การนำข อม ล ภาพฟ ล ม x-ray ออกมาแบบ digital

ให้บริการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแบบครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ทันสมัย รวดเร็ว และเหมาะสมในการวินิจฉัยโรค เพื่อช่วยให้แพทย์ผู้รักษา สามารถค้นหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้อย่างละเอียด และแม่นยำ งานรังสีเทคนิคของเรา ได้รวบรวมคณะรังสีแพทย์ที่มากประสบการณ์ รวมทั้งทีมนักรังสีการแพทย์ พยาบาล ที่มีความชำนาญด้านวิชาชีพโดยเฉพาะ ทำให้การดูแล วินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยสูงสุด

ปัจจุบันงานรังสีเทคนิคได้ใช้ระบบสารสนเทศในการส่งข้อมูลภาพเอกซเรย์ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ไปยังห้องตรวจ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้รับการถ่ายเอกซเรย์เรียบร้อยแล้ว แพทย์สามารถเปิดดูภาพเอกซเรย์ได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ทันที โดยภาพเอกซเรย์ และผลการตรวจทั้งหมดถูกรวบรวมไว้ในระบบ PACS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการจัดเก็บรูปภาพทางการแพทย์ เพิ่มความสะดวกสบายในการติดตามผลการตรวจของแพทย์ผู้รักษา สามารถเรียกดูภาพเอกซเรย์ครั้งก่อน เพื่อเปรียบเทียบ ดูการลุกลามของโรค ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาโรคดียิ่งขึ้น

เอกซเรย์ทั่วไป (General x-ray)

การถ่ายภาพเอกซเรย์อวัยวะลงบนแผ่นรับภาพ และแปลงสัญญาณเป็นภาพดิจิตอล รายละเอียดสูง ด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สามารถเอกซเรย์ได้ทุกส่วนของร่างกาย การตรวจทั่วไปที่คุ้นเคยเป็นอย่างดี คือการเอกซเรย์ปอด การเอกซเรย์ช่องท้อง และการเอกซเรย์กระดูกสันหลัง เป็นต้น ใช้ในการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าบริเวณที่ต้องการถ่ายเอกซเรย์มีความผิดปกติหรือไม่ ปัจจุบันงานรังสีเทคนิค มีเครื่องเอกซเรย์ทั่วไปให้บริการจำนวน 3 เครื่อง สามารถให้บริการแก่ผู้รับบริการจำนวนมากและรวดเร็วมากขึ้น เพราะใช้ตัวรับภาพแบบดิจิตอล แทนแผ่นฟิล์มแบบเดิม รวมทั้งยังใช้ระบบ PACS ทำให้สามารถส่งภาพและเรียกดูภาพเอกซเรย์ได้ที่ห้องตรวจด้วยความสะดวก รวดเร็ว

ภาพแสดงเครื่องเอกซเรย์ DIGITAL RADIOGRAPHY ที่ทันสมัย ควบคุมผ่าน remote control

ภาพเอกซเรย์ปอด

ภาพเอกซเรย์กระดูกสันหลังทั้งหมด

เอกซเรย์เคลื่อนที่ (PORTABLE X-RAY)

เครื่องเอกซเรย์ชนิดเคลื่อนที่ไปในที่ต่างๆ ได้ ถ่ายภาพเอกซเรย์ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายมาที่ห้องเอกซเรย์ เช่น ผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน (Emergency room), หอผู้ป่วย (Ward), หอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ห้องผ่าตัด เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นอันดับแรก

ภาพแสดงเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ สามารถเข็นไปเอกซเรย์ผู้ป่วยนอกแผนกได้

เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone mineral density)

บริการตรวจความหนาแน่นของกระดูกด้วยเครื่องเอกซเรย์ระบบ 2 พลังงาน (DEXA) ซึ่งใช้ปริมาณรังสีน้อย แต่มีความแม่นยำในการตรวจสูง สามารถตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก วิเคราะห์ด้วยโปรแกรมซึ่งอ้างอิงข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากลเพื่อตรวจบริเวณกระดูกสันหลัง และข้อสะโพก สามารถช่วยแพทย์วินิจฉัยภาวะกระดูกบางหรือโรคกระดูกพรุนในระยะเริ่มแรกได้

ข้อบ่งชี้ในการตรวจความหนาแน่นกระดูก

  • ผู้หญิง อายุ ≥ 65 ปี
  • ผู้ชาย อายุ ≥ 70 ปี
  • สำหรับผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 65 ปี และผู้ชายอายุต่ำกว่า 70 ปี มีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 1 ข้อ
  • หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
  • Estrogen deficiency ก่อนวัยหมดประจำเดือน ต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี (ยกเว้นมีบุตร)
  • ได้รับยา Glucocorticoid เป็นระยะเวลานาน (Prednisolone 7.5 mg./d นานกว่า 3 เดือน)
  • มีประวัติ บิดา-มารดา กระดูกสะโพกหัก
  • BMI < 19
  • Radiographic osteopenia / Vertebral deformity by x-rays
  • Endrocrinopathy or drug interfere metabolic bone disease
  • มีประวัติ Low energy trauma fracture
  • มีส่วนสูงลดลง มากกว่า 3 cm.
  • OSTA Score KKOS > 0.3 สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
  • ผู้ป่วยมีความประสงค์ขอตรวจ (เบิกไม่ได้)

ภาพแสดงเครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูก

ภาพแสดงผลการตรวจความหนาแน่นกระดูกสันหลังส่วนเอวและกระดูกสะโพกข้างซ้าย

เอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอล (DIGITAL MAMMOGRAPHY)

บริการถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบดิจิตอล ที่ทันสมัยให้ความละเอียดกว่าการถ่ายเอกซเรย์เต้านมแบบธรรมดา เพราะมีการเก็บข้อมูลเป็นแบบดิจิตอล ให้ผลถูกต้อง และแม่นยำ แพทย์สามารถดูภาพได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ความละเอียดสูง และปรับภาพแยกความแตกต่างของเนื้อเยื่อและชั้นไขมันในเต้านม หินปูน รวมทั้งท่อและต่อมต่างๆในเต้านม เพื่อค้นหาความผิดปกติ ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งเต้านมได้

นักรังสีการแพทย์ผู้หญิงจะทำการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม โดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการกดเต้านมให้เนื้อนมกระจายออก ถ่ายภาพข้างละ 2 ท่า รวม 4 ภาพ ร่วมกับการตรวจอัลตราซาวด์เต้านมโดยรังสีแพทย์ เพื่อประเมินความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรกที่ยังไม่พบก้อนที่เกิดขึ้น จนถึงระยะที่มีการแพร่กระจายของมะเร็ง รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เป็นต้น

ภาพแสดงเครื่องเอกซเรย์เต้านมระบบดิจิตอล

ภาพแมมโมแกรมเต้านมข้างซ้ายในท่า CC และ MLO

อัลตราซาวด์ (Ultrasound)

การตรวจโดยอาศัยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงแปลงสัญญาณเป็นภาพอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ปรากฏบนจอมอนิเตอร์ งานรังสีเทคนิคมีเครื่องอัลตราซาวด์เทคโนโลยีสูง เพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจอัลตราซาวด์ทั่วๆ ไป และสามารถตรวจดูเส้นเลือดได้ (Color doppler ultrasound) การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัด สำหรับบางอวัยวะ เช่น ปอด กระเพาะอาหาร แต่เป็นวิธีที่ปลอดภัย เนื่องจากไม่ใช้รังสีจึงไม่เป็นอันตรายต่อเด็กและหญิงตั้งครรภ์ อัลตราซาวด์สามารถตรวจอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ดังนี้

  • อัลตราซาวด์หลอดเลือด เช่น หลอดเลือดแดงบริเวณคอ หลอดเลือดดำแขน-ขา เป็นต้น
  • อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน เช่น ตรวจดูตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน ม้าม ไต 2 ข้าง เป็นต้น
  • อัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เช่น ตรวจดูมดลูก รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก
  • อัลตราซาวด์ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กรณีที่สงสัยก้อนเนื้อผิดปกติ เช่น ต่อมไทรอยด์, เต้านม
  • อัลตราซาวด์ดูดสารคัดหลั่ง หนอง หรือเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อการวินิจฉัย และการรักษา

การเตรียมตัวตรวจอัลตร้าซาวด์

  • อัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนบน

งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด 4- 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้

  • อัลตร้าซาวด์ช่องท้องทั้งหมด

งดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิด 4- 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ (ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเวลานัดตรวจ ให้เริ่มดื่มน้ำเปล่ามากๆ และกลั้นปัสสาวะไว้ เพื่อให้สามารถตรวจดูกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะภายในช่องท้องส่วนล่างได้)

  • อัลตร้าซาวด์ทางเดินปัสสาวะและช่องท้องส่วนล่าง

งดเว้นการดื่มชา กาแฟ และน้ำอัดลม สามารถทานอาหารและน้ำเปล่าได้ตามปกติ เมื่อถึง 1 ชั่วโมงก่อนเวลานัดตรวจ ให้เริ่มดื่มน้ำเปล่ามากๆ และกลั้นปัสสาวะไว้ เพื่อให้สามารถตรวจดูกระเพาะปัสสาวะและอวัยวะภายในช่องท้องส่วนล่างได้

  • อัลตร้าซาวด์เต้านม

ไม่ทาครีม แป้ง โลชั่น โรลออน และน้ำหอม ที่บริเวณทรวงอกและใต้รักแร้

การตรวจเต้านมที่ดีที่สุดควรเป็นช่วง 7-14 วัน หลังมีประจำเดือนมาวันแรก

**กรุณาโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการเลื่อนนัด หากวันที่นัดตรวจเป็นช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนหรือช่วง 3 วันแรกของการมีประจำเดือน**

ภาพเครื่องอัลตราซาวด์

ภาพอัลตราซาวด์ส่วนต่างๆในร่างกาย

เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography)

เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ให้ความละเอียดสูง มีความรวดเร็วในการตรวจ เอื้อประโยชน์ในการวินิจฉัยให้ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้น สามารถตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ รวมถึงระบบหลอดเลือดทั่วร่างกายได้อย่างชัดเจน อีกทั้งสามารถนำภาพตัดขวางที่ได้กลับมาสร้างภาพ 3 มิติได้หลายรูปแบบ เพื่อดู เส้นเลือด เนื้อเยื่อ กระดูก หรือแม้แต่ท่อลมในปอด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตรวจวินิจฉัยโรค และการวางแผนการรักษาได้ถูกต้องรวดเร็ว