องค์ประกอบของสมรรถภาพทางกายมีกี่ด้าน อะไรบ้าง

ความหมายของสมรรถภาพ (physical fitness)

        คำว่า สมรรถภาพทางกาย   (physical fitness)   มีผู้ให้ความหมายไว้แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละยุคสมัยมีความต้องการเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายเพื่อวัตถุประสงค์อะไร  พอสรุปได้ดังนี้

         ในปี ค.ศ. 1967 Clarke (อ้างถึงใน สุวิมล, 2526ก : 101) ได้ให้ความหมายของสมรรถภาพทางกายว่า หมายถึง “ความสามารถของบุคคลในการทำงานต่างๆ ได้เป็นเวลานาน โดยไม่เหน็ดเหนื่อยก่อนกำหนด โดยมีองค์ประกอบสำคัญที่เป็นพื้นฐานของสมรรถภาพทางกายคือความแข็งแรง ความอดทนของกล้ามเนื้อ ความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ”
ค.ศ. 1969 Hart และ Shay (อ้างถึงใน สุพจน์, 2532 : 11) ได้กล่าวถึงความหมายของสมรรถภาพทางกายเอาไว้ว่า
. . .เป็นภาวะของร่างกายที่สามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง จะทราบได้จากการทดสอบซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ความแข็งแรง ความอดทน กำลัง ความเร็ว ความคล่องตัว ความอ่อนตัวและความสมดุล ถ้าบุคคลใดมีองค์ประกอบเหล่านี้อยู่ในระดับสูง ก็จะสามารถประกอบภารกิจประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ. . .
จอห์นสัน  และสโตรเบอร์ก  ( Johnson  and  Stolberg , 1971 : 9-10 )  กล่าวว่า  สมรรถภาพทางกายนั้นเป็นความสามารถในการประกอบกิจกรรมหนักๆ ได้เป็นอย่างดี  และรวมถึงคุณลักษณะต่างๆ ของการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ ได้แก่
1. สมรรถภาพของระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจ  (Cardio –Respiratory Fitness)
2. ความอดทน (Endurance)
3. ความแข็งแรง (Strength)
4. ความอ่อนตัว (Flexibililty)
5. สัดส่วนของร่างกายที่พอเหมาะ (Body Composition)
Nieman (1986 : 34) ได้ให้ความหมายของสมรรถภาพทางกายเอาไว้ว่าเป็นความสามารถในการเคลื่อนไหวที่มีการใช้พลังงาน มีความสำคัญไม่ใช่เฉพาะแต่การทำงานในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังรวมไปถึงการประกอบกิจกรรมในเวลาว่าง โดยไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและปราศจากอันตรายอีกทั้งเป็นการช่วยป้องกันโรคภัยต่างๆ ซึ่งจะทำให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
Ryan และ Fred (1989 : 494) ได้ให้ความหมายของสมรรถภาพทางกายไว้ว่า สมรรถภาพทางกาย หมายถึง ประสิทธิผลที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับการพัฒนาเป็นขั้นตอน โดยอาศัยการปฏิบัติทางด้านสุขภาพและการรับประทานอาหารที่เหมาะสม การพักผ่อน และการออกกำลังกาย สิ่งดังกล่าวนี้จะเป็นพื้นฐานในการป้องกัน การรักษา ตลอดทั้งการเสริมสร้างสมรรถภาพ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานและมีการบำรุงรักษาให้คงอยู่ตลอดไป
American College of  Sports medicine (1992 : 9) ได้กล่าวถึง สมรรถภาพทางกายเอาไว้ว่า สมรรถภาพทางกายเป็นความสามารถในการพยายามทำงานที่หนัก โดยปราศจากความเหน็ดเหนื่อยเกินไป บุคคลใดมีสมรรถภาพทางกายดี  มีพลังก็ไม่สามารถทำงานได้สมบูรณ์ แต่จะต้องรวมไปถึงความสามารถในการเข้าร่วมกิจกรรมนอกบ้านหรือที่ทำงานด้วย

นักการศึกษาและนักพลศึกษาของไทยหลายท่าน  กล่าวไว้ ดังนี้

เจริญทัศน์ จินตนเสรี (2521 : 5) กล่าวเอาไว้ว่า
. . .สมรรถภาพทางกายหมายถึงความสามารถของร่างกายในการปฏิบัติหน้าที่ประจำวัน ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีความเหน็ดเหนื่อย อ่อนแอจนเกินไปสามารถสงวนและถนอมกำลังไว้ใช้ในยามฉุกเฉินและเวลาว่าง เพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงในชีวิตของตนเองด้วย. . .
สุวิมล ตั้งสัจพจน์ (2526ก : 101) ได้กล่าวถึงสมรรถภาพทางกายเอาไว้ว่า “สมรรถภาพ    ทางกาย หมายถึง ความสามารถในการทำงานต่างๆ ได้เป็นเวลานาน โดยไม่เหน็ดเหนื่อยก่อนกำหนด และร่างกายสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น”
วรศักดิ์ เพียรชอบ (2527 : 98) ได้ให้ความหมายของสมรรถภาพทางกายเอาไว้ว่า
. . .เป็นความสามารถของร่างกายในการที่จะในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ในชีวิตประจำวัน    ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีความเหน็ดเหนื่อยจนเกินไป และสามารถสงวนและถนอมกำลังไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน และใช้เวลาว่างเพื่อความสนุกสนานและความบันเทิงในชีวิตของตนเองด้วย. . .
วิริยา บุญชัย (2529 : 4) ได้กล่าวถึงสมรรถภาพทางกายเอาไว้ว่า
. . .เป็นความสามารถของบุคคลในการที่จะปฏิบัติกิจกรรมโดยไม่รู้สึกเหนื่อยและสมรรถภาพทางกายนั้น มีองค์ประกอบ คือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความอดทนของกล้ามเนื้อ กำลังของกล้ามเนื้อ ความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ สมรรถภาพของหัวใจและหลอดเลือด และการประสานงานของกล้ามเนื้อ. . .
จรวยพร ธรณินทร์ (2534 : 6) ให้ความหมายของสมรรถภาพทางกายเอาไว้ว่า
. . .สมรรถภาพทางกาย หมายถึง ความสามารถในการทำงานและเคลื่อนไหวของร่างกายได้ยาวนาน ไม่เหนื่อยง่าย ซึ่งสมรรถภาพทางกายประกอบด้วยความแข็งแรง ความอดทน ความอ่อนตัว ความคล่องตัว พละกำลัง และความสมดุลของกล้ามเนื้อ. . .
อุทัย  สงวนพงศ์  ( 2547 : 35) ได้กล่าวถึง ความหมายของสมรรถภาพทางกาย หมายถึง ความสามารถของร่างกายที่จะประกอบกิจกรรมหรือทำงานได้เป็นระยะเวลานาน ๆ ติดต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ จากความหมายที่กล่าวมาข้างต้นพอจะสรุปได้ว่า สมรรถภาพทางกาย หมายถึงความสามารถของร่างกายในการประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่หนักเป็นระยะเวลาติดต่อกันที่ยาวนานโดยไม่เหน็ดเหนื่อยก่อนกำหนด รวมทั้งร่างกายสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเนื่องจากองค์ประกอบของสมรรถภาพคือ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความอดทนของกล้ามเนื้อ กำลังของกล้ามเนื้อ ความอ่อนตัวของกล้ามเนื้อ สมรรถภาพของหัวใจและหลอดเลือด ความแคล่วคล่องว่องไว ความเร็ว และการประสานงานของประสาทและกล้ามเนื้อ

องค์ประกอบของสมรรถภาพทางกายมีกี่ด้าน อะไรบ้าง
องค์ประกอบของสมรรถภาพทางกายมีกี่ด้าน อะไรบ้าง

                    สมรรถภาพทางกาย เป็นความสามารถของระบบต่างๆในร่างกายประกอบด้วย ความสามารถเชิงสรีรวิทยาด้านต่างๆ ที่ช่วยป้องกันบุคคลจากโรคที่มีสาเหตุจากภาวะการขาดการออกกำลังกาย นับเป็นปัจจัยหรือตัวบ่งชี้สำคัญของการมีสุขภาพดี ความสามารถหรือสมรรถนะเหล่านี้ สามารถปรับปรุงพัฒนาและคงสภาพได้ โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพมีองค์ประกอบ ดังนี้
1.องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition) ตามปกติแล้วในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย กล้ามเนื้อ กระดูก ไขมัน และ ส่วนอื่นๆ แต่ในส่วนของสมรรถภาพทางกายนั้น หมายถึง สัดส่วนปริมาณไขมันในร่างกายกับมวลร่างกายที่ปราศจากไขมัน โดยการวัดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ไขมัน (% fat)
2.ความอดทนของระบบไหลเวียนเลือด (Cardiorespiratory Endurance) หมายถึง สมรรถนะเชิงปฏิบัติของระบบไหลเวียนเลือด (หัวใจ หลอดเลือด) และระบบหายใจในการลำเลียงออกซิเจนไปยังเซลล์กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายสามารถยืนหยัดที่จะทำงานหรือออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เป็นระยะเวลายาวนานได้
3.ความอ่อนตัวหรือความยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง พิสัยของการเคลื่อนไหวสูงสุดเท่าที่จะทำได้ของข้อต่อหรือกลุ่มข้อต่อ
4.ความอดทนของกล้ามเนื้อ (Muscular Endurance) หมายถึง ความสามารถของกล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มกล้ามเนื้อ ในการหดตัวซ้ำๆ เพื่อต้านแรงหรือความสามารถในการหดตัวครั้งเดียวได้เป็นระยะเวลายาวนาน
5.ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscular Strength) หมายถึง ปริมาณสูงสุดของแรงที่กล้ามเนื้อมัดใดมัดหนึ่งหรือกลุ่มกล้ามเนื้อสามารถออกแรงต้านทานได้ ในช่วงการหดตัว 1 ครั้ง

สมรรถภาพทางกลไก ( Motor Fitness) หรือ สมรรถภาพเชิงทักษะปฏิบัติ(Skill – Related Physical Fitness)
           ความสามารถของร่างกายที่ช่วยให้บุคคลสามารถประกอบกิจกรรมทางกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นกีฬาได้ดี มีองค์ประกอบ 6 ด้าน ดังนี้
1. ความคล่อง ( Agility) หมายถึง ความสามารถในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและสามารถควบคุมได้
2. การทรงตัว ( Balance) หมายถึง ความสามารถในการรักษาดุลของร่างกายเอาไว้ได้ทั้งในขณะอยู่กับที่และเคลื่อนที่
3. การประสานสัมพันธ์ ( Co-ordination) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น กลมกลืน และ มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการทำงานประสารสอดคล้องระหว่างตา-มือ-เท้า
4. พลังกล้ามเนื้อ (Power) หมายถึง ความสามารถของกล้ามเนื้อส่วนหนึ่งส่วนใดหรือหลายๆ ส่วนของร่างกายในการหดตัวเพื่อทำงานด้วยความเร็วสูง แรงหรืองานที่ได้เป็นผลรวมของความแข็งแรงและความเร็วที่ใช้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น การยืนอยู่กับที่ กระโดดไกล การทุ่มน้ำหนัก เป็นต้น
5. เวลาปฏิกิริยาตอบสนอง ( Reaction time) หมายถึง ระยะเวลาที่ร่างกายใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น แสง เสียง สัมผัส
6. ความเร็ว (Speed) หมายถึง ความสามารถในการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็ว

หลักการในการออกกำลังกาย
1. ปริมาณในการฝึก ( Volume)
2. ความหนักในการฝึก ( Intensity)
3.ความบ่อยครั้ง/ ความถี่ในการฝึก ( Frequency)
4. ระยะเวลาในการฝึก ( Duration)
5. ระยะเวลาในการพักฟื้นสภาพร่างกาย ( Recovery)
6. รูปแบบในการฝึก ( Pattern of Exercise)

องค์ประกอบของสมรรถภาพทางกายมีกี่ด้าน อะไรบ้าง


ที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/health_related_physical_fitness/index.html

องค์ประกอบของสมรรถภาพทางกายมีกี่ด้าน อะไรบ้าง