การ สั่งสอน และ เผยแผ่พระ ธรรม แก่ ประชาชน 6 ประการ ได้แก่

02/10/2016 · 1:21 pm

บทบาทของพระภิกษุในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ประเทศไทยประชาชนมากกว่าร้อยละ ๙๕ นับถือพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจึงมีหน้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป หน้าที่สำคัญของชาวพุทธมีดังนี้

บทบาทของพระภิกษุในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 

  1. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว คือ งดเว้นจากการเบียดเบียนกัน ไม่ทำลายทั้งชีวิตตนเองและผู้อื่น
  2. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี งดเว้นอบายมุข 6
  3. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดีด้วยน้ำใจอันงามโดยยึดถือหลักสังคหวัตถุ 4
  4. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง
  5. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เช่น การแสวงหาทรัพย์โดยวิธีสุจริต
  6. บอกทางสวรรค์ให้ คือ การแนะนำวิธีครองตน ครองคน ครองงาน หรือวิธีครองชีวิตให้ได้รับผลดีมีความสุข

บทบาทของพระภิกษุในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

  1. การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธา
  2. การสั่งสอนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเทศนา ปาฐกถาธรรม หรือเผยแผ่ธรรมทางสื่อมวลชน
  3. การเป็นผู้นำในการปฏิบัติธรรม เช่น ฝึกสมาธิเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา

การแสดงธรรมและการปาฐกถาธรรม

การแสดงธรรมและการปาฐกถาธรรมของพระภิกษุ สามารถกระทำได้ทั้งภายในวัดและภายนอกวัด การเผยแผ่ภายในวัด เช่น มีการแสดงพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะ มีการบรรยายธรรมหรือพระธรรมเทศนาในวันอาทิตย์ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนสามารถนำเอาหลักธรรมคำสอนเหล่านี้ไปประพฤติ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสันติสุข พระภิกษุจึงมีหลักการและวิธีการที่แสดงธรรมดังนี้

  1. ภิกษุผู้แสดงธรรมจะต้องเป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ
  2. แสดงธรรมตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้
  3. แสดงธรรมโดยเคารพต่อผู้ฟังธรรม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นชนชั้นใด ไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะ
  4. แสดงธรรมตามหลักองค์ธรรมกถึก คือ ธรรมที่ผู้แสดงธรรมควรตั้งไว้ในใจ 5 ประการคือ
    1. แสดงธรรมไปตามลำดับ คือแสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยาก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นลำดับ
    2. ชี้แจง ยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความตามแนวเหตุผล
    3. แสดงธรรมด้วยเมตตา คือ สอนผู้ฟังด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังอย่างแท้จริง
    4. ไม่แสดงธรรมด้วยการเห็นแก่อามิส คือ สอนโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน
    5. แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักเนื้อหาวิชา มุ่งแสดงธรรม ไม่กล่าวยกย่องตนเองและไม่กล่าวเสียดสี กล่าวข่มผู้อื่น หรือกล่าว“ยกตนข่มท่าน”

หน้าที่ชาวพุทธและมารยาทชาวพุทธ

หน้าที่ชาวพุทธ

พุทธศาสนิกชนยึดถือพระพุทธศาสนาเป็นสรณะในการดำรงชีวิต ในประเทศไทยประชาชนมากกว่าร้อยละ ๙๕นับถือพระพุทธศาสนาเป็นเวลากว่าพันปีแล้วที่พระพุทธศาสนาได้เข้ามาผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย จนแยกกันไม่ออก ความเจริญหรือความเลื่อมของพระพุทธศาสนาย่อมมีผลกระทบต่อสังคมไทย พวกเราชาวพุทธจึงมีหน้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงสืบไป หน้าที่สำคัญของชาวพุทธมีดังนี้

บทบาทของพระภิกษุในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา มีหน้าที่ศึกษาปฏิบัติธรรม เผยแผ่คำสอน สืบต่อพระพุทธศาสนา มีคุณธรรมและหลักความประพฤติที่ต้องปฏิบัติมากมาหน้าที่ของพระภิกษุที่สัมพันธ์กับคฤหัสถ์ ได้แก่ การให้ความอนุเคราะห์ชาวบ้าน ตามหลักปฏิบัติในฐานะที่พระภิกษุเป็นเสมือนทิศเบื้องบนได้แก่

๑. ห้ามปรามสอนให้เว้นจากความชั่ว คือ งดเว้นจากการเบียดเบียนกัน ไม่ทำลายทั้งชีวิตตนเองและผู้อื่น
๒. แนะนำสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในความดี งดเว้นอบายมุข 6
๓. อนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดีด้วยน้ำใจอันงามโดยยึดถือหลักสังคหวัตถุ 4
๔. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง คือ สอนให้รู้จักแยกแยะมิตรแท้ มิตรเทียม ให้คบบัณฑิตเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีพ
๕. ชี้แจงอธิบายทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ในสิ่งที่สดับเล่าเรียนมาแล้ว เช่น การแสวงหาทรัพย์โดยวิธีสุจริต การรู้จักรักษาทรัพย์ และการดำรงชีวิตตามฐานะ
๖. บอกทางสวรรค์ให้ คือ การแนะนำวิธีครองตน ครองคน ครองงาน หรือวิธีครองชีวิตให้ได้รับผลดีมีความสุข

บทบาทของพระภิกษุในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อาจทำได้ดังต่อไปนี้

๑. การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อพระภิกษุประพฤติปฏิบัติชอบตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนและบุคคลผู้พบเห็นโดยทั่วไป

๒. การสั่งสอนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเทศนา ปาฐกถาธรรม หรือเผยแผ่ธรรมทางสื่อมวลชน

๓. การทำกิจกรรมอันเป็นการสงเคราะห์ชาวบ้าน เช่น ช่วยสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ เป็นผู้นำชาวบ้านในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่นรักษาป่า ขุดลอกหนองบึง ส่งเสริมอาชีพสุจริต ตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ธนาคารข้าว ธนาคารโคกระบือ เป็นต้น

๔. จัดกิจกรรมอันเป็นประเพณีและศาสนพิธีในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้ชาวบ้านได้ทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน อันจะทำให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่บ้าน ชุมชน สังคม รวมทั้งการถือโอกาสเทศนาธรรมสั่งสอนให้งดเว้นจากอบายมุข ให้ประพฤติดี หลีกหนีความชั่ว

๕. การเป็นผู้นำในการปฏิบัติธรรม เช่น ฝึกสมาธิเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง

การแสดงธรรมและการปาฐกถาธรรม

การแสดงธรรมและการปาฐกถาธรรมของพระภิกษุ สามารถกระทำได้ทั้งภายในวัดและภายนอกวัด การเผยแผ่ภายในวัด เช่น มีการแสดงพระธรรมเทศนาในวันธรรมสวนะ มีการบรรยายธรรมหรือพระธรรมเทศนาในวันอาทิตย์ ตั้งศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เป็นต้น ส่วนการเผยแผ่ภายนอกวัด เช่น การสนทนาธรรมตามบ้านเรือนประชาชนในโอกาสอันสมควร การบรรยายธรรมหรือการแสดงพระธรรมเทศนาตามที่มีผู้นิมนต์การแสดงธรรมหรือการปาฐกถาธรรมของพระภิกษุ หมายถึง การกล่าวสั่งสอนหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พุทธศาสนิกชนสามารถนำเอาหลักธรรมคำสอนเหล่านี้ไปประพฤติ เพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสันติสุข พระภิกษุจึงมีหลักการและวิธีการที่
แสดงธรรมดังนี้

๑. ภิกษุผู้แสดงธรรมจะต้องเป็นผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ

๒. แสดงธรรมตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้

๓. แสดงธรรมโดยเคารพต่อผู้ฟังธรรม ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นชนชั้นใด ไม่แบ่งแยกชั้นวรรณะ

๔. แสดงธรรมตามหลักองค์ธรรมกถึก คือ ธรรมที่ผู้แสดงธรรมควรตั้งไว้ในใจ ๕ ประการคือ
๔.๑ แสดงธรรมไปตามลำดับ คือแสดงหลักธรรมหรือเนื้อหาวิชาตามลำดับความง่ายยาก มีเหตุผลสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเป็นลำดับ
๔.๒ ชี้แจง ยกเหตุผลมาแสดงให้เข้าใจ คือ ชี้แจงให้เข้าใจชัดในแต่ละแง่แต่ละประเด็น โดยอธิบายขยายความตามแนวเหตุผล
๔.๓ แสดงธรรมด้วยเมตตา คือ สอนผู้ฟังด้วยจิตเมตตา มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังอย่างแท้จริง
๔.๔ ไม่แสดงธรรมด้วยการเห็นแก่อามิส คือ สอนโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน
๔.๕ แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น คือ สอนตามหลักเนื้อหาวิชา มุ่งแสดงธรรม ไม่กล่าวยกย่องตนเองและไม่กล่าวเสียดสี กล่าวข่มผู้อื่น หรือกล่าว“ยกตนข่มท่าน”

๕. แสดงธรรมโดยยึดลักษณะการสอนของพระพุทธเจ้า เรียกว่า อาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ๓ ประการคือ
๕.๑ ผู้แสดงธรรมต้องมีความรู้อย่างแท้จริง และสามารถถ่ายทอดความรู้ของตนให้กับผู้อื่นรู้แจ้งเห็นจริงตามด้วย
๕.๒ แสดงธรรมด้วยเหตุและผล ไม่กล่าวเลื่อนลอย หรือกล่าวโดยไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน
๕.๓ แสดงธรรมให้เห็นจริง มองเห็นชัดเจนจนต้องยอมรับ และนำไปปฏิบัติให้ได้ผลจริง

๖. ผู้แสดงธรรมจะต้องประกอบไปด้วยความดี ๓ ประการคือ ไม่มีราคะ (ความกำหนัด) ไม่มีโทสะ (ความคิดประทุษร้าย ) ไม่มีโมหะ
(ความหลงผิด)

๗. แสดงธรรมโดยหลักการสอน ๔ วิธีคือ
๑ ) สอนด้วยวิธีละมุนละม่อม
๒ ) สอนด้วยวิธีรุนแรง (สอนโดยการว่ากล่าวตักเตือน)
๓ ) สอนด้วยวิธีละมุนละม่อมและรุนแรง
๔ ) ฆ่าเสีย (สอนโดยไม่ว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนบุคคลนั้นเลย)

๘. เมื่อแสดงธรรมถ้าจะระบุถึงบุคคล จะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ๖ประการคือ
๘.๑ เพื่อแสดงถึงการกระทำของคนโดยเฉพาะตัว
๘.๒ เพื่อแสดงถึงอนันตริยกรรม (กรรมหนัก เช่น ฆ่าบิดามารดา เป็นต้น)
๘.๓ เพื่อแสดงถึงพรหมวิหาร 4 (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา)
๘.๔ เพื่อแสดงถึงบุพเพนิวาสานุสติญาณ (เป็นบุพเพสันนิวาส)
๘.๕ เพื่อแสดงถึงทักขิณาวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์ของการทำบุญ)
๘.๖ เพื่อไม่ละทิ้งสมมติของโลก (สิ่งที่สมมติขึ้น)

๙. การแสดงธรรมตามหลักการแสดงของพระพุทธเจ้า ๒ ประการคือ แสดงธรรมแบบย่อ (เฉพาะหัวข้อ) และแสดงธรรมโดยพิสดาร
(แสดงแยกแยะหัวข้อธรรม)

๑๐. ไม่แสดงธรรมในเรื่องราวที่พระภิกษุไม่ควรสนทนากัน เช่น เรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องสงคราม เป็นต้น

๑๑. แสดงธรรมในสิ่งที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ ต่อผู้ฟัง

๑๒. แสดงธรรมและฟังธรรมด้วยความเคารพ

การประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างของพระภิกษุ

พระภิกษุต้องหมั่นพิจารณาตนเอง คือ พิจารณาเตือนใจตนเองอยู่เสมอตามหลักปัพพชิตอภิณหปัจจเวกขณ์ (ธรรมที่บรรพชิตควรพิจารณาเนือง ๆ ) ๑๐ ประการ ดังนี้

๑. พระภิกษุมีเพศต่างจากคฤหัสถ์ สลัดแล้วซึ่งฐานะ ควรเป็นอยู่ง่าย จะจู้จี้ถือตัวเอาแต่ใจตนไม่ได้
๒. ความเป็นอยู่ของพระภิกษุต้องพึ่งพิงผู้อื่น ต้องอาศัยเขาเลี้ยงชีพ ควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย และบริโภคปัจจัย 4 โดยพิจารณา ไม่บริโภคด้วยตัณหา
๓. พระภิกษุมีอากัปกิริยาที่พึงทำต่างจากคฤหัสถ์ อาการกิริยาใด ๆ ของสมณะ พระภิกษุต้องทำอาการกิริยานั้น ๆ และยังจะต้องปรับปรุงตนให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้
๔. พระภิกษุติเตียนตัวเองได้โดยศีล
๕. เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้เป็นวิญญูชน พิจารณาแล้ว ยังติเตียนติเตียนได้โดยศีล
๖. พระภิกษุจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น
๗. พระภิกษุมีกรรมเป็นของตน หากทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตามจักต้องเป็นทายาทของกรรมนั้น
๘. วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้พระภิกษุทำอะไรอยู่ (ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์หรือไม่)
๙. พระภิกษุยินดีในที่สงัดอยู่หรือไม่
๑๐. คุณวิเศษยิ่งกว่ามนุษย์สามัญที่พระภิกษุบรรลุแล้วมีอยู่หรือไม่ ที่จะให้เป็นผู้ไม่เก้อเขิน เมื่อถูกเพื่อนบรรพชิตถามในกาลภายหลัง พุทธศาสนิกชนสามารถนำข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุทั้งสิบประการดังกล่าวมา นำเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติในชีวิต
ประจำวันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญแก่ผู้ประพฤติปฏิบัตินั้น

การเป็นลูกที่ดี ตามหลักทิศเบื้องหน้า ในทิศ 6

        พ่อแม่ท่านจัดว่า เป็นทิศเบื้องหน้าของลูก ก็โดยฐานที่พ่อแม่ เป็นผู้ให้กำเนิด และบำรุงเลี้ยงพิทักษ์รักษามาก่อน นับได้ว่า เป็นเจ้าของชีวิตของพ่อแม่ก็ได้ เพราะเหตุว่า นับแต่ลูกอยู่ในครรภ์ จนถึงคลอดมาทุกระยะของวัย ลูกยังไม่รู้จักคุ้มครองรักษาตัวเองได้ ชีวิตยังตกอยู่ในความคุ้มครองของพ่อแม่อยู่ จนตราบนั้น รวมความว่า พ่อแม่มีอุปการคุณแก่ลูก ๒ ประการคือ เป็นผู้ให้กำเนิด และเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู ดังนั้นในฐานะที่เป็นลูกที่ดี พึงปฏิบัติต่อ พ่อแม่ ผู้เปรียบเหมือน ทิศเบื้องหน้า ดังนี้

๑. ท่านเลี้ยงเรามา เลี้ยงท่านตอบ การเลี้ยงดูพ่อแม หมายถึงการเลี้ยง ๒ อย่างคือ การเลี้ยงให้ท่านมีความสุขกาย เช่น แบ่งปันสิ่งของให้ตามอัตภาพ ให้การดูแลเอาใจใส่เลี้ยงดูท่านและยามเจ็บไข้ได้ป่วย คอยปรนนิบัติเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และการเลี้ยงให้ท่านสุขใจ เช่น การเชื่อฟังคำสั่งสอนของท่าน การประพฤติตนเป็นคนดี การพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้า เป็นต้น

๒. ช่วยทำกิจธุระการงานให้ท่าน หมายถึง ให้ลูกถือว่า งานการทุกอย่างของพ่อแม่ เหมือนกับการงานของตน เมื่อท่านมอบหมายให้ทำ ก็มีความเต็มใจทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เมื่อช่วยงานท่าน ก็ตั้งใจทำจริงเต็มความรู้ความสามารถ ด้วยความสมัครใจ ไม่อ้างหรือหลีกเลี่ยงหนีงานที่ท่านมอบหมาย เป็นต้น

๓ .ดำรงวงศ์สกุลของท่าน หมายถึง การรักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูล หรือสร้างวงศ์ตระกูลให้รุ่งเรือง ให้เจริญก้าวหน้า ไม่สร้างความเดือนร้อน หรือความด่างพร้อยมาสู่วงศ์ตระกูล เป็นต้น นอกจากนั้น การรักษาเครือญาติไว้อย่างมั่นคง มีความสามัคคีรักใคร่กลมเกลียวกันระหว่างเครือญาติ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สงบ เป็นต้น

๔. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นทายาท หมายถึงการปฏิบัติให้เป็นผู้สมควรได้รับทรัพย์มรดก นั่นคือ การประพฤติตนเป็นคนดี โดยเว้นจากอบายมุขซึ่งเป็นหนทางแห่งความเสื่อมทั้งหลาย มีความเพียรตั้งหน้าทำมาหากิจโดยชอบธรรม ไม่ประพฤติชั่วทั้งกาย วาจาและใจ เป็นต้นนอกจากนั้นยังรู้จักการทำมาหากินเพิ่มพูนทรัพย์สิน และรักษาทรัพย์สินที่มีอยู่ เช่น รู้จักการประหยัดอดออม มีความสันโดษ พ่อแม่ก็มีความอิ่มเอมใจและเต็มใจที่จะยกทรัพย์สมบัติให้

๕. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว อุทิศส่วนกุศลให้ท่าน เป็นกิจที่ลูกจะต้องปฏิบัติ เป็นส่วนของการให้ทานในสิ่งที่สมควรกระทำแก่พ่อแม่ผู้ล่วงลับไปแล้ว บุญที่จะพึงประกอบก็คือ ท่านที่บริจาคแก่บุคคลผู้ควรได้รับ เช่น พระภิกษุสามเณร และผู้ทรงศีล ตลอดถึงคนอนาถา คนชรา คนพิการและทานที่เป็นส่วนสงเคราะห์แก่คนทั่ว ๆ ไป เช่น การก่อสร้างสาธารณสถาน ศาสนสถาน เป็นต้น และกุศลที่เกิดจากการปฏิบัติ เช่น การรักษาศีลการเข้าวัดบวชเรียน เป็นต้น เหล่านี้เป็นบุญที่ควรอุทิศทั้งสิ้น การทำบุญอุทิศนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญคือ เพื่อไม่ให้ลูกหลานลืมพ่อแม่ เมื่อล่วงลับไปแล้ว 

มารยาทชาวพุทธ

การต้อนรับ (ปฏิสันถาร)

มรรยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย มรรยาทชาวพุทธ จึงหมายถึง กิริยาวาจาที่สุภาพเรียบร้อยที่พุทธศาสนิกชน
ควรปฏิบัติ ที่สำคัญได้แก

๑. มรรยาททางกาย เช่นการกิน พระพุทธศาสนาสอนให้บริโภคอาหารด้วยการสุภาพเรียบร้อยไม่กินอย่างมูมมาม เคียวข้าวด้วยอาการสำรวม ไม่อ้าปากเคี้ยวข้าว แต่ปิดปากเคี้ยวด้วยความสำรวม เคี้ยวช้า ๆ ให้แหลกเสียก่อนแล้วจึงกลืน เป็นต้น

การแต่งกาย เครื่องนุ่งห่มควรจะเหมาะสมแก่ภูมิประเทศและตัวผู้ใช้ มุ่งเอาความเรียบร้อย เหมาะสมแก่กาลเทศะและสภาพสังคมเครื่องนุ่งห่มต้องสะอาดไม่เหม็นสาบการฟัง ฟังด้วยความเคารพ ควรถามบ้างเมื่อผู้พูดเปิดโอกาสให้ถามไม่แสดงกิริยาอาการอันส่อความไม่สุภาพการฟังพระธรรมเทศนาต้องเคารพต่อพระธรรมและเคารพต่อผู้แสดงธรรมไม่คุยกันในขณะฟังธรรมควรประนมมือซึ่งเป็นกิริยาอาการแสดงความเคารพต่อพระธรรมและผู้แสดงธรรมการแสดงความเคารพ ได้แก่
๑) การยืน การยืนเพื่อแสดงความเคารพ ใช้ในโอกาสเมื่อถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ และพระมเหสี เมื่อเชิญธงชาติขึ้นและลงจากเสา เมื่อได้ยินเสียงเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี และกรณีอื่น ๆ ที่ต้องแสดงความเคารพด้ายการยืน

 ๒) การประนมมือ คือการยกมือทั้งสองขึ้นกระพุ่มตั้งไว้ระหว่างอก ให้ปลายนิ้วมือทั้งสองข้างประกบชิดกันในลักษณะตั้งขึ้นข้างบน อย่าให้นิ้วมือก่ายกันและหักชี้ลงข้างล่าง

๓) การไหว้ คือ การทำความเคารพโดยยกกระพุ่มมือที่ประนมขึ้นไว้ ณ ส่วนบนของร่างกายตามความเหมาะสม ได้แก่ การไหว้พระรัตนตรัย การไหว้บิดามารดาครูอาจารย์ การไหว้บุคคลที่ควรเคารพทั่วไป และการไหว้บุคคลที่เสมอกันการไหว้แต่ละอย่างควรทำให้ถูกต้องตามแบบอย่างการไหว้

๔) การกราบ คือ การแสดงความเคารพด้วยวิธีประนมมือขึ้นเสมอหน้าผากแล้วน้อมศีรษะลงจรดพื้น หรือการกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์

๒.มรรยาททางวาจา ชาวพุทธที่ดี ควรมีวาจาสุภาพอ่อนโยน เว้น วจีทุจริต 4 ประการ ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ ประพฤติวจีทุจริต 4 ประการ ได้แก่ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด และไม่พูดเพ้อเจ้อ ควรสำรวมระวังรักษากิริยาในการวาจา ไม่เอะอะตะโกนเสียงดัง ไม่พูดจาก่อความรำคาญหรือความเคียดแค้นชิงชังต่อกันและกันการต้อนรับ (ปฏิสันถาร)

๑. การลุกขึ้นยืนรับพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์มาถึงสถานที่ประกอบพิธีต่าง ๆ คฤหัสถ์ชายหญิงซึ่งนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ถ้านั่งเก้าอี้
ลุกขึ้นยืนรับ เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาตรงหน้า น้อมตัวลงยกมือไหว้ เมื่อพระสงฆ์นั่งเรียบร้อยแล้วจึงนั่งลงตามเดิม เมื่อนั่งกับพื้น ไม่นิยมลุกขึ้นยืนรับ เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านถึงเฉพาะหน้านิยมยกมือไหว้หรือกราบตามความเหมาะสมแก่สถานที่นั้น

 ๒. การให้ที่นั่งแก่พระสงฆ เมื่อพระสงฆ์มาในงานพิธีนั้น ถ้าสถานที่นั้นจัดให้นั่งเก้าอี้ คฤหัสถ์ชายหญิงนิยมลุกขึ้นหลีกไป ให้โอกาสพระสงฆ์นั่งเก้าอี้แถวหน้า ถ้าคฤหัสถ์ชายจำเป็นต้องนั่งเก้าอี้แถวเดียวกับพระสงฆ์ นิยมนั่งเก้าอี้ด้านซ้ายของพระสงฆ์ หากเป็นหญิงไม่นิยมนั่งเก้าอี้เดียวกัน เว้นแต่สุภาพบุรุษนั่งคั่นในระหว่าง ถ้าสถานที่นั้นจัดให้นั่งกับพื้นนิยมจัดอาสนะสงฆ์ไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก

๓. การตามส่งพระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์กลับจากพิธี คฤหัสถ์ชายหญิงที่อยู่ในพิธีนั้น หากนั่งเก้าอี้นิยมลุกขึ้นเมื่อพระสงฆ์เดินผ่านและน้อมตัวลงพร้อมทั้งยกมือไหว้ หากนั่งอยู่กับพื้น ไม่ต้องยืนส่งเมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาถึงให้กราบหรือยกมือไหว้ตามแต่กรณี
สำหรับเจ้าภาพควรเดินตามและส่งท่านจนพ้นบริเวณงาน และน้อมตัวลงยกมือไหว้แสดงความเคารพ

 ๔. การหลีกทางให้พระสงฆ หากพระสงฆ์เดินมาข้างหลัง คฤหัสถ์ชายหญิงที่กำลังเดิน ควรหลีกทางชิด ข้างซ้ายมือพระสงฆ์ แล้วยืนตรง มือทั้งสองห้อยประสานกันไว้ข้างหน้า หันหน้ามาทางท่าน เมื่อพระสงฆ์เดินผ่านมาถึงเฉพาะหน้าให้น้อมตัวยกมือไหว้
เมื่อยกมือไหว้ลดมือทั้งสองลงประสานกันไว้ข้างหน้า จนกว่าท่านจะเลยไป จึงเดินตามหลัง

– ถ้าเดินสวนทางกับพระสงฆ์ให้หลีกเข้าชิดข้างด้านซ้ายมือพระสงฆ์ แล้วปฏิบัติเช่นเดียวกับการปฏิบัติเมื่อพระสงฆ์เดินมาข้างหลัง
– ถ้าพระสงฆ์ยืนอยู่ ให้หยุดยืนตรง น้อมตัวลงยกมือไหว้ ถ้าท่านพูดด้วยให้ประนมมือพูดกับท่านแล้วเดินหลีกไปทางซ้าย
– ถ้าพบพระสงฆ์นั่งอยู่ ให้หยุดลง ถ้าพื้นสะอาดนิยมนั่งคุกเข่าหรือนั่งพับเพียบ ถ้าพื้นไม่สะอาด นิยมนั่งกระหย่ง น้อมตัวลงยกมือไหว้
– ถ้าท่านพูดด้วย ประนมมือพูดกับท่าน ถ้าท่านมิได้พูดด้วยให้ลุกเดินหลีกไปทางซ้ายของพระสงฆ์ ถ้าพระสงฆ์อยู่ในที่กลางแจ้ง มีเงาปรากฏอยู่ คฤหัสถ์ชายหญิงไม่เดินเหยียบเงาของพระสงฆ์ ไห้เดินหลีกไปเสียอีกทางหนึ่งการเดินตามหลังพระสงฆ์ให้เดินไปตามหลังของพระสงฆ์ โดยให้เยื้องไปทางซ้ายของท่าน เว้นระยะห่างประมาณ 2-3 ก้าวเดินตามท่านไปด้วยกิริยาอาการสำรวมเรียบร้อย

มรรยาทของผู้เป็นแขก
พุทธศาสนิกชนผู้ประสงค์จะไปหาพระสงฆ์ที่วัด พึงรักษากิริยามารยาททางกาย ทางวาจา ตลอดถึงจิตใจให้เรียบร้อย เป็นการแสดงถึงความมีศรัทธาเลื่อมใสการไปหาพระสงฆ์เพื่อนิมนต์ท่านไปเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีใดก็ตาม นิยมมีเครื่องสักการบูชา เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น ไปถวายเพื่อแสดงความเคารพบูชาท่านด้วย นิยมแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่นิยมแต่งกายด้วยเครื่องอาภรณ์สีฉูดฉาดบาดตา ก่อนเข้าพบท่าน นิยมไต่ถามพระภิกษุสามเณรหรือศิษย์วัดว่า ท่านอยู่หรือไม่ ท่านว่างหรือไม่ว่าง สมควรจะเข้าพบท่านหรือไม่ ถ้าท่านอยู่และสมควรเข้าพบ แจ้งความจำนงขออนุญาตเข้าพบก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงเข้าพบถ้าไม่พบใครพอไต่ถามได้ รอดูจังหวะอันสมควร กระแอม หรือเคาะประตูให้เสียงก่อนเพื่อให้ท่านทราบ เมื่อท่านอนุญาตแล้วจึงนิยมเปิดประตูเข้าไปเฉพาะผู้ชาย ส่วนผู้หญิงไม่ต้องเข้าไปหาพระสงฆ์ในห้อง เมื่อท่านนั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าไปหาคุกเข่ากราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ 3 ครั้ง แล้วนั่งพับเพียบ ไม่นั่งบนอาสนะเสมอกับพระสงฆ์เมื่อสนทนากับพระสงฆ์ หากท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ นิยมประนมมือพูดกับท่านและรับคำพูดของท่าน ไม่นิยมพูดล้อเล่น พูดคำหยาบกับท่าน ไม่เอาเรื่องส่วนตัวไปเล่าให้ท่านฟัง ไม่ยกตนเสมอท่านคล้ายเพื่อนเล่นเมื่อเสร็จธุระแล้ว รีบลาท่านกลับ ก่อนกลับ นั่งคุกเข่ากราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วเดินเข่าออกไป

การแต่งกายไปวัด การแต่งกายไปงานมงคล งานอวมงคล

 ๑. การแต่งกายไปวัด ชาวพุทธที่ดีจะไปวัดเพื่อประกอบพิธีทำบุญหรือไปในกรณียกิจใด ๆ ก็ตาม จักต้องปฏิบัติตนต่อวัดด้วยความสุภาพและความเคารพ การปฏิบัติตนอย่างไม่สมควรและอย่างไม่มีมรรยาทในเขตวัด ไม่เป็นการก่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตัวเองและยังมีผลกระทบไปถึงพระพุทธศาสนาด้วย ดังนั้นการแต่งกายไปวัดควรแต่งกายให้สะอาดเรียบร้อย สีเรียบ ๆ ไม่มีลวดลายหรือสีฉูดฉาดจนเกินควร ไม่ควรแต่งกายให้หรูหราล้ำสมัยจนเกินไป สตรีไม่ควรแต่งกายแบบวับ ๆ แวม ๆ หรือใส่เสื้อบางจนเห็นเสื้อชั้นใน กระโปรงไม่ควรสั้นจนเกินไป หรือผ่าหน้าผ่าหลังเพื่อเปิดเผยร่างกาย เครื่องประดับก็ใส่พอควร เพราะวัดควรเป็นที่ที่เราไปเพื่อจะขัดเกลากิเลสมากกว่า

๒. การแต่งกายไปในงานมงคล ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับงานนั้น ๆ เพื่อเป็นการให้เกียรติเจ้าภาพ บางทีตัวเราเองอยากแต่งตัวง่าย ๆ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของเจ้าของงานด้วย นอกจากนี้ ในบัตรเชิญอาจมีการกำหนดให้แต่งกายอย่างไร ก็ควรแต่งกายตามนั้นควรไปถึงงานตรงตามเวลาหรือก่อนเวลาเล็กน้อยควรไปพบเจ้าของงานก่อนและถ้ามีของขวัญจะให้ก็มอบเลยแล้วนั่งในที่ที่เหมาะสมตามอาวุโสของตน ไม่ควรคำนึงเรื่องที่ไม่เป็นมงคลมาสนทนาในงานนั้น หากเป็นงานที่มีการอวยพร ในขณะที่มีผู้กล่าวคำอวยพร ควรสงบนิ่งฟัง ไม่ควรคุยกัน ไม่ควรเดินไปเดินมาไม่ควรรับประทานอาหารต่อในขณะนั้น เพราะเป็นการไม่ให้เกียรติเจ้าของงานและผู้กล่าวคำอวยพรและหากเมื่อจะกลับควรหาโอกาสลาเจ้าของงานก่อน

 ๓. การแต่งกายไปงานอวมงคล ควรแต่งตัวตามประเพณีนิยม ชายแต่งสากลนิยมสีเข้ม เนคไทสีดำ รองเท้าดำ หากเป็นงานศพควรสวมปลอดแขนทุกข์ที่แขนเสื้อข้างซ้ายเหนือศอก หรือแต่งกายชุดไทยพระราชทานสีดำทั้งชุด หรือเสื้อสีขาวกางเกงสีดำหรือสีเข้มหญิงนุ่งผ้าซิ่นหรือกระโปรงตามสมัยนิยม เสื้อแบบเรียบ รองเท้าหุ้มส้นสีดำ หรือแต่งกายให้สุภาพ ไม่ใช้เสื้อผ้าและรองเท้าสีฉูดฉาด ไม่สมควรพูดคุยหัวเราะกันอย่างสนุกสนาน เพราะไม่ใช่งานแสดงความยินดี

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ระเบียบพิธี พิธีเวียนเทียน การปฏิบัติตนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันอาสาฬหบูชา
วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นวันที่ชาวพุทธทั่วโลกยอมรับนับถือกันว่ามีความสำคัญเกี่ยวข้องโดยตรงกับพระรัตนตรัย และเหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ในรอบหนึ่งปีกำหนดไว้ ๖ วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา
๑.วันมาฆบูชา
มาฆบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชา และการทำบุญในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะหรือเดือน ๓ ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ โดยปกติวันมาฆบูชาจะอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์ เราเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วันพระธรรม”
ความสำคัญของวันมาฆบูชา
มาฆบูชาเป็นวันระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญแห่งการประชุมใหญ่แห่งมหาสาวกของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นในสมัยพระพุทธเจ้า ๔ อย่างในวันเดียวกัน จึงเรียกว่า วันจาตุรงคสันนิบาต แปลว่าวันเป็นที่ประชุมพร้อมกันแห่งองค์ ๔ คือ
๑. พระอรหันต์สาวก ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกัน
๒. พระภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุ คือได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า
๓. พระภิกษุเหล่านั้นมาประชุมพร้อมกัน โดยมิได้มีการนัดหมาย
๔. วันที่ประชุมเป็นวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะหรือเดือน ๓
ในวันนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ คือ หลักการคำสอนที่เป็นใจความสำคัญที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะทรงสอน คือ “ละความชั่ว ทำความดี และทำให้จิตใจบริสุทธิ์” พร้อมทั้งทรงสอนชาวพุทธว่า ต้องมีความอดทน มุ่งความสงบ อยู่ในระเบียบวินัย ตั้งใจแน่วแน่ ทำแต่ความดีมีคุณประโยชน์ ไม่กล่าวว่าร้าย ไม่ทำลายผู้อื่น
พิธีกรรมในวันมาฆบูชา
ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริถึงความสำคัญแห่งจาตุรงคสันนิบาต จึงได้ทรงจัดงานวันมาฆบูชาขึ้นเป็นครั้งแรก การจัดพิธีมีทั้งในส่วนภาครัฐ วัดและประชาชนร่วมกันปฏิบัติธรรม รักษาศีล ฟังเทศน์ เวียนเทียน เช่นเดียวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ต่างกันเฉพาะคำบูชาก่อนเวียนเทียน เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ความเป็นมาของวันมาฆบูชา พระสงฆ์จะแสดงพระธรรมเทศนาที่เกี่ยวเนื่องกับโอวาทปาฏิโมกข์ เพราะถือว่าเป็นหลักการ และอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา
ข้อควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา
๑. น้อมใจระลึกถึงเหตุการณ์คือการประชุมจาตุรงคสันนิบาตในวันมาฆบูชา เพราะเป็นวันที่ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา และเป็นหลักการเดียวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือสอนให้อดทน ไม่ว่าร้าย ไม่ทำลายผู้อื่น เป็นต้น มุ่งสันติภาพถาวรเพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ วันมาฆบูชายังตรงกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยไว้ว่า ต่อจากนี้ไปอีก ๓ เดือน จะเสด็จปรินิพพานอีกด้วย
๒.ปฏิบัติตนในการบำเพ็ญกุศลเริ่มด้วยทำบุญตักบาตร เข้าวัด รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญภาวนา กลางคืนนำดอกไม้ธูปเทียนไปเวียนเทียนถวายเป็นปฏิบัติบูชา เมื่อไปวัดควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย มีกิริยาวาจาสุภาพ ไม่ตลกเฮฮา พยายามสำรวมกาย วาจา ใจ คุยกันแต่เรื่องที่เป็นธรรมะเป็นประโยชน์ หรือเรื่องอันชวนให้จิตใจสงบระงับห่างไกลจากโลภ โกรธ หลง ขณะเวียนเทียน ๓ รอบนั้น ควรระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย โดยในรอบที่หนึ่งระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า สวดอิติปิ โสฯ รอบที่สอง ระลึกถึงคุณพระธรรม สวด สวากขาโตฯ และรอบที่สาม ระลึกถึงคุณพระสงฆ์ สวด สุปะฏิปันโนฯ หรือจะระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยพร้อมกันทุกรอบก็ได้ ที่สำคัญคือต้องสำรวมกาย วาจา ใจ แสดงความเคารพอย่างแท้จริง
๒. วันวิสาขบูชา
วิสาขบูชา เป็นชื่อของพิธีบูชาและการทำบุญในวันเพ็ญกลางเดือนวิสาขะหรือเดือน ๖ ในปีที่มีอธิกมาส วันวิสาขบูชาจะเลื่อนออกไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗ โดยปกติวันวิสาขบูชาจะอยู่ในเดือนพฤษภาคม เราเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วันพระพุทธเจ้า”
ความสำคัญของวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญเพราะในพระประวัติของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่พระองค์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มาตรงในวันเดียวกัน คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ จึงถือกันว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่ง หาไม่ได้อีกแล้วในบุคคลอื่น
เหตุการณ์สำคัญ คือ
๑. การประสูติ พระองค์ประสูติ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ณ บริเวณสวนลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ปัจจุบันอยู่ในประเทศเนปาล ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
๒. การตรัสรู้ พระองค์ตรัสรู้อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ณ ตำบลพุทธคยา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในรัฐพิหาร ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี
๓. การปรินิพพาน พระองค์ปรินิพพาน ในวันเพ็ญเดือน ๖ ณ ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ใกล้กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี
เหตุการณ์ทั้งสามนี้เกิดตรงกันพอดีในวันนี้ จึงนับเป็นเป็นมหัศจรรย์ยิ่งนัก และถือกันว่าวันตรัสรู้สำคัญที่สุด ดังนั้น วันวิสาขบูชานับว่าเป็นวันสำคัญที่สุด
ในประเทศไทย การจัดงานฉลองวันวิสาขบูชาได้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสากลของสหประชาชาติ เพราะเป็นวันให้กำเนิดอารยธรรมมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่

พิธีกรรมในวันวิสาขบูชา
วัดต่าง ๆ นิยมจัดให้มีพิธีวิสาขบูชาด้วยการเวียนเทียนและฟังพระธรรมเทศนาเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา ถ้าจัดเพื่อนักเรียน นิยมจัดกลางวัน เพื่อให้เสร็จพิธีก่อนค่ำ นักเรียนจะได้กลับบ้านโดยสะดวกและปลอดภัย ถ้าจัดสำหรับประชาชนทั่วไปนิยมจัดกลางคืน เพื่อให้ประชาชนร่วมทำบุญจุดโคมประทีปถวายเป็นพุทธบูชาสว่างไสวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นเครื่องหมายว่าปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

ขั้นตอนการดำเนินการมีดังนี้
๑. เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระสงฆ์ทั้งวัดและประชาชนที่มาร่วมพิธี พร้อมกันที่หน้าอุโบสถหรือวิหาร โดยเข้าแถวหน้ากระดาน พระสงฆ์อยู่แถวหน้า ประชาชนอยู่แถวถัดไป
๒. ทุกคนมีธูป ๓ ดอก เทียน ๑ เล่ม และในมือถือดอกไม้ พนมมืออยู่ในความสงบ
๓. พระสงฆ์ผู้เป็นประธานให้โอวาทก่อนแล้วกล่าวนำคำบูชา เริ่มต้นด้วย นะโม และคำบูชาวัน วิสาขบูชาเป็นภาษาบาลี โดยกล่าวนำเป็นวรรคสั้น ๆ พระภิกษุนอกนั้นและประชาชนกล่าวตาม
๔. เมื่อกล่าวคำบูชาเสร็จแล้ว พระสงฆ์ผู้เป็นประธานจะนำเวียนประทักษิณ โดยให้มือขวาอยู่ทางด้านอุโบสถหรือวิหารเดินเป็นแถว แต่จะเรียงเท่าไรตามความเหมาะสมของบริเวณอุโบสถหรือวิหารเดินเวียน ๓ รอบรอบแรกให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ รอบที่ ๒ ให้ระลึกถึงพระธรรมคุณและรอบที่ ๓ ให้ระลึกถึงพระสังฆคุณ
๕. กรวดน้ำแผ่เมตตา เป็นเสร็จพิธี
ข้อควรปฏิบัติของชาวพุทธในวันวิสาขบูชา
เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณยิ่งใหญ่ ๓ ประการของพระพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระกรุณาคุณ พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติดังนี้
๑. ตื่นนอนแต่เช้า ชำระร่างกายให้สะอาด แต่งกายให้เรียบร้อยเตรียมทำบุญตักบาตร
๒. เมื่อตักบาตรเสร็จ กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
๓. นำอาหารไปถวายที่วัด และรับศีล ฟังธรรมด้วย
๔. หากเป็นการสะดวก ควรอยู่รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาที่วัดทั้งวัน แต่ถึงอยู่ที่บ้าน ก็ควรรักษาศีล ทำจิตใจให้ผ่องใส
๕. ไปเวียนเทียนที่วัดหรือพุทธศาสนสถานอื่น ๆ เช่น พุทธมณฑล และท้องพิธีสนามหลวง
๖. ฟังพระธรรมเทศนาเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา
๗. แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์
๓. วันอัฏฐมีบูชา
อัฏฐมีบูชา เป็นชื่อพิธีบูชาและการทำบุญอันมีในวันที่แปดหลังจากวันวิสาขบูชา เป็นวันระลึกถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมสรีระของพระพุทธเจ้า ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ในปัจจุบันไม่จัดเข้าเป็นวันสำคัญในทางราชการ แต่ชาวพุทธบางส่วนถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งอีกวันหนึ่ง บางวัดจัดให้มีพิธีทำบุญใหญ่นับเนื่องกับวันวิสาขบูชา จัดพิธีถือศีลประพฤติพรหมจรรย์เริ่มตั้งแต่วันวิสาขบูชาจนกระทั่งถึงวันอัฏฐมีบูชาพิธีกรรมในวันอัฏฐมีบูชา
พิธีกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา ก็มีเช่นเดียวกันกับวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา ต่างกันเฉพาะคำกล่าวอัฏฐมีบูชาเท่านั้น

๔. วันอาสาฬหบูชา
อาสาฬหบูชา เป็นชื่อพิธีบูชาและทำบุญในวันเพ็ญกลางเดือนอาสาฬหะหรือเดือน ๘ ในปีที่มีอธิกมาส จะเลื่อนออกไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘ หลัง โดยปกติวันอาสาฬหบูชาจะอยู่ในเดือนกรกฎาคม เราเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วันพระสงฆ์”
ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา มีความสำคัญเพราะปรารภเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ๓ อย่าง คือ
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกและกัณฑ์แรกชื่อธัมมจักกัปปวัตนสูตร คือพระสูตรว่าด้วยการหมุนพระธรรมจักร ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
๒. เป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก คือพระอัญญาโกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรมและขอบวชในพระพุทธศาสนา
๓. เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบถ้วนบริบูรณ์เป็นครั้งแรก
ใจความสำคัญของปฐมเทศนา
พระพุทธเจ้าตรัสแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร โดยเริ่มจากทางสุดโต่ง ๒ ทาง ได้แก่ ทางที่หย่อน คือ ความหมกมุ่นในกาม มุ่งแสวงหากามสุข ไม่เป็นทางให้ตรัสรู้ได้ ทางที่ตึง คือ การทรมานตนให้ลำบากด้วยประการต่าง ๆ ทำให้เกิดความทุกข์ยากลำบาก ไม่เป็นทางให้ตรัสรู้ได้เช่นเดียวกัน ต่อจากนั้นจึงทรงแสดงทางสายกลาง เป็นทางสายใหม่ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ เป็นทางให้ตรัสรู้และหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ทางนี้ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ เห็นชอบ คิดชอบ พูดชอบ การงานชอบ ประกอบอาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ
ต่อจากนั้น ทรงแสดงถึงอริยสัจ ๔ ประการ และกิจที่ควรทำเกี่ยวกับอริยสัจ คือ
๑. ทุกข์ สภาพที่ทนได้ยาก ได้แก่ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย การพลัดพราก
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา ความทะยานอยาก
๓. นิโรธ ความดับทุกข์ ได้แก่ ความดับตัณหานั้นได้ ทุกข์ก็ดับไป
๔. มรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ ทางสายกลางหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ
พิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชา
ในประเทศไทยจัดให้มีการเฉลิมฉลองวันอาสาฬหบูชาเป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นต้นมา ภายหลังการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษงานสมโภชครั้งยิ่งใหญ่ การจัดพิธีอาสาฬหบูชานี้เป็นทั้งพระราชพิธี พิธีของทางราชการ และพิธีของวัดและประชาชน มีพิธีกรรมการปฏิบัติเช่นเดียวกับที่จัดในวันวิสาขบูชา ต่างกันเฉพาะคำบูชาก่อนเวียนเทียน และการแสดงพระธรรมเทศนาจะแสดงเน้นเรื่องธัมมจักกัปวัตนสูตร ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของวันอาสาฬหบูชา
ข้อควรปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
เมื่อถึงวันอาสาฬหบูชา ชาวพุทธควรน้อมใจระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย โดยเฉพาะคุณของพระอริยสงฆ์สาวก ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์อื่น ๆ ที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งถือเป็นแบบอย่างของพุทธบริษัทโดยทั่วไปในการศึกษาหลักธรรมคำสอนให้เข้าใจแจ่มชัด น้อมนำไปปฏิบัติให้เกิดผล และสืบทอดเผยแผ่แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป
สำหรับข้อควรปฏิบัติอื่น ๆ เช่น การไปทำบุญที่วัด การรับศีล การฟังพระธรรมเทศนา การสนทนาธรรมกับพระภิกษุสงฆ์และการเวียนเทียนนั้นก็มีวิธีการปฏิบัติเหมือนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่น ๆ ข้างต้น
๕. วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ พรรษา แปลว่า ฝน หรือปี โดยใจความหมายถึงฤดูฝน ซึ่งถือตามฤดูของอินเดีย มี ๓ ฤดู คือ
คิมหันตะ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
วัสสานะ ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
เหมันตะ ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
เข้าพรรษา หมายถึง การอยู่ประจำที่ของพระสงฆ์ตลอด ๓ เดือนฤดูฝน ซึ่งเป็นธรรมเนียมทางพระวินัย พระภิกษุต้องอยู่ประจำที่วัดใดวัดหนึ่งตามเวลาที่กำหนดไว้ ระยะกาลเข้าพรรษามี ๒ ครั้ง คือ เข้าวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ ออกวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เรียกว่า เข้าปุริมพรรษาหรือวันเข้าพรรษาต้น และเข้าวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๙ และออกวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เรียกว่าเข้าปัจฉิมพรรษาหรือวันเข้าพรรษาหลัง พระสงฆ์ส่วนใหญ่นิยมเข้าพรรษาต้น

พิธีกรรมในวันเข้าพรรษา
พิธีเข้าพรรษาเป็นพิธีของพระภิกษุโดยเฉพาะ กล่าวคือ เมื่อถึงวันเข้าพรรษานี้ พระภิกษุผู้จะอยู่จำพรรษาในวัดเดียวกันจะประชุมพร้อมกันในอุโบสถซึ่งส่วนมากจะเป็นเวลาเย็น หลังจากสวดมนต์ทำวัตรเย็นแล้วจะกล่าวคำอธิษฐานว่าจะอยู่ประจำในวัดเดียวตลอดเวลา ๓ เดือน โดยจะมีการประกาศบอกอาณาเขตของวัดที่เป็นสถานที่จำพรรษาเพื่อป้องกันไม่ให้พระภิกษุออกไปนอกเขตจนกว่าจะรุ่งอรุณ
ข้อควรปฏิบัติในเทศกาลเข้าพรรษา
๑. ทำบุญตักบาตรที่บ้านหรือที่วัด
๒. ไปวัดเพื่อรับศีลและฟังธรรม
๓. มีการหล่อเทียนพรรษา หรือซื้อเทียนที่เขาหล่อแล้ว ซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับแสงสว่าง หรือทำบุญอุปถัมภ์ค่าไฟฟ้าถวายวัดในวันก่อนเข้าพรรษาหรือในวันเข้าพรรษาก็ได้
๔. ถวายผ้าอาบน้ำฝนหรือไทยธรรม แด่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาในวัดนั้น ๆ
๕. บางท่านถือโอกาสอธิษฐานทำความดีตลอดพรรษา เช่น งดการดื่มสุราหรืองดเว้นอบายมุขทุกประเภท อธิษฐานรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ และบำเพ็ญสมาธิตลอดพรรษา เป็นต้น
๖. วันออกพรรษา
วันออกพรรษา คือ วันพ้นกำหนดระยะเวลาการเข้าพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ในวันออกพรรษานั้นมีข้ออนุญาตให้สงฆ์ทำปวารณาแทนอุโบสถได้ โดยปกติธรรมดาสงฆ์จะทำอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ (คือทบทวนพระวินัย ๒๒๗ ข้อให้ที่ประชุมสงฆ์ฟังว่า ใครมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง) ทุก ๑๕ วัน คือ เดือนละ ๒ ครั้ง แต่ในวันออกพรรษานี้ให้ทำปวารณาแทนการสวดปาฏิโมกข์

พิธีกรรมในวันออกพรรษา
ในวันออกพรรษา มีการทำปวารณา หมายถึง การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้เมื่อได้เห็น ได้ฟังหรือรังเกียจสงสัยในความประพฤติของกันและกัน วันออกพรรษาและวันปวารณาเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็จริง แต่พระสงฆ์ยังจะต้องอยู่ในวัดนั้นอีกคืนหนึ่ง จึงจะออกจาริกไปค้างแรมคืนที่อื่นได้ ในวันรุ่งขึ้น คือแรมค่ำ ๑ เดือน ๑๑ ในวันนี้มีประเพณีทำบุญตักบาตรเป็นพิเศษอีกหนึ่งวัน เรียกว่า ตักบาตรเทโว ย่อมาจาก เทโวโรหณะ แปลว่า ลงจากเทวโลก หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลก
ข้อควรปฏิบัติในวันออกพรรษา
เมื่อถึงกำหนดวันออกพรรษา พระสงฆ์จะทำปวารณาแทนการทำอุโบสถตามพุทธานุญาต คือ เปิดโอกาสให้มีการแนะนำตักเตือนกันได้ เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ในส่วนของพุทธศาสนิกชนจะน้อมระลึกถึงความสำคัญของวันนี้ว่าเป็นวันครบกำหนด ๓ เดือน ที่พระสงฆ์จำพรรษาบำเพ็ญคุณงามความดีติดต่อกันมา

การบริหารจิตและเจริญปัญญา
การบริหารจิต  คือ  การฝึกอบรมจิตใจให้มีความสมบูรณ์อย่างเต็มที่  จิตที่ผ่านการฝึกฝนจะมีความอ่อนโยน  นุ่มนวล  เข้มแข็งและปลอดโปร่ง  พร้อมที่จะเป็นฐานแห่งการเจริญปัญญาจึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน  และเป็นพื้นฐานของกันและกัน  บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นคนที่พัฒนาแล้วจะต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการฝึกสมาธิและเจริญวิปัสสนามาอย่าครบถ้วน

๑)  สมาธิ
สมาธิ  แปลว่า  ความตั้งมั่นแห่งจิต  หมายถึง  ภาวะที่จิตคิดจดจ่ออยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียวในระยะเวลาหนึ่ง เช่น  การอ่านหนังสือ  ขณะอ่าน  จิตจดจ่ออยู่กับเรื่องที่อ่านไม่ฟุ้งซ่านคิดถึงเรื่องอื่น  เป็นต้น
ประเภทของสมาธิ  แบ่งออกได้เป็น  ๒  ประเภท  ดังนี้
๑)  สมาธิที่มีโดยธรรมชาติ  คือ  สมาธิที่มีมาเองโดยไม่ต้องฝึก  ทุกคนจะมีมากมีน้อยแล้วแต่บุคคล  เช่น  เวลาอ่านหนังสือ อ่านรู้เรื่องดี  สนุกสนานเพลิดเพลินกับการอ่าน  เพราะมีสมาธิ  สมาธิโดยธรรมชาตินี้มิใช่ว่าจะมีทุกเวลา  จะมีก็ต่อเมื่อเราตั้งใจจดจ่อต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า  เมื่อเลิกตั้งใจสมาธิก็จะไม่มี
๒)  สมาธิที่ต้องพัฒนา  หมายถึง  สมาธิที่เกิดจากการฝึกปฏิบัติ  ซึ่งได้แก่  การพัฒนาสมาธิที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาตินั้นให้ถูกวิธี  เพื่อให้มีพลังมากกว่าเดิม  จะได้นำไปใช้ในกิจการงานต่างๆ  ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประโยชน์ของสมาธิ
๑)  ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน  เช่น  ทำให้ผ่อนคลาย  หายเครียด  ลดความวิตกกังวล  ความหวาดกลัว
๒)  ช่วยในการพัฒนาบุคลิกภาพ  เช่น  ทำให้เป็นผู้มีความมั่นคงในอารมณ์  บุคลิกเข้มแข็ง  มั่นคง
๓)  เป็นจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา  หมายถึง  สมาธิที่แนบแน่น  มั่นคง  จะทำใหห้มีความสงบ  แน่วแน่  สามารถระงับกิเลส และพร้อมจะก้าวสู่ความมีปัญญา  รู้แจ้งในความจริง

๒)  ปัญญา
 ปัญญา  แปลว่า  ความรู้  คือ  ความรอบรู้  ได้แก่  รู้รอบ  และรู้สึก  คำว่ารู้รอบ  หมายถึง  รู้เป็นระบบ  รู้ว่าสิ่งทั้งหลายอาศัยกันและกันเกิดขึ้น เห็นความสำพันธ์ระหว่างเหตุและผลว่าปัญหาต่างๆ  มีสาเหตุหรือเกิดจากเหตุใด  ส่วนรู้สึก  คือ  ความรู้ที่มองเห็นว่าปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าหรือเบื้องหลังนั้นมีสาเหตุหรือความเป็นมาอย่างไร
ประเภทของปัญญา
พระพุทธศาสนาแบ่งแหล่งกำเนิดของความรู้หรือปัญญาออกเป็น  ๓  ประการ  ได้แก่
๑)  สุตมยปัญญา  :  ปัญญาที่เกิดจากการฟัง  หมายถึง  ปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียนหรือการฟัง  เป็นการรับรู้ข้อมูลจากแหล่งความรู้ภายนอก
๒)  จิตตามยปัญญา  :  ปัญญาที่เกิดจากการคิด  หมายถึง  ปัญญาที่เกิดจากการคิด  การพิจารณาหาเหตุผล  ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของจิตภายในตัวเรา
๓)  ภาวนามยปัญญา  :  ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ  หมายถึง  ปัญญาที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติ  ซึ่งต้องผ่านการลองผิดลองถูก
ประโยชน์ของปัญญา
๑)  ทำให้วินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ  ได้ถูกต้อง  จะรู้ว่าสิ่งใดผิด  สิ่งใดถูก  สิ่งใดมีคุณ  สิ่งใดมีโทษ  ต้องอาศัยปัญญาเป็นเครื่องตัดสิน  ถ้ามีปัญญาน้อย  โอกาสที่จะตัดสินถูก  ก็ย่อมมีน้อย
๒)  ทำให้มองสิ่งต่างๆ  ได้โดยตลอด  ปรากฎการณ์ต่างๆ  ที่เกิดขึ้น  ย่อมเกิดจากหลายเหตุหลายปัจจัยรวมกัน  ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ  โดยไม่มีเหตุ  ไม่มีปัจจัย  บางเรื่องมีเหตุ  มีปัจจัยสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง  คนมีปัญญเท่านั้นจึงจะสามารถมองทะลุโดยตลอดได้อย่างหมดข้อสงสัย
๓)  ทำให้แก้ปัญหาชีวิตได้  คนมีปัญญาแม้ว่าจะประสบความทุกข์ใหญ่หลวงมากเพียงใดก็สามารถใช้ปัญญาผ่อนคลายความทุกข์และแก้ไขให้หมดไปได้
๔)  ทำให้รู้ทางเสื่อมและทางเจริญ  คนมีปัญญาจะมองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นทางแห่งหายนะ  จึงละเว้น  ไม่ยอมเอาชีวิตไปเกลือกกลั้วด้วย
๕)  ทำให้สร้างฐานะเป็นปึกแผ่นได้  คนมีปัญญาแม้จะยากจนขัดสนในเบื้องต้นก็ใช้ปัญญาช่วยในการทำมาหาเลี้ยงชีพและประสบความสำเร็จได้
๖)  ทำให้เข้าใจโลกและชีวิต  และมีความเมตตากรุณาต่อคนทั่วไป
๗)  ทำให้เป็นคนมีเหตุผล  มีใจกว้าง  ยอมรับฟังคนอื่น  คนมีปัญญาจะเรียนรู้อยู่เสมอยอมรับคำแนะนำและความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ถือความคิดเห็นของตนเป็นใหญ่  เป็นคนมีเหตุผล

๓)  การเจริญปัญญาตามหลักโยนิโสมนสิการ
โยนิโสมนสิการ  แปลว่า  การทำไว้ในใจโดยแยบคาย  หมายถึง  การใช้ความคิดที่ถูกวิธี  กล่าวคือ  มองสิ่งทั้งหลายด้วยความคิด  พิจารณาสืบค้นคิดหาเหตุผล  ตลอดจนแยกแยะและวิเคราะห์ปัญหาด้วยปัญญา  มองปัญหาตามความเป็นจริง  หรือมองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย
ด้วยเหตุนี้พระพุทธศาสนาจึงสอนว่าการศึกษาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบและรอบด้าน  จนเข้าใจปัญหาต่างๆ  ตามสภาพความเป็นจริง  เรียกว่า  การคิดแบบโยนิโสมนสิการ  ซึ่งมี  ๑๐  วิธีคิดด้วยกัน  แต่ในชั้นเรียนนี้นักเรียนจะได้ศึกษาวิธีคิดแบบคุณค่าแท้  คุณค่าเทียม  และวิธีคิดแบบคุณโทษ  และทางออก
การคิดแบบโยนิโสมนสิการ  มี  ๑๐  วิธีคิดด้วยกัน  คือ
๑)  คิดแยกแยะส่วนประกอบ
๒) คิดแบบคุณโทษและทางออก
๓)  คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย
๔)  คิดแบบสัมพันธ์หลักกับเป้าหมาย
๕)  คิดแบบแก้ปัญหา
๖)  คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
๗)  คิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม
๘)  คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม
๙)  คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน
๑๐)  คิดแบบแยกประเด็น

๓.๑)  วิธีคิดแบบคุณค่าแท้  คุณค่าเทียม
วิธีคิดแบบคุณค่าแท้  คุณค่าเทียม  เป็นวิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับ  ความต้องการ  และการประเมินคุณค่า  คือ  ถ้าจัดเพียงแต่จะสนองตัณหาของตนไม่ว่ากับสิ่งใด  เป็นการคิดแบบคุณค่าเทียมแต่ถ้าคิดถึงแก่นหรือคุณประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้น  เป็นการคิดแบบคุณค่าแท้
การคิดแบบคุณค่าแท้  จึงเป็นวิธีคิดบนพื้นฐานของคุณค่า  ภายใต้ประโยชน์ที่สนองความต้องการของชีวิต  รู้จักใช้ปัญญาพิจารณาว่าการกิน  การใช้  การอยู่  การแสวงหา  ควรปฏิบัติให้พอดี  พอควร  และ  พอประมาณ  ตามประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆ  ดังนั้น  การคิดแบบคุณค่าแท้จึงเป็นวิธีคิดบนหลักของ  การประเมินคุณค่า
การคิดแบบคุณค่าเทียม  เป็นวิธีคิดที่เคลือบแฝงด้วยความทะยานอยาก  ความฟุ้งเฟ้อ  ฟุ่มเฟือย  หลงใหล  เป็นการคิดเพื่อสนองตัณหา  ดังนั้นการคิดแบบคุณค่าเทียมจึงเป็นวิธีคิดบนหลักของความต้องการ  เป็นวิธีคิดที่นำไปสู่ความเสื่อมและความทุกข์  เพราะไม่สามารถสนองความต้องการได้ทั้งหมด

๓.๒)  การคิดแบบคุณโทษ  และทางออก
พระพุทธศาสนาสอนว่าธรรมดาโลกและชีวิตย่อมมีความเปลี่ยนแปลง  ไม่ยั่งยืน  และไม่แน่นอน  มนุษย์ไม่สามารถบังคับทุกอย่างให้ดำเนินไปตามความปรารถนา
ด้วยเหตุนี้เมื่อเกิดปัญหา  การคิดหาทางออกที่ดีที่สุดพร้อมๆ  กับการพิจารณาหาผลดีและผลเสีย  จะทำให้เราสามารถปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมกับทุกสภาพการณ์  ดังนั้นจึงควรมองปัญหาให้รอบด้านและหาทางเลือกให้กับชีวิต  พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มีการคิดแบบคุณโทษและทางออกซึ่งมีข้อควรคำนึงถึง  ๒  ประการ  คือ
๑)  การมองหรือการพิจารณาตามความเป็นจริงนั้น  ต้องมองทั้งด้านบวกและลบ  กล่าวคือ  มองทั้งคุณและโทษ  เพราะจะช่วยให้เราพิจารณาสิ่งต่างๆ  ด้วยความรอบคอบ  ไม่มีอคติ  ไม่ยึดมั่นในแนวทางใดแนวทางหนึ่งจนเกินไป
๒)  เมื่อจะแก้ปัญหาหรือลงมือปฏิบัติ  ต้องกำหนดจุดมุ่งหมายและแสวงหาทางออกเพื่อเป็นทางเลือก  นอกเหนือจากการรู้คุณและโทษของสิ่งเหล่านั้น
การตัดสินใจทำหรือไม่ทำอะไร  หลังจากได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้วโอกาสที่จะผิดพลาดอาจไม่มีหรือมีน้อยลง