พระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อโลกในแง่ใด

ภาษาอื่น

  • العربية
  • বাংলা
  • བོད་ཡིག་
  • Deutsch
  • English
  • Español
  • فارسی
  • Français
  • עִבְרִית‎
  • हिन्दी
  • Indonesia
  • Italiano
  • 日本語
  • ខ្មែរ
  • 한국어
  • ລາວ
  • Монгол
  • मराठी
  • မြန်မာဘာသာ
  • नेपाली
  • پنجابی
  • Polski
  • Português
  • Русский
  • සිංහල
  • தமிழ்
  • Türkçe
  • اُردو
  • Tiếng Việt
  • 简体中文
  • 繁體中文

พระพุทธเจ้าตระหนักดีว่ามนุษย์ทุกคนต่างก็มีความชอบและความสนใจที่แตกต่างกันออกไป ท่านจึงได้สอนวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับผู้คนแต่ละกลุ่ม  ความตระหนักในข้อนี้ทำให้สมเด็จองค์ดาไลลามะกล่าวว่า การมีศาสนาหลายอย่างอยู่ในโลกนี้ช่างเป็นเรื่องที่ดีงามเหลือเกิน   คนเราชอบรสชาติอาหารต่างกันฉันท์ใด  ศาสนาหรือหลักความเชื่อเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่สามารถเติมเต็มทุกคนได้ฉันท์นั้น  เพราะฉะนั้นการที่โลกของเรามีศาสนาที่หลากหลายจึงถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่น่ายินดีและเปิดรับ

การเสวนาระหว่างศาสนาต่าง ๆ

ในปัจจุบันมีการเสวนาระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาพุทธและผู้นำของศาสนาอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งการเสวนาเหล่านี้ตั้งอยู่บนความเคารพระหว่างกันและกัน   องค์ดาไลลามะพบปะกับพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่สอง อยู่เป็นประจำ  และในปี 1986 พระสันตะปาปาได้เชิญผู้นำศาสนาโลกทั้งหมดมาร่วมประชุมกันในเมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี  โดยมีตัวแทนของแต่ละศาสนาเข้าร่วมถึง 150 ท่าน และองค์ดาไลลามะที่นั่งข้างพระสันตะปาปาก็ได้รับเกียรติให้กล่าวสุนทรพจน์เป็นท่านแรก  ในการประชุมนี้ ผู้นำศาสนาอภิปรายหัวข้อที่ทุกศาสนามีร่วมกัน อย่างเรื่องจริยธรรม ความรัก และความสงสาร  ความร่วมมือ ความสามัคคี และความเคารพกันและกันของผู้นำของแต่ละศาสนาในครั้งนี้เสริมสร้างกำลังใจให้ผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

แน่นอนว่าทุกศาสนามีความแตกต่างกัน  หากเราพิจารณาหลักอภิปรัชญาและเทววิทยาแล้ว เราจะเห็นว่าไม่มีทางใดเลยที่จะก้าวข้ามความแตกต่างเหล่านี้ไปได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจำเป็นต้องทะเลาะกัน  ทัศนคติที่ว่า “หลักความเชื่อของฉันดีกว่าของคุณ” นั้นไม่เป็นประโยชน์เลย  แทนที่เราจะคิดเช่นนั้น จะเป็นการดีกว่ามากหากเรามองว่าสิ่งที่ทุกศาสนามีเหมือนกัน กล่าวคือทุกศาสนาล้วนมุ่งเน้นหาวิธีพัฒนาสถานการณ์ของมนุษย์ชาติ และทำให้ชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นด้วยการสอนให้ยึดหลักจริยธรรมในการใช้ชีวิต และ เส้นทางแห่งความรักความสงสารและการให้อภัย  ทุกศาสนาสอนให้คนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับด้านวัตถุของชีวิต แต่อย่างน้อยก็ต้องพยายามหาความสมดุลระหว่างความเจริญทางวัตถุและทางธรรม

หากทุกศาสนาสามารถทำงานร่วมกันเพื่อช่วยพัฒนาสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันได้คงจะเป็นประโยชน์มากทีเดียว  ความเจริญทางวัตถุเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ตอนนี้เราก็ได้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่า ความเจริญทางธรรม หรือทางจิตวิญญาณนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน  หากเรามุ่งเน้นแต่ด้านวัตถุของชีวิต การสร้างระเบิดอานุภาพแรงสูงที่สามารถคร่าชีวิตผู้คนได้นั้นก็กลายเป็นเป้าหมายที่น่าปรารถนา  ในทางกลับกันหากเรามองในทางด้านมนุษยธรรมและธรรมะนั้น เราจะตระหนักได้ถึงปัญหาที่มาพร้อมกับการสร้างอาวุธที่สามารถทำลายล้างได้เป็นวงกว้าง  กระนั้นแล้ว หากเราคิดแต่จะพัฒนาชีวิตทางธรรมอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงด้านวัตถุนั้น ผู้คนก็จะต้องหิวแล้ว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน  ดังนั้นความสมดุลคือกุญแจหลักของเรื่องนี้

 เรียนรู้จากกันและกัน

ด้านหนึ่งของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนาในโลกคือ พวกเขาได้แบ่งปันลักษณะเฉพาะตัวบางประการให้กันและกัน  ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่เชื่อในหลักคริสต์จำนวนมากให้ความสนใจเกี่ยวกับการฝึกสติและนั่งสมาธิของพระพุทธศาสนา  นอกจากนี้ยังมีบาทหลวง นักบวช และแม่ชีชาวคริสต์หลายกลุ่มยังเดินทางไปธรรมศาลาในประเทศอินเดีย เพื่อเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ และนำไปประยุกต์ใช้กับหลักปฏิบัติของตนอีกด้วย  พุทธศาสนิกชนหลายท่านได้เข้าไปสอนในวิทยาลัยของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และในบางโอกาสตัวผมเองก็ได้รับเชิญให้ไปสอนพวกเขาเกี่ยวกับการทำสมาธิ การฝึกสติ และการสร้างความรัก  ศาสนาคริสต์สอนให้เรารักทุกคน แต่ไม่ได้ให้คำอธิบายเชิงปฏิบัติไว้อย่างละเอียด  ในขณะที่พระพุททธศาสนานั้นเต็มไปด้วยวิธีการสร้างความรักมากมาย  ศาสนาคริสต์ในขั้นสูงเปิดรับการเรียนรู้วิธีเหล่านี้จากพระพุทธศาสนา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องกลายเป็นพุทธศาสนิกชน เพราะไม่มีใครที่นี่มีจุดประสงค์ในการเปลี่ยนศาสนาของกันและกัน  หากแต่พวกเขาสามารถเรียนรู้วิธีเหล่านี้ไว้เป็นเครื่องมือที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสนาของตน และช่วยให้พวกเขาเป็นชาวคริสต์ที่ดีขึ้นได้

ในทำนองเดียวกัน ชาวพุทธหลายคนก็สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับการบริการสังคมของศาสนาคริสต์  ประเพณีส่วนใหญ่ของคริสต์เน้นให้พระและแม่ชีมีส่วนร่วมในการสอน งานโรงพยาบาล ดูแลผู้สูงอายุและเด็กกำพร้า เป็นต้น  ถึงแม้ว่าเมืองพุทธบางแห่งจะมีการบริการสังคมในลักษณะนี้อยู่แล้ว ก็ไม่ใช่ทุกประเทศที่มี เนื่องจากเหตุผลทางสังคมและภูมิศาสตร์ที่ต่างกันไป  ชาวพุทธสามารถเรียนรู้การบริการสังคมจากชาวคริสต์ได้เป็นอย่างมาก และสมเด็จองค์ดาไลลามะก็ยอมรับเรื่องนี้มาก  ดังนั้นการเรียนรู้จากประสบการณ์เฉพาะตัวของกันและกันจึงถือเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก  หากเป็นเช่นนี้ เราก็สามารถจัดการอภิปรายแบบเปิดระหว่างศาสนาต่าง ๆ ในโลก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเคารพกันและกันของทุกฝ่ายได้

บทสรุป

ที่ผ่านมาการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนาต่าง ๆ นั้นเกิดขึ้นในระดับสูงสุดของผู้นำศาสนา ซึ่งเป็นระดับที่ผู้คนมีความเปิดกว้างมากกว่าและมีอคติต่อกันน้อยกว่า  ในระดับล่างนั้นผู้คนยังมีความไม่มั่นคง นำไปสู่ทัศนคติแบบทีมฟุตบอลมากขึ้น นั่นคือการยึดถือการต่อสู้และการแข่งขันเป็นหลัก  การยึดถือทัศนคติเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้ายิ่งนัก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างศาสนา หรือในระหว่างนิกายต่าง ๆ ของพุทธศาสนาก็ตาม  พระพุทธเจ้าได้สอนวิธีต่าง ๆ ไว้มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ประสานงานกัน เพื่อให้ช่วยเหลือผู้คนได้เป็นวงกว้าง  ดังนั้นเราจึงควรต้องเคารพประเพณีและศาสนาทั้งหมด ทั้งในพุทธศาสนาและในศาสนาอื่นทั่วโลก