ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนสำคัญอย่างไรต่ออาเซียน

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations)

ประชาคมอาเซียน

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community)


     อาเซียนเห็นว่า สันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนา ในด้านต่างๆ จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน (confidence building) ตลอดจน การสร้างเสถียรภาพ (stability) และสันติภาพ (peace) ในภูมิภาค

     ตลอดระยะเวลา 41 ปีที่ผ่านมา อาเซียนสามารถระงับข้อพิพาท ไม่ให้ขยายตัวเป็นความตึงเครียด โดยการเจรจาหารือทางการเมืองและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เห็นพ้องในการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community–APSC) อันมีจุดมุ่งหมายในการสร้างความมั่นใจ ว่าประเทศในภูมิภาคจะอยู่ร่วมกันและร่วมกับประเทศอื่นๆ ในโลกด้วยความสงบสุขในสภาพแวดล้อมที่ เป็นประชาธิปไตยและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว

     ประเทศสมาชิกของประชาคมได้ให้คำมั่นสัญญา ที่จะพึ่งพากระบวนการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี และคำนึงว่าความมั่นคงของประเทศสมาชิกจะเกี่ยวโยงกันตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ วิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน อันประกอบด้วย การพัฒนาด้านการเมือง การกำหนดและยึดถือบรรทัดฐานร่วมกัน การป้องกันความขัดแย้ง การการแก้ไขความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้ง โดยอยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงของกระบวนการ หลักการ ความตกลง และโครงสร้างของอาเซียนที่มีวิวัฒนาการมา ช้านาน ซึ่งปรากฏใน เอกสารสำคัญทางการเมืองดังนี้


     • ปฏิญญาอาเซียน (ASEAN Declaration) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 8 สิงหาคม 2510
     • ปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ อิสรภาพ และการวางตนเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality Declaration) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2514
     • ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519
     • สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia ) ณ บาหลี วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2519
     • ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยทะเลจีนใต้ (ASEAN Declaration on the South China Sea) ณ กรุงมะนิลา วันที่ 22 กรกฎาคม 2535
     • สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear-Free Zone : SEAN-FZ) ณ กรุงเทพฯ วันที่ 15 ธันวาคม 2540
     • วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 (ASEAN Vision 2020) ณ กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 15 ธันวาคม 2540
     • ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ครั้งที่ 2 (Declaration of ASEAN Concord II) ณ บาหลี วันที่ 7 ตุลาคม 2546


     อาเซียนมุ่นเสริมความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง เพื่อเสริมสร้างและธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ และความมั่นคงของภูมิภาค เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และสามารถแก้ปัญหาและความขัดแย้งโดนสันติวิธี


     เพื่อรองรับการเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประเทศสมาชิกได้ร่วมจัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Polotical-Security Community Blueprint) โดยเน้น 3 ประการ คือ
     1) การมีกฏเกณฑ์และค่านิยมร่วมกัน ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะร่วมกันทำเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบสังคม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่แตกต่างของประเทศสมาชิก ส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หลักการประชาธิปไตย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การต่อต้านทุจริต การส่งเสริมหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล เป็นต้น
     2) ส่งเสริมความสงบสุขและรับผิดชอบร่วมกัน ในการรักษาความมั่นคงสำหรับประชาชนที่ครอบคลุมในทุกด้าน ครอบคลุมความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในรูปแบบเดิม ซึ่งหมายถึง มาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการระงับข้อพิพาท โดยสันติ เพื่อป้องกันสงครามและให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ด้วยกันโดยสงบสุข และไม่มีความหวาดระแวง นอกจากนี้ ยังขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ ตลอดจนการเตรียมความพร้อม เพื่อป้องกันและจัดการภับพิบัติและภัยธรรมชาติ
     3) การมีพลวัตและปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก กำหนดกิจกรรมเืพื่อเสริมสร้างบทบาทของอาเซียน ในความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น กรอบ ASEAN+3 กับจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับมิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ

     ด้วยตระหนักถึงความเกี่ยวพันกันของความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทย ได้เสนอให้มีการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum - ARF) ในปี 2537 โดย ARF จะมุ่งเน้น 3 เรื่องหลักได้แก่ ส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Confidence Building) การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy) และการแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution)

     ประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมว่าด้วยการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ดารุสซาลาม กัมพูชา แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

     การประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะหารือเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ การไม่แพร่ขยายของอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี

     นอกจากนี้ อาเซียนยังมีกรอบความร่วมมือทางทหาร (ASEAN Defense Ministerial Meeting -ADMM) เพื่อสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ ที่ใกล้ชิดระหว่างฝ่ายทหารของประเทศสมาชิก ความร่วมมือ ด้านการป้องกันยาเสพติด การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้ อาเซียนได้ลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ในปี 2550