ความยั่งยืนของธุรกิจคืออะไร

ถ้าจะพูดถึงเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน องค์กรไหนที่ยังทุ่มเงินลงไปกับกิจกรรม CSR ที่มีจุดประสงค์เพื่อการ PR เท่านั้น ถือว่าตกเทรนด์ไปแล้ว เพราะเทรนด์ที่กำลังมาในยุคนี้ คือ ‘Sustainable Business’ หรือธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่สังคมและสิ่งแวดล้อมโตไปพร้อมกันกับองค์กร โดยการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ที่นอกจากจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ชนะใจผู้บริโภคได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการยืดอายุธุรกิจ พร้อมสร้างกำไรและความมั่นคงในระยะยาวให้กับองค์กรด้วย

ตัวอย่างธุรกิจที่มุ่งสู่ความยั่งยืน

ความยั่งยืนของธุรกิจคืออะไร

SCGเป็นองค์กรหนึ่งที่ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อความยั่งยืนมาโดยตลอด ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการจัดการของเสีย ตัวอย่างหนึ่งคือ การออกแบบการทำเหมืองแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนได้เป็นต้นแบบโรงงานสีเขียวระดับที่ 5* รายแรกของประเทศไทย จากการทำเหมืองแบบ Semi-Open Cut ที่โรงงานจังหวัดลำปางเป็นที่แรกในไทย แทนการทำเหมืองแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Side Hill Cut ซึ่งก่อให้เกิดฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน และทัศนนียภาพที่ไม่สวยงาม ซึ่งแม้ว่าการทำเหมืองแบบใหม่นี้ จะเสียโอกาสในการผลิตหินปูนไปกว่า 30% แต่ผลกระทบทางสังคมนั้นถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก เพราะด้วยวิธีการเจาะและระเบิดยอดเขาแบบลดหลั่นเป็นขั้นบันไดจนเป็นบ่อภายในภูเขาแล้วเอาหินปูนมาใช้ ทำให้มองจากภายนอกก็ยังคงทัศนียภาพของภูเขาสีเขียวปกคลุมอยู่ และวิธีนี้ยังสามารถช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นและเสียงรบกวน ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกของการทำเหมืองปูนได้อีกด้วย

*มาตรฐานโรงงานสีเขียว ตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีมาตรฐานสูงสุดที่ระดับ 5 คือ เครือข่ายสีเขียว (Green networks) หรือการแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย


ความยั่งยืนของธุรกิจคืออะไร
ความยั่งยืนของธุรกิจคืออะไร

Uniliverบริษัทยักษ์ใหญ่ที่หันมาเอาจริงเอาจังกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในขั้นตอนการต่างๆ ตั้งแต่การเลือกรับซื้อน้ำมันปาล์มจากแหล่งผลิตที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่าเท่านั้น จนแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันหลายแห่งในอินโดนีเซียต้องยอมปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ให้ยั่งยืนขึ้น หรือการพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ประหยัดพื้นที่ในการบรรจุใส่กล่อง และลดการใช้พลาสติกลง ไปจนถึงการวางแผนเส้นทางการขนส่งสินค้าที่สั้นที่สุด และเลือกยานพาหนะขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด นอกจากนี้ยังมีอีกหลากหลายนโยบายและโครงการด้านความยั่งยืน จนทำให้ยูนิลิเวอร์ได้รับการจัดอันดับจาก The GlobeScan/SustainAbility Survey  ให้เป็นธุรกิจผู้นำด้านความยั่งยืนอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันมาหลายปี และยูนิลิเวอร์จะยังไม่หยุดเท่านั้น เพราะพวกเขาตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2020 จะต้องเพิ่มยอดขายขึ้น 2 เท่าพร้อมๆ กับการมีกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลงครึ่งหนึ่ง !


ความยั่งยืนของธุรกิจคืออะไร

Nike เมื่อหลายปีก่อนบริษัทถูกโจมตีด้วยแคมเปญต่อต้านจากคนทั่วโลก เมื่อพบว่าโรงงานที่ไนกี้จ้างผลิตรองเท้านั้นใช้แรงงานเด็กอย่างไม่เป็นธรรม ทางบริษัทจึงเริ่มกำหนดเกณฑ์ให้โรงงานที่รับจ้างผลิตมีมาตรฐานค่าแรง มีเวลาทำงาน และสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากในการควบคุมดูแล เพราะมีโรงงานที่รับจ้างผลิตสินค้าให้ไนกี้กว่า 700 แห่งใน 52 ประเทศทั่วโลก และมีแรงงานกว่า 800,000 คน แต่ไนกี้ก็ยังพยายามอย่างหนักในการแก้ปัญหานี้ด้วยการร่วมมือกับ Fair Labor Association ในการวางระบบการตรวจสอบและให้คะแนนโรงงาน พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการเปิดเผยชื่อและที่อยู่ของโรงงานทั่วโลก เพื่อให้คนทั่วไปร่วมตรวจสอบได้

นอกจากนี้ไนกี้ยังขยันพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งการผลิตรองเท้าโดยไม่ให้มีเศษวัสดุเหลือทิ้ง และไม่ใช้กาว เพื่อให้มีขยะที่เกิดในกระบวนการผลิตน้อยที่สุด, โครงการรับบริจาครองเท้ากีฬาเพื่อไปอัดบดสร้างพื้นสนามกีฬา, โปรเจกต์พัฒนานวัตกรรมเสื้อผ้ากีฬาที่ผลิตจากขวดพลาสติกรีไซเคิล รวมไปถึงการทำคลังดัชนีความยั่งยืนของวัสดุต่างๆ กว่า 75,000 ชนิดบน mobile app MAKING เพื่อให้นักออกแบบทั่วโลกได้ใช้ประโยชน์เพื่อความยั่งยืนกันแบบฟรีๆ อีกด้วย


ความยั่งยืนของธุรกิจคืออะไร

Starbucks เริ่มลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตั้งแต่กระบวนการปลูกกาแฟ โดยจับมือกับ Conservation International เพื่อหาวิธีการปลูกกาแฟที่ยั่งยืนที่สุด จนพบว่าแทนที่จะต้องตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเอาที่ดินมาปลูกต้นกาแฟ ก็เปลี่ยนเป็นการปลูกกาแฟใต้ต้นไม้หรือที่เรียกว่า ‘Shade grown coffee’ ซึ่งวิธีนี้ช่วยลดการบุกรุกป่าได้อย่างมหาศาล และนอกจากกระบวนการผลิตแล้ว Starbucks ยังใส่ใจชุมชนและซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบ หรือ Fair trade และยังออกกฎให้มีการดูแลเกษตรกรผู้ผลิตกาแฟสตาร์บัคส์ทุกคนให้ได้รับค่าจ้าง และสวัสดิการอย่างเป็นธรรม

นอกจากนี้ Starbucks ยังออกมาตรฐาน C.A.F.E. (Coffee and Farmer Equity) เพื่อกำหนดข้อบังคับในการปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนกว่า 200 ข้อ ภายใต้การรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เพื่อสร้างมาตรฐานการปลูกกาแฟแบบไม่ทำลายธรรมชาติให้เกิดขึ้นทั่วโลก และอยู่ต่อไปได้อย่างยั่งยืน


ข้อมูลโดย ป่าสาละ