ความเสี่ยงของการใช้งาน Social Media คืออะไร

เป็นที่รู้กันดีว่าในยุคปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก และสื่อดังกล่าวก็เปรียบเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ อย่างในกรณีที่มีการเผยแพร่เนื้อหาแสดงออกถึงความรุนแรง เช่น การทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือการถ่ายทอดสดแสดงการฆ่าตัวตาย เป็นต้น ล้วนเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข

ในส่วนของปัญหาการใช้สื่อสังคมออนไลน์และปัญหาการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์กันหรือไม่นั้น

แพทย์ระบุว่าการเผยแพร่ข้อความหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงรวมถึงการฆ่าตัวตาย ส่งผลโดยตรงในเรื่องของการเรียนรู้ในสังคม โดยเฉพาะอิทธิพลที่มีต่อเด็กและวัยรุ่นที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีทักษะการแก้ไขปัญหาที่ดีพอ อาจมีการเลียนแบบพฤติกรรมได้ เนื่องจากคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในเรื่องของการฆ่าตัวตายก็ต้องมีปัจจัยหลายอย่างร่วมด้วย นอกเหนือจากเลียนแบบพฤติกรรมตามเนื้อหาที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ โดยปัญหาที่เกิดมากที่สุดมักเกิดกับวัยรุ่นโดยเฉพาะ เนื่องจากความสามารถของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งชั่งใจยังพัฒนาได้ไม่เท่ากับด้านของอารมณ์ ทำให้ขาดความสามารถในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ในวัยรุ่นเองก็มีความเครียดที่ค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายด้าน ทั้งในด้านสรีระที่เปลี่ยนไป หรือในด้านความรับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นจากในวัยเด็ก รวมถึงเรื่องเพื่อนที่มีอิทธิพลต่อเด็กวัยนี้ค่อนข้างมาก เริ่มมีความรัก หรือมีความสนใจบางอย่างเป็นพิเศษ ส่งผลให้เกิดความเครียดและการแสดงออกทางพฤติกรรมได้ และการใช้สื่อสังคมออนไลน์ก็มีส่วนต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมค่อนข้างมาก

การดูแลเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์สำหรับเด็กวัยรุ่นคือ

ผู้ปกครองควรเฝ้าสังเกตอยู่ห่างๆ อาจใช้สื่อสังคมออนไลน์ร่วมกับเด็กแต่ไม่ควรแสดงตัวตนมากนัก เนื่องจากการแสดงตัวมากไปอาจทำให้เด็กถอยหนีซึ่งส่งผลต่อการควบคุมที่ยากขึ้น คอยสังเกตดูว่าเด็กมีความสนใจในด้านไหน กดไลค์เนื้อหาประเภทใด และคอยให้คำแนะนำตามความเหมาะสม รวมถึงผู้ปกครองควรกำหนดเงื่อนไขการใช้งานอินเตอร์เน็ตของเด็ก เพื่อควบคุมปริมาณการใช้งานไม่ให้มากจนเกินไปและส่งผลเสียในที่สุด

ในเรื่องของการถ่ายทอดสดฆ่าตัวตายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการเผยแพร่ข้อความที่เป็นสัญญาณในการฆ่าตัวตาย ที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากผลสำรวจพบว่ามีการฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือไม่ และพบว่าคนที่มีพฤติกรรมเผยแพร่เนื้อหาทำนองนี้ อาจเกิดจากแรงจูงใจบางอย่าง เช่น การได้รับคอมเมนต์ หรือการได้รับการกดไลค์ รวมถึงผู้เผยแพร่อาจมีอาการทางจิตเวชอย่างอื่นร่วมด้วย จึงส่งผลให้มีพฤติกรรมการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งภาวะที่น่าสนใจและควรทำความรู้จัก

เกี่ยวข้องกับการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์และอาการทางจิตเวชเรียกว่า Facebook Depression Syndrome หรือภาวะซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค ซึ่งจะมีลักษณะ ดังนี้

  1. มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเป็นจริงที่เป็นสุขของเพื่อนๆ ใน Facebook
  2. ตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ของกิจกรรมชีวิตประจำวันของผู้อื่น
  3. มักเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตของตนเองกับเพื่อนๆ อยู่เสมอ
  4. มักเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ของตนเองอยู่เสมอเพื่อเรียกร้องความสนใจ
  5. รู้สึกกระวนกระวายใจเมื่อไม่สามารถเช็คข้อความข่าวสาร หรือสถานะของตัวเองได้เหมือนที่ทำเป็นปกติ
  6. มักอัพเดทสถานะแบบดึงดูด หรือโพสต์บทความต่างๆ เช่น ข้อความขำขัน ข้อความแหลมคม

ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการดังกล่าวเป็นเพียงสัญญาณของการเกิดภาวะซึมเศร้าจากเฟสบุ๊ค แต่ยังไม่ใช่ผลวินิจฉัยทางโรคจิตเวช และผู้ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวอาจมีอาการป่วยทางจิตเวชอยู่แล้ว เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้วมาใช้งาน Facebook จึงมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงภาวะซึมเศร้า แต่อาจไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นจาก Facebook เสียทีเดียว

ในด้านของปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตนั้นยังมีความสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าด้วย รวมถึงอาการทางจิตเวชอื่นๆ เช่น วิตกกังวล ก้าวร้าวรุนแรง มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น แต่ยังไม่จัดว่าเป็นโรคเสียทีเดียว เพียงแต่ส่งผลให้มีบุคลิกในอีกรูปแบบหนึ่ง สืบเนื่องมาจากการเสพติดสื่อออนไลน์

การควบคุมปริมาณการฆ่าตัวตายที่เผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์

คนในครอบครัวคือบทบาทที่สำคัญที่สุด โดยการสอดส่องดูแลพฤติกรรมของคนในครอบครัว สังเกตว่านิสัยใจคอเปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร หรือมีอาการเก็บตัวหรือไม่ รวมถึงการเรียนถดถอยลงไหม ไปจนถึงพฤติกรรมการทานอาหาร การเข้านอน และที่สำคัญคือปริมาณการใช้สื่อออนไลน์ในปริมาณที่มากเกินไปหรือเปล่า

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อส่งผลด้านบวก

คือควรเลือกสื่อที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก เหมาะสมกับการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย และใช้ในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป รวมถึงพยายามดูแลคนในครอบครัวไม่ให้ละเลยความรับผิดชอบในภาระหน้าที่ต่างๆ อย่างการเรียนหรือการทำงานบ้าน อันเนื่องมาจากการเสพติดสื่อออนไลน์

 

ข้อมูลจาก
อ. นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “รายการพบหมอรามา | Big Story ปัญหาการใช้สื่อออนไลน์ของวัยรุ่นกับปัญหาสุขภาพจิต” ได้ที่นี่

YouTube: https://youtu.be/dhf5tCRVSKA

ฆ่าตัวตาย ติดโซเชียล ออนไลน์ สังคมออนไลน์ Facebook Depression Syndrome ภาวะซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ค สื่อสังคมออนไลน์

โซเชียลมีเดีย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันไปแล้ว การใช้โซเชียลมีเดียผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฟนมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเสพติดได้ (Social Addiction) ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ และยังเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า เครียด สมาธิสั้น และไบโพลาร์ได้

เสพติดโซเชียลมีเดียมากเกินไป ส่งผลกระทบอะไรบ้าง?

  • มีปฏิสัมพันธ์ลดลง บางเวลาควรวางโทรศัพท์ เพื่อสื่อสารกับคนตรงหน้ามากกว่า
  • เรียกร้องความสนใจ เช่น ต้องการจำนวน Like มากขึ้น จากการโพสต์
  • ไขว้เขวจากเป้าหมาย เพราะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเล่นโซเชียลทั้งวัน
  • ความสัมพันธ์ล้มเหลว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความหึงหวง ไม่ไว้ใจกัน และสิ้นสุดความสัมพันธ์
  • เจอนักเลงคีย์บอร์ด คำหยาบคาย คำด่า คำตำหนิต่างๆ
  • เกิดทุกข์กับการเปรียบเทียบ เกิดการเปรียบเทียบชีวิตหรือเรื่องราวของตนเองกับเพื่อนที่เจอบนโลกออนไลน์
  • นอนหลับยากขึ้น ส่งผลกระทบกับการนอนหลับ แนะนำไม่ควรเล่นโทรศัพท์ แท็บเล็ตก่อนนอน
  • ไม่มีความเป็นส่วนตัว ข้อมูลที่โพสต์อาจถูกค้นหาและจะคงอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตตลอดไป

ติดจอ ติดโซเชียล ติดแชท อาจป่วยโดยไม่รู้ตัว! เช็กตัวเอง รู้ก่อน เพื่อเตรียมรับมือ

  • ภาวะซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก (Facebook Depression)

เป็นโรคที่เกิดจากการใช้งานเฟซบุ๊ก สังคมหรือโลกในเฟซบุ๊ก เป็นพื้นที่ในการสร้างความเป็นจริงเทียม (Artificial Reality) ขึ้นมา จากการโพสต์หรือแชร์เรื่องดีๆ แต่เก็บเรื่องแย่ๆ เรื่องร้ายๆ ที่อยากปกปิดเอาไว้ในชีวิต เราจึงเห็นแต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบเต็มไปหมด เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง จึงเกิดความรู้สึกไร้ค่า และเป็นต้นเหตุของโรคซึมเศร้าจากเฟซบุ๊ก หรือ Facebook Depression Syndrome

คนที่ถูกเพื่อน ๆ ปฏิเสธหรือเป็นที่รังเกียจในโลกเฟซบุ๊กจะเป็นอันตรายมากกว่าถูกปฏิเสธในโลก แห่งความจริง และหลายรายอาจมีปัญหาซึมเศร้าตามมา การใช้เฟซบุ๊กมากเกินไป อาจกลายเป็นการบั่นทอนความสุขของตนเอง ดังนั้นวิธีการลดความเสี่ยงต่อการเป็นภาวะนี้คือ การงดหรือหลีกเลี่ยงการใช้เฟซบุ๊ก และปรับเวลาในการใช้งานให้น้อยลง

  • ละเมอแชท (Sleep Texting)

มีสาเหตุมาจากการติดมือถือมากเกินไป ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายเป็นโรคนี้จะไม่ปล่อยโทรศัพท์ไว้ห่างจากตัว จะมีอาการอยู่ในสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น และถูกกระตุ้นการตอบสนองของสมองด้วยการลุกขึ้นมาตอบกลับข้อความทันทีหลังจากได้ยินเสียงแจ้งเตือน หรือเมื่อมีการสั่นเตือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้นอนหลับไม่สนิท สะดุ้งตื่น พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมถึงระบบการทำงานต่างๆ ของร่ายกาย รู้สึกเหนื่อยง่าย ไม่มีแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ เกิดความเครียดสะสม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนอีกด้วย

  • วุ้นในตาเสื่อม (Eye Floaters)

ปัจจุบัน ภาวะวุ้นในตาเสื่อมไม่ได้เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังพบว่าเกิดขึ้นกับวัยทำงาน และคนที่อายุน้อยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้หน้าจอที่มากเกินไป โรควุ้นในตาเสื่อมเป็นภาวะที่มองเห็นจุดเล็กๆ ลอยผ่านไปมา โดยจะมีรูปร่างและขนาดที่แตกต่างกันไป  เช่น จุดดำเล็ก ๆ หรือวงใหญ่ ๆ คล้ายเมฆ ซึ่งผู้ป่วยอาจพบว่าเกิดเป็นจุดขนาดเล็กหลาย ๆ จุดพร้อมกัน หรือมีเพียงจุดขนาดใหญ่เกิดขึ้นเพียง 1 หรือ 2 จุด และจะสามารถสังเกตได้ชัดเจนเมื่อมองไปที่ที่มีพื้นหลังสีสว่าง

  • โนโมโฟเบีย (Nomophobia)

โรคกลัวไม่มีมือถือใช้ มาจากคำว่า no mobile phone phobia เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยโรคนี้ในกลุ่มวัยรุ่น สังเกตอาการว่าเราอาจเสี่ยงเป็นโรคนี้ คือ จะมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวายใจ เมื่อหามือถือไม่เจอ หรือไม่มีสัญญาณ internet หมกมุ่นอยู่กับการใช้มือถือเป็นประจำ ทั้งก่อนนอนและตื่นนอน ตื่นตัวทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงเตือน และต้องมีมือถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมหรือกิจวัตรประจำวันอะไรอยู่ก็ตาม ในบางรายจะมีความสนใจและให้ความสำคัญกับโลกออนไลน์มากกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง เกิดความเครียด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ

  • สมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone Face)

โรคสมาร์ทโฟนเฟซ (Smartphone face) หรือโรคหน้าแก่ก่อนวัย เกิดจากการที่เราก้มลงมองหน้าจอเป็นเวลานานเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อคอเกิดอาการเกร็งและไปเพิ่มแรงกดบริเวณแก้ม ผิวบริเวรลำคอหย่อนคล้อย เหี่ยวย่น หรือที่เรียกว่า “เหนียง” นั่นเอง

ขณะเล่นมือถือ ควรให้อยู่ในระดับสายตา ไม่ควรก้มหน้ามากเกินไป และจำกัดเวลาในการเล่นมือถือให้น้อยลง อีกทั้งยังเป็นการช่วยเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีกับคนรอบข้างอีกด้วย

ติดโซเชียลมากไป มาทำ Social Media Detox กันเถอะ!


ขอบคุณข้อมูลจาก: สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์, กรมสุขภาพจิต, ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.)