การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต่างประเทศ

ก่อนที่โลกจะโดน COVID-19 เล่นงาน รายได้ที่เริ่มเติบโตด้านหนึ่งของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ คือ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical and wellness tourism) ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจุดประสงค์เดินทางมาไทยเพื่อเข้ามาทำการผ่าตัดหรือรักษาโรค ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว โดยเป็นช่องทางรายได้ที่รัฐบาลไทยก็ได้วางโร้ดแมปเป็นนโยบายไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2559 ภายใต้ชื่อ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (MEDICAL HUB) (พ.ศ.2560 – 2569)”

 

ในปี พ.ศ.2561 การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก็สามารถทำรายได้ให้ประเทศไทยมากถึง 45,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งหากไม่มีการระบาด แนวโน้มตัวเลขก็น่าจะเพิ่มขึ้นทุกปีตามกราฟ

 

แน่นอนว่าในสายตาชาวต่างชาติ หากพูดถึง ‘ไทย’ ก็ต้องนึกถึงการ ‘ท่องเที่ยว’ ดังนั้นหากต้องการรักษาตัวระดับพรีเมียมที่ราคาถูกกว่าในบ้านตัวเอง แถมยังได้เที่ยวด้วย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับคนมีเงินทั่วโลก และต้องบอกว่าโรงพยาบาลเอกชนก็ทำการตลาดได้ดีในการจับลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะมีการจ้างล่ามหลายภาษา พร้อมแพ็กเกจการรักษาไว้ให้เลือกมากมาย

การบอกว่าประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลักก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง อย่างตัวเลขจากข้อมูลกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ปี พ.ศ.2562 บอกว่า ประเทศไทยรับรายได้จากต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเชิงปริมาณ หรือ mass tourism คิดเป็นเม็ดเงินเกือบ 2 ล้านล้านบาทตลอดทั้งปี โดย 3 จังหวัดหลักคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต

แต่กว่าหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา การท่องเที่ยวไทยกลับถูกแช่แข็งเพราะการระบาดของไวรัสและกฎห้ามเดินทางเข้าประเทศเพื่อลดการแพร่เชื่อ ทำให้หลายจังหวัดที่รับนักท่องเที่ยวเป็นหลักกลายเป็นเมืองร้างก็ว่าได้

 

อย่างไรก็ต้องหารายได้เข้าประเทศ ดังนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไทยซึ่งเข้าสู่จังหวะที่ควบคุมโรคระบาดได้ในช่วงนั้น จึงเปิดรับให้ต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย (ที่ไม่ใช่โรค COVID-19) พร้อมผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน ให้เดินทางเข้ามารับบริการได้ โดยต้องกักตัวที่โรงพยาบาลทางเลือก 14 วัน และเดินทางท่องเที่ยวต่อได้หลังจากนั้น

โดยในตอนนั้น นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อน medical hub ได้ให้สัมภาษณ์กับ TAP Magazine ไว้ว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นวิธีที่ทำให้สร้างสมดุลระหว่างเรื่องสาธารณสุขและเศรษฐกิจได้ และได้เริ่มดันนโยบาย “ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ” กับสโลแกนว่าว่า “Beyond Healthcare, Trust Thailand” เพื่อสร้างความเชื่อใจให้กับต่างชาติที่ต้องการเข้ามารักษาตัวและมาอาศัยระยะยาว

เพราะจากการคำนวณของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ การเดินทางเข้ามาของผู้ป่วยและผู้ติดตามในช่วงการระบาด คาดว่าจะมีผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยเก่าและใหม่เดินทางเข้ามาประมาณ 160,000 ครั้งภายใน 3 เดือน และน่าจะสร้างรายได้ได้ราว 18,000 ล้านบาทในช่วงการระบาด

แม้ว่าตอนนี้ไทยเราจะเผชิญการระบาดระลอกสาม และต้องล็อกประเทศกันอีกรอบ ให้เดินทางได้เฉพาะ 1) ผู้มีสัญชาติไทย แต่ต้องมีเอกสารสำคัญคือใบรับรองทางการแพทย์ว่าสามารถทำการบินได้ 2) ทูตต่างประเทศที่ประจำการในไทย 3) การขนส่งสินค้าที่เข้ามาแล้วกลับไปโดยเร็ว 4) นักบินและแอร์โฮสเตส และ 5) บุคคลที่ได้รับการยกเว้นจากนายกฯ หรือหัวหน้าผู้รับผิดชอบ

 

แต่ก็จะเริ่มมองเห็นแล้วว่า ในยุคหลัง COVID-19 เมื่อการระบาดจบหรือเบาลง และน่านฟ้าเปิดให้บินระหว่างกันได้เสรีเหมือนเดิม การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอาจจะเป็นเชื้อเพลิงการเงินสำคัญให้กับไทยเรา

 

อย่างในปี พ.ศ.2564 นี้ การท่องเที่ยวไทยก็ยังคงจะไม่ฟื้นง่าย ดูจากสถานการณ์และการเปิดให้นักท่องเที่ยวที่รับวัคซีนแล้วบินลงภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ตามด้วยอีก 10 ปลายทางในเดือนตุลาคม ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวคาดการณ์ 5 แสนคน ก็เป็นแค่ตะกร้าใบเล็กๆ ของการท่องเที่ยว

ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ก็ได้ออกมาพูดเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า การท่องเที่ยวไทยจะยังไม่ฟื้นตัวสู่จุดปกติ หรือเหมือนเดิม ภายใน 5 ปีนี้ หรือจนกว่าจะปี พ.ศ.2569 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 2 ปีเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าอาชีพของคนกว่า 7 ล้านคนในภาคท่องเที่ยวจะโดนผลกระทบต่อไป

 

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ต่างประเทศ

 

สุขภาพชาวต่างชาติ = สุขภาพเศรษฐกิจไทย?

การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จะสามารถเข้ามาประคองการท่องเที่ยวในภาพรวมของไทยหลังจากนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อหาคำตอบ The MATTER ต่อสายหา ‘ผศ.ดร. ไพฑูรย์ มนต์พานทอง’ คณบดีคณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เพื่อพูดคุยถึงประเด็นนี้

“การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ถ้าเจาะลงไปดู มันเติบโตและมีส่วนแบ่งตลาดเยอะมากเลยนะคะ (ในตลาดท่องเที่ยวไทยภาพรวม) เป็นรายได้อันดับท็อป 3 เลยด้วยซ้ำไป มันสูงกว่าธุรกิจท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเสียอีก ขณะที่ประเภทท่องเที่ยวอันดับหนึ่งที่ทำรายได้มากสุดคือการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ เพราะนักท่องเที่ยวโหยหาประสบการณ์ ไม่ใช่เป็นแค่การเดินทางเพื่อความสุขทางกายอย่างเดียว”

“จะเห็นได้ว่าหลายประเทศระยะหลังก็พยายามพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มาแข่งมากเลย อย่างเกาหลีใต้เขาได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เยอะเหลือเกิน”

ซึ่งไพฑูรย์บอกว่า สิ่งที่ทำให้หลายประเทศพยายามจะทำท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของตัวเองให้บูม เป็นเพราะมัน ‘ทำรายได้สูงมาก’ และใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการท่องเที่ยวอื่นๆ เมื่อคิดเฉลี่ยต่อหัว แถมยังมีผู้เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนที่จะได้รายได้จากธุรกิจประเภทนี้อีกมากมาย ไม่ใช่แค่ตัวโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ธุรกิจซัพพอร์ตอื่นๆ อีกมากมาย และมากกว่าเม็ดเงิน คือ ‘ชื่อเสียง’ การบริหารจัดการเชิงสาธารณสุขของประเทศนั้นๆ

 

ส่วนคำถามว่าศักยภาพของประเทศไทยเทียบเคียงแข่งขันกับประเทศอื่นได้มากน้อยแค่ไหน ไพฑูรย์ให้คำตอบว่า “บ้านเราไม่แพ้ใครเลย”

 

เธออธิบายต่อว่า ในการตัดสินใจจะบินมารักษาครั้งหนึ่ง สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะมองหา คือ ‘value for money’ หรือความคุ้มค่าเงินในการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เราทำได้ อย่างเรื่องค่ารักษาพยาบาลต่างๆ แม้เป็นเอกชน แต่สำหรับต่างชาติก็ยังถือว่าคุ้มค่า

ถัดมาในเรื่องของ ‘คุณภาพ’ โรงพยาบาลไทยกว่า 50 แห่งผ่านมาตรฐานองค์กร Joint Commission International (JCI) ซึ่งเป็นองค์กรสากลจากประเทศสหรัฐอเมริกาที่คอยตรวจสอบมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้การรับรองคุณภาพแก่โรงพยาบาลทั่วโลก ทำให้เป็นประเทศอันดับ 4 ของโลกด้านโรงพยาบาลได้มาตรฐาน และอันดับ 1 ในอาเซียน

‘การบริการ’ ถือว่าเราโดดเด่นกว่าประเทศอื่น ถ้าพูดถึงการบริการของคนไทยก็ต้องถือว่าอยู่ในระดับยอดเยี่ยม

และสุดท้าย ‘การท่องเที่ยว’ หลังจากการพักรักษาตัวเสร็จ ซึ่งประเทศไทยมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่โดดเด่นอยู่แล้ว

 

ไพฑูรย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ลูกค้าของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทย กว่า 50% เป็นคนในเอเชีย-แปซิฟิก ถัดมาคือชาวยุโรปและชาวตะวันออกกลาง ขณะที่ตลาดที่มีศักยภาพที่เราควรโฟกัสให้มากคือ 1. ตลาดอาเซียน คนมาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา ที่ชอบในวัฒนธรรมและอาหารบ้านเราอยู่แล้ว และเดินทางระยะสั้นได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย เชื่อมั่น และ 2. ชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวในประเทศไทย

“มันจึงชัดเจนว่าทำไมภาครัฐถึงมีความพยายามที่จะทำให้การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เป็น s-curve หรือเป็น new s-curve หรืออุตสาหกรรมรายได้ใหม่ของประเทศ เพราะถ้าหากกลับไปมองการท่องเที่ยวแบบเดิมที่นักท่องเที่ยว กระทั่งทัวร์จีนเข้ามาเพื่อหาความเริงรมย์ทั่วไป การท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับผลกระทบหนักมากเพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นชนชั้นกลางซึ่ง COVID-19 กระทบพวกเขามากมาย ในอดีตคนกลุ่มนี้พร้อมเดินทาง แต่หลัง COVID-19 คนพวกนี้อาจจะมีความรู้สึกว่า ฉันไม่พร้อม ฉะนั้นประเทศไทยจะสูญเสียนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไปเยอะมาก ดังนั้นการท่องเที่ยวไทยต่อจากนี้อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดว่า จะเอาตัวเลขนักท่องเที่ยวแบบในอดีตเป็นไปไม่ได้ ใน 4-5 ปีต่อจากนี้เราคงจะไม่เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวเติบโตเหมือนก่อน COVID-19

“ดังนั้นเมื่อตัวเลขเชิงปริมาณมันทำไม่ได้ เราต้องเค้นให้ได้ว่าโปรดักต์ตัวไหนสร้างเงินได้ โปรดักต์ตัวไหนมีมูลค่าเพื่อไปเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพจะมาท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นคือ medical tourism ที่จะตอบโจทย์ตรงนี้ คือลูกค้ากลุ่มนี้เขามีเงินจ่าย เขามีความจำเป็นต้องมารักษา มาบ้านเรา”

 

คำตอบของอาจารย์จากนิด้าน่าจะทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้โดยคร่าวประมาณหนึ่งว่า จะต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนพร้อมรับมือ ภาคท่องเที่ยวก็อาจจะต้องปรับโมเดลธุรกิจเหมือนกัน

เธอให้คำแนะนำต่ออีกนิดว่า คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมถึงรัฐเองต้องปรับแนวคิด “หมดยุคจะขายของถูกอีกต่อไป” ใช้เทคโนโลยีพัฒนาโปรดักต์และสร้างความรู้สึกปลอดภัย สะดวกสบายในการท่องเที่ยว โดยยังรักษาความเป็นไทยๆ วิถีไทย การบริการแบบไทยไว้ให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงก่อนการระบาดใหญ่ด้วยซ้ำ เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

“เราจะทำยังไงที่จะขายของและกลุ่มเป้าหมายเราตั้งใจจะเข้ามาใช้จ่าย” เธอตั้งคำถาม “ดังนั้นมันต้องไม่ใช่สินค้าหรือบริการที่เหมือนๆ กันไปหมด แต่เราต้องใส่มูลค่า ประสบการณ์ ความลุ่มลึกเข้าไป และเขารู้สึกคุ้มค่าจะจ่าย ทำยังไงจากสปา 300 บาท แล้วเขายอมจ่าย 2,000-3,000 ต่อชั่วโมง ถ้าทำได้ในปลายทางเราก็อาจจะได้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่างจากเดิมมาก”