การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการในสถานการณ์ปัจจุบันมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด จงอธิบาย

​ธุรกิจไทยปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

โลกกำลังอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นรวดเร็ว และรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและวิถีการใช้ชีวิตของเราทุกคน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทัน

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณสุภัททกิต เจตทวีกิจ อดีตผู้ประกาศข่าวและพิธีกรจากสถานีโทรทัศน์ Money Channel มาร่วมสนทนากับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสร้างความเข้าใจในมิติการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจไทย รวมถึงให้ข้อแนะนำในการปรับตัวสำหรับภาคธุรกิจและภาคประชาชนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคใหม่

ภาพใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนต้องพร้อมรับมือ

การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการในสถานการณ์ปัจจุบันมีความสำคัญมากน้อยเพียงใด จงอธิบาย

คุณสุภัททกิต : ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น จนไม่รู้ว่าเรื่องไหนกระทบต่อตัวเรา หากมองจากภาพใหญ่ในมิติทางเศรษฐกิจ ท่านผู้ว่าการมองว่าเรื่องที่สำคัญมีอะไรบ้าง

ดร.วิรไท : ผมเห็นด้วยว่าเราควรมองบริบทการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ โดยต้องทำความเข้าใจว่าสิ่งที่มากระทบตัวเราเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นหรือเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น เพื่อจะรับมือได้ถูกต้องสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจไทยมีอย่างน้อย4 เรื่องสำคัญ ได้แก่

          เรื่องแรก คือ เทคโนโลยี ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเร็วมากประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก สามารถตอบโจทย์หลากหลายด้วยต้นทุนที่ถูกลงมาก เช่น เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การซื้อของและการทำธุรกรรมทางการเงินมาอยู่บนสมาร์ทโฟน เทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายทำให้เกิดเศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (sharing economy) ธุรกิจต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรเอง สามารถใช้ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีอีกมากกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจในโลก ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์สามมิติ Artificial Intelligence (AI) machine learning หรือเทคโนโลยีชีวภาพ เรียกได้ว่าไม่มีธุรกิจใดที่จะไม่ได้รับประโยชน์และผลกระทบจากเทคโนโลยีที่นับวันจะยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น

          เรื่องที่สอง คือ ห่วงโซ่การผลิต (supply chain) เมื่อระบบอัตโนมัติ (automation) และหุ่นยนต์สามารถทำงานแทนคนได้เกือบทั้งหมด ทำให้หลายธุรกิจซึ่งเดิมกระจายขั้นตอนการผลิตไปหลายจุดทั่วโลก ย้ายกลับมาผลิตในภูมิภาค (regionalization) มากขึ้นหรือดึงกลับไปผลิตภายในประเทศปลายทาง (onshoring) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดได้เร็วขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านนี้ สำคัญมากเพราะประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดที่พึ่งพาการ ส่งออก และภาคอุตสาหกรรมไทยก็เป็นส่วนหนึ่งใน supply chain ของโลกด้วย นอกจากนี้ ภาคบริการจะมีบทบาทมากขึ้นใน supply chain ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือบริการหลังการขาย กิจกรรมบริการจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าทำให้ธุรกิจมีอำนาจต่อรองเรื่องการตั้งราคา

          เรื่องที่สาม คือ ภาวะโลกร้อน ซึ่งนำไปสู่สถานการณ์หลายอย่างที่เราไม่คาดคิดมาก่อน อย่างในปี 2562 บางพื้นที่ในประเทศไทยประสบทั้งภัยแล้งรุนแรงและน้ำท่วมฉับพลันในเวลาใกล้กัน น้ำสะอาดจะเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในอนาคต เรื่องเหล่านี้เป็นความเสี่ยงโดยตรงต่อธุรกิจและกระทบกับคนทั้งโลก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางอ้อมที่อาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ และความคาดหวังของสังคมถึงมาตรฐานในการทำธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

          สำหรับประเทศไทยยังมีเรื่องที่สี่ คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ในปี 2578 เราจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยมาก (hyper-aged society)1 จะมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นและคนวัยทำงานน้อยลง โครงสร้างแรงงานที่เปลี่ยนไปทำให้การทำธุรกิจรูปแบบเดิมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากอาจไม่เหมาะสมอีกต่อไป โครงสร้างตลาดและการบริโภคของประชาชนก็จะเปลี่ยนไปมากด้วย

เหรียญสองด้านของ Technology Transformation

คุณสุภัททกิต : ถ้าเจาะลึกลงไปในด้านเทคโนโลยี ท่านผู้ว่าการประเมินสถานการณ์และมีคำแนะนำในการรับมือด้านนี้อย่างไร

ดร.วิรไท : เวลาพูดถึง "การเปลี่ยนแปลง" หลายคนมักมองเป็น"ความเสี่ยง" แต่ความจริงแล้วเราต้องมองในเรื่อง "โอกาส" ด้วยในช่วง 2 - 3 ปีมานี้ ธปท. มองถึงโอกาสของเทคโนโลยีและเริ่มดำเนินการหลายเรื่อง เช่น การส่งเสริมระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ลดการใช้เงินสดและเช็คซึ่งมีต้นทุนสูง ส่งผลให้คนไทยได้รับประโยชน์จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน จนเรียกได้ว่าประเทศไทยมีต้นทุนการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่ำสุดในโลก หรือการนำเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) มาพัฒนาสกุลเงินดจิทัลในโครงการอินทนนท์2  ซึ่ง เป็นกลไกใหม่ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องมีบัญชีกลางอยู่บัญชีเดียว

          การทำธุรกรรมบนโลกดิจิทัลจะทิ้งรอยเท้าดิจิทัล (digital footprint) ที่สะท้อนรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของแต่ละบุคคลรอยเท้าดิจิทัลจะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่สร้างประโยชน์ให้กับเจ้าของข้อมูลได้มากในอนาคต สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มพูดถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อจากข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือและการทำธุรกรรม e-Payment เพื่อประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ

คุณสุภัททกิต : มาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล (data privacy) ท่านผู้ว่าการมีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร

ดร.วิรไท : ผมคิดว่าหลักคิดสำคัญคือ ลูกค้าจะต้องได้ประโยชน์จากข้อมูลการทำธุรกรรมของตนเอง เราต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้ข้อมูล ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมนี้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีกระบวนการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและรักษาสิทธิของเจ้าของข้อมูล เช่น ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนนำไปใช้

           อีกเรื่องที่สำคัญคือ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) อาจฟังดูเป็นหน้าที่ของสถาบันการเงิน แต่ถ้าเราใช้คำว่า สุขอนามัยด้านไซเบอร์ (cyber hygiene) จะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นหน้าที่ของเราทุกคน เหมือนการที่ต้องล้างมือก่อนรับประทานอาหารใช้หน้ากากป้องกันเวลาเจอคนไอหรือจาม ต่อไปสุขอนามัยด้านไซเบอร์ควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนเข้าใจ ต้องรู้จักดูแลตัวเอง เช่นรู้วิธีการตั้งและเก็บพาสเวิร์ดให้มีความปลอดภัยสูง หรือการกำหนดเพดานวงเงินในการทำธุรกรรมออนไลน์

ปรับมุมมอง พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้าน supply chain

คุณสุภัททกิต : ในภาคการผลิตและภาคบริการ เราเริ่มเจอปัญหาเรื่องการปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยีและ supply chain ที่เปลี่ยนแปลงไป ท่านผู้ว่าการมีคำแนะนำอย่างไร

ดร.วิรไท : การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและ supply chain ครอบคลุมแทบทุกด้านของภาคธุรกิจ และทุกคนต้องสร้างความเข้าใจ เวลาคนบอกว่า เศรษฐกิจไม่ดีทำให้ขายของได้น้อยลงอันที่จริงแล้วอาจเป็นเพราะรูปแบบการทำธุรกิจได้เปลี่ยนไป อย่างร้านอาหาร ถ้าร้านใดมีบริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม food delivery จะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และมีธุรกิจทั้งวัน แต่ถ้าร้านไหนที่ยังขายแบบเดิม ก็จะรู้สึกว่าขายของได้น้อยลง เพราะคนนิยมสั่งอาหารผ่าน food delivery เพิ่มขึ้น

          ธุรกิจไทยต้องสำรวจความสามารถในการแข่งขันของตนเอง และเร่งปรับตัวเพื่อไปอยู่ใน supply chain ที่กำลังปรับเปลี่ยน เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็จะมี supply chain ใหม่เกิดขึ้น ภาครัฐเองก็ต้องเร่งแก้ไขกฎเกณฑ์ให้ทันสมัยและเอื้อต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจอย่างเท่าทัน ต้องมีมาตรการจูงใจให้ธุรกิจลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรอัตโนมัติ หรือ AI รวมถึงต้องเร่งพัฒนาแรงงานให้มีทักษะสอดคล้องกับเทคโนโลยีและวิถีการทำธุรกิจแบบใหม่

Sustainability : ภาคธุรกิจร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน

คุณสุภัททกิต : ท่านผู้ว่าการมองว่า ภาคธุรกิจควรเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนอย่างไร

ดร.วิรไท : การทำธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นความเสี่ยงสำคัญของภาคธุรกิจ เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน (sustainability) มากขึ้น ภาคธุรกิจต้องมองไกลและมองกว้างต้องแน่ใจว่าสิ่งที่ตนทำต้องไม่ซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่สร้างผลข้างเคียง ไม่เช่นนั้นจะต้องเผชิญความเสี่ยงอันเกิดจากความคาดหวังของสังคม หรือกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะออกตามมา ความจริงอยากให้มองเรื่องนี้เป็นโอกาสด้วย อย่างการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีตลาดใหญ่มากทดแทนการใช้พลาสติก หรือการทำเกษตรประณีตที่ปลอดสารเคมีจะได้สินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ฉะนั้น หากใครเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืนก่อนย่อมได้เปรียบเพราะจะกลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานใหม่ของอุตสาหกรรม

          สำหรับภาคสถาบันการเงิน แนวคิดเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืนจะต้องถูกผนวกเข้ามาในทุกขั้นตอนสำคัญของการทำธุรกิจโดยเฉพาะการพิจารณาความเสี่ยงด้านสินเชื่อ

Aging Society กับโครงสร้างแรงงานไทย

คุณสุภัททกิต : การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการทำธุรกิจในอนาคตหรือไม่ และทุกคนควรเตรียมตัวอย่างไร

ดร.วิรไท : การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะกระทบอุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มเครื่องหนัง หรือเฟอร์นิเจอร์ ภาคธุรกิจจึงต้องปรับรูปแบบการผลิตจากที่เน้นความได้เปรียบจากต้นทุนค่าแรงหรือใช้แรงงานจำนวนมากมาเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (value-added) นอกจากนี้ เราต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถหารายได้ด้วยตนเอง เพื่อไม่สร้างภาระให้กับภาครัฐมากเกินควร นโยบายด้านแรงงานของประเทศจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญมาก

          ผมขอเน้นว่า เราอยู่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ถ้าคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องสร้างระบบแรงจูงใจที่ส่งเสริมให้คนเร่งปรับตัวไปสู่โลกใหม่ ที่ผ่านมาเราอาจจะเน้นการเยียวยา เราต้องระวังไม่ให้การเยียวยากลายเป็นการส่งเสริมให้คนทำแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง การปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักร่วมกัน เริ่มทำด้วยกันเพราะไม่มีใครที่ทำเหมือนเดิมแล้วจะอยู่รอดได้ในโลกใหม่

>> ดาวน์โหลด PDF Version
>> ชมคลิปวีดิโอ
>> อ่าน e-Magazine