การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

ในปัจจุบันรูปแบบการทำงานขององค์การต่าง ๆ ได้มีการปรับตัวเพื่อตอบรับกับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแบบเต็มตัว ซึ่งเราก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับตัวดังกล่าวนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จนเกิดเป็นกระแส Digital Disruption (การเปลี่ยนแปลงในด้านการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ และการดำเนินชีวิตอันมีผลมาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่) เช่นในบางองค์การได้นำ AI เข้ามาทำงานแทนคนในส่วนที่ต้องใช้ทักษะเหตุผล ดังนั้นเพื่อให้เราสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในการเปลี่ยนแปลง จึงขอแนะนำ 5 ทักษะที่จะช่วยให้คุณสามารถเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเปิดขึ้น

1. มีความคิดแบบประยุกต์ ปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ (Adaptive Thinking) : ทักษะการคิดรูปแบบนี้ เป็นทักษะการคิดที่ตอบรับกับการทำงานในปัจจุบันเพราะต้องใช้ทั้งความคิดในเชิงสร้างสรรค์ (Creative) และการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytics) เพื่อรับมือต่อปัญหา และตอบสนองต่อบริบทของข้อมูล (Context) ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยอาศัยการวางแผนที่มีประสิทธิภาพ มีความยืดหยุ่นทางความคิดทั้งของตนเองและผู้อื่น มีรูปแบบการคิดที่หลากหลาย รวมถึงต้องมีทักษะในการทำงานเป็นทีมเพื่อเปิดรับแนวความคิดที่หลากหลายจากเพื่อนร่วมทีม

2. การปรับตัวตอบรับปรากฏการณ์ New Media (New-media Literacy) : ข้อมูล ความรู้ และข่าวสารต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในกระดาษเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป แต่สิ่งต่างๆเหล่านี้สามารถสืบต้นได้จากสื่อดิจิทัล และสื่อโซเชียลมีเดียออนไลน์ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งข้อมูลด้านวิชาการ หรือข้อมูลเพื่อความบันเทิง ซึ่งเป็นโอกาสที่ช่วยให้เราสามารถสืบค้นแยกตามความสนใจของเราได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรียนรู้ผ่านแอปพลิเคชั่นอย่าง TikTok หรือการฟัง Podcast เพื่อเสริมสร้างความรู้ตามความสนใจของเรา โดยเราสามารถค้นหาความรู้และแนวทางที่เหมาะสมกับเราได้อย่างไม่รู้จบ

3. เรียนรู้และเข้าใจศาสตร์ที่หลากหลาย (Transdisciplinarity) : ไม่ว่าในปัจจุบันคุณจะมีความชำนาญเฉพาะทางเกี่ยวกับอะไรก็ตาม การขยายของเขตของการเรียนรู้เพื่อให้เข้าในในหลากหลายศาสตร์ก็จะสิ่งที่ดี เพราะองค์ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ นั้นสามารถมีความเชื่อมโยงกันอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เรามารถเข้าใจในข้อมูลผ่านมุมมองที่หลากหลายนอกเหนือจากความชำนาญเฉพาะที่เรามีอยู่แล้ว โดยจะต้องเปืดรับความรู้ใหม่ๆ เช่น ความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกับโลก การเมืองกับมุมมองสิทธิมนุษยชน วัฒนธรรมที่หลากหลาย ความเปลี่ยนแปลงของผู้คนแต่ละเจเนอเรชัน ฯลฯ

4. การออกแบบความคิดเชิงเหตุผลและอารมณ์ (Computational Thinking + Sense Making) : ด้วยรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปและเราไม่ได้ทำงานร่วมกับแค่คนเพียงอย่างเดียว เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้รูปแบบการคิดเพื่อการทำงานจึงต้องถูกแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ (1) ด้านการคิดเชิงเหตุผล (Computational Thinking) ที่จะต้องมีการทำงานที่เป็นขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหา คือ การย่อยหรือสรุปปัญหา การจดจำรูปแบบต่าง ๆ การวิเคราะห์ความคิดเพื่อมุ่งสู่ข้อมูลสำคัญ และการออกแบบหลักเกณฑ์เพื่อการแก้ปัญหา (2) ด้านการคิดเชิงอารมณ์ (Sense Making) ที่จะใช้เพื่อทำงานร่วมกับคน โดยมุ่งหวังให้การทำงานในทีมเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลที่ดีที่สุด ผ่านมุมมองของการให้คุณค่า ความเข้าใจ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน

5. มีศักยภาพในการต่อรองเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ (Negotiation) : ในการทำงาน และการแก้ปัญหา ทักษะการต่อรองมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นทักษะที่ต้องอาศัยทั้งความรู้สึก และความคิด เพราะจะต้องทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของปัญหา ความคิดของคู่สนทนา จึงจะสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริงอันจะนำไปสู่การคิดค้นทางออก หรือข้อตกลงระหว่างกันที่มีความเหมาะสม และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายได้มากที่สุด

เผยแพร่: 2 ก.ค. 2557 09:52   โดย: MGR Online


คำสอนในพุทธศาสนาบอกว่า ชีวิตคนเรานั้นเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะฉะนั้น หากไม่ทำตัวให้ยืดหยุ่น ก็อาจทำให้ชีวิตมีปัญหาได้ เช่น หากต้องทำงานที่ตัวเองไม่รักไม่ชอบ แล้วไม่รู้จักปรับตัว ก็จะทำให้เครียดได้ง่ายๆ แต่หากปรับเปลี่ยนวิธีคิดจาก “ไม่ได้ทำงานที่ชอบ” เป็น “จงชอบงานที่ทำ” ก็จะทำให้ชีวิตนี้ดีขึ้นเยอะเลย

การพัฒนาทักษะการปรับตัวหรือยืดหยุ่น มิใช่การหยุดเรื่องเลวร้ายหรือตึงเครียดไม่ให้เกิดขึ้น แต่มันสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น พลาดรถประจำทาง การเปลี่ยนงาน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการตกงาน หย่าร้าง ป่วยเรื้อรัง ฯลฯ

บางครั้งการทำตัวเหมือนหนังยางที่มีความยืดหยุ่น ก็ดีเหมือนกัน และเทคนิค ต่อไปนี้อาจจะเปลี่ยนคุณให้กลายเป็นหนังยางก็เป็นได้

1. ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
สิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะช่วยให้คุณปรับตัวและมีความยืดหยุ่นได้ คือ ต้องยอมรับว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิต ไม่มีอะไรจะคงที่ตลอดกาล แม้แต่ร่างกายของเรา

ดังนั้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เป้าหมายบางอย่างที่คุณเคยวางไว้ อาจไม่บรรลุผล เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่หากคุณมีความยืดหยุ่นก็จะช่วยให้ปรับตัวได้โดยไม่เครียดเท่าใดนัก และแทนที่จะต่อต้านหรือพยายามควบคุมสิ่งต่างๆ ขอให้มองว่า มันเป็นโอกาสที่จะทำให้คุณได้เรียนรู้เพื่อเดินหน้าต่อไป เพราะฉะนั้น จงพุ่งความสนใจไปยังเรื่องที่คุณสามารถจัดการได้

2. คิดแง่บวกให้มากขึ้น
แม้คุณไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า กำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากสุดๆ แต่คุณสามารถเปลี่ยนมุมมองและปฏิกิริยาโต้ตอบได้ โดยหลีกเลี่ยงการมองเหตุการณ์ต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นในแง่ร้ายจนเกินไป

ขณะเดียวกันก็ต้องมองข้ามเหตุการณ์ปัจจุบันไป แล้วคิดในแง่บวกอย่างมีความหวังว่า สถานการณ์ต่างๆจะค่อยๆคลี่คลายไปในทางที่ดีในที่สุด เชื่อเถอะว่า ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ

3. มุ่งมั่นทำให้ดีขึ้น
การโหยหาความสมบูรณ์แบบในทุกๆสิ่งที่กระทำ มีแต่จะนำความเครียดมาให้ ทางที่ดีหันมามุ่งมั่นที่จะทำให้ดีหรือดีขึ้นกว่าครั้งก่อน แทนที่จะต้องเป๊ะไปเสียทุกเรื่อง

ระลึกไว้เสมอว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้น ต้องมีความเด็ดเดี่ยวที่จะแก้ไข อย่าทิ้งหรือหนีปัญหาและความกดดันตรงหน้าโดยหวังว่ามันจะหายไปเอง

4. ดูแลกายใจให้พร้อม
การดูแลกายและใจเป็นอย่างดี คือ การเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่นนั่นเอง

ดังนั้น อย่าลืมหันมาใส่ใจสุขภาพของตัวเอง ด้วยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบและช่วยให้ผ่อนคลายเป็นประจำ เมื่อกายพร้อม ใจพร้อม คุณก็พร้อมที่จะเผชิญทุกสถานการณ์อย่างชิลๆ

5. สร้างมิตรภาพที่ดี
ความสัมพันธ์ที่ดีที่เกิดขึ้นในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนอื่นๆ เป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งการยอมรับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากคนที่ใส่ใจและเป็นห่วงคุณนั้น จะช่วยให้คุณมีความยืดหยุ่นในชีวิตดีขึ้น

นอกจากนี้ การเข้าร่วมทำกิจกรรมในชุมชน กลุ่มอาสาสมัคร ฯลฯ จะทำให้คุณรู้จักคนมากขึ้น และช่วยเสริมสร้างทักษะ พร้อมทั้งสุขภาพกายใจที่ดี อันจะช่วยในเรื่องการปรับตัวได้เป็นอย่างดี

6. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
การผัดวันประกันพรุ่งอาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการปรับตัว เพราะมันจะนำพาความเครียดมาให้ และบางครั้งอาจทำให้คุณเลื่อนทำสิ่งที่สำคัญและส่งผลดีออกไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น ทางที่ดีควรตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน และสามารถทำได้จริง แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ทำสำเร็จได้ในแต่ละวันก็ตาม เพราะมันสามารถนำไปสู่จุดหมายใหญ่ได้เช่นกัน

7. อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก
เพราะการคิดบวกเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความยืดหยุ่นในชีวิต รวมถึงพลังด้านดีนั้น สามารถแผ่กระจายไปยังคนรอบข้างได้

ดังนั้น อย่ารีรอที่จะพาตัวเองเข้าไปคลุกคลีในกลุ่มคนที่มีความคิดดี ทำดี รับรองว่า มันจะช่วยสร้างความมั่นใจและศรัทธาในตัวคุณเองได้อย่างเหลือเชื่อ

8. หัวเราะบ่อยขึ้น
บางช่วงเวลา ชีวิตอาจเต็มไปด้วยเรื่องเครียดๆ สารพัด แต่หากรู้จักมองในแง่มุมที่เบาบางลง ให้ดูตลกขบขันบ้าง ก็คงจะดีไม่น้อย

การหัวเราะดังๆ เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดระดับความเครียดอย่างได้ผล และทำให้คุณปรับตัวในทุกๆสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี จึงควรหาโอกาสให้ตัวเองได้หัวเราะทุกวัน ฮิฮิ..

9. ย้อนดูบทเรียนชีวิต
บ่อยครั้งที่มนุษย์ต้องประสบกับเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่ประสบการณ์อันเลวร้ายและความทุกข์ยากนี้เอง ที่ทำให้หลายคนได้เรียนรู้และเข้าใจตัวเอง จนทำให้เข้มแข็งขึ้น เห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น ซาบซึ้งสิ่งดีๆที่มีในชีวิต และปรับตัวได้ดีขึ้น หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอีกครั้ง

10. หาตัวช่วยอื่นๆ
มีหลายคนที่เลือกวิธีเขียนระบายความคิดเห็น และความรู้สึกลึกๆในใจ เกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายๆที่เกิดขึ้นในชีวิต ลงในสมุดบันทึก ขณะที่บางคนเลือกการทำสมาธิและฝึกจิตวิญญาณ เพื่อช่วยให้ใจสงบและฟื้นฟูความหวังเหล่านี้คือตัวช่วยที่จะทำให้คุณปรับตัว และมีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตได้มากขึ้น

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 163 กรกฎาคม 2557 โดย ประกายรุ้ง)