ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

ลิลิตตะเลงพ่าย

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

 

ความเป็นมา

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรกเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงพระนิพนธ์ขึ้นเพื่อจารึกลงบนแผ่นหินอ่อนและนำไปประดับไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามอีกทั้งยังแต่งขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมายเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ชนะการศึกยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕  ดังความว่า “เฉลิมพระเกียรติผ่านเผ้า เจ้าจักรพรรดิแผ่นสยาม สมญานามนฤเบศ นเรศวรนรินทร์...”

ประวัติผู้แต่ง

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นโอรสองค์ที่ ๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ กับเจ้าจอมมารดาจุ้ย ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๕ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๓๓๓ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าวาสุกรี” เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๔๕ สมัยรัชกาลที่ ๑ พระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรและศึกษาอยู่ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม สมัยรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงผนวชเป็นภิกษุ  เป็นพระราชาคณะและอธิบดีสงฆ์ ได้สมญานาม “สุวัณณรังษี” และ “กรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตยวงศ์” ตลอดรัชกาลที่ ๓ สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อนให้ดำรงตำแหน่ง “สกลมหาสังฆปรินายก” และเลื่อนพระอิสริยยศสูงสุดเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส”

พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทั้งคดีโลกและคดีธรรม อีกทั้งยังเชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ มีผลงานพระนิพนธ์ต่างๆมากมาย เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉัน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก ๑๑ กัณฑ์  เป็นต้น พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์เจ้านายหลายพระองค์ เช่น รัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๔ พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๖ รวม ๖๔ พรรษา

ลักษณะคำประพันธ์

ลิลิตตะเลงพ่าย แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทลิลิตสุภาพ โดยแต่งสลับกันระหว่างร่ายสุภาพและโคลงสุภาพ รวม ๔๓๙ บท แบ่งเป็นโคลงสองสุภาพ ๔๕ บท โคลงสามสุภาพ ๑๐ บท โคลงสี่สุภาพ ๓๓๕ บท และร่ายสุภาพ  ๔๙ บท ระยะเวลาในการนิพนธ์เริ่มตั้งแต่งปี พ.ศ. ๒๓๕๙ จวบจนจบใน พ.ศ. ๒๓๗๕ รวม ๑๖ ปี

ลักษณะคำประพันธ์ ดังนี้

๑. โคลงสองสุภาพ

โคลงสองสุภาพมีสามวรรค วรรคหนึ่งและวรรคสองมีวรรคละ ๕ คำ วรรคที่สามมี ๔ คำ และคำสร้อย ๒ คำ บังคับเอกโท ดังแผนภูมิ

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

ตัวอย่าง                            

โคลงสองเป็นอย่างนี้       แสดงแก่กุลบุตรชี้

เช่นให้เห็นเลบง                      แบบนา

๒. โคลงสามสุภาพ

โคลงสามสุภาพ วรรคที่หนึ่ง วรรคที่สอง และวรรคที่สาม มีวรรคละ ๕ คำ วรรคที่สี่มี ๔ คำ คำสร้อย ๒ คำ บังคับเอก โท และสัมผัสดังแผนภูมิ

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

ตัวอย่าง

โคลงสามแปลกโคลงสอง  ตามทำนองที่แท้

วรรคหนึ่งพึงเติมแล้                           เล่ห์นี้จึงยล  เยี่ยงเทอญ

๓. โคลงสี่สุภาพ

โคลงสี่สุภาพหนึ่งบทจะมี ๔ บรรทัด บรรทัดหนึ่งเรียกว่า "บาท" เพราะฉะนั้นโคลงสี่สุภาพหนึ่งบท   จะมี ๔ บาท ในบาทหนึ่งจะมี ๒ วรรค วรรคหน้าจะมี ๕ คำ วรรคหลังของบาทที่ ๑ บาทที่ ๒ และบาทที่ ๓ จะมี ๒ คำ ส่วนวรรคหลังของบาทที่ ๔ จะมี ๔ คำ (รวมคำสร้อย) มีบังคับเอก ๗ แห่ง โท ๔ แห่ง ในบาทที่ ๑  วรรคที่ ๑ คำที่ ๔ และ ๕ สามารถสลับตำแหน่งคำเอก คำโท ได้ ดังแผนภูมิ

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

ตัวอย่าง

มากมวนเมิลหมู่ดั้ง         ดาษดา

กันแทรกแซงซ้ายขวา                พรั่งพร้อม

คชค้ำค่ายพังคา                     โดดแล่น

โจมจับขับขี่ห้อม                     แห่ท้าวจากสถาน ฯ

๔. ร่ายสุภาพ

ร่ายสุภาพ วรรคหนึ่งมี ๕ คำ หนึ่งบทจะมีกี่วรรคก็ได้ คำสุดท้ายของวรรคหน้าต้องสัมผัสกับคำที่ ๑,๒ หรือ ๓ ของวรรคต่อไป และจบลงด้วยโคลงสองสุภาพ ดังแผนภูมิ

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

ตัวอย่าง

ศรีสวัสดิเดชะ ชนะราชอรินทร์ ยินพระยศเกริกเกรียง เพียงพกแผ่นฟากฟ้า หล้าล่มเลื่องชัยเชวง เกรงพระเกียรติระย่อ...เถกิงพระเกียรติฟุ้งฟ้า ลือตรหลบแหล่งหล้า โลกล้วนสดุดี ฯ

เนื้อเรื่องย่อ

เนื้อหาลิลิตตะเลงพ่ายมีความยาวมมาก จึงมีการรวบรวมบทประพันธ์ที่รวมไว้เป็นตอน ดังนี้

เริ่มบทกวี

การเริ่มต้นบทกวี หรือบทไหว้ครู บางทีเรียกบทชมพระนคร ซึ่งการชมพระนครนั้นนอกจากจะกล่าวถึงบุญญาธิการและพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์แล้ว ยังกล่าวถึงศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยแทรกไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านสถาปัตยกรรมหรือประติมากรรม บทกวีนี้จะแสดงถึงฝีมืออย่างเต็มที่ในการกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ ลีลาการเขียนบทไหว้ครูจะแสดงความสามารถส่วนตัวของบทกวีแต่ละคนออกมา

บทนำในลิลิตตะเลงพ่าย กล่าวถึงอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้าที่เคารพนับถือทั่วทุกทิศ กล่าวถึงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ แสดงความเคารพนอบน้อมว่าเป็นผู้มีฤทธิ์เกรียงไกร ชนะข้าศึกกล่าวชมความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เมื่อครั้งเหตุการณ์สำคัญที่กรุงศรีอยุธยาทำศึกกับพม่าและเอาชนะได้ กล่าวถึงความร่มเย็นเป็นสุขของบ้านเมืองในสมัยนั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจที่มีอิทธิพลต่อกวี เพราะวรรณคดีเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นถึงความสงบสุขของบ้านเมืองและความเป็นไปของแผ่นดิน

เหตุการณ์ทางเมืองมอญ : พระเจ้าหงสาวดีปรารภจะมาตีเมืองไทย

ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทราบข่าวว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรได้ครองราชย์สมบัติ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงปรึกษาขุนนางทั้งหลายว่า กรุงศรีอยุธยาอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงกษัตริย์ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถพี่น้องอาจชิงความเป็นใหญ่ ควรส่งทัพไปตีเมืองไทยขุนนางทั้งหลายก็เห็นชอบตามพระราชดำรินั้น พรเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงตรัสแก่พระมหาอุปราชาให้เตรียมทัพร่วมกับเจ้านครเชียงใหม่เป็นทัพใหญ่ ๕ แสน พระมหาอุปราชากราบทูลพระราชบิดาว่าโหรทำนายว่าเคราะห์อาจถึงตาย พระเจ้าหงสาวดีจึงได้ตรัสประชดว่า “พระมหาธรรมราชาไม่เสียแรงมีโอรสล้วงเชี่ยวชาญการศึก ไม่เคยย่อท้อต่อสงคราม ไม่เคยพักให้บิดาใช้เลย ต้องห้องเสียอีกและซึ่งเจ้าว่ากลัวเคราะห์ร้ายนั้นอย่าไปรบเลยเอาผ้าสตรีมานุ่งเสียจะได้สร่างเคราะห์” พระมหาอุปราชาได้ฟังก็อับอายยิ่งยักแต่ก็ไม่อาจขัดคำสั่งไม่ได้ ก็เตรียมรี้พลและมีคำสั่งไปถึงเมืองเชียงใหม่ให้จัดทัพทั้ง ๔ เหล่า ยกมาหงสาวดี นอกจากนี้ยังรับสั่งให้หัวเมืองต่างๆ มาช่วยรบ เมื่อทัพต่างๆมาถึงหงสาวดีก็จัดเตรียมทัพหลวงเพื่อจะไปรบเช้าตรู่วันรุ่งขึ้น รับสั่งเสร็จแล้วพระองค์เสด็จเข้าตำหนักด้วยความโศกเศร้า

พระมหาอุปราชาสั่งลาสนมเพ่อไปทำศึก และตรัสปลอบพระสนมว่า พระองค์จำจากไปขออย่าให้นางโศกเศร้าคร่ำครวญเพราะพระองค์ เสร็จการศึกแล้วจะรีบกลับ พอพระสนมได้ฟังรับสั่งต่างพากันร่ำไห้และขอตามเสด็จด้วย เป็นเหตุให้พระมหาอุปราชาเร่าร้อนพระทัยยิ่งขึ้น และคิดที่จะขัดพระบรมราชโองการของพระบิดา แต่ด้วยความกลัวพระอาญาจึงฝืนความโศกเศร้า กว่าจะปลอบพระสนมเสร็จก็เป็นเวลาใกล้รุ่งพอดี

พระมหาอุปราชาเข้าเฝ้าพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเพื่อทูลลาไปทำศึก พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงพระราชทานพรให้มีชัยชนะแก่กรุงศรีอยุธยา แล้วพระราชทานโอวาท ๘ ประการ คือ

๑.                 จงพ่ออย่ายินยล           แต่ตื้น

อย่าลองคะนองตน                  ตามชอบ  ใจนา           (อย่าประมาท)

๒.                 จงแจ้งเหตุแห่งเบื้อง       โบราณ

เป็นประโยชน์ยุทธการ              กล่าวไว้                    (รู้คดีโบราณ)

๓.                 เอาใจทหาร  เริงรื่น       อยู่นา                                (รู้ปลุกใจทหาร)

๔.                 อย่าระคนปนใกล้          เกลือกกลั้วขลาดเขลา     (อย่าขลาด)

๕.                 หนึ่งรู้พยุหเศิกไซร้         สบสถาน                   (รู้กระบวนทัพข้าศึก)

๖.                 รู้เชิงพิชัยชาญ              ชุมค่าย  ควรนา           (รู้วิธีตั้งค่าย)

๗.                 หนึ่งรู้บำเหน็จให้           ขุนพล                      (รู้ปูนบำเหน็จทหาร)

๘.                 อย่าหย่อนพิริยะยล        อย่าเกียจ                   (มีความเพียร)

พอได้รับพรและพระบรมราโชวาทแล้วก็ทูลลา เสด็จทรงช้างชื่อ “พลายพัทธกอ” เคลื่อนกองทัพ ๕ แสน พร้อมด้วยทัพช้าง ม้า พลเดินเท้า พาหนะต่างๆและเกวียน อาวุธต่างๆ ผ่านโขลนทวาร[1]

พระมหาอุปราชายกทัพเข้าเมืองกาญจนบุรี : เส้นทางการเดินทัพของพระมหาอุปราชา

พระมหาอุปราชานำทัพผ่านป่าเขามาอย่างช้าๆ เดินทางเฉพาะเวลาเช้าและเวลาเย็น กลางวันร้อนก็หยุดพักผ่อน เพื่อให้รี้พล ช้าง ม้า ร่าเริงและกล้าหาญ เมืองและตำบลที่ทัพของพระมหาอุปราชาผ่านเรียงลำดับ ดังนี้

๑. เมืองหงสาวดี

๒. ด่านพระเจดีย์สามองค์ ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  เจดีย์องค์หนึ่งอยู่ในเขตมอญ  อีกสององค์อยู่ในเขตไทย เดิมเป็นเพียงก้อนหินรูปเจดีย์ เพิ่งสร้างเป็นเจดีย์จริงในสมัยรัชกาลที่ ๕  นักวิชาการบางท่านบ้างก็ว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร

พอพระมหาอุปราชายกทัพถึงด่านเจดีย์สามองค์  เริ่มเข้าเจตไทยและทรงรำพันถึงนางอันเป็นที่รัก ระหว่างการเดินทางธรรมชาติที่สวยงาม พระองค์ได้คร่ำครวญอยู่ตลอดเวลา

สลัดไดใดสลัดน้อง                   แหนงนอน  ไพรฤๅ

เพราะเพื่อมาราญรอน                        เศิกไสร้

สละสละสมร                                  เสมอชื่อ  ไม้นา

นึกระกำนามไม้                                แม่นแม้นทรวงเรียม

ต้นสลัดไดเหมือนมีสิ่งใดมาพรากน้องไปจนต้องมานอนคนเดียวกลางป่า ต้นสละเหมือนสละนางมา ต้นระกำเหมือนความระกำในอก

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง                ยามสาย

สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                          ห่างเศร้า

กี่คืนกี่วันวาย                                  วางเทวษ  ราแม่

ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                             หยุดได้ฉันใด

ดอกสายหยุดพอสายยังหยุดส่งกลิ่นได้  แต่แม้ว่าจะสายเพียงใดความรักและความเศร้าก็ไม่เคยหายไป กี่คืนกี่วันจะหายจากความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความทรมานจะหมดได้อย่างไร เมื่อใจยังนึกถึงพระสนม 

๓. ตำบลไทรโยครับสั่งให้ตั้งค่าย ทรงปรึกษาแผนการที่จะเข้าตีเมืองกาญจนบุรี แล้วเคลื่อนทัพไปตามแผนการ ฝ่ายกองระวังด่านที่เจ้าเมืองกาญจนบุรีจัดไปสืบเหตุการณ์ในเขตมอญแลเห็นพม่าเดินเลาะทางลำน้ำแม่กษัตริย์ ประกอบด้วยรี้พลมากมาย แลเห็นฉัตร ๕ ชั้น ก็ทราบว่าเป็นพระมหาอุปราชายกทัพมา จึงรีบกลับมารายงายแก่เจ้าเมืองกาญจนบุรี ทุกคนในกาญจนบุรีกลัวจึงพากันหนีเข้าป่า ลอบดูท่าทีของข้าศึก พอเห็นทัพของพม่าเคลื่อนมาทางแม่น้ำลำกระเพิน

๔. ลำน้ำกระเพิน พระยาจิดตองคุมพลสร้างสะพานเรือกไม้ไผ่ข้ามลำน้ำ เจ้าเมืองกาญจนบุรีให้ขุนแผนม้าเร็วไปรายงานสมุหนายกเสนาบดีฝ่ายมหาดไทย เพื่อกราบทูลสมเด็จพระนเรศวร

๕. เมืองกาญจนบุรี  พระมหาอุปราชาเข้ายึดเมืองได้อย่างง่ายดายเพราะไม่มีชาวเมืองแม้แต่ผู้เดียวจนกลายเป็นเมืองร้าง ประทับแรมหนึ่งคืนพระมหาอุปราชาเคลื่อนรี้พลจากเมืองกาญจนบุรี ถึงพนมทวนในเย็นวันนั้น เกิดลมเวรัมภาพัดฉัตรหัก โหรแสร้งทำนายว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ถ้าเกิดในช่วงช้าจะไม่มี แต่ถ้าเกิดในช่วงเย็นจะเป็นศุภนิมิตได้ชัยชนะแก่ข้าศึก

เกิดเป็นหมอกมืดห้อง                เวหา  หนเฮย

ลมชื่อเวรัมภา                                  พัดคลุ้ม

หวนหอบหักฉัตรา                             คชขาด ลงแฮ

แลธุลีกลัดกลุ้ม                                 เกลื่อนเพี้ยงจักรผัน ฯ

เหตุนี้ผิวเช้าชั่ว                       ฉุกเข็ญ

เกิดเมื่อยามเย็นดี                              ดอกไท้

อย่าขุ่นอย่าลำเค็ญ                            ใจเจ็บพระเอย

พระจักลุลาภได้                                         เผด็จเสี้ยนศึกสยาม ฯ

พระมหาอุปราชาไม่เชื่อคำทำนายของโหร ทรงหวั่นพระทัยว่าจะต้องแพ้ข้าศึก และระลึกถึงพระบิดา ถ้าหากสิ้นพระชนม์ พระบิดาจะต้องโศกแน่นอน เพราะไม่มีใครช่วยทำสงคราม แผ่นดินมอญจะต้องพินาศลง

๖. ตำบลตระพังตรุ  เขตจังหวัดกาญจนบุรี ทรงตั้งทัพเป็นแบบดาวล้อมเดือน

๗. ตำบลโคกเผาข้าว  เขตจังหวัดสุพรรณบุรี ได้ปะทะกับทหารไทยเวลา ๐๗.๐๐ น.

สมเด็จพระนเรศวรทรงปรารภเรื่องตีเมืองเขมร

สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกกับขุนนางเพื่อเตรียมทัพไปรบกับเขมร ซึ่งกระทำตนเป็นศัตรูคอยตีไทยซ้ำเติม  เมื่อต้องทำศึกกับพม่าอาจยกมาตีกรุงศรีอยุธยาในระหว่างที่พระองค์ไปทำศึกกับเขมร จึงตั้งพระยาจักรีให้เป็นผู้รักษากรุงศรีอยุธยา  พระองค์ตรัสปลอบใจพระยาจักรีและรี้พลว่า พม่าเพิ่มแพ้ไปเมื่อต้นปีคงไม่ยกทัพมาในปีนี้แน่ ถ้าจะมาก็คงเป็นปีถัดไป

สมเด็จพระนเรศวรทรงเตรียมการขั้นแรกเมื่อทราบข่าวศึกพม่า

ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษาการศึกเขมรแลเตรียมป้องกันกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น ทรงได้ข่าวศึกว่าพม่าจากเมืองกาญจนบุรี จึงตรัสว่าฝ่ายไทยเราเตรียมช้าง ม้า รี้พล จะไปตีเมืองละแวก บัดนี้ทัพหงสาวดีมาชิงรบเสียก่อน ควรยกทัพไปต่อสู้เพื่อชิงชัยชนะ แล้วให้เจ้าเมืองราชบุรีเกณฑ์พล ๕๐๐ ไปตั้งซุ่มอยู่ ถ้าข้าศึกข้ามสะพานลำน้ำกระเพินแล้วให้ตัดสะพานเรือกและเอาไฟทำลายเสีย เมื่อรับสั่งไม่นานก็มีใจแจ้งข่าวศึกจากเมืองสิงห์บุรี  สรรคบุรี  สุพรรณบุรีและวิเศษไชยชาญตามลำดับ

สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถปรึกษาการศึกกับขุนนางผู้ใหญ่ว่าจะรบนอกเมืองหรือตั้งรับอยู่ในเมือง ขุนนางกราบทูลให้ออกไปรบนอกเมือง จากนั้นพระองค์ก็หัวเราะเพราะว่าความคิดเหมือนกันกับพระองค์ จากนั้นมีพระบรมราชโองการให้ทัพหัวเมืองตรี จัตวา หัวเมืองปักษ์ใต้ ๒๓ หัวเมือง รวมพล ๕ หมื่น เป็นทัพหน้า ให้พระยาศรีไสยณรงค์ เป็นแม่ทัพ พระราชฤทธานนท์ เป็นปลัดทัพ ยกไปขัดตาทัพรับหน้าข้าศึกอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย  ตีข้าศึกไม่แตกและต้านทานไม่ไหว พระองค์เสด็จมาช่วยรบทีหลัง แม่ทัพทั้งสองกราบบังคมลาไปตั้งค่ายตรงชัยภูมิสีหนามที่หนองสาหร่ายตามพระราชบัญชา

ปวงทัพปลูกค่ายสร้าง                กลางสมร

ภูมิพยุหไกรสร                                 ศึกตั้ง

เสนาพลากร                                   ต่างรื่น  เริงแฮ

คอยจักยอยุทธ์ยั้ง                              อยู่ถ้าทางเข็ญ

ภูมิพยุหไกรสร : ทำเลตั้งค่าย  ที่เรียกว่า สีหนาม คือ มีต้นไม้ใหญ่ ๓ ต้น กับจอมปลวกใหญ่

หนองสาหร่าย :  ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของอำเภอศรีประจันต์ กว้าง ๒ เส้น ๕ วา  ยาว ๔ เส้น ๑๕ วา อยู่เหนือเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้นไปประมาณ ๑๕๐ เส้น

เส้นทางการเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวร

๑. กรุงศรีอยุธยา

๒. ปากโมก : ทรงสุบินเป็นมงคลนิมิต

๓. บ้านสระแก้ว

๔. บ้านสระเหล้า

๕. หนองสาหร่าย : ตั้งค่ายรูปดอกบัว ตรงชัยภูมิครุฑนาม

สมเด็จพระนเรศวรตรวจเตรียมทัพ : ยกทัพ : ศุภนิมิตครั้งที่ ๑ และ ๒

สมเด็จพระนเรศวรให้โหรหาฤกษ์ พระโหราธิบดี หลวงญาณโยคและหลวงโลกทีป คำนวณฤกษ์ถวายว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จตุรงคโชคอาจปราบข้าศึกให้แพ้ไป ขอเชิญเสด็จยกทัพออกจากพระยคร ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ เวลา ๘.๓๐ น. เมื่อได้มงคลฤกษ์ก็ยกทัพผ่าน โขลนทวาร พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แก่กองทัพ เสด็จทางชลมารคไปประทับแรมอยู่ที่ตำบลปากโมก (ปัจจุบันคือ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง) เมื่อถึงปากโมกได้ทรงปรึกษาการศึกกับขุนนางจนยามที่สามจึงเข้าบรรทม ครั้นเวลา ๔ นาฬิกา พระองค์สุบินเป็นศุภนิมิต มีเรื่องราวว่า พระองค์เห็นน้ำไหลบ่าท่วมป่าสูงทางทิศตะวันตกเป็นแนวยาวสุดสายตา ขณะที่พระองค์ทรงลุยน้ำอันเชี่ยวนั้นก็มีจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งโถมปะทะและจะกัดพระองค์ จึงต่อสู้กันพระองค์ใช้พระแสงดาบฟันจนจระเข้ตาย ทันใดนั้นสายน้ำก็เหือดแห้งไป

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

พอตื่นบรรทมก็ทรงรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินทันที โหรทำนายว่า พระสุบินครั้งนี้เกิดเพราะเทวดาสังหรณ์ให้ทราบเป็นนัย น้ำที่ไหลบ่าทางทิศตะวันตกคือกองทัพพม่า จระเข้ใหญ่คือพระมหาอุปราชา การที่พระองค์เอาชนะจระเข้ได้แสดงว่าศัตรูพระองค์จะสิ้นชีวิตลงด้วยพระแสงของ้าวและที่พระองค์ลุยกระแสน้ำ หมายความว่า พระองค์ทรงบุกเข้าไปในหมู่ข้าศึกจนข้าศึกแตกพ่ายไม่อาจทนต่อพระบรมเดชานุภาพได้

พอใกล้ฤกษ์ยกทัพ สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปยังเกยช้างทรงพระที่นั่งคอยพิชัยฤกษ์อยู่ ทันใดนั้นพระองค์ทอดพระเนตรพระบรมสารีริกธาตุส่องแสงเรืองงามขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยงลอยมาในท้องฟ้าทางด้านทิศใต้ หมุนเวียนรอบกองทัพทักษิณาวรรต ๓ รอบ แล้วลอยวนเวียนไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระพี่น้องทั้งสองพระองค์ปีติยินดีตื้นตันพระทัย ทรงสรรเสริญและนมัสการอธิษฐานให้พระบรมสารีริกธาตุนั้นบันดาลให้พระองค์ชนะข้าศึก และขอเชิญเป็นธงและเป็นฉัตรไปปกป้องเพื่อระงับความเดือดร้อนนำแต่ความสะดวกสบายมาสู่กองทัพ จากตำบลปากโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงช้างชื่อ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” สมเด็จพระเอกาทศรถทรงช้างชื่อ “เจ้าพระยาปราบไตรจักร” ทรงเคลื่อนทัพไปตั้ง ณ หนองสาหร่าย

พระมหาอุปราชาทรงปรึกษาการศึกแล้วยกทัพปะทะทัพหน้าของไทย

นายกองลาดตระเวนพม่า สมิงอะคร้าน สมิงเป่อ และสมิงซายม่วน ได้พบกองทัพไทย จึงไปกราบทูลให้พระมหาอุปราชาทราบว่ากองทัพไทยตั้งกองทัพที่หนองสาหร่ายมีรี้พลประมาณ ๑๗-๑๘ หมื่น พระมหาอุปราชาเห็นว่าจะได้เปรียบเพราะมีกำลังมากกว่า จึงรับสั่งให้เตรียมพลตั้งแต่ ๓ นาฬิกา พอ ๕ นาฬิกา ก็ยกทัพไปตีกองทัพไทยให้แตก ครั้นได้ฤกษ์พระมหาอุปราชาทรงช้างพระที่นั่งพลายพัทธกอ เคลื่อนทัพออกจากตำบลตระพังตรุ

พระยาศรีไสยณรงค์และพระยาราชฤทธานนท์ เมือได้รับพระราชโองการให้ออกโจมตีข้าศึก จังจัดทัพแบบตรีเสนา คือ แบ่งเป็น ๓ ทัพใหญ่ แต่ละทัพแยกออกได้ ๓ กอง กองทัพไทยเคลื่อนทัพออกจากตำบลหนองสาหร่ายถึงตำบลโคกเผาข้าว เวลาประมาณ ๗ นาฬิกา ได้ปะทะกับพม่า ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันด้วยอาวุธชนิดเดียวกันเป็นคู่ๆ ด้วยความสามารถที่มี

สมเด็จพระนเรศวรทรงปรึกษายุทธวิธีเอาชนะข้าศึก : สืบข่าวการรบของทัพหน้า

ขณะที่พราหมณ์ผู้ทำพิธีและผู้ชำนาญไสยศาสตร์ ทำพิธีเบิกประตูป่าและพิธีละว้าเซ่นไก่[2] หลวงมหาวิชัยรับพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ ไปทำพิธีตัดไม้ข่มหนาม[3]ตามไสยศาสตร์  สมเด็จพระนเรศวรได้ยินเสียงปืน ซึ่งไทยกับพม่ากำลังต่อสู้กันอยู่  แต่เสียงอยู่ไกลฟังไม่ชัด จึงให้หมื่นทิพเสนาไปสืบข่าว หมื่นทิพเสนานำขุนหมื่นผู้หนึ่งกราบทูลว่า ทัพไทยถอยร่นอยู่ตลอดเวลาเพราะทัพพม่ามีมาก สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสปรึกษาแม่ทัพคิดหาอุบายแก้ไขการศึก บรรดาแม่ทัพทูลว่าให้ส่งกำลังทัพไปปะทะทันที แต่พระองค์กลับไม่เห็นด้วยจึงใช้กลอุบายถอยออกมาโดยไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ข้าศึกละเลิงใจ ยกติดตามมาไม่เป็นขบวน จากนั้นให้ยกทัพส่วนใหญ่ออกโจมตีจึงจะได้ชัยชนะ แม่ทัพเห็นด้วย สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้หมื่นทิพเสนากับหมื่นราชามาตย์ไปแจ้งทัพหน้าให้ถอยร่นโดยเร็ว ทัพพม่าจึงรุกมาไม่เป็นขบวน

ทัพหลวงเคลื่อนพล : ศุภนิมิตครั้งที่ ๓

ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประทับบนเกยช้าง เพื่อรอฤกษ์เคลื่อนทัพหลวงอยู่นั้น ได้บังเกิดเมฆก้อนใหญ่ลอยอยู่ทางทิศเหนือ แต่แล้วท้องฟ้ากลับดูแจ่มกระจ่าง  สว่างด้วยแสงพระอาทิตย์ส่องแสงจ้าเป็นนิมิตหมายที่แสดงถึงพระบรมเดชานุภาพ

บัดดลวลาหกชื้อ                     ชระอับ  อยู่แฮ

แห่งทิศพายัพยล                               เยือกฟ้า

มลักแลกะลายกระลับ                         ลิวล่ง  ไปเลย

เผยผ่องภาณุเมศจ้า                            แจ่มแจ้งแสงฉาน

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

                จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถจึงได้เคลื่อนทัพตามเกร็ดนาค[4]และเข้าปะทะกับข้าศึก พอช้างทรงทั้งสองของสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถได้ยินเสียงฆ้อง กลอง ปืน ก็เริ่มคึกคะนองด้วยกำลังตกมัน จึงวิ่งเข้าไปในหมู่ข้าศึก โดยควาญช้างไม่สามารถควบคุมได้ แม่ทัพและนายพลเสด็จตามไม่ทัน ผู้ที่เสด็จทันก็มีแต่กลางช้างและควาญช้าง ทั้งสองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกมีจำนวนมากมาย จึงไสช้างเข้าชนข้าศึก เหล่าข้าศึกต่างพากันระดมยิงปืนดั่งห่าฝนแต่ไม่ถูกช้างทรงของทั้งสองพระองค์ ทันใดนั้นได้เกิดควันตลบมืดราวกับไม่มีตะวัน ต่างฝ่ายต่างมองไม่เห็นกันเลย

          สมเด็จพระนเรศวรจึงประกาศกับเทวดาบนสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า และชั้นพรหมโลก ๑๖ ชั้น ขอเชิญให้สดับรับราชโองการของพระองค์

ภูวไนยผายโอษฐ์เอื้อน              โชยงการ

แก่เทพทุกถิ่นสถาน                            ฉชั้น

โสฬสพรหมพิมาน                             กมลาสน์  แลนา

เชิญช่วยชุมโสตชั้น                            สดับถ้อยตูแถลง

พระองค์ทรงเอ่ยวาจาว่า  พระองค์เป็นกษัตริย์ครองราชย์สมบัติก็ด้วยหวังว่าให้ทำนุบำรุงศาสนา เหตุใดเทวดาจึงไม่บันดลให้ท้องฟ้าสว่างเปิดทางให้มองเห็นข้าศึกได้อย่างชัดเจน

ซึ่งแสร้งรังสฤษฎ์ให้                  มาอุบัติ

ในประยูรเศวตฉัตร                            สืบเชื้อ

หวังผดุงบวรรัตน                              ตรัเยศ  ยืนนา

ทำนุพระศาสน์เกื้อ                            ก่อสร้างแสวงผล

                เมื่อตรัสจบก็เกิดพายุใหญ่พัดหอบเอาฝุ่นและควันหายไป ท้องฟ้าก็กลับมาสว่างดังเดิม  ทรงเร่งช้างสอดส่ายระเนตรหาพระมหาอุปราชา ทรงแลไปทางด้านขวาได้เห็นนายทัพขี่ช้างเชือกหนึ่งมีฉัตรกั้นอยู่ใต้ร่มข่อย พล ๔ เหล่าเรียงรายอยู่มากมายครบครัน สมเด็จพระนเรศวรใช้วาทศิลป์เชิญให้พระมหาอุปราชามาทำยุทธหัตถี

พระพี่พระผู้ผ่าน                     ภพอุต ดมเอย

ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด                           ร่มไม้

เชิญราชร่วมคชยุทธ์                           เผยอเกียรติ  ไว้แฮ

สืบกว่าสองเราไซร้                             สุดสิ้นฤๅมี

          สมเด็จพระนเรศวรกล่าวด้วยน้ำเสียงที่สุภาพไพเราะว่า พระเจ้าพี่ปกครองประเทศอันบริบูรณ์ยิ่ง  ทำไมพระเจ้าพี่จึงประทับอยู่ใต้ต้นไม้ เชิญมาทำยุทธหัตถีให้เป็นเกียรติแก่เราทั้งสองให้เป็นที่ลือสืบต่อไปหลังจากนี้ และขอทูลเชิญเทวดาและพรหมเสด็จมาชุมนุม ณ ที่แห่งนี้เพื่อทอดพระเนตรการทำยุทธหัตถี ผู้ที่เชี่ยวชาญกว่าขอทรงอวยพรส่งเสริมให้มีชัย

ปวงไท้เทเวศทั้ง                      พรหมาน

เชิญประชุมในสถาน                           ที่นี้

ชมชื่นคชรำบาญ                              ตูต่อ  กันแฮ

ใครเชี่ยวใครชาญชี้                            ชเยศอ้างอวยเฉลิม

            สมเด็จพระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชา : ยุทธหัตถีและชัยชนะของไทย

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตรัสเช่นนั้นทำให้พระมหาอุปราชาเกิดขัตติยมานะขึ้น รีบไสช้างต่อสู้ทันที ช้างทรงของสองพระองค์ เปรียบเหมือนช้างเอราวัณและช้างคีรีเมขล์ที่เป็นพาหนะของพระอินทร์และวสวัตดีมาร ต่อสู้กันอย่างยิ่งใหญ่ ประหนึ่งพระอินทร์และไพจิตราสูรหรือไม่ก็พระรามกับทศกัณฐ์ กษัตริย์อื่นก็ไม่มีเสมอเหมือน

          ช้างทรงของสองกษัตริย์ต่อสู้กันอย่างทรหด ตอนหนึ่งเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลักแก่พลายพัทธกอ พระมหาอุปราชาจึงได้ทีเห็นเป็นโอกาส จึงเงื้อพระแสงของ้าวจ้วงฟันอย่างแรงราวกับจักรหมุน แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงเบี่ยงพระมาลาพร้อมกับใช้พระแสงของ้าวปัดออกทัน

เบื้องนั้นนฤนาทผู้                             สยามินทร์

เบี่ยงพระมาลาผิน                             ห่อนพ้อง

ศาสตราวุธอรินทร์                             ฤๅถูก  องค์เอย

เพราะพระหัตถ์หากป้อง                      ปัดด้วยขอทรง

          ทันใดนั้นช้างทรงของพระนเรศวรเบนสะบัดลงล่างได้ เข้าใช้งางัดคอพลายพัทธกอจนหงายเสียท่า พระองค์ทรงเงื้อพระแสงของ้าวแสงพลพ่ายฟันลงไป จึงฟันพระอังสาขาดค่อนไปทางขวา

                             พลอยพล้ำเพลียกถ้าท่าน            ในรณ

บัดราชฟาดแสงพล                            พ่ายฟ้อน

พระเดชพระแสดงดล                          เผด็จคู่เข็ญแฮ

ถนัดพระอังสาข้อน                            ขาดด้าวโดยขวา

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีประเภทใด

          พระอุระของพระมหาอุปราชาถูกฟันเป็นรอยแยก ร่างกายก็เอนฟุบซบอยู่บนหลังช้างเป็นที่น่าสลดใจ พระองค์สิ้นพระชนม์แล้วได้เป็นสถิตอยู่บนสวรรค์

อุรารานร้าวแยก                     ยลสยบ

เอนพระองค์ลงทบ                             ท่าวดิ้น

เหนือคอคชซอนซบ                            สังเวช

วายชิวาตม์สุดสิ้น                              สู่ฟ้าเสวยสวรรค์

ขณะที่พระเอกาทศรถทรงทำยุทธหัตถีกับมางจาชโร เจ้าพระยาปราบไตรจักรได้ที พระเอกาทศรถก็ฟันมางจาชโร พระพี่เลี้ยงพระมหาอุปราชาสิ้นชีวิตอยู่บนคอช้างเหมือนกัน

          ผู้ที่ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถมี ๔ คน คือ เจ้ารามราฆพ กลางช้างของสมเด็จพระนเรศวร นายมหานุภาพ ท้ายช้างของสมเด็จพระนเรศวร หมื่นภักดีศวร กลางช้างของพระเอกาทศรถ และขุนศรีคชคง ท้ายช้างของพระเอกาทศรถ แต่ได้ถูกยิงจากข้าศึกและมีผู้เสียชีวิต ๒ คน 8 คือ นายมหานุภาพ ท้ายช้างของสมเด็จพระนเรศวร และหมื่นภักดีศวร กลางช้างของพระเอกาทศรถ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถทรงกำจัดข้าศึกได้สำเร็จกองทัพไทยได้ตามมาทัน ต่างโจมตีข้าศึกจนพ่ายไปและเจ้าพระยาไชยานุภาพได้รับสถาปนาเป็น “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”

          สมเด็จพระนเรศวรสร้างสถูปและปูนบำเหน็จทหาร

          พอการศึกเสร็จสิ้นสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้เจ้าเมืองมล่วนควาญช้างของพระมหาอุปราชากลับไปแจ้งข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาแก่พระเจ้าหงสาวดีแล้วพระองค์ก็ยกทัพกลับอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างสถูปตรงที่พระมหาอุปราชาเสียชีวิตไว้เป็นการเฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏสืบไปและปูนบำเหน็จพระราชทานยศถาบรรดาศักดิ์ เครื่องใช้ เงิน ทอง ทาส แก่เจ้ารามราฆพและขุนศรีคชคง ส่วนนายมหานุภาพและหมื่นภักดีศวร ก็ได้รับพระราชทานยศและทรัพย์สินแก่บุตรภรรยาเป็นการตอบแทนและเพื่อดำรงส่งเสริมวงศ์ตระกูลสืบไป

                เมื่อทรงปูนบำเหน็จเสร็จแล้ว สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้ปรึกษาโทษแม่ทัพนายกองตามกฎพระอัยการศึกว่า ในการที่ข้าศึกยกกองทัพเข้ามาเหยียบแดนถึงชานพระนคร พระองค์และพระเอกาทศรถมีพระราชประสงค์ที่จะทำนุบำรุงเหล่าสมณพราหมณ์และประชาราษฎร มิได้ย่อท้อต่อความยากลำบาก ทรงพระราชอุตสาหะออกไปปราบอริราชศัตรู แต่แม่ทัพนายกองทั้งปวงกลับกลัวข้าศึกยิ่งกว่าพระราชอาญา ไม่พยายามยกทัพไปรบให้ทัน ปล่อยให้พระองค์ต่อสู้กับข้าศึกเพียงลำพัง ลูกขุนได้เชิญพระอัยการศึกออกมาดูเห็นว่าจะต้องได้รับโทษถึงประหารชีวิต แต่เนื่องจากใกล้วัน ๑๕ ค่ำ (บัณรสี) จึงทรงพระกรุณาให้งดโทษไว้ก่อนต่อวัน ๑ ค่ำ (ปาฏิบท) จึงให้ลงโทษประหาร

          สมเด็จพระวันรัตขอพระราชทานอภัยโทษ

          ยังไม่พ้นเวลาที่กำหนดไว้ พอถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ เวลา ๘ นาฬิกา เมื่อปฏิบัติสมณกิจเสร็จเรียบร้อย สมเด็จพระวันรัตวัดป่าแก้วกับพระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะ ๒๕ รูป รวม ๒ แผนก คือ ฝ่ายคามวาสีและฝ่ายอรัญวาสีพากันไปยังพระราชวัง สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้นิมนต์เข้าท้องพระโรง พอจัดที่นั่งปูอาสนะให้พระสงฆ์เข้าไปนั่งเรียบร้อยสมเด็จพระนเรศวรประนมหัตถ์แสดงความเคารพ จากนั้นสมเด็จพระวันรัตน์ก็ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ทหารและถวายพระพรต่อไปว่า บรรดาข้าทูลละอองธุลีพระบาทล้วนมีความจงรักภักดีเป็นการผิดแปลกไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะพระบรมเดชานุภาพของพระองค์ที่ได้สำแดงให้ปรากฏแก่กษัตริย์ทั่วไปจนเล่าลือถึงพระเกียรติของพระองค์ เช่น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระตรีโลกนาฏ) ทรงชนะพญามารเพียงลำพังดังเช่นกับพระนเรศวรถ้าอาศัยกำลังทัพมากมายถึงแม้จะรบชนะพระเกียรติก็จะไม่ฟุ้งเฟื่องและกษัตริย์ทั้งหลายก็จะไม่พากันออกพระนามเอิกเกริกเช่นนี้

          สมเด็จพระนเรศวรได้ฟังคำชี้แจงของสมเด็จพระวันรัตก็คลายความโกรธและยกอภัยโทษตามคำทูลของสมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระนเรศวรจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้แม่ทัพและนายกองพ้นโทษและดำรงตำแหน่งและยศ ตามเดิม แต่สมเด็จพระนเรศวรเห็นสมควรให้ทหารเหล่านี้ไปตีเมืองตะนาวศรี มะริด และทวาย เป็นการชดเชยความผิด ให้พระยาพระคลังคุมพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองทวาย และให้เจ้าพระยาจักรีนำทัพจำนวนเท่ากันไปตีเมืองตะนาวศรีและมะริด

          สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถตรัสปรึกษาว่าควรทำนุบำรุงหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้ปรากฏชั่วกัลปวสาน

          บทส่งท้าย

ลิลิตตะเลงพ่ายแต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ ที่ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยแก่ทัพมอญ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเมื่อพระองค์ดำรงตำแหน่งกรมหมื่นนุชิตชิโนรสศรีสุคตขัตติยวงศ์ ทรงตั้งปณิธานไว้ว่า หากยังเวียนอยู่ในวัฏสงสารตราบใด ขอให้ได้เป็นกวีทุกภพทุกชาติไป จนบรรลุนิพพานในที่สุด

บรรยายกลกาพย์แสร้ง              สมญา  ไว้แฮ

สมลักษณ์เล่ห์เสาวนา                         เรื่องรู้

“ตะเลงพ่าย” เพื่อตะเลงปรา-                ชเยศ พระเอย

เสนอฤทธิ์สองราชสู้                           ศึกช้างกลางสมรฯลฯ

กรมหมื่นนุชิต  เชื้อ                  กวีวร

ชิโนรส  มิ่งมหิศร                              เสกให้

ศรีสุคต  พจนสุนทร                           เถลิงลักษณ์  นี้นา

ขัตติยวงศ์ ผจงโอษฐ์ไว้                        สืบหล้าอยู่ศูนย์ ฯลฯ

ผิววงว่ายวัฏเวิ้ง                      วารี  โอฆฤๅ

บลุโลกุตรโมลี                                  เลิศล้น

จงเจนจินตกวี                                 วรวากย์  เฉลียวเอย

ตราบล่วงบ่วงภพพ้น                          เผด็จเสี้ยนเบียนสมร ฯลฯ

                จบ   เสร็จเสาวภาคย์ถ้อย          วิตถาร  แถลงนา

ลิลิต   ราชพงศาวดาร                        แต่กี้

ตะเลง   เหล่าดัสกรลาญ                     มลายชีพ  ลงฤๅ

พ่าย  พระเดชหลักลี้                          ประลาตต้อนแตกสยาม

 วิเคราะห์คุณค่า วรรณคดี เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย

๑. ด้านเนื้อหา

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีแนวประวัติศาสตร์และเป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติที่มุ่งสดุดีวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การที่ผู้ประพันธ์ใช้คำประพันธ์ประเภทลิลิตจึงเหมาะสมอย่างยิ่งเพราะคำประพันธ์ประเภทลิลิตมักนิยมใช้พรรณนาเรื่องราวที่สูงส่ง สมพระเกียรติ

องค์ประกอบของเรื่อง

แก่นเรื่อง คือ การยอพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการทำยุทธหัตถี มีชัยเหนือพะมหาอุปราชา อีกทั้งยังมีพระปรีชาสามารถด้านการปกครองและพระราชจริยวัตรอันกอปรด้วยธรรมของพระราชา

โครงเรื่อง  ขอบเขตของเนื้อหาที่มุ่งนำเสนอมีเพียงแค่การทำยุทธหัตถี และมุ่งเน้นไปในแนวทางประวัติศาสตร์เรื่อง “ตะเลงพ่าย”  คือ การดำเนินความตามเค้าเรื่องพงศาวดาร ได้แก่ การทำสงคราม การต่อสู้แบบยุทธหัตถี การจัดทัพ และรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามตำราพิชัยสงครามและโบราณราชประเพณีทุกอย่าง สำหรับเนื้อหาที่เป็นส่วนเพิ่มเติมส่วนเสริมเรื่อง คือ บทประพันธ์ที่เป็นลักษณะนิราศ

๒. ด้านวรรณศิลป์

การสรรคำ   ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นวรรณคดีมรดกล้ำค่าที่คนไทยควรศึกษาเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในวีรกรรมของนักรบไทยและภูมิใจในภาษาไทยที่กวีใช้ถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างมีคุณค่าทางด้านวรรณศิลป์ ด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำได้อย่างไพเราะ ดังนี้

           ๑.การใช้คำที่เหมาะแก่เนื้อเรื่องและฐานะของบุคคล กวีเลือกใช้คำที่แสดงฐานะของบุคคล ดังนี้

เบื้องนั้นนฤนาถผู้                 สยามินทร์

                    เบี่ยงพระมาลาผิน                         ห่อนพ้อง

                   ศัสตราวุธอรินทร์                           ฤาถูก องค์เอย

                   เพราะพระหัตถ์หากป้อง                  ปัดด้วยขอทรง

     จากโคลงบทนี้ กวีเลือกใช้คำที่มีศักดิ์คำสูง แสดงให้เห็นภาพเด่นชัดและไพเราะ เช่น

           นฤนาถ                   หมายถึง     กษัตริย์

          สยามินทร์                หมายถึง     กษัตริย์สยาม (กษัตริย์อยุธยา)

          พระมาลา                หมายถึง     หมวก

          ศัตราวุธอรินทร์          หมายถึง     อาวุธของข้าศึก

          องค์                        หมายถึง     สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

          พระหัตถ์                  หมายถึง     มือ

          ขอทรง                    หมายถึง     ขอสับสำหรับบังคับช้าง อยู่ใต้คอของช้าง

          ๒. การใช้คำโดยคำนึงถึงเสียง ความไพเราะของถ้อยคำหรือความงามของถ้อยคำนั้น พิจารณาที่การใช้สัมผัส การเล่นคำ เล่นความ การเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นต้นลิลิตตะเลงพ่ายมีการใช้คำที่มีเสียงเสนาะ ดังนี้

              (๑) มีการใช้สัมผัสสระและสัมผัสพยัญชนะในคำประพันธ์ทุกบท ทำให้เกิดความไพเราะ เช่น

       “.....ถับถึงโคกเผาเข้า พอยามเช้ายังสาย หมายประมาณโมงครบ ประทบทัพรามัญ ประทันทัพพม่า ขับทวยกล้าเข้าแทง ขับทวยแขงเข้าฟัน สองฝ่ายยันยืนยุทธ์ อุดอึงโห่เอาฤกษ์ เอิกอึงเห่เอาชัย สาดปืนไฟยะแย้ง แผลงปืนพิษยะยุ่ง พุ่งหอกใหญ่คะคว้าง ขว้างหอกซัดคะไขว่ ไล่คะคลุกบุกบัน เงื้อดาบฟันฉะฉาด งาง้าวฟาดฉะฉับ.....

    สัมผัสสระ  ได้แก่  เข้า เช้า  สาย - หมาย  ครบ ทบ  รามัญ ทัน   พม่า กล้า   แทง แข็ง  ฟัน ยัน  ยุทธ์ อุด  ฤกษ์ เอิก   ชัย ไฟ    แย้ง แผลง     ยุ่ง พุ่ง  คว้าง ขว้าง    ไขว่ ไล่    บัน ฟัน        ฉาด ฟาด

    สัมผัสพยัญชนะ  ได้แก่  ถับ ถึง  โคก เข้า  ยาม ยังหมาย ประมาณ โมง ประทบ ทับ ประทัน ทัพ ขับ เข้า        ทวย แทง  ขับ แขง เข้า ยัน ยืน ยุทธ์  อุด อึง เอา เอิก อึง เอา ยะ แย้ง ยะ ยุ่ง คะ คว้าง  บุกบัน         ฉะ ฉาด ง่า ง้าว ฉะ ฉับ

             (๒) มีการใช้สัมผัสพยัญชนะเดียวกันเกือบทั้งวรรค เช่น

กรตระกองกอดแก้ว    เรียมจักร้างรสแคล้ว

คลาดเคล้าคลาสมร

จำใจจรจำจากสร้อย    อยู่แม่อย่าละห้อย

ห่อนช้าคืนสม                   แม่แล

วรรคที่ ๑ ได้แก่ กร กอง กอด แก้ว

วรรคที่ ๒ ได้แก่ เรียม ร้าง รส

วรรคที่ ๓ ได้แก่ คลาด เคล้า คลา

วรรคที่ ๔ ได้แก่ อยู่ อยาก

             (๓) มีสัมผัสสระในแต่ละวรรคของโคลงแต่ละบาทคล้ายกลบท เช่น

                                      ชาวสยามคร้ามเศิกสิ้น           ทั้งผอง

                             นายและไพร่ไป่ปอง                        รบร้า

                             อพยพหลบหลีกมอง                       เอาเหตุ

                             ซุกซ่อนห่อนให้ข้า                          ศึกได้ไปเป็น

บาทที่ ๑  ได้แก่  สยาม คร้าม

บาทที่ ๒  ได้แก่  ไพร่ ไป่

บาทที่ ๓  ได้แก่  อพยพ หลบ 

บาทที่ ๔  ได้แก่ ซ่อน ห่อน  ได้ ไป

             (๔) การเล่นคำ เพื่อให้มีความลึกซึ้งและเกิดอารมณ์กระทบใจผู้อ่านโดยเน้นนัยของคำว่า สายหยุด ว่า ดอกสายหยุดจะหยุดส่งกลิ่นหอมเมื่อล่วงเข้าเวลาสาย แต่ยามสายนั้นก็มิอาจหยุดความรัก ความเสน่หา ที่มีต่อนางอันเป็นที่รักได้ เช่น

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง            ยามสาย

สายบ่หยุดเสน่ห์หาย                      ห่างเศร้า

กี่คืนกี่วันวาย                                วางเทวษ ราแม่

ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                          หยุดได้ฉันใด 

             (๕) การเล่นเสียงวรรณยุกต์ เช่น

สลัดไดใดสลัดน้อง                 แหนงนอน ไพรฤา

เพราะเพื่อมาราญรอน                    เศิกไสร้

สละสละสมร                                เสมอชื่อ ไม้นา

นึกระกำนามไม้                             แม่นแม้นทรวงเรียม 

             (๖) การเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น

                   “....เจ้าพระยาไชยานุภาพ เจ้าพระยาปราบไตรจักร ตรับตระหนักสำเนียง เสียงฆ้องกลองปืนศึก อึกเอิกก้องกาหล เร่งคำรนเรียกมัน ชันหู ชูหางเล่น แปร้นแปร๋แลคะไขว่.

              (๗) การใช้คำอัพภาส คือ การซ้ำอักษรลงหน้าคำศัพท์ ทำให้เกิดความไพเราะ เช่น

                   “...สาดปืนไฟยะแย้ง แผลงปืนพิษยะยุ่ง พุ่งหอกใหญ่คะคว้าง ขว้างหอกซัดคะไขว่ไล่คะคลุกบุกบัน เงื้อดาบฟันฉะฉาด ง่าง้าวฝาดฉะฉับ...

การใช้โวหาร กวีเลือกใช้ถ้อยคำในการบรรยาย พรรณนาและเปรียบเทียบได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพชัดเจน ดังนี้

            ๑. การใช้คำให้เกิดจินตภาพ เช่น การใช้คำที่แสดงให้เห็นภาพการต่อสู้อย่างห้าวหาญของพลทหารทั้งสองฝ่ายที่ผลัดกันรุกรับขับเคี่ยวกันด้วยอาวุธหลากหลายทั้งขอ ง้าว ทวน หอก ธนู จนต่างฝ่ายล้มตายไปเป็นจำนวนมาก ดังตัวอย่าง

       ...คนต่อคนต่อรบ ของ้าวทบทะกัน ต่างฟันต่างป้องปัด วางสนัดหลังสาร  ขานเสียงคึกกึกก้อง  ว่องต่อว่องชิงชัย ไวต่อไวชิงชนะ  ม้าไทยพะม้ามอญ   ต่างเข้ารอนเข้าโรม ทวนแทงโถมทวนทบ  หอกเข้ารบรอหอก  หลอกล่อไล่ไขว่แคว้ง  แย้งธนูเหนี่ยวแรง ห้าวต่อห้าวหักหาญ  ชาญต่อชาญหักเชี่ยว  เรี่ยวต่อเรี่ยวหักแรง แขงต่อแขงหักฤทธิ์   ต่างประชิดฟอนฟัน  ต่างประชันฟอนฟาด  ล้วนสามารถมือทัด  ล้วนสามรรถมือทาน  ผลาญกันลงเต็มหล้า   ผร้ากันลงเต็มแหล่ง  แบ่งกันตายลงครัน ปันกันตายลงมาก ตากเต็มท่งเต็มเถื่อน   ตากเต็มเผื่อนเต็มพง”

          นอกจากนี้ผู้แต่งใช้คำพรรณนา การสู้รบ ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพช้างทรงของทั้งสองพระองค์ต่างสะบัดเหวี่ยงกันไปมา ผลัดเปลี่ยนกันได้ทีแต่ก็ไม่มีผู้ใดยอมแพ้ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรได้ล่าง พระมหาอุปราชาก็เพลี่ยงพล้ำ สมเด็จพระนเรศวรฟันพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าวขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์ทันที พระวรกายของพระมหาอุปราชาค่อยๆแอนลงซบกับคอช้างและสิ้นพระชนม์บนคอช้างนั่นเอง ตอนนี้นอกจากจะเห็นภาพการรบอย่างสง่างามแคล่วคล่องว่องไวสมเป็นกษัตริย์ของทั้งสองพระองค์ช่วงสุดท้ายยังเห็นภาพการสิ้นพระชนม์ของพระมหาอุปราชาที่ค่อยๆเอนพระองค์ลงซบกับคอช้าง เป็นภาพที่หดหู่และสะเทือนใจ ดังตัวอย่าง

                             พลอยพล้ำเพลียกถ้าท่าน       ในรณ

                   บัดราชฟาดแสงพล                         พ่ายฟ้อน

                   พระเดชพระแสดงดล                      เผด็จคู่ เข็ญแฮ

                   ถนัดพระอังสาข้อน                         ขาดด้าวโดยขวา

          ๒. การใช้โวหารโดยการเปรียบเทียบ  ว่าสมเด็จพระนเรศวรมีฤทธิ์เหมือนพระรามยามต่อสู้กับทศกัณฐ์ ข้าศึกศัตรูที่พ่ายแพ้ไปเหมือนพลยักษ์ สมเด็จพระนเรศวรก็เหมือนองค์พระนารายณ์อวตารลงมา ดังตัวอย่าง

                             บุญเจ้าจอมภพขึ้น                แผ่นสยาม

                   แสยงพระยศยินขาม                     ขาดแกล้ว

                   พระฤทธิ์ดั่งฤทธิ์ราม                       รอนราพณ์ แลฤา

                   ราญอริราชแผ้ว                             แผกแพ้ทุกภาย

                             ไพรินทรนาศเพี้ยง                พลมาร

                   พระดั่งองค์อวตาร                          แต่กี้

                   แสนเศิกห่อนหาญราญ                   รอฤทธิ์ พระฤา

                   ดาลตระดกเดชลี้                            ประลาตหล้าแหล่งสถาน

          ๓. การใช้ถ้อยคำสร้างอารมณ์และความรู้สึก แม้ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ แต่ด้วยความปรีชาในด้านภาษาอย่างลึกซึ้งของกวี กวีสามารถใช้ถ้อยคำ ทำให้ผู้อ่านเกิดความสะเทือนอารมณ์ เกิดความรู้สึกเห็นใจ เศร้าใจ ดีใจ ภูมิใจ ได้ตามจุดมุ่งหมายของกวี ดังนี้

             (๑) การใช้ถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกเห็นใจ เช่น ตอนที่พระมหาอุปราชาเคลื่อนกระบวนทัพ ขณะเดินทางมีการชมธรรมชาติ ชมพันธุ์ไม้ต่างๆ โดยการนำชื่อต้นไม้และดอกไม้มาเล่นคำให้สอดคล้องกับอารมณ์และความรู้สึกของพระมหาอุปราชาได้อย่างไพเราะ

สลัดไดใดสลัดน้อง                แหนงนอน ไพรฤา

เพราะเพื่อมาราญรอน                    เศิกไสร้

สละสละสมร                                เสมอชื่อ ไม้นา

นึกระกำนามไม้                             แม่นแม้นทรวงเรียม

ไม้โรกเหมือนโรคเร้า             รุมกาม

ไฟว่าไฟราคลาม                            ลวกร้อน

นางแย้มหนึ่งแย้มยาม                     เยาว์ยั่ว แย้มฤา

ตูมดั่งตูมตีข้อน                              อกอั้นกันแสง

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง             ยามสาย

สายบ่หยุดเสน่ห์หาย             ห่างเศร้า

กี่คืนกี่วันวาย                                วางเทวษ ราแม่

ถวิลทุกขวบค่ำเช้า                          หยุดได้ฉันใด 

              (๒) การใช้ถ้อยคำเกิดอารมณ์สะเทือนใจ ดังปรากฏตอนที่พระมหาอุปราชาลาพระสนม

พระผาดผายสู่ห้อง               หาอนุชนวลน้อง

หนุ่มเหน้าพระสนม

ปวงประนมนบเกล้า              งามเสงี่ยมเฟี้ยมเฝ้า

อยู่ถ้าทูลสนอง

กรตระกองกอดแก้ว              เรียมจักร้างรสแคล้ว

คลาดเคล้าคลาสมร

จำใจจรจากสร้อย                อยู่แม่อย่าละห้อย

ห่อนช้าคืนสม แม่แล 

              (๓) การใช้ถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด เช่น ตอนพระมหาอุปราชาทูลพระเจ้าหงสาวดีว่าจะมีเคราะห์ไม่ต้องการออกรบ จึงถูกพระเจ้าหงสาวดีกล่าวประชดด้วยถ้อยคำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดอับอายว่าให้เอาเครื่องแต่งกายหญิงมาสวมใส่

            “...ฟังสารราชเอารส ธก็ผะชดบัญชา เจ้าอยุธยามีบุตร ล้วนยงยุทธ์เชี่ยวชาญ หาญหักศึกบมิย่อ ต่อสู้ศึกบมิหยอน ไป่พักวอนว่าใช้ ให้ธหวงธห้าม แม้นเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัสตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์ ธตรัสเยาะเยี่ยงขลาด องค์อุปราชยินสาร แสนอัประมาณมาตย์มวล นวลพระพักตร์ผ่องเผือด เลือดสลดหมดคล้ำ ช้ำกมลหมองมัว..

              (๔) การใช้ถ้อยคำแสดงความโศกเศร้า เช่นตอนที่พระมหาอุปราชาต้องจากพระสนมและเดินทัพ เมื่อเห็นสิ่งใดก็คิดถึงนางอันเป็นที่รัก การคล่ำครวญของพระมหาอุปราชา ทำให้ผู้อ่านเห็นใจในความรักของพระมหาอุปราชา ดังปรากฏในตอนที่พระมหาอุปราชาเห็นต้นไม้ ดอกไม้ แล้วรำพันถึงพระสนม

มาเดียวเปลี่ยวอกอ้า             อายสู

สถิตอยู่เอ้องค์ดู                             ละห้อย

พิศโพ้นพฤกษ์พบู                          บานเบิก ใจนา

พลางคะนึงนุชน้อย                         แน่งเนื้อนวลสงวน

พระครวญพระคร่ำไห้            โหยหา

พลางพระพิศพฤกษา                      กิ่งเกี้ยว

กลกรกนิษฐนา-                             รีรัตน์ เรียมฤา

ยามตระกองเอวเอี้ยว                      โอบอ้อมองค์เรียม

๓. คุณค่าด้านสังคม

๑) สะท้อนให้เห็นธรรมชาติมนุษย์ เช่น

พระเจ้าหงสาวดีตรัสประชดพระมหาอุปราชาว่า กษัตริย์กรุงศรีอยุธยามีพระโอรสที่กล้าหาญไม่ครั่นคร้ามจ่อการศึกสงคราม แต่พระโอรสของพระองค์เป็นคนขลาด ทำให้พระมหาอุปราชาทรงอับอายและเกรงพระราชอาญา จึงเกิดขัตติยมานะยอมกระทำตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา ดังตัวอย่าง

 “...องค์อุปราชยินสาร แสนอัประมาณมาตย์มวล นวลพระพักตร์ผ่องเผือด เลือดสลดหมดคล้ำ ช้ำกมลหมองมัว กลัวพระอาชญายอบ นอบประณตบทมูล ทูลลาไท้ลีลาศ ธก็ประกาศเกณฑ์พล บอกยุบลบมิหึง...

สมเด็จพระนเรศวรเมื่อตกอยู่ในวงล้อมของข้าศึก ได้ใช้วาทศิลป์กล่าวเชิญพระมหาอุปราชามารบตัวต่อตัว เพื่อเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของทั้งสองพระองค์ สืบต่อไปภายหน้าจะไม่มีการรบที่กล้าหาญเยี่ยงนี้อีก ดังความในบทประพันธ์ต่อไปนี้

พระพี่พระผู้ผ่าน                  ภพอุต ดมเอย

ไป่ชอบเชษฐ์ยืนหยุด                       ร่มไม้

เชิญราชร่วมคชยุทธ์                      เผยอเกียรติ ไว้แฮ

สืบกว่าสองเราไสร้                        สุดสิ้นฤามี 

             ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพิโรธแม่ทัพนายกองที่ตามเสร็จเข้าสนามรบไม่ทันจึงตรัสสั่งประหารชีวิต สมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้วขอพระราชทานอภัยโทษ โดยยกเหตุผลว่าเป็นเพราะเทพยดาบันดาลให้เป็นไป เพื่อให้พระองค์แสดงพระบรมเดชานุภาพให้ปรากฏคำกล่าวถูกพระทัยสมเด็จพระนเรศวรจึงพระราชทานอภัยโทษ แต่ต้องไปทำการศึกแก้ตัวโดยให้นำทัพไปตีเมืองเมาะตะมะและตะนาวศรี

พระตรีโลกนาถแล้ว              เผด็จมาร

เฉกพระราชสมภาร                       พี่น้อง

เสด็จไร้พิริยะราญ                         อรินาศ ลงนา

เสนอพระยศยินก้อง                      เกียรติท้าวทุกภาย

ผิวหลายพยุหยุทธ์ร้า             โรมรอน

ชนะอมิตรมวลมอญ                        มั่วมล้าง

พระเดชบ่ดาลขจร                         เจริญฤทธิ์ พระนา

ไปทั่วธเรศออกอ้าง                         เอิกฟ้าดินไหว 

            ๒) สะท้อนเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี ขนบธรรมเนียมในการศึกที่ปรากฏในเรื่อง ได้แก่ เมื่อพระมหาอุปราชาจะออกศึก พระเจ้าหงสาวดีทรงประสาทและให้โอวาทการสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารและความเด็ดขาดในการรบ ความรู้เกี่ยวกับตำราพิชัยสงคราม การจัดทัพ การตั้งทัพ ประเพณี และพิธีกรรมเกี่ยวกับสงคราม เช่น พิธีโขลนทวารตัดไม้ข่มนาม เพื่อการสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหาร ดังที่ปรากฏในบทประพันธ์ที่กล่าวถึงพิธีโขลนทวารซึ่งเป็นพิธีบำรุงขวัญทหารก่อนออกศึกเหล่าทหารต่างฮึกเหิมและมีกำลังใจเพราะมีพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ให้ ดังนี้

 “...พลันขยายพยุหบาตรา คลาเข้าโขลนทวาเรศ สงฆ์สวดชเยศพุทธมนต์ ปรายประชลเฉลิมทัพ ตามตำรารับราชรณยุทธ์ โบกกบี่ธุชคลาพล ยลนาวาดาดาษ ดูสระพราศสระพรั่ง คั่งคับขอบคงคา แลมหาเหาฬาร์พันลึก อธึกท้องแถวธาร...

            ๓) สะท้อนให้เห็นความเชื่อของสังคมไทย  ความเชื่อที่ปรากฏในเรื่อง ได้แก่ ความเชื่อของบรรพบุรุษ ความเชื่อเรื่องความฝันบอกเหตุ เชื่อคำทำนายทายทักของโหร เช่น ตอนที่สมเด็จพระนเรศวรทรงพระสุบินนิมิต จึงตรัสให้หาพระโหราจารย์เพื่อทำนายนิมิต

ทันใดดิลกเจ้า                      จอมถวัลย์

สร่างผทมถวิลฝัน                          ห่อนรู้

พระหาพระโหรพลัน                      พลางบอก ฝันนา

เร็วเร่งทายโดยกระทู้                      ที่ถ้อยตูแถลง

           ๔) สะท้อนข้อคิดเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต ลิลิตตะเลงพ่ายได้แสดงคุณธรรมด้านต่างๆ ที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต เช่น ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความเมตตา ความนอบน้อม การให้อภัย เป็นต้น โดยสอดแทรกอยู่ในบทประพันธ์ ผู้อ่านจะสามารถซึมซับคุณธรรมเหล่านี้ผ่านความงามของภาษา สามารถจรรโลงใจผู้อ่านได้ เช่น ตอนที่พระเจ้านันทบุเรง ทรงสอนการศึกสงครามแก่พระมหาอุปราชา ก็เป็นข้อคิดที่มีคุณค่ายิ่งต่อการดำเนินชีวิตทุกยุคสมัย ตัวอย่างเช่น

หนึ่งรู้พยุหเศิกไสร้                สบสถาน

เจนจิตวิทยาการ                            กาจแกล้ว

รู้เชิงพิชัยชาญ                               ชุมค่าย ควรนา

อาจรักรอนรณแผ้ว                         แผกแพ้พังหนี

ฯลฯ

หนึ่งรู้บำเหน็จให้                  ขุนพล

อันสมรรถมือผจญ                          จืดเสี้ยน

อย่าหย่อนวิริยยล                           อย่างเกียจ

แปดประการกลเที้ยร                      ถ่องแท้ทางแถลง

วรรณคดีเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย นับเป็นวรรณคดีชั้นสูง ที่ผู้อ่านจะต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคำศัพท์ยากบางคำมาบ้างแล้ว นอกจากจะมีความไพเราะในด้านวรรณศิลป์อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ผู้อ่านยงจะได้รับความรู้ด้านสังคมวัฒนธรรมอีกมาก แต่ผู้อ่านต้องอ่านอย่างตั้งใจ มีการวิเคราะห์และหาความหมายศัพท์ยาก จึงจะสามารถตีความได้อย่างชัดเจนและทำให้เกิดความซาบซึ้งในรสวรรณคดีมากยิ่งขึ้น


[1] โขลนทวาร  คือ ประตูป่าที่สร้างขึ้นเพื่อให้ทหารลอดผ่านไปประพรมน้ำมนต์จากพราหมณ์หรือพระภิกษุคู่หนึ่งซึ่งนั่งอยู่บนร้านสูงสองข้างประตู

[2]ละว้าเซ่นไก่ คือ พิธีทางไสยศาสตร์ที่บวงสรวงปีศาจหรือเจ้าป่าเจ้าเขาด้วยไก่

[3]ตัดไม้ข่มหนาม คือ พิธีทางไสยศาสตร์ กระทำเพื่อให้มีชัยชนะแก่ข้าศึก โดยเอาไม้ที่มีชื่อเดียวกันกับข้าศึกมาเข้าพิธีพร้อมกับรูปปั้นและชื่อข้าศึก  พอได้ฤกษ์พระเจ้าแผ่นดินจะพระราชทานพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ให้แก่ผู้แทนพระองค์ไปฟันไม้และรูปปั้น ชื่อข้าศึกนั้น  แล้วรีบกลับมากราบทูลว่าได้ปราบศัตรูตามพระราชกระแสรับสั่งเรียบร้อยแล้ว

[4]เคลื่อนทัพตามเกล็ดนาค ตามตำราพิชัยสงคราม กำหนดว่าวันใดที่นาคหันหัวและหางไปทิศทางใดต้องไปตั้งทัพตามทิศหัวนาค  แล้วเคลื่อนทัพไปตามทิศหางนาค คือ ไม่ให้ทวนเกล็ดนาค  จะเป็นสิริมงคลแก่กองทัพ

ในลิลิตตะเลงพ่ายมีการกล่าวถึงวรรณคดีเรื่องใด

ผมขออนุญาตเล่าต่อนะครับ ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยด าเนินเรื่องตาม พระราช พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เรื่องตั้งแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จสวรรคต จนถึงตอนที่พระนเรศวร ทรงกระทายุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาของพม่าและพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์

ลิลิตจัดเป็นวรรณคดีประเภทใด

ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท โคลง และร่าย สลับกันเป็นช่วงๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือ โคลงดั้น สลับกับร่ายดั้น, โคลงสุภาพ สลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สลับกันนั้น มักจะร้อยสัมผัสด้วยกัน เรียกว่า "เข้าลิลิต"

ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นวรรณคดีที่ดีเด่นในด้านใด

ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นวรรณคดีเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระมหากษัตริย์ ที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไว้ได้สำเร็จ เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์เป็นอย่างสูง ให้ความรู้ด้านต่าง ๆ หลายด้าน อาทิ ประวัติศาสตร์ ประเพณี ตำราพิชัยสงคราม ธรรมะ นอกจากจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจ ซาบซึ้ง

ลิลิตตะเลงพ่ายกล่าวถึงศึกใด

เนื้อเรื่องของลิลิตตะเลงพ่าย ได้เค้าเรื่องมาจากพงศาวดารสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กล่าวถึงการเสด็จเสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา และมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จไปตีเขมร เพื่อเป็นการแก้แค้นเขมรที่ยกทัพมาตีชายแดนไทย ต่อจากนั้น เนื้อเรื่องกล่าวถึงพระเจ้าหงสาวดีโปรดให้พระมหาอุปราชากรีฑาทัพมาตีไทย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบ ...