เศรษฐศาสตร์ กับ การแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและแนวทางการแก้ไข

Authors

  • คณิต เศรษฐเสถียร

Abstract

ปีที่3 ฉบับที่2

Show

    สรุปและข้อเสนอแนะ

                นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิค เช่น มัลธัส(Multhus) ริคาร์โด(Ricardo) และมิลล์(Mill) ได้เริ่มตระหนักถึงขีดจำกัดของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่จะมีอำนวยให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในสังคม และได้พยากรณ์ถึงความแร้นแค้น(scarcity) ของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ซึ่งจะเป็นผลให้มีการลดลงของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม และในที่สุดจะนำไปสู่การหยุดชะงักของการพัฒนาเศรษฐกิจ โมเดลของมัลธัสนั้นได้สมมุติว่าทรัพยากรธรรมชาติมีขอบเขตจำกัดภายหลังที่ถึงขีดสูงสุดที่จะมีอำนวยให้ ในขณะที่ริคาร์โดนั้นสมมุติว่าทรัพยากรไม่มีขีดจำกัดในด้านปริมาณแต่ด้านคุณภาพหรือคุณสมบัติไม่เหมือนกัน สังคมจะใช้ความรู้ความสามารถใช้ทรัพยากรที่มีคุณภาพต่ำลงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งกรณีของมัลธัสและริคาร์โดจะก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ลดลง Kenneth Boulding มองโลกเหมือนยานอวกาศที่ทุกอย่างมีจำกัดไม่ว่าทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตตลอดจนระบบการระบายของเสียออกไป ในขณะที่ Meadows และคณะมองว่าถ้าแนวโน้มปัจจุบันของความเจริญเติบโตของประชากร การพัฒนาอุตสาหกรรม สภาพมลพิษ การผลิตอาหาร การใช้ทรัพยากรและการเสื่อมโทรมของทรัพยากรยังไม่เปลี่ยนแปลง ความเจริญเติบโตจะถึงขีดสุดภายในร้อยปีข้างหน้า อย่างไรก็ตามก็ได้มีบางกลุ่ม อาทิเช่นนักเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิค นักอนุรักษ์สมัยใหม่เห็นว่าข้อจำกัดของความเจริญเติบโตของการผลิตและเศรษฐกิจชะงักที่เป็นผลมาจากความหายากของทรัพยากรธรรมชาติไม่น่าจะเกิดขึ้นหรือถ้าเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะรุนแรง โดยให้เหตุผลว่าถ้าเราสามารถคิดค้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและแหล่งใหม่ๆของทรัพยากร เรายังสามารถควบคุมจำนวนของเสียที่จะเข้าไปในสิ่งแวดล้อม เช่นการนำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่(recycling) และนำเทคนิคที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยลงมาใช้ นอกจากนั้นแล้วถ้าเกิดทรัพยากรแร้นแค้นขึ้นมาตามทฤษฎีอุปสงค์-อุปทานราคาจะสูงขึ้นจะจูงใจให้ประชาชนระมัดระวังในด้านการใช้ทรัพยากร และเปลี่ยนไปใช้ทรัพยากรอื่นทดแทน กลุ่มนี้กลับเห็นว่าปัญหาที่น่าทวีความรุนแรงน่าจะเป็นปัญหาความไม่ชัดเจนของสิทธิความเป็นเจ้าของตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพมากกว่า

                ข้อสังเกต : แม้ว่าเหตุผลกลไกของอุปสงค์-อุปทานของกลุ่มที่มองโลกในแง่ดีจะเป็นจริงสำหรับทรัพยากรที่มีราคาตลาด เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ แต่จะไม่เป็นความจริงกรณีทรัพยากรที่ไม่ได้ซื้อขายกันในราคาตลาด อาทิเช่นบรรยากาศ และจากเหตุผลทั้งหลายของกลุ่มดังกล่าวที่กล่าวมาอาจเป็นจริงในกรณีของประเทศที่ร่ำรวยที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ แต่สำหรับประเทศที่ยากจนภาพการมองในแง่ดีคงจะน้อยลง ดังจะเห็นได้ว่าบางส่วนของโลกประชากรได้เข้าไปใกล้หรือแม้แต่เกินความสามารถที่ธรรมชาติจะรับได้ ประเทศด้อยพัฒนาและยากจนทั้งหลายเหล่านี้ได้ให้ความสำคัญต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพื่อต้องการยกมาตรฐานการบริโภคให้สูงขึ้น ความสนใจด้านคุณภาพของสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลและประชาชนอย่างดีก็ให้ความสำคัญรองลงไป ประเทศเหล่านี้ยอมรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลมาจากอุตสาหกรรม การผลิต ฯลฯ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรุนแรงเพิ่มขึ้น การแก้ไขที่หวังว่าจะช่วยประเทศด้อยพัฒนาและยากจนเหล่านี้คือการควบคุมการเพิ่มขึ้นของประชากรและการร่วมมือกันระหว่างประเทศยากจนเหล่านี้กับประเทศที่พัฒนาและร่ำรวยในการปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก แต่ดูเหมือนว่าความร่วมมือดังกล่าวยังมีน้อยในขณะนี้

    สำหรับสาเหตุของการเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดมาจากความล้มเหลวของระบบตลาดที่จะจัดสรรทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ที่สืบเนื่องมาจากการขาดกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ชัดเจน การไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ชัดเจนในทรัพยากรจนทำให้ทรัพยากรอยู่ในภาวะอันตรายที่จะถูกใช้มากเกินไปผลกระทบที่เกิดจากภายนอก (externality) การมีลักษณะเป็นสินค้าสาธารณะ (public good) การมีลักษณะเป็นทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกัน (common property resource) และการเพิ่มขึ้นของประชากร เป็นต้น

                ในด้านการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การควบคุมระดับมลพิษระดับที่เหมาะสมคือระดับที่ต้นทุนเพิ่มของสังคมของการปรับปรุงมลพิษเท่ากับประโยชน์เพิ่มของสังคม จากสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีการเสนอแนะว่ามีความจำเป็นที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงอาจโดยการใช้มาตรการออกกฎหมายบังคับ การห้าม การเก็บภาษีและการให้เงินอุดหนุนและการผลิตบริการสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล เป็นต้น

                ข้อสังเกต : แม้ว่าจะมีเหตุผลที่ดีว่าทำไมรัฐบาลจึงเข้าแทรกแซง แต่บ่อยครั้งการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมก็มิได้ดีกว่าตลาดเสรี ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพราะกระบวนการการจัดหาข้อมูลมีความซับซ้อนมาก ตลอดจนอาจเป็นเพราะตัวแทนหรือหน่วยงานของรัฐบาลไม่ได้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีผลทำให้รัฐบาลบ่อยครั้งจะเป็นสาเหตุของสิ่งแวดล้อมเสื่อมลง

                นอกจากการใช้มาตรการหลักในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้กล่าวมาแล้ว ควรจะมีมาตรการเสริมอย่างอื่นมาใช้ประกอบควบคู่กับมาตรการหลักดังกล่าว อาทิเช่น

    -          การรณรงค์ให้มีการประหยัดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการนำวัสดุเหลือใช้นำกลับมาใช้ใหม่ (recycling) จะเป็นการช่วยลดของเหลือ (ขยะ) ที่จะเข้าไปในสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาหรืออุปสรรคของการนำเอาวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ที่สำคัญคือต้นทุนการฟื้นฟูให้กลับเข้าสู่สภาพเดิมที่อาจจะสูง ถ้าต้นทุนการทิ้งของเหลือใช้เข้าไปในสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น หรือราคาการนำวัสดุใหม่มาใช้ในการผลิตสูงขึ้นหรือถ้าสามารถนำเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนของการทำให้วัสดุที่ฟื้นคืนสู่สภาพเดิมถูกลงจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้มีการนำเอาของเหลือใช้มาใช้ใหม่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการประหยัดการใช้ทรัพยาการที่เป้นไปได้

    -          การวางแผนครอบครัวเพื่อลดประชากรลง และเน้นการที่มีประชากรที่มีคุณภาพ ทั้งนี้เพราะการขยายตัวของประชากรเป็นสาเหตุหนึ่งที่สร้างแรงกดดันต่อสิ่งแวดล้อมในรูปของความต้องการอาหาร การใช้ทรัพยากร ฯลฯ มากขึ้น ในที่สุดจะให้ทำเกิดมลพิษมากขึ้น ยิ่งการขยายตัวของประชากรเร็วมากเท่าใดยิ่งจะทำให้เข้าใกล้ระดับทั้งของเสียและทรัพยากรที่มีอำนวยหรือขีดจำกัดของความเจริญเติบโตเร็วขึ้นเท่านั้น

    -          พัฒนาหลักสูตรการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับนักเรียน นักศึกษาในระดับต่างๆ ให้การศึกษาและสร้างจิตสำนึกถึงปัญหาและให้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชนทั่วไป ส่งเสริมการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบของภาวะแวดล้อมเช่นจากโรงงาน ฯลฯ ที่เป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน พืชและสัตว์ ศึกษาวิจัยการประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อลดภาวะมลพิษและเป็นการช่วยไม่ทำให้ทรัพยากรหมดเร็วเกินไป ตลอดจนหาทางทดแทนทรัพยากรที่ใช้หมดไปและนำเทคโนโลยีในการลดของเสียและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมาใช้

    แม้ว่าขีดจำกัดของความเจริญเติบโตอาจจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอยู่ในขั้นวิกฤตและได้กลายมาเป็นปัญหาที่สำคัญของชาติและของโลกในปัจจุบัน การหันมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้มีการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและการประหยัดการใช้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมก็จะช่วยทำให้เรามีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมใช้ได้เป็นเวลานานขึ้น ลดมลพิษลง ในที่สุดจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิภาพของประชาชนในชุมชนและประเทศชาติดีขึ้น

    Downloads

    Download data is not yet available.

    เศรษฐศาสตร์ กับ การแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อม

    Downloads

    • PDF

    Issue

    Vol. 3 No. 2 (1999): พฤษภาคม - สิงหาคม 2542

    Section

    Articles

    License

    All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials.  Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.

    ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่