มาตรการ ในการอนุรักษ์

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม   หมายถึง พื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามในมาตรา ๔๓-๔๕ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นกลไกทางกฎหมายที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันหรือยับยั้งการดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินใดๆ ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีคุณค่าควรแก่การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งทางด้านธรรมชาติ และศิลปกรรมให้ดำรงอยู่และใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน   

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ (1)การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และ (2)การกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

1.การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม คือ เขตพื้นที่ที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ต้องมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจน ให้ครอบคลุมทรัพยากรที่ต้องการสงวนรักษา หรือครอบคลุมเหตุปัจจัยต่างๆ ทั้งในพื้นที่ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น และพื้นที่ที่ปัญหานั้นส่งผลกระทบไปถึง หรือพื้นที่ที่คาดว่าเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบตามมา เพื่อให้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสามารถคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การกำหนดพื้นที่และขอบเขตนั้นมีที่มาจากความต้องการของท้องถิ่น หรือนโยบายของรัฐ ได้ทั้งสองกรณี โดยลักษณะของพื้นที่นั้นต้องเข้าลักษณะพื้นที่ที่จะประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 43 หรือ มาตรา 45

ซึ่งหมายถึง เมื่อจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดพิจารณาแล้วว่า ในท้องถิ่นของตนมีพื้นที่ที่สมควรได้รับการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองตามลักษณะที่กำหนดไว้ในมาตรา 43 หรือ มาตรา 45 ก็สามารถเสนอมายังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ หรือส่วนราชการต่างๆ เห็นสมควรประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาคุณค่าทั้งทางธรรมชาติ ศิลปกรรม ระบบนิเวศของพื้นที่นั้นๆ หรือเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเข้าขั้นวิกฤต สำนักงานฯ ก็จะดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้น

พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หมวด 3 การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมส่วนที่ 3 เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม มาตรา 43-45 กำหนดให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็นประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือกฎกระทรวง แล้วแต่กรณี โดยการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1. การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 43

กรณีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยออกกฎกระทรวง ต้องปรากฎว่าเป็นพื้นที่ที่เข้าข่ายตามมาตรา 43 โดยทั้งนี้การออกเป็นกฎกระทรวง จะมีผลบังคับใช้ต่อเนื่องจนกว่าจะมีการปรับปรุงกฎกระทรวง เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้นไม่มีกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์คุ้มครองดูแลพื้นที่ กฎกระทรวงจะทำหน้าที่สงวนรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่

พื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติแตกต่างไปจากพื้นที่อื่น หรืออาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์โดยง่าย หรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์ และพื้นที่นั้นยังไม่ได้ถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 43 โดยให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

 "มาตรา 43 ในกรณีที่ปรากฎว่าพื้นที่ใดมีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร หรือมีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป หรือมีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบกระเทือนจาก กิจกรรมของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์ และพื้นที่นั้นยังมิได้ถูกประกาศกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม"

พื้นที่ทีมีลักษณะเข้าข่ายมาตราที่ 43 ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติแตกต่างจากพื้นที่บริเวณอื่นโดยทั่วไป พื้นที่ที่ระบบนิเวศอาจถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบการกิจกรรมของมนุษย์ไดโดยง่าย และพื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันเก่าแก่ควรค่าแก่การอนุรักษ์แต่พื้นที่นั้นยังมิได้ประกาศกำหนดให้เป็นขตอนุรักษ์

กรณีที่ 2. การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 45

กรณีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยออกเป็นประกาศกระทรวง ต้องปรากฎว่าเป็นพื้นที่เข้าข่ายตามมาตรา 45 โดยทั้งนี้การออกเป็นประกาศกระทรวงจะมีระยะเวลาในการใช้บังคับใช้ เนื่องจากประกาศกระทรวงจะทำหน้าที่เสริมกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นแล้ว โดยจะทำหน้าที่ฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจนอยู่ในภาวะวิกฤตให้มีสภาพดีขึ้น

พื้นที่ที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตผังเมืองเฉพาะ เขตควบคุมอาคาร เขตนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตควบคุมมลพิษ แต่ปรากฎว่ามีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต ต้องรีบแก้ไขโดยทันที และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นขอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอใช้มาตรการคุ้มครองตามมาตรา 44 และให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่ รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครอง และระยะเวลาที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นั้น

 มาตรา 45  ในพื้นที่ใดที่ได้มีการกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวม เขตผังเมืองเฉพาะ เขตควบคุมอาคาร เขตนิคมอุตสาหกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเขตควบคุมมลพิษตามพระราชบัญญัตินี้ไว้แล้ว แต่ปรากฏว่ามีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตซึ่งจำเป็นจะ ต้องได้รับการแก้ไขโดยทันทีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจตามกฎหมาย หรือไม่สามารถที่จะทำการแก้ไขปัญหาได้ ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอต่อคณะ รัฐมนตรีขออนุมัติเข้าดำเนินการเพื่อใช้มาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างตามมาตรา ๔๔ ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นได้

            เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตพื้นที่ รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองและกำหนดระยะเวลาที่จะใช้มาตรการคุ้มครองดังกล่าวในพื้นที่นั้น

            การขยายระยะเวลาตามประกาศในวรรคสองให้กระทำได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี โดยทำเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา

  พื้นที่ที่เข้าข่ายตามมาตรา 45 ได้แก่ พื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตอนุรักษ์ เขตผังเมืองรวมเขตผังเมืองเฉพาะ เขตควบคุมอาคาร เขตนิคมอุตสาหกรรม เขตควบคุมมลพิษ โดยที่เขตพื้นที่เหล่านี้ต้องมีสภาพปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยทันทีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่สามารถที่จะทำการแก้ไขปัญหาได้

2. มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม คือ มาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อนำมาใช้คุ้มครองทรัพยากร หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีกรอบในการกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมต้องสอดคล้องกับลักษณะของทรัพยากรและบริเวณแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องการคุ้มครอง หรือต้องสอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่รวมทั้งมาตรการจะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้

การกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้สองทาง คือ ท้องถิ่นดำเนินการเอง หรือส่วนกลางดำเนินการร่วมกับท้องถิ่น โดยขอบเขตของเนื้อหาสาระของมาตรการต้องเป็นไปตามกรอบที่กฏหมายให้อำนาจไว้ตามที่ปรากฎในมาตรา 44

ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของการกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นไปเพื่อสงวนรักษาไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่มิให้ถูกทำลายเสียหายและเสื่อมโทรมมากขึ้น และเพื่อฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมจนอยู่ในภาวะวิกฤติให้มีสภาพดีขึ้นและสามารถสงวนไว้สำหรับเป็นแหล่งทรัพยากรในอนาคต

การกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ประกอบด้วย

            มาตรา 44  ในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 43 ให้กำหนดมาตรการคุ้มครองอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้ไว้ในกฎกระทรวงด้วย

             (1)  กำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือมิให้กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม

             (2)  ห้าม การกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของ พื้นที่นั้นจากลักษณะตามธรรมชาติหรือเกิดผลกระทบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ศิลปกรรม

             (3)  กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่จะทำการก่อสร้างหรือดำเนินการในพื้นที่นั้น ให้มีหน้าที่ต้องเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

             (4)  กำหนด วิธีจัดการโดยเฉพาะสำหรับพื้นที่นั้นรวมทั้งการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความ รับผิดชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ในการร่วมมือและประสานงาน ให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติหรือระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ศิลปกรรมในพื้นที่นั้น

             (5)  กำหนดมาตรการคุ้มครองอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้น

เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ประกาศขึ้นเพื่อป้องกัน อนุรักษ์ บำรุง รักษา คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ได้อย่างสมดุลตามระบบนิเวศธรรมชาติ และคงความสมบูรณ์เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ใช้ต่อไปในอนาคต รวมทั้งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และเป็นมาตรการเสริมให้กฎหมายอื่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  • ป้องกันพื้นที่ที่มีลักษณะตามธรรมชาติหรือมีคุณค่าทางธรรมชาติ ศิลปกรรม (พื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นโดยทั่วไป พื้นที่ที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้โดยง่าย พื้นที่ที่มีคุณค่าทางธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรค่าแก่การอนุรักษ์) ที่ยังไม่มีกฎหมายในเรื่องของการอนุรักษ์เข้ามาคุ้มครองดูแลพื้นที่จากการถูกทำลายหรือได้รับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์
  • ควบคุมและแก้ไขปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเข้าขั้นวิกฤตในพื้นที่ที่มีกฎหมายต่างๆ ควบคุมอยู่แล้วให้กลับคืนสู่สภาพเดิมภายในกำหนดระยะเวลา
  • ควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพของพื้นที่และคุ้มประโยชน์มากที่สุด

ประโยชน์จากการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

  • ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับการอนุรักษ์ และคุ้มครองให้ดำรงอยู่ได้อย่างสมดุลตามระบบนิเวศธรรมชาติ และคงความสมบรูณ์ เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นฐานทรัพยากร และได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี
  • ปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเข้าขั้นวิกฤตในพื้นที่ได้รับการแก้ไขและควบคุม ตลอดจนสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้รับการฟื้นฟู
  • ประชาชนมีส่วนร่วมในการสงวน บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตน โดยการประสานและร่วมมือในการป้องกันดูแลรักษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

การกำกับดูแลพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

                การกำกับดูแลพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม มีหลายระดับ ดังนี้
                ๑. ระดับนโยบาย
                  ๑.๑ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีหน้าที่กำกับ ดูแล และเร่งรัดให้มีการตรากฎหมายประกาศหรือคำสั่งที่จำเป็น เพื่อให้กฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
มีความสมบูรณ์ และติดตามกำกับการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการตามที่ได้มอบหมายในส่วนของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะให้ความเห็นชอบการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๔๓ และ ๔๕ และให้ความเห็นชอบต่อ การประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรา ๔๔ แห่งพราะราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
                  ๑.๒ คณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของพื้นที่ที่สมควรกำหนดเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ที่จะกำหนดในกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในแต่ละพื้นที่ กำกับติดตามการดำเนินการเพื่อการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่บังคับใช้แล้วในทุกพื้นที่ และเสนอแนะแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
                ๒. ระดับพื้นที่ 
                  ๒.๑ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งโดยกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยออกเป็นประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามมาตรา ๔๘ มีหน้าที่พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประเภทและขนาดโครงการ ที่กำหนดไว้ในมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ องค์ประกอบคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นเลขานุการ
                  ๒.๒ คณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งโดยกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยออกเป็นประกาศกระทรวงมีทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ และให้ความเห็นชอบการนำมาตรการต่างๆ ที่ใช้ในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไปสู่การปฏิบัติ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นเลขานุการ

บทกำหนดโทษในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

                มาตรา ๙๙ ผู้ใดบุกรุกหรือครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเข้าไปกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายหรือเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือศิลปกรรมอันควรแก่การอนุรักษ์ หรือก่อให้เกิดมลพิษอันมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำหนดตามมาตรา ๔๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๑๐๐ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๔๔ หรือตามประกาศของรัฐมนตรีตามมาตรา ๔๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โครงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม
ความก้าวหน้าในการดำเนินงานพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม มี.ค. 62

กฎกระทรวง/ประกาศกระทรวง สถานะภาพการดำเนินการ

1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535ให้พื้นที่ป่าดูนลำพัน บ้านนาเชือก หมู่ที่ 1 ตำบลนาเชือก อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 59 ก วันที่ 11 พฤศจิกายน2539)

2. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรี่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2553

- บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 92 ง วันที่ 30กรกฎาคม 2553)

- ได้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีก 1 ปี (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132ตอนพิเศษ 175 ง วันที่ 28 กรกฎาคม 2558)

- ได้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีก 2 ปี (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133ตอนพิเศษ 167 ง วันที่ 28 กรกฎาคม 2559) 

- ได้ขยายระยะเวลาการใช้บังคับออกไปอีก 2 ปี (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135ตอนพิเศษ 179 ง วันที่ 26 กรกฎาคม 2561)  

3. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่เมืองโบราณศรีมโหสถ อำเภอศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี พ.ศ.2558

บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 219 ง วันที่ 15 กันยายน2558)

4. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่ตำบลวัดเกต ตำบลหนองหอย อำเภอเมืองเชียงใหม่ ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง และตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในท้องที่ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พ.ศ. 2558

บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนพิเศษ 58 ง วันที่ 16 มีนาคม2558)

 ** ข้อมูลต้นยางต้นขี้เหล็กในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม **

5. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ต ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และ ตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2558

บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 91 ง วันที่ 30พฤษภาคม 2557)

6. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอทับปุด อำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา พ.ศ.2559

บังคับใช้แล้ว 31 มีนาคม 2559 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 76 ง วันที่ 31 มีนาคม 2559)

7. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่อำเภออ่าวลึก อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ พ.ศ. 2559

บังคับใช้แล้ว 31 มีนาคม 2559 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 76 ง วันที่ 31 มีนาคม 2559)

8. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรี่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ.2560

บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 311 ง วันที่ 15 ธันวาคม2560)

9. ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรี่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี อำเภอหัวหิน และอำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2561

บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 152 ง วันที่ 29 มิถุนายน 2561)

10. กฎกระทรวงกำหนดให้พนื้ที่ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางกอบัว ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางยอ ตำบลบางกระสอบ 
และตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมทุรปราการ เป็นเขตพนื้ที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พ.ศ.  2562

บังคับใช้แล้ว (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนที่ 24 ก วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 )  New !!!!

11. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ตำบลพระธาตุผาแดง ตำบลแม่ตาว และตำบลแม่กุ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

12. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ตำบลบางแก้ว ตำบลบางจะเกร็ง ตำบลแหลมใหญ่ และตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

 อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

13. ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ตำบลปากคลอง ตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พ.ศ. ....

อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณา

14. ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย และอำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม

อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณา

15. กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่บึงบอระเพ็ด อำเภอเมือง อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์

 อยู่ระหว่างเสนอจังหวัดนครสวรรค์พิจารณา

16. ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ในท้องที่ตำบลบางปะกง ตำบลท่าข้าม ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และท้องที่ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี พ.ศ. ....

อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อพิจารณา

 หมายเหตุ : สามารถดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้จาก ราชกิจจานุเบกษา

ที่มา : เว็บไซต์กองทุนสิ่งแวดล้อมชุมชนและพื้นที่เฉพาะ  สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

http://www.onep.go.th/eurban/index.php?option=com_content&view=article&id=175:protected-area-summary&catid=41:knowledge&Itemid=1011