กรณ เก ยวก บ สนธ ส ญญา สตอกโฮล ม

อนุสัญญากรุงสต็อกโฮล์ม ว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) หรือเรียกย่อว่า อนุสัญญา POPs มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (POPs) ปัจจุบันนี้ สารเคมี POPs ที่ถูกกำหนดขึ้นมี 12 ชนิดคือ อัลดริน (aldrin) คลอเดน (chlordane) ดิลดริน (dieldrin) เอนดริน (endrin) เฮปตะคลอร์ (heptachlor) เอชซีบี (hexachlorobenzene) ไมเร็กซ์ (mirex) ท็อกซาฟีน (toxaphene) พีซีบี (Poly chlorinated Biphenyls: PCBs) ดีดีที (DDT) ไดออกซิน (Polychlorinated dibenzo-p-dioxins: PCDDs) และฟิวแรน (Polychlorinated dibenzofurans: PCDFs) สารเหล่านี้เป็นกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ซึ่งถูกย่อยสลายได้ยากโดยแสงหรือสารเคมี หรือโดยชีวภาพทำให้เกิดการตกค้างในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานและสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ไกลมาก มีคุณสมบัติละลายน้ำได้น้อยมากแต่ละลายได้ดีในไขมันจึงเป็นผลให้มีการสะสมในไขมันของสิ่งมีชีวิต มีความเป็นพิษสูงจึงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต การเจ็บป่วย และความพิการแต่กำเนิดของมนุษย์และสัตว์ เป็นสารก่อมะเร็ง อาการแพ้ และระบบประสาทไวต่อความรู้สึก ระบบประสาทส่วนกลางและรอบนอกถูกทำลาย ระบบการสืบพันธุ์บกพร่อง สารดังกล่าวบางชนิดสามารถเปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมน ทำลายระบบการสืบพันธุ์และระบบภูมิคุ้มกันได้

พันธกรณีสำคัญที่ภาคีต้องปฏิบัติได้แก่ การออกมาตรการทางกฎหมายและการบริหารในการห้ามผลิตและใช้สาร POPs 9 ชนิดแรก การควบคุมการนำเข้าและส่งออกสาร POPs การส่งเสริมการใช้สารทดแทน การกำหนดแนวทางด้านเทคนิคที่ดีที่สุด (Best Available Techniques: BAT) และแนวทางปฏิบัติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด (Best Environmental Practices: BEP) และประสานงานกับประเทศภาคี

ประเทศไทยให้สัตยาบันในอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2548 โดยกรมควบคุมมลพิษ ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน (focal point) ในการปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญา

อาเซียนและอนุสัญญา POPs

ภายใต้ อนุสัญญา POPs ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศได้ให้สัตยาบันและภาคยานุวัติแล้ว เนื่องจากเห็นความสำคัญของอันตรายและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศของตน

ประเทศไทยกำหนดให้กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะศูนย์ประสานงานอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ (Stockholm Convention Focal Point) ได้จัดทำแผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ซึ่งได้รับการรับรองจากคณะรัฐมนตรี จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ประสานงานและติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนจัดการระดับชาติฯ และจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อรัฐบาล รวมทั้งมอบหมายกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนจัดการระดับชาติฯ และรายงานผลการดำเนินงานประจำปีต่อรัฐบาล [ข้อมูลจาก www.pcd.go.th] นอกจากนี้ ประเทศไทยได้จัดทำ Thailand Dioxin and Furan Release Inventory ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กรมวิชาการเกษตร กรมอนามัย เป็นต้น โดยจดกำเนิดสารมลพิษอินทรีย์ตกค้างยาวนาน ได้แก่ การเผาขยะ กระบวนการผลิต/การถลุงโลหะ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน เป็นต้น นอกจากนี้ การควบคุมการใช้สาร POPs ยังอยู่ภายใต้กฎหมายหลายฉบับที่มีองค์กรดำเนินงานมากมาย เช่น ในช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2538 มีการห้ามการนำเข้าสารหลายประเภท ห้ามใช้สาร DDT สำหรับการเกษตร ในปี พ.ศ. 2525 และห้ามใช้ในการกำจัดยุงลายในปี พ.ศ. 2537 และ ห้ามนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีสาร PCBs เป็นองค์ประกอบในปี พ.ศ. 2518 แต่ยังให้ใช้ได้ในบางอุตสาหกรรม เป็นต้น [UNEP, 2001]

แผนจัดการระดับชาติเพื่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ ของไทยได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้ การสร้างความตระหนักให้กับประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดทำ/ปรับปรุงฐานข้อมูลทำเนียบสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน การพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้ความรู้การศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการจัดการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานที่เหมาะสม ตลอดจนการกำจัดสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานขั้นสุดท้ายเพื่อไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดและขจัดมลพิษจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน [ที่มา: www.pops.pcd.go.th]

จากรายการสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานที่สำคัญ 12 รายการดังกล่าวข้างต้นนั้น สารมลพิษที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ สาร DDT และ PCBs เนื่องจากภายใต้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ (best available techniques) โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น การใช้สารเคมีดังกล่าวจึงยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน จึงยังคงมีความกังวลในเรื่องสารมลพิษตกค้างยาวนาน โดยเฉพาะสาร Dioxin และ Furans (ซึ่งเป็นสารมลพิษที่รุนแรงที่สุดในบรรดารายการสารมลพิษ POPs) ที่มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และในกรณี DDT ยังคงมีใช้ในการควบคุมการแพร่พันธุ์ของยุง (WHO ยังยอมรับการใช้สาร DDT) โดยเฉพาะการป้องกันไข้มาลาเรีย จนกว่าจะมีสารอื่นที่ดีกว่ามาใช้ทดแทน

ภายใต้ข้อตกลงที่จะลดการใช้สาร PCBs (phasing out) ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2025 ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องยังพอมีเวลาปรับตัวที่จะหาสาร PCB-free มาใช้แทนในอนาคต อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกจะต้องหาหนทางหรือวิธีการที่จะกำจัดชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่มีสาร PCBs เป็นองค์ประกอบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ในประเทศ

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นประเทศต้องเผชิญกับการจัดการสารมลพิษ PCBs ที่มีอยู่ในชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจัดการ E-waste ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ยังต้องเผชิญกับการจัดการสารมลพิษที่มีอยู่ใน E-waste ด้วย ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากในการรวบรวมชิ้นส่วน ตลอดจนการให้ความรู้ความเข้าใจแก่กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ E-waste

ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ย่อมเผชิญกับปัญหาดังกล่าวในอนาคต แต่มีศักยภาพในการจัดการที่ต่ำ ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการภายในประเทศสมาชิกอาเซียน อาจจะยังไม่มีความก้าวหน้าเท่าใดนัก ทั้งด้านกิจกรรมและมาตรการหรือกฎหมาย เนื่องจากงบประมาณและบุคลากรในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีค่อนข้างจำกัด

เนื่องจากสารฆ่าแมลงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศที่พึ่งพิงการเกษตรเป็นหลัก ทำให้มาตรการในการควบคุมสาร POPs จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศที่มีลักษณะการปกครองและโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น

  • สิงคโปร์มีกฎหมายในการควบคุมการใช้และการนำเข้าสารมลพิษตกค้างยาวนาน ผ่านกฎหมายและมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะควบคุมการปล่อยสารมลพิษอินทรีย์ประเภท Dioxins และ Furans ที่เกิดจากกระบวนการเผา (incinerators) ภายใต้กฎหมาย Environmental Pollution Control Act และ แผนการปฎิบัติการระดับชาติ ภายใต้การกำกับของ Pollution Control Department ของ National Environment Agency ที่ดูแลทั้งการนำเข้า การใช้ และ การจดทะเบียนสารเคมีทางการเกษตร (เช่น ยาฆ่าแมลง ยุง หนู แมลงสาบ แมลงวัน ฯลฯ) ที่ใช้ในการเกษตรและในครัวเรือน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ส่วนแผนปฎิบัติการฯ รัฐบาลสิงคโปร์ได้ปรับปรุงกฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นในการนำเข้าและใช้สารมลพิษอินทรีย์ตกค้างฯ ภายในประเทศ (ยกเว้นเพื่อการวิจัย) และมีมาตรการตรวจสอบสารตกค้างในอากาศ ในแหล่งน้ำและสัตว์น้ำ และในเลือดของมนุษย์ [Singapore, 2007]
  • อินโดนีเซีย มีหน่วยงานรับผิดชอบตามกรอบอนุสัญญาฯ คือ Directorate of Hazardous and Substance Management การจดทะเบียนสาร POPs จะอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร ส่วนการใช้และการเคลื่อนย้ายสาร POPs จะอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การจัดการสาร POPs จะแตกต่างกันไปตามความเป็นพิษ (degree of toxicity) และคุณสมบัติทางเคมี (chemical properties) โดยผ่านกฎหมายหลายฉบับ ยิ่งกว่านั้น อินโดนีเซียห้ามนำเข้า POPs แต่ก็ยังมีการนำเข้าอย่างผิดกฎหมายและยังมีการใช้สาร DDT อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้เป็นเพราะข้อจำกัดด้านบุคลากรในการตรวจจับและความไม่เข้าใจของเกษตรกร [UNEP, 2001]
  • กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ แต่ก็ได้ให้ความสนใจในการเข้าร่วมให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เพื่อการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนภายในประเทศ แต่กัมพูชายังไม่มีกฎหมายด้าน POPs และไม่มีการควบคุมการใช้สาร DDT & PCBs [UNEP, 2001] อย่างไรก็ดี กัมพูชาได้รับการสร้างความตระหนักในการจัดการสาร POPs จากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IPEN (International POPs Elimination Network) เพื่อเพิ่มศักยภาพการตระหนักถึงอันตรายของการใช้ให้แก่ประชาชนหรือเกษตรกร และเพิ่มศักยภาพการจัดการสารมลพิษอินทรีย์ตกค้างยาวนานให้แก่ภาคเอกชน และเพิ่มศักยภาพให้หน่วยงานภาครัฐในการจัดทำแผนปฎิบัติการระดับชาติในอนาคตและการออกกฎหมายรองรับ ภายใต้โครงการ International POPs Elimination Project (IPEP) ที่สนับสนุนโดย UNIDO, UNEP และ GEF (Global Environment Facility) ทั้งนี้กิจกรรมของ IPEN สำหรับประเทศกัมพูชาเน้นที่การอบรมประชาชน ภาคธุรกิจ และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [IPEN, 2006]
  • เมียนมาร์ ที่เพิ่งตั้งหน่วยงานและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อปี ค.ศ. 1990 แต่การจัดการด้านการใช้ยาฆ่าแมลงอยู่ภายใต้กระทรวงเกษตรและชลประทาน ซึ่งมีแนวโน้มการใช้สารฆ่าแมลงมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศเมียนมาร์จึงมีการตั้งโรงงานผลิตสารฆ่าแมลง เพื่อใช้ภายในประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้มีกฎหมายควบคุมการผลิตและการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ [UNEP, 2001]
  • ฟิลิปปินส์ มีหน่วยงาน Fertilizer and Pesticide Authority (FPA) ที่ควบคุมการใช้สารฆ่าแมลงทุกชนิดที่ใช้ในประเทศ [UNEP, 2001]
  • เวียดนาม มีกฎระเบียบเกี่ยวกับการห้ามใช้สาร POPs บางชนิด และมีปัญหาการจัดการสารฆ่าแมลงและ POPs ที่หมดอายุการใช้งาน อันนำไปสู่ปัญหาการจัดการขยะของเสียอันตราย [UNEP, 2001]
  • บรูไนไม่มีกฎหมายด้าน POPs โดยเฉพาะ แต่มีการห้ามนำเข้าและห้ามใช้สาร PCBs ในประเทศอยู่แล้ว [UNEP, 2001]
  • ลาว มีควบคุมการใช้สารฆ่าแมลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายองค์กร ทั้งนี้องค์กรหลักคือ กระทรวงการเกษตรและป่าไม้ [UNEP, 2001]

ที่มา: นิรมล สุธรรมกิจ และคณะ (2555). “โครงการการเปรียบเทียบมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของสมาชิกประชาคมอาเซียน”. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.