เหตุใดญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศในคศ 1854

การเมือง-การค้า-แผ่ศาสนา-หาอาณานิคม ผลกระทบต่อญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างสำคัญที่จะให้เห็นว่า บทบาทของนักเผยแผ่ศาสนาคริสต์ มีผลรุนแรงทางการเมือง และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์มากมายเพียงใด

ในช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อโปรตุเกสและ สเปนเข้าไปค้าขายที่ญี่ปุ่น นักสอนศาสนาก็เข้าไปกับเรือสินค้าด้วย

ตอนนั้นพวกขุนนางและทหารที่อยากได้สินค้าและยุทโธปกรณ์ของฝรั่ง ก็พากันเอาอกเอาใจคณะนักสอนศาสนาและช่วยปกป้องคุ้มครองศาสนาคริสต์ (ทั้งนี้เพราะเรือสินค้าของฝรั่งบางทีก็วางท่าออกมาว่าจะไม่ยอมเข้าจอดในเมืองท่าที่ขุนศึกไม่แสดงไมตรีสนับสนุนงานของมิชชันนารี)

ที่สำคัญยิ่งก็คือ ในญี่ปุ่นยุคนั้น พระสงฆ์นิกายสำคัญในพุทธศาสนามหายานได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง มีอิทธิพลมากถึงกับมีกองทหารของตนเอง และท้าทายอำนาจของขุนศึก

ในที่สุดขุนศึกโอดะ โนบุนากะ (Oda Nobunaga) ได้ปราบปรามทำลายวัดเอนริวกุ (Enryaku) ศูนย์กลางใหญ่ของนิกายเทนไดลงได้ และใช้เวลาสู้รบถึงกว่า ๑๐ ปี จึงทำให้วัดฮองอัน (Hongan) ของนิกายอิกโก (Ikko) ยอมแพ้

ขุนศึกโนบุนากะได้ยึดทรัพย์สินของวัดใหญ่นั้น และเพื่อตัดทอนอิทธิพลทางการเมืองของวัดพุทธศาสนา เขาได้หันมาส่งเสริมการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ต่อมาไม่นาน ฝ่ายญี่ปุ่นเกิดล่วงรู้ขึ้นมาว่านักสอนศาสนาคริสต์ทำงานช่วยการยึดครองอาณานิคม ดังที่ฝรั่งเขียนไว้ว่า (“Tokugawa period,” Britannica, 1997)

เมื่อเกิดรู้ขึ้นมาว่า การแผ่ขยายอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกสในทวีปเอเชีย สำเร็จได้ด้วยอาศัยผลงานของพวกมิชชันนารี เหล่าโชกุนแห่งยุคโตกุกาวะ (Tokugawa) ก็จึงมองพวกมิชชันนารีว่าเป็นภัยคุกคามต่อการปกครองของตน

การที่พวกขุนศึกญี่ปุ่นเกิดรู้ขึ้นมาได้นี้ คงจะเป็นเพราะพวกประเทศนักล่าอาณานิคม ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ต่างนิกายกัน มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันและอิจฉาริษยากันเอง จึงลอบบอกแก่ผู้ปกครองบ้านเมืองของญี่ปุ่น ดังความว่า1

...งานสอนศาสนาคริสต์ถูกสั่งห้ามทั้งหมด เมื่อพวกโปรเตสแตนต์ชาวอังกฤษและชาวฮอลันดา เตือนรัฐบาล(ญี่ปุ่น) ให้รู้ถึงความที่พวกคาทอลิกชาวสเปน และชาว โปรตุเกสมีใจมุ่งหมายอยากได้ดินแดน

แต่มีเอกสารของญี่ปุ่นเล่าไว้อย่างอื่นอีก ซึ่งน่าจะเป็นได้ว่า ทางการของญี่ปุ่นคงจะได้รอดูเพื่อสืบสาวเรื่องราวจนแน่ใจ

ดังมีเรื่องที่คนญี่ปุ่นเล่าว่า ครั้งหนึ่ง มีนายเรือสเปนคนหนึ่ง ต้องการจะให้ชาวญี่ปุ่นยำเกรงอำนาจแห่งประเทศของตน ได้พูดว่า “พระมหากษัตริย์คาทอลิกทรงส่งพระคุณเจ้าเหล่านี้มาเผยแพร่ศาสนา เพื่อเปลี่ยนศาสนาชาวเมืองเสียก่อน แล้วจึงจะร่วมมือกับนายทัพของพระมหากษัตริย์เจ้า ช่วยให้ยึดครองแผ่นดินได้ง่ายในภายหลัง”

ขุนศึกที่ครองอำนาจสืบต่อมาหลังจากโนบุนากะ ได้หันกลับไปเป็นปฏิปักษ์ต่อนักสอนศาสนาคริสต์

ต่อมาก็ได้สั่งห้ามการสอนศาสนาคริสต์และถึงกับทำการกำจัดกวาดล้าง (persecution) อย่างรุนแรง เพื่อถอนรากถอนโคนศาสนาคริสต์ออกจากประเทศญี่ปุ่น และในที่สุดก็ขับไล่ชาวตะวันตกออกจากประเทศ และห้ามคนญี่ปุ่นเดินทางออกนอกประเทศ หรือกลับเข้ามา

จากนั้นญี่ปุ่นก็เข้าสู่นโยบายปิดประเทศ (policy of national seclusion) ตั้งแต่ ค.ศ.1633 จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาส่งนายพลเปอร์รี (Commodore Matthew C. Perry) นำเรือรบมาบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศค้าขายติดต่อกับตะวันตกอีก ใน ค.ศ.1853-1854

ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปิดประเทศอย่างยาวนานเกือบ ๒๕๐ ปี ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า เป็นระยะเวลาแห่งความสงบสุขมั่นคง และมีความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกเรือรบอเมริกันบังคับให้เปิดประเทศ ญี่ปุ่นก็ได้รู้ตัวว่าประเทศของตนล้าหลังตะวันตกในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก จนไม่มีกำลังจะขัดขืนการขู่บังคับได้

จากนั้นญี่ปุ่นก็เร่งรัดปรับปรุงประเทศชาติให้เจริญอย่างสมัยใหม่แบบตะวันตก จนประสบความสำเร็จภายในเวลาอันรวดเร็ว

1Pictorial Encyclopedia of Japanese Culture (Tokyo: Gakken Co., Ltd., 1987), p.62

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

2020/2/12

สมัยโบราณ

จากการค้นคว้าทางโบราณคดีพบว่ามีผู้อาศัยอยู่บนหมู่เกาะญี่ปุ่นกว่า 100,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินทวีปเอเชีย คนโบราณที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะญี่ปุ่นในยุคหินเก่า (Paleolithic) หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ และเก็บของป่า ในยุคหินใหม่ (Neolithic) เมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้วก็ได้มีการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำจากหินด้วยความประณีต มีการพัฒนาวิธีการล่าสัตว์โดยใช้คันธนูและลูกธนู ตลอดจนมีการผลิตภาชนะเครื่องปั้นดินเผาใส่อาหารและเก็บรักษาอาหาร ยุคประมาณ 8,000 ปี ถึง 300 ปี ก่อนคริสตศักราชเรียกว่า สมัยโจมน ตามรูปแบบเครื่องปั้นดินเผาโจมนที่มีลวดลายเป็นเชือก

ประมาณ 300 ปีก่อนคริสตศักราช ผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะญี่ปุ่นได้เริ่มเรียนรู้การทำการเกษตร ได้แก่ การปลูกข้าวเป็นอันดับแรกและวิธีการทำเครื่องใช้โลหะจากทวีปเอเชีย ชาวญี่ปุ่นใช้เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยเหล็กที่ใช้ในการเพาะปลูกในชีวิตประจำวัน เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และใช้ดาบที่ทำด้วยทองแดงและกระจกในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การจัดแบ่งงานทำให้ช่องว่างระหว่างผู้ปกครองดินแดนและผู้อยู่ใต้การปกครองกว้างขึ้น ในช่วงนี้รัฐเล็กๆ จำนวนมากได้ก่อตัวขึ้นทั่วประเทศ ยุคสมัยระหว่าง 300 ปีก่อนคริสตศักราชจนถึง ค.ศ.300 เรียกว่า สมัยยาโยอิ ตามเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้แกนหมุนในการขึ้นรูปที่ผลิตกันในช่วงเวลานั้น

รัฐเล็กๆ เหล่านั้นค่อยๆ รวมตัวกัน และในศตวรรษที่ 4 กลุ่มผู้มีความเข้มแข็งทางการเมืองซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ยามาโตะ (ปัจจุบันคือจังหวัดนารา) ได้มีอำนาจปกครองประเทศตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 จนถึงศตวรรษที่ 6 มีการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมขนานใหญ่ และวัฒนธรรมจีนรวมทั้งลัทธิขงจื๊อและศาสนาพุทธได้เผยแพร่เข้ามาในประเทศญี่ปุ่นผ่านทางเกาหลี ถึงปลายศตวรรษที่ 4 ได้มีการติดต่อระหว่างญี่ปุ่นกับอาณาจักรบนคาบสมุทรเกาหลี ศิลป อุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การทอผ้า งานโลหะ การฟอกหนัง และการต่อเรือ ซึ่งแต่แรกเริ่มมีการพัฒนาในประเทศจีนภายใต้ราชวงศ์ฮั่นได้เริ่มเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นโดยผ่านทางเกาหลี

ญี่ปุ่นได้รับเอาตัวอักษรแบบจีนซึ่งมีรากฐานมาจากอักษรภาพมาใช้ และโดยผ่านทางสื่อตัวอักษรนี้เอง ชาวญี่ปุ่นได้เรียนความรู้เบื้องต้นทางการแพทย์ การใช้ปฏิทินและดาราศาสตร์ ตลอดจนปรัชญาของลัทธิขงจื๊อ ศาสนาพุทธได้เข้ามาในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.538 จากประเทศอินเดียโดยผ่านทางจีนและเกาหลี ผู้ปกครองประเทศญี่ปุ่นได้ถือระบบการปกครองของจีนเป็นแนวทางในการสร้างระบบการปกครองของตน

เมืองหลวงถาวรแห่งแรกของญี่ปุ่นได้รับการสถาปนาขึ้นที่เมืองนาราในตอนต้นศตวรรษที่ 8 เป็นเวลานานกว่า 70 ปี คือตั้งแต่ ค.ศ.710 ถึง ค.ศ.784 พระราชวงศ์อิมพีเรียลของญี่ปุ่นประทับอยู่ที่เมืองนาราโดยตลอดและขยายอำนาจไปทั่วประเทศทีละน้อย ก่อนหน้านั้นได้มีการย้ายเมืองหลวงซึ่งเป็นที่ประทับบ่อยครั้งภายในเขตแดนที่ในปัจจุบันคือเมืองนารา เกียวโต และโอซากา

เมืองหลวงใหม่ซึ่งเลียนแบบเมืองหลวงของประเทศจีนในสมัยนั้น ได้รับการสถาปนาที่เมืองเกียวโตเมื่อปี ค.ศ.794 และได้เป็นที่ประทับของพระราชวงศ์เป็นเวลานานเกือบ 1,000 ปี การย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองเกียวโต นับเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยเฮอันซึ่งดำรงอยู่ต่อมาจนถึง ค.ศ.1192 และเป็นสมัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยหนึ่งของการพัฒนาทางด้านศิลปะในประเทศญี่ปุ่น การติดต่อกับประเทศจีนหยุดชะงักลงในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 และอารยธรรมญี่ปุ่นเริ่มที่จะมีลักษณะและรูปแบบเป็นของตนเอง

สิ่งเหล่านี้นับเป็นกระบวนการของการผสมกลมกลืนและการปรับเปลี่ยน โดยที่สิ่งต่างๆ ซึ่งญี่ปุ่นรับมาจากภายนอกค่อยๆ กลายเป็นรูปแบบของญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ตัวอย่างที่เห็นได้โดยทั่วไปของกระบวนการนี้ คือการพัฒนาของตัวอักษรญี่ปุ่นในสมัยเฮอัน ความซับซ้อนของการเขียนของจีนทำให้นักเขียนและพระคิดค้นรูปพยางค์ขึ้นสองระบบโดยยึดรูปแบบอย่างของจีน ภายในกลางสมัยเฮอัน ได้มีการปรับปรุงพยัญชนะที่เรียกกันว่า คานะ (kana) และนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง นับเป็นการเปิดทางให้แก่งานเขียนที่มีรูปแบบเป็นของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง และมีการใช้กันอย่างแพร่หลายแทนถ้อยคำสำนวนที่ยืมมาจากภาษาจีน

ชีวิตในเมืองหลวงเป็นชีวิตที่หรูหราและสะดวกสบาย ขณะที่ราชสำนักใช้เวลาทั้งหมดไปกับศิลปะและความสุขทางสังคม อำนาจที่เคยมีเหนือกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการทหารในหัวเมืองต่างๆ ก็เริ่มจะคลอนแคลน อำนาจในการควบคุมอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพได้หลุดมือไป และได้กลายเป็นสิ่งล่อใจสำหรับสองตระกูลทหารที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน ได้แก่ ตระกูล มินะโมะโตะและไทระ ซึ่งเป็นตระกูลที่สืบทอดเชื้อสายมาจากจักรพรรดิองค์ก่อนๆทั้งสองตระกูล ตระกูลมินะโมะโตะและไทระได้ต่อสู้ในการรบที่โด่งดังที่สุด และมีความรุนแรงมากในยุคกลางอันวุ่นวายสับสนของญี่ปุ่น ในที่สุดตระกูลมินะโมะโตะเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยได้ทำลายล้างตระกูลไทระจนพินาศในศึกดันโนอุระ (Battle of Dannoura) อันเกริกก้องและเลื่องลือ ในการรบกันที่ทะเลอินแลนด์ใน ค.ศ.1185


 

ยุคศักดินา

ชัยชนะของตระกูลมินะโมะโตะแสดงถึงความเสื่อมของบัลลังก์อำนาจทางการเมืองของจักรพรรดิอย่างแท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองโดยระบอบศักดินา ภายใต้การปกครองของโชกุน หรือผู้ปกครองทางการทหารที่สืบต่อกันมา 700 ปี

ในปี ค.ศ.1192 โยริโตะโมะ หัวหน้าตระกูลมินะโมะโตะที่เป็นผู้ชนะสงครามได้สถาปนาระบบโชกุน หรือรัฐบาลทหาร ที่เมืองคามากุระใกล้กับนครหลวงโตเกียวในปัจจุบันและยึดอำนาจบริหารบางประการที่เคยเป็นอำนาจของจักรพรรดิในกรุงโตเกียว และเพื่อต้านสิ่งที่ถือว่าเป็นความเสื่อมของเกียวโตที่ได้ฝักใฝ่ในสันติภาพ โชกุนที่เมืองคามากุระได้สนับสนุนความมัธยัสถ์อดออมและศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ตลอดจนความมีระเบียบวินัยซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะฟื้นฟูอำนาจการควบคุมทั่วทั้งแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพกลับคืนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการทหารในจังหวัดที่อยู่ไกลออกไป สมัยคามากุระ ซึ่งเป็นชื่อเรียกยุคของระบบโชกุนของโยริโตะโมะเป็นยุคที่มีแนวคิดในเรื่องของความกล้าหาญและรักเกียรติยศ (bushido) ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของซามูไร

ในปี ค.ศ.1213 อำนาจที่แท้จริงได้เปลี่ยนมือจากตระกูลมินาโมะโตะไปยังตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นตระกูลทางภรรยาของโยริโมะโตะโดยเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน ตระกูลโฮโจค้ำจุนรัฐบาลที่เมืองคามากุระไว้ได้จนถึง ค.ศ.1333 ในระหว่างนั้นกองทัพมองโกลบุกกิวชิวตอนเหนือถึง 2 ครั้ง ในปี ค.ศ.1274 และ ค.ศ.1281 ถึงแม้ว่าจะมีอาวุธที่ด้อยกว่าแต่นักรบญี่ปุ่นก็สามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้และป้องกันไม่ให้ผู้รุกรานบุกลึกเข้าไปตอนในของประเทศ หลังจากที่กองทัพเรือส่วนใหญ่ของชนเผ่ามองโกลประสบความเสียหายอย่างหนักจากพายุใต้ฝุ่นในการบุกญี่ปุ่นทั้งสองครั้ง กองทัพมองโกลจึงได้ถอยทัพไปจากญี่ปุ่น

การฟื้นฟูอำนาจการปกครองโดยจักรพรรดิมีขึ้นในช่วงสั้นๆ ตั้งแต่ ค.ศ.1333 จนถึง ค.ศ.1338 ตามมาด้วยรัฐบาลทหารชุดใหม่ซึ่งสถาปนาโดยตระกูลอาชิคางะ ที่มุโรมาจิในกรุงเกียวโต สมัยมุโรมาจิดำเนินต่อมากว่า 200 ปี ตั้งแต่ ค.ศ.1338 จนถึง ค.ศ.1573 ในยุคนี้ระเบียบวินัยที่เคร่งครัดของลัทธิบูชิโดแสดงให้ปรากฎทั้งในด้านความงามทางศิลปะและศาสนา และมีอิทธิพลลึกล้ำต่อศิลปะของประเทศ ลักษณะเด่นซึ่งคงอยู่แม้ในปัจจุบันนี้คือลักษณะของความอดกลั้น และความเรียบง่าย

หลังจากที่ได้ปกครองประเทศมา 200 ปี ระบบโชกุนที่ มุโรมาจิ ต้องเผชิญกับการท้าทายอำนาจที่เพิ่มขึ้นทุกทีจากกลุ่มผู้มีอำนาจทางการทหารหลายกลุ่มที่เป็นคู่แข่งในภาคอื่นๆ ของประเทศ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศญี่ปุ่นเพราะบรรดาขุนนางที่หัวเมืองต่างทำสงครามเพื่อชิงความเป็นใหญ่ โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ขุนพลผู้ยิ่งใหญ่เป็นผู้ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยได้ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.1590 ในปี ค.ศ.1592 และ ค.ศ.1597 โทโยโตมิ ได้บุกประเทศเกาหลี แต่ไม่สำเร็จทั้งสองครั้งเนื่องจากเผชิญการต่อต้านของเกาหลีและจีน โตกุงาวะ อิเอยะสึ ผู้สถาปนาระบบโชกุนโตกุงาวะเป็นผู้เสริมสร้างประเทศญี่ปุ่นต่อจากที่โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ได้รวบรวมเป็นปึกแผ่นให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในช่วงระยะเวลาของสงครามกลางเมืองนี้เอง ปราสาทที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นหลายแห่งก็ถูกสร้างขึ้น

ความเป็นเอกภาพในการแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว (sakoku)

อิเอยะสึตั้งตนเป็นผู้ปกครองญี่ปุ่นทั้งประเทศที่มีอำนาจอย่างแท้จริง โดยขึ้นดำรงตำแหน่งโชกุนที่เมืองเอโดะ ซึ่งปัจจุบันคือกรุงโตเกียวในปี ค.ศ.1603 ซึ่งเป็นจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โชกุนอิเอะยะสึได้สร้างแบบแผนแทบจะทุกแง่มุมของวิถีชีวิตของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันทางการเมืองและสังคมให้เป็นแบบอย่างต่อมาอีก 265 ปี

การที่โชกุนโตกุงาวะดำเนินการปิดประเทศจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิงในปี ค.ศ.1639 นับเป็นวิธีหนึ่งที่จะรักษาเสถียรภาพของโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่อิเอะยะสึได้ก่อตั้งขึ้น ชาวตะวันตกกลุ่มแรกได้เดินทางมาถึงชายฝั่งญี่ปุ่นในศตวรรษก่อนคือในสมัยมุโรมาจิ พ่อค้าชาวโปรตุเกสขึ้นบกที่เกาะเล็กๆ เกาะหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1543 โดยได้นำอาวุธปืนเข้าในประเทศญี่ปุ่น อีกไม่กี่ปีต่อมาคณะผู้สอนศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกนำโดยนักบุญ ฟรานซิส ซาเวียร์ ตลอดจนชาวสเปนอีกหลายกลุ่มได้เดินทางเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น กลุ่มพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ และอังกฤษก็ได้เข้ามาตั้งรกรากในแผ่นดินญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

การหลั่งไหลเข้ามาของชาวยุโรปมีผลกระทบต่อญี่ปุ่นอย่างมาก คณะผู้สอนศาสนาทำให้ชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนศาสนากันมาก โดยเฉพาะทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โชกุนตระหนักดีว่าศาสนาคริสต์อาจจะมีอานุภาพในการทำลายทัดเทียมกับอาวุธปืนที่เข้ามาในญี่ปุ่น ในที่สุดได้มีการสั่งห้ามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น และโชกุนโตกุงาวะได้ออกคำสั่งห้ามชาวต่างชาติทุกคนเข้าประเทศญี่ปุ่น ยกเว้นกลุ่มพ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ถูกจำกัดบริเวณอยู่ที่เกาะเดจิมะที่อ่าวนางาซากิ ตลอดจนชาวจีนจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ที่นางาซากิ และทูตจากราชวงศ์ลีของประเทศเกาหลีที่เดินทางมาญี่ปุ่นเป็นครั้งคราว เป็นเวลา 250 ปีที่ญี่ปุ่นได้ติดต่อกับโลกภายนอกผ่านกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น นักวิชาการญี่ปุ่นได้รับความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแพทย์ตะวันตกและวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ๆ โดยผ่านทางกลุ่มพ่อค้าที่เมืองเดจิมะในระหว่างระยะเวลาแห่งการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวอันยาวนานของประเทศ

การฟื้นฟูระบบการปกครองที่มีพระจักรพรรดิเป็นประมุข

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นตกอยู่ภายใต้ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เปิดประเทศสู่โลกภายนอก อีกทั้งโครงสร้างทางสังคมและการเมืองอันเข้มงวดที่อิเอยะสึเป็นผู้กำหนดขึ้นภายในประเทศญี่ปุ่น ก็เริ่มที่จะทำให้เกิดความตึงเครียดอันเนื่องมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ในปี ค.ศ.1853 พลเรือจัตวา แมทธิว ซี เพอร์รี่ แห่งสหรัฐอเมริกา นำกองเรือ 4 ลำเข้ามาในอ่าวโตเกียว พลเรือจัตวาแมทธิวกลับมาอีกครั้งในปีถัดมา และประสบความสำเร็จในการชักจูงให้ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีกับประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปีเดียวกันนั้นเอง ญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับประเทศรัสเซีย อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นการเปิดประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง สี่ปีต่อมาสนธิสัญญาเหล่านี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสนธิสัญญาทางการค้า และญี่ปุ่นได้ลงนามในสนธิสัญญาทำนองเดียวกันนี้กับประเทศฝรั่งเศสด้วย

ผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านี้ เพิ่มความกดดันแห่งกระแสทางสังคมและการเมือง ซึ่งกัดกร่อนรากฐานของโครงสร้างระบบศักดินาทีละน้อย ความวุ่นวายครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นกินเวลาประมาณทศวรรษ จนกระทั่งระบบศักดินาของโชกุนโตกุงาวะได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1867 และได้ถวายอำนาจอธิปไตยทั้งมวลคืนพระจักรพรรดิในการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration) ในปี ค.ศ.1868

สมัยใหม่

สมัยเมจิ (1868-1912) เป็นสมัยที่เด่นที่สุดสมัยหนึ่งในบรรดาประวัติศาสตร์ของประเทศ ภายใต้การปกครองของสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ ญี่ปุ่นได้บรรลุความสำเร็จในการพัฒนาประเทศโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ กล่าวคือการสร้างสรรค์ประเทศให้เข้าสู่ยุคใหม่ด้วยอุตสาหกรรม พัฒนาสถาบันทางการเมืองและรูปแบบของสังคมแบบใหม่ ทั้งที่ประเทศตะวันตกต้องใช้เวลาพัฒนานานนับศตวรรษ

ในช่วงปีแรกๆ ของการครองราชย์ สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทางย้ายเมืองหลวงจากกรุงเกียวโตไปอยู่ที่เมืองเอโดะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐบาลระบบศักดินาที่ผ่านมา และได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงเป็นโตเกียว ซึ่งแปลว่า "เมืองหลวงตะวันออก" มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตลอดจนตั้งคณะรัฐมนตรี และสถาบันนิติบัญญัติระบบสองสภา ยกเลิกการแบ่งชนชั้นแบบเก่าของสมัยศักดินา ญี่ปุ่นทั้งประเทศทุ่มเทพลังงานและความกระตือรือร้นในการศึกษาและรับอารยธรรมตะวันตกมาใช้

การปฏิรูปเมจิเหมือนกับการทลายของเขื่อนที่กอปรด้วยพลังและแรงผลักดันสะสมมานับศตวรรษ ต่างชาติเองรู้สึกถึงความรุนแรงและความตื่นตัวที่เกิดจากการปลดปล่อยพลังเหล่านี้ออกมาในฉับพลัน ก่อนจะสิ้นศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามจีน-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ.1894-95 ซึ่งลงเอยด้วยชัยชนะของญี่ปุ่น ผลของสงครามคือญี่ปุ่นได้ไต้หวันมาจากจีน สิบปีต่อมาญี่ปุ่นประสบชัยชนะอีกครั้งหนึ่งในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ.1904-05 และยึดได้ซัคคาลินตอนใต้ ซึ่งยกให้รัสเซียเมื่อปี ค.ศ.1875 เพื่อแลกกับเกาะคูริล และทำให้ชาวโลกรับรู้ว่าญี่ปุ่นมีความสนใจในดินแดนแมนจูเรียเป็นพิเศษ หลังจากที่ได้กำจัดอำนาจอื่นๆ ที่จะมามีอิทธิพลเหนือเกาหลีแล้ว ในตอนแรกญี่ปุ่นได้จัดการให้เกาหลีเป็นดินแดนในอารักขา และผนวกเกาหลีในเวลาต่อมาคือในปี ค.ศ.1910

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงปกครองประเทศด้วยความเข้าใจถ่องแท้และสร้างสรรค์ ซึ่งการปกครองของพระองค์ช่วยนำประเทศให้ผ่านพ้นช่วงทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง พระองค์เสด็จสวรรคตในปี ค.ศ.1912 ก่อนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อสงครามโลกครั้งนี้สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก โดยญี่ปุ่นได้เข้าร่วมสงครามโลกเนื่องจากได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับประเทศอังกฤษไว้เมื่อปี ค.ศ.1902 สมเด็จพระจักรพรรดิไทโช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ และสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดิไทโชเมื่อปี ค.ศ.1926 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยโชวะ

สมัยโชวะได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งความหวัง อุตสาหกรรมของประเทศยังคงเจริญเติบโตต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง และดูเหมือนว่าการเมืองของญี่ปุ่นหยั่งรากลึกด้วยการปกครองระบบสภา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นเริ่มที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสน ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่มั่นคง ความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองของประชาชนได้ลดน้อยลงหลังจากมีการเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่อง พวกหัวรุนแรงใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในช่วงนี้ และกลุ่มทหารฉวยโอกาสที่เปิดให้พวกตนในช่วงเวลาอันสับสนวุ่นวาย อิทธิพลของพรรคการเมืองค่อยๆ ลดน้อยลง หลังจากเหตุการณ์ลูกั๋วเฉียว (Lugouqiao Incident) ซึ่งก่อให้เกิดสงครามกับจีน พรรคการเมืองเหล่านี้ถูกบีบให้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อความร่วมมือในยามสงคราม และในที่สุดได้มีการยุบพรรคการเมืองทั้งหมด และตั้งพรรคการเมืองแห่งชาติขึ้นมาแทน เนื่องจากสภาไดเอ็ตถูกลดบทบาทจนไม่ต่างจากตรายางเท่าใดนัก ทำให้ไม่มีการคัดค้านจากทางสภานิติบัญญัติเกี่ยวกับกระแสเหตุการณ์ทั้งหลายที่นำไปสู่การเกิดสงครามแปซิฟิกในปี ค.ศ.1941

จาก ค.ศ.1945 จนถึงปัจจุบัน

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นซึ่งเหน็ดเหนื่อยและอ่อนล้าจากลงครามโลกครั้งที่สอง ได้ยอมรับข้อตกลงยอมแพ้สงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร และประชาชนได้วางอาวุธตามพระราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิ เป็นเวลานานกว่า 6 ปี หลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นตกอยู่ใต้การควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร ส่วนใหญ่ได้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภายใต้อำนาจของฝ่ายยึดครองซึ่งนำโดย พลเอกดักลาส แม็คอาเธอร์ ได้มีการดำเนินการปฏิรูปทางสังคมและการเมือง ที่ดินที่ใช้ในการเกษตรถูกนำมาแบ่งสรรใหม่โดยอำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่ครอบครองที่ดินมาก่อน กรรมกรได้รับการยืนยันสิทธิในการจัดตั้งสหภาพและการประท้วงนัดหยุดงาน มีการยุบไซบัทสุรายใหญ่หรือบริษัทคุมหุ้นที่มีรากฐานจากความสัมพันธ์ในครอบครัว สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและยังได้สิทธิอื่นๆ อีกด้วย มีการประกันเสรีภาพในการชุมนุม การพูด และศาสนา ในปี ค.ศ.1947 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเสรี

ในปี ค.ศ.1951 ญี่ปุ่นลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ซานฟรานซิสโก ซึ่งแสดงว่าญี่ปุ่นได้กลับคืนสู่ประชาคมนานาชาติในฐานะที่เป็นรัฐปฏิรูป จากการลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าว ญี่ปุ่นได้สิทธิในการบริหารกิจการต่างประเทศคืนมาหลังจากที่ได้ถูกตัดสิทธิไประหว่างการถูกยึดครอง

งานเร่งด่วนที่สุดประการหนึ่งที่จะต้องดำเนินการหลังสงครามโลก ได้แก่ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ด้วยความสนับสนุนและเห็นอกเห็นใจจากสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศหลายแห่ง ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าเสรีหลายฝ่ายระหว่างประเทศ ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดเสรีของโลกได้เป็นอย่างดี

พร้อมๆ กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ญี่ปุ่นใช้ความพยายามในการปรับปรุงสถานะทางการทูตระหว่างประเทศ เริ่มต้นด้วยเมื่อญี่ปุ่นได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติใน ค.ศ.1956 ญี่ปุ่นได้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการประชุมอภิปรายระหว่างประเทศทางด้านการเมืองตลอดจนเศรษฐกิจและสังคม ในปี ค.ศ.1960 ได้มีการทบทวนสนธิสัญญาทางด้านความมั่นคงที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ.1951 เพื่อจะได้อำนวยประโยชน์ต่อกันและกันยิ่งขึ้น ญี่ปุ่นได้ชำระเงินค่าปฏิกรรมสงครามจนครบภายในกลางทศวรรษที่ 1960 หลังจากการเจรจาหลายครั้งที่ยืดเยื้อ ญี่ปุ่นได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับสาธารรณรัฐเกาหลีในปี ค.ศ.1965 เพียง 20 ปีหลังจากแพ้สงคราม ญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวจากความพินาศอันเกิดจากสงครามได้เกือบจะสมบูรณ์ มหกรรมกีฬาโอลิมปิค เมื่อปี ค.ศ.1964 ที่โตเกียว เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่นใหม่ของชาวญี่ปุ่น และบทบาทของประเทศก็เพิ่มขึ้นในหมู่ประชาคมระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 ญี่ปุ่นมีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศอย่างเห็นได้ชัด พรรคอนุรักษ์นิยมมีเสียงข้างมากในสภาไดเอ็ตเป็นนิจ ยกเว้นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ญี่ปุ่นมีรัฐบาลสังคมนิยมในปี ค.ศ.1947 และ 1948

หลังจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาใหม่ๆ หลายประเภททั้งภายในและภายนอก เมื่อมีความพอใจในปัจจัยจำเป็นในชีวิตแล้ว ประชาชนเริ่มจะแสวงหาเป้าหมายอื่นๆ โดยเฉพาะการปรับปรุงคุณภาพชีวิต นักเรียนนิสิตนักศึกษาแสดงความไม่พอใจต่อโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ประชาชนหลายกลุ่มเรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปัญหามลพิษซึ่งเกิดจากการที่ประเทศมุ่งพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ประชาชนให้ความสนใจเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีอัตราการเติบโตต่ำ ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ มีอิทธิพลอย่างมากต่อชีวิตของชาวญี่ปุ่น โดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และการดำเนินชีวิต ชาวญี่ปุ่นมีค่านิยมที่ต่างกันไปมากขึ้น และชาวญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสำคัญกับการแสดงออกและการแสวงหาเป้าหมายส่วนบุคคล การที่สหรัฐอเมริกาคืนโอกินาวา (เกาะริวกิว และเกาะไดโตะ) ให้ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1972 และการฟื้นสัมพันธไมตรีกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีเดียวกัน จัดว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษที่ 1970 สำหรับบทบาทของญี่ปุ่นในเศรษฐกิจโลก ญี่ปุ่นดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อเปิดตลาดการค้าของตน ในฐานะที่เป็นสมาชิกสำคัญของความตกลงทั่วไปเกี่ยวกับอัตราภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade) และองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development) ซึ่งมุ่งที่จะรักษาการค้าเสรี ทำให้ในปัจจุบันญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในด้านการค้า การเงิน และความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 ญี่ปุ่นเป็นสมาชิกของการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่าง 7 ประเทศทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้เคยจัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ในปี ค.ศ.1979 และ 1986

เมื่อพิจารณาถึงกำลังของประเทศ และความคาดหวังของประเทศอื่นๆ ต่อบทบาทระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นนี้ ดังนั้นจากช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีท่าทีที่แน่ชัดในการขยายความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลก