กลยุทธ์การตลาดมุ่งเฉพาะส่วน

    การเลือกตลาดเป้าหมาย หมายถึง การประเมินและเลือกตลาดในส่วนใดส่วนหนึ่งหรือมากกว่า หรือทั้งหมด จากที่ได้ทำการแบ่งส่วนตลาดไปแล้ว ซึ่งเป็นวิธีการกำหนดความแตกต่าง แต่ละส่วนตลาด (Market Segment) เพื่อให้เป็นตลาดเป้าหมายที่ชัดเจนและใช้ส่วนประสมทางการตลาดกับส่วนที่เลือกนั้น

    ตลาดเป้าหมาย (Target Market หรือ Target Group) หมายถึง กลุ่มผู้บริโภคหรือส่วนตลาดที่นักการตลาดสนใจและเลือกที่จะเข้าไปดำเนินกิจกรรมทางการตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนั้นๆ การเลือกตลาดเป้าหมายมี 2 ขั้นตอน คือ

    1.การประเมินส่วนตลาด (Evaluating the Market Segment)

        เป็นการประเมินค่าของตลาดแต่ละส่วน เพื่อนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเลือกส่วนตลาดที่เหมาะสม ซึ่งนักการตลาดต้องศึกษาส่วนตลาด 3 ส่วน ดังนี้

        1.1ขนาดของส่วนตลาดและอัตราการขยายตัว

        1.2โครงสร้างความน่าสนใจของส่วนตลาด

        1.3วัตถุประสงค์และทรัพยากรของบริษัท

    2.การเลือกส่วนตลาด (Selecting the Market Segment)

        หลังจากที่ปประเมินค่าส่วนตลาดแล้วอาจพบว่ามีส่วนตลาดที่ควรกำหนดเป็นเป้าหมายมากกว่าหนึ่งส่วนตลาด จึงเลือกส่วนที่มีความเหมาะสมเป็นตลาดเป้าหมายโดยวิธีเลือกดังนี้

        2.1การตลาดแบบไม่แตกต่าง หรือการตลาดที่เหมือนกัน (Undifferentiated Marketing)

                การเลือกตลาดแบบไม่แตกต่างนี้ จะสามารถช่วยประหยัดต้นทุนการดำเนินงานเนื่องจากใช้หลักการผลิตสินค้ารูปแบบเดียวกันในปริมาณมาก ทำให้ลดต้นทุนการผลิต ลดค่าโฆษณาและค่าใช้จ่ายในการวางแผนการตลาด สรุปกลยุทธ์ที่ใช้มี ดังนี้

                1.การเลือกตลาดรวมเป็นตลาดเป้าหมายเพียงตลาดเดียว โดยถือว่าตลาดมีความต้องการที่คล้ายกันหรือไม่แตกต่างกัน

                2.ใช้ส่วนประสมทางการตลาด 1 ชุด ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าจำนวนมาก

                3.มุ่งความสำคัญที่การผลิต ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดของการผลิต นิยมใช้ในการแบ่งส่วนตลาดสำหรับสินค้าหรือบริการขั้นพื้นฐานในการครองชีพของผู้บริโภค เช่น ข้าวสาร เกลือ น้ำตาล เป็นต้น

        2.2การตลาดแบบแตกต่าง หรือก่ีคลาดมุ่งต่างส่วน (Differentiated Marketing)

                การเลือกตลาดแบบแตกต่างนี้ จะสามารถสร้างความพึงพอใจและสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มาก ส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างยอดขายได้มากในทุกๆ ส่วนของตลาด แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดคือ ต้องใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง เช่น ต้นทุนเกี่ยวกับสินค้าคงคลัง และต้นทุนการส่งเสริมการตลาด เป็นต้น สรุปกลยุทธ์ที่ใช้มีดังนี้

                1.ใช้กลยุทธ์การตลาดมุ่งหมายส่วน

                2.เป็นการเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน เพื่อสนองความต้องการในแต่ละส่วนตลาดที่เลือกเป็นเป้าหมาย

        2.3การตลาดแบบมุ่งตลาดส่วนเดียว หรือการตลาดมุ่งเฉพาะส่วน (Concentrated Marketing)

                การเลือกตลาดแบบมุ่งตลาดส่วนเดียวนี้ ธุรกิจจะพบกับความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายเพียงส่วนเดียว เช่น มีบริษัทอื่นที่มีความเข้มแข็งทางด้านการเงินและมีความสามารถที่จะทุ่มการส่งเสริมการตลาดเข้ามาเป็นคู่แข่งขัน หากธุรกิจมีข้อจำกัดทางด้านเงินทุนอาจต้องเป็นฝ่ายเสียส่วนครองตลาดไปได้ เป็นต้น สรุปกลยุทธ์ที่ใช้มีดังนี้

                (1) เป็นการเลือกตลาดเป้าหมายเพียงส่วนเดียวจากตลาดรวม

                (2) ใช้ส่วนประสมทางการตลาด 1 ชุด ที่สามารถสนองความต้องการในส่วนตลาดที่เลือก