การ ต น ม ซาช เซ ยนเบ ดยอดอ จฉร ยะ

ศาล ปค.ยกฟ้องอุทธรณ์ระงับขึ้นค่าก๊าซแอลพีจี ชาววังสะพุงร้องเพิกถอนสำรวจเหมืองทองคำ

เผยแพร่: 25 พ.ย. 2556 20:38 โดย: MGR Online

ศาลปกครองไม่รับอุทธรณ์ มูลนิธิผู้บริโภค ที่ขอให้ระงับการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ชี้ระเบียบศาลปกครองสูงสุดระบุหากยกคำขอทุเลาการบังคับกฎใดแล้วให้ถือเป็นที่สุด อีกด้านชาววังสะพุง จ.เลย ฟ้องเพิกถอนใบอนุญาตสำรวจเหมืองทองคำ ประกอบการโลหกรรมเอกชน ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพบสารปนเปื้อนเกินเกณฑ์กระทบน้ำอุปโภคบริโภค

วันนี้ (25 พ.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์คำขอทุเลาการบังคับใช้มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ส.ค.56 ที่กำหนดปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG ตามที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, ครม., คณะกรรมการรนโยบายแห่งชาติ (กพช.), รมว.พลังงาน และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-5 กรณีขอให้เพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.56 ที่เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน ขึ้นอีก 0.50 บาท/กก.ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.56 จนสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาท/กก.และเห็นชอบเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ทั้งในส่วนของครัวเรือนรายได้น้อย และร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร โดยให้คงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาทเรื่อยไป จนกว่าจะมีมติที่ชอบด้วยกฎหมายให้ปรับขึ้นราคา ได้ยื่นอุทธรณ์หลังจากที่เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง ยกคำขอกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่มูลนิธิผู้บริโภคร้องขอ

โดยเหตุที่ศาลปกครองกลางไม่รับอุทธรณ์ ระบุว่า พิเคราะห์ระเบียบที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543 ข้อ 73 วรรคสอง แล้ว กำหนดว่า คำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองให้ถือเป็นที่สุด ดังนั้นเมื่อชั้นนี้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่ายังไม่มีเหตุสมควรจะทุเลาการบังคับมติ ครม.แล้วให้ยกคำขอไปตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค.คำสั่งนั้นย่อมเป็นที่สุดตามระเบียบฯ กำหนดแล้ว ผู้ฟ้องไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้อีก

ส่วนที่มูลนิธิผู้บริโภคผู้ฟ้องโต้แย้งว่า การมีคำสั่งดังกล่าวศาลไม่ได้วินิจฉัยถึงเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ในการพิจารณาเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ ข้อ 72 ให้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ปรากฏในเบื้องต้น และตามสภาพเร่งด่วนของเรื่อง โดยไม่ได้พิจารณาเข้าไปถึงการตัดสินชี้ขาดในเนื้อหา เพราะการพิจารณาเนื้อหาจะกระทำได้ต่อเมื่อศาลได้แสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวอย่างครบถ้วนเพียงพอและมีคำพิพากษาต่อไป ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์ของผู้ฟ้องไว้พิจารณา

อีกด้านหนึ่ง นายสราวุธ พรมโสภา กับพวกรวม 597 คนที่รวมตัวกันเป็นชุมชน “กลุ่มรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งพักอาศัยในหมู่บ้านนาหนองบง, กกสะทอน, ภูทับฟ้า, ห้วยผุก, โนนผาพุงพัฒนาและแก่งหิน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ยื่นฟ้อง รมว.อุตสาหกรรม และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต่อศาลปกครองกลางแผนกคดีสิ่งแวดล้อม กรณีใช้ดุลยพินิจไม่ชอบในการออก ใบประทานบัตร (ฉบับเดิมตั้งแต่ปี 2533) อนุญาตให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิในการสำรวจและประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ บริเวณหมู่บ้านนาหนองบง, กกสะทอน, ภูทับฟ้า, ห้วยผุก, โนนผาพุงพัฒนาและแก่งหิน ต.เขาหลวง อ.วันสะพุง จ.เลย รวมทั้งการต่อใบอนุญาตโลหกรรมให้บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งการประกอบกิจการทั้งหมดของบริษัทนั้น ได้กระทำการที่ทำให้ที่ดินเสื่อมประโยชน์ และอาจจะมีการแพร่กระจายของแร่ที่มีพิษ ซึ่งอาจส่งกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางน้ำสาธารณะ รวมทั้งอาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคล พืช และทรัพย์สิน

ทั้งนี้คำฟ้องระบุว่า หลังจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับสิทธิในการสำรวจและประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ตั้งปี 2533 ชาวบ้านได้สังตุเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม กระทั่งปี 2550 จ.เลย ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการทำเหมืองแร่และการประกอบโลหกรมของบริษัท ซึ่งการตรวจสอบพบว่าคุณภาพน้ำในลำน้ำ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง มีค่าไซยาไนต์และแมงกานีสค่อนข้างสูง และในปี 2551 กรมควบคุมมลพิษ ได้แจ้งผลตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำพบว่าสารแคดเมียมในระบบประปาบาดาล บ้านนาหนองบง สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคได้

ต่อมาปี 2552 -2553 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย ก็ได้ออกประกาศเตือนประชาชนระมัดระวังการอุปโภคบริโภคน้ำ จากแหล่งน้ำพื้นที่หิน ต.เขาหลวง อ.วันสะพุง จ.เลย กระทั่งปี 2554 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ชะลอการประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องสารปนเปื้อน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบวิเคราะห์น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเมื่อวันที่ 26-27 ต.ค.55 ยังพบว่าสันเขื่อนของบ่อเก็บกัก กากแร่ของบริษัท ทุ่งคำ ด้านทิศเหนือเกิดการทรุดตัวและพังทลายลง เป็นระยะทางยาว 15–20 เมตร ลึกประมาณ 5 เมตร

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว พบว่าตั้งแต่ได้รับสิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ และประกอบการโลหกรรม ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและการอยู่อาศัย ซึ่งผู้ถูกฟ้องทั้งสอง ไม่ได้ดูแลกำกับ หรือเพิกถอนใบประทานบัตรใบอนุญาตโลหกรรม รวมทั้งหนังสือยินยอมให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้นผู้ฟ้องทั้ง 597 คนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงขอให้ศาลพิพากษา เพิกถอนใบประทานบัตรเลขที่ 26971/15558, 26972/15559, 26968/15574, 26969/15575 และ 26970/15576 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และเพิถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2552 และคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม คำขอที่ 1/2555 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด