การศึกษาเศรษฐศาสตร์จุลภาค

ประเภทวิชาเศรษฐศาสตร์ 

            ใน ค.ศ.1936 จอห์น เมนาร์ดเคนส์ (John Maynard Keynes) ได้พิมพ์หนังสือ The General Theory of Employment Interest and Money ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์มหภาคที่สมบูรณ์เล่มแรกของโลก จึงมีแนวคิดว่าควรจะมีการแบ่งขอบเขตของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 ส่วน คือ “เศรษฐศาสตร์มหภาค” (Macro-Economics) และ “เศรษฐศาสตร์จุลภาค” (Micro-Economics) 

            เศรษฐศาสตร์มหภาค คือ การศึกษาเศรษฐกิจของทั้งระบบ ได้แก่ รายได้ประชาชาติ ระดับราคาสินค้าและบริการทั้งหมดโดยทั่วไป ความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ การบริโภค การออมและการลงทุน ระดับการจ้างงานโดยทั่วไป การใช้จ่ายของรัฐบาล การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศหรือการศึกษาภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวมทั้งระบบเศรษฐกิจหรือทั้งประเทศ เช่น ศึกษาการบริโภค การออม การลงทุน การจ้างงาน รายได้ประชาชาติ การใช้จ่ายของรัฐบาล การค้าระหว่างประเทศ และการชำระเงินระหว่างประเทศ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเกี่ยวกับรายได้ประชาชาติ และการจ้างงานบางครั้งจึงเรียกว่า “ทฤษฎีรายได้และการจ้างงาน” (Income and Employment Theory)

            เศรษฐศาสตร์จุลภาค (Micro - Economics) เป็นการศึกษาเศรษฐกิจของหน่วยย่อย เช่นการกำหนดราคาของสินค้าแต่ละชนิด ต้นทุน และปริมาณการผลิตของสินค้าแต่ละชนิด หรือแต่ละอุตสาหกรรมในตลาดสินค้าแบบต่างๆ การกำหนดราคาของปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เป็นต้น(วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, 2551 : 7)หรือการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของส่วนย่อย ๆ ในสังคม เช่น การศึกษาการผลิตของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งว่าจะผลิตสินค้าและบริการจำนวนเท่าใด กำหนดราคาขายอย่างไรจึงจะได้กำไรสูงสุด ศึกษาการบริโภคของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งว่าจะบริโภคสินค้าและบริการอย่างไรจึงจะได้รับความพอใจสูงสุดศึกษาการลงทุนของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นต้น นักเศรษฐศาสตร์บางท่านเรียกเศรษฐศาสตร์จุลภาคอีกชื่อหนึ่ง คือ “ทฤษฎีราคา” (Price Theory)

            มีผู้พยายามชี้ให้เห็นภาพของความแตกต่างของเศรษฐศาสตร์จุลภาคและเศรษฐศาสตร์มหภาคไว้ว่า “การศึกษาเศรษฐศาสตร์จุลภาคเปรียบเหมือนการสำรวจต้นไม้แต่ละต้น แต่เศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นการวิเคราะห์ป่าทั้งป่า หรือการศึกษาเศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็นการมองภาพผ่านกล้องจุลทรรศน์ในขณะที่เศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นการมองผ่านกล้องโทรทัศน์”

             ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในการค้า กฎหมาย การเมืองและการปกครอง ย่อมมีส่วนสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจอยู่มาก สำหรับผู้ที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยตรงก็ย่อมใช้ความรู้ของตนประกอบอาชีพได้มีงานมากมายที่ต้องอาศัยความสามารถของนักเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะดังที่กล่าวมาแล้วว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของบุคคลทั่วไป ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในฐานะอะไร ดังนั้น การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ย่อมจะให้ประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้เข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในฐานะผู้บริโภค ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประมาณการและวางแผนการใช้จ่ายของครอบครัวเพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้รับความสุขสบายมากที่สุด เช่น ช่วยในการตัดสินใจว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ควรเลือกซื้อสินค้าชนิดใดบ้าง และควรเก็บออมไว้เท่าใดจึงจะทำให้ครอบครัวได้รับความพอใจสูงสุด ในฐานะผู้ผลิต ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับการค้าและการลงทุน เช่น ควรลงทุนในกิจการใดเมื่อใด หรือควรจะผลิตสินค้าชนิดใดในปริมาณและราคาเท่าใด หรือควรเลือกใช้เทคนิคการผลิตอย่างไร จึงจะเสียต้นทุนต่ำที่สุดและได้รับกำไรสูงสุด ในฐานะบุคคลทั่วไปที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินและแรงงานที่สามารถนำไปใช้ผลิตสินค้าและบริการได้หลาย ๆ ชนิด ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยในการตัดสินใจว่า ควรจัดสรรทรัพย์สินและแรงงานไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการใดจึงจะได้รับผลตอบแทนสูงสุด เช่น คนงานควรเลือกทำงานอะไรดี ทำกี่ชั่วโมง พักผ่อนกี่ชั่วโมง จึงจะมีรายได้สูงสุดโดยไม่ทำให้สุขภาพทรุดโทรม เจ้าของเงินทุนควรนำเงินออกให้กู้ยืมหรือฝากธนาคาร เจ้าของที่ดินควรนำที่ดินไปใช้สร้างตึกแถวหรือสร้างบ้านให้เช่าจึงจะได้ค่าเช่าสูงสุด เป็นต้น นอกจากนี้ ในฐานะผู้บริหารประเทศหรือรัฐบาลความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้เข้าใจปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศตลอดจนรู้ถึงแนวทางที่จะแก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้ถูกต้อง ทั้งยังมีส่วนช่วยในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจตลอดจนการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเหมาะสม เช่น เมื่อรัฐบาลรู้ถึงปัญหาความยากจนในชนบท ทำให้รัฐบาลรู้ว่าควรแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร

            อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปแต่การที่จะนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ให้ได้ผล จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในขณะนั้นด้วย เช่น การที่จะนำมาตรการลดค่าของเงินมาใช้แก้ปัญหาดุลการค้าจะได้ผลตามที่คาดหมายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยมากมาย อาทิเช่น สินค้านั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ประเทศที่สั่งซื้อมีสินค้าเหล่านั้นเพียงพอหรือยังรายได้ของประชากรของประเทศที่ซื้อขายกับเราสูงต่ำแค่ไหน และกำลังผลิตในประเทศเราอาจเพิ่มได้มากน้อยเพียงใดหากมีผู้ต้องการซื้อสินค้าจากเรามากขึ้น ๆ จะเห็นได้ว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวถึงต่างก็มีส่วนที่จะทำให้การลดค่าเงินได้ผลหรือไม่ได้ผล ดังนั้นก่อนที่จะนำมาตรการนี้มาใช้ จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้เสียก่อน และถ้าเห็นว่าปัจจัยต่าง ๆ เหล่านั้นเอื้ออำนวยให้การลดค่าของเงินได้ผลดี จึงควรตัดสินใจเลือกใช้มาตรการดังกล่าว