำดิน
ทุกเรื่องเกี่ยวกับรัฐสุโขทัยไม่ยุติแค่ที่มีในประวัติศาสตร์แห่งชาติ กับที่กรมศิลปากรศึกษาค้นคว้า ยังมีเรื่องราวอีกมากที่นักโบราณคดีเข้าไม่ถึง ซึ่งควรเชิญผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญไปร่วมกันวิจัยวิจารณ์ ไม่ควรหวงก้างอย่างที่ชอบประพฤติมานาน

พระร่วงแปรพักตร์ ขอมสบาดฯ ต้องยึดสุโขทัย

จารึกวัดศรีชุมเริ่มกล่าวถึงพ่อขุนศรีนาวนำถุมไว้ว่า “ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุ” มีความหมายเท่ากับมีการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและการเมือง จากลัทธิมหายานไปนับถือลัทธิเถรวาทแบบลังกา
ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มว่าพ่อขุนบางกลางหาวมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบ้านเมืองทางทิศตะวันตกมากขึ้น เช่น รัฐสุพรรณภูมิ และมอญ-พม่า

ศึกชิงเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย

เมื่อขอมสบาดโขลญลำพงยึดครองมีอำนาจเหนือเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยนั้น พ่อขุนผาเมืองเป็นเจ้าครองเมืองราดและเมืองลุม แต่ไม่มีหลักฐานว่าพ่อขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าครองเมืองใด จึงร่วมกันวางแผนขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพง
จารึกวัดศรีชุมบอกว่า “เมื่อก่อนพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นไปเมืองบางยาง” แสดงว่า ขณะนั้นพ่อขุนบางกลางหาวไม่ได้อยู่ที่เมืองบางยาง และไม่มีข้อความตอนใดบอกว่าพ่อขุนบางกลางหาวเป็นเจ้าเมืองบางยาง อีกทั้งไม่มีใครรู้ว่าเมืองบางยางอยู่ที่ไหน? ลุ่มน้ำใด?
ด้วยกำลังไพร่พลเมืองบางยางและเมืองราดช่วยให้พ่อขุนบางกลางหาวยึดได้เมืองศรีสัชนาลัย และพ่อขุนผาเมืองยึดได้เมืองบางขลัง (หรือบางขลง-บางฉลัง) ที่เป็นเมืองอยู่กึ่งทางระหว่างศรีสัชนาลัยกับสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวจึงใช้เมืองศรีสัชนาลัยและเมืองบางขลัง เป็นฐานกำลังสู้รบกับขอมสบาดโขลญลำพงที่ยังครองอยู่เมืองสุโขทัย แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดต้องร้องขอให้พ่อขุนผาเมืองไปช่วยตีเมืองสุโขทัยอีกครั้งหนึ่ง พ่อขุนผาเมืองก็ต้องเคลื่อนพลเมืองราดไปตีเมืองสุโขทัย แล้วขับไล่ขอมสบาดโขลญลำพงได้สำเร็จ

ขุนนางเขมรที่เข้ายึดครองสุโขทัยก่อนการสถาปนาเป็นอาณาจักรสุโขทัยคือใคร
ขอมดำดิน ในลานวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย สมัย ร.5 พ.ศ. 2450

ผาเมืองมอบสุโขทัยให้บางกลางหาว

ด้วยเหตุผลสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พ่อขุนบางกลาวหาวมีอาวุโสกว่า มีเชื้อสายหลายตระกูลกว่า (หมายถึงอำนาจทางการเมืองและสังคม) ครองเมืองใหญ่กว่า ฯลฯ พ่อขุนผาเมืองจึงนับถือเป็นพิเศษ เมื่อรบรับขับไล่ไสส่งขอมสบาดโขลญลำพงและยึดเมืองสุโขทัยได้แล้ว พ่อขุนผาเมืองก็หมายจะยกเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาว เพราะพ่อขุนบางกลางหาวเป็นต้นคิดการสู้รบขับไล่ครั้งนี้

แต่พ่อขุนบางกลางหาวไม่กล้าเข้าเมืองสุโขทัย เหตุเพราะ (จารึกวัดศรีชุมจดว่า) “เพื่อเกรงแก่พระสหาย” พ่อขุนผาเมืองรู้ดังนั้นก็เคลื่อนไพร่พลของตนออกจากเมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางหาวจึงกล้าเข้าเมืองสุโขทัย

ต่อจากนั้นจารึกวัดศรีชุมจดว่า “พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ทั้งชื่อตนแก่พระสหาย เรียกชื่อศรีอินทรบดินทราทิตย์” หมายความว่า พ่อขุนผาเมืองไม่ต้องการเป็นกษัตริย์ครองเมืองสุโขทัย จึงอภิเษกให้พ่อขุนบางกลางหาว ผู้เป็นพระสหายได้ขึ้นครอง พร้อมทั้งให้ชื่อ “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ที่ได้มาจากกษัตริย์กัมพูชาเมืองพระนครแก่พ่อขุนบางกลางหาวด้วย นับแต่นั้นพ่อขุนบางกลางหาวจึงมีพระนามว่า “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” แต่บางครั้งในจารึกวัดศรีชุมก็เรียกว่า “ศรีอินทราทิตย์”
ต่อจากนั้นพ่อขุนบางกลางหาวจึงเสวยราชย์เป็นกษัตริย์เมืองสุโขทัยอย่างสมบูรณ์ และเป็นที่รู้จักกันต่อมาในพระนาม “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ตระกูลศรีอินทราทิตย์ก็ได้รับมอบอำนาจเด็ดขาดให้ปกครองกรุงสุโขทัยสืบจากตระกูลศรีนาวนำถุมในตอนนี้เอง

พ่อขุนผาเมืองหายไปไหน?

ส่วนพ่อขุนผาเมืองนั้น จารึกวัดศรีชุมจดไว้ครั้งสุดท้ายว่าไปอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัย แล้วไม่มีเรื่องราวกล่าวถึงอีกเลย จนกล่าวกันว่าชื่อหายไปจาก “ประวัติศาสตร์ไทย” เสียเฉยๆ โดยไม่มีร่องรอยเหลืออยู่
แต่หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี (พ. ณ ประมวญมารค) ทรงชี้ว่าพ่อขุนผาเมืองทรงเป็น “ลูกเขย” กษัตริย์กัมพูชาที่นครธม ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์นครธมในพระนามสรีนทรวรมัน
ส่วนอาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (กรมศิลปากร) อธิบายว่าไปเป็นกษัตริย์อโยธยาศรีรามเทพ (กรุงศรีอยุธยา) ที่มีคำบอกเล่าอยู่ในพงศาวดารเหนือเรื่องท้าวอู่ทอง

ขุนนางเขมรที่เข้ายึดครองสุโขทัยก่อนการสถาปนาเป็นอาณาจักรสุโขทัยคือใคร
เมืองบางขลัง กึ่งทางระหว่างศรีสัชนาลัยกับสุโขทัย ยังมีซากกำแพงวัดและซุ้มประตูทางเดินด้านทิศใต้ของวัดโบสถ์ บางขลัง (ภาพเก่าจากหนังสือกรุงสุโขทัย มาจากไหน? สำนักพิมพ์ติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548)

ละโว้-สุโขทัย รบกันทำไม?

เหตุที่ละโว้กับสุโขทัยต้องรบกันน่าจะมาจากปัญหาเศรษฐกิจการเมือง เพราะเริ่มแรกรัฐละโว้ (ลพบุรี) อุดหนุนให้กรุงสุโขทัยเกิดขึ้นเพื่อกว้านสินค้าของป่า (สัญลักษณ์ “ส่วยน้ำ”) ส่งค้าขายกับภายนอก เช่น จีน
ต่อมากลุ่มผู้นำกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายสุพรรณภูมิและมอญ ดังมีนิทานเรื่องพระร่วงไปเกี่ยวข้องกับมะกะโทและพระพุทธสิหิงค์ และน่าเชื่อว่ามีส่วนทำให้การค้าของกรุงสุโขทัยรุ่งเรืองขึ้น จึงมีการขยายเส้นทางการค้าไปทางตะวันตกจนถึงฝั่งทะเลอันดามันแล้วเกิดเมืองนครชุม-กำแพงเพชรในสมัยพระยาลิไทย
การที่กรุงสุโขทัยหันไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายสุพรรณภูมินั้น พ่อขุนบางกลางหาวน่าจะมีบทบาทสำคัญ ดังจะเห็นความเกี่ยวดองของราชวงศ์พ่อขุนบางกลางหาวกับราชวงศ์สุพรรณภูมิในสมัยหลังๆ จึงเป็นเหตุให้ละโว้ (ลพบุรี) ต้องส่งขอมสบาดโขลญลำพงขึ้นไปปราบปรามแล้วยึดกรุงสุโขทัย อาจถึงขนาดทำให้พ่อขุนศรีนาวนำถุมต้องตายในคราวนี้ ดังมีจดไว้ในจารึกวัดศรีชุม
ความขัดแย้งถึงขั้นรบพุ่งทำสงครามกันในหมู่ “เครือญาติ” ละโว้กับสุโขทัย มีผู้จดจำแล้วบันทึกไว้ในนิทานตำนานแล้วเรียบเรียงไว้ในพงศาวดาร เช่น พงศาวดารเหนือ ราชพงศาวดารกัมพูชา
มีนิทานเกี่ยวกับพระร่วงเมืองสุโขทัยหลายเรื่อง แต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ยุคแรกๆ ของกรุงสุโขทัยและเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากก็คือ พระร่วงเป็นบุตรนายคงเคราแล้วสานชะลอมส่งส่วยน้ำ มีอยู่ในหนังสือพงศาวดารเหนือและหนังสืออื่นๆ อีกหลายเล่ม

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยทรงพระนิพนธ์บทร้องเพลงเขมรเลียบพระนคร ชุดขอมดำดินไว้เป็นโคลงสี่สุภาพบทหนึ่ง
ต่อมา ร.6 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดิน แล้วมีผู้นิยมอัญเชิญไปเป็นบทร้องเพลงไทยต่างๆ เช่น เพลงขอมเงิน เพลงขอมทรงเครื่อง เพลงเขมรปากท่อ ฯลฯ
แต่เพลงที่ร้องและบรรเลงแพร่หลายมาก คือ เพลงเขมรละออองค์ ร.7 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง โดยปรับปรุงมาจากเพลง เขมรเอวบาง แล้วทรงเลือกบทร้องมาจากบทละครเรื่องพระร่วง หรือขอมดำดิน ของ ร.6

รายละเอียดของเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดินในแต่ละสำนวนย่อมมีโวหารแตกต่างกันไป
แต่สาระสำคัญเกี่ยวกับสถานที่อันเป็นฉากของเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดิน จะวนเวียนอยู่ที่ ละโว้ (ลพบุรี) สุโขทัย และกัมพูชา ซึ่งสอดคล้องกับพัฒนาการของรัฐสุโขทัยที่กล่าวมาก่อนแล้วว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐใหญ่ใกล้ทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐละโว้ (ลพบุรี) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่กับอาณาจักรกัมพูชา
ดังนั้น นิทานเรื่องพระร่วงและขอมดำดินย่อมเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในจารึกวัดศรีชุมกรณีขอมสบาดโขลญลำพง อาจทำความเข้าใจนามภาษาสัญลักษณ์ได้ว่า “พระร่วง” หมายถึงตระกูลกลุ่มผู้นำรัฐสุโขทัย ส่วน “ขอมดำดิน” หมายถึง ขอมสบาดโขลญลำพงจากกลุ่มละโว้ (ลพบุรี)

ขอมสบาดโขลญลำพง เครือญาติมหายาน?

ขอมสบาดโขลญลำพง ไม่ใช่ใครที่ไหน ที่แท้ก็เป็นวงศ์เครือญาติของกษัตริย์กรุงสุโขทัยศรีสัชนาลัยนั่นแหละ
คำว่า “ขอม” ยังเรียกกันอีกหลายอย่าง เช่น “กรอม” หรือ “กล๋อม” หรือ “กะหลอม” หรือ “ก๋าหลอม” และไม่ใช่ชื่อเรียกตัวเอง แต่เป็นชื่อที่คนอื่นใช้เรียก โดยมีความหมายทางวัฒนธรรมอย่างกว้างๆ เช่น หมายถึงพวกที่อยู่ทางใต้ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาถึงลุ่มแม่น้ำโขง ตัดผมสั้น นุ่งโจงกระเบน นับถือฮินดู (พราหมณ์) หรือพุทธมหายาน ฯลฯ โดยมิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ใด และจะเป็นใครก็ได้ที่เข้ารีตอยู่ในระบบความเชื่ออย่างหนึ่งในดินแดนทางใต้ แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาถึงปากแม่น้ำโขง ในสมัยหนึ่งจะถูกเรียกว่า “ขอม” ทั้งหมด แต่ในสมัยหลังๆ มักจะให้ “ขอม” หมายถึงชาวเขมรในกัมพูชา โดยไม่จำกัดกาลเวลา แต่ชาวเขมรในกัมพูชาก็ไม่รู้จักคำว่า “ขอม” และไม่ยอมรับว่าตัวเองคือ “ขอม”
พงศาวดารกรุงสุธรรมวดี (สะเทิม) หรือ “สุธรรมวดีราชวงศ์” ของมอญ กล่าวถึงพวก “กรอม” (ขอม) ยกกองทัพจากกรุง “ละโว้-อโยธยา” ไปตีกรุงสุธรรมวดีเมื่อ พ.ศ. 1599 ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ ตรวจสอบได้ว่ามิได้หมายถึงชาวเขมรในกัมพูชา หากหมายถึงชาวสยามในบ้านเมืองและแว่นแคว้นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นชื่อขอมสบาดโขลญลำพงในจารึกวัดศรีชุมตอนนี้ จึงมิได้หมายถึงขุนนางชาวเขมรจากกัมพูชา
จากร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างแคว้นละโว้ (ลพบุรี) กับบ้านเมืองตอนบน เช่น สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ทุ่งยั้ง ฯลฯ ชื่อขอมสบาดโขลญลำพงควรหมายถึงผู้มีอำนาจหรือเจ้าเมืองใดเมืองหนึ่งในเขตอิทธิพลของรัฐละโว้ (ลพบุรี) ซึ่งเป็นวงศ์เครือญาติเดียวกันกับตระกูลศรีนาวนำถุมแห่งกรุงสุโขทัยศรีสัชนาลัยนั่นเอง

[พรุ่งนี้อ่านศึกละโว้รบสุโขทัย ลิเกเสภาอิงประวัติศาสตร์การเมือง ยุคสถาปนาอโยธยา-สุโขทัย]