พื้นฐานของการออกแบบสัญลักษณ์

การออกแบบเครื่องหมายและสัญลักษณ์

ที่เป็นภาพสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายภาพ เป็นสื่อที่มีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวัน ถ้าเรามองไปรอบ ๆ ตัวจะเห็นสื่อที่เป็นเครื่องหมายภาพปรากฏอยู่ทั่วไป

การนำหลักทฤษฎีมาประยุกต์ในการออกแบบสื่อสัญลักษณ์

การออกแบบสัญลักษณ์
นักออกแบบจะต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างยิ่งในการวิเคราะห์เนื้อหาของสารที่จะต้องการสื่อความหมาย และสังเคราะห์ให้เป็นรูปลักษณ์ที่ใช้เป็นสิ่งแทนอันสามารถจะบอกได้ถึงความหมาย ทั้งยังต้องใช้ความสามารถในการเขียนภาพ หรือผลิตภาพสัญลักษณ์ให้ประณีตคมชัด เพื่อสื่อความหมายได้ถูกต้องชัดเจน
ในการออกแบบสัญลักษณ์ นักออกแบบจะมีแหล่งบันดาลใจสำคัญ 2 ประการคือ
1.จากธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Natural Form) ได้แก่ ภาพดอกไม้ ใบไม้ ภูเขา ทะเล สัตว์ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ จัดเป็นสัญลักษณ์ที่เกิดจากธรรมชาติ (Natural Symbol)
2.จากรูปแบบที่มนุษย์สร้าง (Manmade Form) ได้แก่ อาคารบ้านเรือน เครื่องใช้ สิ่งของต่าง ๆ เรียกว่า

สัญลักษณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น (Conventional Symbol)
นอกจากนี้การออกแบบสัญลักษณ์ให้บรรลุเป้าหมาย นักออกแบบควรคำนึงถึงหลักสำคัญ 3 ประการคือ
1.ความงามของสัญลักษณ์ จะต้องเกี่ยวโยงกับสุนทรียภาพ (Aesthetic Form) คือความงดงามของรูปแบบของสัญลักษณ์ไม่ว่าจะเป็น Representation หรือ Abstract ก็ตาม
2.ต้องเหมาะสมกับกาลเวลาทุกยุคทุกสมัย ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นความนิยมชั่วคราว
3.ต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายประการ สามารถลอกเลียนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การย่อหรือขยายได้

จากการพิจารณาถึงสื่อสัญลักษณ์ที่มีอยู่ทั่วไปแล้ว เราพอจะแยกประเภทตามลักษณะเฉพาะ อาจแบ่งได้เป็น
1. ภาพเครื่องหมายจราจร เป็นกติกาสากลซึ่งเข้าใจร่วมกันทั่วไป เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะ เครื่องหมายภาพจราจรจะแสดงถึงสัญลักษณ์การใช้รถใช้ถนนในลักษณะต่าง ๆ กัน การออกแบบจะเน้นความชัดเจนของการสื่อความหมาย เข้าใจง่าย สีสันสะดุดตา
2.เครื่องหมายสถาบัน สมาคม และกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งกำหนดรูปแบบเพื่อแทนหรือเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้น ๆ
3.เครื่องหมายบริษัท สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นความน่าสนใจในบริษัทการค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และยังเป็นการเน้นถึงคุณภาพที่น่าเชื่อถือด้วยรูปลักษณ์ของเครื่องหมายที่ปรากฏ
4.ภาพเครื่องหมายสถานที่ เป็นเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์สถานที่ต่าง ๆ ที่แสดงให้เข้าใจร่วมกันได้โดยไม่ต้องใช้ตัวหนังสือหรือข้อความ ซึ่งบางครั้งอาจสื่อได้ยากกว่าการใช้สัญลักษณ์ เช่น โรงพยาบาล สนามบิน สถานีรถไฟ ห้องน้ำ
5.ภาพเครื่องหมายกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การกีฬา การก่อสร้าง การประชุม
6.เครื่องหมายที่ใช้ในการออกแบบ เขียนแบบ เป็นเครื่องหมายภาพที่ใช้สื่อความหมายร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบเขียนแบบแปลน และผู้อ่านแบบหรือบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะของสัญลักษณ์ดังกล่าวแบ่งตามลักษณะของประเภทหรือเครื่องหมาย แต่ถ้าเราพิจารณาถึงการออกแบบสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทุกลักษณะ อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะและวิธีการออกแบบได้ 3 ประเภท คือ
1.ลักษณะแบบตัวอักษร (Letter marks) ได้แก่ การออกแบบสัญลักษณ์โดยอาศัยรูปแบบตัวอักษรมาประดิษฐ์จัดวางให้สวยงาม ชัดเจน การออกแบบอาจจะใช้เฉพาะตัวอักษรหรือคำย่อของหน่วยงาน บริษัทหรือสถาบันองค์การต่าง ๆ มาใช้
2.ลักษณะแบบภาพ (Pictograph) คือ การออกแบบสัญลักษณ์โดยใช้รูปภาพเป็นแนวคิดในการออกแบบ ภาพอาจเป็นการแสดงทิศทาง กิจกรรม การกระทำ หรือภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ
3.ลักษณะแบบผสมผสาน (Combination Marks) คือการออกแบบภาพสัญลักษณ์ โดยนำเอารูปแบบตัวอักษรกับรูปภาพมาประกอบกันในการออกแบบอย่างสัมพันธ์กันและเหมาะสม

แนวคิดในการออกแบบ
ในการออกแบบสัญลักษณ์ ควรจะยึดหลักกว้าง ๆ เพื่อเป็นแนวคิด ดังนี้
1.แนวคิดเกี่ยวกับความงาม
2.แนวคิดเกี่ยวกับความหมาย
3.แนวคิดในการสร้างความเด่นและน่าสนใจ
4. ความเหมาะสมในการออกแบบและการใช้งาน

วิธีการออกแบบสัญลักษณ์

สัญลักษณ์ในทุกลักษณะที่ทำการออกแบบ ผู้ออกแบบควรจะพิจารณาให้ชัดเจนก่อนว่างานออกแบบนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้ผลงานออกแบบสามารถสื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจได้โดยง่าย มีความชัดเจน สามารถดึงดูดความสนใจได้ดี ภาพเครื่องหมายสามารถนำไปใช้งานได้หลายลักษณะ มีรูปแบบที่น่าเชื่อถือ เกิดจากความเชื่อมั่นและยอมรับ มีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ผู้ออกแบบจะละเลยไม่ได้

ขั้นตอนการออกแบบ
1.ศึกษารวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวคิดในการออกแบบ
2.กำหนดแนวคิดหลักโดยใช้ข้อมูลเบื้องต้นเป็นบรรทัดฐาน
3.เลือกหาสิ่งดลใจในการออกแบบ อาจเป็นรูปทรงเรขาคณิต รูปทรงอิสระ หรือสิ่งในธรรมชาติ
4.กำหนดรูปร่างภายนอก
5.ร่างภาพเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมโดยการร่างไว้หลาย ๆ แบบ
6.ลดทอนรายละเอียด
7.ร่างแบบเขียนสี
8.เขียนแบบจริง

ในความเป็นจริง เราพบเห็นสัญลักษณ์ที่มีผู้ออกแบบไว้แล้ว และมีการนำมาใช้อยู่โดยทั่วไป ซึ่งเราอาจนำภาพสัญลักษณ์เหล่านั้นมาใช้หรือประยุกต์ หรือเป็นแนวทางในการออกแบบสร้างภาพสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความหมายในการเรียนการสอนได้ สัญลักษณ์ที่นำมาใช้อาจเป็นรูปภาพ ตัวหนังสือ ตัวเลข และเครื่องหมายต่าง ๆ เรานำมาใช้ได้ทุกเนื้อหาวิชา ให้เหมาะสมและสามารถสื่อความหมายได้ตรงจุดประสงค์ที่สุด

ที่มา​​​​​​ : “​​​​​​เทคนิคการออกแบบกราฟิก” ​​​​​​พงษ์ศักดิ์​​​​​​ ​​​​​​ไชยทิพย์

keyword : การออกแบบเครื่องหมายและสัญลักษณ์,การออกแบบเครื่องหมาย,การออกแบบสัญลักษณ์,การออกแบบโลโก้,โลโก้

P.s. i’m copied for leaning and share

Thank you! 

Post navigation