นพ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ จุฬา

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์

อายุรศาสตร์โรคปอดและทรวงอก

ประวัติการศึกษา

  • แพทยศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤตทางระบบหายใจ
  • วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ (แพทยสภา)

นัดหมายแพทย์

MAKE AN APPOINTMENT

"เมื่อลูกตัดสินใจไม่ยื้อชีวิตพ่อแม่ นั่นไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะหยุดการรักษา เพราะการรักษาจะมีไปจนกระทั่งคนไข้เสียชีวิต คำว่า ‘ไม่ยื้อ’ คือการเปลี่ยนเป้าหมายการรักษา เพื่อให้คนไข้มีช่วงสุดท้ายของชีวิตที่มีความสุขในแบบที่ต้องการ”

เมื่อสุดท้ายคนที่ตัดสินใจว่าจะยื้อชีวิตหรือหยุดการรักษาไม่ใช่ ‘แพทย์’ แต่เป็น ‘ลูก’ การตัดสินใจที่สำคัญเช่นนี้ ลูกเองควรมีหลักในการตัดสินใจอย่างไร ทางเลือกไหนคือสิ่งที่เหมาะสมกับพ่อแม่

นพ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ จุฬา

มนุษย์ต่างวัยขอเป็นตัวแทนคนรุ่นลูก พูดคุยกับ รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางการหายใจและภาวะวิกฤตทางการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับแนวทางการตัดสินใจเมื่อถึงวันที่พ่อแม่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยหรือเข้าใกล้ความตายขึ้นมาจริงๆ ลูกเองจะได้มีหลักยึดเพื่อการตัดสินใจอย่างมีสติ เพื่อที่ว่าในวันที่สูญเสีย ลูกจะได้ไม่เสียศูนย์ ส่วนพ่อแม่ก็จะได้รับการรักษาที่ตรงกับแบบที่ต้องการที่สุด

“ถึงมีโอกาสน้อยแค่ไหน ก็อาจมีปาฏิหาริย์อยู่” วินาทีที่ลูกต้องการทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

หลายครั้งผมจะได้ยินคำพูดของลูกที่ว่า “ขอให้คุณหมอทำให้เต็มที่ เพื่อรักษาชีวิตพ่อแม่ไว้” หรือ “แม้มีความหวังแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ก็อยากจะทำหน้าที่ลูกให้ดีที่สุด” ในสถานการณ์นี้เราจะเห็นได้ว่าลูกรักและห่วงใยพ่อแม่มาก ต้องการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับพ่อแม่ ซึ่งเป็นบริบทที่ชัดเจนมากในสังคมไทย เพราะเรามีความผูกพันกันเป็นครอบครัว ซึ่งความรู้สึกผูกพันเหล่ามาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ทำให้การตัดสินใจเป็นเรื่องยากขึ้น เมื่อรักมากก็ยิ่งมีความหวังมาก เห็นได้จากคำพูดที่ว่า

“ถึงจะมีโอกาสน้อยแค่ไหน ก็อาจมีปาฏิหาริย์อยู่”

บางครอบครัวอาจเจอกับสถานการณ์ที่ลูกๆ มีความเห็นไม่ตรงกัน ลูกคนนั้นเลือกอีกอย่าง ลูกคนนี้เลือกอีกอย่าง เพราะพื้นฐานของลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งความเข้าใจในการรักษา แนวคิดต่อการยื้อชีวิต และที่สำคัญคือประสบการณ์ที่ลูกแต่ละคนดูแลพ่อแม่มาก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่แสดงออกมายิ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดที่ขัดแย้งกัน จึงเกิดเป็นคำถามว่า สุดท้ายแล้วคำตอบไหนกันคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับพ่อแม่เรา

ลูกเข้าใจคำว่า ‘ยื้อชีวิต’ ถูกต้องแล้วหรือยัง

คำถามที่ว่าจะยื้อหรือไม่ยื้อชีวิตพ่อแม่จะง่ายขึ้นหากคุณเข้าใจนิยามคำนี้จริงๆ การยื้อชีวิตเป็นสถานการณ์ที่การทำงานของร่างกายคนไข้อยู่ต่อเองไม่ได้แล้ว แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยชีวิตประคับประคองไว้ ใช้อุปกรณ์เพื่อยืดชีวิตให้ยาวออกไป การยื้อชีวิตจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อมีหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไปเขาจะดีขึ้น หลายคนมองว่าการยื้อชีวิตอาจเป็นคำพูดที่มีมุมมองออกไปในเชิงลบ แต่จริงๆ แล้วมันคือการซื้อเวลาให้คนไข้ก่อน เผื่อว่าเขาจะมีโอกาสดีขึ้นจนสามารถหยุดการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นได้ ดังนั้น การยื้อชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่อีกด้านหนึ่งถ้าก่อนยื้อคุณภาพชีวิตไม่ดีอยู่แล้ว เช่น ติดเตียงจนทุกข์ทรมาน ไม่สามารถตอบสนองได้ เลือกยื้อชีวิตไปก็อาจไม่ดีขึ้นกว่าเดิม ยังเป็นชีวิตที่ไม่มีคุณภาพอยู่ ก็ต้องมาคิดอีกทีว่านั่นเป็นสิ่งที่คนไข้ต้องการหรือไม่

นพ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ จุฬา

“ตอนนี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้เลย คุณพ่ออยู่ ICU คุณหมอให้ตัดสินใจค่ะ ลำบากใจมาก วันแรกให้คำตอบหมอว่าให้ปล่อยพ่อไปสบาย พอกลับมาคิดอีกทีเปลี่ยนใจให้หมอช่วยให้เต็มที่เท่าที่จะทำได้ แค่หวังว่าอาจจะมีปาฏิหาริย์ ตอนนี้จิตใจสับสนมากเลยค่ะ ”

ในทางการแพทย์บอกไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า ผลลัพธ์ของการยื้อชีวิตจะเป็นอย่างไร แต่อะไรก็ตามที่เราไม่มั่นใจว่ามีประโยชน์หรือไม่ เราจะใช้วิธีการทดลองก่อนก็ได้ หากคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจ ให้ปรึกษาหมอและทดลองดูก่อนว่าทำไปแล้วการตอบสนองเป็นอย่างไร อย่างเช่น ลองไป 2 วันแล้วดูว่าสถานการณ์ดีขึ้นไหม ถ้ามีการตอบสนองที่ดี มีโอกาสกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เราก็เดินหน้ารักษาต่อ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นเลย โอกาสที่เราหวังว่าท่านจะดีขึ้นด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ท่านต้องการ เราสามารถเปลี่ยนเป้าหมายการรักษาเป็นการรักษาเพื่อให้ท่านอยู่อย่างสบายในช่วงสุดท้ายของชีวิต

เพราะฉะนั้นบางครั้งเราไม่จำเป็นจะต้องตัดสินใจวันนี้ว่าเราจะยื้อหรือไม่ยื้อ ถ้าหมอเองยังไม่มั่นใจ เราเองก็ไม่มั่นใจ แนะนำให้ทดลองก่อนก็จะช่วยในการตัดสินใจได้

‘ยื้อ’ หรือ ‘หยุด’ การรักษา หลักคิดในการตัดสินใจ

หลักคิดในการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดที่ลูกจำเป็นต้องให้ความสำคัญมีอยู่ 2 อย่าง คือ

  1. ลูกจำเป็นต้องทราบว่าพ่อแม่ต้องการอะไร อันนี้คือคีย์เวิร์ดเลย ไม่ใช่คำตอบที่บอกว่าลูกต้องการอะไร ต้องนึกในมุมมองของพ่อแม่ พยายามคิดให้ออกว่าท่านเคยสั่งไว้ไหม เคยพูดเรื่องนี้ไว้บ้างหรือไม่ ลูกเดาใจได้ไหมว่าถ้าท่านอยู่ในสถานการณ์นี้ ท่านต้องการรับการรักษาอย่างไร ถ้าเราไปสวมหมวกของท่าน ท่านอยากให้ลูกทำอย่างไรกับตัวเอง การตัดสินใจทั้งหมดเป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญ และต้องยึดความต้องการของผู้ป่วยเป็นหลัก เราไม่ต้องการให้ผู้ป่วยคนหนึ่งได้รับการยื้อชีวิตไปเพียงเพื่อให้ลูกได้ทำหน้าที่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์
  2. เราต้องเข้าใจภาวะเจ็บป่วยของพ่อแม่ให้ถ่องแท้ ต้องรู้ว่าสถานการณ์การตอนนี้อยู่ในระดับไหน เรื่องนี้มีความสำคัญมากเพราะถ้าได้ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เรามีความหวังมากเกินไป และในขณะเดียวกันเราก็ไม่อยากตัดสินใจหยุดการรักษาเร็วเกินไป เพราะฉะนั้นการมีข้อมูลในการตัดสินใจที่มากพอ การเข้าใจความเจ็บป่วยที่พ่อแม่เผชิญ การปรึกษาและสื่อสารกับทีมแพทย์ให้ชัดเจนเป็นเรื่องจำเป็น หากเป็นการตัดสินใจที่ยากจริงๆ สุดท้ายเราจะมาตัดสินด้วยเหตุผลที่ยึดประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก
"เราทำดีที่สุดหรือยัง” ทำอย่างไรกับบาดแผลที่ค้างคาใจของลูกที่ผ่านช่วงเวลาแห่งการสูญเสีย

เมื่อเรารักษาคนไข้อย่างดีที่สุดจนท่านจากไป ในบางครั้งคนที่ยังอยู่ก็อาจหลงเหลือบาดแผลในใจว่าสิ่งที่ทำให้พ่อแม่นั้นดีที่สุดแล้วหรือยัง สิ่งที่ดีที่สุดที่ช่วยลดความรู้สึกผิดนั้นลงได้ คือระหว่างการรักษาให้นึกไว้เสมอว่าทุกอย่างต้องเกิดจากการคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งจากลูกและแพทย์ผู้ดูแล หากมีคำถามหรือข้อสงสัยให้ถามแพทย์ที่ดูแลเพื่อหาคำตอบว่าเรามาถูกทางแล้วใช่หรือไม่ และตัดสินใจภายใต้กรอบข้อมูลที่ดีที่สุดที่มี เพราะการดูแลพ่อแม่ในวาระสุดท้ายนั้นการทำทุกอย่างอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดเสมอไป

และให้เข้าใจไว้เสมอว่า การไม่ยื้อชีวิตไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดการรักษาทุกอย่าง การรักษานั้นทีมแพทย์จะให้ไปตลอดจนกระทั่งคนไข้เสียชีวิต คำว่า ‘ไม่ยื้อ’ คือการเปลี่ยนเป้าหมายการรักษา จากที่เราทำทุกอย่างเพื่อให้ท่านอยู่ได้นานที่สุด กลายเป็นว่าเราจะไม่คำนึงเรื่องเวลาแล้ว แต่เรามาคำนึงถึงเรื่องคุณภาพแทนว่าจะทำอย่างไรให้ท่านไม่ทุกข์ทรมานในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ ไม่ทำสิ่งที่ท่านไม่ชอบ หรือการที่เราเอาท่านออกมาจาก ICU เพื่อให้ท่านได้อยู่กับลูกในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ในทางการแพทย์การรักษามีหลายจุดประสงค์มาก ทั้งเพื่อประคับประคองชีวิตให้นานที่สุด เพื่อรักษาอาการทางกาย หรือเพื่อรักษาอาการทางใจ แพทย์ไม่มีทางหยุดการรักษาคนไข้ได้ เราแค่ไปโฟกัสสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า เพราะบางทีเวลาอยู่ต่อที่นานขึ้นในระยะสุดท้ายของชีวิตอาจไม่ได้มีค่าเท่าคุณภาพและความสุขที่เหลืออยู่ที่ท่านอาจได้ใช้เวลาที่เหลือพูดคุยกับลูก หรือชื่นชมสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น

นพ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ จุฬา

‘พินัยกรรมชีวิต’ แผนดูแลรักษาตนเองล่วงหน้า

บางคนอาจรู้จักพินัยกรรมชีวิตหรือ advance care planning ในชื่อ ‘สมุดเบาใจ’ สิ่งนี้เป็นส่วนสุดท้ายตอนที่เราเองใกล้เสียชีวิต เป็นสิ่งที่พ่อแม่ทำไว้เพื่อให้ลูกและทีมแพทย์รู้ว่าเราต้องการอะไร เรามีความเชื่อทางศาสนาอย่างไร ในช่วง 1-2 เดือนสุดท้ายของชีวิตต้องการการรักษาแบบไหน ลูกคนไหนจะเป็นคนดูแลและตัดสินใจ ความคาดหวังในช่วงสุดท้ายของชีวิตคืออะไร ถ้าลูกและทีมแพทย์ได้ทราบสิ่งเหล่านี้จะสามารถใช้เป็นแผนประกอบการรักษาเพื่อทำให้การรักษาได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับคนไข้

พินัยกรรมชีวิตเป็นการแสดงเจตจำนงเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่เราตัดสินใจเองไม่ได้ สื่อสารไม่ได้ ซึ่งจะบังคับใช้ก็ต่อเมื่อเราถึงระยะสุดท้ายของชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้หากทำแล้วอย่าเก็บไว้ส่วนตัว ต้องประกาศให้โลกรู้ ให้ลูกรู้ เพื่อบอกว่าพ่อแม่คิดเรื่องความตายเอาไว้แล้วนะ เรามีแนวคิดแบบนี้ ลูกสามารถเอามาคุยกันได้ หลายโรงพยาบาลจะเอาพินัยกรรมชีวิตบันทึกไว้ในข้อมูลของคนไข้ กรณีของต่างประเทศหากคนไข้มารักษาในภาวะฉุกเฉิน เขาจะดูก่อนเลยว่าพินัยกรรมชีวิตเขียนไว้อย่างไร และเดินหน้ารักษาตามนั้น

แต่การมีพินัยกรรมชีวิตไม่ได้หมายความว่าต้องทำตามนั้นทั้งหมด สุดท้ายแล้วแพทย์ก็จะเอาความต้องการของคนไข้มาคุยกับญาติอีกทีว่าทุกคนเห็นตามนี้หรือไม่ แล้วค่อยมาพิจารณาในองค์ประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การตัดสินใจจะขับเคลื่อนด้วยหลายส่วน คนไข้ต้องเข้าใจ ลูกต้องเข้าใจ สังคมต้องยอมรับ ทางการแพทย์เองก็ต้องเห็นด้วย รวมถึงกฎหมายเองก็ต้องยอมรับด้วย

คนไทยบางบ้านเลือกที่จะไม่คุยกันเรื่องนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เราไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องนี้กันตรงๆ หรืออยู่ดีๆ ไปชวนท่านเขียนพินัยกรรมชีวิตกันเลย แต่เราสื่อสารกันทางอื่นได้ เช่น เรามีญาติคนหนึ่งป่วย เราสามารถใช้เรื่องนี้เพื่อพยายามจะถามพ่อแม่ว่าท่านมีความเห็นว่าอย่างไร ท่านต้องการแบบไหน ใช่แบบเดียวกันไหม บางครั้งที่พ่อแม่เคยพูดไว้ว่าอย่าทำแบบนี้กับฉันนะ เราอาจพบเจอได้ในบทสนทนาประจำวัน แล้วถ้าเราคุยเรื่องพวกนี้กันบ่อยขึ้น บางครั้งก็จะสามารถพัฒนาเป็นการคุยกันในเชิงลึกได้

แต่สุดท้ายแล้วลูกเองต้องพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องการที่สุด อย่าไปคิดว่าถ้าไม่มีพินัยกรรมชีวิตแล้วจะไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะมันเป็นแค่ส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ท้ายที่สุดการตัดสินใจร่วมกันโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นหลักก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีพินัยกรรมชีวิต แต่ก็ยังตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดให้พ่อแม่ได้

รศ. นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อาจารประจำสาขาวิชาโรคทางการหายใจและภาวะวิกฤตทางการหายใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย