ออกใบกำกับภาษีไม่ ถูก ต้อง

เผยแพร่เมื่อ: 14 มิถุนายน 2564 สร้างเมื่อ: 14 มิถุนายน 2564 อัปเดตล่าสุดเมื่อ: 17 มิถุนายน 2564

เมื่อผู้ประกอบการมีการขายสินค้าหรือการให้บริการ แล้วได้รับชำระค่าสินค้าหรือชำระค่าบริการจะต้องออกหลักฐานการชำระ นั่นคือ “ใบเสร็จรับเงิน” แต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องออก “ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี” โดยลักษณะของใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

ออกใบกำกับภาษีไม่ ถูก ต้อง
ความผิดของการขายสินค้าโดยไม่ออก “ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี” หรือใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีมีข้อมูลไม่ครบถ้วน


ความผิดทางกฎหมาย

  • ใบเสร็จรับเงิน

กรณีที่ 1 หากผู้ประกอบการได้รับชำระค่าสินค้าแล้วไม่ออกใบเสร็จรับเงิน จะมีความผิดอย่างไร
- มาตรา 127 ทวิ ผู้ใดโดยตนเองหรือโดยสมคบกับผู้อื่นทำให้ไม่มีการออกใบรับหรือไม่ออกใบรับให้ในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคาตามมาตรา 105 หรือออกใบรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าที่รับเงินหรือรับชำระราคาจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ

กรณีที่ 2 หากผู้ประกอบการออกใบเสร็จรับเงินโดยมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน ต้องทำอย่างไร
- ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการสามารถแจ้งผู้ประกอบการถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และให้ผู้ประกอบการทำการแก้ไขให้ได้

ใบเสร็จรับเงินที่สมบูรณ์ ที่ท่านมั่นใจได้เลยว่าออกให้กับคนอื่นได้อย่างถูกต้อง สามารถเอาไปหักค่าใช้จ่ายทางบัญชีและภาษีได้แน่นอนนั้น อย่างน้อยต้องมีตัวเลขและอักษรไทย และประกอบด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ออกใบรับ
2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
3. เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
4. วันเดือนปีที่ออกใบรับ
5. จำนวนเงินที่รับ
6. ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า

  • ใบกำกับภาษี

หากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้ประกอบการจะมีความผิดอย่างไรบ้าง

กรณีที่ 1 ผู้ประกอบการไม่จัดทำหรือไม่ส่งมอบใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 90/2 แห่งประมวลรัษฎากร คือ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีที่ 2 ผู้ประกอบการจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร
มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 90(12) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หากเป็นการพบความผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษเปรียบเทียบปรับเป็นรายกระทง กระทงละ 100 บาท

ตามมาตรา 86/4 ภายใต้บังคับมาตรา 86/5 และมาตรา 86/6 ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ผลกระทบฝั่งผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ
เมื่อผู้ซื้อได้ชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการแล้ว ผู้ซื้อจะได้รับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี แต่หากไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หรือได้รับแล้วแต่ข้อมูลไม่ครบถ้วนอาจส่งผลกระทบ คือ ผู้ซื้อไม่สามารถที่จะขอคืนภาษีซื้อจากกรมสรรพากรได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือหลักฐานที่ได้มาไม่ครบถ้วนถูกต้อง

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าหากผู้ประกอบการที่ไม่ได้ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ต้องออก "ใบเสร็จรับเงิน" ให้ลูกค้า แต่หากการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องออก "ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับาษี" และหากผู้ประกอบการกระทำการใด ๆ ที่ผิดก็จะมีบทลงโทษแก่ผู้ที่กระทำการผิด นอกจากนั้นยังส่งผลเสียต่อผู้ซื้อที่ไม่สามารถขอคืนภาษีได้อีกด้วย

อ้างอิง
- "บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 6 อากรแสตมป์ มาตรา 103_129". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :www.rd.go.th/5203.html
- "บทกำหนดโทษ". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/morkor/law2.pdf
- "บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 87_90". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :https://www.rd.go.th/5209.html
- "ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการไม่ระบุข้อความอันเป็นสาระสำคัญในใบกำกับภาษี". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :https://www.rd.go.th/23537.html#:~:text
- "หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะเป็นแบบเต็ม". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :www.rd.go.th/3568.html

เลขที่หนังสือ : กค 0811/3013
วันที่ : 19 เมษายน 2543
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขออนุมัติใช้ใบกำกับภาษีที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรพิมพ์เกิน
ข้อกฎหมาย : มาตรา 81/5 (2), มาตรา 82/3
ข้อหารือ : บริษัทฯ ขอให้พิจารณาอนุมัติการใช้ใบกำกับภาษี กรณีโรงพิมพ์ได้พิมพ์
เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในใบกำกับภาษีเกินไป 1 หมายเลข โดยบริษัทฯ ได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 4
สิงหาคม 2540 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2542 เริ่มต้นใช้ตั้งแต่เล่มที่ 181 เลขที่ 09001 ถึงเล่มที่ 221
เลขที่ 11049 และบริษัทฯ ได้ยกเลิกใบกำกับภาษีเล่มที่ 221 เลขที่ 11050 ถึงเล่มที่ 230 เลขที่
11500 ในวันที่ 17 กันยายน 2542
แนววินิจฉัย : กรณีใบกำกับภาษีที่พิมพ์เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเกินไปหนึ่งหมายเลขถือเป็น
ใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 82/5(2) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา
82/5(1)(2)(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับจึงไม่อาจนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมา
หักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการจดทะเบียน
ซึ่งจัดทำใบกำกับภาษีโดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ถูกต้องครบถ้วนเมื่อได้รับการร้องขอให้
ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้
(1) เรียกคืนใบกำกับภาษีฉบับเดิมและนำมาประทับตราว่า "ยกเลิก" หรือขีดฆ่า แล้วเก็บ
รวมไว้กับสำเนาใบกำกับภาษีฉบับเดิม
(2) จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ซึ่งเป็นเลขที่ใหม่ แต่จะต้องลง วัน เดือน ปี ให้ตรงกับ
วัน เดือน ปี ตามใบกำกับภาษีฉบับเดิม และ
(3) หมายเหตุไว้ในใบกำกับภาษีฉบับใหม่ว่า เป็นการยกเลิกและออกใบกำกับภาษีฉบับใหม่
แทนฉบับเดิมเลขที่... เล่มที่... และหมายเหตุการยกเลิกใบกำกับภาษีไว้ในรายงานภาษีขายของ
เดือนภาษีที่จัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ด้วย
ส่วนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ร้องขอให้ยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำฉบับใหม่ที่
ถูกต้อง จะต้องถ่ายเอกสารใบกำกับภาษีฉบับเดิมที่ขอยกเลิกติดเรื่องไว้ด้วย
เลขตู้ : 63/29161