ชาวสุเมเรียนประดิษฐ์ตัวอักษรใด

เชื่อกันมาแต่เดิมว่า “ตัวอักษร” ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือ “ตัวอักษรลิ่ม” หรืออักษร “คูนิฟอร์ม” (cuneiform) ของชาวสุเมเรียน ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของพื้นที่ราบลุ่มอันอุดมของแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส หรือที่เรียกกันว่าเมโสโปเตเมียในภูมิภาคตะวันออกกลาง

โดยถ้าจะชี้เป้าลงไปให้ชัดๆ เลยก็คือ บริเวณพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศอิรักในปัจจุบันนั่นแหละนะครับ

อักษรลิ่มถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อช่วยในการจดจำ หรือบันทึกบัญชีสิ่งของด้วยวิธีที่คล้ายชวเลข หรือภาษาโทรเลข

แต่การจดบันทึกที่ว่าก็เป็นที่นิยมนับตั้งแต่เริ่มพบหลักฐานครั้งแรกเมื่อเฉียดๆ 5,400 ปีที่แล้วและยังใช้กันอย่างแพร่หลาย และพัฒนารูปแบบจนแตกต่างกันออกไปทั่วดินแดนเมโสโปเตเมีย ในอาณาจักร และยุคสมัยต่างๆ ในที่สุด

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ถึงแม้อักษรคูนิฟอร์มจะถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยพวกสุเมเรียน ซึ่งเป็นสังคมเมืองที่ซับซ้อนแห่งแรกๆ ของเมโสโปเตเมีย แต่อักษรชนิดนี้ไม่ใช่ของชาวสุเมเรียนเท่านั้น ใครๆ ที่ใช้อักษรลิ่มนั้นก็เรียกว่าอักษรคูนิฟอร์มได้ทั้งหมด เพราะคำว่า “คูนิฟอร์ม” นั้นเป็นคำเรียกในสมัยหลัง ที่พวกฝรั่งเอาไปใช้เรียกตัวอักษรประเภทนี้ต่างหาก

เพราะคำว่า “คูนิฟอร์ม” ถูกผูกขึ้นมาใหม่จากรากในภาษาละติน คือคำว่า “cuneus” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “ลิ่ม” นั่นเอง

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่นักอ่านภาษาโบราณบางท่านยังได้อธิบายต่อไปอีกว่า ตัวอักษรลิ่มนี่แหละครับที่ส่งอิทธิพลให้พวกอียิปต์ประดิษฐ์ตัวอักษร “เฮียโรกลิฟิก” (hieroglyphics) เมื่อราว 5,200 ปีที่แล้ว แต่ได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ของตัวอักษรในฐานะเครื่องช่วยจำสำหรับการทำบัญชีมาเป็นเครื่องช่วยจำในคติความเชื่อทางศาสนา

พิสูจน์กันได้ง่ายๆ จากการที่พบอักษรพวกนี้อยู่ในศาสนสถานและสุสานอย่างพีระมิดนี่แหละ

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ เจ้าคำว่า “เฮียโรกลิฟิก” นั้นเป็นคำที่ผูกขึ้นมาจากรากในภาษากรีกสองคำ ได้แก่ “hieros” ที่แปลว่า “ศักดิ์สิทธิ์” และ “glypho” ที่แปลว่า “จารึก” ซึ่งผมคงจะไม่ต้องบอกนะครับว่ารวมความแล้วมันแปลว่าอะไร?

ผู้ที่ผูกศัพท์คำนี้ขึ้นมาด้วยภาษากรีกก็คือชาวกรีกนี่เอง ติตุส ฟลาวิอุส คลีเมนส์ (Titus Flavius Clemens) หรือที่มักจะเรียกกันว่า คลีเมนส์แห่งอเล็กซานเดรีย นักเทววิทยาชาวคริสเตียน ที่ลืมตาขึ้นดูโลกที่เมืองเอเธนส์ เมื่อราวๆ พ.ศ.693 คือใครคนนั้น

และจากคำที่ท่านได้ผูกขึ้นมาใช้เรียกตัวอักษรเหล่านี้แล้ว ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า ตัวอักษรเหล่านี้มีหน้าที่การใช้งานและสถานภาพอย่างไรในยุคของท่าน เพราะตัวอักษรพวกนี้ยังถูกใช้งานต่อเนื่องมาจนถึงช่วง พ.ศ.939 เลยทีเดียว

ดังนั้น สำหรับเจ้าของตัวอักษรพวกนี้คือชาวอียิปต์โบราณเอง จึงไม่ได้เรียกพวกมันว่า “เฮียโรกลิฟิก” หรอกนะครับ

พวกเขาเรียกตัวอักษรเหล่านี้ว่า “มิดิว เนตเชอร์” (medew netcher หรือที่สะกดตามอักขรวิธีโบราณว่า mdw mTr) ซึ่งก็แปลว่า “คำพูดของพระเจ้า” ต่างหาก

ที่เรียกว่าเป็นคำพูดของพระเจ้า ก็แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของตัวอักษรและหน้าที่การใช้งานที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่พวกอียิปต์สมัยโน้นยังมีความเชื่อที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้นอีกว่า ตัวอักษรเหล่านี้เป็นของที่เทพเจ้าธอธ (Thoth) เทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา ที่มีเศียรเป็นนกกระสา ประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วก็ประทานมาให้กับมนุษย์โลกใช้เลยทีเดียว

สำหรับพวกอียิปต์โบาณ ที่มีตัวอักษรใช้ห่างจากอักษรลิ่มของพวกสุเมเรียนไม่กี่ร้อยปีนั้น ตัวอักษรของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ใช้ในการสื่อสารกับพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าที่จะใช้จดบันทึกอะไรในเชิงการค้าอย่างของพวกสุเมเรียน

 

อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ “อักษรจีน” โดยการขุดค้นในแถบพื้นที่มณฑลซีอาน ประเทศจีนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานี้ นักอ่านจารึกโบราณของจีนอ้างว่า ตัวอักษรจีนมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 6,000 ปีมาแล้ว เบียด “ตัวอักษรลิ่ม” ของพวกสุเมเรียน เจ้าของตำแหน่งตัวอักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคนเดิมเสียจนตกขอบเวที

(แต่นี่ก็เป็นเพียงความฟากที่ดังมาจากฝ่ายจีนเท่านั้น เอาเข้าจริงแล้วก็ยังไม่ค่อยแน่ใจได้นักว่าตัวอักษรของจีนนั้นเก่าแก่ไปถึงขนาดที่พวกเขาเคลมจริงๆ หรือเปล่า?)

หลักฐานที่ได้จากการขุดค้นและวิจัยทางด้านโบราณคดีช่วยให้เราทราบว่า แต่เดิมตัวอักษรโบราณของจีนน่าจะเกี่ยวพันอยู่กับความเชื่อเชิงศาสนาเพราะโดยมากพบอยู่บนกระดูกเสี่ยงทาย หรือกระดองเต่า (อย่างไรก็ดี ไม่มีหลักฐานว่าชาวจีนโบราณใช้ตัวอักษรทำประโยชน์อย่างอื่นด้วยหรือไม่?)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทางด้านการเขียนอักษรจีน (National Museum of Chinese Writing) ที่เมืองอันหยาง มณฑลเหอเป่ย ได้เปิดเผยว่า ทุกวันนี้มีการค้นพบตัวอักษรบนกระดูกเสี่ยงทายและกระดองเต่าเหล่านี้ถึง 5,000 ตัวอักษร แต่สามารถแปลความหมายเพียงแค่ราว 2,000 คำเท่านั้น

ซึ่งถ้าหากจะไม่แคร์ว่าตัวอักษรของใครเก่าแก่กว่ากันแน่แล้ว ในช่วงเวลาที่ใกล้ๆ กันนั้น ตัวอักษร (โดยเฉพาะอักษรภาพ อย่างอักษรจีนและอักษรเฮียโรกลิฟิก) ที่แสดงถึงสิ่งของ, ความรับรู้ในวัฒนธรรมหรือสังคมนั้นๆ, ความซับซ้อนของสังคม ฯลฯ แล้ว เมื่อ 4,000 ปีบวกลบนิดหน่อยนั้น พวกอียิปต์เพิ่งจะมีตัวอักษรใช้แค่ 700 ตัว ในขณะที่สัญลักษณ์ที่เกิดจากการประสมตัวอักษรลิ่มเมื่อเฉียดๆ 5,000 ปีที่แล้วนั้นก็มีอยู่แค่ราว 1,500 ตัวอักษรเท่านั้นเอง

และถ้าจะใช้จำนวนตัวอักษรสำหรับเป็นมาตราชี้วัดถึงความซับซ้อนของอารยธรรมต่างๆ ในโลกแล้ว แน่นอนว่าถ้าวัดกันในแง่นี้แล้ว จีนชนะขาดลอย

ชาวสุเมเรียนประดิษฐ์ตัวอักษรใด

โดย สุวนันท์ พงษ์ขาวน้อย    

หากจะกล่าวถึงแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเก่าแก่ที่สุด ผู้คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึง  อารยธรรมเมโสโปเตเมีย  ที่นักประวัติศาสตร์ต่างเชื่อว่า   เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณแห่งแรกของโลก   แต่แหล่งอารยธรรมจะเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องมีมนุษย์เป็นผู้ริเริ่มและสร้างสรรค์อารยธรรม แต่หลายๆ ท่านทราบกันหรือไม่ว่าชนชาติแรกที่เป็นผู้ริเริ่มและสร้างสรรค์อารยธรรมและเป็นผู้วางรากฐานทางอารยธรรมเมโสโปเตเมียนั้นคือชนชาติใด

ย้อนไปเมื่อ 3000 ปี ก่อนคริสตกาล อารยธรรมเมโสโปเตเมียได้เริ่มต้นขึ้นโดยชนชาติสุเมเรียน  ชนชาติที่ผู้คนต่างเชื่อกันว่า  ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากที่ราบสูงอิหร่าน มาสู่บริเวณตอนล่างสุดของลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติส  และมีการเรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า  ซูเมอร์ (Sumer) ซึ่งเป็นบริเวณที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของนครรัฐ (city-state) แห่งแรกของโลกก็ว่าได้  

ชาวสุเมเรียนประดิษฐ์ตัวอักษรใด


ที่มา:http://sittiponinon.wordpress.com


ชาวสุเมเรียนมีชีวิตความเป็นอยู่จากหมู่บ้านเล็กๆ  ชุมชนวัด  แล้วจึงมีการเปลี่ยนมาเป็นชีวิตในเมือง   ที่มีการปกครองในรูปแบบนครรัฐหลายๆ แห่ง  เช่น เมืองเออร์ (Ur) เมืองอูรุก (Uruk) เมืองคิช (Kish) และเมืองนิปเปอร์ (Nippur)  นครรัฐแต่ละเมืองไม่มีกษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนคร แต่จะมีพระเป็นผู้ดูแลและควบคุมกิจการต่างๆ  พระจะมีอำนาจในการปกครองเป็นประมุขสูงสุด  เปรียบเสมือนตัวแทนของพระเจ้า นครรัฐแต่ละเมืองมีฐานะเป็นอิสระต่อกันและเป็นศูนย์กลางของการปกครองที่ไม่ขึ้นตรงกันทำให้บางครั้งเกิดการรบกันเพื่อแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ จึงเป็นเหตุให้ชาวสุเมเรียนไม่สามารถรวบรวมอาณาจักรให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้                                              

ในสังคมของชาวสุเมเรียน ชาวสุเมเรียนมีการจัดระเบียบทางสังคมเพื่อให้ผู้คนภายในนครรัฐสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข  โดยมีการแบ่งชนชั้นทางสังคมซึ่งแบ่งออกเป็นชนชั้นสูง ซึ่งจะประกอบด้วยกษัตริย์  เชื้อพระวงศ์  พระ  ชนชั้นผู้ใหญ่และขุนนาง  ถัดลงมาจะเป็นชนชั้นสามัญ   เป็นบุคคลธรรมดาสามัญชน เสรีชนทั่วไป และเหล่าลูกจ้างของขุนนาง  และชนชั้นสุดท้ายคือ ทาส ที่มีฐานะต่ำสุด ทำหน้าที่รับใช้บุคคลชนชั้นสูง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเฉลยสงคราม ชาวต่างประเทศ หรืออาชญกรที่ถูกลงโทษ
         
ชาวสุเมเรียนมีความเชื่อในเรื่องหลักของเหตุผล เชื่อในโลกปัจจุบันมากกว่าโลกหน้า  และมีความเชื่อในเรื่องเทพเจ้า  จึงทำให้ชาวสุเมเรียนนิยมสร้างศาสนสถานขนาดใหญ่เรียกว่า “ซิกกูแรต” ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากอิฐตากแห้ง  มีรูปร่างแบบสถาปัตยกรรมคล้ายภูเขาขนาดใหญ่  คล้ายปิระมิดแต่เป็นแบบขั้นบันได สร้างบนฐานที่ยกระดับจากพื้นดิน  ข้างบนทำเป็นวิหารเทพเจ้า   ถัดลงมาเป็นที่ตั้งของวัดวาอาราม พระราชวังของกษัตริย์  สุสานหลวง  ซิกกูแรตจึงเป็นสัญลักษณ์ที่ประทับของเทพเจ้าต่างๆ และเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญของชาวสุเมเรียน
         

ชาวสุเมเรียนประดิษฐ์ตัวอักษรใด


ที่มา:http://www.oknation.net/blog/print.php?id=336522


วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสุเมเรียนมีการประกอบอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก แต่เนื่องจากดินแดนเมโสโปเตเมียนั้นเป็นดินแดนที่มีอากาศร้อนและกันดารฝน สภาพอากาศในดินแดนแถบนี้จะแปรปรวนไม่จนสามารถคาดเดาได้  จึงเป็นเหตุทำให้ชาวสุเมเรียนมีการคิดค้น ประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ด้วยภูมิปัญญาของตนเองขึ้น  ชาวสุเมเรียนมีการใช้ระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพสูง ขุดคลองระบายน้ำขึ้น อีกทั้งยังมีประดิษฐ์คันไถ เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องปั้นดินเผา  การทอผ้าและการย้อมผ้าเพื่อใช้นุ่งห่ม

ชาวสุเมเรียนเป็นชนกลุ่มแรกที่รู้จักประดิษฐ์อักษร  อักษรที่ชาวสุเมเรียนประดิษฐ์ขึ้นนี้เรียกว่า “อักษรลิ่ม” หรือ “คูนิฟอร์ม” ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในทางประวัติศาสตร์   เป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาวสุเมเรียน  และด้วยความสำเร็จจากระบบการเขียนทำให้ชาวสุเมเรียนสามารถสร้างวรรณกรรมที่สำคัญขึ้นนั่นก็คือ มหากาพย์ กิลกาเมช เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของวีรบุรุษที่แสวงหาชีวิตอันเป็นอมตะ  นับว่าเป็นวรรณกรรมเรื่องแรกของโลกและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ชาวสุเมเรียนยังมีความสามารถในด้านคณิตศาสตร์ มีการคิดค้นวิธีการคิดเลข บวก ลบ คูณ หาร  การใช้หลัก  60  ซึ่งมีการนำมาใช้ในเรื่องการนับเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน  รวมทั้งการแบ่งวงกลมออกเป็น  360 องศา  อีกทั้งชาวสุเมเรียนยังมีการประดิษฐ์คิดค้นในเรื่องของระบบชั่งตวงวัดและปฏิทิน   ชาวสุเมเรียนได้สร้างปฏิทินขึ้นเป็นครั้งแรก  โดยอาศัยการเฝ้าสังเกตการโคจรของดวงจันทร์  ปฏิทินของชาวสุเมเรียนจึงเป็นปฏิทินแบบจันทรคติ  โดยมีจำนวนวันในหนึ่งปีแค่ 354  วัน

อารยธรรมของชาวสุเมเรียนมีอำนาจปกครองมาเกือบหนึ่งพันปี  แต่สุดท้ายได้สิ้นสุดเมื่อมีพวกชนเผ่าเซมิติกแทรกซึมมาทางตะวันตก  ผู้นำชนเผ่าคือพระเจ้าซาร์กอนแห่งแอกแคดได้มียกกำลังกองทัพลงมาในเชตซูเมอร์และเข้ายึดครองอำนาจการปกครอง ทำให้นครรัฐซูเมอร์ยอมแพ้และล่มสลายลงไปในที่สุด

ชาวสุเมเรียนจึงนับว่าเป็นชนชาติแรกที่เป็นผู้สร้างพื้นฐานที่สำคัญของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ตัวอักษร วรรณกรรม และศิลปกรรม ตลอดจนความเชื่อทัศคติต่างๆ  ในการดำรงชีวิตอยู่  เป็นบ่อเกิดแหล่งอารยธรรมโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีสืบทอดให้เห็นมาจนถึงยุคปัจจุบัน

อ้างอิง

กิตติคุณ ศรีพระจันทร์.(2556), อารยธรรมสุเมเรียน สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2557 จาก http://ruj5555.wordpress.com

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.(2557), ซูเมอร์  สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2557 จาก http://th.wikipedia.org/wiki/ซูเมอร์

Dek-D.( 2554), ชาวสุเมเรียน  สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2557 จาก http://writer.dek-d.com/abjmp-social/story/viewlongc.php?id=773121&chapter=3

ประวัตศาสตร์ และ พระพุทธศาสนา.(2555), แหล่งกำเนิดอารยธรรมโบราณของโลก สืบค้นเมื่อ 13 กันยายน 2557 จาก http://arayatum007.blogspot.com/2012/09/blog-post.html

ว.วณิพก .( 2556 ), กำเนิดอารยธรรมโลก  สืบค้นเมื่อ 16  กันยายน 2557 จาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=889591

แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย  สืบค้นเมื่อ 16  กันยายน 2557 จาก http://mpav48.wikispaces.com/3-1task1meso

นายพิษณุ เดชใด. ( 2552), อารยธรรมเมโสโปเตเมีย  สืบค้นเมื่อ 16  กันยายน 2557 จาก   http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=454