นิติศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลง

ณรงค์ ใจหาญ ความคาดหวังของสังคม และผู้ใช้บัณฑิตนิติศาสตร์ในปัจจุบันเห็นตรงกันว่า นักกฎหมายซึ่งจบจากสภาบันอุดมศึกษาที่สอนนิติศาสตร์ในหลายๆ แห่งทั่วประเทศจะทำหน้าที่สำคัญในงานด้านนิติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ตรงกับสายงานวิชาชีพกฎหมาย เช่น นิติกร ทนายความ พนักงานอัยการ ศาล นักกฎหมายสำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นต้น หรือในหน้าที่อื่นๆ ที่ต้องใช้กฎหมายในชีวิตประจำวัน ว่า บัณฑิตที่จบออกมาในระดับปริญญาตรี จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ในกฎหมายหลักเช่น แพ่ง อาญา ปกครอง และวิธีพิจารณาความแพ่ง อาญา และปกครอง อย่างดีในทางวิชาการ ในขณะเดียวกันจะต้องมีความรู้ในกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะรับผิดชอบเป็นอย่างดี รวมถึงการให้ความเห็นทางกฎหมายที่ตรงกับสภาพความเป็นจริง ซึ่งนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องมีปัญหาเป็นคดีหรือข้อพิพาทภายหลัง นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้หรือการตีความกฎหมาย มีความคาดหวังว่า การใช้กฎหมายของนักกฎหมายควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม และใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายมิใช่เลือกใช้เฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์กับพวกหรือลูกความของตน เพราะหากทำเช่นนั้น ก็จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและการเอารัดเอาเปรียบขึ้นได้ นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับนักกฎหมายรุ่นใหม่คือการพัฒนาสังคมที่ก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุค Digital และประเทศไทยเองก็ตั้งเป้าให้การพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ดังนั้น กฎหมายและผู้ใช้กฎหมายจึงต้องเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นกลไกหนึ่งในการติดต่อสื่อสาร และการทำนิติกรรม หรือการก่ออาชญากรรมในสังคมไทยและสังคมโลก หากนักกฎหมายหรือกระบวนการระงับข้อพิพาทหรือการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทั้งทางแพ่ง อาญา ปกครองไม่ได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้ จะก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารงานยุติธรรมในอนาคตต่อไป ด้วยเหตุนี้เอง ข้อท้าทายสำหรับผู้บริหารงานศึกษาในแต่ละมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในปัจจุบันที่จะต้องผลิตบัณฑิตนิติศาสตร์เพื่อออกไปทำหน้าที่ดังกล่าวได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และเทคโนโลยี โดยทำให้นักนิติศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษามีความพร้อมทั้งในด้านองค์ความรู้ในภาพรวมของระบบกฎหมาย ในขณะเดียวกัน มีความรู้ที่ลึกไปในกฎหมายเฉพาะที่มีความจำเป็น เช่น กฎหมายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ กฎหมายด้านการสื่อสารและพลังงาน กฎหมายสังคมและสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งกฎหมายเฉพาะเหล่านี้เป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของคนในแต่ละกลุ่ม เพียงแต่ว่าเมื่อจบไปแล้วการใช้กฎหมายเฉพาะเหล่านี้มีความจำเป็นต้องมีความรู้ลึก และสามารถพัฒนาตนเองให้ค้นคว้าเพื่อหาหลักเกณฑ์ และสามารถวิเคราะห์กฎหมายเหล่านั้นได้ โดยอาศัยพื้นฐานทางกฎหมายที่จะนำไปปรับและวิเคราะห์บทบัญญัติเหล่านั้น ปัจจัยอีกประการที่เป็นกลไกให้การเรียนการสอนกฎหมายมีความง่ายกว่าในอดีต คือ การมีระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลทางด้านกฎหมายไม่ว่าจะเป็นตำรา หนังสือ บทความ แนวคำพิพากษา หรือแม้กระทั่งแบบของสัญญา ความเห็นทางกฎหมายที่เคยวินิจฉัยมาแล้ว ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อีกทั้งมี clip การบรรยายหรือการดำเนินคดีในศาล หรือข้อวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายอยู่ในเครือข่ายดังกล่าวที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึง และรับรู้ได้ ด้วยเหตุนี้ การเรียนการสอนจึงไม่ได้จำกัดในห้องเรียนเสมอไป ซึ่งต่างจากการเรียนในสมัย 40 ปีที่แล้วที่นักศึกษาต้องมาเข้าชั้นเรียน เพราะไม่มีหนังสือ หรือตำราอ่านมากนั้น แต่ปัจจุบัน หนังสือตำรา เป็น file electronic และสามารถอ่านได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงได้ง่าย การสอนเนื้อหาข้อมูลทางด้านกฎหมายที่ต้องใช้การสอนในห้องจึงควรปรับเปลี่ยนเป็นการให้อ่านนอกห้องแล้วนำมาวิเคราะห์ วิจารณ์ ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เพื่อให้นักศึกษากฎหมายได้มีศักยภาพในการวิเคราะห์กฎหมายได้เพิ่มขึ้นกว่าการรู้และปรับใช้กฎหมาย การทำให้นักศึกษากฎหมายมีประสบการณ์ในทางปฏิบัติเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจในการใช้กฎหมายตามความเป็นจริง รวมถึงผลกระทบของกฎหมายในสังคมว่าเมื่อใช้แล้วเกิดความเป็นธรรมหรือไม่ เพราะหากเรียนกฎหมายตามบทบัญญัติจะเห็นความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายด้านเดียว หากเห็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเห็นความไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจจากการมีบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว นักศึกษาจะได้เห็นว่าควรปรับปรุงและควรใช้กฎหมายอย่างไร จึงจะเป็นธรรม การศึกษากฎหมายในลักษณะนี้จะต้องมีการให้นักศึกษาเข้าร่วมคลินิกยุติธรรม หรือคลินิกกฎหมายเพื่อให้เห็นแนวทางปฏิบัติจริงๆ ทั้งนี้ในขณะเดียวกันก็จะทำให้นักศึกษามีความตระหนักถึงความเป็นธรรมในสังคม หากมีการใช้กฎหมายที่บิดเบือนหรือเลือกปฏิบัติ การจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทายการเรียนการสอน เพราะจะต้องสร้างวิชาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเหล่านี้ เพื่อจะเป็นพื้นฐานในการกำหนดกลไกในการกำกับดูแล และการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่การที่จะให้นักกฎหมายเข้าใจเรื่องดังกล่าวได้ การใช้หลักตีความกฎหมายโดยทั่วไปไม่อาจทำให้เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายเฉพาะนี้ได้ จึงต้องมีการเรียนการสอนให้นักกฎหมายเข้าใจในปริบทของเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม การค้าสมัยใหม่ในยุคดิจิทัล เพื่อให้เข้าใจและปรับใช้กฎหมายที่มีอยู่หรือที่กำลังจะออกมาได้ถูกต้อง การเรียนการสอนจึงต้องเสริมวิชาเหล่านี้ รวมถึงการเสริมทักษะทางภาษาต่างประเทศ เช่น อังกฤษ จีน หรือภาษาของประเทศอาเซียนอื่นๆ ประเด็นสุดท้ายที่นักกฎหมายยังขาดอยู่คือการทำงานแบบทีมงาน และการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ให้สอดคล้องกัน ทั้งนี้ เพราะการวัดผลหรือการเรียนการสอน เน้นความเข้าใจ และการปรับใช้กฎหมายได้ถูกต้องเป็นสำคัญ ดังนั้น การประเมินผลการเรียน จึงต้องคำนึงถึงการวัดศักยภาพในการวิเคราะห์กฎหมาย การเชื่อมโยงกฎหมายหลายๆ เรื่องเข้าด้วยการ การให้คำปรึกษาทางกฎหมายที่นำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างบูรณาการ และการใช้กฎหมายที่เป็นธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน สิ่งเหล่านี้ จึงต้องปรับเปลี่ยนการวัดผลที่วัดการสอบเพื่อวัดความเข้าใจและใช้เป็น มาเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการวิเคราะห์ การบูรณาการ และ ความเป็นธรรมในการใช้กฎหมาย ซึ่งไม่อาจวัดได้โดยการสอบข้อเขียนแต่เพียงอย่างเดียว ต้องปรับเปลี่ยนการวัดผลด้วยเช่นกัน โดยสรุป ความคาดหวังของสังคมที่จะต้องการนักกฎหมายที่มีความรู้แน่นทางกฎหมายและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถรู้ลึกในกฎหมายเฉพาะต่างๆ ใช้กฎหมายหรือให้ความเห็นทางกฎหมายได้อย่างนำไปสามารถปฏิบัติได้ ทั้งที่เป็นคนไทย และคนต่างชาติ รวมถึงเท่าทันเทคโนโลยี และใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม การผลิตนักกฎหมายใหม่แบบนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ให้สามารถผลิตหรือสร้างนักกฎหมายดังกล่าวได้ เพื่อจะเป็นกำลังของชาติในการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคตต่อไป