Orange is the new black season 7 ม ไหม

“รีด แฮสติงส์” ซีอีโอ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง มีเดียสตรีมมิ่งดัง “เน็ตฟลิกซ์” (Netflix) เคยบอกไว้อย่างภูมิอกภูมิใจว่า คู่แข่งของเน็ตฟลิกซ์ คือ “เวลานอน” เพราะความมั่นใจที่ธุรกิจนี้นำโด่งและไร้คู่แข่งจากบริษัทอื่นๆ ด้วยโมเดลปฏิวัติวงการทีวีและบันเทิง คือ สร้างซีรีส์ที่ปล่อยให้ดูรวดเดียวจบทั้งซีซั่น พร้อมกับการให้บริการสตรีมมิ่งแบบเก็บเงินรายเดือน และเสริมจุดขายคอนเทนต์ที่เน็ตฟลิกซ์ลงทุนสร้าง Original Content ที่แจ้งเกิดซีรีส์ดังๆ ไว้

แต่ผ่านไปหลายปีซีรีส์เหล่านี้ก็ต้องถึงวันจบ “House of Cards” ถึงบทอวสานซีซั่น 6 ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดซีรีส์ดังอย่าง “Orange Is the New Black” ที่สร้างต่อเนื่องมาถึง 7 ปี ก็มาถึงบทสรุปสุดท้ายเช่นกัน

ซีรีส์ Orange Is the New Black นั้น ปรับบทมาจากเวอร์ชั่นหนังสือที่มาจากเรื่องจริงของ “ไพเพอร์ เคอร์เมน” หญิงชนชั้นกลางที่เคยมีประสบการณ์เข้าไปติดคุกอยู่ 1 ปีจากคดีพัวพันการค้ายาเสพติด

ปีแรกที่ซีรีส์ออกสตรีมมิ่ง กลายมาเป็น“ม้ามืด” ขวัญใจคนดูและนักวิจารณ์สหรัฐ

ในบ้านเราเรื่องนี้ความนิยมอาจจะไม่เท่า House of Cards ซีรีส์เรือธงอีกเรื่องของเน็ตฟลิกซ์ เนื่องจาก เนื้อหามีความเฉพาะตัวอยู่พอสมควร

Orange Is the New Black เป็นเรื่องราวในเรือนจำหญิงนอกกรุงนิวยอร์ก ที่มีนักโทษมาอยู่รวมกัน ความสนุกของเรื่อง คือนักโทษแต่ละคนล้วนมี “เรื่องเล่า” ของตัวเองก่อนจะมาลงเอยในคุกเดียวกัน โดยมีตัวเอก เป็นหญิงสาวชนชั้นกลางผู้มีการศึกษามาจากครอบครัวที่ไม่ขัดสน ต้องเข้ามาชดใช้ความผิดในอดีตสมัยวัยรุ่นของเธอ ขณะที่ก็เกิดเรื่องราววุ่นวายสารพัดระหว่างที่เธออยู่ในเรือนจำ

คนดูจะได้สัมผัสเรื่องราว ตัวละครนักโทษหญิงอีกหลายคนที่มีแบ๊กกราวด์ชีวิตต่างๆ โดยซีรีส์จะพาเราไปรู้จักตัวละครนักโทษหญิงคนอื่นไปเรื่อยๆ ในแต่ละตอน จนในที่สุดคนดูก็จะผูกพันและรู้ที่มาที่ไปของตัวละครมากมายท่ามกลางการแสดงของกลุ่มนักแสดงหลักที่แสดงชนิดขโมยซีนกันไปมา

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเรื่องสนุกๆ ตลกร้ายของหญิงสาวมาดผู้ดีที่ต้องมาติดคุก แต่กลายเป็นว่าเสน่ห์ของ Orange Is the New Black เขยิบมาที่ “ส่วนต่อขยายของเรื่อง” ที่กลายเป็นจุดเด่นคือ “การแฟลชแบ๊ก” ย้อนให้เห็นเรื่องราวของนักโทษหญิงว่า กว่าที่แต่ละคนก่อนจะมาลงเอยในเรือนจำ พวกเธอเหล่านั้นมีวิถีชีวิต ใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม มีแรงกดดัน มีด้านสวยงาม ด้านย่ำแย่อย่างไร

Orange Is the New Black มีความโดดเด่นตรงที่มีเนื้อหาเล่นกับประเด็นร่วมสมัยมากมาย ตั้งแต่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ต้นทุนทางสังคมที่ต่างกัน การเหยียดเพศ การเหยียดเชื้อชาติ ความอยุติธรรม การกดขี่ ไปจนถึงประเด็นสิทธิทางเพศ LGBTQ

ในช่วง 2 ซีซั่นแรก ซีรีส์มีวิธีเล่าประเด็นหนักๆ เหล่านี้ผ่านความ “ตลกร้าย” และบทที่เฉียบคม บทสนทนาของตัวละครที่คมคาย นั่นทำให้ซีซั่น 1 คะแนนวิจารณ์ของผู้ชมเข้าขั้นดีจนถึงดีมาก

Orange Is the New Black เป็นชีวิตในโลกเล็กๆ เบื้องหลังกรงขัง ที่สะท้อนทั้งปัญหาในระบบบริหารจัดการเรือนจำ เรื่องราวของชีวิตนักโทษ ไปจนถึงบรรดาผู้คุมในเรือนจำต่างก็มีเรื่องเล่าแบบต่างๆ กัน โดยเรื่องราวตลอด 7 ปี ที่ดูกันมา เทียบกับสถานการณ์ในเรื่องเป็นเหตุการณ์ในเรือนจำที่ดำเนินไปเพียง 1 ปีกว่าเท่านั้น แต่มีรายละเอียดชีวิตนักโทษหญิงมากมาย ที่สำคัญแต่ละซีซั่นจะล้อไปกับสถานการณ์ด้านสิทธิในช่วงที่เกิดประเด็นต่างๆ ในสังคมอเมริกันด้วยเช่นกัน

ในซีซั่นสุดท้ายเราจึงเห็นทั้งประเด็นเรียกร้องสิทธิผู้หญิงจากการถูกคุกคามทางเพศอย่าง MeToo และประเด็นนโยบายรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กีดกันคนต่างด้าวอย่างเข้มข้น

ใครยังไม่ได้ดู อยากชวนให้ลองดู เพราะนี่คือ “หนึ่งในหัวขบวนซีรีส์” จุดเริ่มต้นความสำเร็จของเน็ตฟลิกซ์ ว่า“Original Content” ที่มีคุณภาพ มีบทเฉียบขาดก็ทำให้ “ธุรกิจสตรีมมิ่ง” หน้าใหม่เมื่อหลายปีก่อน แจ้งเกิดได้ เทียบชั้นสตูดิโอค่ายยักษ์ใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้เน็ตฟลิกซ์ก็มีดาราระดับแม่เหล็กเกรดเอพาเหรดมาร่วมงานด้วยอย่างคับคั่ง มีภาพยนตร์และซีรีส์ที่ขึ้นไปกวาดรางวัลสำคัญของวงการบันเทิง แม้ระยะหลังซีรีส์บางเรื่อง และภาพยนตร์ลงทุนสร้างของเน็ตฟลิกซ์จำนวนหนึ่งจะมีพล็อตและบทที่ไม่เข้าท่าออกมาพอสมควร

อย่างที่เกริ่นไว้ว่า ซีอีโอของเน็ตฟลิกซ์เคยบอกว่าคู่แข่งสำคัญของเขาคือ “เวลานอน” แต่วันนี้เวลานอนอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะต้องยอมรับว่า มีคู่แข่งทางธุรกิจที่เป็นรูปธรรมขยับให้เห็นกันแล้ว ค่ายดังอย่างดิสนีย์ งัดสตรีมมิ่ง “Disney+” (ดิสนีย์พลัส) ขึ้นสู้ โดยออกกลยุทธ์จ่ายทีเดียวดูได้ 3 บริการสตรีมมิ่ง คือ Disney+, Hulu และ ESPN ส่วนค่ายวอร์เนอร์ที่เป็นเจ้าของ HBO เตรียมดัน “HBO Max” (เอชบีโอแม็กซ์) สตรีมมิ่งน้องใหม่ เข้าสู่สนามแข่ง และเล็งมีแผนจะตัดกำลังเน็ตฟลิกซ์ ด้วยการดึงซีรีส์ฮิตเรื่องคลาสสิกและเป็นที่นิยมหลายเรื่องของค่ายวอเนอร์ที่เน็ตฟลิกซ์ซื้อไปฉายสตรีมมิ่งกลับมาให้ดูกันที่เอชบีโอแม็กซ์แทน

ไม่ว่าอนาคตของเน็ตฟลิกซ์ในทางธุรกิจจะถูกเปลี่ยนเกม หรือยังครองแชมป์ตลาดสตรีมมิ่งได้อยู่หรือไม่ ทว่าหากให้นึกถึงคอนเทนต์ดีที่ช่วยสร้างชื่อให้แบรนด์ หนึ่งในนั้นก็คือ Orange Is the New Black เป็นซีรีส์ซิกเนเจอร์สำคัญเรื่องแรกๆ ร่วมขบวนมาพร้อมกับ House of Cards ที่ส่งให้เน็ตฟลิกซ์ได้รับคำชมในแง่การสร้างสรรค์ผลงานชั้นดีจนแจ้งเกิดทั่วโลก ซึ่งวันนี้ผ่านมาหลายปีทั้งสองเรื่องก็ทยอยบอกลาผู้ชมเป็นที่เรียบร้อย

การปิดม่านของซีรีส์เรื่องนี้ที่เปิดให้ดูซีซั่นสุดท้ายตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สมควรทั้งแก่เวลาและโดยเนื้อเรื่อง แม้ช่วงปลายเรื่องใน 2 ซีซั่นสุดท้ายจะแผ่วและพลังของเรื่องลดถอยไปอยู่พอสมควรตามกาลเวลา แต่ตลอด 7 ปี ของ “Orange Is the New Black” ถือเป็นซีรีส์คุณภาพที่สมควรได้แนะนำและกล่าวถึงไว้ ด้วยเนื้อหาที่เริ่มด้วยความตลกร้ายแบบหม่นๆ ผ่านเรื่องราวสุดดราม่า และกลับมาฟีลกู้ดเบาๆ ได้ในท้ายที่สุด