ข้อใด “ไม่ใช่” วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

พระนามเหล่านี้ แสดงความหมายอยู่ในตัวว่า ปราชญ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเคารพบูชาและยกย่องเทอดทูนพระองค์ ในฐานะทรงเป็นนักการสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการอบรมสั่งสอน และได้ทรงประสบความสำเร็จในงานนี้เป็นอย่างดี

Show

ความยิ่งใหญ่และพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าในด้านการสอนนั้น ถ้าจะพูดให้เห็นด้วยอาศัยประจักษ์พยานภายนอกก็เป็นเรื่องไม่ยาก เพราะเพียงพิจารณาเผินๆ จากเหตุผลง่ายๆ ต่อไปนี้ ก็จะนึกได้ทันที คือ:-

  1. พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในยุคที่ชมพูทวีปเป็นถิ่นนักปราชญ์ เต็มไปด้วยศาสดาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ เป็นอันมาก แต่ละท่านล้วนมีชื่อเสียงและมีความสามารถ ผู้ที่มาเผชิญพระองค์นั้น มีทั้งมาดีและมาร้าย มีทั้งที่แสวงหาความรู้ มาลองภูมิ และที่ต้องการมาข่มมาปราบ แต่พระองค์สามารถประสบชัยชนะในการสอน จนมีพระนามนำเด่นมาถึงปัจจุบัน
  2. คำสอนของพระองค์ ขัดแย้งกับคำสอนในศาสนาเดิม และแย้งกับความเชื่อถือความประพฤติปฏิบัติที่แพร่หลายอยู่ในสังคมสมัยนั้น เช่น การทำลายความเชื่อถือเรื่องวรรณะ เป็นต้น ทรงจัดตั้งระบบคำสอนและความเชื่อถืออย่างใหม่ให้แก่สังคม การกระทำเช่นนี้ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ย่อมเป็นงานยากอย่างยิ่ง
  3. ขอบเขตงานสอนของพระองค์กว้างขวางมาก ทั้งโดยเทศะและระดับชนในสังคม ต้องเสด็จไปสั่งสอนในหลายถิ่นแคว้น พบคนทุกชั้นในสังคม ซึ่งมีระดับความเป็นอยู่ ความเชื่อถือ การศึกษาอบรม นิสัยใจคอ และสติปัญญาแตกต่างกัน ทุกแบบทุกชนิด ทรงสามารถสอนคนเหล่านั้นให้เข้าใจได้ และยอมเป็นศิษย์ของพระองค์ นับแต่พระมหากษัตริย์ลงมาทีเดียว
  4. พระพุทธศาสนาที่เจริญมาได้ตลอดเวลานับพันๆ ปี แพร่หลายเป็นที่นับถืออยู่ในประเทศต่างๆ และคณะสงฆ์ผู้สืบต่อพระศาสนา ซึ่งเป็นสถาบันใหญ่และสำคัญในสังคมดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลงานยิ่งใหญ่ของพระองค์ ยืนยันถึงพระปรีชาสามารถอย่างประจักษ์ชัดโดยไม่ต้องอธิบาย

ในเมื่อประจักษ์พยานภายนอกแสดงให้เห็นแล้วเช่นนี้ ย่อมชวนให้พิจารณาสืบค้นต่อไปถึงเนื้อธรรมคำสอน หลักการสอน และวิธีการสอนของพระองค์ว่าเป็นอย่างไร ยิ่งใหญ่และประเสริฐสมจริงเพียงใด

เนื้อพระธรรมคำสอน หลักการสอน และวิธีการสอนของพระพุทธองค์นั้น ปรากฏอยู่แล้วในพระไตรปิฎก และคัมภีร์อธิบายมีอรรถกถาเป็นต้นแล้ว แต่คัมภีร์เหล่านั้นมีเนื้อหามากมาย มีขนาดใหญ่โต2 เกินกว่าจะสำรวจเนื้อหา รวบรวมความ นำมาสรุปแสดงให้ครอบคลุมทั้งหมดในเวลาอันสั้น ในที่นี้จึงขอนำมาแสดงเพียงให้เห็นรูปลักษณะทั่วไปเท่านั้น.

๑. ปรัชญาพื้นฐาน

ก่อนจะพูดถึงหลักการสอนและวิธีสอน สมควรกล่าวถึงปรัชญาที่เป็นพื้นฐานเสียก่อน เพราะหลักการสอนย่อมดำเนินไปจากจุดเริ่ม ตามแนวทาง และสู่จุดหมายตามที่ปรัชญากำหนดให้ อย่างไรก็ดี เมื่อมองในแง่ปรัชญาการศึกษา พุทธธรรมก็เป็นเรื่องกว้างขวางมากอีก เพราะพุทธธรรมทั้งหมด เป็นเรื่องของระบบการศึกษาระบบหนึ่งนั่นเอง ในที่นี้ จึงขอนำมากล่าวเฉพาะที่เกี่ยวกับการสอนแต่สั้นๆ

ตามหลักพระพุทธศาสนาถือว่า ในการดำรงชีวิตของมนุษย์นั้น ความขัดข้องปรวนแปร ความเดือดร้อนลำบาก ความเจ็บปวด ความสูญเสีย ความพลัดพราก และปัญหาชีวิตต่างๆ ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกรวมว่าความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ มนุษย์จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องและได้ประสบแน่นอน ไม่ว่ามนุษย์จะต้องการหรือไม่ต้องการ จะยอมรับว่ามันมีอยู่หรือไม่ยอมรับ หรือแม้จะเบือนหน้าหนีอย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมนุษย์ต้องการมีชีวิตอยู่อย่างดีที่สุด มนุษย์จะต้องยอมรับความจริงอันนี้ จะรับรู้สู้หน้า และพร้อมที่จะจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด

ชีวิตที่เป็นอยู่อย่างดีและมีความสุขที่สุด คือ ชีวิตที่กล้ารับรู้ต่อปัญหาทุกอย่าง ตั้งทัศนคติที่ถูกต้องต่อปัญหาเหล่านั้น และจัดการแก้ไขด้วยวิธีที่ถูกต้อง การหลีกเลี่ยงที่จะรับรู้ก็ดี การนึกวาดภาพให้เป็นอย่างที่ตนชอบก็ดี เป็นการปิดตาหรือหลอกตนเอง ไม่ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ ไม่เป็นการแก้ปัญหา และให้ได้พบความสุขอย่างแท้จริง อย่างน้อยก็เป็นการฝังเอาความกลัว ซึ่งเป็นเชื้อแห่งความทุกข์เข้าไว้ในจิตใจอย่างลึกซึ้ง

ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนเป็นข้อแรก ก็คือ ความทุกข์ อันเป็นปัญหาที่มนุษย์พึงรับรู้และจัดการแก้ไขโดยถูกต้อง และถือว่าภารกิจของพระพุทธศาสนาและระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนา ก็คือ การช่วยมนุษย์ให้แก้ปัญหาของตนได้

ความทุกข์ ความเดือดร้อน และปัญหาชีวิตนานาประการของมนุษย์นั้น เกิดจากตัณหา คือ ความอยาก ความต้องการ ความเห็นแก่ตัว ซึ่งทำให้มนุษย์มีทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ เคลื่อนคลาดจากที่มันเป็นจริง และเป็นไปในรูปต่างๆ กันตามระดับความอยากและความยึดของตนต่อสิ่งนั้นๆ เมื่อมีทัศนคติที่เคลื่อนคลาดไป ก็ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในตนเอง และความขัดแย้งระหว่างตนกับผู้อื่น แล้วปฏิบัติหรือจัดการกับสิ่งนั้นๆ ด้วยอำนาจความอยากและความยึดของตน คือ ไม่จัดการตามที่มันควรจะเป็นโดยเหตุผลแท้ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น เกิดความขัดข้องขัดแย้ง และความทุกข์ ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ตามระดับของตัณหา และขอบเขตของเรื่องที่ปฏิบัติ

ตัณหานั้น เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเรียกว่า อวิชชา จึงเป็นเหตุให้ไม่จัดการกับสิ่งนั้นๆ ตามที่มันควรจะเป็นโดยเหตุผลบริสุทธิ์ การที่จะแก้ปัญหาหรือแก้ความทุกข์ จึงต้องกำจัดอวิชชา สร้างวิชชาให้เกิดขึ้น

โดยนัยนี้ ภารกิจสำคัญของการศึกษาก็คือ การฝึกอบรมบุคคลให้พัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในข้อเท็จจริงและสภาวะของสิ่งทั้งหลาย มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ตน คือ ความมีชีวิตอยู่อย่างสำเร็จผลดีที่สุด มีจิตใจเป็นอิสระ มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ และประโยชน์ผู้อื่น คือ สามารถช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ชนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้

จากข้อความที่กล่าวมา มีข้อที่ควรกำหนด คือ:-

  1. ภารกิจสำคัญของการศึกษา ได้แก่ การช่วยให้บุคคลเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง คือ รู้จักมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น และสามารถจัดการกับสิ่งเหล่านั้นตามที่ควรจะเป็น ให้เกิดเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและสังคม ไม่ให้มองเห็นและจัดการสิ่งทั้งหลายตามอำนาจกิเลสตัณหา
  2. ทัศนคติที่ถูกต้อง และความสามารถจัดการดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาปัญญา และปัญญาเป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเองเท่านั้น ผู้อื่นจะนำมายัดเยียดให้หรือบังคับให้รับเข้าไว้ไม่ได้
  3. ในเมื่อปัญญาต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจที่พัฒนาขึ้นในตัวบุคคลเอง ภารกิจของผู้สอนและให้การศึกษาทั้งหลาย จึงเป็นเพียงผู้ชี้นำทางหรืออำนวยโอกาส ช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับการศึกษาอบรม ดำเนินเข้าสู่ปัญญา สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้สอนที่ดีจะทำได้ก็คือ ตั้งใจช่วยเหลือ พยายามสรรหาอุบาย กลวิธี และอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาช่วยผู้เรียนให้เข้าถึงปัญญาอย่างได้ผลดีที่สุด อย่างที่สำนวนบาลีเรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร
  4. โดยเหตุผลเดียวกัน ในระบบการศึกษาเช่นนี้ ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้สร้างปัญญาให้เกิดแก่ตน จึงต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมและเป็นผู้ได้ลงมือกระทำให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยให้ตัวเขาเกิดปัญญานั้นขึ้นได้ และโดยนัยนี้ ความสามารถ ความถนัด อุปนิสัยต่างๆ ของผู้เรียน จึงเป็นสิ่งที่ผู้สอนจะต้องคำนึงอย่างสำคัญ เพื่อจัดสภาพการเรียนและกลวิธีสอนต่างๆ เป็นต้น ให้ผู้เรียนเรียนอย่างได้ผลดีที่สุด
  5. ในเมื่อปัญญาเป็นของยัดเยียดบังคับให้รับเอาไม่ได้ การเรียนการสอนจึงต้องใช้วิธีการแห่งปัญญา คือ ผู้เรียนต้องเป็นอิสระในการใช้ความคิด และในการที่จะซักถามโต้ตอบสืบเสาะค้นหาความจริงต่างๆ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจขึ้นในตน ในระบบการศึกษาแบบนี้ จึงมีการปฏิบัติอย่าง กาลามสูตร ไม่มีการบังคับให้เชื่อ ความเชื่อหรือศรัทธาในระบบการศึกษานี้ หมายเพียงความเชื่อมั่นในหลักการ วิธีการและสมมติฐานต่างๆ ที่ตนได้ตั้งขึ้น โดยมีเหตุผลเป็นฐานรองรับอย่างเพียงพอแล้วว่าจะนำให้ดำเนินไปสู่จุดหมายได้อย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ต่อไปตามลำดับในระหว่างดำเนินไปสู่เป้าหมายนั้น

วางเป็นข้อสรุปที่เกี่ยวกับการสอน ดังนี้:-

  1. ปัญญาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นภายในตัวผู้เรียนเอง
  2. ผู้สอนทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ช่วยชี้นำทางการเรียน
  3. วิธีสอน อุบาย และกลวิธีต่างๆ เป็นสื่อหรือเป็นเครื่องผ่อนแรงการเรียนการสอน
  4. อิสรภาพในทางความคิด เป็นอุปกรณ์สำคัญในการสร้างปัญญา

อนึ่ง โดยที่ปัญญาเป็นส่วนสำคัญยิ่งในระบบการศึกษานี้เช่นที่กล่าวมาแล้ว จึงสมควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปัญญา ที่มักแปลกันว่า ความรู้ ไว้เพื่อกันความสับสนสักเล็กน้อย

ความรู้ในที่นี้ ควรแยกเป็น ๒ ประเภท คือ:-

  1. สุตะ คือ ความรู้จากการสดับตรับฟัง หรือ เล่าเรียน อ่าน รับถ่ายทอดจากแหล่งความรู้อื่น การสั่งสมความรู้ประเภทนี้ไว้ได้มาก เรียกว่า พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นพหูสูต คือ ความเป็นผู้คงแก่เรียน หรือได้เรียนรู้มาก เป็นความรู้ประเภทประมวลหรือรวบรวมสิ่งอันจะพึงรู้ ทำตนให้เป็นคลังเก็บความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีของบุคคลอย่างหนึ่ง เป็นอุปกรณ์สำหรับนำไปใช้ทำประโยชน์ต่างๆ ได้มาก แต่ไม่ถือเป็นองค์ธรรมแกนในระบบการศึกษา
  2. ปัญญา คือ ความรู้ประเภทเข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้เลือกคัด วินิจฉัย และรู้ที่จะจัดการ เป็นความรู้ประเภทที่มุ่งหมายและเป็นส่วนสำคัญในระบบการศึกษานี้ ปัญญานี้มีไวพจน์มากมาย เช่น ญาณ วิชชา ปริญญา ปฏิสัมภิทา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความหมายในแง่ต่างๆ และขั้นต่างๆ ของปัญญานั่นเอง

สิ่งที่ควรทำความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ลักษณะงานสอน ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทวิชา อาจแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ วิชาประเภทชี้แจงข้อเท็จจริง เช่น ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เป็นต้น การสอนวิชาประเภทนี้ หลักสำคัญอยู่ที่ทำให้เกิดความเข้าใจในข้อเท็จจริง การสอนจึงมุ่งเพียงหาวิธีการให้ผู้เรียนเข้าใจตามที่สอนให้เกิดพาหุสัจจะเป็นใหญ่

ส่วนวิชาอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวด้วยคุณค่าในทางความประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะวิชาศีลธรรม และจริยธรรมทั่วไป การสอนที่จะได้ผลดี นอกจากให้เกิดความเข้าใจแล้ว จะต้องให้เกิดความรู้สึกมองเห็นคุณค่าและความสำคัญ จนมีความเลื่อมใสศรัทธาที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติด้วย

สำหรับวิชาประเภทนี้ ผลสำเร็จอย่างหลังเป็นสิ่งสำคัญมาก และมักทำได้ยากกว่าผลสำเร็จอย่างแรก เพราะต้องการคุณสมบัติขององค์ประกอบในการสอนทุกส่วน นับแต่คุณสมบัติส่วนตัวของผู้สอนไปทีเดียว

ยิ่งในงานประดิษฐานพระศาสนาที่จะให้คนจำนวนมากยอมรับด้วยวิธีการแห่งปัญญาด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก

ฉะนั้น การพิจารณาหลักการสอนของพระพุทธเจ้า จึงจะเริ่มแต่คุณสมบัติของผู้สอนไปทีเดียว.

๒. คุณสมบัติของผู้สอน

ในที่นี้จะแสดงตามแนวพุทธคุณ และเห็นควรแยกเป็น ๒ ส่วน คือ เป็นคุณสมบัติที่ปรากฏออกมาภายนอก อันได้แก่บุคลิกภาพอย่างหนึ่ง และคุณสมบัติภายใน อันได้แก่คุณธรรมต่างๆ อย่างหนึ่ง

ก. บุคลิกภาพ

ในด้านบุคลิกภาพ จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระลักษณะทั้งทางด้านความสง่างามแห่งพระวรกาย พระสุรเสียงที่โน้มนำจิตใจ และพระบุคลิกลักษณะอันควรแก่ศรัทธาปสาทะทุกประการ ดังจะเห็นจากตัวอย่างที่ทราบกันทั่วไป และที่บันทึกไว้ในคัมภีร์ต่างๆ เช่น:-

๑. ทรงมีพระมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ มีพระวรกายสง่างามอย่างที่มีผู้ชมว่า

“พระสมณโคดม มีพระรูปงาม น่าดู น่าเลื่อมใส มีพระฉวีวรรณผุดผ่องยิ่งนัก วรรณะและพระสรีระดุจดังพรหม น่าดูน่าชมนักหนา”3

๒. ทรงมีพระสุรเสียงไพเราะ และตรัสพระวาจาสุภาพสละสลวย อย่างคำชมของจังกีพราหมณ์ที่ว่า

“พระสมณโคดม มีพระวาจาไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำได้งดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวย ไม่มีโทษ ยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดแจ้ง”4

และคำของอุตรมาณพที่ว่า

“พระสุรเสียงที่เปล่งก้องจากพระโอษฐ์นั้นประกอบด้วยคุณลักษณะ ๘ ประการ คือ แจ่มใส ๑ ชัดเจน ๑ นุ่มนวล ๑ ชวนฟัง ๑ กลมกล่อม ๑ ไม่พร่า ๑ ซึ้ง ๑ กังวาน ๑”5

หรือตามมหาบุรุษลักษณะข้อที่ ๒๙ ว่า

“มีพระสุรเสียงดุจพรหม ตรัสมีสำเนียงใสไพเราะดุจนกการเวก”6

๓. ทรงมีพระอากัปกิริยามารยาททุกอย่างที่งดงามน่าเลื่อมใส เริ่มแต่สมบัติผู้ดี และมารยาทอันเป็นที่ยอมรับของสังคม ตลอดจนพระบุคลิกลักษณะที่เป็นเสน่ห์ทุกประการ พร้อมไปด้วยความองอาจ ความสง่างาม ความสงบเยือกเย็น การแสดงธรรมของพระองค์ นอกจากแจ่มแจ้งด้วยสัจธรรมแล้ว ยังก่อให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลินสุขใจ ชวนให้อยากฟังอยากใกล้ชิดพระองค์อยู่ไม่วาย อย่างคำชมของบุคคลต่างๆ เช่น:-

“นี่ท่านปิงคิยานี มองเห็นสารประโยชน์อันใด จึงเลื่อมใสในพระสมณโคดมถึงเพียงนี้”

“ท่านผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุรุษผู้อิ่มในรสอันเลิศแล้ว ย่อมไม่ปรารถนารสอื่นๆ ที่เลว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของพระสมณโคดมพระองค์นั้น โดยลักษณะใดๆ จะโดยสุตตะ โดยเคยยะ โดยไวยากรณ์ หรือโดยอัพภูตธรรมก็ดี ย่อมไม่ปรารถนาวาทะของสมณะเป็นอันมากเหล่าอื่น โดยลักษณะนั้นๆ เลย ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษผู้หิวและอ่อนเพลีย มาได้รวงผึ้ง ก็พึงลิ้มรส ย่อมได้รสแท้แสนชุ่มชื่น ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น...ย่อมได้รับความดีใจ ปลาบปลื้มใจ ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษ ได้ไม้จันทน์ เป็นจันทน์เหลือง หรือจันทน์แดง จะสูดกลิ่นตรงที่ใด จะเป็นราก ลำต้น หรือที่ยอด ก็ย่อมได้กลิ่นหอมสนิทเป็นกลิ่นแท้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้น...ก็ย่อมได้ปราโมทย์ ได้ความโสมนัส ฉันนั้น

เปรียบเหมือนบุรุษอาพาธ เจ็บปวด เป็นไข้หนัก นายแพทย์ผู้ฉลาดพึงบำบัดอาพาธเขาได้ฉับไว ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล้ว...ความโศกเศร้า ปริเทวนาการ ความทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจของเขา ย่อมหมดไป ฉันนั้น

เปรียบเหมือน สระใหญ่มีน้ำใส เย็น จืดสนิท น่าเจริญใจ มีท่าราบเรียบน่ารื่นรมย์ บุรุษผู้ร้อนด้วยแสงแดด ถูกแดดแผดเผา เหน็ดเหนื่อย หิวกระหาย เดินมาถึง เขาลงไปอาบ ดื่ม ในสระน้ำนั้น พึงระงับความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนทั้งปวงได้ ฉันใด บุคคลฟังธรรมของท่านพระโคดมพระองค์นั้นแล้ว...ความกระวนกระวาย ความเหน็ดเหนื่อย และความเร่าร้อนของเขา ก็ย่อมระงับไปได้หมดสิ้น ฉันนั้น”7

“ชนทั้งหลาย ที่ท่านพระโคดมทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว เมื่อลุกไปจากที่นั่งก็ยังเหลียวหลังกลับมามอง ด้วยไม่อยากจะละจากไป”8

ข. คุณธรรม

พระพุทธคุณในแง่คุณธรรมมีมาก ไม่อาจแสดงได้ครบทุกนัย จึงขอเลือกแสดงตามแนวพระคุณ ๓ คือ:-

พระปัญญาคุณ

๑. พระปัญญาคุณ พระปัญญาคุณที่เกี่ยวกับงานสอน ขอยกมาแสดง ๒ อย่าง คือ ทศพลญาณ และปฏิสัมภิทา

๑) ทศพลญาณ คือ พระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคตที่ทำให้พระองค์สามารถบันลือสีหนาท ประกาศพระศาสนาได้มั่นคง จะแสดงความหมายที่เป็นพุทธคุณแท้ กับความหมายที่ผู้สอนทั่วไปพึงนำมาใช้ได้ดังนี้:-

ทศพลญาณ9ความหมายส่วนที่ผู้สอนทั่วไปพอจะปฏิบัติได้๑. ฐานาฐานญาณ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและอฐานะ คือ รู้กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับขอบเขต และขีดขั้นของสิ่งทั้งหลายว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ และแค่ไหนเพียงไร โดยเฉพาะในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล และกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมเกี่ยวกับสมรรถวิสัยของบุคคลซึ่งจะได้รับผลกรรมที่ดีและชั่วต่างๆ กัน๑. มีความรู้เข้าใจในเนื้อหา และขอบเขตของกฎเกณฑ์ และหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและที่จะนำมาใช้ในการสอนอย่างชัดเจน ตลอดจนรู้ขีดขั้นความสามารถของบุคคลที่มีพัฒนาการอยู่ในระดับต่างๆ๒. กรรมวิปากญาณ ปรีชาหยั่งรู้ผลของกรรม สามารถกำหนดแยกการให้ผลอย่างสลับซับซ้อนระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วที่สัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มองเห็นรายละเอียดและความสัมพันธ์ภายในกระบวนการก่อผลของกรรมอย่างชัดเจน๒. มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นอย่างดี๓. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ ปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง (คือสู่สุคติทุคติ หรือพ้นจากคติ) หรือปรีชาหยั่งรู้ข้อปฏิบัติที่จะนำไปสู่อรรถประโยชน์ทั้งปวง (จะเป็นทิฏฐธัมมิกัตถะ หรือสัมปรายิกัตถะ หรือปรมัตถะ ก็ตาม) รู้ว่าเมื่อต้องการเข้าสู่จุดหมายใด จะต้องทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติอย่างไร๓. รู้วิธีการและกลวิธีปฏิบัติต่างๆ ที่จะนำเข้าสู่เป้าหมายที่ต้องการ๔. นานาธาตุญาณ ปรีชาหยั่งรู้สภาวะของโลกอันประกอบด้วยธาตุต่างๆ เป็นเอนก รู้สภาวะของธรรมชาติทั้งฝ่ายอุปาทินนกสังขาร และอนุปาทินนกสังขาร เช่นในเรื่องชีวิต ก็ทราบองค์ประกอบต่างๆ สภาวะขององค์ประกอบเหล่านั้น พร้อมทั้งหน้าที่ของมัน เช่น การปฏิบัติหน้าที่ของขันธ์ อายตนะและธาตุต่างๆ ในกระบวนการรับรู้ เป็นต้น และรู้เหตุแห่งความแตกต่างกันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น๔. มีความรู้ในวิชาสรีรวิทยา และจิตวิทยา อย่างน้อยให้ทราบองค์ประกอบต่างๆ และการปฏิบัติหน้าที่ขององค์ประกอบเหล่านั้นในกระบวนการเรียนรู้ของบุคคล และถ้าเป็นไปได้ควรมีความรู้ทั่วไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในทางวิทยาศาสตร์ เพื่อรู้จักสภาวะของสิ่งทั้งหลาย และมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อสิ่งเหล่านั้น อันจะเป็นเครื่องเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการสอนให้ได้ผลดียิ่งขึ้น.๕. นานาธิมุตติกญาณ ปรีชาหยั่งรู้อธิมุติ (คือรู้อัธยาศัย ความโน้มเอียง แนวความสนใจ ฯลฯ) ของสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นไปต่างๆ กัน๕. รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ในด้านความโน้มเอียง แนวความสนใจ และความถนัดโดยธรรมชาติ๖. อินทริยปโรปริยัตตญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย รู้ว่า สัตว์นั้นๆ มีแนวความคิด ความรู้ ความเข้าใจ แค่ไหนเพียงใด มีกิเลสมาก กิเลสน้อย มีอินทรีย์อ่อนหรือแก่กล้า สอนง่ายหรือสอนยาก มีความพร้อมที่จะเข้าสู่การตรัสรู้หรือไม่๖. รู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลในด้านระดับสติปัญญา ความสามารถ พัฒนาการด้านต่างๆ และความพร้อมที่จะเรียนรู้๗. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ ปรีชาหยั่งรู้เหตุที่จะทำให้ฌานวิโมกข์ และสมาบัติเสื่อม หรือเจริญ คล่องแคล่วจัดเจน หรือก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป๗. รู้ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ถ่วง หรือส่งเสริมเพิ่มพูนผลสำเร็จของการเรียนรู้และการฝึกอบรมในระดับต่างๆ กับรู้จักใช้เทคนิคต่างๆ เข้าแก้ไข หรือส่งเสริม นำการเรียนรู้ และการฝึกอบรมให้ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี๘. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ปรีชาหยั่งรู้ระลึกชาติภพในหนหลังได้๘. รู้ประวัติพื้นเพเดิม และประสบการณ์ในอดีตของผู้เรียน๙. จุตูปปาตญาณ ปรีชาหยั่งรู้จุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลายอันเป็นไปตามกรรม๙. พิจารณาสังเกตดูผู้เรียน ในขณะที่เขามีบทบาทอยู่ในชีวิตจริง ภายในกลุ่มชนหรือสังคม สามารถรู้เท่าทัน และเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ที่เขาแสดงออกในขณะนั้นๆ ว่าเป็นผู้มีปัญหาหรือไม่อย่างไร มองเห็นสาเหตุแห่งปัญหานั้น และพร้อมที่จะเข้าช่วยเหลือแก้ไขได้ทันที.๑๐. อาสวักขยญาณ ปรีชาหยั่งรู้ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย๑๐. รู้ชัดเข้าใจแจ่มแจ้ง และแน่ใจว่า ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นจุดหมายนั้น คืออะไร เป็นอย่างไร และตนเองสามารถกระทำผลสัมฤทธิ์นั้นให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย

 

๒) ปฏิสัมภิทา คือ ปัญญาแตกฉานในด้านต่างๆ ซึ่งมีทั่วไปแก่พระมหาสาวกทั้งหลายด้วย ดังนี้:-

  1. อรรถปฏิสัมภิทา ความเข้าใจแจ่มแจ้งในความหมายของถ้อยคำ ข้อความหรือข้อธรรมต่างๆ สามารถขยายความแยกแยะออกไปได้โดยพิสดาร แม้นได้เห็นเหตุใดๆ ก็สามารถคิดเชื่อมโยงแยกแยะกระจายความคิดออกไปล่วงรู้ถึงผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในอรรถ
  2. ธรรมปฏิสัมภิทา ความเข้าใจแจ่มแจ้งในหลักหรือข้อธรรมต่างๆ สามารถจับใจความของคำอธิบายที่กว้างขวางพิสดาร มาตั้งเป็นกระทู้หรือหัวข้อได้ เมื่อมองเห็นผลต่างๆ ที่ปรากฏ ก็สามารถสืบสาวกลับไปหาเหตุได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในธรรม
  3. นิรุตติปฏิสัมภิทา ความรู้แตกฉานในภาษา รู้ภาษาต่างๆ และรู้จักใช้ถ้อยคำชี้แจงแสดงอรรถและธรรมให้คนอื่นเข้าใจ และเห็นตามได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ
  4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ความมีไหวพริบ สามารถเข้าใจ คิดเหตุผลได้เหมาะสมทันการ และมีความรู้ความเข้าใจชัดในความรู้ต่างๆ ว่ามีแหล่งที่มา มีประโยชน์อย่างไร สามารถเชื่อมโยงความรู้ทั้งหลายเข้าด้วยกัน สร้างความคิดและเหตุผลขึ้นใหม่ได้ แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

พระวิสุทธิคุณ

๒. พระวิสุทธิคุณ ความบริสุทธิ์เป็นพระคุณสำคัญยิ่งเช่นกันที่จะทำให้ประชาชนเชื่อถือและเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ความบริสุทธิ์นี้อาจมองได้จากลักษณะต่างๆ ดังนี้:-

ก. พระองค์เองเป็นผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง ไม่กระทำความชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่มีเหตุที่ใครจะยกขึ้นตำหนิได้

ข. ทรงทำได้อย่างที่สอน คือ สอนเขาอย่างไร พระองค์เองก็ทรงประพฤติปฏิบัติอย่างนั้นด้วย อย่างพุทธพจน์ที่ว่า ตถาคตพูดอย่างใดทำอย่างนั้น จึงเป็นตัวอย่างที่ดี และให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในคุณค่าของคำสอนได้

ค. ทรงมีความบริสุทธิ์พระทัยในการสอน ทรงสอนผู้อื่นด้วยมุ่งหวังประโยชน์แก่เขาอย่างเดียว ไม่มีพระทัยเคลือบแฝงด้วยความหวังผลประโยชน์ส่วนตน หรืออามิสตอบแทนใดๆ

พระวิสุทธิคุณเหล่านี้ จะเห็นได้จากคำสรรเสริญของบุคคลต่างๆ ในสมัยพุทธกาล เช่น:-

“ดูกรนาคิตะ ขออย่าให้เราต้องข้องเกี่ยวกับยศเลย และขออย่าให้ยศมาข้องเกี่ยวกับเราด้วย บุคคลผู้ใดไม่ได้โดยง่ายซึ่งความสุขอันเกิดจากเนกขัมมะ ความสุขอันเกิดจากวิเวก ความสุขอันเกิดจากความสงบ ความสุขอันเกิดจากความตรัสรู้ เหมือนอย่างที่เราได้ บุคคลผู้นั้นจึงจะยินดีความสุขแบบอาจม ความสุขที่เกิดจากการหลับ และความสุขที่เกิดจากลาภ สักการะ สรรเสริญ”10

จากคำกล่าวของพระสารีบุตรว่า:-

“ท่านทั้งหลาย พระตถาคตมีกายสมาจาร วจีสมาจาร มโนสมาจารบริสุทธิ์ พระตถาคตมิได้มีความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจ ที่พระองค์จะต้องปกปิดรักษาไว้ โดยตั้งพระทัยว่า ขอคนอื่นๆ อย่าได้รู้ถึงความประพฤติชั่วทางกาย ทางวาจา ทางใจของเราเลย”11

“ดูกรโมคคัลลานะ เราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ จึงปฏิญาณได้ว่าเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ศีลของเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่เศร้าหมอง บรรดาสาวกไม่ต้องคอยรักษาเราโดยศีล และเราก็ไม่ต้องคิดหวังให้สาวกช่วยรักษาเราโดยศีล เรามีอาชีวะบริสุทธิ์ มีธรรมเทศนาบริสุทธิ์ มีไวยากรณ์บริสุทธิ์ มีญาณทัศนะบริสุทธิ์...ไม่ต้องคิดหวังให้สาวกช่วยรักษา (คือช่วยระมัดระวังปกปิดความเสียหายในเรื่องเหล่านั้น)”12

ภิกษุทั้งหลายเคยแสดงความรู้สึกของตนต่อพระผู้มีพระภาคในเรื่องการทรงสั่งสอนธรรมว่า:-

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ไม่มีความดำริในพระผู้มีพระภาคเลยว่า พระสมณโคดมทรงแสดงธรรมเพราะเหตุ(ปรารถนา)จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ หรือเพราะเหตุหวังสุขในการได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้”

“พวกข้าพระองค์มีความดำริในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงปรารถนาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความกรุณา จึงทรงแสดงธรรม”

พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เพราะการที่เธอทั้งหลายมีความดำริต่อเราอย่างนี้ ฉะนั้น ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลาย เพื่อความรู้ยิ่ง...เธอทั้งปวงพึงพร้อมเพรียงกัน บันเทิงใจ ไม่วิวาท ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้นเถิด”13

ในอุทุมพริกสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพุทธะ (คือตรัสรู้) เองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้, พระองค์เป็นผู้ฝึกเองแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความฝึก, พระองค์เป็นผู้สงบระงับแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ, พระองค์เป็นผู้ข้ามพ้นไปได้แล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความข้ามพ้น, ทรงเป็นผู้ดับเย็นแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพื่อความดับเย็น”

“เรากล่าวดังนี้ว่า บุรุษผู้เป็นวิญญูชน ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอย่างที่ได้รับคำสั่งสอนแล้ว จักกระทำให้สำเร็จซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยม อันเป็นที่ปรารถนาของกุลบุตรผู้ออกบวช อันเป็นจุดหมายแห่งพรหมจรรย์ได้ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันชาตินี้เอง โดยใช้เวลา ๗ ปี... ๖ ปี... ๕ ปี... ๔ ปี... ๓ ปี... ๒ ปี... ปีเดียว... ๗ เดือน...๖ เดือน... ๕ เดือน... -๔ -๓ - ๒ - ๑ เดือน... กึ่งเดือน... ๗ วัน เท่านั้น”

“บางทีท่านอาจคิดว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้เพราะใคร่ได้ศิษย์ ข้อนั้นท่านไม่พึงเห็นอย่างนั้น อาจารย์ผู้ใดของท่านเป็นอย่างนี้ ขอให้ผู้นั้นแหละคงเป็นอาจารย์ของท่าน... เรากล่าวอย่างนี้ เพราะใคร่ได้ศิษย์ก็หาไม่ ต้องการให้ท่านถอนตัวจากอุเทศของตนก็หาไม่ ต้องการให้ท่านถอนตัวจากอาชีวะของท่านก็หาไม่ ต้องการให้ท่านเข้าไปติดอยู่ในธรรมที่จัดว่าเป็นอกุศลตามลัทธิฝ่ายอาจารย์ของตนก็หาไม่ ต้องการให้ท่านเคลื่อนคลาดไปจากธรรมที่จัดว่าเป็นกุศลตามลัทธิฝ่ายอาจารย์ของตนก็หาไม่

“หากแต่ว่า อกุศลธรรมที่ทำให้เกิดความเศร้าหมองที่สร้างชาติสร้างภพ มีแต่ความเร่าร้อนกระวนกระวาย ให้ผลเป็นทุกข์ ชักนำชาติชรามรณะมาให้เรื่อยไป ซึ่งท่านยังละไม่ได้นั้นมีอยู่ เราแสดงธรรมก็เพื่อให้กำจัดอกุศลเหล่านี้ได้ เมื่อท่านปฏิบัติตาม สิ่งที่เป็นเหตุก่อความเสื่อมเสียทั้งหลายก็จะถูกกำจัดหมดไป และสิ่งที่เสริมสร้างความถูกต้องผ่องแผ้วก็จะพัฒนายิ่งๆ ขึ้น ท่านก็จักได้รู้ยิ่งเห็นจริง ได้บรรลุความบริสุทธิ์แห่งปัญญา และความไพบูลย์ด้วยตนเอง ตั้งแต่ในปัจจุบันทีเดียว” 14

เมื่อครั้งท่านสีหะ เสนาบดีแห่งแคว้นเวสาลี ผู้เป็นศิษย์นิครนถนาฏบุตร มาเฝ้าทูลถามปัญหาพระพุทธเจ้า และบังเกิดความเลื่อมใส กล่าวคำปฏิญาณตนเป็นอุบาสก พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนว่า

“ท่านจงใคร่ครวญให้ดีเสียก่อน การใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงทำ เป็นความดีสำหรับคนผู้มีชื่อเสียงอย่างท่าน”

ครั้นท่านเสนาบดียืนยันว่า เขาเลื่อมใสขอเป็นอุบาสกแน่นอนแล้ว พระองค์ได้ตรัสอีกว่า

“ท่านสีหะ ตระกูลของท่านเป็นเสมือนบ่อน้ำของนิครนถ์ทั้งหลายมาช้านาน (ต่อไปนี้) เมื่อนิครนถ์มาหา ท่านก็พึงใส่ใจในเรื่องที่จะถวายบิณฑบาตด้วย”15

เหตุการณ์คล้ายคลึงกันนี้ ได้เกิดแก่อุบาลีคฤหบดีผู้เป็นศิษย์นิครนถนาฏบุตรเช่นเดียวกัน 16

อีกแห่งหนึ่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าบุคคลเหล่าอื่นจะด่าบริภาษ โกรธ เบียดเบียน กระทบกระเทียบตถาคตในการประกาศจตุราริยสัจนั้น ตถาคตก็ไม่มีความอาฆาต ไม่มีความโทมนัส ไม่มีจิตยินร้าย; ถ้าว่าชนเหล่าอื่นจะสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคตในการประกาศจตุราริยสัจนั้น ตถาคตก็ไม่ดีใจ ไม่เกิดโสมนัส ไม่มีใจเย่อหยิ่งในสักการะเป็นต้นเหล่านั้น”17

นอกจากทรงพระคุณนี้เองแล้ว ยังทรงสอนภิกษุสาวกไว้ด้วยว่า

“ภิกษุทั้งหลาย…. ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นไร ไม่บริสุทธิ์ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นไร บริสุทธิ์?

“ภิกษุรูปใดมีความคิดว่า ‘ขอให้ชนทั้งหลายฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว พึงเลื่อมใสธรรม ขอให้คนทั้งหลายที่เลื่อมใสแล้ว แสดงอาการของผู้เลื่อมใสแก่เรา’ ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ ไม่บริสุทธิ์;

“ส่วนภิกษุรูปใด มีความคิดว่า ‘พระธรรมนี้เป็นของตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสันทิฏฐิกะ เป็นอกาลิกะ เป็นโอปนยิกะ วิญญูชนพึงรู้ประจักษ์จำเพาะตน ขอให้ชนทั้งหลายฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว ขอให้เขาเข้าใจธรรม ครั้นเข้าใจชัดแล้ว ขอให้ปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น’ ดังนี้ แล้วแสดงธรรมแก่คนอื่น โดยเหตุที่ธรรมนั้นเป็นของดีของถูกต้อง โดยเหตุที่มีความการุณย์ โดยเหตุที่มีความเอื้อเอ็นดู แสดงด้วยอาศัยความอนุเคราะห์ ธรรมเทศนาของภิกษุทั้งหลายเช่นนี้ ชื่อว่าบริสุทธิ์”18

พระกรุณาคุณ

๓. พระกรุณาคุณ อาศัยพระมหากรุณาธิคุณ พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จออกประกาศพระศาสนา โปรดสรรพสัตว์ ทำให้พระคุณ ๒ อย่างแรก คือ พระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณ เป็นที่ปรากฏ และเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกอย่างแท้จริง เสด็จไปช่วยเหลือแนะนำสั่งสอนมนุษย์ทั้งที่เป็นกลุ่มชนและที่เป็นรายบุคคล โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากของพระองค์เอง พระมหากรุณาธิคุณเหล่านี้ พึงเห็นตามคำสรรเสริญและคุณธรรมอื่นๆ ที่แสดงออก เช่น:-

“(พระสมณโคดม) ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งปวง” 19

“พึงทราบการวางสติ ๓ ประการที่พระอริยเจ้าปฏิบัติ ซึ่งเมื่อปฏิบัติแล้ว จึงควรเป็นศาสดาสั่งสอนหมู่ชน...

๑. ภิกษุทั้งหลาย ศาสดาเป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงประโยชน์เกื้อกูล อาศัยเมตตา จึงแสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า สิ่งนี้จะให้ประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ สิ่งนี้จะให้ความสุขแก่พวกเธอ แต่เหล่าสาวกของศาสดานั้นย่อมไม่ตั้งใจฟัง ไม่เงี่ยโสตลงสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา ในกรณีนั้น ตถาคตจะได้มีความยินดีก็หาไม่ จะได้บังเกิดความพึงพอใจก็หาไม่ ทั้งจะได้ขัดเคืองขุ่นมัวก็หาไม่ ย่อมมีสติสัมปชัญญะดำรงอยู่...

๒. อีกประการหนึ่ง... เหล่าสาวกของศาสดานั้น บางพวกก็ไม่ตั้งใจฟัง... บางพวกย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติเคลื่อนคลาดจากคำสอนของศาสดา ในกรณีนั้น ตถาคตจะได้มีความยินดีก็หาไม่ จะได้บังเกิดความพึงพอใจก็หาไม่ จะได้มีความไม่พอใจก็หาไม่ จะได้บังเกิดความไม่พอใจก็หาไม่ ตัดได้ทั้งความพอใจและความไม่พอใจทั้งสองอย่าง เป็นผู้อุเบกขา คงมีสติสัมปชัญญะอยู่...

๓. อีกประการหนึ่ง...เหล่าสาวกของศาสดานั้น (ทั้งหมด) ย่อมตั้งใจฟัง เงี่ยโสตลงสดับ ตั้งจิตรับรู้ ไม่ประพฤติเคลื่อนคลาดจากคำสอนของศาสดา ในกรณีนั้น ตถาคตย่อมเป็นผู้ชื่นชม บังเกิดความพึงพอใจ แต่ก็หากระหยิ่มเหิมใจไม่ ยังคงมีสติสัมปชัญญะ ดำรงอยู่”20

จากข้อความตอนนี้ พึงสังเกตด้วยว่า ความกรุณาที่แสดงออกอย่างได้ผลดีนั้น ต้องอาศัยมีอุเบกขา และสติสัมปชัญญะเข้าประกอบด้วย ในกรณีต่างๆ และในกรณีนั้นๆ จะต้องเข้าใจความหมายของอุเบกขาให้ถูกต้องด้วย

นอกจากนี้ ความกรุณาที่แสดงออกในทางการอบรมสั่งสอน ย่อมเป็นส่วนประกอบสำคัญให้เกิดคุณลักษณะของผู้สอนอย่างที่เรียกว่า องค์คุณของกัลยาณมิตร ซึ่งมี ๗ ประการ ดังต่อไปนี้:-

  1. ปิโย - น่ารัก (ในฐานเป็นที่วางใจและสนิทสนม)
  2. ครุ - น่าเคารพ (ในฐานให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งได้ และปลอดภัย)
  3. ภาวนีโย - น่ายกย่อง (ในฐานทรงคุณคือความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง)
  4. วตฺตา - รู้จักพูด (คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี)
  5. วจนกฺขโม - อดทนต่อถ้อยคำ (พร้อมที่จะรับฟังคำซักถามต่างๆ อยู่เสมอ และสามารถรับฟังได้ด้วยความอดทนไม่เบื่อ)
  6. คมฺภีรญจฺ กถํ กตฺตา - (กล่าวชี้แจงแถลงเรื่องต่างๆ ที่ลึกซึ้งได้)
  7. โน จฏฺฐาเน นิโยชเย - (ไม่ชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสีย)21

พึงสังเกตไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า พระพุทธศาสนาถือว่า ความสัมพันธ์ของผู้สอนที่มีต่อผู้เรียนนั้น อยู่ในฐานะเป็นกัลยาณมิตร คือ เป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำผู้เรียนให้ดำเนินก้าวหน้าไปในมรรคาแห่งการฝึกอบรม22 องค์คุณทั้ง ๗ นี้ เป็นคุณลักษณะที่ผู้สอนหรือครูผู้มีความกรุณาโดยทั่วไปจะมีได้ ไม่จำกัดเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น

พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงอนุเคราะห์ชาวโลกนั้น แสดงออกในพุทธกิจประจำวันหรือกิจวัตรประจำวันของพระองค์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า วันเวลาที่ผ่านไปแต่ละวันนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนอื่นๆ ทั้งนั้น และให้เห็นการรู้จักทำงานเป็นเวลาของพระมหาบุรุษ พุทธกิจประจำวันนั้น แบ่งเป็น ๕ ดังนี้:-

  1. ปุเรภัตตกิจ พุทธกิจภาคเช้าหรือภาคก่อนอาหาร ได้แก่ ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้า เสด็จออกบิณฑบาต เสวยแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนในที่นั้นๆ เสด็จกลับพระวิหาร รอให้พระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว เสด็จเข้าพระคันธกุฏี
  2. ปัจฉาภัตตกิจ พุทธกิจภาคบ่ายหรือหลังอาหาร ระยะที่ ๑ เสด็จออกจากพระคันธกุฏี ทรงโอวาทภิกษุสงฆ์ เสร็จแล้วพระสงฆ์แยกย้ายกันไปปฏิบัติธรรมในที่ต่างๆ พระองค์เสด็จเข้าพระคันธกุฏี อาจทรงบรรทมเล็กน้อยแล้ว ถึงระยะที่ ๒ ทรงพิจารณาตรวจดูความเป็นไปของชาวโลก ระยะที่ ๓ ประชาชนในถิ่นนั้นมาประชุมในธรรมสภา ทรงแสดงธรรมโปรด
  3. ปุริมยามกิจ พุทธกิจยามที่ ๑ (ของราตรี) หลังจากพุทธกิจภาคกลางวันแล้ว อาจทรงสนานแล้วปลีกพระองค์อยู่เงียบๆ พักหนึ่ง จากนั้นพระภิกษุสงฆ์มาเฝ้า ทูลถามปัญหาบ้าง ขอกรรมฐานบ้าง ขอให้ทรงแสดงธรรมบ้าง ทรงใช้เวลาตลอดยามแรกนี้สนองความประสงค์ของพระสงฆ์
  4. มัชฌิมยามกิจ พุทธกิจในมัชฌิมยาม เมื่อพระสงฆ์แยกย้ายไปแล้ว ทรงใช้เวลายามที่สองตอบปัญหาพวกเทพทั้งหลายที่มาเฝ้า
  5. ปัจฉิมยามกิจ พุทธกิจในปัจฉิมยาม ทรงแบ่งเป็น ๓ ระยะ ระยะแรก เสด็จดำเนินจงกรมเพื่อให้พระวรกายได้ผ่อนคลาย ระยะที่ ๒ เสด็จเข้าพระคันธกุฏี ทรงพระบรรทมสีหไสยาสน์อย่างมีพระสติสัมปชัญญะ ระยะที่ ๓ เสด็จประทับนั่งพิจารณาสอดส่องเลือกสรรว่า ในวันต่อไปมีบุคคลผู้ใดที่ควรเสด็จไปโปรดโดยเฉพาะเป็นพิเศษ เมื่อทรงกำหนดพระทัยไว้แล้ว ก็จะเสด็จไปโปรดในภาคพุทธกิจที่ ๑ คือ ปุเรภัตตกิจ23

    การทรงให้ความสนพระทัยช่วยเหลือโปรดบุคคลผู้สมควร เป็นส่วนเฉพาะบุคคลๆ เช่นนี้ ผู้ได้รับการโปรดอาจเป็นคนชั้นสูง ชั้นต่ำ เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ก็ได้ทั้งสิ้น เช่น เสด็จไปโปรดสิงคาลกมาณพผู้ไหว้ทิศ24 เสด็จไปโปรดเด็กชายมัฏฐกุณฑลีที่กำลังนอนเจ็บหนัก25เป็นต้น

    นอกจากนี้ ยังทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ ทุกข์ สุข ของพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป เช่น เสด็จไปเยี่ยมภิกษุป่วย26 และพยาบาลภิกษุป่วยไข้ที่ไม่มีคนพยาบาลด้วยพระองค์เอง27

    ความกรุณาเช่นนี้ เป็นเหตุนำความเลื่อมใสศรัทธา เป็นประโยชน์ในการสอน ทรงสอนคนได้โดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ ไม่ต้องใช้การลงโทษ และทรงได้รับความเคารพบูชาสูงสุดด้วยความจริงใจ

    ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดจากดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งแคว้นโกศล ที่เสด็จมาเฝ้า แสดงความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสูงสุดในพระพุทธเจ้าและทูลไว้ มีความตอนหนึ่งว่า:-

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันเป็นขัตติยราช ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ย่อมสามารถสั่งฆ่าคนที่ควรฆ่าได้ จะให้ริบคนที่ควรริบได้ จะให้เนรเทศคนที่ควรเนรเทศก็ได้ เมื่อหม่อมฉันนั่งอยู่ในที่วินิจฉัยความ ก็ยังมีคนพูดสอดขึ้นในระหว่างบ้าง...

    “แต่หม่อมฉันได้เห็นภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ในสมัยใด พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ที่ประชุมคนหลายร้อย ในที่ประชุมนั้น สาวกของพระผู้มีพระภาคไม่มีเสียงไอเสียงจามเลย...

    “หม่อมฉันเกิดความคิดขึ้นมาว่า น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยมีมาก่อน พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอบรมชุมชนได้ดีถึงเพียงนี้โดยไม่ต้องใช้อาชญา (อำนาจบังคับและการลงโทษ) โดยไม่ต้องใช้ศาสตรา หม่อมฉันไม่เคยเห็นชุมชนอื่นที่ฝึกได้ดีอย่างนี้นอกจากธรรมวินัยนี้ แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาค ของหม่อมฉัน...”

    “อีกประการหนึ่ง ช่างไม้ ๒ คน คนหนึ่งชื่ออิสิทันตะ คนหนึ่งชื่อปุราณะ กินอยู่ของหม่อมฉัน ใช้ยวดยานของหม่อมฉัน หม่อมฉันให้เครื่องเลี้ยงชีพแก่เขา ให้ยศแก่เขา แต่ถึงกระนั้น เขาจะได้แสดงความเคารพนบนอบในหม่อมฉันเหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่

    “เรื่องเคยมี คราวเมื่อหม่อมฉันยกกองทัพออกไป คิดจะทดลองช่างไม้อิสิทันตะและช่างไม้ปุราณะนี้ดู จึงเข้าพักอยู่ในที่พักอาศัยอันคับแคบแห่งหนึ่ง โอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คราวนั้น นายช่างเหล่านี้ใช้เวลากล่าวธรรมกันจนดึก ได้ทราบว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ทิศใด เขาก็ผินศีรษะไปทางทิศนั้น นอนเหยียดเท้ามาทางหม่อมฉัน

    “หม่อมฉันมีความคิดว่า น่าอัศจรรย์แท้ ไม่เคยมีมาก่อนเลย นายช่างเหล่านี้ กินอยู่ของเรา...ถึงกระนั้น เขาจะได้มีความเคารพนบนอบในเรา เหมือนในพระผู้มีพระภาคก็หาไม่ คนทั้งสองนี้ คงจะได้รู้สิ่งที่เป็นคุณความดีพิเศษยิ่งกว่าเดิม ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นแน่ แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาค ของหม่อมฉัน”28

    ในที่นี้ จะขอสรุปพระคุณสมบัติที่ควรสังเกตไว้ดังนี้:-

    1. ทรงสอนสิ่งที่จริง และเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง
    2. ทรงรู้เข้าใจสิ่งที่สอนอย่างถ่องแท้สมบูรณ์
    3. ทรงสอนด้วยเมตตา มุ่งประโยชน์แก่ผู้รับคำสอนเป็นที่ตั้ง ไม่หวังผลตอบแทน
    4. ทรงทำได้จริงอย่างที่สอน เป็นตัวอย่างที่ดี
    5. ทรงมีบุคลิกภาพโน้มน้าวจิตใจให้เข้าใกล้ชิดสนิทสนมและพึงพอใจได้ความสุข
    6. ทรงมีหลักการสอนและวิธีสอนยอดเยี่ยม ดังจะกล่าวต่อไป

    ๓. หลักทั่วไปในการสอน

    ในเรื่องหลักทั่วไปของการสอนนี้ จะขอแบ่งเป็น ๓ หมวด คือ ที่เป็นข้อควรคำนึงต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอนพวกหนึ่ง เกี่ยวกับตัวผู้เรียนพวกหนึ่ง และที่เกี่ยวกับตัวการสอนเองพวกหนึ่ง และจะบรรยายเพียงโดยสรุป เพราะได้กินเนื้อที่มามากแล้วในสองหัวข้อก่อน:-

    ก. เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอน

    ๑. สอนจากสิ่งที่รู้เห็นเข้าใจง่ายหรือรู้เห็นเข้าใจอยู่แล้ว ไปหาสิ่งที่เห็นเข้าใจได้ยาก หรือยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ อริยสัจจ์ ซึ่งทรงเริ่มสอนจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ปัญหาชีวิตที่คนมองเห็นและประสบอยู่โดยธรรมดา รู้เห็นประจักษ์กันอยู่ทุกคนแล้ว ต่อจากนั้นจึงสาวหาเหตุที่ยากลึกซึ้ง และทางแก้ไขต่อไป

    ๒. สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยลุ่มลึกยากลงไปตามลำดับชั้น และต่อเนื่องกันเป็นสายลงไป อย่างที่เรียกว่า สอนเป็นอนุบุพพิกถา ตัวอย่างก็คือ อนุบุพพิกถา ไตรสิกขา พุทธโอวาท ๓ เป็นต้น

    ๓. ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้ ก็สอนด้วยของจริง ให้ผู้เรียนได้ดู ได้เห็น ได้ฟังเอง อย่างที่เรียกว่าประสบการณ์ตรง เช่น ทรงสอนพระนันทะที่คิดถึงคู่รักคนงาม ด้วยการทรงพาไปชมนางฟ้า นางอัปสรเทพธิดา ให้เห็นกับตา เรื่องอาจารย์ทิศาปาโมกข์ให้หมอชีวกทดสอบตัวเอง29 เรื่องนามสิทธิชาดก30หรืออย่างที่ให้พระเพ่งดูความเปลี่ยนแปลงของดอกบัว เป็นต้น

    ๔. สอนตรงเนื้อหา ตรงเรื่อง คุมอยู่ในเรื่อง มีจุด ไม่วกวน ไม่ไขว้เขว ไม่ออกนอกเรื่อง

    ๕. สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้ อย่างที่เรียกว่า สนิทานํ

    ๖. สอนเท่าที่จำเป็นพอดีสำหรับให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้ หรือสอนแสดงภูมิว่าผู้สอนมีความรู้มาก

    เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้า เมื่อประทับอยู่ในป่าประดู่ลายใกล้เมืองโกสัมพี ได้ทรงหยิบใบไม้ประดู่ลายเล็กน้อยใส่กำพระหัตถ์ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบประดู่ลายในพระหัตถ์ กับในป่า ไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ในป่ามากกว่า จึงตรัสว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้แต่มิได้ทรงสอน เหมือนใบประดู่ลายในป่า ส่วนที่ทรงสั่งสอนน้อยเหมือนใบประดู่ลายในพระหัตถ์ และตรัสแสดงเหตุผลในการที่มิได้ทรงสอนทั้งหมดเท่าที่ตรัสรู้ว่า เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นประโยชน์ มิใช่หลักการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ไม่ช่วยให้เกิดความรู้ถูกต้องที่จะนำไปสู่จุดหมาย คือนิพพานได้31

    ๗. สอนสิ่งที่มีความหมาย ควรที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง อย่างพุทธพจน์ที่ว่า พระองค์ทรงมีพระเมตตา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย จึงตรัสพระวาจาตามหลัก ๖ ประการ คือ:-

    ๑) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
    ๒) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
    ๓) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – เลือกกาลตรัส
    ๔) คำพูดที่ไม่จริง ไม่ถูกต้อง, ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
    ๕) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, แต่ไม่เป็นประโยชน์, ถึงเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น – ไม่ตรัส
    ๖) คำพูดที่จริง ถูกต้อง, เป็นประโยชน์, เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่น – เลือกกาลตรัส32

    ลักษณะของพระพุทธเจ้าในเรื่องนี้ คือ ทรงเป็นกาลวาที สัจจวาที ภูตวาที อัตถวาที ธรรมวาที วินัยวาที

    ข. เกี่ยวกับตัวผู้เรียน

    ๑. รู้ คำนึงถึง และสอนให้เหมาะตามความแตกต่างระหว่างบุคคล อย่างในทศพลญาณข้อ ๕ ข้อ ๖ ที่อธิบายมาแล้ว เช่น คำนึงถึงจริต ๖ อันได้แก่ ราคจริต โทสจริต โมหจริต ศรัทธาจริต พุทธิจริต และวิตกจริต33 และรู้ระดับความสามารถของบุคคล อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาเมื่อก่อนเสด็จออกประกาศพระศาสนาว่า

    “เหล่าสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อยก็มี ที่มีกิเลสในดวงตามากก็มี ที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็มี ที่มีอินทรีย์อ่อนก็มี ที่มีอาการดีก็มี มีอาการทรามก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ง่ายก็มี ที่จะสอนให้รู้ได้ยากก็มี บางพวกที่ตระหนักถึงโทษภัยในปรโลกอยู่ก็มี ทั้งนี้อุปมาเหมือนดังในกออุบล กอประทุม หรือกอบุณฑริก”34

    ต่อจากนั้นได้ทรงยกบัว ๓ เหล่าขึ้นมาเปรียบ ในที่นี้จะนำไปเทียบกับบุคคล ๔ ประเภท ที่พระองค์ตรัสไว้ในที่อื่น ดังนี้:-

    ก. บุคคลผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน แต่พอยกหัวข้อขึ้นแสดงเท่านั้น เรียกว่า อุคฆฏิตัญญู เทียบกับบัวพ้นน้ำ แต่พอรับสัมผัสรัศมีตะวัน ก็จะบาน ณ วันนั้น
    ข. บุคคลผู้สามารถรู้เข้าใจได้ ต่อเมื่อท่านอธิบายความพิสดารออกไป เรียกว่า วิปจิตัญญู เทียบกับบัวปริ่มน้ำ จักบานต่อวันรุ่งขึ้น
    ค. บุคคลผู้พอจะหาทางค่อยชี้แจงแนะนำใช้วิธีการยักเยื้องให้เข้าใจได้ต่อๆ ไป เรียกว่า ไนยยะ เทียบกับบัวงามใต้พื้นน้ำ จักบานในวันต่อๆ ไป
    ง. บุคคลผู้อับปัญญา มีดวงตามืดมิด ยังไม่อาจให้บรรลุคุณวิเศษได้ในชาตินี้ เรียกว่า ปทปรมะ เทียบกับบัวจมใต้น้ำ น่าจักเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า35

    ๒. ปรับวิธีสอนผ่อนให้เหมาะกับบุคคล แม้สอนเรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคล อาจใช้ต่างวิธี ข้อนี้เกี่ยวโยงต่อเนื่องมาจากข้อที่ ๑

    ๓. นอกจากคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ผู้สอนยังจะต้องคำนึงถึงความพร้อม ความสุกงอม ความแก่รอบแห่งอินทรีย์ หรือญาณ ที่บาลีเรียกว่า ปริปากะ ของผู้เรียนแต่ละบุคคลเป็นรายๆ ไปด้วย ว่าในแต่ละคราว หรือเมื่อถึงเวลานั้นๆ เขาควรจะได้เรียนอะไร และเรียนได้แค่ไหนเพียงไร หรือว่าสิ่งที่ต้องการให้เขารู้นั้น ควรให้เขาเรียนได้หรือยัง เรื่องนี้จะเห็นได้ชัดในพุทธวิธีสอน ว่าพระพุทธเจ้าทรงคอยพิจารณาปริปากะของบุคคล เช่น

    คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับหลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ทรงดำริว่า

    “ธรรมเครื่องบ่มวิมุตติของราหุลสุกงอมดีแล้ว ถ้ากระไรเราพึงช่วยชักนำเธอในการกำจัดอาสวะให้ยิ่งขึ้นไปอีก” ดังนี้

    ครั้นเมื่อเสด็จไปบิณฑบาต เสวยเสร็จแล้ว จึงตรัสชวนพระราหุลให้โดยเสด็จไปพักผ่อนกลางวันในป่าอันธวัน เมื่อถึงโคนไม้แห่งหนึ่ง ก็ได้ประทับนั่งลงและทรงสอนธรรมด้วยวิธีสนทนา วันนั้นพระราหุลก็ได้บรรลุอรหัตตผล36

    อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อคราวประทับอยู่ ๒ องค์กับพระเมฆิยะ ณ จาลิกบรรพต พระเมฆิยะทูลลาไปบิณฑบาตในหมู่บ้านชันตุคาม ในระหว่างทางกลับจากบิณฑบาตมาถึงฝั่งลำน้ำกิมิกาฬา ท่านได้เห็นสถานที่ในป่าอัมพวันน่ารื่นรมย์ เกิดความคิดว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร ครั้นกลับถึงจาลิกบรรพต จึงเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลขออนุญาตลาไปบำเพ็ญเพียร ณ ป่าริมฝั่งน้ำนั้น

    พระพุทธองค์ทรงทราบว่า ญาณของพระเมฆิยะยังไม่สุกงอมพอที่จะไปบำเพ็ญเพียรอยู่ผู้เดียวให้เกิดผลสำเร็จก้าวหน้าขึ้นไปได้ แต่ก็จะทรงให้พระเมฆิยะได้บทเรียน จึงมิได้ทรงห้ามทีเดียว แต่ทรงทัดทานว่า “รอก่อนเถิดเมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าจะมีภิกษุรูปอื่นมาเสียก่อน”

    การที่ตรัสดังนี้ ก็เพื่อให้รู้สึกว่าพระองค์มีพระทัยเยื่อใยเมตตาต่อพระเมฆิยะอยู่ เป็นแรงคอยโน้มน้าว เมื่อพระเมฆิยะมีเหตุขัดข้องอะไรขึ้นจะได้กลับมาเฝ้าพระองค์ ครั้นพระเมฆิยะทูลคะยั้นคะยอ พระองค์ก็ทรงอนุญาต

    ฝ่ายพระเมฆิยะ เมื่อไปอยู่ที่ป่าอัมพวันผู้เดียวแล้ว ต่อมาก็เกิดมีอกุศลวิตกขึ้น เพราะญาณของตนยังไม่แก่กล้าสุกงอม ไม่สามารถแก้ไขได้ จึงกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า และกราบทูลให้ทรงทราบ พระองค์จึงตรัสสอนเรื่องธรรม ๕ อย่างที่ช่วยให้เกิดปริปากะแก่เจโตวิมุตติ ที่ยังไม่แก่กล้า

    ธรรมเหล่านี้คือ ความมีกัลยาณมิตร ๑ ความมีศีล ๑ การมีโอกาสได้ยินได้ฟัง ได้ร่วมสนทนาอย่างสะดวกสบายในเรื่องต่างๆ ที่ช่วยชำระจิตใจให้ปลอดโปร่งผ่องใส เช่น เรื่องความเพียร ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ เป็นต้น ๑ การบำเพ็ญเพียรสร้างกุศลธรรมอย่างหนักแน่นจริงจัง ๑ และความมีปัญญา ๑

    โดยเฉพาะทรงเน้นว่า ความมีกัลยาณมิตรนั้นเป็นพื้นเบื้องต้นอันสำคัญ ที่จะช่วยให้ได้ทั้งศีล ให้ได้ฟังเรื่องที่ดีงาม ให้ได้บำเพ็ญเพียร และให้ได้ปัญญา37

    เป็นอันว่า ขณะนั้นพระเมฆิยะยังไม่มีปริปากะ ยังไม่พร้อมที่จะออกไปบำเพ็ญเพียรผู้เดียวอย่างที่ตนประสงค์ ยังต้องพึ่งอาศัยกัลยาณมิตรอยู่

    ๔. สอนโดยให้ผู้เรียนลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจน แม่นยำและได้ผลจริง เช่น ทรงสอนพระจูฬปันถกผู้โง่เขลาด้วยการให้นำผ้าขาวไปลูบคลำ เป็นต้น

    ๕. การสอนดำเนินไปในรูปที่ให้รู้สึกว่าผู้เรียนกับผู้สอนมีบทบาทร่วมกัน ในการแสวงความจริง ให้มีการแสดงความคิดเห็น โต้ตอบเสรี

    หลักนี้เป็นข้อสำคัญในวิธีการแห่งปัญญา ซึ่งต้องการอิสรภาพในทางความคิด และโดยวิธีนี้ เมื่อเข้าถึงความจริง ผู้เรียนก็จะรู้สึกว่าตนได้มองเห็นความจริงด้วยตนเอง และมีความชัดเจนมั่นใจ

    หลักนี้พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นประจำ และมักมาในรูปการถามตอบ ซึ่งอาจแยกลักษณะการสอนแบบนี้ได้เป็น:-

    ก. ล่อให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นของตนออกมา ชี้ข้อคิดให้แก่เขา ส่งเสริมให้เขาคิด และให้ผู้เรียนเป็นผู้วินิจฉัยความรู้นั้นเอง ผู้สอนเป็นเพียงผู้นำชี้ช่องทางเข้าสู่ความรู้

    ในการนี้ ผู้สอนมักกลายเป็นผู้ถามปัญหา แทนที่จะเป็นผู้ตอบ

    ข. มีการแสดงความคิดเห็น โต้ตอบอย่างเสรี แต่มุ่งหาความรู้ ไม่ใช่มุ่งแสดงภูมิ หรือข่มกัน

    ๖. เอาใจใส่บุคคลที่ควรได้รับความสนใจพิเศษเป็นรายๆ ไป ตามควรแก่กาละเทศะและเหตุการณ์ เช่น

    ชาวนาคนหนึ่งตั้งใจไว้แต่กลางคืนว่าจะไปฟังพุทธเทศนา บังเอิญวัวหาย ไปตามได้แล้วรีบมา แต่กว่าจะได้ก็ช้ามาก คิดว่าทันฟังท้ายหน่อยก็ยังดี ไปถึงวัดปรากฏว่าพระพุทธเจ้ายังทรงประทับรออยู่นิ่งๆ ไม่เริ่มแสดง ยิ่งกว่านั้นยังให้จัดอาหารให้เขารับประทานจนอิ่มสบาย แล้วจึงทรงเริ่มแสดงธรรม หรือ

    เรื่องเด็กหญิงชาวบ้านลูกช่างหูกคนหนึ่ง อยากฟังธรรม แต่มีงานม้วนกรอด้ายเร่งอยู่ เมื่อทำเสร็จจึงเดินจากบ้านเอาม้วนด้ายไปส่งบิดาที่โรง ผ่านโรงธรรมก็แวะหน่อยหนึ่ง นั่งอยู่แถวหลังสุดของที่ประชุม พระพุทธองค์ก็ยังทรงเอาพระทัยใส่หันไปรับสั่งให้เข้าไปนั่งใกล้ๆ ทักทายปราศรัย และสนทนาให้เกียรติให้เด็กนั้นพูดแสดงความเห็นในที่ประชุม และทรงเทศนาให้เด็กนั้นได้รับประโยชน์จากการมาฟังธรรม

    ๗. ช่วยเหลือเอาใจใส่คนที่ด้อย ที่มีปัญหา เช่น เรื่องพระจูฬปันถกที่กล่าวแล้ว เป็นต้น

    ค. เกี่ยวกับตัวการสอน

    ๑. ในการสอนนั้น การเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมากอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็เป็นเครื่องดึงความสนใจ และนำเข้าสู่เนื้อหาได้

    พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก โดยปกติพระองค์จะไม่ทรงเริ่มสอน ด้วยการเข้าสู่เนื้อหาธรรมทีเดียว แต่จะทรงเริ่มสนทนากับผู้ทรงพบหรือผู้มาเฝ้า ด้วยเรื่องที่เขารู้เข้าใจดี หรือสนใจอยู่ เช่น เมื่อทรงสนทนากับควาญช้าง ก็ทรงเริ่มสนทนาด้วยเรื่องวิธีฝึกช้าง พบชาวนาก็สนทนาเรื่องการทำนา พบพราหมณ์ก็สนทนาเรื่องไตรเพท หรือเรื่องธรรมของพราหมณ์

    บางทีก็ทรงจี้จุดสนใจ หรือเหมือนสะกิดให้สะดุ้ง เป็นการปลุกเร้าความสนใจ เช่น เมื่อเทศน์โปรดชฎิลผู้บูชาไฟ ทรงเริ่มต้นด้วยคำว่า “อะไรๆ ร้อนลุกเป็นไฟหมดแล้ว” ต่อจากนั้นจึงถามและอธิบายต่อไปว่าอะไรร้อน อะไรลุกเป็นไฟ นำเข้าสู่ธรรม

    บางทีก็ใช้เรื่องที่เขาสนใจ หรือที่เขารู้นั่นเอง เป็นข้อสนทนาไปโดยตลอด แต่แทรกความหมายทางธรรมเข้าไว้ให้

    ๒. สร้างบรรยากาศในการสอนให้ปลอดโปร่ง เพลิดเพลิน ไม่ให้ตึงเครียด ไม่ให้เกิดความอึดอัดใจ และให้เกียรติแก่ผู้เรียน ให้เขามีความภูมิใจในตัว เช่น เมื่อพราหมณ์โสณทัณฑะกับคณะไปเฝ้า ท่านโสณทัณฑะครุ่นคิดวิตกอยู่ในใจว่า

    “ถ้าเราถามปัญหาออกไป หากพระองค์ตรัสว่า ‘พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ท่านไม่ควรถามอย่างนี้’ ที่ประชุมก็จะหมิ่นเราได้

    “ถ้าพระสมณโคดมจะพึงตรัสถามปัญหาเรา ถ้าแม้เราตอบไม่ถูกพระทัย หากพระองค์ตรัสว่า ‘พราหมณ์ ปัญหาข้อนี้ ท่านไม่ควรตอบอย่างนี้ ที่ถูกควรแก้อย่างนี้’ ที่ประชุมก็จะหมิ่นเราได้

    “ถ้ากระไร ขอให้พระสมณโคดมถามปัญหาเราในเรื่องไตรเพท อันเป็นคำสอนของอาจารย์เราเถิด เราจะตอบให้ถูกพระทัยทีเดียว”

    พระพุทธเจ้าทรงทายใจพราหมณ์ได้ ทรงดำริว่า

    “โสณทัณฑะนี้ลำบากใจอยู่ ถ้ากระไร เราพึงถามปัญหาเขาในเรื่องไตรเพทอันเป็นคำสอนของอาจารย์ฝ่ายเขาเองเถิด”

    แล้วได้ตรัสถามถึงคุณสมบัติของพราหมณ์ ทำให้พราหมณ์นั้นสบายใจ และรู้สึกภูมิใจที่จะสนทนาต่อไปในเรื่องซึ่งตัวเขาเองถือว่าเขารู้ชำนาญอยู่เป็นพิเศษ และพระองค์ก็ทรงสามารถชักนำพราหมณ์นั้นเข้าสู่ธรรมของพระองค์ได้ ด้วยการคอยทรงเลือกป้อนคำถามต่างๆ กะพราหมณ์นั้น แล้วคอยสนับสนุนคำตอบของเขาต้อนเข้าสู่แนวที่พระองค์ทรงพระประสงค์38

    ในทำนองเดียวกัน เมื่อพบนิโครธปริพาชก ก็ทรงเปิดโอกาสเชิญให้เขาถามพระองค์ด้วยปัญหาเกี่ยวกับลัทธิฝ่ายเขาทีเดียว39

    ๓. สอนมุ่งเนื้อหา มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นสำคัญ ไม่กระทบตนและผู้อื่น ไม่มุ่งยกตน ไม่มุ่งเสียดสีใครๆ40

    แม้เมื่อมีผู้มาทูลถามเรื่องคำสอนของเจ้าลัทธิต่างๆ ว่าของคนใดผิดคนใดถูก พระองค์ก็จะไม่ทรงตัดสิน แต่จะทรงแสดงหลักธรรมให้เขาฟัง คือให้เขาคิดพิจารณาตัดสินเอาด้วยตนเอง

    ยกตัวอย่าง เช่น คราวหนึ่ง พราหมณ์ ๒ คน เข้าไปเฝ้าทูลถามว่า ท่านปูรณกัสสป เจ้าลัทธิหนึ่ง กับท่านนิครนถนาฏบุตร อีกเจ้าลัทธิหนึ่ง ต่างก็ปฏิญาณว่าตนเป็นผู้ที่รู้ที่สุดด้วยกัน วาทะเป็นปฏิปักษ์กัน ใครจริง ใครเท็จ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

    “อย่าเลยพราหมณ์ ข้อที่ทั้งสองนี้ต่างพูดอวดรู้ มีวาทะเป็นปฏิปักษ์กันนั้น ใครจะจริง ใครจะเท็จ พักไว้เถิด เราจักแสดงธรรมให้ท่านทั้งสองฟัง ขอให้ท่านตั้งใจฟังเถิด”41

    เรื่องเช่นนี้มีปรากฏหลายแห่งในพระไตรปิฎก42 แม้เมื่อแสดงธรรมตามปกติในที่ประชุมสาวก ก็ไม่ทรงยกยอ และไม่ทรงรุกรานที่ประชุม ทรงชี้แจงให้รู้เข้าใจชัดเจนไปตามธรรม43

    ๔. สอนโดยเคารพ คือ ตั้งใจสอน ด้วยความรู้สึกว่า เป็นเรื่องจริงจัง มีคุณค่า มองเห็นความสำคัญของผู้เรียนและของงานสั่งสอนนั้น ไม่ใช่สักว่าทำ หรือเห็นผู้เรียนโง่เขลา หรือเห็นเป็นชั้นต่ำๆ อย่างพระพุทธจริยาที่ว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าแม้ตถาคตจะแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตย่อมแสดงโดยเคารพ ไม่แสดงโดยไม่เคารพ ถ้าแม้จะแสดงแก่ภิกษุณี แก่อุบาสกอุบาสิกา แก่ปุถุชนทั้งหลาย โดยที่สุดแม้แก่คนขอทานและพรานนก ก็ย่อมแสดงโดยเคารพ หาแสดงโดยขาดความเคารพไม่”44

    ๕. ใช้ภาษาสุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบคาย ชวนให้สบายใจ สละสลวย เข้าใจง่าย อย่างที่ว่า

    “พระสมณโคดมมีพระดำรัสไพเราะ รู้จักตรัสถ้อยคำได้งดงาม มีพระวาจาสุภาพ สละสลวย ไม่มีโทษ ยังผู้ฟังให้เข้าใจเนื้อความได้ชัดแจ้ง”45

    ก่อนจบตอนนี้ ขอนำพุทธพจน์แห่งหนึ่ง ที่ตรัสสอนภิกษุผู้แสดงธรรม เรียกกันว่า องค์แห่งพระธรรมกถึก มาแสดงไว้ ดังนี้:-

    “อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง มิใช่สิ่งที่กระทำได้ง่าย ผู้แสดงธรรมแก่คนอื่น พึงตั้งธรรม ๕ อย่างไว้ในใจ คือ:-

    ๑. เราจักกล่าวชี้แจงไปตามลำดับ

    ๒. เราจักกล่าวชี้แจงยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ

    ๓. เราจักแสดงด้วยอาศัยเมตตา

    ๔. เราจักไม่แสดงด้วยเห็นแก่อามิส

    ๕. เราจักแสดงไปโดยไม่กระทบตนและผู้อื่น”46

    ๔. ลีลาการสอน

    เมื่อมองกว้างๆ การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง จะดำเนินไปจนถึงผลสำเร็จ โดยมีคุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลีลาในการสอน ๔ อย่าง ดังนี้:-

    ๑. สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา

    ๒. สมาทปนา จูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ

    ๓. สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก

    ๔. สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวัง เพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติ

    อาจผูกเป็นคำสั้นๆ ว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ หาญกล้า ร่าเริง หรือ ชี้ชัด เชิญชวน คึกคัก เบิกบาน

    ๕. วิธีสอนแบบต่างๆ

    วิธีสอนของพระพุทธเจ้า มีหลายแบบหลายอย่าง ที่น่าสังเกต หรือพบบ่อย คงจะได้แก่วิธีต่อไปนี้:-

    แบบสากัจฉา หรือสนทนา

    ๑. แบบสากัจฉา หรือสนทนา วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ทรงใช้บ่อย ไม่น้อยกว่าวิธีใดๆ โดยเฉพาะในเมื่อผู้มาเฝ้าหรือทรงพบนั้น ยังไม่ได้เลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักธรรม

    ในการสนทนา พระพุทธเจ้ามักจะทรงเป็นฝ่ายถาม นำคู่สนทนาเข้าสู่ความเข้าใจธรรมและความเลื่อมใสศรัทธาในที่สุด

    แม้ในหมู่พระสาวก พระองค์ก็ทรงใช้วิธีนี้ไม่น้อย และทรงส่งเสริมให้สาวกสนทนาธรรมกัน อย่างในมงคลสูตรว่า “กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การสนทนาธรรมตามกาล เป็นมงคลอันอุดม” ดังนี้

    แบบบรรยาย

    ๒. แบบบรรยาย วิธีสอนแบบนี้ น่าจะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ ในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งมีประชาชน หรือพระสงฆ์จำนวนมาก และส่วนมากเป็นผู้มีพื้นความรู้ความเข้าใจ กับมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่แล้ว มาฟังเพื่อหาความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม และหาความสงบสุขทางจิตใจ นับได้ว่าเป็นคนประเภทและระดับใกล้เคียงกัน พอจะใช้วิธีบรรยายอันเป็นแบบกว้างๆ ได้

    ลักษณะพิเศษของพุทธวิธีสอนแบบนี้ ที่พบในคัมภีร์บอกว่า ทุกคนที่ฟังพระองค์แสดงธรรมอยู่ในที่ประชุมนั้น แต่ละคนรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าตรัสอยู่กับตัวเองโดยเฉพาะ ซึ่งนับว่าเป็นความสามารถอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า

    แบบตอบปัญหา

    ๓. แบบตอบปัญหา ผู้ที่มาถามปัญหานั้น นอกจากผู้ที่มีความสงสัยข้องใจในข้อธรรมต่างๆ แล้ว โดยมากเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น บ้างก็มาถามเพื่อต้องการรู้คำสอนทางฝ่ายพระพุทธศาสนา หรือเทียบเคียงกับคำสอนในลัทธิของตน บ้างก็มาถามเพื่อลองภูมิ บ้างก็เตรียมมาถามเพื่อข่มปราบให้จน หรือให้ได้รับความอับอาย

    ในการตอบ พระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาดูลักษณะของปัญหา และใช้วิธีตอบให้เหมาะกัน

    ในสังคีติสูตร47 ท่านแยกประเภทปัญหาไว้ตามลักษณะวิธีตอบเป็น ๔ อย่าง คือ:-

    • ๑) เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงตอบตรงไปตรงมาตายตัว พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างเช่น ถามว่า “จักษุเป็นอนิจจังหรือ” พึงตอบตรงไปได้ทีเดียวว่า “ถูกแล้ว”
    • ๒) ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงย้อนถามแล้วจึงแก้ ท่านยกตัวอย่าง เช่นเขาถามว่า “โสตะก็เหมือนจักษุหรือ” พึงย้อนถามก่อนว่า “ที่ถามนั้นหมายถึงแง่ใด” ถ้าเขาว่า “ในแง่เป็นเครื่องมองเห็น” พึงตอบว่า “ไม่เหมือน” ถ้าเขาว่า “ในแง่เป็นอนิจจัง” จึงควรตอบรับว่า “เหมือน”
    • ๓) วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่จะต้องแยกแยะตอบ เช่นเมื่อเขาถามว่า “สิ่งที่เป็นอนิจจัง ได้แก่ จักษุใช่ไหม?” พึงจำแนกความออกแยกแยะตอบว่า “ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น ถึงโสตะ ฆานะ ฯลฯ ก็เป็นอนิจจัง” หรือปัญหาว่า “พระตถาคตตรัสวาจาซึ่งไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของคนอื่นไหม?” ก็ต้องแยกตอบตามหลักการตรัสวาจา ๖ หรือปัญหาว่าพระพุทธเจ้าทรงติเตียนตบะทั้งหมดจริงหรือ”48 ก็ต้องแยกตอบว่าชนิดใดติเตียน ชนิดใดไม่ติเตียน ดังนี้เป็นต้น
    • ๔) ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้งเสีย ได้แก่ ปัญหาที่ถามนอกเรื่อง ไร้ประโยชน์ อันจักเป็นเหตุให้เขว ยืดเยื้อ สิ้นเปลืองเวลาเปล่า พึงยับยั้งเสีย แล้วชักนำผู้ถามกลับเข้าสู่แนวหรือเรื่องที่ประสงค์ต่อไป
      ท่านยกตัวอย่าง เมื่อถามว่า “ชีวะอันใด สรีระก็อันนั้นหรือ?” อย่างนี้เป็นคำถามประเภทเก็งความจริง ซึ่งถึงอธิบายอย่างไรผู้ถามก็ไม่อาจเข้าใจหรือพบข้อยุติ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่เขาจะเข้าใจได้ พิสูจน์ไม่ได้ ทั้งไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่เขาด้วย

    นอกจากนี้ ท่านยังสอนให้คำนึงถึงเหตุแห่งการถามปัญหาด้วย ในเรื่องนี้ พระสารีบุตร อัครสาวก เคยแสดงเหตุแห่งการถามปัญหาไว้ว่า

    “บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ย่อมถามปัญหากะผู้อื่น ด้วยเหตุ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง ๕ อย่าง คือ:-

    ๑) บางคน ย่อมถามปัญหาเพราะความโง่เขลา เพราะความไม่เข้าใจ

    ๒) บางคน มีความปรารถนาลามก เกิดความอยากได้ จึงถามปัญหา

    ๓) บางคน ย่อมถามปัญหา ด้วยต้องการอวดเด่นข่มเขา

    ๔) บางคน ย่อมถามปัญหาด้วยประสงค์จะรู้

    ๕) บางคน ย่อมถามปัญหาด้วยมีความดำริว่า เมื่อเราถามแล้ว ถ้าเขาตอบได้ถูกต้องก็เป็นการดี แต่ถ้าเราถามแล้ว เขาตอบไม่ถูกต้อง เราจะได้ช่วยแก้ให้เขาโดยถูกต้อง”49

    ในการตอบปัญหา นอกจากรู้วิธีตอบแล้ว ถ้าได้รู้ซึ้งถึงจิตใจของผู้ถามด้วยว่า เขาถามด้วยความประสงค์อย่างใด ก็จะสามารถกล่าวแก้ได้เหมาะแก่การ และตอบปัญหาได้ตรงจุด ทำให้การสอนได้ผลดียิ่งขึ้น

    แบบวางกฎข้อบังคับ

    ๔. แบบวางกฎข้อบังคับ เมื่อเกิดเรื่องมีภิกษุกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นครั้งแรก พระสงฆ์หรือประชาชนเล่าลือโพนทนาติเตียนกันอยู่ มีผู้นำความมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ก็จะทรงเรียกประชุมสงฆ์ สอบถามพระภิกษุผู้กระทำความผิด

    เมื่อเจ้าตัวรับได้ความเป็นสัตย์จริงแล้ว ก็จะทรงตำหนิ ชี้แจงผลเสียหายที่เกิดแก่ส่วนรวม พรรณนาผลร้ายของความประพฤติไม่ดี และคุณประโยชน์ของความประพฤติที่ดีงาม แล้วทรงแสดงธรรมกถาที่สมควรเหมาะสมกันกับเรื่องนั้น

    จากนั้นจะตรัสให้สงฆ์ทราบว่า จะทรงบัญญัติสิกขาบท โดยทรงแถลงวัตถุประสงค์ในการบัญญัติให้ทราบ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆ ไว้ โดยความเห็นชอบพร้อมกันของสงฆ์ ในท่ามกลางสงฆ์ และโดยความรับทราบร่วมกันของสงฆ์

    ในการสอนแบบนี้ พึงสังเกตว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทโดยความเห็นชอบของสงฆ์ ซึ่งบาลีใช้คำว่า “สงฺฆสุฏฺฐุตาย” แปลว่า “เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์”

    ท่านอธิบายความหมายว่า ทรงบัญญัติโดยชี้แจงให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่รับจะเกิดผลเสียอย่างไร เมื่อรับจะมีผลดีอย่างไร จนสงฆ์รับคำของพระองค์ว่า ดีแล้ว ไม่ทรงบังคับเอาโดยพลการ50

    ๖. กลวิธีและอุบายประกอบการสอน

    การยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ

    ๑. การยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ การยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย และการเล่านิทานประกอบการสอน ช่วยให้เข้าใจความได้ง่ายและชัดเจน ช่วยให้จำแม่น เห็นจริง และเกิดความเพลิดเพลิน ทำให้การเรียนการสอนมีรสยิ่งขึ้น

    ตัวอย่างเช่น เมื่อจะอธิบายให้เห็นว่า คนมีความปรารถนาดี อยากช่วยทำประโยชน์ แต่หากขาดปัญญา อาจกลับทำลายประโยชน์เสียก็ได้ ก็เล่านิทานชาดกเรื่อง ลิงเฝ้าสวน51 หรือ คนขายเหล้า52 เป็นต้น

    พระพุทธเจ้าทรงใช้อุทาหรณ์และนิทานประกอบการสอนมากมายเพียงใด จะเห็นได้จากการที่ในคัมภีร์ต่างๆ มีอุทาหรณ์และนิทานปรากฏอยู่ทั่วไป เฉพาะคัมภีร์ชาดกอย่างเดียวก็มีนิทานชาดกถึง ๕๔๗ เรื่อง

    การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา

    ๒. การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฏความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะมักใช้ในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรม เปรียบให้เห็นชัดด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือแม้เปรียบเรื่องที่เป็นรูปธรรมด้วยข้ออุปมาแบบรูปธรรม ก็ช่วยให้เนื้อความหนักแน่นเข้า เช่น

    “ภูเขาศิลาล้วน เป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยแรงลม ฉันใด บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหวเพราะคำนินทาและสรรเสริญ ฉันนั้น”53

    “คนผู้เรียนรู้น้อย ย่อมแก่ลงเหมือนโคถึก เนื้อของเขาเจริญขึ้น แต่ปัญญาหาเจริญไม่”54

    “เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย มีแสงเงินแสงทองปรากฏขึ้น เป็นนิมิตมาก่อน ฉันใด ความมีกัลยาณมิตร ก็เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตหมายแห่งการบังเกิดขึ้นของโพชฌงค์ ๗ ฉันนั้น”55
    ฯลฯ

    การใช้อุปมานี้ น่าจะเป็นกลวิธีประกอบการสอนที่พระพุทธองค์ทรงใช้มากที่สุด มากกว่ากลวิธีอื่นใด

    การใช้อุปกรณ์การสอน

    ๓. การใช้อุปกรณ์การสอน ในสมัยพุทธกาล ย่อมไม่มีอุปกรณ์การสอนชนิดต่างๆ ที่จัดทำขึ้นไว้เพื่อการสอนโดยเฉพาะเหมือนสมัยปัจจุบัน เพราะยังไม่มีการจัดการศึกษาเป็นระบบขึ้นมาอย่างแพร่หลายกว้างขวาง หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็คงต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีในธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่

    อีกประการหนึ่ง คำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีบันทึกไว้ก็มักเป็นคำสอนที่ตรัสแก่ผู้ใหญ่ และเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรม ทั้งสอนเคลื่อนที่ไปในดินแดนแว่นแคว้นต่างๆ อย่างอิสระ ชนิดที่ผู้สอนไม่มีทรัพย์สมบัติติดตัว ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นที่จะใช้อุปกรณ์จึงมีน้อย และโอกาสที่จะอาศัยอุปกรณ์ก็เป็นไปได้ยาก

    นอกจากนั้น การใช้ข้ออุปมาต่างๆ ก็สะดวกกว่า และให้ความเข้าใจชัดเจนอยู่แล้ว แม้เมื่อใช้ของจริงเป็นอุปกรณ์ ก็มักใช้ในแง่อุปมาอีกนั่นเอง จึงปรากฏว่าคำสอนในแง่อุปมามีมากมาย แต่ไม่ค่อยปรากฏการใช้อุปกรณ์การสอน

    อย่างไรก็ดี มีตัวอย่างการที่พระพุทธเจ้าทรงใช้อุปกรณ์การสอน ในกรณีสอนผู้เรียนที่อายุน้อยๆ ซึ่งเข้าใจจากวัตถุได้ง่ายกว่านามธรรม โดยทรงใช้เครื่องใช้ที่มีอยู่ จึงปรากฏเรื่องที่พระองค์ทรงสอนสามเณรราหุลเมื่ออายุ ๗ ขวบว่า:-

    วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเสด็จมา ณ ที่อยู่ของสามเณรราหุล สามเณรมองเห็นแล้ว ก็ปูลาดอาสนะและจัดน้ำล้างพระบาทไว้ พระผู้มีพระภาคล้างพระบาทแล้ว ทรงเหลือน้ำไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่ง เมื่อสามเณรถวายบังคมนั่งเรียบร้อยแล้ว

    พระองค์ได้ตรัสถามว่า “ราหุล เธอเห็นน้ำที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่งในภาชนะนี้หรือไม่” สามเณรราหุลทูลว่า เห็น จึงตรัสว่า “คนที่พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็มีคุณธรรมของสมณะเหลืออยู่น้อยเหมือนอย่างนั้น”

    เสร็จแล้วทรงเทน้ำนั้นเสีย ตรัสถามว่า “เธอเห็นเราเทน้ำหน่อยหนึ่งนั้นทิ้งไปแล้วไหม” สามเณรทูลว่า เห็น ตรัสว่า “คนที่ไม่มีความละอายในการกล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ก็เป็นผู้เทคุณธรรมของสมณะออกทิ้งเสียเหมือนอย่างนั้น”

    แล้วทรงคว่ำภาชนะลง ตรัสถามว่า “เธอเห็นภาชนะนี้คว่ำลงแล้วไหม” สามเณรทูลว่า เห็น ตรัสว่า “คนที่ไม่มีความละอายในการพูดเท็จทั้งรู้อยู่ คุณธรรมของสมณะของเขาก็ชื่อว่าคว่ำไปแล้ว เหมือนอย่างนั้น”

    แล้วทรงหงายภาชนะขึ้น ตรัสถามว่า “เธอเห็นภาชนะนี้ว่างเปล่าไหม” สามเณรทูลว่า เห็น จึงตรัสว่า “คนที่ไม่มีความละอายในการพูดเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ คุณธรรมแห่งสมณะของเขาก็ว่างเปล่า เหมือนอย่างนั้น”

    ตรัสถามว่า “ราหุล แว่นมีประโยชน์อย่างไร?”

    ทูลตอบว่า “มีประโยชน์สำหรับส่องดู พระเจ้าข้า”

    ตรัสว่า “อันนั้นเหมือนกัน ราหุล บุคคลควรพิจารณาเสียก่อน จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา และใจ”56

    ในการสอนสามเณรนี้ บางทีก็ทรงใช้วิธีทายปัญหา ซึ่งคงจะช่วยให้เกิดความรู้สึกสนุกสำหรับเด็ก อย่างเรื่องสอนธรรมยากๆ ด้วยสามเณรปัญหาว่า “อะไรเอ่ย มีอย่างเดียว, อะไรเอ่ย มีสองอย่าง, อะไรเอ่ย มีสามอย่าง” ฯลฯ57

    การทำเป็นตัวอย่าง

    ๔. การทำเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางจริยธรรม คือการทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นทำนองการสาธิตให้ดู แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำนั้นเป็นไปในลักษณะที่ทรงเป็นผู้นำที่ดี

    การสอนโดยทำเป็นตัวอย่าง ก็คือพระจริยาวัตรอันดีงามที่เป็นอยู่โดยปกตินั่นเอง แต่ที่ทรงปฏิบัติเป็นเรื่องราวเฉพาะก็มี เช่น

    คราวหนึ่ง พระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระอานนท์ตามเสด็จ ขณะเสด็จไปตามเสนาสนะที่อยู่ของพระสงฆ์ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง อาพาธเป็นโรคท้องร่วง นอนจมกองมูตรและคูถของตน ไม่มีผู้พยาบาลดูแล จึงเสด็จเข้าไปหา จัดการทำความสะอาด ให้นอนโดยเรียบร้อย เสร็จแล้วจึงทรงประชุมสงฆ์ ทรงสอบถามเรื่องนั้น และตรัสตอนหนึ่งว่า

    “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดา ไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ผู้ใดจะพึงอุปฐากเรา ขอให้ผู้นั้นพยาบาลภิกษุอาพาธเถิด”58

    การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่

    ๕. การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ การเล่นภาษาและเล่นคำ เป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมกับปฏิภาณ ข้อนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าที่มีรอบไปทุกด้าน

    เมื่อผู้ใดทูลถามมาเป็นคำร้อยกรอง พระองค์ก็ทรงตอบเป็นคำร้อยกรองไปทันที ทำนองกลอนสด

    บางทีเขาทูลถามหรือกล่าวข้อความโดยใช้คำที่มีความหมายไปในทางไม่ดีงาม พระองค์ก็ตรัสตอบไปด้วยคำพูดเดียวกันนั้นเอง แต่เป็นคำพูดในความหมายที่ต่างออกไปเป็นฝ่ายดีงาม

    คำสนทนาโต้ตอบแบบนี้ มีรสอยู่แต่ในภาษาเดิม แปลออกสู่ภาษาอื่นย่อมเสียรสเสียความหมาย ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เช่นในภาษาไทยว่า “ปากกาหัก” “ฟันตาตกน้ำ” อาจใช้ในความหมายต่างกันได้ในภาษาไทย แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอื่นย่อมเสียรส

    บางครั้ง ผู้มาเฝ้า บริภาษพระองค์ ด้วยคำพูดต่างๆ ที่รุนแรงยิ่ง พระองค์ทรงยอมรับคำบริภาษเหล่านั้นทั้งหมด แล้วทรงแปลความหมาย อธิบายเสียใหม่ให้เป็นเรื่องที่ดีงาม เช่น กรณีของเวรัญชพราหมณ์59 และสีหเสนาบดีผู้รับแผนมาจากนิครนถนาฏบุตร60 เป็นต้น

    แม้ในด้านการสอนหลักธรรมทั่วไป พระองค์ก็ทรงรับเอาคำศัพท์ที่มีใช้อยู่แต่เดิมในลัทธิศาสนาเก่ามาใช้ แต่ทรงกำหนดความหมายให้ใหม่ ซึ่งเป็นวิธีการช่วยให้ผู้ฟังผู้เรียนหันมาสนใจ และกำหนดคำสอนได้ง่าย เพียงแต่มาทำความเข้าใจเสียใหม่เท่านั้น และเป็นการช่วยให้มีการพิจารณาเปรียบเทียบไปในตัวด้วยว่าอย่างไหนถูก อย่างไหนผิดอย่างไร

    จึงเห็นได้ว่า คำว่า พรหม พราหมณ์ อริยะ ยัญ ตบะ ไฟบูชายัญ ฯลฯ ซึ่งเป็นคำในลัทธิศาสนาเดิม ก็มีใช้ในพระพุทธศาสนาด้วยทั้งสิ้น แต่มีความหมายต่างออกไปเป็นอย่างใหม่

    อุบายเลือกคน และการปฏิบัติรายบุคคล

    ๖. อุบายเลือกคน และการปฏิบัติรายบุคคล การเลือกคนเป็นอุบายสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนา ในการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า เริ่มแต่ระยะแรกประดิษฐานพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงดำเนินพุทธกิจด้วยพระพุทโธบายอย่างที่เรียกว่า การวางแผนที่ได้ผลยิ่ง ทรงพิจารณาว่าเมื่อจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในถิ่นใดถิ่นหนึ่งควรไปโปรดใครก่อน

    เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ ได้เสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดพระองค์เมื่อครั้งออกแสวงธรรมก่อน ข้อนี้พิจารณาได้ทั้งในแง่ที่เบญจวัคคีย์เป็นผู้ใฝ่ธรรม มีอุปนิสัยอยู่แล้ว หรือในแง่ที่เป็นผู้เคยมีอุปการะกันมา หรือในแง่ที่ว่าเป็นการสร้างความมั่นใจ ทำให้ผู้เคยเกี่ยวข้องหมดความคลางแคลงในพระองค์ ตัดปัญหาในการที่ท่านเหล่านี้อาจไปสร้างความคลางแคลงใจขึ้นแก่ผู้อื่นต่อไปด้วย

    ครั้นเสร็จสั่งสอนเบญจวัคคีย์แล้ว ก็ได้โปรดยสกุมาร พร้อมทั้งเศรษฐีผู้บิดา และญาติมิตร และเมื่อจะเสด็จเข้าแคว้นมคธ พระองค์ก็เสด็จไปโปรดชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมทั้งบริวารทั้งพัน เริ่มด้วยชฎิลคนพี่ใหญ่เสียก่อน แล้วนำชฎิลเหล่านี้ ผู้กลายเป็นสาวกแล้ว เข้าสู่นครราชคฤห์ ประกาศธรรม ณ พระนครนั้น ได้ราชาเป็นสาวก

    เป็นอันว่าพอเริ่มต้นประกาศพระศาสนา ก็ได้ทั้งนักบวชผู้ใหญ่ เศรษฐี และราชา ซึ่งเป็นคนชั้นสูงสมัยนั้นเป็นสาวก เป็นการทำทางเสด็จเผยแผ่ให้ปลอดโปร่งต่อไป

    ในการทรงสั่งสอนคนแต่ละถิ่น หรือแต่ละหมู่คณะ ก็มักทรงเริ่มต้นที่บุคคลผู้เป็นประมุข เช่นพระมหากษัตริย์ หรือหัวหน้าของชนหมู่นั้นๆ ทำให้การประกาศพระศาสนาได้ผลดีและรวดเร็ว และเป็นการยืนยันพระปรีชาสามารถของพระองค์ด้วย

    ในการบำเพ็ญพุทธกิจประจำวัน พระองค์ก็ทรงสอดส่องพิจารณาบุคคลผู้ควรโปรดในวันนั้นตั้งแต่เวลาจวนรุ่งสาง และเสด็จไปโปรดในเวลาเช้า เป็นการให้ความสนพระทัยสงเคราะห์บุคคลเป็นรายๆ ซึ่งให้ผลดีในการสอนยิ่งกว่าการสอนแบบสาดๆ ไป

    แม้เมื่อแสดงธรรมในที่ประชุม ก็ทรงกำหนดบุคคลที่ควรเอาพระทัยใส่พิเศษในคราวนั้นๆ ไว้ด้วย กับทั้งแสดงธรรมโดยวิธีการที่จะทำให้ทุกคนในที่ประชุมได้รับผลประโยชน์ไปอย่างเป็นที่น่าพอใจ ให้เกิดความรู้สึกแก่ทุกคนว่า พระพุทธเจ้าตรัสอยู่กับตน ดังกล่าวมาแล้ว

    การรู้จักจังหวะและโอกาส

    ๗. การรู้จักจังหวะและโอกาส ผู้สอนต้องรู้จักใช้จังหวะและโอกาสให้เป็นประโยชน์ เมื่อยังไม่ถึงจังหวะ ไม่เป็นโอกาส เช่น ผู้เรียนยังไม่พร้อม ยังไม่เกิดปริปากะแห่งญาณหรืออินทรีย์ ก็ต้องมีความอดทน ไม่ชิงหักหาญหรือดึงดันทำ แต่ก็ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เมื่อถึงจังหวะหรือเป็นโอกาส ก็ต้องมีความฉับไวที่จะจับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปเสียเปล่า

    แม้ในการเผยแพร่ธรรมแก่คนส่วนใหญ่ พระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติตามจังหวะและโอกาสด้วย เช่น

    ในระยะแรกประกาศพระศาสนา ณ วันมาฆบูรณมี หลังตรัสรู้ ๙ เดือน เมื่อประทับอยู่ ณ เวฬุวัน พระสงฆ์สาวกมาชุมนุมพร้อมกัน ณ ที่นั้น และเป็นโอกาสเหมาะ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์สำหรับเป็นหลักยึดถือร่วมกันของสงฆ์ ที่จะแยกย้ายกันไปบำเพ็ญศาสนกิจ

    เมื่อคราวนิครนถนาฏบุตรสิ้นชีวิต เกิดความแตกแยกในหมู่นิครนถ์ พระสารีบุตรถือเหตุการณ์นั้นเป็นตัวอย่าง ชี้ให้ภิกษุสงฆ์เห็นความสำคัญในการร้อยกรองธรรมวินัย ชักชวนพระสงฆ์ให้พร้อมใจกันทำสังคายนา และท่านได้ทำสังคายนาเป็นตัวอย่าง โดยแสดงสังคีติสูตรไว้61

    ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ

    ๘. ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ถ้าผู้สอนสอนอย่างไม่มีอัตตา ตัดตัณหา มานะ ทิฏฐิเสียได้ ก็จะมุ่งไปยังผลสำเร็จในการเรียนรู้เป็นสำคัญ สุดแต่จะใช้กลวิธีใดให้การสอนได้ผลดีที่สุด ก็จะทำในทางนั้น ไม่กลัวว่าจะเสียเกียรติ ไม่กลัวจะถูกรู้สึกว่าแพ้ บางคราวเมื่อสมควรก็ต้องยอมให้ผู้เรียนรู้สึกตัวว่าเขาเก่ง บางคราวสมควรข่มก็ข่ม บางคราวสมควรโอนอ่อนผ่อนตาม ก็ยอมตาม สมควรขัดก็ขัด สมควรคล้อยก็คล้อย สมควรปลอบก็ปลอบ มีพุทธพจน์ว่า

    “เราย่อมฝึกคนด้วยวิธีละมุนละไมบ้าง ด้วยวิธีรุนแรงบ้าง ด้วยวิธีที่ทั้งอ่อนละมุนละไม และทั้งรุนแรงปนกันไปบ้าง”62

    คนบางคน จะให้เขายอมได้ด้วยการที่ยอมให้เขารู้สึกว่าตัวเขามีเกียรติหรือเก่ง หรือได้สมใจก่อน ผู้สอนจับจุดได้ก็ใช้วิธีสนองความต้องการแล้วดึงเข้าสู่ที่หมายได้ตามประสงค์ เช่น คราวที่เวรัญชพราหมณ์บริภาษพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงรับสมอ้างตามคำบริภาษนั้นให้สมใจพราหมณ์ แล้วจึงค่อยชี้แจงแก้ไข ให้เขายอมรับตามพระองค์ภายหลัง

    เมื่อเผชิญอาฬวกยักษ์ผู้ดุร้าย พระองค์เสด็จเข้าไปในที่อยู่ของอาฬวกะ อาฬวกะสั่งพระองค์ให้เสด็จออกไป พระองค์ก็เสด็จออกตามสั่ง อาฬวกะสั่งพระองค์ให้เสด็จเข้าไปอีก พระองค์ก็เสด็จเข้าอีก อาฬวกะสั่งให้พระองค์เสด็จเข้าเสด็จออกอย่างนี้ ซึ่งพระองค์ก็ทรงปฏิบัติตามอย่างว่าง่ายถึง ๓ วาระ ให้เขารู้สึกสมใจในอำนาจของตนก่อน ต่อจากนั้นจึงทรงเปลี่ยนกลวิธีและก็ได้โปรดอาฬวกะลงเป็นสาวกสำเร็จ63

    อีกตัวอย่างหนึ่ง พราหมณ์คนหนึ่งเป็นคนมีมานะ นิสัยแข็งกระด้าง ไม่ไหว้แม้แต่มารดา บิดา อาจารย์ และพี่ชาย วันหนึ่งขณะพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอยู่ในที่ประชุม เขาคิดว่าจะลองเข้าไปเฝ้า

    “ถ้าพระสมณโคดมตรัสกะเรา เราก็จะพูดกับท่าน ถ้าพระสมณโคดม ไม่ตรัสกะเรา เราก็จะไม่พูดกับท่าน”

    แล้วเข้าไปยืนอยู่ข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคก็ทรงเฉยเสีย ไม่ตรัสด้วย พราหมณ์ทำท่าจะกลับออกไปโดยคิดว่า

    “พระสมณโคดมองค์นี้ไม่มีความรู้อะไร”

    พระผู้มีพระภาคทราบความในใจของเขาอยู่ ถึงตอนนี้จึงตรัสคาถาว่า

    “พราหมณ์เอย ความถือตัวไม่ช่วยให้ใครได้ดีอะไรเลย ใครมาเพื่อประโยชน์ใด ก็ควรเสริมสร้างประโยชน์นั้นเสีย”

    เมื่อตรัสพระดำรัสนี้ ในจังหวะนี้ ก็ได้ผล ทำให้พราหมณ์ชะงักคิดว่า “พระสมณโคดมรู้ใจเรา” ถึงยอมทรุดลงนั่งแสดงคารวะ ทำให้ที่ประชุมงงงวยประหลาดใจว่า

    “น่าอัศจรรย์จริง พราหมณ์นี้ไม่ไหว้แม้แต่มารดา บิดา อาจารย์ พี่ชาย แต่พระสมณโคดมทรงทำให้คนอย่างนี้นอบนบได้เป็นอย่างดี”

    จากนั้นพระองค์จึงได้ทรงเชิญให้เขานั่งบนอาสนะแล้วตอบปัญหาธรรมแก่เขา จนลงท้ายเขาได้ประกาศตนเป็นอุบาสก64

    การลงโทษและให้รางวัล

    ๙. การลงโทษและให้รางวัล มีคำสรรเสริญพระพุทธคุณที่ยกมาแสดงข้างต้นแล้วว่า

    “พระผู้มีพระภาคทรงฝึกอบรมชุมชนได้ดีถึงเพียงนี้ โดยไม่ต้องใช้อาชญา”65

    ซึ่งแสดงว่า การใช้อำนาจลงโทษ ไม่ใช่วิธีการฝึกคนของพระพุทธเจ้า แม้ในการแสดงธรรมตามปกติพระองค์ก็ทรงแสดงไปตามเนื้อหาธรรม ไม่กระทบกระทั่งใคร อย่างที่ว่า

    “ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมิกถา”66

    และว่า

    “พึงรู้จักการยกยอ และการรุกราน ครั้นรู้แล้วไม่พึงยกยอ ไม่พึงรุกราน พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น”67

    ข้อนี้ ตีความไปได้ถึงว่า ไม่ใช้ทั้งวิธีลงโทษและให้รางวัล แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะทรงใช้การชมเชยยกย่องบ้าง ก็เป็นไปในรูปการยอมรับคุณความดีของผู้นั้น กล่าวชมโดยธรรม ให้เขามั่นใจในการกระทำความดีของตน แต่ไม่ให้เกิดเป็นการเปรียบเทียบข่มคนอื่นลง

    บางทีทรงชมเพื่อให้ถือเป็นตัวอย่าง หรือเพื่อแก้ความเข้าใจผิด ให้ตั้งทัศนคติที่ถูก เช่น ทรงชมพระนันทกะ68 ชมพระนวกะรูปหนึ่ง69 ชมพระสุชาต70 ชมพระลกุณฏกภัททิยะ71 ชมพระวิสาขปัญจาลบุตร72 และตำหนิเตือนพระนันทะ73 เป็นต้น

    อย่างไรก็ดี การลงโทษน่าจะมีอยู่แบบหนึ่ง คือ การลงโทษตนเอง ซึ่งมีทั้งในทางธรรม และทางวินัย

    ในทางพระวินัย ถือว่ามีบทบัญญัติความประพฤติอยู่แล้ว และบทบัญญัติเหล่านี้พระพุทธเจ้าทรงตราไว้ โดยความเห็นชอบร่วมกันของสงฆ์ พร้อมทั้งมีบทกำหนดโทษไว้เสร็จ เมื่อผู้ใดล่วงละเมิดก็เป็นการกระทำผิดต่อส่วนรวม ต้องไถ่ถอนความผิดของตน มิฉะนั้นจะเป็นผู้ไม่เป็นที่ยอมรับของสงฆ์คือหมู่คณะทั้งหมด

    ส่วนในทางธรรม ภิกษุที่เหลือขอจริงๆ สอนไม่ได้ ก็กลายเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าและเพื่อนพรหมจารีทั้งปวงไม่ถือว่าเป็นผู้ที่ควรจะว่ากล่าวสั่งสอน โดยวิธีนี้ ถือว่าเป็นการลงโทษอย่างรุนแรงที่สุด74

    พิจารณาจากพระพุทธคุณตอนต้นของข้อนี้ จะเห็นว่า การสอนโดยไม่ต้องลงโทษ เป็นการแสดงความสามารถของผู้สอนด้วย

    ในระดับสามัญ สำหรับผู้สอนทั่วไป อาจต้องคิดคำนึงว่า การลงโทษ ควรมีหรือไม่ แค่ไหน และอย่างไร แต่ผู้ที่สอนคนได้สำเร็จผลโดยไม่ต้องใช้อาญาโทษเลย ย่อมชื่อว่าเป็นผู้มีความสามารถในการสอนมากที่สุด

    กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

    ๑๐. กลวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นต่างครั้งต่างคราว ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปไม่มีที่สุด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าย่อมอาศัยปฏิภาณ คือ ความสามารถในการประยุกต์หลัก วิธีการ และกลวิธีต่างๆ มาใช้ให้เหมาะสม เป็นเรื่องเฉพาะครั้ง เฉพาะคราวไป

    อย่างไรก็ดี การได้เห็นตัวอย่างการแก้ปัญหาเช่นนี้ อาจช่วยให้เกิดความเข้าใจในแนวทางที่จะนำไปใช้ปฏิบัติได้บ้าง

    ในการประกาศพระศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงประสบปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา และทรงแก้สำเร็จไปในรูปต่างๆ กัน ตัวอย่างเช่น:-

    พราหมณ์คนหนึ่งในเมืองราชคฤห์ ตนไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา แต่ภรรยาเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธเจ้าอย่างแรงกล้า มักเปล่งอุทานว่า “นโม ตสฺส”

    คราวหนึ่ง นางพราหมณีผู้ภรรยา ขณะนำอาหารมาให้สามี ก้าวพลาดลง จึงอุทานว่า “นโม ตสฺส”

    พราหมณ์สามีได้ยินก็ไม่พอใจ จึงว่า “นางตัวร้ายนี่ชอบพูดสรรเสริญแต่ความดีของพระหัวโล้นองค์นั้นอยู่เรื่อย เดี๋ยวเถอะ นังตัวดี ข้าจะไปปราบวาทะศาสดาของแก”

    นางพราหมณีตอบว่า “แน่ะ พ่อพราหมณ์ ฉันมองไม่เห็นว่าจะมีใครในโลกไหนๆ มาปราบวาทะของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เอาซิ พ่อพราหมณ์ จะไปก็เอา ไปแล้วก็จะรู้เอง”

    ฝ่ายพราหมณ์ทั้งโกรธอยู่นั้น ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว ก็ทูลถามเป็นคำร้อยกรองว่า “ฆ่าตัวอะไรเสียได้ จึงจะนอนเป็นสุข ฯลฯ”

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ฆ่าความโกรธเสียได้ก็จะนอนเป็นสุข ฯลฯ” และทำให้พราหมณ์เลื่อมใสได้75

    อีกเรื่องหนึ่ง พราหมณ์อีกคนหนึ่ง รู้ข่าวว่าพราหมณ์ตระกูลเดียวกับตนออกบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า ก็โกรธ จึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปถึงก็บริภาษพระองค์ด้วยคำหยาบคายต่างๆ พระพุทธเจ้าทรงปล่อยให้พราหมณ์นั้นบริภาษพระองค์เรื่อยไป จนพราหมณ์หยุดไปเอง

    เมื่อพราหมณ์บริภาษจนพอแก่ใจ หยุดแล้ว พระองค์จึงตรัสถามว่า “ขอถามหน่อยเถิดท่านพราหมณ์ พวกญาติมิตรแขกเหรื่อทั้งหลายน่ะ มีมาหาท่านบ้างหรือเปล่า?”

    พราหมณ์ทูลว่า “ก็มีเป็นครั้งคราว”

    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “แล้วท่านจัดอาหารของรับประทานมาให้เขาบ้างหรือเปล่า?”

    พราหมณ์ทูลว่า “ก็จัดบ้าง”

    พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า “ก็ถ้าคนเหล่านั้นเขาไม่รับสิ่งของเหล่านั้นเล่า ของจะเป็นของใคร?”

    พราหมณ์กราบทูลว่า “ถ้าเขาไม่รับ มันก็เป็นของฉันเองน่ะซี”

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบ ความว่า “เอาละ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน ที่ท่านมาด่าเราน่ะ เราไม่ขอรับคำด่าของท่านละ ขอให้เป็นของท่านเองก็แล้วกัน” จากนั้น จึงได้ทรงสนทนากับพราหมณ์ต่อไปจนพราหมณ์เลื่อมใสยอมเป็นสาวก76

    อีกเรื่องหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตที่บ้านอุทัยพราหมณ์ วันแรกพราหมณ์เอาข้าวมาใส่บาตรถวายจนเต็ม วันที่สอง พระพุทธเจ้าเสด็จไปอีก พราหมณ์ก็ถวายอีก

    วันที่สาม พระพุทธเจ้าเสด็จไปอีก พราหมณ์ก็ถวายอีก แต่คราวนี้ พอถวายแล้ว ก็กล่าวว่า “พระสมณโคดมองค์นี้ติดใจจึงมาบ่อยๆ”

    พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบร้อยกรองเป็นคาถาเล่นคำโดยปฏิภาณ เป็นทำนองเตือนพราหมณ์โดยนัยว่า ไฉนจะท้อถอยเสีย การกระทำส่วนมากจะให้ได้ผลก็ต้องทำบ่อยๆ ดังนี้

    “กสิกรก็หว่านพืชบ่อยๆ ฝนก็ต้องตกบ่อยๆ
    ชาวนาก็ต้องไถนาบ่อยๆ รัฐจึงมั่งมีธัญญาหารบ่อยๆ
    คนมาขอบ่อยๆ คนให้ให้ไปบ่อยๆ
    คนให้ครั้นให้บ่อยๆ ก็ได้พบสวรรค์บ่อยๆ
    คนรีดนมก็ย่อมรีดบ่อยๆ ลูกวัวก็หาแม่บ่อยๆ
    ย่อมต้องเหนื่อยต้องดิ้นรนบ่อยๆ (ส่วน) คนเขลาเข้าหาครรภ์บ่อยๆ
    แล้วก็เกิดก็ตายบ่อยๆ ต้องหามไปป่าช้าบ่อยๆ
    มีปัญญาพบทางไม่เกิดบ่อย จึงไม่ต้องเกิดบ่อยๆ
    (หรือ : คนฉลาดถึงเกิดบ่อยๆ ก็เพื่อพบทางไม่ต้องเกิดบ่อย)77

    หรืออีกเรื่องที่คล้ายๆ กันว่า พระพุทธเจ้าเสด็จไปในบริเวณที่เขาเตรียมหว่านข้าวทำนา ขณะเขากำลังเลี้ยงดูกันอยู่ พระองค์ได้เสด็จไปประทับยืนอยู่ด้านหนึ่ง พราหมณ์เจ้าของนาเห็น ก็คิดว่าพระองค์มาขอบิณฑบาต จึงกล่าวว่า

    “ท่านสมณะ ข้าพเจ้าย่อมไถนา หว่านข้าว ครั้นแล้วจึงได้บริโภค แม้ท่านก็จงไถนา จงหว่านข้าว แล้วจงบริโภคเอาเถิด”

    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูก่อนพราหมณ์ แม้เราก็ไถ ก็หว่านเหมือนกัน เมื่อได้ไถหว่านแล้วจึงได้บริโภค”

    พราหมณ์ทูลว่า “ท่านสมณะ ข้าพเจ้าไม่เห็นท่านมีแอก มีไถ มีผาล มีปฏัก หรือโคเลย ไฉนท่านจึงมากล่าวว่า ‘แม้เราก็ไถก็หว่าน เสร็จแล้วจึงได้บริโภคเหมือนกัน’” แล้วก็สนทนาเป็นกลอนสด ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบเป็นคาถาเช่นกันว่า

    “เรามีศรัทธาเป็นพืช ความเพียรเป็นฝน ปัญญาเป็นแอกและไถ ฯลฯ เราไถอย่างนี้แล้วย่อมได้อมฤตเป็นผล ทำนาอย่างนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”78

    ขอจบเรื่องนี้ โดยนำเอาดำรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล มาเป็นคำสรุป ดังนี้:-

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นกษัตริย์บัณฑิตบางพวก ผู้มีปัญญาสุขุม สามารถปราบวาทะฝ่ายปรปักษ์ได้ มีปัญญาเฉียบแหลมดุจจะยิงขนทรายได้ ท่านเหล่านั้น เหมือนจะเที่ยวได้เอาปัญญาไปทำลายหลักทฤษฎีทั้งหลายของคนอื่นๆ

    “พอได้ยินข่าวว่าพระสมณโคดมจักเสด็จมายังบ้านหรือนิคมโน้นๆ กษัตริย์เหล่านั้นก็พากันเตรียมปัญหาไว้ ด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักพากันเข้าไปหาพระสมณโคดมแล้วถามปัญหา ถ้าพระสมณโคดมถูกพวกเราถามไปอย่างนี้ ตอบแก้มาอย่างนี้ พวกเราจะปราบวาทะของพระองค์อย่างนี้ ถ้าพระสมณโคดมถูกพวกเราถามอย่างนี้ ตอบแก้มาอย่างนี้ พวกเราก็จะปราบวาทะของพระองค์เสียอย่างนี้

    “ครั้นได้ทราบข่าวว่าพระสมณโคดมเสด็จมาถึงบ้านหรือนิคมโน้นแล้ว ก็พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้กษัตริย์เหล่านั้นเข้าใจชัด ให้เห็นตาม ให้แข็งขัน ให้บันเทิง ด้วยธรรมีกถาแล้ว กษัตริย์เหล่านั้นก็มิได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาค ที่ไหนเลยจะมาปราบวาทะพระองค์ได้เล่า ที่แท้กลับพากันมาสมัครตัวเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้อนี้ ก็เป็นความเลื่อมใสอันเนื่องด้วยธรรมของหม่อมฉัน ที่มีต่อพระผู้มีพระภาค

    “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อีกประการหนึ่ง หม่อมฉันได้เห็นพราหมณ์บัณฑิต ฯลฯ คฤหบดีบัณฑิต...สมณบัณฑิตบางพวก ผู้มีปัญญาสุขุม สามารถปราบวาทะฝ่ายปรปักษ์ได้ มีปัญญาเฉียบแหลม ดุจจะยิงขนทรายได้ ท่านเหล่านั้น เหมือนจะเที่ยวได้เอาปัญญาไปทำลายหลักทฤษฎีทั้งหลายของคนอื่นๆ

    “พอได้ยินข่าวว่า พระสมณโคดมจักเสด็จมายังบ้านหรือนิคมโน้นๆ สมณะเหล่านั้นก็จะพากันเตรียมปัญหาไว้...พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้สมณะเหล่านั้นเข้าใจชัด ให้เห็นตาม ให้แข็งขัน ให้บันเทิงด้วยธรรมีกถาแล้ว สมณะเหล่านั้นก็มิได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาค ที่ไหนเลยจะปราบวาทะของพระองค์ได้เล่า ที่แท้ก็พากันทูลขอโอกาสกะพระผู้มีพระภาคเพื่อออกบวชเป็นบรรพชิต พระผู้มีพระภาคก็ทรงบรรพชาให้

    “ครั้นได้บรรพชาแล้วเช่นนั้น ท่านก็ปลีกตัวออกไปอยู่สงัด เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ไม่นานเลยก็ได้รู้ยิ่งเห็นจริง กระทำสำเร็จซึ่งประโยชน์สูงสุด อันเป็นจุดหมายแห่งพรหมจรรย์ อันเป็นที่ปรารถนาของกุลบุตรผู้ออกบวชทั้งหลายด้วยตนเอง ในปัจจุบันชาตินี้เอง

    “ท่านเหล่านั้นพากันกล่าวว่าดังนี้ ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกเราไม่พินาศแล้วสิหนอ แต่ก่อนนี้ พวกเราทั้งที่มิได้เป็นสมณะจริงเลย ก็ปฏิญาณว่าตนเป็นสมณะ ทั้งที่มิได้เป็นพราหมณ์จริงเลย ก็ปฏิญาณว่าตนเป็นพราหมณ์ ทั้งที่มิได้เป็นพระอรหันต์จริงเลย ก็ปฏิญาณว่าตนเป็นพระอรหันต์ บัดนี้พวกเราเป็นสมณะจริงแล้ว เป็นพราหมณ์จริงแล้ว เป็นพระอรหันต์จริงแล้ว’

    “แม้ข้อนี้ก็เป็นความเลื่อมใสอันเนื่องด้วยธรรมของหม่อมฉันที่มีต่อพระผู้มีพระภาค...”79ฯ.

    “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงลุกเป็นไฟไปหมดแล้ว… ลุกเป็นไฟเพราะอะไร… เพราะไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ… เพราะชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส….”

    (วินย. ๔/๕๕/๖๒)

    นิเทศอาทิตตปริยายสูตร80

    ในการพิจารณาพระสูตรนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นประโยชน์ในการสอน เห็นควรแยกพิจารณาเป็น ๒ ตอน คือ ว่าด้วยเนื้อเรื่องตอนหนึ่ง และคำอธิบายเชิงวิจารณ์ตอนหนึ่ง ดังนี้:-

    ตอน ๑ เนื้อเรื่อง

    ที่มา:

    อาทิตตปริยายสูตร เป็นพระธรรมเทศนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลังจากตรัสรู้แล้ว เป็นพระสูตรที่ ๓ ในพระไตรปิฎกบาลี มีที่มา ๒ แห่ง คือ:-

    ๑. พระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ (วินย. ๔/๕๕/๖๒; ตรงกับฉบับภาษาไทย ๖/๕๕/๗๘)

    ๒. พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค (สํ.สฬ. ๑๘/๓๑/๒๓; ตรงกับฉบับภาษาไทย ๒๗/๓๑/๒๔)

    ความย่อ:

    เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ณ ควงไม้โพธิ์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา ในแคว้นมคธ ในปีมีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา พระองค์เสด็จประทับอยู่ ณ ตำบลนั้น เป็นเวลา ๗ สัปดาห์

    จากนั้นจึงได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในเขตแคว้นกาสี ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดภิกษุเบญจวัคคีย์บรรลุอรหัตตผล

    ระหว่างที่ประทับจำพรรษาแรกอยู่ ณ ป่าอิสิปตนะนี้ พระองค์ได้โปรดพระยสะ บิดา มารดา ภรรยาเก่า และสหายของพระยสะ ที่เป็นชาวเมืองพาราณสี ๔ คน ชาวชนบท ๕๐ คน ตามลำดับ จนมีภิกษุสาวกจำนวน ๖๐ รูป

    จากนั้น ได้ทรงส่งพระสาวกทั้ง ๖๐ รูป ออกประกาศพระศาสนา ส่วนพระองค์เอง ได้เสด็จไปยังอุรุเวลาเสนานิคม ในระหว่างทางได้โปรดคณะสหายภัททวัคคีย์จำนวน ๓๐ รูป

    ครั้นเสด็จถึงตำบลอุรุเวลาแล้ว ได้เสด็จไปยังอาศรมของท่านอุรุเวลกัสสป ซึ่งเป็นหัวหน้าชฎิลผู้บูชาไฟ จำนวน ๕๐๐ คน แล้วได้ทรงขอพักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น

    ในคราวนั้น ได้ทรงโปรดอุรุเวลกัสสป ผู้ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ และเข้าใจว่าพระพุทธองค์ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ โดยทรงแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ เป็นอันมาก จนในที่สุด อุรุเวลกัสสปชฎิลคลายทิฏฐิมานะ ยอมตนเป็นสาวก ละทิ้งการบูชาไฟของตน ขอบรรพชาอุปสมบท กับทั้งชฎิลผู้น้องชื่อนทีกัสสปะพร้อมด้วยบริวาร ๓๐๐ คน และคยากัสสปะ พร้อมด้วยบริวาร ๒๐๐ คน ก็ได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบทด้วย

    หลังจากนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์คณะใหม่ทั้งพันรูป เสด็จไปยังตำบลคยาสีสะ และ ณ ตำบลนี้ พระองค์ได้ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่พระภิกษุปุราณชฎิลทั้ง ๑ พันรูป และด้วยพระสูตรนี้ พระภิกษุเหล่านั้นก็ได้บรรลุอรหัตตผล

    ในเรื่องนี้ มีความที่ควรทราบเป็นพิเศษ ๒ อย่าง คือ การบูชาไฟ อันเป็นลัทธิที่นับถืออยู่เดิมของชฎิล อย่างหนึ่ง และใจความใน อาทิตตปริยายสูตร ที่ทำให้ชฎิลผู้ยอมละทิ้งลัทธิเดิมของตนมาสมัครเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้บรรลุอรหัตตผล อย่างหนึ่ง

    การบูชาไฟ

    การบูชาไฟ เป็นพิธีกรรมสำคัญ มีมาแต่โบราณ ซึ่งจะเห็นได้ในลัทธิศาสนายุคแรกๆ ทั้งหลาย เช่น การบูชายัญของคนป่าในถิ่นต่างๆ และในศาสนาโซโรอัสเตอร์ เป็นต้น

    แม้ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเป็นศาสนาของชมพูทวีปสมัยที่พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ก็ถือว่าการบูชาไฟ และการบูชายัญ เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง

    ศาสนาพราหมณ์ถือว่า ประชาบดี เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสัตว์โลกทั้งหลาย แรกทีเดียวนั้น มีเทพประชาบดีอยู่แต่พระองค์เดียว พระองค์ได้ทรงพระดำริที่จะก่อกำเนิดสัตว์ทั้งหลาย จึงได้ทรงบำเพ็ญตบะ และได้ทรงประทานกำเนิดแก่เทพอัคนีออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์

    เพราะเหตุที่เทพอัคนีเกิดจากพระโอษฐ์ของพระองค์ อัคนีจึงเป็นเทพผู้เสวยอาหาร และเพราะเหตุที่เป็นเทพองค์แรกที่ประชาบดีทรงสร้างขึ้น จึงได้นามว่า อัคนี (อัคร ➜ อัคริม = เกิดก่อน มีก่อน ➜ อัคนี)81

    บทบัญญัติในศาสนาพราหมณ์กำหนดให้ศาสนิกชน โดยเฉพาะพราหมณ์ ต้องประกอบยัญพิธี และการเซ่นสรวงสังเวยอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะการบูชาไฟ คือ อัคคิหุตตะ ในภาษาบาลี หรืออัคนิโหตระ ในภาษาสันสกฤต จะต้องบูชาทุกวัน เมื่อเริ่มต้นหรือสิ้นสุดวันและคืนหนึ่งๆ และในวันเดือนเพ็ญเดือนดับ เป็นต้น82

    ไฟ หรือ อัคนี มีบทบาทสำคัญยิ่งในยัญพิธีทั้งปวง ในพิธีกรรมต่างๆ เมื่อถึงตอนสำคัญทุกตอน จะต้องมีการถวายเครื่องสังเวย หรือสวดอ้อนวอนแก่อัคนีเทพ เพราะถือว่าอัคนี เป็นทูตของเทพทั้งหลาย หรือเป็นสื่อกลางนำประดาเครื่องเซ่นสรวงสังเวยขึ้นไปถึงเทพทั้งหลาย

    เมื่อใส่เครื่องสังเวยเข้าในไฟนั้น ถือว่าได้ใส่ลงในโอษฐ์ของอัคนีเทพ เมื่อเปลวและควันไฟพลุ่งขึ้น ก็หมายความว่าองค์อัคนีเทพ ทรงนำเอาเครื่องเซ่นสรวงสังเวยขึ้นไปบนสวรรค์ที่ตามนุษย์มองไม่เห็น

    เมื่อขึ้นไปถึงสวรรค์แล้ว องค์อัคนีเทพก็ทรงป้อนเครื่องเซ่นสรวงสังเวยนั้นแก่ทวยเทพผู้เป็นภราดรทั้งหลาย ด้วยโอษฐ์ของพระองค์ ดุจดังแม่นกป้อนเหยื่อแก่ลูกนก ฉะนั้น83

    ไฟมีบทบาทสำคัญอย่างนี้ จึงมีคำสรรเสริญไว้ในคัมภีร์พราหมณ์ว่า

    “อัคนิโหตร (การบูชาไฟ) เป็นประมุขแห่งยัญทั้งหลาย”84 และว่า

    “การเซ่นสรวง (แด่อัคนี) เป็นกรรมประเสริฐสุดในบรรดายัญทั้งหลาย”85

    ผู้บูชาไฟย่อมได้ผลานิสงส์เป็นอันมาก เช่น จะสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ ฝูงปศุสัตว์ และเพียบพร้อมด้วยบุตรหลาน เผ่าพันธุ์ จนถึงอย่างที่คัมภีร์พราหมณ์ว่า

    “ผู้ใดบูชาอัคนิโหตร ด้วยความเข้าใจความหมายโดยถ่องแท้ บาปทั้งปวงของผู้นั้นย่อมถูกเผาผลาญหมดไป”86

    ชฎิลทั้งพันรูป มีอุรุเวลกัสสปเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ถือลัทธิบูชาไฟ ก็คงมุ่งหวังผลเหล่านี้ ดังนั้น หลังจากที่ท่านมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถามในที่ประชุม อันมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นประมุข ในเขตพระนครราชคฤห์ ว่า

    “ท่านผู้อยู่ในอุรุเวลามานาน เคยเป็นอาจารย์สั่งสอนหมู่ชฎิลผู้ผอมเพราะกำลังพรต ท่านเห็นเหตุอันใดจึงละเลิกไฟที่เคยบูชาเสียเล่า”

    ท่านจึงตอบว่า

    “ยัญทั้งหลายย่อมกล่าวขวัญ ให้ฝันใฝ่ถึงแต่เรื่อง รูป รส เสียง กามสุข และอิสตรีทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทราบแล้วว่า สิ่งเหล่านี้เป็นมลทินในอุปธิทั้งหลาย จึงมิได้ติดใจในการเซ่นสรวงบูชา”87

    ใจความของพระสูตร

    ความในพระสูตรนี้ อาจสรุปได้เป็น ๔ ตอน ดังนี้:-

    ๑. สภาพที่เป็นปัญหา พระพุทธองค์ทรงเริ่มพระสูตรด้วยพระดำรัสว่า “สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งทั้งปวงลุกเป็นไฟหมดแล้ว”

    จากนั้น ตรัสขยายความต่อไปว่า สิ่งทั้งปวงที่ว่าลุกเป็นไฟไปหมดแล้วนั้น คืออะไรบ้าง ซึ่งเมื่อสรุปแล้ว สิ่งที่พระองค์ตรัสว่าลุกเป็นไฟ มีดังต่อไปนี้:-

    ๑) จักษุ รูป จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส จักขุสัมผัสสชาเวทนา

    ๒) โสตะ (หู) เสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส โสตสัมผัสสชาเวทนา

    ๓) ฆานะ (จมูก) กลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส ฆานสัมผัสสชาเวทนา

    ๔) ชิวหา (ลิ้น) รส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา

    ๕) กาย โผฏฐัพพะ กายวิญญาณ กายสัมผัส กายสัมผัสสชาเวทนา

    ๖) มนะ (ใจ) ธรรมะ (ความคิดคำนึงต่างๆ) มโนวิญญาณ มโนสัมผัส มโนสัมผัสสชาเวทนา88

    พูดให้สั้นลงไปอีกก็ว่า อายตนะทั้งหลาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ, รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ตลอดถึงการรับรู้ ความเกี่ยวข้อง และความรู้สึกทั้งหลายที่เกิดจากอายตนะเหล่านั้น ได้ถูกไฟไหม้หมดแล้ว หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า กระบวนการรับรู้และความคิดคำนึงทั้งหมดนั่นเอง ถูกไฟลามติดไปทั่วแล้ว

    ๒. สาเหตุ เมื่อกำหนดตัวปัญหาได้ และเข้าใจสภาพของปัญหาแล้ว ก็ค้นหาสาเหตุให้เกิดไฟหรือตัวไฟที่เผาผลาญนั้นต่อไป ได้ความว่า สิ่งที่กล่าวมานั้น ลุกไหม้ด้วยไฟกิเลส ๓ อย่าง คือ:-

    ๑) ราคะ ความอยากได้ ความใคร่ ความติดใจ ความกำหนัดยินดี

    ๒) โทสะ ความโกรธ ความขัดใจ ความเดือดแค้นชิงชังไม่พอใจต่างๆ

    ๓) โมหะ ความหลง ความไม่รู้ ไม่เข้าใจสภาพของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

    และยังถูกเผาลนโหมด้วยไฟความทุกข์อีกมากมายหลายอย่าง เช่น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้า ความคร่ำครวญร่ำไร ความทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจต่างๆ

    ๓. ข้อปฏิบัติเพื่อแก้ไข พระพุทธองค์ตรัสต่อไปอีกว่า อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายในอายตนะภายใน ภายนอก ตลอดถึงเวทนาทั้งหมดเหล่านั้น เมื่อหน่ายก็ย่อมไม่ยึดติด

    ๔. ผล เมื่อไม่ยึดติด ก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว เป็นอันสิ้นชาติภพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำสิ่งที่จะต้องทำเสร็จสิ้นแล้ว สิ่งที่จะต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออีกเลย.

    ตอน ๒ คำอธิบายเชิงวิจารณ์

    ในการอธิบายเพิ่มเติมและวิจารณ์ความในพระสูตรนี้ เห็นควรพิจารณาเป็น ๒ แง่ คือ ในแง่วิธีสอน อย่างหนึ่ง และในแง่สาระสำคัญ หรือหลักธรรม อย่างหนึ่ง

    ในแง่วิธีสอน

    พระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร ที่ทรงแสดงแก่ชฎิล มีข้อควรสังเกตในแง่การสอน ที่เป็นข้อสำคัญ ๒ อย่าง คือ:-

    ๑. ทรงสอนให้ตรงกับความถนัดและความสนใจของชฎิล พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าจะทรงแสดงที่ใดและแก่ใคร ย่อมมีจุดหมายเป็นแนวเดียวกัน คือ มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง แล้วให้มีทัศนคติและปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ในทางที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น แต่เนื้อเรื่องและวิธีการสอน ย่อมยักเยื้องต่างกันไป ตามอุปนิสัย ความถนัด และความสนใจของผู้ฟัง สุดแต่เรื่องใด วิธีใด จะช่วยให้เขาเข้าใจธรรมได้ดี

    ในกรณีของอาทิตตปริยายสูตรนี้ก็เช่นเดียวกัน ชฎิลทั้งหลายเป็นผู้บูชาไฟ มีชีวิตเกี่ยวข้องกับไฟมาโดยตลอด ประสบการณ์และความคิดคำนึงต่างๆ ก็พัวพันอยู่กับเรื่องไฟบูชายัญ แม้เมื่อเลิกบูชาไฟแล้ว เรื่องพิธีกรรม กิจวัตร ที่เกี่ยวกับไฟ ก็ยังคงเต็มอยู่ในความทรงจำ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องเกี่ยวกับไฟ เกี่ยวกับการลุกไหม้เผาผลาญ ก็เป็นที่สนใจ และชักจูงใจของชฎิลให้เพลินคิดเห็นไปตามกระแสพระธรรมเทศนาได้ง่าย

    ยิ่งกว่านั้น ยังได้ทรงเร้าความสนใจให้มากขึ้น โดยมิได้ตรัสเรื่องกองไฟบูชายัญที่ชฎิลจำเจอยู่และเบื่อหน่ายทิ้งมาแล้ว แต่ทรงกระตุกความรู้สึกเหมือนให้สะดุ้งขึ้นว่า

      - ไฟนั้นมิได้ลุกไหม้อยู่นอกกายไกลตัวเลย แต่ไฟนั้นลุกไหม้เต็มอยู่ภายในตัวทั่วกายไปหมดแล้ว
      - เป็นไฟที่ลุกลามไหม้อยู่ตลอดเวลา รุนแรงกว่าไฟภายนอก ควรหันมาสนใจไฟนี้มากกว่า และ
      - แทนที่จะให้บำรุงบำเรอ ให้เติมเชื้อ กลับตรัสให้ไม่มีเยื่อใยยินดี เป็นทำนองให้ดับเสียด้วยซ้ำ

    โดยนัยนี้ พึงตระหนักว่า การทรงแสดงเรื่องไฟ เรื่องการลุกไหม้ เรื่อง อาทิตต หรือ อาทิตย์ นี้ เป็นวิธีการยักเยื้องพระธรรมเทศนาให้ตรงกับอุปนิสัย ตรงกับความประพฤติที่ได้สั่งสมฝึกอบรมมา เพื่อผลในด้านความสนใจ และความรู้ความเข้าใจง่ายเป็นสำคัญ

    ส่วนสาระสำคัญก็คงมุ่งที่จะให้รู้ให้เข้าใจเรื่องของชีวิตนี้ แล้วให้มีทัศนคติและปฏิบัติต่อมันอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกันกับพระธรรมเทศนาเรื่องอื่นๆ

    ในข้อนี้ หากเทียบกับการทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร และอันธภูตสูตรด้วย ก็จะเข้าใจชัดยิ่งขึ้น

    ธรรมจักรนั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่พระภิกษุเบญจวัคคีย์ พระภิกษุเบญจวัคคีย์นั้น แต่เดิมมีใจยึดมั่นอยู่กับการบำเพ็ญทุกรกิริยาว่าคนจะบรรลุธรรมได้ต้องทรมานกายอย่างรุนแรง ยิ่งทำได้ยิ่งยวดเท่าใด ก็ยิ่งน่าเลื่อมใสสำหรับตนมากเท่านั้น และรังเกียจความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบายว่าเป็นสิ่งเสียหายลามก ที่ละทิ้งพระพุทธเจ้าเมื่อคราวทุกรกิริยา ก็เพราะได้เห็นพระองค์เลิกทรมานพระกาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักร จึงทรงเริ่มต้นด้วยเรื่อง ที่สุดสองอย่าง และมัชฌิมาปฏิปทา เป็นการกระทบตรงความในใจของท่านเหล่านั้น

    ส่วนในอันธภูตสูตร89 ผู้อ่านจะได้พบข้อความที่เกือบจะตรงข้ามกับอาทิตตปริยายสูตรทีเดียว คือ เริ่มต้นว่า:- “สพฺพํ ภิกฺขเว อนฺธภูตํ” แปลว่า ภิกษุทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างมืดมิดไปหมดแล้ว แล้วตรัสต่อไปว่า อะไรคือทุกสิ่งที่มืดมิด ก็ได้คำตอบว่า จักษุ รูป ฯลฯ อย่างเดียวกับในอาทิตตปริยายสูตรนั่นเอง ที่มืดมิดไปหมดแล้ว ดังนี้เป็นต้น เป็นการยักเยื้องพระธรรมเทศนา ชักนำความสนใจและจูงเข้าสู่ธรรมอีกแบบหนึ่ง.

    ๒. ทรงสอนให้ตรงกับระดับสติปัญญา และระดับชีวิตของชฎิล ข้อสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงคำนึงถึงในการทรงสอน คือ ความยิ่ง และหย่อน แห่งอินทรีย์ของผู้ฟัง ทรงพิจารณาว่า ผู้ฟังมีสติปัญญาอยู่ในระดับใด ได้รับการศึกษาอบรมมาในทางใดมากน้อยเพียงไหน ดำรงชีวิตอยู่อย่างไร จะต้องแสดงเรื่องอะไรเขาจึงจะรู้เข้าใจ สามารถนำไปใช้เป็นคุณประโยชน์แก่ชีวิตของเขาได้

    ดังนั้น เรื่องราวที่คล้ายคลึงกัน แต่แสดงแก่ต่างคน นอกจากต่างวิธีสอนแล้ว เนื้อหาสาระก็ต่างขั้นต่างระดับกันด้วย

    ในกรณีของอาทิตตปริยายสูตร ชฎิลทั้งหลายเป็นนักบวช สละโลกียวิสัยออกมาแล้ว มุ่งหน้าประพฤติปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของศาสนาอย่างเดียว และเป็นผู้ได้ศึกษาอบรมทางศาสนามาอย่างดี เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั้งหลาย เรียกได้ว่าเป็นปัญญาชนระดับสูงสุดในสมัยนั้น และในเวลาที่ฟังพระสูตรนี้ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้วด้วย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจึงทรงชี้แจงหลักธรรมที่ลึกซึ้ง ที่ต้องพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดอ่อน อาศัยพื้นฐานการศึกษาอบรมมาพอสมควร เหมาะสำหรับผู้ดำรงชีวิตเป็นบรรพชิต และให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงขั้นกำจัดกิเลสาสวะได้ทั้งหมด

    เรื่องนี้ จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ถ้าได้เทียบกับพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับเรื่องไฟที่ได้ทรงแสดงแก่คนอื่นๆ เช่น อัคคิสูตร90 ที่ทรงแสดงแก่อุคคตสรีรพราหมณ์ เป็นต้น

    ในกรณีของอัคคิสูตร อุคคตสรีรพราหมณ์ เป็นพราหมณ์ครองเรือน คราวหนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้ตระเตรียมพิธีบูชายัญ ได้สั่งให้จัดโคผู้ ลูกโคผู้ ลูกโคเมีย แพะ และแกะ อย่างละ ๕๐๐ ตัวมาผูกไว้กับเสาหลักบูชายัญ เตรียมพร้อมที่จะบูชายัญ

    พราหมณ์รู้สึกปีติยินดีในบุญกุศลที่ตนจะได้จากการบูชายัญตามแบบของพราหมณ์ จึงได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลว่า ตามที่เขาได้เรียนรู้มา การก่อกองไฟบูชายัญ และการปักเสาหลักบูชา มีผลมีอานิสสงส์มาก และทูลขอความเห็นจากพระพุทธองค์ในเรื่องนี้

    พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟเหมือนกัน แต่มีเนื้อหาและระดับคำสอนต่างออกไปอีกอย่างหนึ่งคือ ในอัคคิสูตรนั้น ทรงแสดงหลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของคนทั่วไปที่ยังครองเรือนอยู่ เพราะพราหมณ์ผู้ทูลถามยังเป็นคฤหัสถ์ครองชีวิตอยู่ในโลกียวิสัย

    ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไฟ ๗ อย่าง91 ที่ควรได้รับการปฏิบัติเอาใจใส่ต่างๆ กัน โดยยึดเอาความรู้สึกและถ้อยคำต่างๆ ของพราหมณ์มาทรงแสดงในแนวใหม่ ไฟ ๗ อย่างนั้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท ดังนี้:-

    ๑. ไฟที่ควรดับ หรือควรหลีกเว้น ๓ อย่าง คือ

      ๑) ไฟราคะ
      ๒) ไฟโทสะ
      ๓) ไฟโมหะ

    เหตุที่ควรดับควรเว้น เพราะคนถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำย่ำยีจิตใจแล้ว ย่อมประพฤติทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจได้ เมื่อประพฤติทุจริตแล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ ไปเกิดในอบายทุคติ

    พึงสังเกตว่า ในอาทิตตปริยายสูตร ก็มีไฟ ๓ อย่างนี้เหมือนกัน แต่ในอัคคิสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงในแบบง่ายๆ เท่าที่เกี่ยวกับความประพฤติของคนในโลกทั่วๆ ไป มิให้ประพฤติการทุจริตเท่านั้น ส่วนในอาทิตตปริยายสูตร ทรงแสดงในแง่ที่ต้องพิจาณาลึกซึ้ง ซึ่งเหมาะแก่การศึกษาของนักปรัชญาและนักจิตวิทยา

    ๒. ไฟที่ควรบำรุง ๓ อย่าง สำหรับไฟหมวดนี้ พระพุทธเจ้าทรงนำเอาชื่อไฟศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เดิมในศาสนาพราหมณ์ มาทรงใช้ในความหมายใหม่ และเรียงลำดับใหม่ (ต่างแต่ของพราหมณ์เป็นภาษาสันสกฤต ของพุทธเป็นภาษาบาลีเท่านั้น) ซึ่งเท่ากับเป็นการล้มเลิกคำสอนเดิมของศาสนาพราหมณ์ และทรงประทานคำสอนใหม่ไปด้วยพร้อมกัน จะให้ไว้ทั้งความหมายเดิมของพราหมณ์ และความหมายใหม่ของพุทธศาสนาเพื่อเทียบกัน ดังนี้:-

    ๑) คารหปัตยัคนี (ไฟเจ้าบ้าน) คือไฟที่เจ้าบ้านรับสืบทอดต่อจากบิดาของตน และส่งทอดต่อไปยังบุตรหลาน ไฟนี้เจ้าบ้านต้องบำรุงไว้ให้ติดไม่ขาดสาย และสังเวยเป็นประจำ เมื่อจะประกอบพิธีบูชายัญ ก็จุดไฟบูชายัญไปจากไฟนี้; พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในชื่อภาษาบาลีและจัดเป็นลำดับที่สองว่า

    ๒) คหปตัคคิ (ไฟเจ้าบ้าน) หมายถึง บุตร ภรรยา คนรับใช้และคนงาน

    ๒) อาหวนียัคนี (ไฟอันควรแก่ของเซ่นสรวง) คือ ไฟสำหรับรับเครื่องสังเวยในยัญพิธี ซึ่งจุดต่อออกมาจากคารหปัตยัคนี เมื่อจะประกอบพิธีบูชายัญ และตั้งไว้ทางขวาของคารหปัตยัคนี; พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในภาษาบาลี และจัดเป็นลำดับที่ ๑ ว่า

    ๑) อาหุไนยัคคิ (ไฟอันควรแก่ของคำนับ) หมายถึงมารดาบิดา

    ๓) ทักษิณาคนี (ไฟด้านใต้) คือ ไฟที่จุดต่อจากคารหปัตยัคนี และจัดตั้งไว้ทางทิศใต้ของแท่นบูชายัญ ใช้สำหรับรับเครื่องสังเวยที่อุทิศให้แก่ผีปีศาจและบุรพบิดา ในยัญพิธี; พระพุทธเจ้าทรงประทานความหมายใหม่ในภาษาบาลีว่า

    ๓) ทักขิไณยัคคิ (ไฟที่ควรแก่ทักษิณา) หมายถึง สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ
    ไฟ ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชา จัดการบำรุงให้เป็นสุขด้วยดี

    ข้อสังเกตสำหรับไฟหมวดที่สองนี้ คือ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกการเซ่นสรวงบูชายัญ อันเหลวไหลเสีย หันมาเอาใจใส่กับพันธะทางสังคม ให้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลทำนุบำรุงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตนให้ดี เพราะบุคคลเหล่านี้ก็เทียบได้กับไฟ ซึ่งต้องคอยเอาใจใส่เติมเชื้อ บำรุงให้ดี จึงจะเกิดคุณประโยชน์ดีงาม แต่หากปฏิบัติไม่ดี ก็ให้โทษ เป็นไฟเผาผลาญได้มากเช่นเดียวกัน

    ๓. ไฟที่ควรจุดควรดับควรระวังตามสมควร ๑ ได้แก่ กัฏฐัคคิ (ไฟเกิดแต่ไม้ หรือไฟที่ก่อขึ้นจากเชื้อสำหรับใช้หุงต้ม เป็นต้น) ไฟอย่างนี้ควรก่อขึ้น ก่อแล้วควรเอาใจใส่ระมัดระวัง เสร็จแล้วควรดับแล้วควรเก็บไว้ตามกาละที่สมควร

    จะเห็นได้ว่า ในอัคคิสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องไฟในแง่คำแนะนำสั่งสอนสำหรับผู้ครองชีวิตมีเหย้ามีเรือนอยู่ในฆราวาสวิสัย

    ในกรณีอื่นอีก เมื่อตรัสถึงการบูชาไฟ พระพุทธเจ้าตรัสสอนคติที่ควรยึดถือปฏิบัติสำหรับสังคมทั่วไปว่า:-

    “ถึงหากบุคคลผู้ใดจะไปบูชาไฟอยู่ในป่าเป็นเวลาตั้งร้อยปี การบูชาคนที่ฝึกอบรมตนแล้วชั่วขณะเดียว ก็ยังประเสริฐกว่าการบูชาไฟนั้น การบูชาไฟตั้งร้อยปีจะมีประโยชน์อะไร”92

    ข้อนี้ หมายความว่า พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้สังคมหันมาช่วยกันยกย่องให้เกียรติคนดี เพราะเป็นสิ่งที่ให้คุณประโยชน์รักษาคุณธรรมของสังคมไว้ ดีกว่าจะมัวไปหลงใหลในการเซ่นสรวงสังเวย อันเป็นเรื่องไร้เหตุผล อันเป็นการกระทำที่มุ่งผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นสำคัญ ทั้งยังเป็นทางให้เกิดความเสื่อมเสียขึ้นในสังคมได้ ในเมื่อผู้คนมุ่งประโยชน์ส่วนตน คอยพะเน้าพะนอเอาใจเทวดาที่ชอบเครื่องเซ่น เป็นเหตุให้มีแต่เทวดาประเภทนี้มาคอยคุ้มครองและแสดงอิทธิพลในหมู่มนุษย์

    เมื่อมนุษย์คบหาให้กำลังแก่เทวดาประเภทนักเลง ประเภทชอบลาภสักการะ ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่เทวดาผู้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ผู้ให้ความคุ้มครองโดยธรรมโดยสงบย่อมจะเสื่อมถอยกำลังและปลีกตนหลบลี้ออกไปอยู่โดยสงบ ไม่เป็นที่ปรากฏ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมมนุษย์ มองเห็นได้ไม่ยาก

    เมื่อเข้าใจวิธีสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ที่แตกต่างกันได้แม้ในเรื่องคล้ายกัน โดยสัมพันธ์กับสติปัญญาและการดำรงชีวิตของผู้ฟังเช่นนี้แล้ว จะได้ข้อเตือนใจว่า ในขณะที่อ่านหรือกล่าวถึงอาทิตตปริยายสูตร จะต้องรำลึกถึงเหตุผลในแง่การสอนให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญาและการศึกษาอบรมไว้ด้วย และจะต้องตระหนักในใจเสมอว่า ตนกำลังอ่านหรือกล่าวถึงหลักธรรมที่โดยปกติเป็นข้อสำหรับถกเถียงและพิจารณาศึกษา ของนักปรัชญาและนักจิตวิทยาทั้งหลาย

    นอกจากนี้ เมื่อว่าตามเป็นจริง ในปัจจุบันนี้ นักปรัชญาและนักจิตวิทยาทั้งหลาย ก็กำลังศึกษาค้นคว้าถกเถียงวุ่นวายอยู่กับเรื่องเหล่านี้นี่เอง หาพ้นไปได้ไม่.

    ในแง่สาระสำคัญหรือหลักธรรม

    หลักธรรมที่เป็นสาระสำคัญของพระสูตรนี้ เป็นเรื่องละเอียด ลึกซึ้ง และกว้างขวางอย่างยิ่ง ในการอธิบาย จะรวบรัดสรุปให้เหลือเล็กน้อยเป็นข้อสั้นๆ ก็ได้ หรือจะอธิบายให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ พิสดารออกไป อย่างที่แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ได้ สุดแต่จะใช้กลวิธียักเยื้องอธิบายอย่างไร

    ในที่นี้จะพยายามอธิบายสักแนวหนึ่ง โดยสัมพันธ์กับใจความที่ได้สรุปไว้ข้างต้น

    ๑. สภาพที่เป็นปัญหา สิ่งที่เป็นตัวการ หรือเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในพระสูตรนี้ ได้แก่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะ และเวทนาทั้งหลาย ที่เกิดสืบเนื่องมาจากผัสสะเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้ก็คือกระบวนการรับรู้และการคิดคำนึงทั้งหมดของบุคคล

    ชีวิตทั้งหมดเท่าที่บุคคลรู้สึกก็ดี โลกทั้งโลกเท่าที่ปรากฏแก่บุคคลก็ดี ความรู้ความเข้าใจทุกอย่างที่เกิดมีขึ้นแก่บุคคลโดยปกติก็ดี ย่อมอยู่ในขอบเขตของกระบวนการรับรู้และการคิดคำนึงนี้ เมื่อกล่าวในแง่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้จึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับบุคคล

    ข้อที่ว่า ถูกไฟลามติดลุกไหม้อยู่ ย่อมหมายความว่า สิ่งเหล่านี้หรือกระบวนการนี้ ตกอยู่ในภาวะรุ่มร้อน ดิ้นรนกระวนกระวาย มิได้ปฏิบัติหน้าที่ไปโดยปกติตามสภาพของมัน เพราะมีไฟราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่จะกล่าวในตอนสาเหตุ มาเผาลนให้พล่าน ให้กระสับกระส่าย ให้พร่าให้สับสน จนปรากฏอาการออกมาเป็นปัญหาต่างๆ ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งเบาทั้งรุนแรง ทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว และปัญหาร่วมกันของสังคม

    พูดในมุมกลับว่า ปัญหาต่างๆ ทั้งมวลของมนุษย์ ทั้งส่วนบุคคลและสังคม สืบสาวต้นตอลงไปได้ถึงการที่ถูกไฟเหล่านี้เผาลนอยู่ กล่าวโดยรวบรัดว่า:-

    ก. ในแง่บุคคล ในขั้นรุนแรง คนถูกราคะ โทสะ โมหะ เข้าแผดเผา กลุ้มรุม ผลักดัน จึงกระทำการทุจริต หรือแม้กรรมชั่วร้ายแรงต่างๆ ที่โดยปกติกระทำไม่ได้ และทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ แก่ตนเองติดตามมา และเกี่ยวพันถึงสังคมในข้อต่อไป

    ในขั้นละเอียดอ่อน แม้โดยปกติมนุษย์ปุถุชนย่อมถูกไฟเหล่านี้ บังคับบัญชาการกระทำ คำพูด ความคิด ตลอดจนทัศนคติต่างๆ อยู่แล้ว ที่เห็นได้ง่ายๆ คือ ปกติคนมีความอยากได้ ก็ถูกความอยากได้ดึงไป หรือถ้าพูดให้เป็นไฟก็คือเผาให้ทนอยู่ไม่ได้ เที่ยววิ่งพล่านทะยานหาสิ่งที่ต้องการ เมื่อยังไม่ได้ หรือไม่ได้ หรือได้ไม่เท่าที่หวัง ก็เกิดความขุ่นมัวอัดอั้น หรือขัดใจ เป็นทุกข์ ได้สมหวังแล้วก็ปรารถนาต่อๆ ไป ยิ่งๆ ขึ้นไป

    ถ้าเป็นไปในกระบวนการนี้โดยไม่มีการควบคุมหรือรู้เท่าทัน คือปล่อยสุดแต่มันจะเป็นไป ก็คือการมีชีวิตอยู่อย่างคลุ้มคลั่งกระหายและทุรนทุราย อย่างถูกไฟลุกไหม้เผาลนอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

    อีกอย่างหนึ่ง คนถูกไฟเหล่านี้เผาลน ถูกควันไฟรุมให้มัว ย่อมไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ใช้ ไม่ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายให้ถูกทาง หรือให้เท่าค่าของมันได้

    ยกตัวอย่างในขั้นหยาบๆ ที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น เก้าอี้มีไว้สำหรับนั่ง เกิดความโกรธขึ้น กลับเอามาใช้ทำร้ายกัน; เห็นของสวยงาม หรือของมีราคาที่เขานำมาเสนอขาย อยากได้ ความอยากได้รุนแรงทำให้ไม่ได้พินิจพิจารณา ถูกเขาหลอกลวงเอาได้ง่าย; บางทีขัดใจอะไรตอนเช้านิดเดียว ไม่รู้จักพิจารณาปลงใจ อารมณ์เสียไปทั้งวัน; บางทีพบคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เขาแสดงอะไรผิดพลาดนิดเดียว เกิดทัศนคติผิดพลาด มองเขาไปในทางไม่ดีตลอด ไม่ได้พิจารณาให้ลึกซึ้ง; หรือมีความลุ่มหลง ยามีไว้ใช้รักษาโรค กลับนำมาพล่าชีวิตตนเองเสีย ดังนี้เป็นต้น

    ไฟเหล่านี้เป็นปฏิปักษ์กับปัญญา เมื่อถูกไฟเหล่านี้กลุ้มรุมแผดเผาแล้ว ก็ทำให้เกิดทัศนคติผิด ตัดสินใจผิด และปัญญาความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงก็ไม่เกิด

    พิจารณาให้ลึกซึ้ง คนเราถูกไฟเหล่านี้บังปัญญา ทำให้เข้าใจผิด เกิดทัศนคติที่ผิด ตัดสินใจผิดๆ กระทำการต่างๆ ที่ปราศจากเหตุผล ที่แม้แต่ตนเองนึกขึ้นมาภายหลัง ก็รู้สึกละอายหรือเห็นน่าขำอยู่เสมอทั่วๆ กันทุกคนอยู่แล้ว มากน้อยตามขนาดของไฟที่แต่ละคนปล่อยให้ลุกลามอยู่ในตัวของตัว

    ข. ในแง่สังคม ความขัดแย้ง การแย่งชิง การรังแก ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ ประทุษร้ายกันระหว่างมนุษย์ เกิดจากไฟเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญ

    คนอยากได้ของสิ่งเดียวกัน เกิดผิดใจกัน แตกแยกและแย่งชิงกัน คนชอบใจทำคนละอย่าง ก็แตกแยกกัน ไปด้วยกันไม่ได้ คนเห็นแก่ตัวอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด ก็หาทางเอาเปรียบ ทำลายผู้อื่น; บุคคลผู้เดียว ในหมู่คณะหนึ่ง ไปกระทำผิดพลาดต่อคนในอีกหมู่คณะหนึ่งเป็นกรณีส่วนบุคคล แรงราคะต่อฝ่ายตนและโทสะฝ่ายอื่น ทำให้ไม่พิจารณาสอบสวนให้เห็นความจริง เกิดเป็นกรณีขัดแย้ง รบราฆ่าฟันระหว่างหมู่คณะ; พ่อแม่รักและหลงลูก จนเลี้ยงลูกผิดๆ ให้ลูกเสียก็มาก ฯลฯ

    ในแง่ความก้าวหน้าทางปัญญา กลุ่มชนที่มีความเชื่อถือผิดๆ ยึดถือลัทธิทฤษฎีต่างๆ โดยโมหะ ก็ทำให้ไม่สามารถพิจารณาสอบสวนค้นคว้าเห็นความจริง หรือเห็นเหตุเห็นผลของธรรมชาติได้ เป็นอุปสรรคต่อความเจริญก้าวหน้าทางสติปัญญา

    แม้วิทยาศาสตร์ วิทยาการ วิธานวิทยาต่างๆ ที่เจริญก้าวหน้ามากมายทั้งหลาย ถ้ามนุษย์นำมาใช้ตามแรงผลักดันของไฟเหล่านี้ ก็เป็นไปเพื่อหายนะของหมู่มนุษย์นั่นเอง

    สรุปว่า อายตนะทั้งหลายที่เป็นเครื่องเชื่อมต่อระหว่างขันธ์ ๕ ที่เป็นภายใน กับขันธ์ ๕ ที่เป็นโลกภายนอก ให้เกิดการรับรู้ และความรู้ต่างๆ ตามกระบวนของมันนั้น ขณะนี้มิได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามกระบวนการแท้ๆ หรือตามสภาวะอาการล้วนๆ ของมัน แต่ถูกไฟต่างๆ เผาลนอยู่ตลอดเวลา

    เมื่อกระบวนการนี้ถูกไฟลุกไหม้ ก็เกิดความระส่ำระสาย ปฏิบัติหน้าที่เคลื่อนคลาดจากปกติ ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับก็บิดเบือน ตัวบุคคลก็ไม่เป็นตัวของตัวเอง เกิดความสับสนวุ่นวาย ถูกครอบงำหรือลากจูงให้เอนเอียงไปบ้าง ถูกรมให้มืดหน้าตามัวบ้าง ไม่สามารถกลั่นกรองวินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยถูกต้อง เที่ยววิ่งแล่นไปตามแหล่งของการรับรู้ที่ถูกไฟไหม้ ถูกชักพาไปตามสายของการรับรู้นั้นๆ เกิดความยึดติดพัวพัน ตกเป็นทาส ไม่เป็นอิสระ เกิดทัศนคติผิดพลาด ตัดสินผิดพลาด และปฏิบัติผิดพลาดต่อสิ่งทั้งหลาย

    เมื่อตนเองเดือดร้อนวุ่นวายแล้ว ก็แผ่ความเดือดร้อนวุ่นวายนั้นไปให้แก่ผู้อื่นด้วย บุคคลที่มีปัญหาในตัวเอง ก็ย่อมเป็นเหตุสร้างปัญหาแก่ผู้อื่นขึ้นด้วย คนที่มีแต่ความรุ่มร้อนกระวนกระวายในตัว แก้ปัญหาในตัวเองไม่ได้ จะอยู่กับชาวโลกสงบเรียบร้อยไม่ก่อปัญหาเลยไม่ได้

    ๒. สาเหตุ ในด้านสาเหตุย่อมอธิบายได้ทั้งในขั้นตื้นๆ และในขั้นลึกซึ้ง

    เมื่ออธิบายอย่างตื้นๆ สาเหตุของปัญหานี้ ก็คือการถูกไฟกิเลสเผาลนให้ระส่ำระสายวุ่นวายอย่างที่กล่าวแล้วในตอนสรุปข้อ ๑

    แต่เมื่ออธิบายลึกซึ้งละเอียดลงไป ก็ต้องสืบค้นถึงพื้นฐาน ซึ่งพอจะเห็นแนวทางดังนี้:-

    ชีวิตนั้น เป็นกระบวนการอันหนึ่ง เกิดจากการรวมตัวกันเข้าของส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งโดยสรุปได้แก่นามและรูป หรือขยายออกไปได้แก่ขันธ์ ๕

    ส่วนประกอบเหล่านี้ แต่ละอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กันเป็นกระบวนการ ทำให้คุมรูปกันอยู่ดูเหมือนเป็นตัวเป็นตน

    แต่ในเมื่อเป็นกระบวนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดทุกขณะ ก็ย่อมไม่มีตัวแก่นแท้ที่คงที่แน่นอน และในกระบวนการอันนี้เองที่มนุษย์เข้าไปยึดถือว่าเป็นตัวตนของตน และเข้าไปตั้งความปรารถนาไว้ในทุกขั้นทุกระดับ หวังจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ในรูปที่จะให้มีตัวตนให้จงได้

    การดิ้นรนหวังให้มีตัวตนนี้ ได้ปรากฏผลเป็นการดิ้นรนไม่เฉพาะในชีวิตคนธรรมดาสามัญ แต่ปรากฏตลอดประวัติศาสตร์วิชาปรัชญาทีเดียว

    เมื่อไม่มีตัวตน มนุษย์ก็พยายามที่จะสร้างตัวตนให้มีขึ้นในรูปใดรูปหนึ่ง ตั้งแต่การทำมัมมี่ เพื่อรักษาร่างกายไว้ให้ชีวภูติกลับมาเข้าร่างดังเดิมของชาวอียิปต์โบราณ จนถึงปรัชญาของนักปรัชญาฝรั่งเศสชื่อเดคารทส์ แห่งคริสตศตวรรษที่ ๑๗ ผู้พยายามพิสูจน์ให้มีตัวตนให้ได้ อย่างวาทะของเขาที่ว่า “Cogito, ergo sum” ซึ่งแปลว่า “ฉันคิด เพราะฉะนั้น ฉันจึงมี” ซึ่งไม่พ้นไปจากทิฏฐิที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ไถ่ถอนมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีแล้ว

    เมื่อมนุษย์มีความหลงผิดยึดถือและปรารถนาให้มีตัวตนอยู่เช่นนี้ ในขณะเดียวกันนั่นเอง กระบวนการแห่งชีวิต ก็ตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ อันเป็นกฎธรรมชาติที่แน่นอนว่า ทุกสิ่งไม่คงที่ ไม่ทนอยู่ในสภาพเดิม ไม่อยู่ในอำนาจ และไม่มีตัวตนที่แท้

    กฎนี้แสดงแก่ชีวิตในรูปแห่งชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น ทั้งแบบหยาบตื้น และแบบลึกละเอียด จึงกลายเป็นอาการที่ขัดกัน หรือฝืนความปรารถนา พูดเป็นภาพพจน์ว่า ความยึดถือ กับกฎธรรมชาติเกิดขัดสีกันขึ้น ลุกเป็นไฟ

    อาการขัดสี หรือฝืนนี้ ทำให้บุคคลเสริมซ้ำย้ำความยึดถือและความปรารถนาให้เหนียวแน่นและรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่เป็นความยึดถือด้วยความปรารถนาแบบกระวนกระวาย และแสดงออกทั้งในระดับที่รู้สึกได้ อันเป็นขั้นหยาบ และขั้นที่ไม่รู้สึก อันเป็นขั้นละเอียด ซับซ้อน อยู่ในจิตใต้สำนึก

    เมื่อสืบค้นลงไปในกระบวนการของจิตอย่างละเอียด จนถึงจิตไร้สำนึก ก็จะพบเงื่อนงำว่า ความกลัวต่อชาติ ชรา มรณะ เป็นต้นนี้ มีซับซ้อนแฝงอยู่ในจิตใจของมนุษย์ และคอยบัญชาพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์อยู่ โดยที่มนุษย์เองไม่รู้สึกตัว ความกลัวนี้เริ่มจากจุดที่มนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาพที่แท้จริงแห่งชีวิตของตน

    จากจุดของความไม่รู้นี้ กระบวนการก็ดำเนินไปตามแนวทางแห่งหลักปฏิจจสมุปบาท และขั้นตอนที่สำคัญก็คือความขัดแย้งระหว่างความหลงผิดว่าเป็นตัวตน กับกระแสความเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติหรือไตรลักษณ์ ผลักดันตัณหาให้แสดงตัวออกในกระบวนการรับรู้นั้น ซึ่งหมายความเลยไปถึงว่า ไฟความทุกข์ มีชาติ ชรา มรณะ เป็นต้น เป็นตัวผลักดันไฟกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ให้ออกหน้า และแสดงฤทธิ์วุ่นวาย

    พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ไฟทุกข์เกิดจากการปะทะระหว่างกฎธรรมชาติ (ไตรลักษณ์) กับความหลงผิดยึดถือว่าเป็นตัวตน เมื่อปะทะกันแล้ว ไฟทุกข์ขับไฟกิเลส พลุ่งออกมาแสดงฤทธิ์เผาผลาญจนปรากฏผลเป็นปัญหาต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น

    ตราบใดที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจ และไม่เข้าไปจัดการกับกระบวนการและไฟเหล่านี้อย่างถูกต้อง ก็เท่ากับว่ามนุษย์พาเอากองไฟ หรืออาจจะถึงกับเป็นไฟนรกขุมหนึ่งติดไปกับตัวด้วยตลอดเวลา และเมื่อไฟติดอยู่กับตัวประจำเช่นนี้ ก็ย่อมไม่สามารถประสบความสุขที่แท้จริงยั่งยืนได้

    ๓.การแก้ไข หนทางแก้ไขปรากฏชัดอยู่แล้วในพุทธดำรัสนี้ว่า “อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้แล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้” คำว่าเห็นอยู่อย่างนี้ หมายถึงการรู้การเข้าใจตามความเป็นจริง ซึ่งกระบวนการอย่างที่เป็นอยู่เช่นนั้น เริ่มแต่เข้าใจสภาพของปัญหา

    การเข้าใจสภาพของปัญหา หรือการมองเห็นตัวปัญหานั่นเอง ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญอย่างยิ่ง

    เมื่อมองเห็นปัญหาที่ตนเข้าประสบอยู่แล้ว ก็สามารถถอนตัวออกมาตั้งหลักได้ อย่างที่ตรัสว่า “ย่อมหน่าย” จากนั้นก็ไม่ยึดติด หลุดพ้นเป็นอิสระ แต่ที่กล่าวนี้เป็นขั้นลึกซึ้ง

    ในที่นี้จะลองกล่าวถึงวิธีแก้ไขจัดการที่ลึกซึ้งไปตามลำดับขั้น

    ๑) ขั้นต้น เมื่อมองเห็นโทษของไฟเหล่านี้แล้ว ก็ควรควบคุมให้อยู่ในขอบเขต ไม่ให้ลุกลามรุนแรงถึงขั้นประพฤติทุจริตต่างๆ หรือทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตนเองและสังคม

    ๒) ขั้นกลาง รู้จักฝึกฝนอบรมจิตใจ รู้จักวิธีทำให้ไฟเหล่านี้สงบนิ่งอย่างน้อยเป็นครั้งคราวเหมือนอย่างไฟที่ไม่มีควันกลุ้มรุม ไม่มีเปลวที่แลบโฉบพึ่บพั่บ อยู่ในสภาพสงบนิ่ง ย่อมทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น

    การทำจิตให้สงบนิ่ง ปราศจากการรบกวนของไฟเหล่านี้ได้แม้ชั่วคราวย่อมช่วยให้มีสมาธิ อันเป็นกำลังเสริมให้เกิดปัญญาและทำการต่างๆ เช่น การศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น ให้ได้ผลสำเร็จอย่างดี

    ถ้าฝึกอบรมให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็สามารถทำสิ่งที่คนธรรมดาเห็นเป็นสิ่งวิเศษอัศจรรย์ได้ ที่เห็นได้ง่ายและวิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็ทำกันได้แล้ว ก็คือ ในการสะกดจิต เมื่อจิตอยู่ในสภาพที่แน่วแน่ต่ออารมณ์อันเดียว ปราศจากสิ่งรบกวน คนที่ถูกสะกดจิต ก็สามารถทำสิ่งที่ตัวเขาไม่เคยสามารถทำได้ในยามปกติ

    ๓) ขั้นสูงสุด หมายถึงขั้นที่เป็นใจความในพระสูตร ได้แก่ขั้นที่เกิดความรู้ความเข้าใจในสภาพของกระบวนการเหล่านั้นอย่างถ่องแท้สมบูรณ์ ทำให้สามารถถอนตัวออกมาตั้งหลักอยู่ได้เป็นอิสระ ไม่ยึดติดหลงผิดว่ากระบวนการที่ลุกไหม้อยู่นั้นเป็นตัวตน ไม่ตกเป็นทาส ถูกฉุดลากไปต่างๆ แต่กลับเป็นนาย รู้จักที่จะปล่อยให้กระบวนการนั้นปฏิบัติหน้าที่ของมันไปอย่างถูกต้อง ได้รับความรู้ที่ไม่บิดเบือน และสามารถเข้าไปจัดการใช้แต่ในทางที่จะเป็นประโยชน์

    ข้อนี้เหมือนกับการที่มนุษย์จะเปลี่ยนฐานะจากการเป็นทาสของธรรมชาติ กลับเป็นนายของธรรมชาติได้ ก็ด้วยการรู้ความจริง รู้สภาพ เข้าใจกฎเกณฑ์กระบวนการแห่งเหตุผลของมันเสียก่อน จากนั้นก็สามารถร่วมมือกับธรรมชาติ รู้วิธีจัดการควบคุมให้ธรรมชาติดำเนินไปตามกฎของมันเอง แต่เป็นไปตามแนวทางที่เรากำหนดให้มันได้ เรียกกันเป็นสำนวนว่า กลับเป็นนายของธรรมชาติ

    ในขั้นสุดท้ายนี้ ความรู้ความเข้าใจต่างๆ ที่ได้รับเข้ามาย่อมเป็นไปตามสภาพที่มันเป็นจริง และการเข้าเกี่ยวข้องจัดการก็ย่อมเป็นไปตามอำนาจปัญญา หรือตามเหตุผล ไม่ใช่ตามอำนาจตัณหาอย่างแต่ก่อน

    ๔. ผล ผลที่ได้จากการปฏิบัติตามวิธีแก้ไข ย่อมเป็นไปตามลำดับของขั้นนั้นๆ

    ในขั้นต้น เมื่อมนุษย์ควบคุมไฟให้อยู่ในขอบเขตที่สมควร ก็ทำให้สังคมมีศีลธรรมอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ตัวบุคคลเองก็มีจิตใจสงบร่มเย็นตามควร

    ในขั้นกลาง ย่อมช่วยให้มนุษย์ประสบสัมฤทธิ์ผลในงานต่างๆ ด้วยดียิ่งขึ้น และมีจิตใจที่เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้น มีความสุขที่ประณีตขึ้น

    ในขั้นสูงสุด ทำให้มนุษย์หลุดพ้นจากความเป็นทาสของความหลงผิด ทาสของกิเลส ทาสของจิตใจตน เป็นอิสระ กลับเป็นนาย ในขั้นนี้เรียกตามพุทธดำรัสว่า อยู่จบพรหมจรรย์ ทำสิ่งที่ต้องทำเสร็จสิ้นแล้ว หมดกิจที่จะต้องทำเพื่อให้ได้เป็น(อิสระ)อย่างนี้อีก ที่หมดกิจก็เพราะได้รู้ ได้เข้าใจถูกต้องหมดแล้ว เป็นอิสระแล้ว มีทัศนคติพื้นฐานถูกต้องดีแล้ว

    ต่อจากนี้ไป กระบวนการรับรู้ต่างๆ ก็จะดำเนินไปตามจังหวะหน้าที่ตามสภาวะอาการที่แท้ของมัน ความรู้ที่เกิดขึ้นก็จะถูกต้องตรงตามสภาวะที่เป็นจริง การปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายก็จะเป็นไปตามแนวทางของเหตุผลบริสุทธิ์ เป็นไปในทางที่ก่อประโยชน์อย่างเดียว เป็นอันไม่ต้องมาคิดแก้ไขควบคุมและดับไฟกันอีก

    ถ้าเทียบตามหลักโอวาทปาติโมกข์ ขั้นต้นก็คงเป็น สพฺพปาปสฺส อกรณํ - ไม่ทำชั่วทั้งปวง ขั้นกลางคงเป็น กุสลสฺสูปสมฺปทา - ทำความดีให้พรั่งพร้อม และขั้นสุดท้ายเป็น สจิตฺตปริโยทปนํ – ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

    สิ่งสำคัญที่พึงระลึก

    ๑. เรื่องอาทิตตปริยายสูตรนี้ อยู่ในวิชาพุทธประวัติ หรืออยู่ในวิชาพระพุทธศาสนาส่วนที่เป็นประวัติของพระพุทธเจ้า

    พุทธประวัติส่วนที่นอกเหนือจากพระชีวประวัติส่วนพระองค์ของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เป็นบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการบำเพ็ญพุทธกิจ หรือประวัติการทรงทำงานสั่งสอนของพระพุทธเจ้า บุคคลที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นมีมากมายทุกชั้นทุกประเภท ว่าโดยระดับสติปัญญาก็มีตั้งแต่ฉลาดที่สุด ถึงโง่ที่สุด

    ตามปกติ พุทธประวัติที่เล่าเรียนกัน โดยเฉพาะที่ย่อๆ ย่อมจะกล่าวถึงเฉพาะงานสั่งสอนครั้งสำคัญๆ เท่านั้น

    บุคคลที่พระพุทธเจ้าทรงผจญในงานสอนครั้งนั้นๆ มักเป็นชั้นคณาจารย์ หรืออย่างน้อยก็มีประสบการณ์ในการค้นคิดทางปรัชญามาก สิ่งที่ทรงสอนก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เหมาะสำหรับปัญญาและประสบการณ์ของท่านเหล่านั้น และผลจากการสั่งสอนครั้งนั้นๆ ก็สูงถึงขึ้นบรรลุญาณวิเศษ โดยเฉพาะอรหัตตผล

    ผู้ที่อ่านหรือเรียนพุทธประวัติตอนเหล่านี้ จะต้องสมมติตนเป็นนักปราชญ์ชั้นคณาจารย์ หรือเป็นนักบวชเหล่านั้น ขบคิดเนื้อธรรมด้วยสติปัญญา และอยู่ในบรรยากาศแห่งการสอนครั้งนั้นด้วยตนเอง จึงจะเข้าถึงรสอันเป็นแก่นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

    ถ้าจะเทียบให้มองเห็นง่ายๆ อีกแง่หนึ่ง เพียงปรัชญาของโสเครตีส พลาโต และอริสโตเติล หากจัดให้นักเรียนชั้น ม.ศ. ๔-๕ เรียน เราจะหวังให้เขาเข้าใจได้สักเท่าใด

    ข้อเปรียบเทียบนี้อาจไม่ตรงกันทีเดียว เพราะคำสอนของนักปราชญ์เหล่านั้น เป็นเรื่องของนักคิด ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นเรื่องราวการประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง แต่ในแง่ระดับสติปัญญาของผู้ฟัง ก็น่าจะพอเทียบได้ไม่ไกลกันนัก

    เมื่อเป็นอย่างที่ว่ามานั้น ถ้ายังเรียนพุทธประวัติกันในลักษณะนี้ ก็จะต้องตระหนักถึงความยาก ทั้งแก่ผู้สอน และแก่ผู้เรียน พร้อมทั้งชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจถึงสาเหตุแห่งความยากนั้น กับทั้งควรหาโอกาสนำเอาเรื่องราวและคำสอนในระดับสามัญที่ง่ายๆ มาสอนแทรกตามสมควร

    ๒. ในการสอน ด้านประวัติ ควรเล่าโยงไปถึงภูมิหลังของสังคมแห่งชมพูทวีป ตั้งแต่ก่อนที่ระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น ให้เห็นว่าคนยุคนั้นมีความเชื่อถือและเป็นอยู่ตามหลักของศาสนาพราหมณ์ เช่นเรื่องพระพรหม เทพเจ้า ระบบวรรณะ การบูชายัญเป็นต้น อย่างไร

    จากนั้นก็ชี้ให้ชัดว่าพระพุทธศาสนาสอนต่างออกไป และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โยงมาถึงอาทิตตปริยายสูตรนี้

    ถ้าผู้เรียนมองเห็นแง่นี้ เรื่องราวก็จะน่าสนใจ นักเรียนก็จะเข้าใจชัด และการเรียนก็จะมีชีวิตชีวาขึ้น

    ส่วนในด้านเนื้อหา หากอธิบายให้นักเรียนสามารถเข้าใจได้เต็มบริบูรณ์ตามความหมายของพระสูตร ก็เป็นการดี แต่ถ้าได้อธิบายประยุกต์ในแง่ที่นักเรียนจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือเล่าให้นักเรียนได้ทราบคำสอนแนวเดียวกัน หรือเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนแก่คนอื่นๆ ซึ่งเป็นคำสอนขั้นเบื้องต้น และเหมาะสำหรับการดำรงชีวิตในขั้นต้นๆ ไว้ด้วย ก็จะบังเกิดเป็นคุณประโยชน์แก่ตัวของนักเรียนมากขึ้น และจะช่วยให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นด้วย

    ๓. อย่างไรก็ตาม แม้คำสอนของพระพุทธเจ้าจะแตกต่างกันเป็นหลายระดับ แต่สาระสำคัญที่เป็นแกนกลาง ก็เป็นแนวเดียวกัน คือ การดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัญญา หรือมีชีวิตอยู่อย่างผู้รู้จักชีวิต รู้เท่าทันกระแสโลก ไม่งมงายปล่อยตัวตกเป็นทาสของกิเลสและความทุกข์ แล้วถูกฉุดลากจูงไปตามกระแส แต่สามารถมีชีวิตจิตใจที่เป็นอิสระ อย่างน้อยก็รู้จักที่จะกลับไปเป็นนายบังคับควบคุมกิเลสของตนไว้ในแนวทางที่พึงปรารถนาได้บ้าง โดยระลึกถึงพุทธภาษิตที่ว่า “ปญฺาชีวึ ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ” ซึ่งแปลว่า ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ชีวิตของผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นชีวิตที่ประเสริฐสุด.

1บรรยายสรุป ณ วิทยาลัยครูธนบุรี เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๓ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระศรีวิสุทธิโมลี
หมายเหตุ: เขียนในเวลากระชั้นชิด การศึกษาความหมายและตีความหลักธรรมบางข้อต้องกระทำในเวลาเร่งรัดเกินไป จึงขอให้ถือเป็นเพียงขั้นริเริ่ม เผื่อถ้ามีโอกาสก็จะได้ทำให้ชัดเจนถ่องแท้ต่อไป หลักบางข้อยังหาตัวอย่างประกอบไว้น้อยและบางตัวอย่างเพียงอ้างไว้ ยังมิได้ค้นหลักฐานนำมาแสดงให้เต็มที่

2พระไตรปิฏกบาลีอักษรไทยจำนวน ๒๑,๙๒๖ หน้า อรรถกถาและคัมภีร์เฉพาะที่พิมพ์เป็นเล่มแล้ว ๒๘,๓๑๘ หน้า

3จังกีสูตร, ม.ม.๑๓/๖๕๐

4จังกีสูตร, ม.ม.๑๓/๖๕๐

5พรหมายุสูตร, ม.ม.๑๓/๕๘๙; ที.ม.๑๐/๑๙๘,๒๑๘

6ที.ม.๑๐/๒๙; ฯลฯ

7การณปาลีสูตร, องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๙๓

8พรหมายุสูตร, ม.ม.๑๓/๕๘๙

9 ม.มู. ๑๒/๑๖๖; องฺ.ทสก. ๒๔/๒๑; อภิ.วิ. ๓๕/๘๓๙–๘๔๘; วิภงฺค.อ. ๕๒๐, ๕๕๐–๖๐๗ การศึกษาเปรียบเทียบนี้เป็นครั้งแรก จึงยังอาจได้ความหมายไม่ครอบคลุมครบถ้วน ขอให้ถือเป็นจุดเริ่มต้นไว้ก่อน

10นาคิตสูตร, องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๑๓

11สังคีติสูตร, ที.ปา.๑๑/๒๒๘

12กกุธสูตร, องฺ.ปญจก.๒๒/๑๐๐

13ม.อ. ๑๔/๔๒–๔๔

14ที.ปา. ๑๑/๓๐–๓๑

15วินย. ๕/๗๘; องฺ.อฏฐก. ๒๓/๑๐๒

16ม.มู. ๑๓/๗๒–๗๓

17ม.มู. ๑๒/๒๘๖

18สํ.นิ. ๑๖/๔๗๒-๓

19พรหมายุสูตร, ม.ม. ๑๓/๕๘๙

20สฬายตนวิภังคสูตร, ม.อุ. ๑๔/๖๓๖

21สขสูตร, องฺ.สตฺตก.๒๓/๓๔

22พึงระลึกถึงฐานะของผู้สอนอันสัมพันธ์กับความตอนนี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อกฺขาตาโร ตถาคตา – ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางให้” (ขุ.ธ.๒๕/๓๐) และเรื่องที่ทรงชี้แจงแก่พราหมณ์ว่าพระองค์เป็นเพียงผู้ชี้ทาง ใน ม.อุ. ๑๔/๑๐๑ ด้วย

23ที.อ. ๑/๖๑; สํ.อ. ๑/๒๘๕; องฺ.อ. ๑/๖๖; ใน สุตฺต.อ. ๑/๑๖๖ ท่านแบ่งพุทธกิจไว้เพียง ๒ อย่าง คือ ปุเรภัตตกิจ กับ ปัจฉาภัตตกิจ โดยรวมเอาพุทธกิจที่ ๓ - ๔ - ๕ เข้าไว้ในปัจฉาภัตตกิจด้วย; ในสวดมนต์ฉบับหลวง ท่านแต่งเป็นคาถาไว้เพื่อจำง่ายว่า:-

ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ สายณฺเห ธมฺมเทสนํ
ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ
ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ.

เช้าเสด็จไปบิณฑบาต บ่ายทรงแสดงธรรม ค่ำประทานโอวาทแก่ภิกษุ กลางคืนตอบปัญหาเทวดา เวลาจวนสว่างตรวจดูผู้ที่ควรและยังไม่ควรตรัสรู้

24สิงคาลกสูตร, ที.ปา. ๑๑/๑๗๒-๒๐๖

25ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑

26ดู สํ.ข. ๑๗/๒๑๕-๒๑๘; สํ.สฬ. ๑๘/๘๘, ๙๐; องฺ.ฉกฺก. ๒๒/๓๒๗

27วินย. ๕/๑๖๖

28ธรรมเจติยสูตร, ม.ม. ๑๓/๕๖๕, ๕๖๘

29วินย. ๕/๑๒๙

30ชา.อ. ๒/๒๔๘

31ดู สํ.ม. ๑๙/๑๗๑๒

32ม.ม. ๑๓/๙๔; เทียบ ที.ปา. ๑๑/๑๑๙

33ดู วิสุทธิมรรค ปริเฉทที่ ๓

34วินย. ๔/๙

35บัว ๓ เหล่ามาใน วินย. ๔/๙; ม.มู. ๑๒/๓๒๑; ม.ม. ๑๓/๕๐๙ บัว ๔ มาในอรรถกถา คือ ที.อ. ๒/๘๓; ม.อ. ๒/๒๔๒; สํ.อ. ๑/๒๓๔; ๒/๕, ๓/๖๓; ฯลฯ บุคคล ๔ พวก มาใน องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๓๓
หมายเหตุ พึงสังเกตว่า ปทปรมะ นั้น มิได้หมายความว่าสอนไม่ได้เลยทีเดียว แต่หมายถึงบุคคลที่ช่วยได้อย่างมากเพียงให้รู้พยัญชนะ แต่ไม่อาจเข้าใจอรรถ เป็นผู้ที่พระพุทธศาสนาไม่ทอดทิ้ง เพราะถือว่า แม้เขาไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แต่ก็ยังเป็นการสั่งสอนอบรมเพื่อประโยชน์ในอนาคตต่อไป จึงควรต้องช่วยให้ดีที่สุดเท่าที่จะช่วยได้

36สํ.สฬ. ๑๘/๑๘๗-๘

37องฺ.นวก. ๒๓/๒๐๗; ขุ.อุ.๒๕/๘๕–๘๙

38ที.สี. ๙/๑๘๔–๑๙๔

39ที.ปา. ๑๑/๒๒

40เป็นองค์คุณอย่างหนึ่งของธรรมกถึก องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๕๙

41องฺ.นวก. ๒๓/๒๔๒

42เช่น ม.มู. ๑๒/๓๕๓

43ม.ม. ๑๓/๕๘๙

44องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๙๙

45ม.ม. ๑๓/๖๕๐

46 องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๕๙

47ที.ปา. ๑๑/๒๕๕

48องฺ.ทสก. ๒๔/๙๔

49องฺ.ปญฺจก. ๒๒/๑๖๕; ในที่นี้ขอให้เทียบพุทธธรรมดา หรือพุทธประเพณีในการตรัสถามคำถาม ซึ่งมีดังนี้

“ตถาคตทั้งหลาย ทั้งที่ทรงทราบอยู่ ย่อมตรัสถามก็มี, ทั้งที่ทรงทราบอยู่ แต่ไม่ตรัสถามก็มี, ทรงกำหนดทราบกาลอันเหมาะสมแล้วจึงตรัสถาม, ทรงกำหนดทราบกาล(ไม่เหมาะ)แล้วจึงไม่ตรัสถาม, พระองค์ตรัสถามแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์, ไม่ตรัสถามสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์, ในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ ทรงปิดทางเสียทีเดียว; พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงสอบถามภิกษุด้วยอาการ ๒ แบบ คือ จะทรงแสดงธรรม หรือจะทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย” (ดู วินย. ๕/๔๙ เป็นต้น)

50ดู วินย.อ. ๑/๒๖๒

51ชา.อ. ๒/๒๓

52ชา.อ. ๒/๒๖

53ขุ.ธ. ๒๕/๑๖

54สํ.ม. ๑๙/๕๑๖

55ขุ.ธ. ๒๕/๒๑

56จูฬราหุโลวาทสูตร, ม.ม. ๑๓/๑๒๕–๑๒๙

57ขุ.ขุ. ๒๕/๔

58วินย. ๕/๑๖๖

59วินย. ๑/๒; องฺ.อฎฐก. ๒๓/๑๐๑

60วินย. ๕/๗๘; องฺ.อฎฐก. ๒๓/๑๐๒

61ที.ปา. ๑๑/๒๒๑–๓๖๓

62องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๑๑

63ขุ.สุ. ๒๕/๓๑๐

64สํ.ส.๑๕/๖๙๔–๗๐๐

65ม.ม. ๑๓/๕๖๕

66ม.ม. ๑๓/๕๘๙

67ม.อุ. ๑๔/๖๕๘

68องฺ.นวก. ๒๓/๒๐๘

69สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒

70สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒

71สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒

72สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒

73สํ.นิ. ๑๖/๖๙๖–๗๑๒

74องฺ.จตุกฺก. ๒๑/๑๑๑

75สํ.ส. ๑๕/๖๒๖–๖๓๐

76สํ.ส. ๑๕/๖๓๑–๖๓๔ (แปลตัดรวบรัดความ)

77 สํ.ส. ๑๕/๖๗๗–๖๘๑ (คำบาลีบางคำในที่นี้ตีความอย่างอื่นได้ด้วย คำแปลในที่นี้ จึงไม่อาจได้อรรถรสบริบูรณ์)

78สํ.ส. ๑๕/๖๗๑–๖๗๕; ขุ.สุ. ๒๕/๒๙๗–๓๐๐

79ม.ม. ๑๓/๕๖๗-๘

80บรรยายในการประชุมทางวิชาการเรื่อง ธรรมะที่อธิบายยาก ในหลักสูตรวิชาศีลธรรม ชั้น มศ.ปลาย ณ ห้องศรีคุรุ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๓

81ศตปถพราหมณะ, S.B.E. XLL.322

82ดู มนูธรรมศาสตร์, S.B.E. XXV.132 เป็นต้น

83ดู Heinrich Zimmer, Philosophies of India, Meridian Books, New York, 1956,p.71 เป็นต้น

84ศตปถพราหมณะ, S.B.E. XLIV.502

85ภควัทคีตา, S.B.E. VIII.353

86ฉานโทคยอุปนิษัท, S.B.E. I.91

87วินย. ๔/๕๗/๖๖

88คำที่อาจเข้าใจความหมายไม่ชัดแจ้ง คือ วิญญาณ หมายถึงความรู้อารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางประสาททั้ง ๕ หรือที่เกิดขึ้นในใจ เช่น จักขุวิญญาณ = การเห็น โสตวิญญาณ = การได้ยิน เป็นต้น; สัมผัส หมายถึงการมาบรรจบกันของอายตนะและวิญญาณ เช่น จักขุสัมผัส = การบรรจบกันของตา รูป และจักขุวิญญาณ; เวทนา หมายถึงความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ที่เกิดจากสัมผัสนั้นๆ