Citibank ขายกิจการเมื่อไหร่

Citigroup เตรียมถอนธุรกิจการบริการสำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) ออกจาก 13 ประเทศทั้งยุโรปและเอเชีย โดยมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น
  • การถอนธุรกิจในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการยอมแพ้ทางธุรกิจ แต่เป็นการทำเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการสร้าง Wealth Hub ใน 4 เมืองหลัก ได้แก่ สิงค์โปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  • เหตุการณ์ในลักษณะนี้ในประเทศไทย เคยเกิดขึ้นแล้วกับทาง Standard Chartered โดยมีการขายลูกค้าต่อให้กับธนาคารทิสโก้ (Tisco) และ Citibank ซึ่งส่งผลให้หุ้น Tisco มีราคาสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า ในระยะเวลา 3 ปี

  • รูปบน ของ desktop
    รูปล่าง ของ mobile

    Citibank ขายกิจการเมื่อไหร่

    Citibank ขายกิจการเมื่อไหร่

    Citigroup หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันว่า “Citibank” เตรียมปรับทัพถอนธุรกิจออกจาก 13 ประเทศทั้งในยุโรปและเอเชีย ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น การปรับเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่นี้มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลัง พนักงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าของซิตี้แบงก์ในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง พี่ทุยจะพาไปเจาะลึกกันแบบเข้าใจง่าย ๆ กัน

    ก่อนอื่นเลย พี่ทุยอยากจะพามาทำความรู้จักของลักษณะธุรกิจซิตี้แบงก์กันก่อน..

    ธุรกิจของ “Citibank” แบ่งออกเป็น 2 ธุรกิจใหญ่

    1. การบริการสำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) เราจะเห็นได้อย่างบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์
    2. การบริการสำหรับลูกค้าธุรกิจ (Corporate Banking) อย่างเช่น สินเชื่ออุตสาหกรรม การค้าเงินตราต่างประเทศ การเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์

    ซึ่งการถอนตัวในครั้งนี้ของ Citigroup นั้นจะเป็นการถอนตัวในกลุ่มธุรกิจการบริการสำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) ออกจาก 13 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บาห์เรน, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, รัสเซีย, ไต้หวัน, เวียดนาม และไทย

    อย่างไรก็ตามทั้ง 13 ประเทศนี้ ยังคงให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มลูกค้าสถาบัน ซึ่งเป็นแหล่งที่ให้บริการ Private Banking, การบริหารเงินสด, วาณิชธนกิจ และธุรกิจการค้าขายเงินตรา ต่อไป

    ทำไม Citibank ต้องถอนธุรกิจออกจาก 13 ประเทศ ?

    การถอนตัวของ Citigroup ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากการประกาศงบการเงินในไตรมาสแรกของปี 2021 ที่มีรายได้ลดลง โดยกลุ่มธุรกิจในเอเชียมีรายได้ 4,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020 และรายได้จากทวีปอเมริกาเหนืออยู่ที่ 9,326 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปี 2020

    จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ Jane Fraser ซึ่งเป็น CEO คนใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ทำการปรับกลยุทธ์โดยมีการถอนตัวออกจาก 13 ประเทศเพื่อลดการกระจายตัวในการบริหารงาน และหันไปโฟกัสให้ความสำคัญกับการลงทุนกลุ่ม Wealth โดยจัดตั้ง Wealth Hub ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ซิติแบงก์มีความเชี่ยวชาญมากกว่า

    ทาง บล. เคทีบีเอสที มีการประเมินว่า การประกาศของซิตี้แบงก์ในครั้งนี้ น่าจะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีการรับช่วงต่อมากกว่าธนาคารขนาดเล็ก เพราะกลุ่มลูกค้าของซิตี้แบงก์มีกลุ่มลูกค้าในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่แข็งแกร่ง และสามารถนำไปต่อยอดกับกลุ่มลูกค้าประเภท Wealth ได้ และมองว่าธนาคารที่มีศักยภาพในการซื้อกิจการในครั้งนี้ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ เนื่องจากมีเงินสดอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากที่มีการขาย บมจ. ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCB Life) ให้กับกลุ่ม FWD Group ด้วยมูลค่า 92,700 ล้านบาทในปี 2019 ที่ผ่านมา

    การถอนตัวในลักษณะนี้ เคยเกิดขึ้นกับ Standard Chartered ในประเทศไทย

    ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ นั้นได้เข้ามาทำธุรกิจภายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1894 โดยธนาคารชาร์เตอร์ของอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน เข้ามาตั้งสาขาแรกในกรุงเทพฯ จนกระทั่งในปี 2016 ก็ได้เกิดการประกาศถอนตัวออกจากประเทศไทยเฉพาะกลุ่มการบริการสำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Banking) และขายให้กับธนาคารทิสโก้ (Tisco) ในมูลค่าถึง 5.5 พันล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยสินทรัพย์ 4.16 หมื่นล้านบาท และหนี้สินรวม 3.61 หมื่นล้านบาท

    ซึ่งในครั้งนั้น กลุ่มลูกค้าทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อธุรกิจ บริหารความมั่นคงทางการเงิน สินเชื่อจำนอง ประกันภัยของธนาคาร และเงินฝากรายย่อย ได้ถูกขายและโอนต่อให้ธนาคารทิสโก้ (Tisco) จำนวน 200,000 บัญชี รวมถึงการรับโอนสาขาธนาคารและพนักงานราว 300 คน

    โดยหลังจากที่ธนาคารทิสโก้ (Tisco) นำมาดูแลต่อได้เพียง 6 เดือน กลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ก็ได้ถูกนำไปขายต่อให้กับซิตี้แบงก์และในครั้งนี้ก็ถึงคราวของซิตี้แบงก์แล้วที่เป็นการประกาศขาย ซึ่งหลังจากนี้คงต้องมาดูกันต่อไปว่าจะมีธนาคารใดที่ถูกรับช่วงต่อหลังจากนี้

    ผลกระทบต่อราคาหุ้นเป็นอย่างไร ?

    จากราคาหุ้นของ Citi ที่เกิดขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นว่าในภาพรวมของนักลงทุนไม่ได้มองว่าเหตุการณ์นี้ในด้านลบ พร้อมยังมองว่าเป็นเพียงการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับอนาคตเท่านั้น เพราะราคาหุ้น Citi นั้นแทบไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ โดยได้มีการทำ High ไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2021 ที่ราคา 74.45 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ก่อนที่จะลดลงมาเหลือ 71.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งลดลงมาเพียง 3.45% เท่านั้น

    และหากพี่ทุยชวนย้อนอดีตกลับไป สิ่งที่น่าสนใจเมื่อตอนที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์โอนลูกค้าให้กับธนาคารทิสโก้ คือ ในช่วงปี 2016 ราคาหุ้นทิสโก้อยู่ที่ประมาณ 50 บาทต่อหุ้น ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีราคาอยู่ที่ 97.5 บาทต่อหุ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

    เป็นที่น่าสนใจว่า หากมีธนาคารใดมารับช่วงลูกค้าต่อจากซิตี้แบงก์ในครั้งนี้ อาจจะเป็นการสร้างศักยภาพในการเติบโตให้เข้มแข็งต่อไปก็เป็นไปได้เช่นกัน