ปริมาณเงิน หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ควร เป็น อย่างไร

              จะประกอบไปด้วยเงินฝากของประชาชนทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ เงินฝากในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุน เงินฝากของประชาชนที่ธนาคารเฉพาะกิจ รวมไปถึงที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ให้อยู่ในนิยามนี้ด้วยได้แก่ เงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในรูปของตั๋วแลกเงิน เงินรับฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ และมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนรวมตลาดเงิน เพื่อให้มีความครอบคลุมถึงปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

เมื่อกล่าวถึงเงินเฟ้อ หลายท่านคงทราบเป็นอย่างดีว่าหมายถึงภาวะที่ข้าวของมีราคาแพงขึ้น หากถามต่อไปว่า แล้วเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากอะไร หลายท่านคงตอบเช่นกันว่าเกิดจากการมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป เข้าใจได้ว่า คำอธิบายเช่นนี้เป็นคำอธิบายจากความหมายของคำ เมื่อเฟ้อหมายถึงมากเกินควรหรือมากเกินไปแล้ว ดังนั้นคำว่าเงินเฟ้อจึงหมายถึงภาวะที่ราคาข้าวของแพง ด้วยสาเหตุจากการมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป คำอธิบายเช่นนี้ ปรากฎในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของเงินเฟ้อว่า "เงินเฟ้อ (เศรษฐ) น. ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไป ทำให้ราคาสินค้าแพงและเงินเสื่อมค่า" (ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 294) อย่างไรก็ตาม การนิยามความหมายเงินเฟ้อดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการขยายความด้วยวงเล็บคำว่าเศรษฐ (เศรษฐ) ซึ่งบอกลักษณะของคำที่ใช้เฉพาะแห่งว่า เป็นคำที่ใช้ในเศรษฐศาสตร์ มีปัญหาอย่างน้อย 2 ประการ คือ

  1. การขาดองค์ประกอบด้านความต่อเนื่องของระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นและ
  2. ปริมาณเงินเป็นสาเหตุเดียวของการเกิดเงินเฟ้อ

การขาดองค์ประกอบด้านความต่อเนื่องของระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะอธิบายคำว่าเงินเฟ้อว่า ราคาสินค้าแพง แต่ขาดองค์ประกอบด้านความต่อเนื่องของระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การนิยามคำว่าเงินเฟ้อในพจนานุกรมด้านเศรษฐศาสตร์อีกหลายเล่มได้กล่าวถึงองค์ประกอบนี้ เช่น พจนานุกรมเศรษฐศาสตร์ ของรองศาสตราจารย์ ภราดร ปรีดาศักดิ์ หรือแม้กระทั่งพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานเอง ในพจนานุกรมเศรษฐศาสตร์ ของรองศาสตราจารย์ ภราดร ปรีดาศักดิ์ ได้นิยามคำว่า เงินเฟ้อ หมายถึง "สถานการณ์ที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ" ส่วนพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิต ให้ความหมายคำว่า เงินเฟ้อ คือ "ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ภาวการณ์ที่อาจเป็นปรากฎการณ์ทางการเงิน (Monetary phenomenon) หรืออาจเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจริง (real phenomenon) ที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง"

ปริมาณเงินเป็นสาเหตุเดียวของการเกิดเงินเฟ้อ

ดังที่กล่าวแล้วว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายคำว่าเงินเฟ้อคือ ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไป ทำให้ราคาสินค้าแพงและเงินเสื่อมค่า การให้ความหมายเช่นนี้ อาจทำให้เข้าได้ว่าเงินเฟ้อเกิดขึ้นได้ด้วยเพียงสาเหตุเดียวคือ ปริมาณเงินหมุนเวียในประเทศมากเกินไป ทั้งที่เงินเฟ้อนั้นเกิดขึ้นได้จากทั้งส่วนของอุปสงค์มวลรวมเพิ่มมากขึ้น (demand-pull inflation) และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น (cost-push infaltion) ดังเช่นที่ได้ขยายความในพจนานุกรมด้านเศรษฐศาสตร์ฉบับต่างๆ พจนานุกรมเศรษฐศาสตร์ของรองศาสตราจารย์ภราดร ปรีดาศักดิ์ ได้ขยายความนิยามคำว่าเงินเฟ้อเพิ่มเติมว่า "… ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากสาเหตุหลัก 2 สาเหตุ จึงเรียกเงินเฟ้อตามสาเหตุที่เกิดขึ้นว่า เงินเฟ้อเนื่องจากแรงดึงของอุปสงค์ และเงินเฟ้อเนื่องจากแรงผลักของต้นทุน"เช่นเดียวกับพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ที่มีรองศาสตราจารย์ วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน เป็นบรรณาธิการ ก็ได้คำนึงถึงประเด็นเรื่องสาเหตุของเงินเฟ้อ ดังความที่ว่า"…แต่ภาวะ "เงินเฟ้อ" ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุมาจากปริมาณเงินมีมาก อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ได้" หรือแม้กระทั่งพจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถานเอง ก็มิได้จำกัดสาเหตุเงินเฟ้อไว้เฉพาะปริมาณเงินเพิ่มเพียงอย่างเดียว ดังความที่ว่า"ทั้งนี้อาจจะเกิดจากด้านอุปสงค์ เช่น การที่มีปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไป ทำให้ค่าของเงินลดลง ความต้องการใช้จ่ายมวลรวมมากเกินไป หรือการใช้จ่ายของรัฐมีมากเกินไป นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้ออาจจะเกิดจากด้านอุปทาน เช่น ราคาน้ำมันสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว"

จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจไทยมีปัญหาเงินเฟ้อสูงอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2516-2517 (ค.ศ.1973-1974) และช่วงที่สอง เมื่อปี พ.ศ.2522-2524 (ค.ศ.1979-1981) (ดูภาพประกอบ 1)

ปัญหาเงินเฟ้อสูงครั้งแรก ปี พ.ศ. 2516-2517 เศรษฐกิจไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 15.5 และร้อยละ 24.3 ตามลำดับ ภาวะเงินเฟ้อช่วงนี้เป็นผลมาจากทั้งอุปสงค์มวลรวมที่เพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้านำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงในปี พ.ศ. 2517 มีสาเหตุหลักจากราคาน้ำมัน (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, 2523)

ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงปีดังกล่าว เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกของโลก ซึ่งเป็นผลจากสงครามระหว่างอิสราเอลกับประเทศในกลุ่มอาหรับ หรือที่เรียกว่า Yom Kippue War จากเหตุการณ์นี้ ประเทศในกลุ่มโอเปคได้รวมตัวกันประท้วงสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนอิสราเอลในสงครามดังกล่าว ด้วยการงดขายน้ำมันให้กับสหรัฐอเมริกา ทางการสหรัฐฯ จึงได้มีการสะสมน้ำมันเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจากการขาดแคลนอุปทานและความกังวลของสงคราม จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงขึ้นทั่วโลกจากต้นทุนด้านน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น (ยุทธภูมิ จารุเศร์นี, 2555)

ปัญหาเงินเฟ้อครั้งที่สอง ปี พ.ศ. 2522-2524 เศรษฐกิจไทยมีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 9.9 ร้อยละ 19.7 และร้อยละ 12.7 ตามลำดับ ปัญหาเงินเฟ้อช่วงนี้เกิดจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกันการปฏิวัติทางการเมืองของอิหร่านในปี พ.ศ. 2522 และสงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านในปี พ.ศ. 2523 สร้างความกังวลต่ออุปทานน้ำมัน สงครามและความเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อประเภทต้นทุนเพิ่ม จนเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก ประกอบกับมีการประกาศลดค่าเงินบาทลงถึงสองครั้งในปี พ.ศ. 2524 จาก 20.78 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ 21.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และครั้งที่สองปรับลดค่าเงินไปอยู่ที่ 23.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ การลดค่าเงินบาทถึงสองครั้งได้ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเมื่อแปลงเป็นในรูปเงินบาทมีราคาสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปอยู่ในระดับสูงอยู่แล้วเพิ่มสูงขึ้นไปอีก อัตราเงินเฟ้อจึงขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง (ยุทธภูมิ จารุเศร์นี, 2555)

จากคำอธิบายสาเหตุของเงินเฟ้อและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมากเกินไป มิใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ราคาสินค้าแพง ดังนั้น หากนิยามคำว่า เงินเฟ้อ เป็นคำที่ใช้ในเศรษฐศาสตร์แล้ว ราชบัณฑิตยสถานสมควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขความหมายของคำว่า "เงินเฟ้อ" ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ครอบคลุมเรื่ององค์ประกอบด้านความต่อเนื่องและเพิ่มเติมสาเหตุเงินเฟ้อด้านอื่นๆ นอกจากปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้ความหมายของคำว่าเงินเฟ้อครบถ้วนมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง
ภราดร ปรีดาศักดิ์ (2549) พจนานุกรมเศรษฐศาสตร์ กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ยุทธภูมิ จารุเศร์นี (2555) "ส่องกล้องมองเงินเฟ้อไทย : บทบาทภาครัฐและมาตรการรับมือ" สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (2523) "วิกฤตการณ์แห่งโครงสร้างและวิกฤตการณ์แห่งเส้นทางการพัฒนา" บทความประกอบการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง วิกฤตการณ์เศรษฐกิจไทย 2522 จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2523

ราชบัณฑิตยสถาน (2556) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพ :ราชบัณฑิตยสถาน

ราชบัณฑิตยสถาน (2558) พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน(พิมพ์ครั้งที่ 3)กรุงเทพ : อรุณการพิมพ์

วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน (2546) พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์(พิมพ์ครั้งที่ 7) กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์