ข้อใดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินศักยภาพองค์การ ( SWOT Analysis )

‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ทำ SWOT ร้อยครั้ง’ คนที่เรียนบริหารธุรกิจหรือเคยทำงานมาซักพักแล้วคงรู้ดีว่า SWOT (อ่านว่า ‘สวอต’) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย

Show

นั่นก็เพราะว่า SWOT เป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการสื่อสารในองค์กร และก็มีประโยชน์มากในการใช้งาน ในวันนี่เรามาลองศึกษากันว่า SWOT ทำยังไง และวิธีใช้ SWOT ที่คุณอาจจะนึกไม่ถึงทำยังไงได้บ้าง หากใครที่รู้จัก SWOT อยู่แล้วสามารถ คลิกตรงนี้เพื่อข้ามไปวิธีทำ SWOT อย่างถูกต้อง

  • SWOT คืออะไร [SWOT Analysis]
  • SWOT Analysis มีอะไรบ้าง?
  • ทำไมคนถึงนิยมใช้ SWOT
  • ข้อเสียของการวิเคราะห์ SWOT
  • วิธีวิเคราะห์ SWOT ที่ถูกต้อง
    • Strength (จุดแข็ง)
    • Weakness (จุดอ่อน)
    • Opportunity (โอกาส)
    • Threat (อุปสรรค)
  • ขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT
    • #1 เริ่มจากวัตถุประสงค์ของ SWOT
    • #2 ทำความเข้าใจ ธุรกิจ อุตสาหกรรม และ ตลาดต่างๆ
    • #3 เริ่มจากจุดแข็ง
    • #4 วิเคราะห์จุดอ่อน
    • #5 เรียบเรียงโอกาส
    • #6 คำนึงถึงอุปสรรค
    • #7 จัดลำดับความสำคัญของปัจจัยต่างๆ
    • #8 สร้างแผนกลยุทธ์
  • ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ร้าน 7-11
    • Strength จุดแข็งของ 7-11 
    • Weakness จุดอ่อนของ 7-11 
    • Opportunity โอกาสในธุรกิจ 7-11 
    • Threats อุปสรรคที่เข้ามาในธุรกิจ 7-11 
    • แผนกลยุทธ์บทสรุปของการวิเคราะห์ SWOT 7-11
  • วิธีทำ SWOT ที่ดีต้องมีแผนดำเนินการต่อด้วย
  • ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

SWOT (การวิเคราะห์สวอต) คือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพสำหรับการประเมินธุรกิจประกอบด้วย จุดแข็ง จุดอ่อน จากสภาพแวดล้อมภายนอก และ โอกาส อุปสรรค จากสภาพแวดล้อมภายใน หน้าที่ของ SWOT Analysis คือการหาวิธีสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและหลีกเลี่ยงความล้มเหลวจากปัจจัยที่อาจถูกมองข้ามได้ง่าย

เราใช้ SWOT เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพของธุรกิจ โครงการ หรือบุคคล โดยที่ SWOT สามารถแบ่งออกมาเป็น ‘ปัจจัยภายใน’ และ ‘ปัจจัยภายนอก’ (Internal Factors & External Factors)

ปัจจัยภายในของการวิเคราะห์ SWOT ได้แก่ ‘จุดแข็ง’ และ ‘จุดอ่อน’ หมายถึงปัจจัยที่บริษัทสามารถควบคุมได้ เช่นสินค้า พนักงาน หรือวิธีทำการตลาด

และ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ‘โอกาส’ และ ‘อุปสรรค’ หมายถึงปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ (แต่สามารถหลีกเลี่ยงหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้) เช่นสภาวะเศรษฐกิจ คู่แข่ง ราคาวัตถุดิบ หรือนิสัยการซื้อของลูกค้าเป็นต้น

ข้อใดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินศักยภาพองค์การ ( SWOT Analysis )
SWOT คืออะไร [SWOT Analysis]

SWOT Analysis มีอะไรบ้าง?

เรามาลองดูปัจจัยแต่ละอย่างแบบละเอียดมากขึ้นกัน

Strength (จุดแข็ง – ปัจจัยภายใน)

Strength หรือ ตัว S ของ SWOT คือปัจจัยภายในที่เป็น ‘จุดแข็ง’ ขององค์กรที่ทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ทำให้มีความแตกต่าง หรือ ลอกเลียนแบบได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเพราะลงทุนมานานแล้ว มีแบรนด์ที่คนรู้จักมากกว่า เป็นต้น

Weakness (จุดอ่อน – ปัจจัยภายใน)

Weakness หรือ ตัว W ของ SWOT คือปัจจัยภายในที่เป็น ‘จุดอ่อน’ ขององค์กรที่ทำให้มีความได้เปรียบน้อยกว่าคู่แข่ง เป็นปัจจัยด้านลบที่มาจากจุดบกพร่องในองค์กรและควรได้รับการแก้ไข ยกตัวอย่างเช่น องค์กรมีช่องทางการขายน้อยกว่า สินค้ามีคนรู้จักน้อยกว่า หรือความหลากหลายของสินค้าของมีน้อยกว่าเทียบกับคู่แข่ง

Opportunity (โอกาส – ปัจจัยภายนอก)

Opportunity หรือ ตัว O ของ SWOT คือปัจจัยและสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร ที่เป็น ‘โอกาส’ ทำให้เกิดผลดี ที่องค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาหรือทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น คู่แข่งตอนนี้มีข่าวไม่ดีอยู่ รัฐบาลมีโครงการสนับสนุน หรือช่วงนี้ตลาดกำลังขึ้น สินค้าอาจจะขายดี

Threat (อุปสรรค – ปัจจัยภายนอก)

Threat หรือ ตัว T ของ SWOT คือปัจจัยและสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรที่เป็น ‘อุปสรรค’ ทำให้เกิดผลลบ ที่องค์กรต้องก้าวผ่านและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ยกตัวอย่างเช่น คู่แข่งเปิดตัวสินค้าใหม่มาแย่งตลาด หรือ แนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะมาแทนสินค้าเก่าที่ขายดีขององค์กร

การทำ SWOT ส่วนมากจะออกมาในตาราง 2 คูณ 2 ตามภาพข้างล่างครับ หรือถ้าอยากโหลดมาใช้งานก็ กดตรงนี้ได้เลย

ข้อใดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินศักยภาพองค์การ ( SWOT Analysis )

ทำไมคนถึงนิยมใช้ SWOT

ผมคิดว่าข้อดีของการใช้ SWOT ก็คือการที่ทุกคนรู้จักเครื่องมือวิเคราะห์แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ SWOT ในห้องประชุมธุรกิจ หรือในห้องเรียน ทุกคนก็คงรู้จัก …หรือจะบอกว่า SWOT ก็คือ ‘ภาษา’ อย่างหนึ่งที่ใช้ในการบริหารก็ได้

เพราะหากคุณเลือกใช้วิธีคิดแบบอื่นในการวิเคราะห์ต่างๆ คุณก็จำเป็นต้องอธิบายแนวคิดใหม่อีกรอบอยู่ดี ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสื่อสารน้อยลง

ระบบอะไรที่ถูกออกแบบมาดีอยู่แล้วก็ไม่ควรไปเปลี่ยนใช่ไหมครับ?

ข้อดีอีกอย่างของการทำ SWOT ก็คือ SWOT เป็นวิธีที่ทำง่าย แต่มีประโยชน์ครอบคลุมมาก เครื่องมือ SWOT สามารถช่วยแตกปัจจัยต่างๆให้อยู่ในสี่หมวดได้ เพียงแค่นั้นเราก็สามารถนำข้อมูลมาตัดสินใจวิธีบริหารทรัพยากรให้ดีที่สุดได้แล้ว

ในส่วนนี้ผมได้เขียนบทความเรื่องความสำคัญของ SWOT ไว้แยกขึ้นมา หากใครสนใจผมแนะนำให้ลองศึกษาดูนะครับ ทําไมต้องวิเคราะห์ SWOT – ความสำคัญของ SWOT ที่ควรรู้

นอกจากนั้น สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

ข้อเสียของการวิเคราะห์ SWOT

ในวงการธุรกิจมักนิยมพูดว่า ‘กลยุทธ์ไม่สำคัญเท่าการกระทำ’ ต่อให้คุณเก็บข้อมูลเยอะแค่ไหน วางแผนเก่งแค่ไหน ถ้าคุณไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ แผนหรือข้อมูลที่คุณมีอยู่ก็ไม่มีค่าอะไรทั้งนั้น การวิเคราะห์ SWOT ก็เหมือนกันครับ

SWOT เป็นเครื่องมือวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของเราเท่านั้น การวิเคราะห์แบบนี้ทำให้เราเห็นมุมมองทั้งภายในและภายนอกของตัวเองหรือขององค์กร แต่ไม่เพียงพอต่อการนำไปสร้างกลยุทธ์ หมายความว่าผู้ใช้ SWOT จำเป็นต้องนำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อที่จะสร้าง ‘การกระทำ’ ที่มีมูลค่าต่อธุรกิจ 

เครื่องมือ SWOT สามารถใช้ได้ในหลายกรณี ทั้งทำการตลาด การขาย หรือการบริหารธุรกิจเบื้องต้น หากใครสนใจสามารถอ่านบทความของผมเรื่อง เครื่องมือการวิเคราะห์ Five Forces หรือการสร้าง Business Model ที่เหมาะสมกับธุรกิจได้

สิ่งที่คนนิยมมักทำกัน ก็คือนำข้อมูลปัจจัยภายในและภายนอกของ SWOT ออกมาเป็นการกระทำผ่านอีกครั้งหนึ่งที่เรียกว่า TOWS เครื่องมือนี้ใช้งานด้วยการนำข้อมูลภายในและภายนอกมารวมกันเพื่อหาโอกาสที่สามารถใช้จุดแข็งส่งเสริมได้ หรือวิธีลดจุดอ่อนของเราภายใต้อุปสรรคบางอย่าง 

วิธีวิเคราะห์ SWOT ที่ถูกต้อง

เวลาทำ SWOT สิ่งที่คนชอบลืมกันก็คือ ปัจจัยของ SWOT ควรมาจาก ‘ทุกส่วนของธุรกิจ’…หมายความว่าเราควรจะให้พนักงานแต่ละแผนก ระดมสมองช่วยกันทำ SWOT ถึงจะดีที่สุด (ถ้าอ่านไปถึงตอนจบจะมีวิธีที่ลงรายละเอียดมากหน่อย)

คำถามที่เราควรคิดถึงเวลาทำ SWOT มีดังต่อไปนี้

Strength (จุดแข็ง)

ข้อใดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินศักยภาพองค์การ ( SWOT Analysis )

ให้ลองดูว่าธุรกิจของคุณ

  • ข้อได้เปรียบถ้าเทียบกับคู่แข่งคืออะไร
  • ทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่นบ้าง
  • มีอะไรที่แตกต่าง หรือทำได้ถูก หรือเร็วกว่าคู่แข่งไหม
  • คนในอุตสาหกรรมมองว่าธุรกิจคุณมีจุดแข็งอะไรบ้าง
  • อะไรที่ทำให้คุณ ‘ขายได้’
  • จุดขายของคุณคืออะไร

ให้มองจุดแข็งผ่านมุมมองภายในองค์กร และจากมุมมองของคู่แข่ง ลูกค้า หรือคนในอุตสาหกรรมด้วย เราต้องเข้าใจว่า จุดแข็งคือสิ่งที่ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ถ้าทุกคนผลิตสินค้าตามมาตรฐานหมด นั่นไม่ใช่จุดแข็งแต่เป็นข้อบังคับของลูกค้า ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณบอกว่าสินค้าคุณภาพดี บริการดี ก็แปลว่าคู่แข่งของคุณมีสินค้าไม่ดี บริการแย่

Weakness (จุดอ่อน)

ข้อใดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินศักยภาพองค์การ ( SWOT Analysis )

นอกจากเรื่องจุดเด่น เราก็ต้องดูจุดอ่อนด้วยว่าธุรกิจของเรา

  • มีส่วนไหนที่ยังพัฒนาได้อีก
  • ควรเลี่ยงส่วนไหนบ้างหรือเปล่า
  • คนในอุตสาหกรรมเห็นว่าส่วนไหนเป็นจุดอ่อน
  • มีอะไรทำให้คุณปิดการขายไม่ได้ หรือ เสียลูกค้า

ผมขอบอกอีกครั้งว่า ควรพยายามมองจากมุมองของคู่แข่ง ลูกค้า หรือคนในอุตสาหกรรมด้วย และเวลาเขียนจุดอ่อน คุณไม่ควรคิดเข้าข้างตัวเองนะครับ บางธุรกิจถึงกับต้องทำแบบสอบถาม เสียเงินหลายแสน เพื่อหาจุดอ่อนของตัวเองแบบที่มีอคติน้อยที่สุด

Opportunity (โอกาส)

ข้อใดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินศักยภาพองค์การ ( SWOT Analysis )

โอกาสเป็นปัจจัยภายนอกที่กว้างมาก ยิ่งคุณรู้เยอะ สามารถตระหนักถึงได้ โอกาสก็จะเยอะขึ้น

  • โอกาสทางธุรกิจส่วนไหนที่คุณสามารถเข้าหาได้ง่าย
  • เทรนธุรกิจอะไรที่สามารถช่วยคุณได้บ้างหรือเปล่า
  • มีการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีบ้างไหม
  • มีการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือการเมืองที่เกี่ยวกับคุณไหม
  • นิสัยและพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนหรือเปล่า
  • กิจกรรมหรือเหตุการณ์อะไรที่สามารถกระทบเราได้บ้างไหม

การวิเคราะห์โอกาสที่ดีคือการเริ่มดูจากจุดแข็งของเราก่อน และดูว่าจุดแข็งแต่ละอย่างสามารถช่วยคุณในโอกาสใหม่ๆได้แค่ไหน แน่นอนว่า คุณก็สามารถดูจุดอ่อนเพื่อหา ‘โอกาสในการลดจุดอ่อน’ ของคุณได้เช่นกัน

Threat (อุปสรรค)

ข้อใดเป็นปัจจัยที่สำคัญในการประเมินศักยภาพองค์การ ( SWOT Analysis )
  • ตอนนี้มีอุปสรรคอะไรบ้าง
  • คู่แข่งคุณทำอะไรอยู่
  • มีการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานอุตสาหกรรมของการทำงาน สินค้า หรือ บริการของคุณหรือเปล่า
  • มีเทคโนโลยีใหม่อะไรที่จะกระทบธุรกิจคุณได้ไหม
  • จุดอ่อนอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจคุณได้ไหม

เวลาคุณวิเคราะห์ โอกาสและอุปสรรค คุณสามารถใช้ PESTLE Analysis (การวิเคราะห์ PESTLE) เพื่อช่วยในการดูปัจจัยภายนอกได้ครับ

ขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT

ถึงแม้ว่า SWOT จะเป็นเครื่องมือง่ายๆที่ใช้วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสอุปสรรค แต่หากเราไม่ทำการวิเคราะห์ตามขั้นตอน ผลลัพธ์ของการทำ SWOT ก็อาจจะออกมาไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ผมเลยได้แยกขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT ออกมาเป็น 8 ขั้นตอนที่ทุกคนทำได้

#1 เริ่มจากวัตถุประสงค์ของ SWOT

วัตถุประสงค์ของ SWOT จะเป็นตัวบอกว่าปัจจัยต่างๆแบบไหนสามารถแก้ปัญหาหรือทำตามวัตถุประสงค์ได้ดีที่สุด ซึ่งก็จะช่วยให้เราเลือกปัจจัยต่างๆมาสร้างเป็นแผนกลยุทธ์ได้ง่ายมากขึ้นภายหลัง

ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถใช้การวิเคราะห์ SWOT เพื่อหาวิธีเพิ่มยอดขาย หาวิธีตีตลาดสินค้าใหม่ หรือหาวิธีเปลี่ยนแปลงระบบทำงาน

#2 ทำความเข้าใจ ธุรกิจ อุตสาหกรรม และ ตลาดต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก เราก็ต้องเริ่มเขียนจากการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะเริ่มทำ SWOT จริงๆ เราก็ควรทำการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจธุรกิจอุตสาหกรรมและตลาดของคุณ 

ให้มองในมุมมองที่หลากหลาย โดยพูดคุยกับคู่ค้าทางธุรกิจและลูกค้าของคุณ และทำการวิจัยตลาดเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งของคุณด้วย

คุณสามารถรวบรวมคนจากหลายฝ่ายมาช่วยระดมสมองในส่วนหลังจากนี้ เช่น หากคุณอยากจะวิเคราะห์ธุรกิจของคุณ คุณก็อาจจะนำคนจากแผนกการตลาด การบริหาร การเงิน หรือแม้แต่ลูกค้าสัมพันธ์มาช่วยได้ด้วยเช่นกัน เพราะยิ่งคุณมีคนช่วยระดมสมองเยอะ คุณก็จะมีไอเดียเยอะ

#3 เริ่มจากจุดแข็ง

ผมมองว่า จุดแข็ง (ที่เป็นข้อดีจากปัจจัยภายใน) เป็นสิ่งที่เริ่มเขียนได้ง่ายที่สุด เพราะจุดแข็งเป็นสิ่งที่เราน่าจะเข้าใจตัวเองดีที่สุด ซึ่งตัวอย่างอาจรวมถึงจุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ทรัพยากรทางการเงิน ทำเลที่ตั้งธุรกิจของคุณ ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่างๆ และความสามารถในการแข่งขัน

ในขั้นตอนนี้ของการวิเคราะห์ SWOT เราไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปอย่างชัดเจนก็ได้ ให้เขียนข้อดีจุดแข็งต่างๆเป็นรายการออกมาก่อน ซึ่งในขั้นตอนที่ 7 เราจะทำการจัดลำดับความสำคัญใหม่อีกที

#4 วิเคราะห์จุดอ่อน

หลังจากที่เราเขียนจุดแข็งเสร็จแล้ว เราก็แค่เปลี่ยนมุมมองมาวิเคราะห์เรื่องจุดอ่อนต่อ (หมายถึงสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของคุณเสียเปรียบผู้อื่น) จุดอ่อนอาจรวมถึงการมีสต็อกน้อยไม่พอขาย พนักงานลาบ่อย หรือการขายของไม่มีแบรนด์

อย่าลืมว่าจุดแข็งและจุดอ่อน เป็นปัจจัยที่ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งของคุณและกับตัวคุณในอดีต หากคุณบอกว่าคุณมีเงินหมุนน้อย แต่ทุกคนก็มีน้อยหมด สิ่งนี้ก็ไม่ใช่จุดอ่อนเท่าไร ในขณะเดียวกันหากเมื่อก่อนคุณมีเงินหมุนเยอะ แต่เดี๋ยวนี้คุณมีเงินหมุนน้อยลงก็ถือว่าเป็นจุดอ่อนได้

#5 เรียบเรียงโอกาส

เป็นการวิเคราะห์โอกาสภายนอกที่เป็นไปได้สำหรับธุรกิจของคุณ ข้อเน้นย้ำก็คือที่ ‘เป็นไปได้’ เพราะโอกาสไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงเสมอ เพียงแต่โอกาสต้องมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดบ้าง อย่างไรก็ตามของบางอย่างเช่น การเปิดตัวคู่แข่งใหม่ก็อาจจะเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา เช่น คู่แข่งอาจจะมาแย่งลูกค้า หรือจะมาร่วมกันทำแคมเปญพร้อมกันก็ได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งอย่างก็ไม่ควรถูกระบุว่าเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคพร้อมกัน

โอกาสอาจรวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ คู่ค้าใหม่ๆ การสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น

#6 คำนึงถึงอุปสรรค

คือการเขียนปัจจัยภายนอกที่อาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดปัญหากับธุรกิจของคุณ ให้มองว่าเป็นสิ่งตรงข้ามกับปัจจัยโอกาสด้านบนก็ได้

ตัวอย่างเช่น คู่แข่งคนใหม่ นโยบายภาครัฐที่ไม่ได้สนับสนุน หรือค่าเงินตราต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

#7 จัดลำดับความสำคัญของปัจจัยต่างๆ

หากเรามองว่าขั้นตอนด้านบนเป็นขั้นตอนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เราต้องคิดนอกกรอบเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ เราก็ต้องใช้ตรรกะและความคิดวิเคราะห์มากขึ้นในส่วนี้

ในส่วนนี้คุณควรที่จะมีรายการจุดอ่อนจุดแข็งโอกาสอุปสรรคมาจากขั้นตอนที่ผ่านๆมาแล้ว ซึ่งในส่วนนี้คุณจำเป็นที่จะต้องจัดอันดับความสำคัญ เพื่อที่จะดูว่าปัจจัยใดสำคัญที่สุด สามารถให้เป็นตัวเลขระหว่าง 1 ถึง 10 จากไม่สำคัญไปถึงสำคัญที่สุดของแต่ละปัจจัยก็ได้ 

เช่นปัจจัยภายนอกส่วนคู่แข่งอาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด ส่วนปัจจัยเรื่องพนักงานลาออกบ่อยอาจจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด (แต่หากเรามีหลายปัจจัยที่สำคัญเท่าๆกันก็ไม่เป็นไร เพียงแต่เราต้องพิจารณาว่าเรามีทรัพยากรเพียงพอหรือเปล่าที่จะปฏิบัติตาม)

#8 สร้างแผนกลยุทธ์

หากคุณอ่านมาถึงขนาดนี้ ผมคงพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า SWOT ที่ดีนั้นต้องมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่สามารถทำได้จริง

จากรายการจุดอ่อนจุดแข็งโอกาสอุปสรรคทั้ง 4 อย่างนั้น ให้ลองพิจารณาดังนี้

1. เราจะสามารถใช้จุดแข็งเพื่อเป็นโอกาสเราได้หรือเปล่า
2. เราจะสามารถใช้จุดแข็งเพื่อแก้อุปสรรคต่างๆได้หรือเปล่า
3. เราจะสามารถลดจุดอ่อนด้วยโอกาสต่างๆได้หรือเปล่า
4. เราจะสามารถลดจุดอ่อนด้วยการก้าวผ่านอุปสรรคได้หรือเปล่า

ในส่วนนี้หากคุณยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ก็สามารถศึกษาเรื่องการทำ TOWS ที่จะเป็นการสร้างแผนกลยุทธ์หลังจากการทำ SWOT โดยเฉพาะนะครับ คู่มือการทำ TOWS

ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ร้าน 7-11

7-11 (บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด) ถือว่าเป็นร้านสะดวกซื้อที่คนไทยทุกคนรู้จักกันดี และเป็นบริษัทในเครือ CP ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 7-11 มีสาขามากถึง 11,712 สาขา และมีจำนวนลูกค้าเฉลี่ย 1,187 คน/วัน/สาขา

โดยในปี 2019 CPALL ได้ประกาศผลประกอบการว่า มีรายได้รวม 571,110 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 22,343 ล้านบาท โดยรายได้เพิ่มขึ้น 8.3% และกำไรเพิ่มขึ้น 6.75% จากปีก่อน (เป็นตัวเลขของ บริษัท CPALL ไม่ใช่ตัวเลขของ 7-11 โดยเฉพาะ)

หากเราเห็นภาพรวมบ้างแล้ว เราลองมาวิเคราะห์ SWOT ของ 7-11 กัน

Strength จุดแข็งของ 7-11 

  • มีหน้าร้านเยอะ สามารถเข้าถึงคนได้ทั่วประเทศ
  • มีเงินลงทุนสูงมาก เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด
  • มีระบบพร้อม ทำงานได้เร็ว ทำได้หลายอย่าง แถมประหยัดค่าใช้จ่าย
  • เป็นร้านที่มีชื่อเสียง คนนึกถึงก่อนเสมอ

Weakness จุดอ่อนของ 7-11 

  • ปรับตัวได้ยาก ค่าใช้จ่ายสูง พนักงานเยอะ ระบบเยอะ
  • สินค้าไม่ได้ราคาถูกมาก หากเทียบกับร้านสะดวกซื้อขนาดเท่าๆกัน
  • การเปิดตอนกลางคืนมีความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มกับเงินลงทุน
  • เป็นร้านดังที่มีระบบดี แต่ยังไม่สามารถตีสนิทลูกค้าได้ดีเท่าร้านในชุมชน

Opportunity โอกาสในธุรกิจ 7-11 

  • เทคโนโลยีใหม่ๆด้านการสื่อสารและการสร้างระบบภายใน
  • เป็นบริษัทในเครือของบริษัทใหญ่ ได้รับการสนับสนุนเยอะ
  • มีคู่ค้าทางธุรกิจเยอะมาก ทำให้ได้รับข้อมูล ข่าวสาร และ การสนับสนุนผ่านความร่วมมือเยอะมาก

Threats อุปสรรคที่เข้ามาในธุรกิจ 7-11 

  • ผลประกอบการของบริษัทขึ้นอยู่กับความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจและทางการเมือง
  • บริษัทถูกกระทบจากคู่แข่งออนไลน์ด้านค้าปลีก
  • การต่อต้านจากประชาชน เรื่องการผูกขาด และทำร้ายธุรกิจชุมชน

แผนกลยุทธ์บทสรุปของการวิเคราะห์ SWOT 7-11

  • 7-11 ควรนำเทคโนโลยีใหม่ๆนำมาประกอบกับวิธีทำธุรกิจ เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวได้ง่ายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพนักงานและกระบวนการต่างๆมากเกินไป
  • 7-11 ควรอาศัยความไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับกลุ่มลูกค้าในแต่ละชุมชน ทำให้สามารถซื้อใจลูกค้าในระยะยาวได้
  • 7-11 ควรใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างตลาดออนไลน์ โดยเน้นทั้งการตลาดออนไลน์ และการค้าขายออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจใหม่ๆเข้ามาแย่งตลาดได้

วิธีทำ SWOT ที่ดีต้องมีแผนดำเนินการต่อด้วย

SWOT เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยภายใน และภายนอกของบริษัทเพื่อให้เราทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น แต่ถึงแม้ว่าเราจะใช้เวลารวบรวมข้อมูล คุยกับลูกค้า หรือสืบเรื่องคู่แข่งมากแค่ไหน ในตอนสุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจ ก็คือการกระทำและผลลัพธ์

หาก SWOT ที่คุณทำมาดูกว้างไป (จนไม่สามารถสร้างกลยุทธ์อะไรที่ชัดเจนได้) คุณสามารถแตกผลการทำ SWOT ออกมาเป็นส่วนย่อย เช่น SWOT สำหรับการตลาด SWOT สำหรับการผลิต หรือ SWOT สำหรับฝ่ายขายได้เป็นต้น

วิธีย่อยข้อมูล SWOT จะบังคับให้เราดูตัวแปรธุรกิจในมุมมองที่แคบลง และช่วยให้เราสร้างแผนการดำเนินการง่ายขึ้น พอคุณได้แผนการดำเนินการของแต่ละแผนกแล้ว คุณค่อยกลับไปทำ SWOT ภาพรวมของบริษัทอีกทีเพื่อให้กลยุทธ์ทุกอย่างทำงานร่วมกันได้

การวิเคราะห์ธุรกิจอย่างสม่ำเสมอและการวางแผนกลยุทธ์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการติดตามการเติบโต จุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ ให้คุณใช้ SWOT ร่วมกับวิธีวิเคราะห์อย่างอื่นเพื่อทำการตัดสินใจของคุณมีความละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิธีวิเคราะห์ SWOT ด้านบนเป็นสิ่งที่ถูกสอนในวิชาบริหารธุรกิจทั่วไป คนส่วนมากน่าจะรู้วิธีทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเราอยากทำให้การวิเคราะห์ SWOT มีประโยชน์มากขึ้น ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราก็อาจจะหันมาดูส่วน ‘ประเมินตัวเลข’ กันหน่อย สำหรับคนที่ชอบทำ SWOT แบบแนววิจัย ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้นะครับ คลิกตรงนี้เพื่อดูตัวอย่าง SWOT เชิงปริมาณ [Quantitative SWOT]

หากใครสนใจศึกษาเรื่องข้อมูลการค้าขาย ทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมแนะนำให้ลองดูอีบุ๊คเล่มนี้ของผมนะครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

  • วิธีการพยากรณ์ยอดขาย (Sales Forecast) แบบง่ายแต่แม่นจริง!
  • STP คืออะไร? วิธีวิเคราะห์ STP? ประโยชน์พร้อมตัวอย่าง
  • ROI คืออะไร? คำนวณ ROI ยังไง? [วิธีการใช้ ROI ที่ดีที่สุด]