ละครประเภท ใด ที่ เป็นต้น แบบของละคร ทั้งหมด

                                                    ละครไทย
                          เป็นศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แบ่งออกเป็น ละครรำแบบดั้งเดิม ได้แก่ ละครชาตรี ละครนอก ละครใน และ ละครรำที่ประยุกต์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทาง ละครเสภา ละครสังคีต ละครร้อง ละครพุด ละครเพลง ละครหลวงวิจิตรวาทการ
  ละครชาตรี 
               เป็นละครรำที่เก่าแก่ที่สุด มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  นับเป็นละครชนิดแรก ที่ไทยเริ่มมีการแสดงเป็นเรื่อง มีการร่ายรำตามบทร้องที่มีเนื้อเรื่อง  ระยะแรกเริ่มผู้แสดงเป็นชายล้วน มีตัวละครเพียง ๓ ตัว คือ นายโรง(พระเอก) นาง และตลก หรือจำอวด ซึ่งแสดงเป็นตัวประกอบอื่นๆ ด้วย ตามเนื้อเรื่อง เช่น ฤาษี ม้า ยักษ์ พราน เสนา
                 เรื่องที่แสดง  ละครชาตรีนิยม แสดงเรื่อง มโนห์รา และรถเสน
                 การแต่งกาย  สมัยโบราณผู้แสดงเป็นชายล้วน แต่งกายไม่สวมเสื้อ นุ่งสนับเพลา เชิงกรอมข้อเท้า นุ่งผ้าหยักรั้ง จีบโจงไว้หางหงส์ มีห้อยหน้า เจียระบาด รัดสะเอว สวมสังวาล กรองคอ ทับทรวง ศีรษะสวมเทริด(เซิด)
                 การแสดง  เรื่มด้วยพิธีบูชาครู เป็นการเบิกโรง แล้วจึงโหมโรง ร้องประกาศหน้าบท ร้องขานเอ เป็นการไหว้ครู  นายโรงออกรำซัด พร้อมทั้งว่าคาถาอาคมกันเสนียดจัญไร รำเวียนซ้าย เรียกว่า ชักใยแมงมุม หรือชักยันต์  เริ่มแสดงโดยตัวละครออกนั่งเตียง ตัวละครต้องร้องเอง มีลูกคู่รับ มีคนบอกบท  จบการแสดงจะมีการรำซัดอีกครั้ง พร้อมทั้งว่าอาคมถอยหลัง รำเวียนขวา เรียกว่าคลายยันต์ เป็นการถอนอาถรรพณ์
                ดนตรีประกอบ  มีน้อยชิ้น และเป็นเครื่องเบาๆ เหมาะที่จะขนย้ายร่อนเร่ไปแสดงที่ต่างๆ ดนตรีมีเพียง ปี่ ๑ เลา โทน(ชาตรี) ๑ คู่ กลองเล็ก(กลองชาตรี) ๑ คู่ ฆ้องคู่ ๑ ราง  ละครชาตรีที่มาแสดงในกรุงเทพฯ มักตัดเอาฆ้องคู่ออก ใช้ม้าล่อแทน ซึ่งเป็นประเพณีสืบต่อมา และบางครั้งก็ยังใช้กลองแขกอีกด้วย
               เพลงร้อง  ในสมัยโบราณตัวละครมักจะเป็นผู้ด้นกลอนและร้องเป็นทำนองเพลงร่าย และปัจจุบันเพลงร้องมักมีคำว่า ชาตรี อยู่ด้วย เช่น ร่ายชาตรี ร่ายชาตรีกรับ ร่ายชาตรี ๒ ร่ายชาตรี ๓ รำชาตรี ชาตรีตะลุง
               สถานที่แสดง  ที่บ้าน ที่กลางแจ้ง หรือจะเป็นที่ศาลเจ้าก็ได้ ไม่ต้องมีสิ่งใดประกอบมากมาย ไม่ต้องมีฉาก  บริเวณที่แาดงนอกจากมีหลังคาไว้บังแดดบังฝนตามธรรมดา โบราณใช้เสา ๔ ต้น ปัก ๔ มุม เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเตียง ๑ เตียง จะลงเสากลางซึ่งถือว่าเป็นเสามหาชัยอีก ๑ เสา เสากลางนี้สำคัญมาก (ในสมัยก่อนจะต้องใช้ไม้ชัยพฤกษ์) เป็นเสาที่พระวิสสุกรรมเสด็จมาประทับเพื่อปกป้องผองภัยอันตราย จึงได้ทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้ตรงกลางโรง  เสานี้ใช้เป็นที่ผูกซองคลี (ซองใส่ไม้รบต่าง ๆ) ในภายหลัง เพื่อสะดวกในการแสดงที่ตัวละครจะหยิบได้ตามความต้องการโดยรวดเร็ว
  ละครนอก 
               เป็นละครที่พัฒนามาจากละครชาตรี แต่เดิมคงมีตัวละครเพียง ๓-๔ ตัว อย่างละครชาตรี ต่อมามีการแสดงละครกันอย่างแพร่หลายทั่วไปในหมู่ราษฎร มีการเล่นเรื่องต่างๆ มากขึ้น ต้องเพิ่มตัวละครขึ้นตามเนื้อเรื่อง
ผู้แสดงยังคงเป็นชายล้วน แต่การแต่งกายได้ประดิษฐ์เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงให้ประณีตงามขึ้น
              เรื่องที่แสดง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมเล่นกันหลายเรื่อง ล้วนแต่เป็นประเภทจักรๆ วงศ์ๆ นิทานชาวบ้าน นิทานชาดก มีคติสอนใจ เช่น การเกด  คาวี  ไชยทัต  พิกุลทอง  พิมพ์สวรรค์  พิณสุริยวงศ์  มโนราห์  โม่งป่า  มณีพิชัย  สังข์ทอง  สังข์ศิลป์ชัย  สุวรรณศิลป์  สุวรรณหงส์  โสวัต
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีบทพระราชนิพนธ์ละครนอก ในรัชกาลที่ ๒ อีก ๖ เรื่อง คือ  สังข์ทอง  ไชยเชษฐ์  ไกรทอง  มณีพิชัย  คาวี  สังข์ศิลป์ชัย  ทั้ง ๖ เรื่องนี้ พระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้ละครผู้หญิงของหลวงแสดง
              การแต่งกาย คงแต่งอย่างชาวบ้านธรรมดา เพราะเป็นละครชาวบ้าน เพียงแต่ให้รัดกุมสะดวกในการทำบท และใช้ผ้าโพกหรือห่มพอให้รู้ว่าเป็นหญิงหรือชาย  ต่อมา มีผู้ประดิษฐ์ให้งดงาม ปักดิ้นเลื่อมแพราวพราว ศีรษะสวมชฎาและรัดเกล้า ทั้งรัดเกล้ายอด รัดเกล้าเปลว ตลอดจนปันจุเหร็จ กระบังหน้ารูปต่างๆ
             ผู้แสดง  เริ่มมีผู้หญิงแสดงละครนอก ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แต่เป็นละครหลวง ผู้แสดงต้องเป็นคนแคล่วคล่องว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณชำนาญทั้งรำและร้อง มีลูกคู่รับ  หากเป็นบทเล่าหรือบรรยาย ลูกคู่จะร้อง และผู้แสดงต้องพูดเอง เล่นตลกเอง มีคนบอกบทร้องให้
            การแสดง  ดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว แทรกตลกขบขัน ไม่เคร่งครัดขนบประเพณี ตลกจะเล่นกับเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินและมเหสีก็ได้  การร่ายรำด้วยท่าทางกระฉับกระเฉง ว่องไว
            เพลงร้องและดนตรี  เดิมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลงประกอบการแสดง ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงตามความใหญ่โตของงาน  เพลงร้องส่วนมากเป็นเพลงชั้นเดียว หรือสองชั้นที่มีจังหวะรวบรัด ดำเนินเรื่องด้วยเพลงร่ายนอก ระดับเสียงในการร้องและบรรเลงใช้ทางนอก เหมาะกับเสียงผู้ชาย
            สถานที่แสดง  โรงละครเป็นรูปสี่เหลี่ยมดูได้ ๓ ด้าน (เดิม) กั้นฉากผืนเดียวโดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามท้องเรื่อง มีประตูเข้าออก ๒ ทาง หน้าฉากตรงกลางตั้งเตียงสำกรับตัวละครนั่ง ด้านหลังฉากเป็นส่วนสำหรับละครพักแต่งตัว
  ละครใน 
               เป็นละครที่แสดงในวัง ได้นำวิธีการเล่นเดินเรื่องอย่างละครนอก มาให้เหล่าระบำในพระราชฐานแสดง  โดยนำบทที่เคยแสดงโขนคือเรื่องรามเกียรตื์ และอุณรุท มาแสดงโดยนางในราชสำนัก จึงเรียกว่าละครนางใน หรือละครข้างใน ต่อมาเรียกสั้นๆ ว่า ละครใน
               เรื่องที่แสดง  แสดงเฉพาะ ๓ เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา
               การแต่งกาย  เครื่องแต่งกายประณีตงดงาม ตามแบบของกษัตริย์ เช่น มีมงกุฎ สังวาล ทับทรวง เจียระบาด ห้อยหน้า สนับเพลา พระภูษา ฉลองพระองค์ ฯลฯ
              ผู้แสดง  เดิมเป็นหญิงล้วน ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ มี ละครในผู้ชายแสดง เช่น นายทองอยู่เป็นอิเหนา
              การแสดง  ท่ารำ ต้องประณีตงดงามตามแบบราชสำนัก ละครในมุ่งดูศิลปะการร่ายรำมากกว่าเนื้อเรื่อง
              ดนตรี  ใช้วงปี่พาทย์เหมือนละครนอก ใช้ทางในซึ่งมีระดับเสียงเหมาะกับผู้หญิง และมักเป็นเพลงที่มีลีลา ท่วงทำนองค่อนข้างช้า วิจิตรพิสดาร เหมาะกับลีลาท่ารำ
             เพลงร้อง  ปรับปรุงให้มีทำนองและจังหวะนิ่มนวล สละสลวย ตัวละครไม่ร้องเอง มีต้นเสียงและลูกคู่ มักมีคำว่า “ใน” อยู่ท้ายเพลง เช่น ช้าปี่ใน โอ้โลมใน
             สถานที่แสดง  เดิมแสดงในพระราชฐานเท่านั้น ต่อมาแสดงไม่จำกัดสถานที่
  ละครดึกดำบรรพ์ 
               เป็นละครที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ กำเนิดขึ้น ณ ที่บ้านเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) ตั้งอยู่ระหว่างถนนอัษฎางค์กับถนนบ้านหม้อ ชื่อ ” โรงละครดึกดำบรรพ์ ”
เจ้าพระยาเทเวศน์วงศ์วิวัฒน์ได้เดินทางไปยุโรปในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ และมีโอกาสได้ชมโอเปร่า ซึ่งท่านชื่นชมในการแสดงมาก เมื่อกลับมาจึงคิดทำละครโอเปร่าให้เป็นแบบไทย
นอกจากท่านจะเป็นผู้สร้างโรงละครดึกดำบรรพ์ สร้างเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์การแสดงแล้ว ท่านยังได้รับความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่สำคัญ ได้แก่
              ๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์บทเลือกสรรปรับปรุงทำนองเพลง ออกแบบฉาก และกำกับการแสดง
๒. หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ตาด ตาตะนันทน์) เป็นผู้จัดทำนองเพลงควบคุมวงดนตรีและปี่พาทย์
๓ หลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพรุฬห์) เป็นผู้ควบคุมและฝึกสอนการขับร้อง
๔. หม่อมเข็ม กุญชร ณ อยุธยา ภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เป็นผู้ปรับปรุงและประดิษฐ์ท่ารำ และฝึกสอนให้เข้ากับบทและลำนำทำนองเพลง
              ละครดึกดำบรรพ์ ได้นำออกแสดงครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เนื่องในโอกาสต้อนรับเจ้าชายเฮนรี่ พระอนุชาของสมเด็จพระเจ้ากรุงปรัสเซีย ซึ่งเป็นพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้รับความนิยมตลอดมา  จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ เกิดอาการเจ็บป่วย ถวายบังคมลาออกจากราชการ ทำให้ต้องเลิกการแสดงละครดึกดำบรรพ์ไป นับแต่เริ่มแสดงละครดึกดำบรรพ์จนเลิกการแสดง รวมระยะเวลา ๑๐ ปี
ละครดึกดำบรรพ์ มีลักษณะ ดังนี้
๑.  การแสดงจัดบนเวที มีฉากและเครื่องกลไกประกอบ ให้ผู้ดูรู้ว่าเป็นสถานที่ไหน มีสภาพอย่างไร เวลาใด เกิดปรากฏการณ์ใดขึ้น โดยใช้เทคนิคใหม่ๆ เข้าช่วย
๒.  ใช้ความจริงเป็นหลัก เล่นให้สมจริง
๓.  ไม่มีบทที่กล่าวถึงกิริยาอาการต่างๆ ของตัวละคร เพราะผู้ดูเห็นอยู่แล้วว่าใครทำอะไร มีเฉพาะบทพูดของตัวละคร
๔.  มีการแทรกการอ่านทำนองเสนาะ เช่น อ่านฉันท์ เพลงเด็ก เพลงพื้นเมือง ขับเสภา เห่เรือ ฯลฯ
๕.  การฟ้อนรำมีน้อย เพราะต้องการความรวดเร็ว จึงมีการรำใช้บทเป็นพื้น แต่ฉากสุดท้ายต้องสวยงามกว่าฉากอื่นๆ มักมีฟ้อนรำงามๆ แบบละครใน มีตัวละครมากๆ
๖.  ผู้แสดงต้องรำและพูดเอง ต้องเป็นผู้ที่มีรูปงาม รำงาม และเสียงไพเราะ
๗.  การแต่งกาย แต่งแบบละครใน แต่ไม่นิยมสวมหัวโขน เพราะทำให้ดูงุ่มง่าม จะใช้การเขียนหน้าแทน
๘.  ดนตรีปี่พาทย์ ใช้ปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องใหญ่ แต่ยกเว้น ไม่ใช้เครื่องบางอย่างที่หนวกหู เช่น ระนาดทอง และฆ้องเล็ก
  ละครพันทาง   
       มีลักษณะ ดังนี้
๑.  ดำเนินเรื่องด้วยการร้อง บางครั้งมีต้นเสียง และลูกคู่ร้องทั้งหมดอย่างละครนอก  บางครั้งต้นเสียงร้องบรรยาย ส่วนที่เป็นคำพูดตัวละครร้องเอง ความสำคัญอยู่ที่ถ้อยคำ ทั้งบทร้องและบทเจรจา
๒.  นิยมเล่นเรื่องที่เกี่ยวกับต่างชาติ เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน พระลอ ราชาธิราช ท่ารำ เพลงร้องเลงดนตรี จึงมีลีลาของต่างภาษาตามท้องเรื่อง
๓.  สถานที่แสดง แสดงในโรงบนเวที มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่องอย่างละครดึกดำบรรพ์
๔.  การแต่งกาย แต่งแบบพันทาง คือมีลักษณะผสม แต่งตามเชื้อชาติ และธรรมเนียมของต่างชาติตามท้องเรื่อง
๕.  การขับร้องและบรรเลง ใช้วงปี่พาทย์ไม้นวม ใช้ขลุ่ยแทนปี่ เพิ่มซออู้  เพลงร้องและบรรเลงมักเป็น เพลงภาษา และมี เครื่องภาษา เข้าประสม เช่น กลองจีน ปี่มอญ เปิงมาง ฯลฯ
ละครพันทางนี้ ถ้าเล่นดำเนินเรื่องด้วยการขับเสภา แทนการร้องร่ายนอก เรียกว่า ละครเสภา ได้แก่ ขุนช้างขุนแผน และไกรทอง
  ละครเสภา 
           เสภามีกำเนิดมาจากการเล่านิทาน เมื่อการเล่านิทานเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทำให้เกิดมีการปรับปรุงแข่งขันกันขึ้น  ผู้เล่าบางท่านจึงคิดแต่งเป็นกลอน ใส่ทำนอง มีเครื่องประกอบจังหวะ คือ “กรับ” จนกลายเป็นขับเสภาขึ้น
เสภามีมาแต่โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่ามีขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๑๑  เสภาในสมัยโบราณไม่มีดนตรีประกอบ จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีปี่พาทย์บรรเลงประกอบ
สมัยรัชกาลที่ ๓  นิยมพลงอัตรา ๓ ชั้น เพลงที่ร้องและบรรเลงในการขับเสภา ซึ่งเคยขับเพลง ๒ ชั้น ก็เปลี่ยนเป็น ๓ ชั้นบ้าง และใช้กันมาจนปัจจุบันนี้
สมัยรัชกาลที่ ๕  ได้มีผู้คิดเอาตัวละครเข้าแสดงการรำและทำบทบาท ตามคำขับเสภาและร้องเพลง เรียกว่า “เสภารำ”  สมัยนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กวีช่วยแต่งเสภาเรื่อง นิทราชาคริต เพื่อใช้ขับเสภาในเวลาทรงเครื่องใหญ่  มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงคือ พวกขับเสภาสำนวนแบบนอก คือใช้ภาษาพื้นบ้านมาสนใจสำนวนหลวง
สมัยรัชกาลที่ ๖  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ช่วยกันชำระเสภาขุนช้างขุนแผน แก้ไขกลอนให้เชื่อมต่อกัน และพิมพ์เป็นฉบับหอสมุดแห่งชาติเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นแบบแผนของการแสดงขับเสภา ซึ่งต่อมากลายเป็นละครเสภา
          ผู้แสดง  นิยมใช้ผู้แสดงชายและหญิง ตามบทเสภาของเรื่อง
การแต่งกาย  แต่งกายตามท้องเรื่องคล้ายกับละครพันทาง
           เรื่องที่แสดง  มักจะนำมาจากนิทานพื้นบ้าน เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน ไกรทอง หรือเรื่องจากบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เช่น เรื่องพญาราชวังสัน สามัคคีเสวก
                  การแสดง  ละครเสภาจำแนกตามลักษณะการแสดงไว้ ดังนี้
               ๑.  เสภาทรงเครื่อง  สมัยรัชกาลที่ ๔ วงปี่พาทย์ได้ขยายตัวเป็นเครื่องใหญ่ เมื่อปี่พาทย์โหมโรงจะเริ่มด้วย “เพลงรัวประลองเสภา” ต่อด้วย “เพลงโหมโรง” เช่น เพลงไอยเรศ เพลงสะบัดสะบิ้ง หรือบรรเลงเป็นชุดสั้นๆ เพลงครอบจักรวาล แล้วออกด้วยเพลงม้าย่องก็ได้  มีข้อความสำคัญว่า โหมโรงจะต้องลงด้วยเพลงวา จึงจะเป็นโหมโรงเสภา เมื่อปี่พาทย์โหมโรงแล้ว คนขับก็ขับเสภาไหว้ครูดำเนินเรื่อง  จากนั้นร้องส่งเพลงพม่าห้าท่อน แล้วขับเสภาคั่น ร้องส่งเพลงจระเข้หางยาวแล้วขับเสภาคั่น ร้องส่งเพลงสี่บทแลัวขับเสภาคั่น ร้องส่งเพลงบุหลันแล้วขับเสภาคั่น  ต่อไปไม่มีกำหนดเพลง คงมีสลับกันเช่นนี้ตลอดไป จนจวนหมดเวลา จึงส่งเพลงส่งท้ายอีกเพลงหนึ่ง เดิมใช้เพลงกราวรำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นอกทะเล เต่ากินผักบุ้ง หรือพระอาทิตย์ชิงดวง  เดิมบรรเลงเพลง ๒ ชั้น ต่อมาประดิษฐ์เป็นเพลง ๓ ชั้น ที่เรียกว่า เสภาทรงเครื่อง คือ การขับเสภาแล้วมีร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ
          ๒.  เสภารำ  เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕  กระบวนการเล่น มีคนขับเสภาและเครื่องปี่พาทย์ บางครั้งก็ใช้มโหรีแทน  มีตัวละครออกแสดงบทตามคำขับเสภา และมีเจรจาตามเนื้อร้อง  เสภารำมีแบบสุภาพและแบบตลก  ผู้ริเริ่มคือ ขุนรามเดชะ (ห่วง) บางท่านว่า ขุนราม (โพ) กำนันตำบลบ้านสาย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเล่าลือกันว่าขับเสภาดี ผู้แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา  สมัยรัชกาลที่ ๖ ขุนสำเนียงวิเวกวอน (น่วม บุณยเกียรติ) ร่วมกับนายเกริ่นและนายพัน คิดเสภาตลกขึ้นอีกชุดหนึ่งเลียนแบบขุนช้างขุนแผน โดยแสดงเรื่องพระรถเสนตอนฤาษีแปลงสาร
         ดนตรี  มักนิยมใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าบรรเลง และมีกรับขยับประกอบการขับเสภา
เพลงร้อง  มีลักษณะคล้ายละครพันทาง แต่จะมีการขับเสภาซึ่งเป็นบทกลอนสุภาพ แทรกอยู่ในเรื่องตลอดเวล
      สถานที่แสดง  แสดงในโรงบนเวที มีการเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่องอย่างละครดึกดำบรรพ์ ละครสังคีต
                 คำว่า “สังคีต” หมายถึง การรวมเอาการฟ้อนรำและการละคร พร้อมทั้งดนตรีทางขับร้อง และดนตรีทางเครื่องด้วย  ละครสังคีตหมายถึง ละครที่มีทั้งบทพูดและบทร้องเป็นส่วนสำคัญเสมอ จะตัดอย่างใดอย่างหนึ่งออกไม่ได้
ละครสังคีตเป็นละครที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มขึ้น โดยมีวิวัฒนาการจากละครพูดสลับลำ ต่างกันที่ละครสังคีตมีบทสำหรับพูด และบทสำหรับตัวละครร้องในการดำเนินเรื่องเท่าๆ กัน
                ผู้แสดง   ใช้ผู้ชายและผู้หญิงแสดงจริงตามเนื้อเรื่อง
การแต่งกาย  แต่งตามสมัยนิยม คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของฐานะตัวละครตามเนื้อเรื่อง และความงดงามของเครื่องแต่งกาย
               เรื่องที่แสดง  นิยมแสดงบทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มี 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องหนามยอกเอาหนามบ่ง ทรงเรียกว่า “ละครสลับลำ” เรื่องวิวาหพระสมุทร ทรงเรียกว่า “ละครพูดสลับลำ” เรื่องมิกาโดและวั่งตี่ ทรงเรียกว่า “ละครสังคีต”
               การแสดง  มุ่งหมายที่ความไพเราะของเพลง ตัวละครจะต้องร้องเองคล้ายกับละครร้อง แต่ต่างกันที่ละครร้องดำเนินเรื่องด้วยบทร้อง การพูดเป็นเจรจาทวนบท ส่วนละครสังคีตมุ่งบทร้องและบทพูดเป็นหลักสำคัญในการดำเนินเรื่อง เป็นการแสดงหมู่ที่งดงาม ในการแสดงแต่ละเรื่องจะต้องมีบทของตัวตลกประกอบเสมอ และมุ่งไปในทางสนุกสนาน
            ดนตรี  บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม
          เพลงร้อง  ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง 2 ชั้น มีลำนำที่ไพเราะ  ละครร้อง
               ละครร้องเป็นศิลปะการแสดงแบบใหม่ ที่กำเนิดขึ้นในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ปรับปรุงขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากละครต่างประเทศ  ต้นกำเนิดละครร้องมาจากการแสดงของชาวมลายู เรียกว่า “บังสาวัน” ได้เคยเล่นถวายรัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรครั้งแรกที่เมืองไทรบุรี และต่อมาละครบังสาวันได้เข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ โรงที่เล่นอยู่ที่ข้างวังบูรพา  พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงแก้ไขปรับปรุงเป็นละครร้องเล่นที่โรงละครปรีดาลัย  คณะละครนี้ต่อมาได้เปลี่ยนเรียกชื่อว่า “ละครหลวงนฤมิตร” บางครั้งคนยังนิยมเรียก “ละครปรีดาลัย” อยู่  ต่อมาเกิดคณะละครร้องแบบปรีดาลัยขึ้นมากมาย เช่น คณะปราโมทัย  ปราโมทย์เมือง  ประเทืองไทย  วิไลกรุง  ไฉวเวียง  เสรีสำเริง  บันเทิงไทย  นาครบันเทิง
ได้นิยมกันมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7  และครั้งหลังสุด คือ โรงละครนาคบันเทิงของแม่บุนนาค กับโรงละครเทพบันเทิงของแม่ช้อย
               นอกจากนี้ได้กำเนิดละครร้องขึ้นอีกแบบหนึ่ง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงดัดแปลงละครของชาวตะวันตกจากละครอุปรากรที่เรียกว่า “โอเปอเรติก ลิเบรตโต” มาเป็นละครในภาษาไทย และได้รับความนิยมอีกแบบหนึ่ง
ละครร้องจึงแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1.  ละครร้องสลับพูด ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
2.  ละครร้องล้วนๆ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 6)
               ผู้แสดง ละครร้องสลับพูด ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน ยกเว้นแต่ตัวตลก หรือจำอวด ใช้ผู้ชายแสดง
ละครร้องล้วนๆ ใช้ผู้ชายและผู้หญิงแสดงจริงตามเนื้อเรื่อง
              การแต่งกาย ละครร้องสลับพูด แต่งตามฐานะของตัวละคร
ละครร้องล้วนๆ แต่งแบบละครพันทาง หรือตามลักษณะของตัวละครในเรื่อง
              เรื่องที่แสดง  ละครร้องสลับพูด แสดงเรื่อง ตุ๊กตายอดรัก ขวดแก้วเจียระไน เครือณรงค์ กากี ภารตะ สาวเครือฟ้า
ละครร้องล้วนๆ แสดงเรื่อง สาวิตรี
             การแสดง ละครร้องสลับพูด มีทั้งบทร้องและบทพูด ยึดถือการร้องเป็นส่วนสำคัญ มีลูกคู่คอยร้องรับอยู่ในฉาก ยกเว้นแต่ตอนที่เป็นการเกริ่นเรื่องหรือดำเนินเรื่อง ลูกคู่จะเป็นผู้ร้องทั้งหมด
ละครร้องล้วนๆ ตัวละครขับร้องโต้ตอบกัน และเล่าเรื่องเป็นทำนองแทนการพูด ดำเนินเรื่องด้วยการร้องเพลงล้วนๆ ไม่มีบทพูดแทรก มีเพลงหน้าพาทย์ประกอบอิริยาบถของตัวละคร  จัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง ใช้เทคนิคอุปกรณ์แสงสีเสียง เพื่อสร้างบรรยากาศให้สมจริง
            ดนตรี ละครร้องสลับพูด  บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม หรืออาจใช้วงมโหรีประกอบ ในกรณีที่ใช้แสดงเรื่องเกี่ยวกับชนชาติอื่นๆ
ละครร้องล้วนๆ  บรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ไม้นวม
           เพลงร้อง ละครร้องสลับพูด  ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง 2 ชั้น ในกรณีที่ตัวละครร้องใช้ซออู้คลอตามเบาๆ เรียกว่า ร้องคลอ
ละครร้องล้วนๆ  ใช้เพลงชั้นเดียวหรือเพลง 2 ชั้น ที่มีลำนำทำนองไพเราะ
           สถานที่แสดง  ละครร้องสลับพูด และละครร้องล้วนๆ มักแสดงตามโรงละครทั่วไป
 ละครพูด
               ละครพูดเริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการแสดงละครพูดสมัครเล่นเป็นครั้งแรก เนื้อเรื่องละครพูดที่แสดงในสมัยนี้ ดัดแปลงมาจากบทละครรำที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
พ.ศ. 2422 หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ลิลิตนิทราชาคริต จบบริบูรณ์แล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาคม “แมจิกัลโซไซเอตี” โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นนายกสมาคมจัดการแสดงละครเรื่องนี้ขึ้น ทรงเป็นผู้กำหนดตัวละครเอง โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นทิวากรวงษ์ประวัติ เป็นอาบูหะซัน พระองค์เจ้าจิตรเจริญ คือ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เป็นตัวนางนอซาตอล
พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงละครเรื่องอิเหนาในงานเฉลิมพระราชมนเทียร พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ละครที่แสดงในครั้งนี้เป็นละครรำ แต่มีบทเจรจาที่ทรงพระราชนิพนธ์เองบ้าง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรและเจ้านายพระองค์อื่นๆ แต่งถวายบ้าง
พ.ศ. 2447 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษา และเสด็จนิวัติประเทศไทยแล้ว ทรงตั้ง “ทวีปัญญาสโมสร” ขึ้นในพระราชอุทยานสราญรมย์ แต่ในสมัยเดียวกันนี้ได้มีการตั้ง “สามัคยาจารย์สโมสร” ซึ่งมีเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานอยู่ก่อนแล้ว  กิจกรรมของ 2 สโมสรที่คล้ายคลึงกัน คือการแสดงละครพูดแบบใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากละครตะวันตก  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงมีส่วนร่วมในกิจการการแสดงละครพูดของทั้ง 2 สโมสรนี้ จึงได้ถวายพระเกียรติว่าทรงเป็นผู้ให้กำเนิดละครพูด
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคทองของละครพูด ประชาชนให้ความสนใจต่อละครประเภทนี้มาก เพราะเห็นว่าเป็นของแปลกและแสดงได้ง่าย  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนละครพูดอย่างดียิ่ง ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดที่ดีเด่นเป็นจำนวนมาก และทรงร่วมในการแสดงด้วยหลายครั้ง
     ละครพูดแบ่งได้เป็นประเภทใหญ่ๆ คือ
1. ละครพูดล้วนๆ หรือละครพูดแบบร้อยแก้ว
2. ละครพูดแบบร้อยกรอง
3. ละครพูดสลับลำ
     ผู้แสดง
ละครพูดล้วนๆ ในสมัยโบราณใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมานิยมใช้ผู้แสดงเป็นชายล้วน ต่อมานิยมใช้ผู้แสดงชายจริงหญิงแท้
ละครพูดแบบร้อยกรอง ใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง มีบุคคลิกและการแสดงเหมาะสมตามลักษณะที่บ่งไว้ในบทละคร น้ำเสียงแจ่มใสชัดเจนดี เสียงกังวาน พูดฉะฉาน ไหวพริบดี
ละครพูดสลับลำ ใช้ผู้แสดงทั้งชายและหญิง เหมือนละครพูดแบบร้อยกรอง
     การแต่งกาย
ละครพูดล้วนๆ  แต่งกายตามสมัยนิยม ตามเนื้อเรื่องโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของตัวละคร
ละครพูดแบบร้อยกรอง  แต่งให้เหมาะสมถูกต้องตามบุคคลิกของตัวละคร และยุคสมัยที่บ่งบอกไว้ในบทละคร
ละครพูดสลับลำ  การแต่งกายเหมือนละครพูดล้วนๆ หรือแต่งกายตามเนื้อเรื่อง
     เรื่องที่แสดง
ละครพูดล้วนๆ เรื่องที่แสดงเรื่องแรก คือ เรือง”โพงพาง” เมื่อ พ.ศ. 2463 เรื่องต่อมาคือ “เจ้าข้าสารวัด” ทั้งสองเรื่อง เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

Share this:

  • Twitter
  • Facebook

Like this:

Like Loading...

ละครในเป็นละครประเภทใด

น. ละครรำแบบหนึ่ง เดิมเป็นละครเฉพาะของพระมหากษัตริย์ ตัวละครเป็นหญิงล้วน เครื่องแต่งตัวและกระบวนรำประณีตงดงาม ดนตรีไพเราะ แสดงเฉพาะ ๓ เรื่อง คือ อิเหนา รามเกียรติ์ และอุณรุท.

ละครที่เป็นต้นกำเนิดของละครรำทุกชนิดคือละครใด

1. ละครชาตรี เป็นละครที่เกิดก่อนละครชนิดอื่นๆ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แสดงเรื่อง พระรถเสนและ พระสุธนมโนรา ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมแสดงมาก จึงเรียกกันอีกอย่างว่า โนราชาตรี ในการแสดงจะมีตัวละครเพียง 3 ตัว คือ ตัวนายโรง ตัวนาง และตัวตลก 2. ละครนอก เป็นละครที่พัฒนามาจากละครชาตรีโดยเพิ่มตัวแสดงให้มากขึ้น ใช้ผู้ชายแสดงล้วน

บทละครมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

10.ประเภทละคร -- ละครไทยแบ่งได้4ประเภท -- ละครชาตรี ละครนอกและละครใน -- ละครดึกดำบรรพ์ ละครพันทางและละครเสภา

ละครพันทางอยู่ในประเภทใด

ละครพันทางเป็นละครแบบผสม ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์รัชกาลที่4ทรงปรับปรุงการแสดงขึ้น มีลักษณะดังต่อไปนี้ ละครพันทางเป็นละครที่แสดงบนเวทีเปลี่ยนฉากตามเนื้อเรื่อง เรื่องตอนนั้นเป็นสถานที่ใด สวน ท้องพระโรง ห้องนอน หรือที่ใด ก็เขียนและจัดให้เป็นสถานที่นั้น