ตัวอย่าง จุด ประสงค์ เชิง พฤติกรรม วิชา สังคมศ

จุดประสงค์การเรียนการสอน คือ ข้อความที่ระบุคุณลักษณะการเรียนรู้และความสามารถที่ครูต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียน หลังจากที่นักเรียนได้ผ่านกิจกรรมการเรียนการสอนในเรื่อง หรือบทหนึ่งๆ แล้ว

ความสำคัญของจุดประสงค์การเรียนการสอน

จุดประสงค์การเรียนรู้ เป็นจุดหมายปลายทางของการเรียนการสอนที่ได้แนวทางมาจากความคิดรวบยอดของการเรียนการสอน ดังนั้นจุดประสงค์การเรียนการสอนจึงมีความสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอน

ตัวอย่าง

ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย เรื่อง “การฟัง” ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการจับใจความสำคัญของคำพูดหรืองานเขียนที่มีผู้อ่านให้ฟัง ซึ่งครูจะต้องกำหนดความคิดรวบยอดการเรียนการสอน และจุดประสงค์ของการสอน สำหรับเนื้อหาวิชาดังกล่าว ดังนี้

จุดประสงค์การเรียนการสอน

หลังจากนักเรียนได้ผ่านกิจกรรมของการเรียนการสอน เรื่องการฟัง เกี่ยวกับการจับใจความสำคัญจากคำพูด หรืองานเขียนที่มีผู้อ่านให้ฟังแล้วให้นักเรียนจับใจความสำคัญจากคำบรรยายในเครื่องบันทึกเสียงได้ใจความสำคัญที่สมบูรณ์

จากสุดประสงค์การเรียนการสอนที่กำหนด

ครูจะต้องพยายามจัดกิจกรรมให้นักเรียนสามารถจับใจความสำคัญจากการฟังให้ได้ ซึ่งอาจจะอธิบายหลักเกณฑ์และวิธีการ ตลอดจนยกตัวอย่างให้นักเรียนเข้าใจเสียก่อน แล้วจึงฝึกการจับใจความสำคัญจากการฟัง

เมื่อเรียนจบแล้วครูจะได้อย่างไรว่า ได้เกิดการเรียนรู้ขึ้นแล้ว และที่จุดนี้เองเราอาศัยจุดประสงค์การเรียนการสอนเป็นเกณฑ์ในการวัดผลการเรียนรู้ กล่าวคือ ถ้านักเรียนสามารถจับใจความสำคัญจากคำบรรยายได้ใจความสำคัญที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ตั้งใจไว้ในจุดประสงค์การเรียนการสอน ย่อมแสดงว่านักเรียนเกิดการเรียนรู้

ดังนั้น จุดประสงค์การเรียนการสอน จึงมีความจำเป็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและวัดผลประเมินผลการเรียนการสอน

ลักษณะของจุดประสงค์การเรียนการสอน

จุดประสงค์ทางการศึกษา อาจแบ่งได้เป็น ๒ ระดับ คือ จุดประสงค์ทั่วไป และจุดประสงเฉพาะ

๑.จุดประสงค์ทั่วไป

เป็นจุดประสงค์ที่มีความหมายกว้างไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ จุดประสงค์ของหลักสูตร จุดประสงค์ชองแผนการศึกษาชาติ ซึ่งมีคำที่เรียกแตกต่างกันไป เช่น จุดมุ่งหมาย ความมุ่งหมาย จุดหมาย วัตถุประสงค์ และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง

ตัวอย่างจุดประสงค์ของหลักสูตร ได้แก่

๑.เพื่อให้มีนิสัยใฝ่ความรู้ และมีความคิดสร้างสรรค์

๒.เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นคุณค่าในศิลปวัฒนธรรมไทย

๓.เพ่อปลูกฝังให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

๒.จุดประสงค์เฉพาะ

เป็นจุดประสงค์ที่มีความหมายเฉพาะเจาะจง และเป็นจุดประสงค์ที่ตั้งขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ตรวจสอบได้ ตัวอย่างเช่น

๑.นักเรียนสามารถอธิบายถึงข้อควรปฏิบัติในการฟัง และพูดในโอกาสต่างๆ ได้

๒.นักเรียนสามารถเขียนแผ่นภูมิแท่งได้

๓.นักเรียนสามารถบอกได้ว่าอาหารชนิดใดอยู่ในหมู่ใดได้ถูกต้อง ๘ ชนิด

จุดประสงค์เฉพาะ จะชี้ให้เห็นสิ่งที่ต้องการจากการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจง และเกี่ยวข้อกับเนื้อหาวิชาโดยตรง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนของครู ในชั้นเรียนนั้นเอง

จุดประสงค์ทางการศึกษา นอกจากจะแบ่งปันเป็น ๒ ระดับดังกล่าวแล้ว ยังอาจแบ่งตามลักษณะการเรียนรู้ ได้เป็น ๓ ด้าน ดังนี้

๑.พุทธิพิสัย (Cognitive Domain)

๒.จิตพิสัย (Affective Domain)

๓.ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)

๑.พุทธิพิสัย

เป็นจุดประสงค์ทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทางด้านปัญญา คือ ความรู้ ความเข้าใจ และการใช้ความคิด สามารถแบ่งได้ ๖ ระดับ

๑.ความรู้ หมายถึง ความสามารถในการจำเนื้อหาความรู้ และระลึกได้เมื่อต้องการนำมาใช้ สิ่งที่จำเป็นได้แก่ ความรู้ที่เฉพาะเจาะจง ความรู้เกี่ยวกับวิธีการ และความรู้เกี่ยวกับหลักการ เช่น

– นักเรียนสามารถบอกคำแปลของเครื่องหมายได้

– นักเรียนสามารถอธิบายความหมายของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกต้อง

๒.ความเข้าใจ หมายถึง การเข้าใจความหมายของเนื้อหาสาระ ไม่ใช่จำเพียงแต่อย่างเดียว สามารถแสดงพฤติกรรมความเข้าใจในรูปของการแปลความหมาย การตีความหรือสรุปความสำคัญได้ เช่น

– นักเรียนสามารถเขียนรูปเรขาคณิตจากโจทย์ที่กำหนดให้ได้ถูกต้อง

– นักเรียนสามารถยกตัวอย่างการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกต้อง

๓.การนำไปใช้ หมายถึง การนำเอาเนื้อหาสาระ หลักการ ความคิดรวบยอดและทฤษฎีต่างๆ ไปใช้ในรูปแบบใหม่ สถานการณ์ใหม่ ตัวอย่างเช่น

– นักเรียนสามารถทำโจทย์เรขาคณิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อนโดยใช้ทฤษฎีที่เรียนมาแล้วได้ถูกต้อง

– นักเรียนสามารถเสนอความคิดเห็นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้

๔.การวิเคราะห์ หมายถึง ความสามารถในการแยกเนื้อหาให้เป็นส่วนย่อย เพื่อค้นหาองค์ประกอบ โครงสร้าง หรือความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อย ซึ่งนักเรียนสามารถวิเคราะห์เนื้อหาสาระที่เรียนมาแล้ว เช่น

– นักเรียนสามารถแยกองค์ประกอบของหลักสูตรได้

– นักเรียนสามารถจำแนกวิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นประเภทได้

๕.การสังเคราะห์ หมายถึง ความสามารถที่นำองค์ประกอบหรือส่วนย่อยๆ เข้ามารวมกันเพื่อให้เป็นภาพที่สมบูรณ์เกิดความกระจ่างในสิ่งเหล่านั้น เช่น

– หลังจากครูให้ตัวอย่าง ๕ ตัวอย่าง เรื่องการหาร นักเรียนสามารถสรุปได้ว่าการหารคือการหักออกทีละเท่าๆกัน

– นักเรียนสามารถจัดระบบการอนุรักษ์ทรัพยากรได้ถูกต้องเหมาะสม

๖.การประเมินค่า หมายถึง ความสามารถในการพิจารณาตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยที่ผู้ตัดสินกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเอง หรือเกณฑ์ที่ผู้อื่นกำหนดขึ้น เช่น

-หลังจากอ่านบทความแล้วนักเรียนสามารถวิจารณ์ความรู้สึกของผู้เขียนได้

-นักเรียนสามารถบอกได้ว่าการกระทำเช่นใดที่ผิดพระราชบัญญัติการคุ้มครองสัตว์ป่า

๒.จิตพิสัย

เป็นจุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางใจ ซึ่งรวมถึง ความสนใจ อารมณ์ เจตคติ ค่านิยม และคุณธรรม กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในเหล่านี้ตามลำดับขั้นดังต่อไปนี้

๑.การรับ คือ การที่นักเรียนได้รับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม เช่น นักเรียนยอมรับในความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมในสังคม

๒.การตอบสนอง คือ การมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมที่รับเข้ามาด้วยความเต็มใจ เช่น นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องที่ครูบรรยาย

๓.การเห็นคุณค่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่รับรู้สิ่งแวดล้อม และมีปฏิกิริยาโต้ตอบสังเกตได้จากพฤติกรรมที่ยอมรับในค่านิยมใดค่านิยมหนึ่ง

– นักเรียนแสดงความสนใจในวัฒนธรรมโดยติดตามอ่านหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมอย่างสม่ำเสมอ

๔.การจัดรวบรวม เป็นการคิดพิจารณา และรวบรวมค่านิยมให้เข้าเป็นระบบค่านิยมหรือสร้างมโนทัศน์ของค่านิยม เช่น

– นักเรียนสามารถจัดโครงสร้างของวัฒนธรรมได้

๕.การพิจารณาคุณลักษณะจากค่านิยม เป็นเรื่องของความประพฤติ คุณสมบัติ และคุณลักษณะของแต่ละบุคคลที่เป็นผลของความรู้สึก ความคิด และการสร้างค่านิยม เช่น

– นักเรียนสามารถสร้างค่านิยมต่อวัฒนธรรมได้

๓.ทักษะพิสัย

เป็นจุดประสงค์ที่เกี่ยวกับทักษะในการเคลื่อนไหว และใช้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย มีลำดับการพัฒนาทักษะดังนี้

๑.การเลียนแบบ เป็นการทำตามตัวอย่างที่ครูให้ หรือดูแบบจากของจริง เช่น นักเรียนวาดภาพได้เหมือนตัวอย่าง

๒.การทำตามคำบอก เป็นการทำตามคำสั่งของครูโดยไม่มีตัวอย่างให้เห็น เช่น นักเรียนวาดภาพสิ่งของตามที่ครูบอกชื่อได้

๓.การทำอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นการทำโดยนักเรียนอาศัยความรู้ที่เคยทำมาก่อนแล้วเพิ่มเติม ดัดแปลงตามที่เห็นสมควร เช่น

– นักเรียนสามารถออกแบบภาพได้

๔.การทำได้ถูกต้องหลายรูปแบบ เป็นการทำในเรื่องที่คล้ายๆ กัน และแยกรูปแบบได้ถูกต้อง เช่น

-นักเรียนสามารถวาดภาพสิ่งมีชีวิตได้หลายประเภท

๕.การทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการทำที่เกิดจากความรู้ ความชำนาญ และเสร็จได้ในเวลารวดเร็ว เช่น

-นักเรียนสามารถวาดภาพสิ่งมีชีวิตได้ถูกวิธี และรวดเร็ว

จุดประสงค์เฉพาะ มีบทบาทที่คำสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอน คือ จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

การกำหนดจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมที่ชัดเจนทำให้ครูสามารถหาวิธีการสอนได้เหมาะสม

– เลือกสื่อการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่จะเรียน

– จัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสม

– เตรียมการวัดผลและประเมินผลได้เหมาะสม

– ทำให้การสอนบรรลุจุดประสงค์ที่ตั้งไว้

ความหมาย

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม เป็นจุดประสงค์การศึกษาที่บ่งบอกถึงการกระทำของนักเรียน อย่างชัดเจนว่านักเรียนสามารถทำอะไรได้บ้าง หลังจากที่เรียนบทนั้นๆ ไปแล้ว และการกระทำของนักเรียนที่ระบุนั้นจะต้องสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน

องค์ประกอบ

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ ๓ ส่วน

๑.สถานการณ์ที่ครูตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมออกมา มักจะใช้คำว่า กำหนดให้ ,ภายหลังจากที่ ,ถ้ามี ,เมื่อ

๒.พฤติกรรมของนักเรียนที่ครูคาดหวังให้แสดงออกมา เป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตได้ ซึ่งมักจะใช้คำเหล่านี้ได้แก่ อธิบาย บรรยาย บอก วาด เขียน ชี้ คำนวณ ตอบ ท่อง เปรียบเทียบ สร้าง ทดลอง รายงาน วิจารณ์ ออกแบบ ยกตัวอย่าง สาธิต ฯลฯ

คำที่ไม่ควรใช้ในจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ได้แก่ รู้ เข้าใจ ซาบซึ้ง ตระหนัก จินตนาการ ฯลฯ

๓.เกณฑ์ของระดับความสามารถของพฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออก มักจะใช้คำ ได้ถูกต้อง ถูกหมด ได้ทุกข้อ ได้ ๘ ข้อใน ๑๐ ข้อ อย่างน้อย ๕ ชื่อ ภายใน ๑๐ นาที ฯลฯ

ตัวอย่างจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

๑.เมื่อกำหนดโจทย์เลขเศษส่วนให้ ๑๐ ข้อ นักเรียนสามารถทำได้ถูกต้องอย่างน้อย ๘ ข้อ

๒.เมื่อนำแผนที่ให้นักเรียนดู นักเรียนสามารถบอกชื่อเครื่องหมายที่ใช้ในแผนที่ได้อย่างน้อย ๕ ชื่อ

๓.เมื่อนำสัตว์ต่างๆมาติดบนกระดานดำ นักเรียนสามารถแยกชื่อสัตว์ไว้ใช้งานได้ถูกต้อง

๔.จากการสังเกตจากดวงอาทิตย์ นักเรียนชี้ทิศทั้งสี่ได้ถูกต้อง

หลักทั่วไปในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

๑.เขียนสั้นๆ ให้ได้ใจความ ควรมีความยาวเพียงหนึ่งหรือสองประโยคเท่านั้น

๒.จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมหนึ่งข้อจะระบุพฤติกรรมที่คาดว่าจะเกิดเพียงหนึ่งพฤติกรรม

๓.ต้องระบุพฤติกรรมปลายทางที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยนักเรียนเท่านั้น

๔.พฤติกรรมที่ระบุในจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมต้องเป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นนามธรรม

๕.คำที่ใช้ในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมต้องเป็นคำที่มีลักษณะชี้เฉพาะเจาะจงไม่ใช่คำที่มีความหมายกว้างจนยากแก่การตีความ

แนวปฏิกิริยาในการเขียนจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

๑.กำหนดจุดประสงค์ในการเรียนโดยทั่วไปก่อน ผู้สอนจะต้องตอบได้ว่าในการสอนครั้งนั้นๆ ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้านใด และในระดับใด เช่น ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย และจิตพิสัยไปพร้อมกัน โดยให้มีการเรียนรู้ในระดับความรู้ความเข้าใจและการยอมรับ เป็นต้น

๒.กำหนดพฤติกรรมที่คาดหวังว่าผู้เรียนจะแสดงออกหลังจากเกิดการเรียนรู้ แล้วในขั้นนี้ผู้สอนต้องสามารถแปรจุดประสงค์ทั่วไปมาเป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น

-คาดหวังว่า ผู้เรียนจะรู้จักพยัญชนะ ภาวะของการ “รู้” นี้ อาจจะแสดงออกในรูปของพฤติกรรมต่างๆ เช่น อ่านพยัญชนะ ก ถึง ฮ ได้ เขียนพยัญชนะ ก ถึง ฮ ได้ เป็นต้น

๒.๑ พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความสามารถด้านพุทธิพิสัย

๑ ความรู้ ได้แก่ ให้ความหมายได้ บอกเรื่องราวได้ บอกชื่อได้ ตั้งชื่อเรื่องได้ จับคู่ได้ เลือกได้ เขียนโครงร่างได้

๒ ความเข้าใจ ได้แก่ แยกแยะได้ อธิบายได้ แปลความได้ ให้เหตุผลได้ เปลี่ยนข้อความได้ ขยายความได้ คาดคะเนได้ ย่อความได้ ยกตัวอย่างได้

๓ การนำไปใช้ ได้แก่ ปฏิบัติได้ แสดงได้ เตรียมการได้ ผลิตได้ สาธิตได้ คำนวณได้ แก้ปัญหาได้ คิดค้นได้ ทำให้ดูได้

๔ การวิเคราะห์ ได้แก่ จำแนกได้ แบ่งกลุ่มได้ อ้างอิงได้

๕ การสังเคราะห์ ได้แก่ รวบรวมได้ จัดกลุ่มได้ ป้องกันได้ สร้างระบบได้ จัดระเบียบใหม่ได้

๖ การประเมินค่า ได้แก่ เกิดความพอใจ เห็นความแตกต่าง เปรียบเทียบได้ สรุปความได้ วิจารณ์ได้ ตัดสินได้ แปลความได้ สัมพันธ์เรื่องราวได้

๒.๒ พฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความสามารถด้านจิตพิสัย

๑ การรับ ได้แก่ สอบถาม ทำตาม ให้เลือกบรรยาย ชี้ บอกชื่อ ตอบ บอกตำแหน่งที่ตั้ง

๒ การตอบสนองได้แก่ ตอบ ช่วยเหลือ ทำตาม อภิปราย ปฏิบัติ เสนอ อ่าน รายงาน เลือก เขียน

๓ การเห็นคุณค่า ได้แก่ ทำให้สำเร็จ อธิบาย ทำตาม ริเริ่ม ร่วมให้ข้อเสนอ รายงาน มีส่วนร่วม ศึกษา

๔ การจัดรวบรวม ได้แก่ จัด รวม เปรียบเทียบ ชี้ ผสมผสาน จัดระเบียบ เตรียมการ สัมพันธ์ สังเคราะห์

๕ การจัดรวบรวม ได้แก่ ต้องการ ต่อต้าน จัดการ หลีกเลี่ยง

๒.๓ พฤติกรรมที่บ่งถึงความสามารถด้านทักษะพิสัย

๑ แสดงให้ถูกลักษณะ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง โดนบอล

๒ ปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น เลื่อย เจาะ ตอดตะปู ติดตั้ง

๓ แสดงได้คล่องแคล่ว เช่น เต้น รำไทย

๔ ทำงานได้รวดเร็ว ถูกต้อง และสวยงาม เช่น เขียนหนังสือ ทำงาน

๕ ทำงานคล่องแคล่วและปลอดภัย เช่น การขับรถ หรือการทำงาน

โดยทำที่ระบุว่ามีทักษะ ได้แก่ จัดตั้ง สร้าง ทำ ฝึกหัด บรรจุ ฯลฯ

๓.กำหนดสถานการณ์หรือเงื่อนไข

สถานการณ์จะทำให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมที่คาดหวังมี ๓ ลักษณะคือ

๑ สถานการณ์ที่เป็นเนื้อหา เช่น อธิบายความสำคัญของน้ำได้ บอกคุณสมบัติของก๊าซคลอรีนได้ จากตัวอย่างนี้ คำว่า “อธิบาย” และ “บอก” เป็นพฤติกรรมที่คาดหวัง ส่วน คำว่า “ความสำคัญของน้ำ” และ “คุณสมบัติของก๊าซคลอรีน” เป็นเนื้อหา ซึ่งใช้เป็นสถานการณ์ที่กำหนดให้พฤติกรรมที่เกิดขึ้นมีขอบเขตเฉพาะเจาะจงลงไป

๒ สถานการณ์ที่เป็นสิ่งเร้า ใช้เป็นตัวเร้าให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมต่างๆ เช่น เมื่อให้ตัวอย่างสัตว์ ๑๐ ชนิด นักเรียนสามารถบอกได้ว่าสัตว์พวกนี้เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ในที่นี้ ข้อความว่า “เมื่อให้ตัวอย่างสัตว์ ๑๐ ชนิด” เป็นสถานการณ์ที่เป็นสิ่งเร้า

๓ สถานการณ์ที่เป็นเงื่อนไข ใช้เป็นเงื่อนไขของการกระทำ หรือพฤติกรรมที่แสดงออก เช่น

-สามารถแบ่งครึ่งเส้นตรงที่กำหนดให้ได้ โดยใช้วงเวียน

-สามารถอธิบายลักษณะของนกเป็ดน้ำได้ โดยไม่ต้องเปิดตำรา

ข้อความ “โดยใช้วงเวียน” และ “โดยไม่ต้องเปิดตำรา” เป็นสถานการณ์ที่เป็นเงื่อนไข

๔.กำหนดกฎเกณฑ์

เกณฑ์เป็นส่วนที่ถูกระบุถึงระดับความสามารถของพฤติกรรมที่แสดงออกในขั้นต่ำสุดที่ครูจะยอมรับว่านักเรียนจะเกิดการเรียนรู้จริง เช่น

-นักเรียนสามารถยกตัวอย่างของคุณสมบัติของก๊าซคลอรีนได้ถูกต้องทั้งหมด

– นักเรียนสามารถยกตัวอย่างประกอบได้อย่างน้อย ๒ ตัวอย่าง

๑ กำหนดเกณฑ์เป็นปริมาณ คือ กำหนดจำนวนในการปฏิบัติได้ถูกต้อง เช่น คำนวณโจทย์เลขคณิตได้ถูกต้องอย่างน้อย ๖ ข้อ จาก ๙ ข้อ หรือตอบคำถามได้ถูกต้อง ๘๐ เปอร์เซ็นต์

๒ กำหนดเกณฑ์เป็นความเร็ว คือ การกำหนดเกณฑ์เป็นเวลาที่จะกำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เช่น จัดตั้งเครื่องมือการทดลองเสร็จเรียบร้อยภายใน ๑๐ นาที หรือ พับกระดาษเป็นรูปเรือได้ภายใน ๒ นาที เป็นต้น

การกำหนดเกณฑ์ สามารถยืดหยุ่นได้ตามการตัดสินของครู ซึ่งครูจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

ก.ระดับความสามารถของนักเรียน

ข.ระดับความยากง่ายของเนื้อหา

ค.ความสำคัญของเนื้อหา

๕.เขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม

เมื่อกำหนดองค์ประกอบทุกส่วนของจุดประสงค์ได้แล้วก็ลงมือเขียนโดยยึดหลักการเขียนที่กล่าวมา

๖.พิจารณาทบทวนจุดประสงค์ที่กำหนดขึ้น

เพื่อดูว่าจุดประสงค์เชิงพฤติกรรมนั้น ครบถ้วนตามเนื้อหาและกาเรียนรู้ด้านต่างๆหรือไม่มีความชัดเจนที่ผู้อ่านจะอ่านได้เข้าใจตรงกันหรือไม่ มีความเหมาะสมของนักเรียนหรือไม่ และครูสามารถจัดสถานการณ์เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมที่คาดหวังได้หรือไม่ และใช้เกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่

ตัวอย่างจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม

๑.เมื่อจัดอุปกรณ์ที่จำเป็นให้นักเรียนสามารถจัดตั้งเครื่องมือการทดลองการเตรียมก๊าซออกชิเจนได้ถูกต้องภายใน ๑๕ นาที

๒.เมื่อกำหนดคำศัพท์ภาษาไทย ๑๐ คำ นักเรียนสามารถแยกได้ว่า คำใดเป็นคำกริยา คำใดเป็นสรรพนาม ได้ถูกต้องทุกคำ

๓.หลังจากเรียนเรื่อง เศษส่วน นักเรียนสามารถทำแบบฝึกหัดได้ถูกต้องอย่างน้อย ๘ ข้อ ใน ๑๐ ข้อ

การนำจุดประสงค์ในการสอนไปปฏิบัติ

๑.กำหนดวิธีการสอน

๒.กำหนดสื่อการสอนควรเป็นสิ่งที่ทำให้การสอนดำเนินไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๒.๑ วิธีสอนกับสื่อการสอนควรเป็นสิ่งที่ทำให้การสอนดำเนินไปสู่จุดประสงค์ที่กำหนดไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๒.๒ ความพร้อมของห้องเรียน สภาพของโรงเรียน

๒.๓ ความพร้อมของนักเรียน ความรู้พื้นฐานของนักเรียน

๒.๔ ความพร้อมของครู

๓. กำหนดขึ้นตอนการสอน

๔.กำหนดแนวการประเมินผล ในการประเมินผลครูควรปฏิบัติ คือ ครูควรจะใช้วิธีการประเมินผลหลายทาง เช่น ใช้แบบสอบถาม การสังเกต การทดสอบ หรือ พิจารณาจากผลงานที่ได้จากการเรียน