ภูมิปัญญาและ บุคคลสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์

 

บุคคลที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่มีผลต่อสังคมไทยในปัจจุบัน
          ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ทรงภูมิปัญญาที่ได้รับการยกย่องเชิดชูหลายท่าน  เช่น  ศิลปินแห่งชาติ  ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม  หรือชาวบ้านผู้สืบทอดและสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น  นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการสร้างสรรค์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยที่มีผลต่อสังคมไทยปัจจุบันด้วยเช่นกัน  ดังจะกล่าวต่อไปนี้
          
          1.  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยมากมาย  ดังนี้
                    1)  ด้านพระพุทธศาสนา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้แปลพระไตรปิฏกจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย  โปรดเกล้า ฯ ให้คณะสงฆ์ปรับปรุงพระไตรปิฏกฉบับหลวง  และทรงสนับสนุนการสร้างพระไตรปิฏกฉบับคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จัดทำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2531  พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อขยายการศึกษาให้ครอบคลุมถึงการทำหนังสืออธิบายขยายความในพระไตรปิฏกหรืออรรถกถาและฏีกา  คือ  หนังสืออธิบายขยายความอรรถกถา  รวมเป็นหนังสือ 98 เล่ม  บันทึกไว้ในคอมพิวเตอร์  เสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. 2534  ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถสร้างพระไตรปิฏกฉบับคอมพิวเตอร์ได้  ซึ่งสะดวกในการรักษาความถูกต้องของพระธรรมและศึกษาค้นคว้าได้แพร่หลายรวดเร็วยิ่งขึ้น
                    นอกจากนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อง  "พระมหาชนกเกี่ยวกับการเสวยพระชาติของพระพุทธเจ้าในชาติที่เกิดเป็นพระมหาชนก  โดยทรงแปลจากต้นฉบับภาษาบาลีเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษต่างจากสำนวนที่เคยมีมา  หลักธรรมสำคัญที่ได้จากเรื่องนี้  คือ  การบำเพ็ญความเพียรของพระมหาชนกที่ไม่เคยหวังผลตอนแทนใด ๆ กระทั่งได้ครองราชสมบัติ  ในตอนท้ายของพระราชปรารถหรือคำนำของหนังสือนี้ทรงลงท้ายไว้ว่า  "ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์  ปัญญาที่เฉียบแหลม  กำลังกายที่สมบูรณ์"  แสดงให้เห็นว่าความเพียรที่บริสุทธิ์เป็นคุณธรรมสำคัญในการดำเนินชีวิต
                    2)  ด้านการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม  ได้แก่  
                              2.1)  การแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย  ได้แก่  ปัญหาน้ำเน่าเสียตามแหล่งน้ำชุมชมและแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมมาก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเรื่องคุณภาพน้ำที่เสื่อมโทรมลงอย่างยิ่ง  จึงพระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาค้นคว้าทดลองและดำเนินการแก้ไขอย่างจริงจังทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด  ทรงเน้นถึงการแก้ปัญหาที่เป็นรูปแบบง่าย ๆ เสียค่าใช้จ่ายน้อยก่อน  จากนั้นจึงพิจารณาถึงวิธีการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่
                              การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียตามพระราชดำริมีหลากหลายวิธีและเป็นการใช้ภูมิปัญญา  เช่น  การบำบัดน้ำเน่าเสียตามวิธีธรรมชาติด้วยผักตบชวาในบริเวณบึงมักกะสันหรือโครงการมักกะสัน  โดยการปลูกผักตบชวาในดอกไม้  ลอยเป็นแนวขวางตัวกับบึงเป็นระยะ ๆ  เพื่อให้ทำหน้าที่ดูดสารพิษ  สารเคมี  โลหะหนัก  ปรากฏว่าผักตบชวาสามารถช่วยกำจัดสิ่งปฏิกูลในน้ำ  ช่วยทำให้น้ำใสและมีสภาพดีกว่าเดิม  จากการทดสอบคุณภาพน้ำพบว่าน้ำในบึงที่ผ่านการกรองด้วยผักตบชวามีออกซิเจนละลายในน้ำมากขึ้น  จึงมีการนำพระราชดำรินี้ไปใช้บำบัดน้ำเสียที่อื่น ๆ
                              นอกจากนี้ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการบำบัดน้ำเสียอีกวิธีหนึ่ง  คือ  การใช้ผักตบชวาผสมผสานกับการใช้เครื่องจักรกลเติมอากาศ  คือ  ออกซิเจนลงไปในน้ำ  เป็นระบบสระเติมอากาศเพื่อเร่งการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีเร็วขึ้น  ดังโครงการบึงพระราม 9  กรุงเทพมหานคร  ส่งผลให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
                              การบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริอีกวิธีหนึ่ง  คือ  การเติมอากาศหรือออกซิเจนให้แก่น้ำเน่าเสีย  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์อุปกรณ์การเติมอากาศหรือออกซิเจนในน้ำด้วยรูปแบบที่เรียบง่าย  ประหยัด  และใช้เป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ นำไปสร้างใช้งานและทรงพระกรุณาโปรเเกล้า ฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาสนับสนุนงบประมาณเพื่อศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว  และร่วมกับกรมชลประทานจัดสร้างเครื่องมือบำบัดน้ำเสียด้วยการเติมอากาศพระราชทานชื่อว่า  "กังหันชัยพัฒนา"  ซึ่งเป็นที่นิยมและนำไปใช้งานกือบทั่วประเทศ  ต่อมากรมทรัพย์สินทางปัญญา  กระทรวงพาณิชย์  ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรเลขที่ 3127  ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์  และเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร  นับเป็นภูมิปัญญาหนึ่งที่ได้ทรงสร้างสรรค์ขึ้น
                              2.2)  การป้องกันการเสื่อมโทรมและพังทลายของดินโดยหญ้าแฝก  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงสภาพปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน  และการสูญเสียหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์  จึงทรงศึกษาถึงศักยภาพของหญ้าแฝก  ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านของไทยที่มีคุณสมบัติพิเศษในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดินและอนุรักษ์ความชุ่มชื้นใต้ดิน  หญ้าแฝกปลูกง่าย  เกษตรกรสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องดูแลหลังการปลูกมากนัก  ทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่น ๆ อีกด้วย  นอกจากนี้การปลูกหญ้าแฝกบนคันนายังช่วยให้คันนาคงสภาพอยู่ได้นาน
                              หญ้าแฝกสามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้อีก  เช่น  ไม้มุงหลังคา  ตับหลังคาที่ทำจากหญ้าแฝกสามารถผลิตจำหน่ายได้  นอกจากนี้  หญ้าแฝกยังมีสรรพคุณช่วยขับลมในลำไส้แก้อาการท้องอืด  ท้องเฟ้อ  และแก้ไข  ส่วนรากที่มีความหอมนั้น  คนไทยสมัยก่อนมักนำมาแขวนในตู้เสื้อผ้า  ทำให้มีกลิ่นหอมและช่วยไล่แมลงที่จะมาทำลายเสื้อผ้า  ตลอดจนนำมาสกัดทำน้ำหอม

          2.  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ
          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย  ซึ่งสรุปได้ดังนี้
                    1)  ด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถทรงส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยโดยเฉพาะด้านงานหัตถกรรมพื้นบ้านและงานช่าง  ทรงจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพขึ้นหลายแห่งเพื่อเป็นที่รวบรวมสินค้าจากฝีมือชาวบ้านและเป็นแหล่งสอนงานหัตถกรรมแก่ชาวบ้าน  ทรงดำเนินการเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์งานหัตถกรรมพื้นบ้าน  เช่น
                              1.1)  ทรงเริ่มโครงการหัตถกรรม  เพื่อช่วยเหลือราษฏรเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านเขาเต่า  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2508  โดยชักชวนให้หญิงชาวบ้านเขาเต่าหัดทอผ้าฝ้ายขายเป็นอาชีพเสริม  ทรงให้ครูทอผ้าจากโรงงานทอผ้าบ้านไร่  จังหวัดราชบุรี  มาสอนการทอผ้าให้แก่ราษฎรบ้านเขาเต่า  สร้างกี่ทอผ้าขึ้นที่ท้ายวังไกลกังวลเพื่อให้ชาวบ้านมาหัดทอผ้า  เริ่มจากการทอผ้าขาวม้าและผ้าซิ่น  ชาวบ้านที่มาเรียนทอผ้าได้รับพระราชทานอาหารกลางวันและค่าแรง  ต่อมาเจ้าอาวาสวัดเขาเต่าและครูใหญ่โรงเรียนเขาเต่าช่วยดูแลต่อ  ปัจจุบันโครงการทอผ้าฝ้ายที่เขาเต่าอยู่ภายใต้การดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน  โดยพัฒนากรอำเภอหัวหินเป็นผู้ดูแลโครงการตั้งแต่ พ.ศ. 2511  มีการสอนการทอผ้า  ย้อมสี  ตัดเย็บ  และสอนการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์
                              1.2)  ทรงเริ่มโครงการศิลปาชีพ  โครงการแรก  คือ  โครงการทอผ้าไหมมัดหมี่  จังหวัดนครพนม  ทรงสนพระทัยซิ่นไหมมัดหมี่ที่หญิงชาวบ้านนุ่ง  เพราะมีความสวยงามแปลกตา  เหมาะที่จะเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านเนื่องจากทุกครัวเรือนจะทอใช้กันอยู่แล้ว  ทรงชักชวนให้ชาวบ้านประกอบอาชีพเสริมด้วยการทอผ้าไหมมัดหมี่  ทรงรับซื้อผ้าที่ชาวบ้านทอทุกผืน  โดยส่งรวมไป ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  และทรงนำผ้าไหมมัดหมี่มาตัดฉลองพระองค์  ต่อมาได้จัดตั้งกลุ่มทอผ้าไหมขึ้นตามหมู่บ้านและรับชาวบ้านเข้าเป็นสมาชิก  ผู้ที่ทอผ้าไม่เป็นก็ให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อเป็นวัตถุดิบแก่ผู้ทอ  โครงการนี้ต่อมาจึงได้ขยายออกไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพที่สร้างรายได้ให้แก่ราษฎรอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน
                              1.3)  ทรงส่งเสริมให้ตั้งโรงฝึกงานหัตถกรรมและศูนย์ศิลปาชีพ  เช่น  โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา  ภายในบริเวณสวนจิตรลดา  พระราชวังดุสิต  กรุงเทพมหานคร  ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2520  เพื่อฝึกหัดงานหัตถกรรมไทยแขนงต่าง ๆ แก่นักเรียนซึ่งเป็นบุตรหลานของราษฎรที่มีฐานะยากจนแต่มีฝีมือทางศิลปะหรือพอจะฝึกหัดศิลปหัตถกรรมในขั้นที่ยากขึ้น  และเป็นศูนย์กลางรับซื้อ  เก็บรักษาและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งหมด  รวมทั้งเป็นที่ทำการของกองศิลปาชีพ  สำนักราชเลขาธิการ
                              ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ที่อำเภอเมือง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2528  มีการฝึกสอนศิลปาชีพหลายประเภท  เช่น  ทอผ้าไหม  ตัดเย็บเสื้อผ้าตุ๊กตาชาวเขา  ดอกไม้ประดิษฐ์  จักสานหวาย  จักสานไม้ไผ่  เครื่องหนังและของชำร่วย  สมาชิกของศูนย์ ฯ  แบ่งเป็นสมาชิกชั่วคราวและสมาชิกประจำ  สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกชั่วคราวเมื่อเรียนจบแล้วก็สามารถกลับไปประกอบงานศิลปาชีพที่บ้าน  ส่วนผู้ที่เป็นสมาชิกประจำซึ่งมีฝีมือดี  ทางศูนย์ ฯ จะจ้างไว้เพื่อผลิตงาน
                              ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร  อำเภอบางไทร  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  อยู่ใกล้กับพระราชวังบางปะอิน  จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524  โดยรับเกษตรกรที่มีฐานะยากจนจากจังหวัดต่าง ๆ มาฝึกอบรมด้านศิลปาชีพสาขาต่าง ๆ ประมาณ 30 สาขา  รวมทั้งมีแผนกเกษตรกรรมเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรที่มาฝึกอบรมด้านศิลปาชีพ  นับได้ว่าโครงการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมของไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์เหล่านี้ได้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยให้สืบทอดอยู่ในปัจจุบัน

          3.  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
          สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงมีผลงานในด้านการส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ในภาคเหนือ  เช่น  ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง  ได้มีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมอาชีพ  การรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาวเขาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่  เช่น  ส่งเสริมให้มีการทอผ้าพื้นเมืองของชาวเขาที่มีเอกลักษณ์ประจำเผ่า  การทำเครื่องประดับพื้นเมืองของชาวเขา  เช่น  เครื่องเงิน  เพื่อขายให้แก่บรรดานักท่องเที่ยว  การส่งเสริมอาชีพให้ชาวเขามีงานทำ  เช่น  การปลูกพืชเมืองหนาวที่ดอยตุง  การนำเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกา  ไม้ดอกเมืองหนาวมาปลูกและพืชต่าง ๆ เช่น  เห็ดหลินจือ  หน่อไม้ฝรั่ง  สตอรอว์เบอร์รี  กล้วยไม้  เป็นต้น
          นอกจากนี้  ทรงให้ความเหลือแก่ชาวเขาและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่นทุรกันดาร  เช่น  ทรงตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่  พอ.สว.  ดูแลสุขภาพอนามัยแก่คนในชนบท  ทรงสนับสนุนให้ตำรวจตระเวนชายแดนทำหน้าที่สอนหนังสือให้แก่ชาวเขาและชาวบ้านอีกทางหนึ่ง  ทรงส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านและชาวเขาโดยเฉพาะเพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น

          4.  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
          สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย  ดังนี้
                    1)  ด้านการส่งเสริมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา  ทรงมีส่วนในการเผยแพร่พระไตรปิฏกสากลสู่โลก  โดย  "มูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้า ฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์"  ซึ่งสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเป็นประธานในการก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์  และ  "กองทุนสนทนาธัมม์นำสุข ฯ ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ฯ"  ได้ร่วมจัดทำพระไตรปิฏกเพื่อพระราชทานและประดิษฐานพระไตรปิฏกในนานาอารยประเทศ  และต่อมาทรงสนับสนุนการจัดทำพระไตรปิฏกเป็นภาษาโรมัน  และได้เผยแผ่พระไตรปิฏกฉบับสากล  ภาษาโรมันชุดสมบูรณ์ 40 เล่มชุดแรกของโลก
                    2)  ด้านอักษรศาสตร์  สมเด็จ ฯ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศมากมาย  เช่น  ภาษาฝรั่งเศส  ภาษาอังกฤษ  ภาษาเยอรมัน  ภาษาละติน  ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนทรงพระปรีชาสามารถทั้งการเขียน  การพูด  การแปลและการสอน  และทรงมีพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ 11 เรื่อง  เช่น  เวลาเป็นของมีค่า  เจ้านายเล็ก ๆ ยุวกษัตริย์  แม่เล่าให้ฟัง  พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5  พระนิพนธ์แปล 3 เรื่อง  เช่น  นิทานสำหรับเด็ก  ราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปน  พระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยว 10 เรื่อง  เช่น  สายอารยธรรมจีน : 7 ธานีแห่งอาณาจักรกลาง ภูฏาน : เกาะเขียวบนแผ่นดิน  ซินเจียและกานซู : ภาพจากดินแดนสุดหล้าฟ้าเขียว  และพระนิพนธ์บทความทางวิชาการ 1 เรื่อง  พระนิพนธ์เหล่านี้ให้ทั้งความรู้  ความบันเทิง  และยังเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาด้านอักษรศาสตร์ของไทยด้วย
                    3)  ด้านศิลปวัฒนธรรม  สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ทรงรับโรงละคนเล็ก  "นาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก"  (โจหลุยส์)  ไว้ในพระอุปถัมภ์  เมื่อ พ.ศ. 2550  เป็นการสืบสานหุ่นละครเล็กที่มหรสพเก่าแก่ของไทย
                    กล่าวโดยสรุป  ปัจจุบันวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยอันมีคุณค่าต่อคนไทยหลายอย่างได้เกิดการสูญหายหรือถูกละเลย  อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัย  เช่น  การเปลี่ยนแปลงของสังคม  การรับวัฒนธรรมต่างชาติ  ทัศนคติและค่านิยมของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป  ดังนั้นเยาวชนรุ่นใหม่จึงควรตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยและร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาให้คงอยู่สืบไป