Data governance เกี่ยวข้องกับหลักการข้อใดของรัฐบาลดิจิทัลมากที่สุด

เว็บไซต์ของเรามีการเก็บคุกกี้ซึ่งเก็บข้อมูลว่าคุณใช้งานเว็บไซต์ของเราอย่างไรและช่วยให้เราจดจำคุณได้ เราใช้ข้อมูลนี้เพื่อนำมาสู่การทำให้ประสบการณ์การใช้เว็บไซต์ดียิ่งขึ้น และสามารถคลิกที่ ยอมรับ เพื่อยอมรับคุกกี้ทั้งหมด Privacy policyOk

ข้อมูลจัดเป็นทรัพย์สินที่สำคัญในการดำเนินงานของหน่วยงาน ภาครัฐจึงได้ให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลมาใช้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้กับทุกภาคส่วน แต่ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาเชิงนโยบายและปฏิบัติ ทั้งในเรื่องความซ้ำซ้อนของข้อมูล ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล (เช่น การรักษาความลับ การเข้าถึงข้อมูล การรักษาความเป็นส่วนบุคคล) คุณภาพของข้อมูล (เช่น ความถูกต้อง ความครบถ้วน ความเป็นปัจจุบัน) การเปิดเผยข้อมูล (เช่น หน่วยงานเจ้าของข้อมูลไม่อนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล กระบวนการขอใช้ข้อมูลซับซ้อนและใช้เวลานาน ข้อมูลไม่อยู่ในรูปแบบที่ใช้งานต่อได้ง่าย) และยังไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ประเด็นปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้อาจเป็นผลมาจากการบริหารจัดการข้อมูลที่ไม่ครอบคลุมและไม่ชัดเจนของหน่วยงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการและแนวปฏิบัติในธรรมาภิบาลข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้การได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance for Government) จึงถูกจัดทำขึ้น เพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการข้อมูล โดยประกอบด้วย สภาพแวดล้อมของธรรมาภิบาลข้อมูล กฎเกณฑ์หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานกับข้อมูล บทบาทและความรับผิดชอบในธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ กระบวนการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และการวัดการดำเนินการและความสำเร็จของธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ กล่าวคือ บุคคลที่ได้รับบทบาทในธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ จะมีหน้าที่ในการกำหนดขอบเขต กฎเกณฑ์ และนโยบายข้อมูลที่ใช้ในกระบวนการธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อควบคุมและตรวจสอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ตั้งแต่การสร้าง การจัดเก็บ การประมวลผล การใช้ การเผยแพร่ จนถึงการทำลาย โดยกฎเกณฑ์และนโยบายข้อมูลต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละหน่วยงาน การวัดผลการดำเนินการช่วยให้เห็นระดับการดำเนินการของธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของการดำเนินการหรือคุณภาพของข้อมูล ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ นำไปปรับใช้ให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของแต่ละหน่วยงานเพื่อให้สามารถปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

สรุปเนื้อหา เรื่อง การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data governance) โดย คุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ ฝ่ายที่ปรึกษาดิจิทัลโซลูชันส์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564

เนื้อหาหลักนำเสนอ

  • นิยามของธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
  • เหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
  • ข้อมูลที่ดีตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐมีลักษณะอย่างไร
  • องค์ประกอบของการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ

Governance คืออะไร

Governance เป็นคำศัพท์ทางด้านรัฐศาสตร์ หมายถึง การกำหนดสิทธิ หน้าที่ อำนาจ ความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการต่างๆ อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานได้อย่างโปร่งใส

คำว่า Governance ใช้ได้ในหลายเรื่อง เช่น

  • Governance ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 84 85 และ 86 ที่กำหนด วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง วงเงินจัดซื้อจัดจ้าง และผู้มีอำนาจพิจารณาอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง
  • Governance ของการแข่งขันกีฬา เช่น Hawke eye เทคโนโลยีเพื่อช่วยตัดสินใจว่าลูกเทนนิสตกในหรือนอกเส้นสนามแข่งขัน ผู้เล่นฝั่งใดควรได้แต้ม โดยผู้เล่นเป็นผู้ร้องขอให้ดูข้อมูลหรือภาพนี้ในกรณีที่คิดว่าตนเองน่าจะได้แต้มจากลูกดังกล่าวจากผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
  • Governance ของงานด้านสาธารณสุข เช่น COVIDSafe Application ของประเทศออสเตรเลีย เพื่อสอบสวนและติดตามผู้ป่วย COVID-19 โดยหน่วยงานที่มีสิทธิเข้าถึงและใช้ข้อมูลคือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเท่านั้น เพื่อประโยชน์ต่อการสอบสวนและติดตามผู้ป่วย COVID-19

ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data governance) หมายถึงอะไร

ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ หมายถึง การกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้เสียในการบริหารจัดการข้อมูลทุกขั้นตอนเพื่อให้การได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัย

เหตุผลและความจำเป็นใดที่ต้องจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data governance)

ประเทศไทยได้จัดทำนโยบาย Thailand 4.0 ขึ้น เพื่อพยายามพัฒนาประเทศไทยจากประเทศกำลังพัฒนาสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐรูปแบบเดิมที่ทำงานแบบแยกส่วนและไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเท่าที่ควรไม่สามารถตอบโจทย์นโยบายดังกล่าว จึงจำเป็นที่ต้องปรับปรุงเรื่องดังกล่าวนี้ และปรับเปลี่ยนรัฐบาลแบบเดิมสู่รัฐบาลดิจิทัล ซึ่ง หลักการสำคัญของรัฐบาลดิจิทัล ประกอบด้วย 2D (Digitalisation และ Data driven) และ 1C (Citizen centric)

  • Digitalisation คือ การปฏิรูปการทำงานและการให้บริการให้เป็นดิจิทัล
  • Data driven คือ การขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลที่ดี ซึ่ง การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data governance) เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้

เป้าหมายของ Digitalisation และ Data driven คือ

  • Citizen Centric คือ การยึดถือประโยชน์สุขและความสะดวกสบายของประชาชนเป็นสำคัญ

ประโยชน์ของการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data governance) คืออะไร

การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data governance) มีประโยชน์ คือ เพื่อให้ข้อมูลของหน่วยงานเป็นข้อมูลที่ดี เพื่อใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ ขยายความคือ เพื่อใช้บูรณาการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น (Data integration) เปิดเผยข้อมูลสู่ประชาชน (Open data) และ วิเคราะห์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ (Data analytics) นำไปสู่ การตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูล บริการที่มีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย นวัตกรรมจากข้อมูล เป้าหมายเพื่อ ข้อมูลที่ถูกต้อง ส่งผลต่อความพึงพอใจสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน และยกระดับการบริหารงานและการให้บริการประชาชนสำหรับหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ เราทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data governance) ในชีวิตประจำวันและการทำงาน เช่น

  • บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลจะสอบถามหรือทวนชื่อ-นามสกุลและวันเดือนปีเกิดของผู้ป่วยอย่างสม่าเสมอ เพื่อยืนยันตัวบุคคล
  • ระเบียบวาระรับรองรายงานการประชุม เพื่อตรวจสอบคุณภาพรายงานการประชุม และความเห็น มติหรือข้อสั่งการ
  • โหราศาสตร์ ราศีกับวันเดือนปีเกิด นิยามวันเดือนเพื่อระบุราศี เช่น 16 ส.ค.-16 ก.ย. หมายถึง ราศีสิงห์ เนื่องจากถ้าไม่นิยามหรือระบุขอบเขตวันเดือนปีเพื่อกำหนดราศี คนอ่านดวงอาจจะดูราศีตนเองคลาดเคลื่อน ซึ่งนี้เป็นตัวอย่างการสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐานข้อมูล
  • การจอดรถในอาคารแล้วถ่ายรูปสถานที่จอดรถเพื่อป้องกันการลืมสถานที่จอดรถ ก็เป็นการสร้างหลักเกณฑ์ในการเก็บข้อมูล เพื่อตนเอง

ข้อมูลที่ดีตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data governance) มีลักษณะอย่างไร

ข้อมูลที่ดีตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data governance) ประกอบด้วย 3 ข้อ ได้แก่

  1. ข้อมูลที่มั่นคงปลอดภัย (Data security) อย่างน้อยมี ISO/IEC 27001 : 2013 เป็นแนวทาง
  2. ข้อมูลที่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data privacy) มี พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นแนวทาง
  3. ข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data quality)

ข้อมูลที่มั่นคงปลอดภัย (Data security)

  • การกำหนดหมวดหมู่และชั้นความลับของข้อมูล
  • การกำหนดสิทธิหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องกับชุดข้อมูล
  • การกำหนดมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบที่เกี่ยวข้องกับชุดข้อมูล
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และระเบียบ ว่าด้วยการรักษา
  • ความลับของทางราชการ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ใจความสำคัญ คือ

  • Confidentiality หรือความลับของข้อมูล
  • Integrity ใครมีสิทธิ์แก้ไขข้อมูล
  • Availability ความพร้อมใช้ และความจำเป็นในการสำรองข้อมูล

ข้อมูลที่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Data privacy)

  • พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นแนวทาง

ใจความสำคัญ คือ

  • การขอความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data subject)
  • การไม่เปิดเผยข้อมูลโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ข้อมูลที่มีคุณภาพ (Data quality)

  • ควรตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งอ้างอิง (Reference) ที่เชื่อถือได้เท่านั้น เช่น กฎหมาย หนังสือราชการ ประกาศ คาสั่ง ฯลฯ
  • มี sense of data ซึ่งเกิดจากความรู้และประสบการณ์ที่มีจากการคุกคลีกับข้อมูลชุดนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบหรือดูแลข้อมูลนั้นมานาน จนสามารถพบความผิดปกติหรือตรวจสอบข้อมูลได้ เช่น ข้อมูลบุคคลต้องเป็นทีม HR

ใจความสำคัญ

  • ถูกต้อง
  • ครบถ้วน
  • เป็นปัจจุบัน
  • มีมาตรฐานเดียวกัน
  • ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน

ประเด็นสำคัญและข้อสังเกตอย่างไรเกี่ยวกับการตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพข้อมูล

10 ประเด็นสำคัญและข้อสังเกตเกี่ยวกับการตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพข้อมูล

  1. แหล่งอ้างอิง (Reference) ที่น่าเชื่อถือ
  2. จัดลำดับแหล่งอ้างอิงตามความน่าเชื่อถือ
  3. มีการกำหนดสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องกับข้อมูลอย่างชัดเจน
  4. การตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพของข้อมูลต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ
  5. มีการกำหนดมาตรฐานข้อมูลอย่างชัดเจน
  6. เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียติดต่อกับเจ้าของข้อมูลในกรณีมีข้อสงสัยหรือพบข้อผิดพลาด
  7. มีการจัดทำ Data dictionary/Data index และ Metadata สำหรับชุดข้อมูล
  8. เมื่อมีการปรับปรุงข้อมูลต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องปรับปรุง Data dictionary/Data index และ Metadata สำหรับชุดข้อมูลนั้นหรือไม่
  9. ปรับปรุงข้อมูลในแหล่งจัดเก็บทุกแหล่งให้สอดคล้องกันเสมอ
  10. ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างสม่ำเสมอ

องค์ประกอบของการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐประกอบด้วยอะไรบ้าง

  1. จัดตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
  2. จัดทำพจนานุกรมข้อมูล (Data dictionary) ฟิลด์/คอลัมน์หมายความว่าอะไร ต้องการสื่อถึงข้อมูลอะไร รูปแบบของข้อมูลเป็นอย่างไร แหล่งอ้างอิงของข้อมูลแต่ละฟิลด์/คอลัมน์ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ เผยแพร่ให้ใครเข้าถึงได้บ้าง มีชั้นความลับหรือไม่
  3. จัดทำคำอธิบายชุดข้อมูล (Metadata) ชื่อชุดข้อมูล เจ้าของข้อมูล คำสาคัญ แหล่งอ้างอิง มีข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ขอบเขตการเผยแพร่ข้อมูล ระดับชั้นความลับ แหล่งจัดเก็บ การปรับปรุงข้อมูล วันที่ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด
  4. จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับชุดข้อมูล (Dataset guideline) โดยคำนึงถึง Data security, Data
    privacy และ Data quality

ทั้งนี้ การเลือกชุดข้อมูลเพื่อจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ สามารถเลือก 1. ชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักขององค์กร มีผลกระทบในวงกว้าง และ เกี่ยวข้องกับหลายส่วนงาน หรือ 2. ชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานภายในหน่วยงานไม่สลับซับซ้อน มีเจ้าของข้อมูลที่ชัดเจน และสามารถดำเนินการได้ทันที

จากเรื่องการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูล (Data governance) ข้างต้น ทำให้ชวนนึกโยงไปที่งานห้องสมุดที่มีการกำหนดมาตรฐานในการลงรายการข้อมูลเพื่อเป็นตัวแทนหนังสือ เพื่อสร้างคุณภาพของข้อมูล (Data quality) ตัวแทนหนังสือ เช่น

  • หัวเรื่อง (Subject heading) หนังสือ เนื่องจากคำที่มาจากชื่อเรื่อง หมายเหตุ หรือสารบัญของหนังสือ มีลักษณะเป็นภาษาธรรมชาติ (Natural language) หรือ ศัพท์อิสระ (Free text) บรรณารักษ์แต่ละคนก็สามารถนึกคำที่แตกต่างและหลากหลายกันไป ก่อให้เกิดปัญหาในการรวบรวมหนังสือที่มีเนื้อหาเดียวกันหรือเหมือนกันไว้ด้วยกัน ภายใต้คำเดียวกัน โดยเฉพาะการค้นหาหนังสือจากคำสำคัญ (Keyword) ซึ่งเป็นภาษาธรรมชาติ (Natural language) หรือ ศัพท์อิสระ (Free text) จึงมีการกำหนดหัวเรื่อง (Subject heading)  ซึ่งเป็นคำที่กำหนดขึ้นอย่างมีหลักเกณฑ์ เป็นศัพท์บังคับ (Controlled vocabulary) ที่มีความหมายเฉพาะแทนเนื้อหาของหนังสือ เพื่อรวบรวมหนังสือที่มีเนื้อหาเดียวกันหรือเหมือนกันไว้ด้วยกัน ภายใต้คำเดียวกัน เพื่อให้บรรณารักษ์และผู้ใช้ใช้เป็นคำในการสืบค้นหนังสือ อ้างอิงตามมาตรฐาน เช่น Library of Congress Subject Headings และ หัวเรื่องภาษาไทยของคณะทำงานกลุ่มวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา
  • รายการหลักฐานสำหรับชื่อ (Name authority file) หมายถึง รายการหลักฐานที่เป็นมาตรฐานสำหรับชื่อต่างๆ ทั้งชื่อบุคคลหรือชื่อหน่วยงานที่กำหนดขึ้นจากการตรวจสอบรายการหลักและรายการเพิ่มในแหล่งข้อมูลรายการหลักฐานชื่อบุคคลและชื่อนิติบุคคลที่อ้างอิงได้
  • เมทาดาทา (Metadata) ข้อมูลที่จัดทำขึ้นอย่างมีโครงสร้าง (Structured information) เพื่อใช้บรรยายข้อมูลอีกข้อมูลหนึ่ง เช่น ข้อมูลเมทาดาทาของหนังสือเป็นข้อมูลที่ใช้บรรยายหนังสือแต่ละเล่ม (เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อเรื่อง สารบัญ หมายเหตุ คำสำคัญ หัวเรื่อง) เพื่อให้การสืบค้นสารสนเทศ การนำสารสนเทศไปใช้และการจัดการสารสนเทศทำได้ง่ายขึ้น

Number of View :8490