จงบอกความแตกต่างระหว่างเศรษฐศาสตร์กับบริหารธุรกิจมาสัก 3 ข้อ

ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ

            เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษาถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ มากมายดังต่อไปนี้

                     1.  เศรษฐศาสตร์สัมพันธ์กับรัฐศาสตร์ การเมือง และกฎหมายอย่างใกล้ชิด ในสมัยก่อนเรียกวิชาเศรษฐศาสตร์ว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” เพราะการค้าเป็นกิจกรรมต่าง ๆ มักถูกรัฐบาลเข้าแทรกแซงเสมอ แม้กระทั่งในปัจจุบันก็เช่นกัน และมีความสัมพันธ์กับกฎหมายในแง่ที่ว่าการออกกฎหมายบางเรื่องอาจเกิดขึ้นจากการพยายามที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายการค้ากำไรเกินควร กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น

                    2.  เศรษฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กับการบริหารธุรกิจอย่างมาก เพราะในการตัดสินใจของนักธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการเลือกโครงการลงทุน การกำหนดปริมาณการผลิตและกำหนดราคาสินค้า จำเป็นต้องอาศัยหลักเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์เข้าช่วยในการตัดสินใจ รวมทั้งต้องเข้าใจถึงระบบเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจ เพราะจะมีผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรง

                     3. เศรษฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กับหลักจิตวิทยา เพราะพฤติกรรมของมนุษย์ในการตัดสินปัญหาเศรษฐกิจ ต้องคำนึงถึงหลักจิตวิทยาด้วย เช่น การตั้งราคาสินค้าให้ลงท้ายด้วย 9 199 299399 เป็นต้น เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้ามีราคาถูกโดยเฉพาะ เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง หรือการมีของแถมให้กับผู้บริโภคถ้าซื้อปริมาณมาก เป็นต้น

                    4. เศรษฐศาสตร์กับภูมิศาสตร์ การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ต้องเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากร ดิน ฟ้า อากาศ ตลอดจนที่ตั้งของหน่วยเศรษฐกิจหรือประเทศต่าง ๆ ดังนั้นความรู้ทางภูมิศาสตร์จึงสามารถช่วยให้นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ปัญหาการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น และทรัพยากรธรรมชาติจะมีความเกี่ยวข้องกับความรู้ทางภูมิศาสตร์มาก

                    5.  เศรษฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์ การอาศัยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เป็นสิ่งช่วยอธิบายหรือคาดคะเนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อาจเป็นสิ่งเตือนใจให้นักเศรษฐศาสตร์ระลึกว่า ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะมีสิ่งใดเกิดตามมาเพื่อจะได้รับเหตุการณ์นั้นได้ดียิ่งขึ้น

                    6.  เศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ การออกกฎหมายบางอย่างหรือโดยบางประเทศอาจมีส่วนจำกัดหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจ เช่น กฎหมายสงวนอาชีพบางอย่าง หรือแม้แต่การตรากฎหมายภาษีอากร กฎหมายการค้า กฎหมายส่งเสริมการลงทุน การกำหนดอาณาเขตไมล์ทะเลระหว่างประเทศ เป็นต้น มีส่วนกระทบกระเทือนถึงการดำเนินการทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้องในทำนองเดียวกัน การจะออกกฎหมายอะไรอาจต้องคำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจว่าเมื่อออกกฎหมายแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนถึงประชาชนมากน้อยแค่ไหน

                    7.  เศรษฐศาสตร์กับจริยศาสตร์ เนื่องจากศาสนามีอิทธิพลเหนือการกระทำของคนมานานแล้ว บทบัญญัติทุกศาสนาล้วนแต่สอนให้บุคคลมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มิให้เอารัดเอาเปรียบกัน สอนให้คนละเว้นความโลภ ถ้าจะมองในเชิงเศรษฐศาสตร์ หมายความว่า ศาสนาประณามการเอารัดเอาเปรียบกันในการค้าขาย เช่น การค้ากำไรเกินควร การปลอมแปลงสินค้าการให้กู้ยืมโดยเรียกดอกเบี้ยสูง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการทำนาบนหลังคนแบบหนึ่ง และเป็นผลเสียแก่เศรษฐกิจส่วนรวม

ในปัจจุบัน ยังมีการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ประยุกต์เข้ากับโครงการทางวิศวกรรม ซึ่งจะเรียกชื่อว่าเศรษฐศาสตร์วิศวกรรม ประยุกต์เข้ากับโครงการอุตสาหกรรม เรียกชื่อว่าเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม ประยุกต์เข้ากับโครงการทางสาธารณสุขเรียกชื่อว่าเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข รวมทั้งประยุกต์เข้ากับโครงการทางแพทย์เรียกชื่อว่าเศรษฐศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น

             กล่าวโดยสรุปได้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์มิใช่วิชาที่โดดเดี่ยว ผู้ที่ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ดี และสามารถนำเอาความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ให้เกิดผล จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจศาสตร์อื่น ๆ ในส่วนที่อยู่เคียงข้างเศรษฐศาสตร์ด้วยในทำนองเดียวกันนักศึกษาของศาสตร์อื่นใดก็ตามจะได้ประโยชน์อย่างมากถ้าหากได้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชานั้น ๆ ด้วยในทำนองเดียวกัน การจะออกกฎหมายอะไรอาจต้องคำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจว่าเมื่อออกกฎหมายแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนถึงประชาชนมากน้อยแค่ไหน

สรุป

               วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อนำมาผลิตสินค้าและบริการให้ได้มากที่สุด เพื่อนำมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มีมาช้านานแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 โดยสอดแทรกอยู่ในความเชื่อถือและปรัชญา ต่อมาจึงได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนรู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะเป็นหลักการที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และรัฐบาล เศรษฐศาสตร์มี 2 แขนง ได้แก่ เศรษฐศาสตร์จุลภาค ซึ่งเป็นการศึกษาถึงระบบเศรษฐกิจส่วนย่อยๆแต่ละบุคคล เช่น การผลิต การจำหน่าย การซื้อขายแลกเปลี่ยนในแต่ละวัน และเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งเป็นการศึกษาถึงระบบเศรษฐกิจส่วนรวมระดับประเทศ เช่น การศึกษารายได้ประชาชาติ คือศึกษาถึงรายได้ของประชาชนทั่วประเทศ หรือ ศึกษาถึงภาวะการลงทุน การว่างงาน ภาวะการเงินต่าง ๆ นอกจากนั้นเศรษฐศาสตร์ยังมีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น ๆ เช่น บริหารธุรกิจ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ จิตวิทยา ดังนั้น การศึกษาเศรษฐศาสตร์จึงทำให้เข้าใจถึงระบบเศรษฐกิจ ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ปัจจัยการผลิตสินค้า เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด