สมมติฐานของนักวิทยาศาสตร์กับของคนทั่วๆ

สมมุติฐานการวิจัย

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรางคณา  จันทร์คง

        ในการดำเนินการวิจัย   “สมมุติฐาน” (hypothesis)  เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก  เนื่องจากการวิจัยเป็นกระบวนการแก้ปัญหาหรือค้นหาคำตอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งจะเริ่มต้นโดยการกำหนดปัญหา จากนั้นจะพยายามคาดคะเนคำตอบของปัญหานั้น  การคาดคะเนคำตอบก็คือสมมุติฐาน  ดังนั้นสมมุติฐานการวิจัย  คือ  คำตอบหรือข้อสรุปของผลการวิจัยที่ผู้วิจัยคาดการณ์ หรือคาดคะเนไว้ล่วงหน้าอย่างมีเหตุและผล  โดยอาศัยรากฐานของแนวคิดทฤษฎี    ผลการศึกษาค้นคว้า  ผลการวิจัยรวมถึงประสบการณ์ของผู้วิจัยเอง  ซึ่งสมมุติฐานนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการค้นคว้า  ตลอดจนเป็นแนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลว่าสิ่งที่ผู้วิจัยศึกษาอยู่นั้นเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่  ทั้งนี้สมมุติฐานที่ตั้งไว้อาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงตามที่ผู้วิจัยคาดคะเนก็ได้  ขึ้นอยู่กับการทดสอบสมมุติฐานโดยอาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้และวิธีการทางสถิติ 
ประเภทของสมมุติฐาน
        สมมุติฐานแบ่งออกได้เป็น  2 ประเภท คือ
        1. สมมุติฐานการวิจัย (research  hypothesis) เป็นสมมุติฐานที่เขียนอยู่ในรูปของข้อความที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรที่ศึกษากับคำตอบที่ผู้วิจัยคาดคะเนโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายสามารถสื่อความหมายได้โดยตรง 
        2. สมมุติฐานทางสถิติ(statistical  hypothesis) เป็นสมมุติฐานที่เปลี่ยนรูปมาจากสมมุติฐานการวิจัย โดยใช้สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่แทนคุณลักษณะเกี่ยวกับค่าพารามิเตอร์ของประชากร  (population  parameter) มาเขียนอธิบายความสัมพันธ์ของตัวแปร  สมมุติฐานทางสถิติจะประกอบด้วย  2  ลักษณะ  ควบคู่ไปเสมอ  คือ
                2.1 สมมุติฐานว่าง หรือสมมุติฐานหลัก (null hypothesis) แทนสัญลักษณ์ด้วย Ho เป็นสมมุติฐานแสดงข้อความที่เป็นกลาง โดยระบุถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรว่าเท่ากัน  ไม่แตกต่างกันหรือไม่มีความสัมพันธ์กัน
                2.2 สมมุติฐานทางเลือกหรือสมมุติฐานรอง (alternative  hypothesis)  แทนสัญลักษณ์ด้วย H1 หรือ Ha เป็นสมมุติฐานแตกต่างหรือตรงข้ามกับสมมุติฐานหลัก  โดยระบุถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรว่าไม่เท่ากัน  แตกต่างกัน   มากกว่า  น้อยกว่า  หรือมีความสัมพันธ์กัน 
        วิธีการตั้งสมมุติฐาน 
        สมมุติฐานเป็นการคาดคะเนคำตอบของปัญหาที่ทำการศึกษา  ดังนั้นการตั้งสมมุติฐานจึงต้องเริ่มคิดก่อนว่าจะมีจุดมุ่งหมายอย่างไร  แล้วจึงตั้งสมมุติฐานขึ้น 
สำหรับวิธีการตั้งสมมุติฐานมี  2 ลักษณะ คือ 
        1. สมมุติฐานแบบมีทิศทาง (directional  hypothesis) เป็นการเขียนโดยระบุทิศทางของความสัมพันธ์ของตัวแปรว่าสัมพันธ์ในทางใด  หรือถ้าเป็นการเปรียบเทียบก็สามารถระบุถึงทิศทางของความแตกต่างได้ เช่น มากกว่า  น้อยกว่า  มีความสัมพันธ์ทางบวก ทางลบ เช่น
Ho       :    rAB   =   0
H1       :    rAB   >   0
        2. สมมุติฐานแบบไม่มีทิศทาง (nondirectional   hypothesis) เป็นการเขียนที่ไม่ได้ระบุทิศทางของความสัมพันธ์ของตัวแปรหรือทิศทางของความแตกต่างเพียงแต่ระบุว่ามีความสัมพันธ์กันหรือ    แตกต่างกันเท่านั้น  เช่น
Ho      :   mA   =   mB
H1      :   mA   ¹  mB
        ในการตั้งสมมุติฐานอาจจะตั้งแบบมีทิศทางหรือไม่มีทิศทางก็ได้  ขึ้นอยู่กับผู้วิจัยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ศึกษามากน้อยเพียงใด  ถ้ามีข้อมูลมากพอที่จะยืนยัน ก็ตั้งแบบมีทิศทาง ถ้าข้อมูลไม่พอหรือไม่แน่ใจก็ตั้งแบบไม่มีทิศทาง 
แหล่งของสมมุติฐาน 
        การตั้งสมมุติฐานจะต้องตั้งอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งผู้วิจัยจะต้องอาศัยที่มาของสมมุติฐานจากหลายทางดังนี้ 
        1. ทฤษฎีต่างๆ ซึ่งเป็นเนื้อหาของแขนงวิชานั้นๆ ผู้วิจัยจะต้องทำการศึกษาและทำความเข้าใจในทฤษฎีและเนื้อหาเหล่านั้น ในอันที่จะช่วยให้การกำหนดปัญหาและการตั้งสมมุติฐานได้เป็นอย่างดี และทำให้การวิจัยมีหลัก  ได้ข้อค้นพบที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
        2. ข้อค้นพบจากการวิจัยที่มีผู้ทำมาแล้ว  ซึ่งข้อค้นพบต่างๆ จะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถนำไปใช้ในการตั้งสมมุติฐานได้ 
        3. ความเชื่อทั่วๆ ไป ของสังคมและหลักความจริงที่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป  
        4. ประสบการณ์ตรงของผู้วิจัยเอง ซึ่งผู้วิจัยเองอาจเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ ในเรื่องนั้นเป็นอย่างดี  อีกทั้งอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยได้ทำงานคลุกคลีกับเรื่องนั้นมาตลอด
        5. ผู้รู้หรือผู้ที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะ ซึ่งคำกล่าวหรือข้อคิดเห็นของบุคคลเหล่านั้น  สามารถนำมาใช้ในการตั้งสมมุติฐานได้ 
        6. การสังเกตพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงการได้มีการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ และแนวโน้มของพฤติกรรมหรือเหตุการณ์นั้นๆ ก็จะสามารถใช้เป็นแนวทางในการตั้งสมมุติฐานได้

        ลักษณะของสมมุติฐานที่ดี 
        สมมุติฐานที่ดีควรมีลักษณะดังนี้ 
        1. สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของการวิจัย  จุดมุ่งหมายต้องการศึกษาอะไร  สมมุติฐานก็ควรตั้งให้อยู่ในลักษณะแนวทางเดียวกัน 
        2. ต้องตอบคำถามได้ครอบคลุมปัญหาทุกๆ ด้านที่ศึกษา   โดยระบุความสัมพันธ์ของ
ตัวแปรที่สนใจในรูปของความแตกต่าง  มากกว่า น้อยกว่าหรือสัมพันธ์กัน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า
เป็นจริงหรือไม่ 
        3. สามารถทดสอบได้ด้วยข้อมูลและวิธีการทางสถิติ 
        4. ใช้ภาษาที่ชัดเจน  เข้าใจง่าย  รัดกุม
        5. สมมุติฐานแต่ละข้อควรตอบคำถามเพียงข้อเดียวหรือประเด็นเดียว  หากมีตัวแปรที่จะต้องศึกษาหลายตัว ควรแยกเป็นสมมุติฐานย่อยแต่ละข้อ  เพราะจะสามารถสรุปการยอมรับหรือปฏิเสธสมมุติฐานได้ชัดเจน
        6. สมเหตุสมผลตามทฤษฎี  หลักการและเหตุผล  สภาพที่เป็นจริงที่ยอมรับกันทั่วไป


------------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง

ปาจรีย์ ผลประเสริฐ. (2549). วิจัยทางธุรกิจ. กำแพงเพชร: คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร.
พวงรัตน์  ทวีรัตน์. (2543). วิธีการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่  8). กรุงเทพฯ: เจริญผล.
ภัทรา  นิคมานนท์. (2544). การวิจัยทางการศึกษาและสังคมศาสตร์.กรุงเทพฯ: อักษราพัฒน์.
สนม  ครุฑเมือง. (2550). การเขียนเชิงวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. นครสวรรค์: นิวเสรีนคร.
Cooper, D.R. & Schindler P.S. (2003). Business  research methods. (8th ed.). New York: McGraw-Hill.
Ghauri, P. & Gronhaug  K. (2002). Research methods in business studies (2nd ed.).  New York: Pearson education.