บริษัทที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ดียังไง

1 ก.ค. 2021

ทำไม คนทำธุรกิจ ต้องคิดถึง IPO ? | THE BRIEFCASE
เป้าหมายสำคัญของผู้ที่ทำธุรกิจ นอกจากจะเป็นเรื่องของผลประกอบการที่ดีแล้ว
เชื่อว่าผู้ประกอบการหลาย ๆ คนก็คงอยากจะนำธุรกิจของตนเองจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
จากช่วงแรกที่มีบริษัทเพียง 8 บริษัท จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
จนปัจจุบัน มีบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ทั้งหมด 825 บริษัท
แล้วคุณสุวภา เจริญยิ่ง ผู้ที่พาบริษัทไทยกว่า 80 แห่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
มองว่าการเข้าตลาดหลักทรัพย์มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร
ทำไมคนทำธุรกิจจะต้องนึกถึงการ IPO
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจ คำว่า IPO กันสักนิด
คำว่า IPO มาจากคำว่า Initial Public Offering ซึ่งก็คือการที่บริษัททำการระดมทุน
ด้วยการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก
โดยปกติแล้ว ในการทำธุรกิจถ้าเราอยากจะขยับขยายธุรกิจของเราให้เติบโตขึ้น ถ้าไม่ใช้ทุนที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ก็ต้องไปหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม อย่างเช่น การกู้ธนาคาร
แต่ถ้าเงินกู้ที่เรากู้มานั้นยังไม่เพียงพอ การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์
ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราใช้ในการหาเงินทุน หรือที่เราคุ้นเคยกับคำว่า IPO
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน)
บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้ตัดสินใจใช้วิธีการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2532
เพื่อมาเป็นแหล่งเงินทุนให้กับบริษัท เนื่องจากในสมัยนั้น ธนาคารยังไม่ค่อยปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันมากเท่าไร
แต่ก่อนที่จะนำบริษัทเข้า IPO ได้นั้น ผู้ประกอบการก็ควรจะตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน
ว่าเราต้องการอะไรจากการ IPO เช่น ต้องการลดภาระการเพิ่มทุน, ต้องการผลตอบแทนที่ดีขึ้น, ต้องการรู้มูลค่ากิจการ หรือต้องการระดมทุนขยายกิจการ
ซึ่งการนำบริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป
เริ่มจากข้อดีของการ IPO ก็คือ
- ชื่อเสียงของบริษัทเพิ่มขึ้น
ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าบริษัทของเราทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร
พอหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
เช่น ในสมัยก่อนอาจมีคนรู้จัก บริษัท ควงเจริญ อีเลคโทรนิคส์ ไม่มากนัก
แต่ปัจจุบันหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ ควงเจริญก็เป็นที่รู้จักในชื่อ KCE
ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไทย ที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 80,000 ล้านบาท
- แหล่งเงินทุน ที่มีต้นทุนถูกลง
การ IPO จะแตกต่างจากการหาแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เช่น การกู้ธนาคาร ตรงที่
การ IPO ไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้น หรือจ่ายดอกเบี้ย แต่เป็นการได้เงินทุนมาแลกกับหุ้นของบริษัทตนเอง
โดยอาจจะจ่ายเป็นปันผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
- คัดคนเก่ง ๆ เข้ามาทำงาน
เพราะเมื่อบริษัทมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปแล้ว
ก็ย่อมเป็นการดึงดูดผู้ที่มีความสามารถเข้ามาร่วมทำงานด้วย
- เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบรนด์ที่ดี
ข้อดีของการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์คือ คนทั่วไปจะรู้จักบริษัท รู้จักสินค้าของเรามากขึ้น และรู้ว่าธุรกิจของเราทำเกี่ยวกับอะไร สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาเลือกเป็นลูกค้าเราได้
เมื่อเรารู้ข้อดีของการ IPO แล้ว ก็มาลองดูข้อเสียของการ IPO กันบ้าง
โดยข้อเสียของการ IPO ก็คือ..
- เสียความเป็นส่วนตัว ต้องเปิดเผยข้อมูลบริษัท และเปิดเผยข้อมูลภายในให้กับสาธารณชน
- เสียส่วนแบ่งในการเป็นเจ้าของ
ยิ่งเวลาที่บริษัทมีผลประกอบการที่ดีหรือกำไรที่ดี
ก็เหมือนกับแบ่งของดีให้คนอื่นเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของ
- กฎระเบียบเยอะขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เยอะขึ้น
เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ค่าจ้างตรวจสอบภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน จากเดิมค่าตรวจสอบบัญชีอาจอยู่เพียงหลักหมื่น
แต่เมื่อจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว อาจเพิ่มมาเป็นหลักล้านบาทก็ได้
สุดท้ายนี้คุณสุวภาได้บอกว่า การเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เหมือนวิ่งมาราธอน
ไม่ใช่ว่าคิดวันนี้แล้วจะเข้าได้เลย ต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม 2-3 ปี
และหลังจากเข้าไปแล้วก็ต้องพัฒนาองค์กรอยู่เสมอ เพราะในตลาดหลักทรัพย์มีคู่แข่งมากมาย
เราต้องพัฒนาเพื่อดึงดูดนักลงทุนในเข้ามาลงทุนในธุรกิจของเราต่อไป..
Reference
- ลงทุนแมนสัมภาษณ์พิเศษ คุณสุวภา เจริญยิ่ง ผู้ที่พาบริษัทไทยกว่า 80 แห่งเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และอุปนายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย

20 ม.ค. 2020

บริษัทต้องมีกำไรเท่าไร ถึงจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้? /โดย ลงทุนแมน
การเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกเรียก IPO
คำว่า IPO เป็นสิ่งที่เจ้าของบริษัทหลายคนใฝ่ฝัน
โดยเฉพาะบริษัทสตาร์ตอัปที่ยึดคำว่า IPO เป็นตัวชี้วัดว่าบริษัทนั้นประสบความสำเร็จ

IPO ย่อมาจาก Initial Public Offering ซึ่งแปลว่าการนำหุ้นของบริษัทไปขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้กับคนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อระดมเงินทุนเพิ่มเติม

สิ่งที่เป็นคำถามต่อไปของทุกคนก็คือ
แล้วบริษัทเราต้องกำไรมากแค่ไหนถึงจะ IPO กับเขาได้?
╔═══════════╗
Blockdit แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
╚═══════════╝
ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ของไทยเรา มี 2 ตลาด คือ SET และ mai

การระดมทุนใน 2 ตลาดนี้ บริษัทของเราจะต้องมีสถานะเป็น บริษัทมหาชนจำกัด เสียก่อน

นอกจากนั้นบริษัทยังต้องมีผลประกอบการตามเกณฑ์ที่กำหนดด้วย

สำหรับ SET บริษัทจะต้องมีกำไรสุทธิ 2 - 3 ปีล่าสุด รวมกันมากกว่า 50 ล้านบาท
โดยในปีล่าสุดกำไรสุทธิจะต้องเกิน 30 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิในงวดสะสมล่าสุดเป็นบวก
ส่วนทุนชำระแล้วหลัง IPO ต้องมีมากกว่า 300 ล้านบาท

ส่วนตลาด mai บริษัทจะต้องมีกำไรสุทธิในปีล่าสุดมากกว่า 10 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิในงวดสะสมล่าสุดเป็นบวก
ส่วนทุนชำระแล้วหลัง IPO ต้องมีมากกว่า 50 ล้านบาท

แต่ถ้าบริษัทที่ต้องการจะ IPO ไม่มีกำไร บริษัทสามารถเลือกใช้อีกเกณฑ์ได้ ซึ่งก็คือเกณฑ์ของมูลค่าตลาด

สำหรับ SET บริษัทจะต้องมีมูลค่าตลาดตอน IPO มากกว่า 7,500 ล้านบาท โดยต้องมีกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ในปีล่าสุด และงวดสะสมล่าสุดเป็นบวก

ส่วน mai บริษัทจะต้องมีมูลค่าตลาดตอน IPO มากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยต้องมีกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ในปีล่าสุด และงวดสะสมล่าสุดเป็นบวก

และนี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมสตาร์ตอัปในต่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะขาดทุน แต่ก็ IPO ในตลาดหลักทรัพย์ได้

ยกตัวอย่างเช่น UBER ที่เพิ่ง IPO เข้าตลาดในเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา
ก็ขาดทุนอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะขายหุ้นให้กับนักลงทุนทั่วไป

ผลประกอบการ UBER

Q3 ปี พ.ศ. 2560 รายได้ 91,000 ล้านบาท ขาดทุน 30,000 ล้านบาท
Q4 ปี พ.ศ. 2560 รายได้ 92,000 ล้านบาท ขาดทุน 27,000 ล้านบาท
Q1 ปี พ.ศ. 2561 รายได้ 96,000 ล้านบาท ขาดทุน 31,000 ล้านบาท

หรือแม้แต่กรณีของ Wework ที่เตรียมจะ IPO ในช่วงปลายปีที่แล้ว
ก็มีผลขาดทุนในปี 2018 เกือบ 6 หมื่นล้านบาท

แม้ว่าสุดท้ายจะไม่ได้เข้าตลาดเนื่องจากปัญหาความไม่โปร่งใสและการบริหารงานของ CEO

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ IPO ในตลาดต่างประเทศอาจแตกต่างจากของประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยเองก็มีบริษัทที่ขาดทุน แต่ก็สามารถ IPO ได้เช่นกัน

รู้หรือไม่ว่า ANAN หรือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่ง IPO ในปี พ.ศ. 2555 ในตอนนั้นบริษัทก็มีผลประกอบการขาดทุน

ผลประกอบการของ ANAN ปี พ.ศ. 2554 รายได้ 5,661 ล้านบาท ขาดทุน 317 ล้านบาท

ซึ่งถ้าดูในกรณีของ ANAN บริษัท IPO ด้วยราคา 4.20 บาทต่อหุ้น บริษัทจะมีมูลค่า 13,999 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2554 มี EBIT 204 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ ANAN จึงสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้แม้ว่าจะขาดทุน แต่ใช้เกณฑ์มูลค่าตลาดแทน

อ่านมาถึงตรงนี้เราคงจะเห็นว่า
จริงๆ แล้ว การนำบริษัทเข้า IPO ไม่ได้จำเป็นต้องมีกำไรมหาศาล
ขั้นต่ำสุดก็เพียง 10 ล้านบาท
หรือหากบริษัทขาดทุน แต่มีขนาดใหญ่พอ ก็สามารถใช้เกณฑ์มูลค่าตลาดอย่างในกรณีของ ANAN ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงหนึ่งในข้อกำหนดของการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น

เพราะจริงๆ แล้ว การ IPO ยังมีเงื่อนไขอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในด้านตัวเลขงบการเงิน รวมถึงการบริหารงานที่เป็นระบบ ทั้งการกำกับดูแลกิจการ และการควบคุมภายใน

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อความน่าเชื่อถือของบริษัทจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน

แต่อย่าลืมว่า ต้นทุนของบริษัทที่จะต้องตามมาหลังจากนี้ ก็คือ ต้นทุนในการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงความอิสระในการบริหารงาน