การเรียนวิชาเพศศึกษามีความจำเป็นอย่างไร

ปัญหาทางเพศพบได้บ่อยในวัยรุ่น เนื่องจากวัยนี้เริ่มมีความสนใจทางเพศ มีความต้องการทางเพศ แต่ขาดความรู้และการควบคุมตนอง การสอนเรื่องเพศแก่วัยรุ่น เป็นกระบวนการศึกษาที่จำเป็นเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เพื่อให้มีความรู้ มีทัศนคติ และมีพฤติกรรมในเรื่องเพศถูกต้อง ตลอดจนสามารถปรับตัวตามพัฒนาการของชีวิตอย่างเหมาะสม1 การสอนเรื่องเพศมีเนื้อหาที่ครอบคลุมกว้างขวางต่อเนื่องมาตั้งแต่เด็ก วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจและสังคมอย่างมากและรวดเร็ว การเรียนรู้เรื่องเพศเกิดได้จากการสอนและแบบอย่างโดยพ่อแม่ ครอบครัว ครู เพื่อน และสังคมสิ่งแวดล้อม จนวัยรุ่นเกิดการเรียนรู้เป็นเอกลักษณ์ทางเพศ มีทักษะสังคมและบทบาททางเพศที่เหมาะสม สามารถควบคุมตัวเองในเรื่องเพศได้ การสอนเรื่องเพศจำเป็นต้องให้สอดคล้องตามพัฒนาการปกติ ผู้สอนเรื่องเพศควรมีความรู้เรื่องพัฒนาการทางเพศของวัยรุ่น เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างถูกต้อง

วัตถุประสงค์การสอนเพศศึกษา
การสอนเรื่องเพศสามารถสอนได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก คู่ขนานไปกับการส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ในครอบครัวพ่อแม่ควรเป็นผู้สอน เมื่อเข้าโรงเรียนครูควรสอน โดยให้ครอบคลุมเนื้อหาที่จำเป็น และสอดคล้องไปกับการสอนของพ่อแม่ที่บ้าน เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นพ่อแม่และครูควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เรื่องนี้ โดยมีแนวทางที่ถูกต้อง
การสอนเพศศึกษาในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันกำหนดหลักสูตรการเรียนรู้เรื่อง “เพศศึกษา” ในนักเรียน2 โดยแบ่งการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ออกเป็น 6 ด้าน ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักในการสอนทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ดังนี้
1. พัฒนาการทางเพศ(Human sexual development) ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเจริญเติบโต พัฒนาการทางเพศตามวัย ทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม
2. สัมพันธภาพ (Interpersonal relation) การสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลในสังคม การสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนเพศเดียวกัน และต่างเพศ การเลือกคู่ การเตรียมตัวก่อนสมรส และการสร้างครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา พ่อ-แม่-ลูก
3. ทักษะส่วนบุคคล (Personal and communication skills) ความสามารถในการจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เช่น ทักษะการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ และควบคุมความสัมพันธ์ให้อยู่ในความถูกต้องเหมาะสม ทักษะการปฏิเสธ ทักษะการขอความช่วยเหลือ ทักษะการจัดการกับอารมณ์ ทักษะการตัดสินใจและแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ
4. พฤติกรรมทางเพศ (Sexual behaviors) การแสดงออกถึงพฤติกรรมทางเพศหรือบทบาททางเพศ (Gender role) ที่เหมาะสมกับบทบาททางเพศและวัย เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่เกิดความเสี่ยงทางเพศ(เช่น เพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องการตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อ) การสร้างเอกลักษณ์ทางเพศที่เหมาะสม ความเสมอภาคทางเพศ และบทบาททางเพศที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมอย่างสมดุล
5. สุขอนามัยทางเพศ (Sexual health) ความรู้ความเข้าใจและสามารถดูแลสุขภาพอนามัยทางเพศได้ตามวัย เช่น การดูแลรักษาอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ อนามัยการเจริญพันธุ์ การสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่างๆและความผิดปกติในลักษณะและหน้าที่ของอวัยวะเพศ การหลีกเลี่ยงอันตรายจากการชอกช้ำ บาดเจ็บ อักเสบ และติดเชื้อ รวมถึงการถูกล่วงเกินทางเพศ
6. สังคมและวัฒนธรรม (Society and culture) ค่านิยมในเรื่องเพศที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทย การให้เกียรติเพศตรงข้าม การรักนวลสงวนตัว ไม่ปล่อยใจให้เกิดเพศสัมพันธ์โดยง่าย การปรับตัวต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะจากสื่อที่ยั่วยุทางเพศต่างๆ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ
ในการสอนเพศศึกษาในนักเรียนดังกล่าว ได้กำหนดช่วงชั้นที่สอนออกเป็น 4 ระดับ ช่วงชั้นแรกตั้งแต่ ป.1-32 ช่วงชั้นที่2 ตั้งแต่ ป.4-6 3 ช่วงชั้นที่3 ตั้งแต่ ม.1-3 4 ช่วงชั้นที่ 4 ตั้งแต่ ม.4-65 โดยออกแบบให้เนื้อหาสอดคล้องกับการเรียนรู้ และแทรกลงไปในการเรียนของเด็ก ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย

หลักการสอน
หลักการสอนเพศศึกษา มีดังต่อไปนี้6
1. สอนให้เด็กรับรู้ไปตามพัฒนาการทางเพศ และพัฒนาการทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่เกิด แบ่งสอนตามวัยและความสามารถในการรับรู้ของเด็ก ผู้สอนต้องมีความรู้ว่าวัยใดควรให้ความสนใจเรื่องใด เช่น วัยอนุบาลควรให้ความสนใจกับการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศ พ่อแม่มีความสำคัญที่เด็กจะพัฒนาบทบาททางเพศตามเพศของตนเองอย่างถูกต้อง
2. ผู้สอนควรมีความรู้ทางเพศอย่างถูกต้อง ควรสนใจ หาความรู้หรือสอบถามจากผู้รู้ หนังสือ หรือสื่อที่มีคุณภาพดี การหาความรู้เรื่องนี้ทำให้พ่อแม่มีทัศนคติที่เป็นกลางกับเรื่องเพศ และรู้จักสื่อที่เหมาะสม ควรเลือกสื่อที่ง่าย ให้ความรู้ถูกต้อง เหมาะกับวัย ไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ พ่อแม่สามารถหาความรู้จากหนังสือ วีดิโอ ซีดี ฯลฯ ควรอ่านให้เข้าใจก่อน ถ้าจะนำไปสอน ควรวางแผนในใจว่าจะสอนอย่างไร ใช้คำพูดแบบใดจึงจะเหมาะสม คิดล่วงหน้าไว้ก่อนว่าเด็กอาจสงสัยเรื่องใด เพื่อเตรียมตอบคำถามง่ายๆของเด็กอยากรู้ บางครั้งอาจแนะนำให้เด็กเอาหนังสือไปอ่านก่อนล่วงหน้า แล้วค่อยมาพูดคุยกันตอนหลัง ให้เด็กเตรียมคำถามที่สงสัยมาคุยกัน คำถามใดที่ตอบไม่ได้ ให้บอกตรงๆว่าไม่รู้ แต่จะไปถามใครที่รู้มาบอกภายหลัง หรือให้เด็กลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเองไปก่อนจากสื่อที่มีอยู่ แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันกับพ่อแม่ในภายหลัง
3. การสอนเรื่องเพศควรคู่ขนานไปตามการเรียนรู้ปกติ ตามจังหวะ เวลา และสถานการณ์ที่เหมาะสม รู้จักใช้เหตุการณ์ที่เกิดในชีวิตประจำวันเป็นตัวอย่างในการเรียนรู้ หรือกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ เช่นเหตุการณ์สุนัขที่บ้านคลอดลูก สามารถนำมาสอนเรื่องการตั้งครรภ์ และการคลอดลูกได้
4. สอนให้เหมาะกับความสนใจ ความอยากรู้ และความสามารถทางสติปัญญา ที่เด็กจะรับได้และเข้าใจได้ เด็กเล็กต้องมีวิธีบอก ใช้คำพูดง่ายๆ ให้สั้นๆ เข้าใจง่าย เป็นรูปธรรม มีตัวอย่างประกอบ ไม่ควรอธิบายยืดยาวจนเด็กสับสน เด็กโตสามารถอธิบายมากขึ้น ให้ความรู้ที่ซับซ้อนได้ พี่น้องอายุต่างกัน การอธิบายย่อมไม่เหมือนกัน เวลาสอนต้องสังเกตด้วยว่าเด็กเข้าใจหรือไม่ ถ้าสงสัยให้มีโอกาสถามทันที
5. สอนก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือก่อนเกิดปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามอายุและพัฒนาการ เช่น การสอนเรื่องประจำเดือนควรสอนในระดับประถมปลาย (ป. 5-6)ซึ่งเป็นวัยก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อย การสอนการป้องกันตัวเองทางเพศควรสอนตั้งแต่เล็กและต่อเนื่องไปจนถึงวัยรุ่น เนื่องจากทุกวัยอาจโดนละเมิดทางเพศได้ ในรูปแบบที่แตกต่างกัน
6. ผู้สอนมีท่าทีและทัศนคติเป็นกลาง ผู้สอนไม่ควรรังเกียจหรืออายเวลาสอนเรื่องเพศ พยายามพูดด้วยท่าทีสงบ เป็นกลาง เตรียมคำพูดล่วงหน้า และฝึกฝนให้คล่องด้วยตนเอง ไม่แสดงความรู้สึกด้านลบ เมื่อเด็กแสดงความสนใจเรื่องเพศ ควรเปิดใจกว้าง คิดเสมอว่าความอยากรู้อยากเห็นและการแสดงออกทางเพศ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของวัยรุ่น การสอนให้เขารู้อย่างถูกต้องไม่มีผลเสีย ดีกว่าให้เขารู้เองจากแหล่งอื่นซึ่งมีโอกาสเรียนรู้แบบผิดๆ
7. ควรให้ความรู้อย่างถูกต้อง ไม่ควรบ่ายเบี่ยงหรือหลอกเด็ก หรือพูดให้เด็กเข้าใจผิด ถ้ารู้ว่าเด็กเข้าใจผิดควรรีบแก้ไขทันที เด็กอาจสับสนถ้าได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่ครบ หรือข้อมูลขัดแย้งกัน
8. พ่อแม่ และ ครูช่วยกันสอนให้สอดคล้องกัน เมื่อไม่ทราบหรือไม่เข้าใจ ควรปรึกษาแพทย์

เป้าหมายของพัฒนาการทางเพศ
พัฒนาการทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการบุคลิกภาพ ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เด็ก มีความต่อเนื่องไปจนพัฒนาการเต็มที่ในวัยรุ่น หลังจากนั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวตลอดชีวิต เมื่อสิ้นสุดวัยรุ่น จะเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งต่อไปนี้7
1. มีความรู้เรื่องเพศ ตามวัย และพัฒนาการทางเพศ ตั้งแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยของร่างกาย และจิตใจสังคม ของทั้งตนเองและผู้อื่น เรียนรู้เรื่องของเพศตรงกันข้าม ความแตกต่างกันระหว่างเพศด้วย
2. มีเอกลักษณ์ทางเพศของตนเอง ได้แก่ การรับรู้เพศตนเอง(core gender) บทบาททางเพศและพฤติกรรมทางเพศ(gender role) มีความพึงพอใจทางเพศหรือความรู้สึกทางเพศต่อเพศตรงข้ามหรือต่อเพศเดียวกัน(sexual orientation) วัยรุ่นจะรู้ใจตนเองว่ามีความรู้สึกและความต้องการทางเพศแบบใด ชอบเพศเดียวกัน (homosexualism) หรือชอบเพศตรงข้าม (heterosexualism)
3. มีพฤติกรรมการรักษาสุขภาพทางเพศ (sexual health behaviors) ได้แก่ การรู้จักร่างกายและหน้าที่อวัยวะเพศของตนเอง ดูแลรักษาทำความสะอาด ป้องกันการบาดเจ็บ การติดเชื้อ โรคติดต่อทางเพศ การถูกล่วงเกินละเมิดทางเพศ การป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ (เพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การทำแท้ง)
4. ทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่จะเป็นคู่ครอง การเลือกคู่ครอง การรักษาความสัมพันธ์นี้ให้ยาวนาน การแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตร่วมกัน การสื่อสาร การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่ครองอย่างมีความสุข การวางแผนชีวิตและครอบครัว
5. บทบาทในครอบครัว บทบาทและหน้าที่สำหรับการเป็นลูก การเป็นพี่-น้อง และสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว หน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นพ่อแม่ ตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมของสังคม
6. ทัศนคติทางเพศที่ถูกต้อง ภูมิใจพอใจในเพศของตนเอง ไม่รังเกียจหรือปิดบัง ปิดกั้นการเรียนรู้ทางเพศที่เหมาะสม รู้จักควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้แสดงออกถูกต้อง ให้เกียรติผู้อื่น ไม่ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้อื่น ยับยั้งใจตนเองไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร

พัฒนาการทางเพศในวัยรุ่น
การเข้าใจพื้นฐานพัฒนาการทางเพศในวัยรุ่น จะช่วยให้ผู้สอน มีแนวทาง และกำหนดวัตถุประสงค์การสอน ให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเพศปกติ ดังนี้8
วัยรุ่นตอนต้น อายุ 12-18 ปี
เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจสังคมทางเพศอย่างมาก ได้แก่
พัฒนาการทางร่างกาย ( Physical development ) มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั่วไป และการเปลี่ยนแปลงทางเพศ วัยนี้ มีการสร้างและหลั่งฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนของการเจริญเติบโตอย่างมากและรวดเร็ว ร่างกายเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แขนขายาวขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงอื่นประมาณ 2 ปี เพศหญิงมีไขมันมากกว่าชาย เพศชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าทำให้แข็งแรงกว่า
การเปลี่ยนแปลงทางเพศ (sexual changes) ที่เห็นได้ชัดเจน คือวัยรุ่นชายจะเกิดนมขึ้นพาน(หัวนมโตขึ้นเล็กน้อย กดเจ็บ) เสียงแตก หนวดเคราขึ้น และเริ่มมีฝันเปียก (nocturnal ejaculation – การหลั่งน้ำอสุจิในขณะหลับ มักสัมพันธ์กับความฝันเรื่องเพศ) การเกิดฝันเปียกครั้งแรกเป็นสัญญาณวัยรุ่นของเพศชาย ส่วนวัยรุ่นหญิงจะเป็นสาวขึ้น คือ เต้านมมีขนาดโตขึ้น ไขมันที่เพิ่มขึ้นทำให้มีรูปร่างทรวดทรง สะโพกผายออก และเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก (menarche) การมีประจำเดือนครั้งแรก เป็นสัญญาณเข้าสู่วัยรุ่นในหญิง ทั้งสองเพศมีการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะเพศที่ขนาดโตขึ้น และเปลี่ยนเป็นแบบผู้ใหญ่ มีขนขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ มีกลิ่นตัว มีสิวขึ้น
พัฒนาการทางจิตใจ (Psychological Development) วัยนี้สติปัญญาพัฒนาสูงขึ้น จนมีความคิดเป็นรูปธรรม ความสามารถเรียนรู้ เข้าใจเหตุการณ์ต่างๆ ได้ลึกซึ้ง มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์สิ่งต่างๆได้มากขึ้นตามลำดับ สามารถคิดได้ดี คิดเป็น คิดรอบคอบได้หลายด้าน ทำให้สามารถตัดสินใจได้ ความสามารถทางสติปัญญาเพิ่มมากขึ้นจนเหมือนผู้ใหญ่ แต่ยังขาดประสบการณ์ ขาดความรอบคอบ มีความหุนหันพลันแล่น ขาดการยั้งคิดหรือไตร่ตรอง ทำอะไรวู่วามหรือทำตามอารมณ์ ตามความอยาก ตามสัญชาติญาณ หรือตามความต้องการทางเพศที่มีมากขึ้น พัฒนาการทางจิตใจช่วยให้วัยรุ่น มีการยั้งคิด ควบคุม และปรับตัว (adjustment) ต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีในเวลาต่อมา
เอกลักษณ์ (identity) วัยรุ่นเริ่มแสดงออกถึงสิ่งตนเองชอบ สิ่งที่ตนเองถนัด ซึ่งแสดงถึงความเป็นตัวตนของเขาที่โดดเด่น ได้แก่ วิชาที่เขาชอบเรียน กีฬาที่ชอบเล่น งานอดิเรก การใช้เวลาว่างให้เกิดความเพลิดเพลิน กลุ่มเพื่อนที่ชอบและสนิทสนมด้วย โดยเขาจะเลือกคบคนที่มีส่วนคล้ายคลึงกัน หรือเข้ากันได้ และเกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดแบบอย่างจากกลุ่มเพื่อนนี้เอง ทั้งแนวคิด ค่านิยม ระบบจริยธรรม การแสดงออกและการแก้ปัญหาในชีวิต จนสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของตน และกลายเป็นบุคลิกภาพนั่นเอง วัยนี้จะมีเอกลักษณ์ทางเพศ(sexual identity) ชัดเจนขึ้น ประกอบด้วย การรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศใด (core gender identity) ซึ่งจะคงที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กอายุ 3 ปี พฤติกรรมที่แสดงออกทางเพศ (gender role) คือพฤติกรรมซึ่งเด็กแสดงออกให้ผู้อื่นเห็น ได้แก่ กิริยาท่าทาง คำพูด การแต่งกาย เหมาะสมและตรงกับเพศตนเอง และความรู้สึกพึงพอใจทางเพศ (sexual orientation) คือความรู้สึกทางเพศกับเพศใด ทำให้วัยรุ่นบอกได้ว่าตนเองมีความชอบทางเพศกับเพศเดียวกัน(homosexualism) กับเพศตรงข้าม (heterosexualism) หรือได้กับทั้งสองเพศ (bisexualism)
ความพึงพอใจทางเพศนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ทำได้ยาก วัยรุ่นจะรู้ด้วยตัวเองว่า ความพึงพอใจทางเพศของตนแบบนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จะควบคุมได้เฉพาะการแสดงออกภายนอก ไม่ให้แสดงออกผิดเพศมากจนเป็นที่ล้อเลียนกลั่นแกล้งของเพื่อนๆ
วัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับจากผู้อื่น (acceptance) การยอมรับจากกลุ่มเพื่อน การได้รับการยอมรับนี้ช่วยให้จิตใจเกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เห็นคุณค่าของตนเอง มั่นใจตนเอง วัยนี้จึงมักอยากเด่นอยากดัง อยากให้มีคนรู้จักมากๆ อยากมีความสามารถพิเศษ อยากเป็นที่ชื่นชม ชื่นชอบของคนอื่นๆ บางครั้งวัยรุ่นต้องการเป็นที่ยอมรับชื่นชมจากผู้อื่นมากๆ โดยแสดงออกเป็นพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น การแต่งกายยั่วยวนทางเพศ เพื่อให้เป็นที่สนใจของเพศตรงข้าม วัยรุ่นที่เป็นรักร่วมเพศอาจแสดงออกผิดเพศมากขึ้น เพื่อให้เป็นที่สนใจและยอมรับ หรือเมื่อถูกกีดกันจากเพศเดียวกัน ก็อาจจับกลุ่มพวกที่แสดงออกผิดเพศเหมือนกัน เป็นการแสวงหากลุ่มที่ยอมรับ แต่ทำให้การแสดงออกผิดเพศมากขึ้น
ความภาคภูมิใจตนเอง (self esteem) เกิดจากการที่ตนเองเป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนอื่น รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นคนดีและมีประโยชน์แก่ผู้อื่น ทำอะไรได้สำเร็จ เกิดความรู้สึกพอใจตนเอง ภูมิใจตนเอง เมื่อถึงขั้นนี้ เวลาทำอะไรสำเร็จจะไม่จำเป็นต้องการการชื่นชมจากภายนอก เพราะเขาสามารถชื่นชมตนเองได้ การเปลี่ยนแปลงทางเพศในวัยนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเอง จากการมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่ทำให้เป็นที่สนใจของผู้อื่น ในทางตรงข้ามเด็กที่เปลี่ยนแปลงช้า หรือไม่มีลักษณะเด่นทางเพศอาจเสียความภูมิใจในตนเอง เสียความมั่นใจตนเอง (self confidence) วัยรุ่นบางคนไม่มีข้อดีข้อเด่นด้านใดเลย อาจแสดงออกทางเพศมากขึ้นเพื่อให้ตนเองรู้สึกภูมิใจ หรือบางคนมีแฟนเร็วหรือมีเพศสัมพันธ์เร็วเพราะเป็นวิธีที่ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีคนต้องการ มีคนทำดีด้วย วัยรุ่นที่มีปัญหาครอบครัวจึงมักมีพฤติกรรมทางเพศเร็ว การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ เพื่อชดเชยหรือทดแทนความรู้สึกเบื่อ เหงา ไร้ค่า แต่เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ว อาจไม่ได้รู้สึกตนเองมีคุณค่ามากขึ้น ก็แสวงหาเพศสัมพันธ์กับคนใหม่ บางคนใช้เรื่องเพศเป็นสะพานสู่ความต้องการทางวัตถุ ได้เงินตอบแทน หรือโอ้อวดเพื่อนๆว่าเป็นที่สนใจ มีพลังทางเพศมาก
ความเป็นตัวของตัวเอง (independent : autonomy) วัยนี้รักอิสระ เสรีภาพ ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาใดๆ ชอบคิดเอง ทำเอง พึ่งตัวเอง เชื่อความคิดตนเอง มีปฏิกิริยาตอบโต้ผู้ใหญ่ที่บีบบังคับสูง ความอยากรู้อยากเห็นอยากลองมีสูงสุดในวัยนี้ ทำให้อาจเกิดพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย ถ้าวัยรุ่นขาดการยั้งคิดที่ดี เมื่อมีความสนใจทางเพศ อาจมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เช่น แต่งกาย การเที่ยวกลางคืน ดื่มเหล้าหรือเสพยาเสพติด ทำให้เกิดเพศสัมพันธ์ตามมา การจัดขอบเขตในวัยรุ่นจึงต้องให้พอดี ถ้าห้ามมากเกินไป วัยรุ่นอาจแอบทำนอกสายตาผู้ใหญ่ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยเกินไป วัยรุ่นจะขาดกรอบที่ใช้เป็นหลักในการควบคุมตนเอง การสอนการควบคุมตัวเองเรื่องเพศจึงต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี ฝึกให้คิดด้วยตัวเอง เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเรียนรู้ แต่อยู่ในขอบเขต
การควบคุมตนเอง (self control) วัยนี้เรียนรู้ที่จะควบคุมความคิด การรู้จักยั้งคิด การคิดให้เป็นระบบ เพื่อให้สามารถใช้ความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่วัยรุ่นบางคนอาจขาดการควบคุมตนเอง เมื่อเกิดความรู้สึกทางเพศหรือความต้องการทางเพศ อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ วัยนี้ควรสอนให้ควบคุมตนเองโดยอยากควบคุมจากใจตนเอง ให้รู้ว่า ถ้าไม่ควบคุม จะเกิดข้อเสียอะไรบ้าง ถ้าควบคุมจะมีข้อดีอย่างไร การฝึกให้วัยรุ่นใช้สมองส่วนคิดมากขึ้นนี้ จะทำให้เกิดการคิดก่อนทำ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ สมอง “ส่วนคิด” จะมาควบคุมสมอง “ส่วนอยาก” หรือควบคุมด้านอารมณ์ได้มากขึ้น อารมณ์เพศสามารถควบคุมได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
อารมณ์ (mood) อารมณ์จะปั่นป่วน เปลี่ยนแปลง หงุดหงิด เครียด โกรธ กังวล ง่าย อาจมีอารมณ์ซึมเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ อารมณ์ไม่ดีเหล่านี้อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว มีผลต่อการเรียนและการดำเนินชีวิต ในวัยรุ่นตอนต้น การควบคุมอารมณ์ยังไม่ค่อยดีนัก บางครั้งยังทำอะไรตามอารมณ์ตัวเอง แต่จะค่อยๆดีขึ้นเมื่อโตขึ้น วัยรุ่นจะสามารถจัดการกับความวิตกกังวล และอารมณ์ซึมเศร้าได้ ด้วยการเข้าใจ รู้อารมณ์ตัวเอง สงบอารมณ์ได้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ปรึกษาหารือ กิจกรรมเบนความรู้สึก ฝึกสติสมาธิ หรือกิจกรรมผ่อนคลายตนเอง ฝึกปรับเปลี่ยนความคิด การแก้ปัญหา
วัยรุ่นบางคนอาจหันไปใช้กิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดหรือเพิ่มความสนุกสนานแต่เกิดปัญหาตามมา ได้แก่ การมีแฟน มีเพศสัมพันธ์ การใช้เหล้าและยาเสพติด แต่เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว และทำให้เกิดปัญหาแทรกทับซ้อนมากขึ้น จึงควรช่วยฝึกให้วัยรุ่นใช้วิธีแก้ไขปัญหาอารมณ์อย่างถูกต้อง
อารมณ์เพศเกิดขึ้นวัยนี้มาก ทำให้มีความสนใจเรื่องทางเพศ หรือมีพฤติกรรมทางเพศ เช่นการมีเพื่อนต่างเพศ การดูสื่อยั่วยุทางเพศรูปแบบต่าง การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในวัยนี้ แต่ควรให้มีแต่พอควร ไม่หมกมุ่นหรือปล่อยให้มีสิ่งแวดล้อมกระตุ้นทางเพศมากเกินไป วัยนี้อาจแสดงพฤติกรรมทางเพศบางอย่างอาจเป็นปัญหา เช่น เบี่ยงเบนทางเพศ กามวิปริต หรือการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น การฝึกให้วัยรุ่นเข้าใจ ยอมรับ และจัดการอารมณ์เพศอย่างถูกต้องดีกว่าปล่อยให้วัยรุ่นเรียนรู้เอง
จริยธรรม (moral development) วัยนี้สามารถพัฒนาให้มีจริยธรรม แยกแยะความผิดชอบชั่วดีได้ เริ่มมีระบบมโนธรรมของตนเอง ต้องการความถูกต้อง ความชอบธรรมในสังคม ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการเป็นคนดี เป็นที่ชื่นชอบของคนอื่น และบางคนอาจรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับความไม่ถูกต้องในสังคม หรือในบ้าน แม้แต่พ่อแม่ของตนเองเขาก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้ดีสมบูรณ์แบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป เมื่อรู้ว่าอะไรผิดถูก วัยรุ่นตอนต้นจะเริ่มมีการควบคุมตนเอง ในระยะแรกอาจยังไม่ดีนัก แต่เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นตอนปลาย การควบคุมตนเองจะดีขึ้น จนเป็นระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ คือรู้ว่าอะไรไม่ควรทำ และสามารถควบคุมตนเองได้ด้วย จริยธรรมวัยนี้เกิดจากการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับคนใกล้ชิด คือพ่อแม่ ครู และเพื่อน การมีแบบอย่างที่ดี จะช่วยให้วัยรุ่นมีจริยธรรมที่ดีด้วย เพื่อนมีอิทธิพลสูงในการสร้างทัศนคติค่านิยมและจริยธรรม ถ้าเพื่อนไม่ดี อาจชักจูงให้เด็กขาดระบบจริยธรรมที่ถูกต้อง โดยเฉพาะจริยธรรมทางเพศ วัยรุ่นที่อยู่ในกลุ่มที่เห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องปกติ จะมีเพศสัมพันธ์สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไปอื่นๆ
จริยธรรมทางเพศในวัยรุ่นนี้ ควรให้เกิดความเข้าใจต่อเพศตรงข้าม ให้เกียรติ และยับยั้งใจทางเพศ ไม่ละเมิดทางเพศหรือล่วงเกินผู้อื่น
พัฒนาการทางสังคม (social development) วัยนี้จะเริ่มห่างจากทางบ้าน ไม่ค่อยสนิทสนมคลุกคลีกับพ่อแม่พี่น้องเหมือนเดิม แต่สนใจเพื่อนมากกว่า ใช้เวลากับเพื่อนนานๆ มีกิจกรรมนอกบ้านมาก ไม่อยากไปไหนกับทางบ้าน และเริ่มมีความสนใจเพศตรงข้าม สนใจสังคมสิ่งแวดล้อม ปรับตัวเองให้เข้ากับกฎเกณฑ์กติกาของกลุ่ม ของสังคมได้ดีขึ้น มีความสามารถในทักษะสังคม (social skills and life skills) การสื่อสารเจรจา การแก้ปัญหา การประนีประนอม การยืดหยุ่นโอนอ่อนผ่อนตามกัน และการทำงานร่วมกับผู้อื่น พัฒนาการทางสังคมที่ดีจะเป็นพื้นฐานมนุษยสัมพันธ์ที่ดี และบุคลิกภาพที่ดี สร้างความสัมพันธ์กับคนที่พึงพอใจทางเพศ และรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวจนตกลงร่วมเป็นคู่ครอง และสร้างครอบครัวให้ยืนยาวต่อไปได้
การเรียนรู้ทางสังคมนี้ นอกจากแบบอย่างของชีวิตครอบครัวพ่อแม่แล้ว สภาพสังคม วัฒนธรรมเป็นแบบอย่างให้ดำเนินรอยตามด้วย

เป้าหมายในการสอนเพศศึกษาในวัยรุ่น
การสอนเรื่องเพศในวัยรุ่น9 ควรกำหนดเป้าหมายเป็น 2 ช่วงอายุ ดังนี้
วัยรุ่นตอนต้น(12-15 ปี)
วัยนี้เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น พฤติกรรมทางเพศเห็นมากขึ้นและชัดเจนขึ้น เนื่องจากเด็กเริ่มมีความรู้สึกทางเพศ และความสนใจทางเพศ จากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศ วัยนี้ต้องการความรู้เรื่องเพศที่แตกต่างกันระหว่างวัยรุ่นตอนต้นและตอนปลาย และมักแสวงหาจากแหล่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ตามหนังสือหรือ เว็บไซต์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่เป็นสื่อที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ หรือเป็นเพศวิปริต ทำให้วัยรุ่นเรียนรู้ไม่ถูกต้อง หรือหมกมุ่นเรื่องเพศมากเกินไป วัยนี้ควรมีเวลาพูดคุยให้ความรู้ และเปิดโอกาสให้วัยรุ่นซักถามข้อสงสัยเรื่องเพศ
ในโรงเรียน ควรมีกิจกรรมที่สอนเรื่องเพศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในวัยรุ่น และการจัดการกับอารมณ์เพศตนเอง ควรสอนบทบาททางเพศที่เหมาะสม ตามขนบธรรมเนียมประเพณีด้วย
1. พัฒนาการทางเพศ วัยนี้ควรสอนให้เด็กเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ อิทธิพลของฮอร์โมนส์ที่มีต่อร่างกายและจิตใจ การเกิดประจำเดือน ฝันเปียก อารมณ์เพศ ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศเมื่อมีอารมณ์เพศ ได้แก่ การแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และการมีสิ่งหล่อลื่นออกมาในช่องคลอดหญิง
วัยนี้เริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีความรู้สึกทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือกับเพศตรงข้าม เรียกว่า ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation) ถ้าชอบเพศตรงข้ามเรียกว่า รักต่างเพศ(heterosexuality) ถ้าชอบเพศเดียวกันเรียกกว่า รักร่วมเพศ(homosexuality) ในกลุ่มรักร่วมเพศยังแบ่งออกเป็น รักร่วมเพศชาย(gay) และรักร่วมเพศหญิง(lesbian)
ในเด็กผู้หญิงควรสอนการดูแลเรื่องประจำเดือน การปวดประจำเดือน การจัดการกับอารมณ์ที่แปรปรวนก่อนมีประจำเดือน ประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ
2. สัมพันธภาพ วัยนี้ควรสอนให้มีเพื่อนต่างเพศ ทักษะสังคมในการคบเพื่อนต่างเพศ การแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อสนใจเพศตรงข้าม ใช้เวลาโดยไม่รบกวนหน้าที่ประจำของตนเอง ไม่ให้ความสัมพันธ์มากระทบการใช้เวลาในการเรียน หรือความรับผิดชอบอื่นๆ ยังไม่ควรคบใครแบบแฟน แต่ใช้ความสัมพันธ์แบบเพื่อนเพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอ และการปรับตัวเข้าหากัน การระมัดระวังในการใกล้ชิดกัน ความแตกต่างระหว่างความรู้สึกของหญิงชายเวลาใกล้ชิดกัน เพศชายมีแนวโน้มจะเกิดความรู้สึกทางเพศรุนแรงและอยากมีเพศสัมพันธ์ ในขณะที่ฝ่ายหญิงรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์มากเท่า การใกล้ชิดกันทำให้มีโอกาสเกิดเพศสัมพันธ์ได้ง่าย
3. ทักษะส่วนบุคคล ทักษะในการสื่อสารเจรจา การสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนาน การควบคุมตนเอง ควบคุมอารมณ์ จัดการกับอารมณ์และความต้องการทางเพศ
4. พฤติกรรมทางเพศ ทัศนคติและบทบาททางเพศ ควรได้รับการปลูกฝังให้เป็นกลาง สามารถสนใจและศึกษาเรื่องเพศได้ในกรอบที่พอเหมาะ ทัศนคติถูกต้องต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ไม่รู้สึกผิดบาปที่ทำ แต่ควบคุมให้มีพอสมควรไม่หมกมุ่นจนเกินไป มีการแต่งกายที่เหมาะสม ถูกต้องตามเพศ มีความความสนใจเพศตรงข้ามได้แต่แสดงออกถูกต้อง ไม่ละเมิดหรือฉวยโอกาสทางเพศต่อผู้อื่น
5. สุขอนามัยทางเพศ ได้แก่ การรักษาความสะอาดเวลามีประจำเดือน การทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง เมื่อมีอารมณ์เพศ มีการจัดการกับอารมณ์เพศอย่างถูกต้อง ทางออกทางเพศ(sexual outlet) ได้แก่ การระบายด้วยการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน ไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงบริการทางเพศ นอกจากนี้ยังมีวิธีการระบายอารมณ์เพศด้วยวิธีอื่น ได้แก่ การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา กิจกรรมกลุ่ม งานอดิเรก การป้องกันการหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป โดยการจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ตามลำพัง อยู่คนเดียว หรืออยู่กับเพื่อนต่างเพศตามลำพัง หลีกเลี่ยงเหล้าและยาเสพติด หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยงต่างๆ เก็บสิ่งกระตุ้นยั่วยุทางเพศ เช่น รูปภาพ ปฏิทินที่มีรูปกระตุ้นทางเพศ
6. สังคมและวัฒนธรรม ความเสี่ยงทางเพศ ควรให้เด็กมีพฤติกรรมเหมาะสมกับสังคมประเพณี เช่น การแต่งกาย ไม่ควรยั่วยวนทางเพศ ควรให้ถูกต้องตามเพศตนเอง ไม่ส่งเสริมให้เด็กแต่งกาย หรือมีกิริยาท่าทางผิดเพศ แม้ว่าเด็กจะเริ่มรู้ตนองว่าเป็นรักร่วมเพศ ก็ไม่ควรให้แสดงออกมากจนคนอื่นๆเห็นชัดเกินไป จนอาจถูกล้อเลียน

วัยรุ่นตอนปลาย (15-18 ปี)
วัยนี้โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องเพศได้ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ควรมีคำแนะนำในการหาความรู้เรื่องเพศ โดยการมีสื่อที่ถูกต้อง เช่น หนังสือ เทปโทรทัศน์ หรือเว็บไซต์ที่ให้ความรู้อย่างมีคุณภาพ ให้วัยรุ่นได้ศึกษาได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ควรมีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสำรวจว่าวัยรุ่นเรียนรู้อย่างถูกต้องหรือไม่ หรือเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ซักถามในเรื่องเพศเป็นครั้งคราว
ในโรงเรียน การสอนเรื่องเพศในชั้น หรือเป็นกลุ่ม จะช่วยให้วัยรุ่นปรับทัศนคติทางเพศได้ถูกต้องขึ้น เช่น การให้เกียรติกันทางเพศ การไม่มีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น เป็นต้น
สิ่งที่สอนในวัยรุ่นตอนปลายนี้ ควรช่วยเขาสามารถมีชีวิตครอบครัวได้อย่างมีความสุข ป้องกันความเสี่ยงต่างๆทางเพศได้ การสอนค่อยเพิ่มมากขึ้นตามสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมของวัยรุ่น ดังนี้
1. พัฒนาการทางเพศ วัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจและสังคมเต็มที่ บอกผู้อื่นได้ชัดเจนว่า ตนเองมีความพึงพอใจทางเพศกับเพศเดียวกัน หรือเพศตรงข้าม หรือ ทั้งสองเพศ มีเอกลักษณ์ทางเพศแน่นอน ชัดเจน และพึงพอใจต่อเอกลักษณ์นี้ วัยนี้อาจเรียนรู้เรื่องเพศมาไม่ถูกต้องจากเพื่อนๆ หรือสื่ออื่นๆ จึงควรหาโอกาสพูดคุยกับวัยรุ่น เพื่อสอบถามความรู้ ความเชื่อ หรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง และแก้ไขให้ถูกต้อง วัยนี้ควรยอมรับเอกลักษณ์ทางเพศของตน
2. สัมพันธภาพ วัยนี้เริ่มสนใจทางเพศอย่างจริงจัง ต้องการมีแฟน ควรสอนให้รู้จักการเลือกแฟน การคบแบบแฟน การสังเกตนิสัยใจคอ ความเข้ากันได้ทั้งร่างกาย จิตใจอารมณ์ แยกแยะข้อดีข้อเสียของตนเองและแฟนได้ มีทักษะในการปรับตัวเข้าหากัน เมื่อพบว่าไม่เหมาะสมกัน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ก่อนที่ความสัมพันธ์จะลึกซึ้งยาวนานเกิดไป จนอาจเลิกคบกันไม่ได้ ควรสอนเรื่องชีวิตครอบครัว การเลือกคู่ครอง การแต่งงาน และปรับตัวในชีวิตสมรส
3. ทักษะส่วนบุคคล มีทักษะในการปรับตัว สื่อสารบอกความต้องการตนเอง ให้สามารถตอบสนองความต้องการของกันและกันได้อย่างสมดุล มีการปรับเปลี่ยนตนเองแก้ไขข้อบกพร่องของตนเองบ้าง เพื่อให้พึงพอใจด้วยกัน มีทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกัน วางแผนอนาคต ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบต่อครอบครัว ทำหน้าที่สามี ภรรยา พ่อและแม่ที่ดี การรับผิดชอบต่อครอบครัวต้องทำอย่างไร การเลี้ยงลูกที่ดีทำได้อย่างไร
4. พฤติกรรมทางเพศ ควรสอนวิธีปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ควรสอนเรื่อง การเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน การตรวจทางร่างกายละโรคหรือภาวะที่จำเป็นก่อนแต่งงาน เรื่องการตอบสนองทางเพศปกติ (normal sexual response) การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข ในกรณีที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน หรือเพศสัมพันธ์ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ การทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังเพศสัมพันธ์ ผลที่จะเกิดจากเพศสัมพันธ์ การวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด
5. สุขอนามัยทางเพศ ควรสอนการเปลี่ยนแปลงทางเพศที่จะเกิดในขณะตั้งครรภ์ เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการดูแลหลังการคลอดบุตร การคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การทำหมันและการเลี้ยงดูบุตร การวางแผนครอบครัว การแท้งบุตร ความผิดปกติทางเพศเช่น รักร่วมเพศโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
6. สังคมและวัฒนธรรม ควรสอนให้ยับยั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรส การซื่อสัตย์ต่อคู่ครองตนเอง บทบาทที่ดีของพ่อแม่ เป็นอย่างไร การแสดงออกทางเพศให้เหมาะสมอยู่ในประเพณีที่ดี และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ เช่น การแต่งงานทำได้ในอายุใด การทำผิดทางเพศมีโทษอย่างไรบ้าง

เทคนิควิธีการสอนเรื่องเพศแบบกลุ่ม
การสอนเรื่องเพศในห้องเรียน สามารถทำได้ โดยการจัดกิจกรรม คาบละ 50 นาที โดยใช้เทคนิคกลุ่ม ให้นักเรียนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น และสรุปการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ครูเป็นผู้ช่วยกระตุ้นให้ นักเรียนมีส่วนร่วม ครูชมพฤติกรรมที่ดี เสริมเนื้อหาให้ครบ และสรุปการเรียนรู้
กิจกรรมควรจัดต่อเนื่อง ทุกสัปดาห์ ประมาณ 8-12 ครั้ง ต่อเทอม หรือจัด ตลอดปี 12-24 ครั้ง
ควรเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 เป็นต้นไป

กิจกรรม 1 อยากรู้อะไรบ้าง
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ข่าวหนังสือพิมพ์ เทปวีดิทัศน์ หรือ วิดีโอคลิป ในเรื่องปัญหาทางเพศ ถามนักเรียนว่า มีความคิดอย่างไร 10 นาที
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า ในกลุ่มต้องการเรียนรู้เรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับเพศ ให้ได้มากที่สุด เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม 30 นาที
3. ครูสรุปเรื่องที่ต้องการร่วมกัน เขียนบนกระดานดำ 5 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที
ครูนำผลการนำเสนอมากำหนดหัวข้อกิจกรรมโดยรวม จำนวน 8-12 ครั้ง (แล้วแต่เวลา)

กิจกรรม 2 ประจำเดือน คืออะไร
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ปัญหาที่วัยรุ่นเขียนถามในคอลัมน์ตอบปัญหาทางเพศ จากหนังสือพิมพ์ ถามนักเรียนว่า มีความคิดอย่างไร ใครเคยมีปัญหานี้บ้าง 10 นาที
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า ในกลุ่มอยากรู้เรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับประจำเดือน หรือปัญหาที่เคยเจอ ให้ได้มากที่สุด เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม หลังการนำเสนอของแต่ละกลุ่ม ให้ช่วยกันแสดงความคิดเกี่ยวกับการช่วยเหลือเวลามีปัญหา เช่น อาการปวดประจำเดือน การเลื่อนประจำเดือน 30 นาที
3. ครูอธิบาย เรื่องประจำเดือน การดูแล 5 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที
หมายเหตุ ถ้าเป็นสหศึกษา อาจให้แยกกลุ่มชาย-หญิง ในกลุ่มชาย ให้ระดมสมอง เกี่ยวกับ ความอยากรู้เกี่ยวกับประจำเดือน

กิจกรรม 3 อารมณ์ทางเพศ มาจากไหน
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอ ข่าวหนังสือพิมพ์ คลิปวีดิทัศน์ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (หรือการทำแท้ง) ถามนักเรียนว่า ปัญหานี้เกิดจากสาเหตุใด 5 นาที
ครูสรุปประเด็น อารมณ์เพศในวัยรุ่นอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ (หรือการทำแท้ง)
2. ครู แบ่งนักเรียน เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มละ ไม่เกิน 5 คน ให้ทุกกลุ่มระดมสมองว่า เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ จะจัดการอย่างไร เสร็จแล้วให้นำเสนอทีละกลุ่ม 30 นาที
3. ครูสรุปเรื่องที่ต้องการร่วมกัน เขียนบนกระดานดำ 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 4 เพศหญิง-ชาย แตกต่างกันอย่างไร

1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอรูป จินตนาการทางเพศของชายและหญิงที่แตกต่างกันเมื่ออยู่ใกล้ชิดกัน นักเรียนคิดอย่างไร 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก คำถาม ท่านเห็นด้วยหรือไม่ “เกิดเป็นชายแท้จริงแสนลำบาก เกิดเป็นหญิงนั้นยากกว่าหลายเท่า” เพราะอะไร แบ่งกลุ่ม ให้เลือกว่าจะเป็นหญิง หรือชาย 30 นาที
3. สรุปข้อจำกัดของทั้งสองเพศ บทบาททางเพศ เข้าใจความแตกต่างของสองเพศ ให้รู้สึกดีต่อเพศตนเอง ระมัดระวังตนเอง ป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 5 แฟน เลือกอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอภาพข่าวดารา “เตียงหัก” ถามนักเรียนว่า เกิดจากอะไร ครูสรุปประเด็นนำสู่กิจกรรมหลัก ว่าการเลือกแฟนหรือคู่ครองเป็นเรื่องสำคัญ นักเรียนมีหลักในการเลือกคู่ครองอย่างไร 5 นาที
2. จับคู่ แลกเปลี่ยนกันเปิดเผยว่า เลือกแฟนอย่างไร 30 นาที
3. ครูให้นักเรียนแสดงความเห็นเป็นคู่ สรุปประเด็น 5 นาที
4. ครูสรุปปัจจัยบวก ที่ได้จากนักเรียน อาจให้ลองเรียงลำดับความสำคัญ 5 นาที
1. บุคลิกภาพดี ใจดี มีเมตตา รับฟัง อารมณ์เย็น สนุก ช่วยเหลือ
2. ครอบครัวดี พ่อแม่พี่น้องดี ไม่มีโรคในกรรมพันธุ์ ไม่มีประวัติทำผิดกฎหมาย
3. ฐานะดี
4. สุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีโรคทางจิตเวช เรียนดี มีอาชีพดี มั่นคง
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 6 ก่อนแต่งงาน ควรคบกันนานเท่าใด
1. กิจกรรมนำ ข่าวหนังสือพิมพ์นักร้องชื่อดังแยกทางกับสามี หลังจากแต่งงานกันมา 7 ปี 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก แบ่งกลุ่มย่อยกลุ่มละ 3 คน ปรึกษากันว่าควรคบกันนานเท่าไรจึงจะแต่งงานกัน ถามและแสดงความเห็น 30 นาที
3. ครูสรุป ประเด็นสำคัญถามและแสดงความเห็น 10 นาที
1. รู้จักสั้น ปกปิดตนเอง ไม่แสดงข้อเสีย คบกันยาวได้เห็นธาตุแท้
2. เวลาที่จะเห็นตัวตนจริง 1-2 ปี
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 7 เพศสัมพันธ์ ก่อนแต่งงาน ข้อดีข้อเสีย
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอข่าว “ท้องก่อนแต่ง” ถามความเห็นนักเรียน 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก โต้วาที ประเด็น “เพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน ประโยชน์มีมากกว่า” 30 นาที
3. ครูสรุปการเรียนรู้ ข้อควรระวังสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน 10 นาที
4. ประเด็นชวนคิด
1. การเป็นที่ยอมรับของพ่อแม่ สังคม
2. การตั้งครรภ์
3. ทัศนคติของฝ่ายชายที่อาจเปลี่ยนแปลง
4. การยอมรับผล ถ้าไม่ได้ลงเอยด้วยการแต่งงานกัน
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 8 ทอมดี้ ตุ๊ดแต๋ว ใครเป็นบ้าง
1. กิจกรรมนำ ข่าวการแต่งงาน ระหว่างทอมกับดี้ จากหนังสือพิมพ์ 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก ระดมสมองในกลุ่มย่อย 5 คน ถ้าเพื่อนฉันเป็นแบบนี้ ฉันจะช่วยเหลือเขาอย่างไร 5 นาที
3. ครูเสนอประเด็นชวนคิด เกย์ และ ทอม-ดี้ คืออะไร รู้ได้อย่างไรว่าเป็น จัดเป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่ รักษาได้หรือไม่ จะเปลี่ยนแปลงเพื่อนอย่างไร ขอเชิญฟังจากจิตแพทย์ 30 นาที
4. เชิญจิตแพทย์บรรยายเรื่อง พฤติกรรมผิดเพศ (homosexualism, transsexualism)
5. สรุปการเรียนรู้ 5 นาที
1. รักร่วมเพศ ไม่ใช่โรคทางจิตเวช
2. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
3. การปรับตัวในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ
4. เพื่อนควรเข้าใจ และช่วยเหลือ ยอมรับ ไม่รังเกียจ
5. ไม่ส่งเสริมให้แสดงออกมากเกินไปในบางสังคม
6. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 9 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ป้องกันอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ภาพรูปติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถามนักเรียนว่ารู้สึกอย่างไร 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก บรรยาย หรือฉายวีดิโอ เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จบแล้ว ถามนักเรียนว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง 30 นาที
3. ครูสรุป 10 นาที
1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง เน้นโรคเอดส์
2. การป้องกัน หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้มีความเสี่ยง การใช้ถุงยางอนามัย
3. ครูสาธิตการใช้ถุงยางอนามัย
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 10 การแต่งงาน คืออะไร
1. กิจกรรมนำ ก่อนเรียน 1 วัน ให้คำถามกลับไปถามพ่อแม่ว่า การแต่งงาน คืออะไร พ่อแม่แต่งงานกันอย่างไร
2. กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนส่งการบ้าน เลือกตัวอย่างที่น่าสนใจ นำเสนอในชั้น แล้วขอความเห็นนักเรียน เสนอปัญหาในกลุ่มว่า ก่อนแต่งงาน เตรียมตัวอะไร 5 นาที
3. แบ่งกลุ่ม 5 คน ระดมสมอง “ก่อนแต่งงาน เตรียมตัวอะไร” 30 นาที หรือ ครูเชิญสูติแพทย์ บรรยายเรื่อง การเตรียมตัวก่อนแต่งงาน 35 นาที
4. ครูสรุปการเรียนรู้ การเตรียมตัวก่อนแต่งงาน 5 นาที
1. การเตรียมทางร่างกาย ตรวจโรค
2. การเตรียมทางจิตใจ
3. การวางแผนครอบครัว
5. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 11 บทบาทสามี-ภรรยา
1. กิจกรรมนำ ครูนำเสนอพฤติกรรมที่ไม่ธรรมดาของเพศชายหญิง เช่น ชายทำงานบ้าน หญิงเป็นทหาร ถามนักเรียนว่ามีความเห็นอย่างไร 5 นาที
2. แบ่งกลุ่มคละเพศ 5-6 คนต่อกลุ่ม ช่วยกันคิดว่า หลังจากแต่งงานกัน บทบาทของสามี-ภรรยา จะมีอะไรบ้าง 30 นาที
3. ครูสรุป บทบาท สามีภรรยา 10 นาที
1. การทำงาน
2. การสร้างครอบครัว
3. การมีบุตร เพื่ออะไร
4. วางแผนครอบครัวอย่างไร
5. เป้าหมายของครอบครัวคืออะไร
6. ให้ชาย-หญิง เข้าใจบทบาทกัน ช่วยเหลือกัน
4.ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 12 มีลูกตอนไหนดี
กิจกรรมต่อจากครั้งที่ 11
1. กิจกรรมหลัก เชิญดารา นักร้อง ศิษย์เก่าของโรงเรียนมาแสดงความคิดเห็น แบบ Panel discussion ในประเด็น การวางแผนมีลูก 40 นาที
2. สรุปการเรียนรู้ 5 นาที
1. ควรวางแผนล่วงหน้า จะมีลูกกี่คน แต่ละคนห่างกันกี่ปี ชายหญิงกี่คน
2. ใครเป็นคนเลี้ยงลูก
3. หลักการทั่วไป
1. ไม่ควรตั้งครรภ์หลัง อายุ 30 ปี
2. ลูกแต่ละคนห่างกัน 2-3 ปี
3. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

กิจกรรม 13 คุมกำเนิด ทำอย่างไร
1. กิจกรรมนำ ข่าววัยรุ่นเสียชีวิตจากการทำแท้ง 5 นาที
2. กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนช่วยกันหาแนวทางป้องกัน สรุปที่การคุมกำเนิด ครูหรือสูติแพทย์บรรยายเรื่อง “การคุมกำเนิด” 30 นาที
3. สรุปการเรียนรู้ 10 นาที
4. ถามและแสดงความเห็น 5 นาที

คำแนะนำสำหรับการจัดกิจกรรมแบบกลุ่ม
1. ครูใช้วิธีการหลากหลาย เช่น กิจกรรมกลุ่ม บรรยายสั้นสลับกิจกรรมกลุ่ม โต้วาที ชมภาพยนตร์สั้นแล้ว ให้สรุปการเรียนรู้ ชมวีดิโอคลิปแล้วสนทนากลุ่ม ระดมสมอง Buzz Group เพื่อนสอนเพื่อน Four Station Technic, Coffee Shop Technic, เพื่อนสอนเพื่อน, โครงงาน(Project), พี่สอนน้อง, แสดงละคร, เกม, สถานการณ์สมมติ
2. กิจกรรมหรือการบรรยายบางเรื่อง อาจหาวิทยากรภายนอกที่น่าสนใจ เช่น
• เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในวัยรุ่น ประจำเดือน อาจเชิญวิทยากรเฉพาะ เช่น สูตินรีแพทย์ กุมารแพทย์
• เรื่อง เกี่ยวกับรักร่วมเพศ (homosexualism, gay, lesbianism, transsexualism) อาจเชิญจิตแพทย์
• เรื่องการวางตัวทางเพศ บทบาททางเพศที่เหมาะสมอาจเชิญอาจารย์ที่สอนเรื่องเพศศึกษาเก่งๆจากโรงเรียนอื่น หรือรุ่นพี่ หรือ ดารา นักแสดงที่เป็นแบบอย่างที่ดี
3. กิจกรรมควรใช้วิธีให้นักเรียนมีส่วนร่วม (participatory learning) ให้นักเรียน ได้มีบทบาท ได้แสดงออก เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตัวเองและจากเพื่อนด้วยกัน ในตอนท้ายกิจกรรมให้นักเรียนสรุปการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
4. ครูส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยการ กระตุ้นให้แสดงออกและมีส่วนร่วมให้มากที่สุด เชิญคนที่เงียบๆไม่กล้าแสดงออกให้พูดคุย สร้างบรรยากาศสนุก เป็นกันเอง ผ่อนคลาย ยอมรับ ชมพฤติกรรมที่ดี เช่น กล้าแสดงออก มีเหตุผล คิดถึงใจคนอื่น ยอมรับเพื่อน ให้อภัย ครูคอยช่วยเสริมส่วนส่วนที่ยังไม่ครบ ในตอนท้ายเท่านั้น หลีกเลี่ยงการสอนมากเกินไป แนะนำมากไป หรือ บังคับข่มขู่ ก่อนจบกิจกรรมทุกครั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนซักถาม สรุปประเด็นเรียนรู้
5. ขั้นตอนการจัดกิจกรรม แบ่งเวลากิจกรรมเป็น 5 ขั้น ดังนี้
• ขั้นที่ 1 เกริ่นนำ บอกเป้าหมาย การเรียนรู้ ในครั้งนี้ ต้องการให้เกิดการเรียนรู้อะไร บทบาทนักเรียนจะทำอะไรบ้าง ครูคาดหวังอะไร สั้นๆ ประมาณ ไม่เกิน 2 นาที
• ขั้นที่ 2 กิจกรรมนำเข้าสู่การเรียน เพื่อให้สนใจ เกิดความตระหนัก ควรน่าสนใจ ตื่นเต้น เช่น แบบสอบถาม ข่าวหนังสือพิมพ์ ละครทีวี ภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ เกมสั้นๆ หรือ คำถาม โดยเลือกกิจกรรมนำนี้ให้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหรือเป้าหมายหลัก ประมาณ 5 นาที
• ขั้นที่ 3 กิจกรรมหลัก ให้นักเรียนมีส่วนร่วม ควรสนุก เกิดความคิด มีการแสดงออกให้ทั่วถึง ครูช่วยกระตุ้นคนที่ไม่ค่อยพูด การสอนในชั้นขนาด 40-50 คน ควรแบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ5-7 คน เพื่อให้มีโอกาสแสดงออกและมีส่วนร่วมทั่งถึง ครูควรเข้าไปกระตุ้นในแต่ละกลุ่มย่อยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ อาจหาผู้ช่วยครู เช่นรุ่นพี่ หรืออาจารย์ช่วยสอน (teacher assistant : TA) ประจำกลุ่มย่อย ใช้ใบงาน แผ่นสรุปงาน เพื่อให้สรุปผลงานและวัดผลงานของแต่ละกลุ่ม 15-30 นาที
• ขั้นที่ 4 สรุปการเรียนรู้ ให้นักเรียนช่วยกันสรุปว่า ได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีประโยชน์อย่างไร สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไร ครูช่วยเพิ่มเติมให้ครบตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และชมพฤติกรรมที่ดีของนักเรียนที่แสดงออกในกลุ่ม เช่น การเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี การแสดงความเห็น การรับฟังผู้อื่น 10 นาที
• ขั้นที่ 5 คำถามและข้อคิด 3 นาที
6. การประเมินผล โดยการสังเกตพฤติกรรมในขณะร่วมกิจกรรม(การมีส่วนร่วม แสดงออก) ความสม่ำเสมอของการร่วมกิจกรรม แบบสอบถามความพึงพอใจ และพฤติกรรมของนักเรียนที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นหลังกิจกรรม

ตัวอย่างกิจกรรม
1. สถานการณ์สมมติ การใช้สถานการณ์สมมติ เป็นสถานการณ์ที่ตั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์วิธีการแก้ปัญหา หรือแสดงทักษะบางประการ
หัวข้อสถานการณ์สมมติ ได้แก่ การเลือกแฟน การป้องกันปัญหาเวลาอยู่ใกล้ชิดกับเพศตรงข้าม เหื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์
วิธีการใช้สถานการณ์สมมติ
1. กำหนดใบงานของสถานการณ์สมมติ และแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่มย่อย
2. กำหนดบทบาท และให้แสดงบทบาทสมมติ (role playing)
การจัดประสบการณ์เรียนรู้
ตัวอย่างสถานการณ์สมมติ
สถานการณ์สมมติ 1
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านเป็นเกด ท่านจะตัดสินใจอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 2
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านเป็นเกด ท่านไม่ยอม
ชิตบอกว่า ถ้ารักกันจริง ต้องแสดงให้เห็นด้วยเพศสัมพันธ์ ไม่งั้นก็เป็นแค่เพื่อน
ท่านเป็นเกด ท่านจะตัดสินใจอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 3
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะรักชิตจริง คิดว่าเขาคงมั่นใจในความรักของท่าน
เดือนต่อมา ประจำเดือนท่านขาดไป ท่านจะทำอย่างไร

สถานการณ์สมมติ 4
เกด กับ ชิต เป็นแฟนกันมา 3 เดือน ในวันลอยกระทง ชิตพาเกดไปเที่ยวจนดึกกลับบ้านไม่ได้ ชิตเลยชวนเกดไปนอนค้างที่บ้านของตน
ในคืนนั้นเอง ชิตขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย
ท่านยอมมีเพศสัมพันธ์ เพราะรักชิตจริง คิดว่าเขาคงมั่นใจในความรักของท่าน
เดือนต่อมา ประจำเดือนท่านขาดไป ท่านไปตรวจแล้วพบว่าท้อง
ท่านบอกเรื่องนี้กับชิต ชิตไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นพ่อของเด็ก บอกว่า “ที่ยอมมีเพศสัมพันธ์กันง่ายแบบนี้ ก็คงมีกับผู้ชายอื่นง่ายๆด้วยเหมือนกัน”
ท่านจะทำอย่างไรต่อไป

สถานการณ์สมมติ 5
วิทย์เป็นนักเรียนชั้น ม3 โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง วันหนึ่ง ไก่เพื่อนร่วมห้องเขียนจดหมายมาสารภาพรัก บอกว่าแอบชอบวิทย์มานานแล้ว
วิทย์ควรจะทำอย่างไรต่อไป

2. การเรียนรู้จากสื่อ

2.1 การตอบปัญหาทางเพศจากหนังสือพิมพ์

2.2 ข่าวหนังสือพิมพ์

2.3 ข่าวโทรทัศน์ วิดีโอคลิป อินเตอร์เน็ต
ครูสามารถบันทึกสื่อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น นำมานำเสนอ เป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ คิด วิเคราะห์ แก้ไข และป้องกันปัญหา

การวัดผลพฤติกรรมในกลุ่ม
ครูควรมีวิธีวัดพฤติกรรมของนักเรียนในกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนพยายามฝึกทักษะในการทำงานกลุ่ม ก่อนเริ่มกิจกรรมครูควรบอกนักเรียนทุกคนว่า จะมีการวัดพฤติกรรมนักเรียนอย่างไร เช่น การมีส่วนร่วม การ แบ่งงาน การมีส่วนร่วม แบ่งงาน การเป็นผู้นำ ผู้ตาม ฯลฯ
การวัดพฤติกรรม อาจแยกเป็น 2 แบบ คือ
1. คะแนนกลุ่ม ทุกคนในกลุ่มจะได้รับเท่ากันทุกคน นักเรียนจะพยายามทำตามที่ครูคาดหวัง การชมในพฤติกรรมดีที่คาดหวังจะช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น
2. คะแนนรายบุคคล แต่ละคนจะได้รับแตกต่างกัน ตามพฤติกรรมที่แสดงออกจริง ผู้วัดต้องอยู่ในกลุ่มตลอดเวลา
ตัวอย่างที่1. ใบบันทึกคะแนนพฤติกรรมกลุ่ม
เรื่องที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12
กลุ่มที่
การมีส่วนร่วม แบ่งงาน
20 คะแนน
การแสดงความคิดเห็น
10 คะแนน
การเป็นผู้นำ ผู้ตาม
10 คะแนน
การสรุปเนื้อหา
10 คะแนน
คะแนนผลงานกลุ่ม
50 คะแนน
อาจารย์……………………………………………………………………. วันที่………………..

ตัวอย่างที่ 2 ใบบันทึกคะแนนรายบุคคล

ชื่อกลุ่ม ……………………………………………………………………….หัวหน้ากลุ่ม……………………………………………………..

คำขวัญของกลุ่ม……………………………………………………………………………………………………………………………………..

ชื่อ ความสนใจ/
มีส่วนร่วม การแสดงความคิดเห็น/แสดงออก การเป็นผู้นำ/
ผู้ตาม ความพยายามให้งานสำเร็จ ความสัมพันธ์
กับผู้อื่น
1.
2.
3.
4.
5.
6.
7.
อาจารย์……………………………………………………………………. วันที่………………..

เทคนิคกระตุ้นกลุ่ม (Facilitating Techniques)
ครูจะเป็นผู้กระตุ้นให้กลุ่มทำกิจกรรม โดยมีขั้นตอน โดยปรับให้เหมาะสมกับเวลาที่มี ดังนี้
1. การแนะนำตัว ผู้นำกลุ่มแนะนำตัวเอง ให้ทุกคนแนะนำตัวเองสั้นๆ
2. อธิบายวัตถุประสงค์ของการคุยกันเป็นกลุ่ม เวลาที่จะใช้ เน้นกติกาของกลุ่ม คือการเรียนรู้จากกันการเปิดเผยและช่วยเหลือกัน ทุกคนจะมีโอกาสแสดงออก เช่น เล่าเรื่องของตนเอง ในระหว่างนั้นให้คนอื่นตั้งใจฟัง และช่วยเหลือเหลือกันโดยการแสดงความคิด ความรู้สึก และการแก้ปัญหา กติกาหลัก คือ ขอให้พูดกับกลุ่ม ทีละคน ใครต้องการพูดขอให้ยกมือ ผู้นำกลุ่มจะดูแลให้ได้พูดทุกคน
3. ในครั้งแรกครูควรเน้นเรื่องการรักษาความลับของกัน ไม่นำเรื่องที่คุยกันในกลุ่มไปเปิดเผยข้างนอก
4. ครูขออาสาสมัครนักเรียนที่จะแสดงออก หรือเปิดเผยเรื่องในประเด็นการเรียนรู้ในครั้งนี้ ขอให้เล่าให้กลุ่มฟัง เริ่มต้นจากสิ่งที่เปิดเผยได้ง่าย
5. หลังจากเล่าเรื่อง ขอความคิดเห็นจากคนอื่น จับประเด็นที่นักเรียนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม เช่น ปัญหาที่คล้ายกัน ความเดือดร้อนเหมือนกัน ครูอาจตั้งคำถามนำว่าใครมีประสบการณ์เหล่านี้ บ้าง หรือปัญหานี้ใครมีคล้ายๆกัน เพื่อสร้างความรู้สึกร่วม และส่งเสริมให้เปิดเผยมากขึ้น และวิธีการแก้ไขที่ได้ทำไปแล้ว
6. ครูเลือกประเด็นเป้าหมายที่น่าสนใจ ให้นักเรียนแสดงออกเพิ่มเติมว่า เกิดอย่างไร แก้ไขอย่างไร สิ่งที่ทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล
7. ครูเชิญสมาชิกคนอื่นๆ ว่า จะมีใครมีคำแนะนำเพื่อนบ้าง เปิดโอกาสให้แสดงออกหลายๆวิธี
8. ใช้คำถามสามเหลี่ยม “Triangular Questions” สำรวจและเรียนรู้กันในด้าน
ก. ความคิด(Thinking) หรือความเชื่อ ทัศนคติ
ข. ความรู้สึก(Feeling) หรือ อารมณ์
ค. พฤติกรรม(Behaviors) การแก้ปัญหา การแสดงออก การสื่อสาร
เช่น
“แฟนชวนไปเที่ยว(พฤติกรรม) ชอบหรือไม่(รู้สึก) นักเรียนคิดว่ามีความเสี่ยงหรือไม่(ความคิด) ถ้ามีความเสี่ยง เสี่ยงต่ออะไร (ทัศนคติ ความเชื่อ ประสบการณ์เดิม การเรียนรู้ที่ผ่านมา) การระวังนั้นจะทำให้ตอบรับหรือปฏิเสธ (ความคิด)”
9. ครูชมพฤติกรรมหรือวิธีการที่ดี ให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น แนะนำให้ฟังความคิดของกันและกัน ไตร่ตรองข้อดีของทางเลือกนั้น ส่งเสริมให้หาวิธีดีๆ และนำไปปฏิบัติ
10. ตัวอย่างของการคิดดี ได้แก่ คิดหลายทาง คิดด้านบวก มองโลกในแง่ดี คิดรอบคอบ และหยุดคิดได้ในบางเวลา
11. ตัวอย่างของการฝึกความรู้สึก ได้แก่ การรู้จักอารมณ์ตนเอง การฝึกใจให้สงบ การผ่อนคลายตนเอง กิจกรรมผ่อนคลาย
12. ส่งเสริมตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ดี ได้แก่ การปรึกษาหารือ เวลามีเรื่องไม่สบายใจ หาผู้รับฟังที่ดี เช่น เพื่อน ครู พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เปิดเผย การเล่าจะเป็นการระบายความรู้สึก และเปิดใจรับคำแนะนำดีๆ ทางออกแก้ปัญหาที่แตกต่าง ในการแก้ปัญหา มีการหาข้อมูลให้ครบ คิดทางเลือก วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย
13. การจัดสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมเบนความสนใจ เช่น เล่น เกม กีฬา ศิลปะ ดนตรี กิจกรรมกลุ่ม ทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญประโยชน์ เพื่อให้ผ่อนคลาย ลดความรู้สึกหรือหมกมุ่นทางเพศ
14. ใช้เทคนิคกลุ่มชวนให้มีส่วนร่วมทุกคน เช่น ขอให้คนที่แสดงความเห็นแล้วเชิญคนต่อไปที่ยังไม่ได้แสดง จนกว่าจะครบทุกคน (round turn)
15. ครูให้ความรู้ในเรื่องที่เตรียมไว้ สั้นๆ พร้อมแหล่งข้อมูลที่นักเรียนสามารถหาเพิ่มเติม เช่นหนังสือ เว็บไซต์
16. สรุปการเรียนรู้ ให้สมาชิกช่วยกันสรุป ผู้นำกลุ่มช่วยเสริมในตอนท้าย
17. คำถาม หรือข้อคิดเห็น
หมายเหตุ เวลาในการสอนแบบกลุ่ม ควรประมาณ 50-90 นาที ถ้ามีเวลาน้อยควร กำหนดเป้าหมายแคบ ให้มีจุดเน้นชัดเจน ถ้ามีเนื้อหามากควรจัดเป็น กิจกรรมกลุ่มหลายครั้งต่อเนื่องกัน(series)

เอกสารอ้างอิง
1. กองวางแผนครอบครัวและประชากร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. แผนการอบรมเพศศึกษาสำหรับพ่อแม่. กรุงเทพฯ: บริษัท วิสคอม เซ็นเตอร์ จำกัด, 2543.
2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 1 (ป1-3). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
3. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 2 (ป4-6). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
4. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 3 (ม1-3). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
5. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพศศึกษาช่วงชั้นที่ 4 (ม4-6). กรุงเทพฯ: กระทรวงศึกษาธิการ, 2548.
6. พนม เกตุมาน. โตแล้วนะน่าจะรู้ไว้ พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2542.
7. ศรีธรรม ธนะภูมิ. พัฒนาการทางอารมณ์และบุคลิกภาพ. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์, 2535;60-115.
8. จันทร์วิภา ดิลกสัมพันธ์. เพศศึกษา พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร, 2543;69-77.
9. นิกร ดุสิตสิน, วีระ นิยมวัน, ไพลิน ศรีสุโข. คู่มือการสอนเพศศาสตรศึกษาระดับมัธยม พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545;1-14.
10. พนม เกตุมาน. สุขใจกับลูกวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: บริษัทแปลนพับลิชิ่งจำกัด, 2535;60-88.

ภาคผนวก

1. สรุปเนื้อหาสำหรับการสอนเพศศึกษาตามวัยต่างๆ

วัย 1 ปีแรก
พัฒนาการทางเพศ
พ่อแม่รับรู้เพศเด็กตามที่แพทย์กำหนด จากอวัยวะเพศภายนอก
ยังไม่รู้เพศตนเอง
สัมพันธภาพ
การตอบสนองความต้องการของเด็กสร้างความมั่นคงในจิตใจอารมณ์
สื่อสารผ่านการร้อง การสัมผัส กอด
ทักษะส่วนบุคคล
แยกตนเองและผู้อื่น เป็นคนละคนกัน
รอคอยได้เมื่อพ้น 6 เดือน จำหน้าแม่เมื่ออายุ 9 เดือน
พฤติกรรมทางเพศ
ความพอใจอยู่ที่การกิน การดูด การกัด การสัมผัส
สุขอนามัยทางเพศ
พ่อแม่ช่วยเหลือทำความสะอาดทางเพศ
สังคมและวัฒนธรรม
เด็กแยกตนเองจากสิ่งแวดล้อม

วัย 1-3 ปี
พัฒนาการทางเพศ
สอนให้เด็กรู้จักเพศตนเอง(core gender) และเพศของผู้อื่น
ให้พอใจและภูมิใจในเพศของตนเอง
สัมพันธภาพ
พ่อแม่ความสัมพันธ์ที่มั่นคงแน่นอน ให้เด็กเกิดความผูกพันมั่นคงใน จิตใจ
ทักษะส่วนบุคคล
สามารถควบคุมตนเองได้ โดยเฉพาะการขับถ่าย ฝึกให้เด็กช่วยตัวเอง ขับถ่ายเป็นที่ทาง เป็นเวลา
พฤติกรรมทางเพศ
กำกับให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสมและตรงตามเพศของเด็ก เช่น การแต่งกาย การพูด การเล่น ควรกำกับดูแลให้
เบนความสนใจไม่ให้เด็กเล่นอวัยวะเพศตนเอง
สุขอนามัยทางเพศ
สอนการทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง
การระวังรักษาอวัยวะเพศตนเอง
สังคมและวัฒนธรรม
เด็กเริ่มเรียนรู้กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ฝึกให้เด็กรู้จักกฎเกณฑ์กติกาในบ้าน พื้นฐานของระเบียบวินัย และการควบคุมตนเอง

วัย 3-6 ปี
พัฒนาการทางเพศ
สนใจอวัยวะเพศตนเองและของผู้อื่น สอนให้เด็กรู้จักการดูแลรักษาอวัยวะเพศตนเอง
สัมพันธภาพ
ถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศจากพ่อแม่ พ่อแม่ใกล้ชิดกับลูกเป็นแบบอย่างทางเพศที่ดีกับลูกเพศเดียวกัน
ทักษะส่วนบุคคล
พึ่งพาตัวเองได้ ช่วยตัวเองได้ สามารถแยกตัวเองจากพ่อแม่
เข้าใจเหตุผลง่ายๆ
พฤติกรรมทางเพศ
อยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ เวลาอธิบายเรื่องเพศควรใช้คำอธิบายด้วยเหตุผลง่ายๆ
สอนพฤติกรรมที่เหมาะสมทางเพศ ไม่ส่งเสริมให้เด็กแสดงออกผิดเพศ เช่นการแต่งกาย ท่าทาง หรือการเล่นผิดเพศ
สุขอนามัยทางเพศ
การทำความสะอาดอวัยวะเพศตนเอง
การแยกใช้ห้องน้ำห้องส้วมหญิงชาย
การระวังรักษาอวัยวะเพศไม่ให้ใครมาละเมิด
สอนทักษะในการปฏิเสธการล่วงละเมิดทางกาย ฝึกให้เด็กปฏิเสธมิให้ผู้อื่นแตะต้องร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะเพศของตนเอง
การปฏิเสธ เช่น การไปไหนกับคนแปลกหน้า การรับของ ขนม หรือของเล่นจากคนที่ไม่รู้จัก
การขอความช่วยเหลือเมื่อไม่แน่ใจในความปลอดภัย
หลีกเลี่ยงไปไหนตามลำพัง
สังคมและวัฒนธรรม
ทัศนคติของผู้ใหญ่ต่อเรื่องเพศเป็นกลาง
ยอมรับการอยากรู้อยากเห็นเรื่องเพศ อธิบายให้เด็กเข้าใจตามสมควร
เพศหญิงชายไม่มีความแตกต่างกัน
ไม่ทำให้เด็กรังเกียจอวัยวะเพศตนเอง
ควบคุมพฤติกรรมทางเพศให้เหมาะสม ไม่ละเมิดผู้อื่น
ไม่ให้ใครมาละเมิดตนเอง
เมื่อเด็กสนใจหมกมุ่น หรือกระตุ้นตัวเองทางเพศ ผู้ใหญ่ห้ามสั้นๆด้วยท่าทีสงบ หากิจกรรมเบนความสนใจเด็ก หรือจัดสิ่งแวดล้อมให้เด็กไม่อยู่คนเดียว
ไม่ควรขู่หรือทำให้เด็กกลัวจนเกินไป

วัย 6-12 ปี
พัฒนาการทางเพศ
ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางเพศชัดเจน
สัมพันธภาพ
จับกลุ่มเล่นแยกเพศ ให้เด็กเล่นตามเพศเดียวกัน
ทักษะส่วนบุคคล
เข้าใจเหตุผลที่เป็นรูปธรรม
เข้าใจจิตใจผู้อื่นมากขึ้น
รับผิดชอบต่อส่วนรวม ชอบแข่งขันการเรียน
พฤติกรรมทางเพศ
ส่งเสริมพฤติกรรมเหมาะสมกับเพศตนเอง
สอนเรื่องสถานการณ์เสี่ยงทางเพศ
สุขอนามัยทางเพศ
ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงตนเองสำหรับวัยรุ่น ในเด็กบางคนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น
สังคมและวัฒนธรรม
สอนให้เกียรติกันทางเพศ ไม่ละเมิด
ให้มีพฤติกรรมเหมาะสมตามเพศ เพศชายช่วยเหลือเพศหญิง

วัย 12-15 ปี
พัฒนาการทางเพศ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ
อารมณ์เพศ ความรู้สึกและความต้องการทางเพศ สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ
ปฏิกิริยาตอบสนองทางเพศเมื่อมีอารมณ์เพศ
ความพึงพอใจทางเพศ(sexual orientation)
สัมพันธภาพ
การมีเพื่อนต่างเพศ ทักษะสังคมในการคบเพื่อนต่างเพศ การแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อสนใจเพศตรงข้าม
ทักษะส่วนบุคคล
ทักษะในการสื่อสารเจรจา
การสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนาน
การควบคุมตนเอง
ควบคุมอารมณ์ จัดการกับอารมณ์และความต้องการทางเพศ
พฤติกรรมทางเพศ
ศึกษาเรื่องเพศได้ในกรอบที่พอเหมาะ
ทัศนคติถูกต้องต่อการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง ควบคุมให้มีพอสมควร
การแต่งกายที่เหมาะสม ถูกต้องตามเพศ
มีความความสนใจเพศตรงข้ามได้แต่แสดงออกถูกต้อง
ไม่ละเมิดหรือฉวยโอกาสทางเพศต่อผู้อื่น
สุขอนามัยทางเพศ
การทำความสะอาดอวัยวะเพศอย่างถูกต้อง
การจัดการกับอารมณ์เพศอย่างถูกต้อง มีทางออกทางเพศ(sexual outlet) การระบายอารมณ์เพศด้วยวิธีอื่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา
การป้องกันการหมกมุ่นทางเพศมากเกินไป โดยการจัดสิ่งแวดล้อม
หลีกเลี่ยงเหล้าและยาเสพติด หลีกเลี่ยงสถานการณ์เสี่ยง
สังคมและวัฒนธรรม
พฤติกรรมเหมาะสมกับสังคมประเพณี
พฤติกรรมให้ถูกต้องตามเพศตนเอง

วัย 15-18 ปี
พัฒนาการทางเพศ
ยอมรับ พอใจเอกลักษณ์ทางเพศ
แก้ไขความเชื่อหรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง
สัมพันธภาพ
การเลือกแฟน การคบแบบแฟน
การสังเกตนิสัยใจคอ ความเข้ากันได้
ทักษะในการปรับตัวเข้าหา
การเลือกคู่ครอง
ชีวิตครอบครัว
การแต่งงาน และปรับตัวในชีวิตสมรส
ทักษะส่วนบุคคล
การปรับตัว
สื่อสารบอกความต้องการตนเอง
การปรับเปลี่ยนตนเองแก้ไขข้อบกพร่องของตนเอง
ทักษะในการดำเนินชีวิตร่วมกัน
การวางแผนอนาคต
ควบคุมตนเองให้รับผิดชอบต่อครอบครัว
การเลี้ยงลูก
พฤติกรรมทางเพศ
การปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน
เพศสัมพันธ์
การใช้ถุงยางอนามัย การคุมกำเนิด
การเตรียมตัวก่อนการแต่งงาน
การตอบสนองทางเพศปกติ
การมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข
การวางแผนครอบครัว
สุขอนามัยทางเพศ
การเปลี่ยนแปลงทางเพศที่จะเกิดในขณะตั้งครรภ์
เพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์
การคลอดบุตรและการดูแลหลังการคลอดบุตร
การคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร
การทำหมันและการเลี้ยงดูบุตร
การวางแผนครอบครัว
การแท้งบุตร
ความผิดปกติทางเพศ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สังคมและวัฒนธรรม
การยับยั้งใจที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรส
การซื่อสัตย์ต่อคู่ครองตนเอง
บทบาทที่ดีของพ่อแม่
การแสดงออกทางเพศให้เหมาะสมอยู่ในประเพณีที่ดี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศ

2. ตัวอย่างแผนการสอน

ชื่อกิจกรรม นิทานจริยธรรม “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
สรุปลักษณะกิจกรรม ผู้นำกลุ่มอ่านนิทานให้สมาชิกกลุ่มฟัง หลังจากนั้นให้สมาชิกกลุ่มแสดงความคิดเห็น และทำงานกลุ่มโดยตอบคำถามแสดงถึงความคิดเชิงจริยธรรม และแสดงผลงานความคิดกลุ่มแก่กลุ่มอื่น ผู้นำกลุ่มแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
วัตถุประสงค์ ฝึกความคิดเชิงจริยธรรม เรียนรู้ความคิดเชิงจริยธรรมจากผู้อื่น และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง
ลักษณะของกลุ่ม
• จำนวนสมาชิกกลุ่ม 15-90 คน แบ่งกลุ่มย่อย 4-6 กลุ่ม กลุ่มละ 5-15 คน
• คุณสมบัติของสมาชิกกลุ่ม อายุ 12 ปีขึ้นไป
เวลา 60-90 นาที
ทรัพยากรที่ใช้
1. นิทาน 1 เรื่อง ชื่อ “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
2. บันทึกผลงานกลุ่ม
การดำเนินกิจกรรมกลุ่ม
1. การนำเข้าสู่กิจกรรม
ผู้นำกลุ่มถามกลุ่มใหญ่ว่า มีใครไม่เคยมีปัญหาชีวิตบ้าง ลองให้ยกตัวอย่างสั้นๆ สรุปว่าชีวิตคงจะต้องเผชิญปัญหาทุกคน กิจกรรมต่อไปนี้จะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาในชีวิต โดยจะแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดวิเคราะห์ปัญหาจากนิทานที่จะแจกให้
ผู้นำกลุ่มแบ่งกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม
2. การดำเนินกิจกรรม
ผู้นำกลุ่มอ่านนิทานให้ฟัง และแนะนำให้กลุ่มช่วยกันทำงานกลุ่ม ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด ประมาณ 15 นาที หลังจากนั้นผู้นำกลุ่มแจกนิทาน และกระดาษสรุปผลงานกลุ่มให้หัวหน้ากลุ่ม หลังจากนั้นให้ผู้แทนกลุ่มนำเสนอผลงานกลุ่มละ 5 นาที
• ผลงาน
• วิธีการดำเนินงาน
3. การวิเคราะห์เรียนรู้ที่เกิดขึ้น
ผู้นำกลุ่มให้แต่ละกลุ่มสรุปว่าได้เรียนรู้อะไร จากกิจกรรมนี้
ประเด็นการวิเคราะห์
• คำตอบของกลุ่มใดถูก เพราะเหตุผลใด
• เหตุใดจึงตัดสินไม่ได้ว่าคำตอบใดถูกต้องที่สุด
4. การสังเคราะห์การเรียนรู้
ผู้นำกลุ่มให้กลุ่มช่วยกันคิดว่า การเรียนรู้ในกิจกรรมนี้ จะนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร
5. สรุปการเรียนรู้
ผู้นำกลุ่มสรุปผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
รายละเอียดทรัพยากรที่ใช้
นิทาน เรื่อง “แฟนเก่า หรือกิ๊กใหม่”
หนุ่มสาวคู่หนึ่งรักกันมากตั้งแต่เรียนอยู่ด้วยกันในมหาวิทยาลัย แต่พ่อฝ่ายหญิงไม่ชอบฝ่ายชายเนื่องจากฐานะ และตระกูลด้อยกว่าฝ่ายหญิงมาก จึงกีดกันทุกทาง ไม่ยอมให้มาพบกันที่บ้าน
หนุ่มสาวยังแอบพบกัน โดยแม่ฝ่ายสาวเห็นใจทั้งคู่มากแอบให้ความช่วยเหลือ ทำให้ทั้งคู่ได้พบกันเป็นประจำที่บ้านเวลาพ่อไม่อยู่ ต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด ความใกล้ชิดมีมากขึ้นจนเมื่ออยู่ด้วยกันตามลำพังในห้องสองต่อสอง ฝ่ายชายขอมีเพศสัมพันธ์ด้วย ครั้งแรกฝ่ายหญิงไม่ยินยอม แต่ฝ่ายชายบอกว่าการมีเพศสัมพันธ์กันเป็นการพิสูจน์ว่ารักจริง ฝ่ายหญิงนำเรื่องแฟนขอมีเพศสัมพันธ์นี้ไปปรึกษาเพื่อนสาวที่สนิทกันที่มหาวิทยาลัย เพื่อนคนนั้นบอกว่า มีไปเถอะ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขาถือกันแล้วเรื่องนี้
วันหนึ่งขณะที่พ่อแม่ไม่อยู่บ้าน ทั้งคู่มีเพศสัมพันธ์กันด้วยความเต็มใจทั้งสองฝ่าย ต่อมาฝ่ายหญิงพบว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงปรึกษาเพื่อนคนเดิม เพื่อนบอกว่า เธอแย่มากที่ไม่รู้จักป้องกันตัวเอง และแนะนำให้บอกฝ่ายชาย ฝ่ายชายเมื่อทราบเรื่องจึงขอให้แต่งงานด้วยทันที และให้ลาออกจากการเรียน
พ่อเมื่อทราบเรื่องโกรธและขู่ฝ่ายชายว่าจะฆ่าให้ตาย และยังโกรธแม่มากที่ช่วยให้ทั้งคู่แอบพบกันที่บ้าน จึงทำร้ายร่างกายแม่รุนแรงมากจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล บังคับให้ลูกสาวไปทำแท้งกับเพื่อนซึ่งเป็นแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แล้วส่งลูกสาวไปเรียนต่อต่างประเทศหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยทันที
แม่ของฝ่ายหญิงซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับสามี แอบให้ที่อยู่ลูกสาวเพื่อให้ฝ่ายชายติดต่อได้ ฝ่ายชายยังติดต่อทางจดหมายและโทรศัพท์ถึงเป็นประจำ แม้ว่าแต่ต่อมาตนเองจะคบกับเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องเป็นแฟนอีกคน จนถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กัน และในที่สุดแต่งงานกัน โดยฝ่ายชายไม่บอกแฟนเก่าที่กำลังเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ
เมื่อสาวแฟนเก่าเรียนจบมาจากต่างประเทศ พบว่าแฟนแต่งงานแล้วก็เสียใจมาก กินยาฆ่าตัวตาย แต่ไม่ตายต้องรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ระหว่างนั้นฝ่ายชายมาเยี่ยมขอกลับมาเริ่มความสัมพันธ์ใหม่เพราะยังรักมากอยู่ ส่วนภรรยาที่แต่งงานกันมา 2-3 ปีแล้วนั้นตอนนี้มีปัญหากันมาก เพราะขี้หึงและเวลาโกรธจะทะเลาะรุนแรงมาก ขณะนี้กำลังพยายามหย่าจากภรรยา ฝ่ายหญิงยังมีความรักชายหนุ่มมาก จึงตกลงจะแต่งงานด้วยถ้าหย่าสำเร็จ
ชายหนุ่มกลับมาขอหย่ากับภรรยา แต่ภรรยาไม่ยอม และเอาปืนออกมาขู่ว่าถ้ารู้ว่าสามีไปพบกันอีกจะใช้ปืนยิงให้ตายทั้งคู่และฆ่าตัวตายตามไปด้วย ฝ่ายชายจึงแย่งปืนกันในรถยนต์จนรถชนต้นไม้ข้างทาง ภรรยาจนเสียชีวิตในรถยนต์ ฝ่ายชายหลบหนีไปเล่าเรื่องให้ฝ่ายหญิงฟัง
จากเรื่องนี้ มีบุคคลที่สำคัญ 7 คน คือ
1. ชายหนุ่ม
2. หญิงสาว
3. พ่อหญิงสาว
4. แม่หญิงสาว
5. เพื่อนหญิงสาว
6. แฟนสาวคนใหม่ของชายหนุ่ม
7. แพทย์ช่วยทำแท้งให้หญิงสาว
งานของกลุ่ม ช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่า และสรุปผลงานกลุ่ม ตามหัวข้อต่อไปนี้
1. ใครเลวที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อย พร้อมเหตุผล
2. ถ้าท่านเป็นฝ่ายหญิง ท่านจะทำอย่างไร
3. ถ้าท่านเป็นฝ่ายชาย ท่านจะทำอย่างไร
2. กระดาษสรุปผลงานกลุ่ม

ผลงานกลุ่ม

กลุ่มที่…………………..
หัวหน้ากลุ่ม ………………………..
ชื่อสมาชิกกลุ่ม ……………………………………………………………………………………………………………………………

ข้อ 1 ใครเลวที่สุด

ลำดับ บุคคล เหตุผล
1

2

3

4

5

6

7

ข้อ 2 ถ้าท่านเป็นฝ่ายหญิง ท่านจะทำอย่างไร

ข้อ 3 ถ้าท่านเป็นฝ่ายชาย ท่านจะทำอย่างไร

การประยุกต์กิจกรรม

ข้อแนะนำเพิ่มเติม

พนม เกตุมาน การสอนเพศศึกษาในวัยรุ่น : การป้องกันปัญหาทางเพศในโรงเรียน
คู่มือบุคคลากรทางการแพทย์ในการดูแลเด็กวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์.
บรรยายในการประชุมวิชาการประจำปี 2553 “วัยรุ่นและทารกเกิดก่อนกำหนด…..ปัญหาที่ท้าทาย” 9 กรกฎาคม 2553 รร มิราเคิ้ล แกรนด์
โครงการเครือข่ายสุขภาพมารดาและทารกเพื่อครอบครัวของเด็กและเยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์ฯ

ผศ. นพ. พนม เกตุมาน
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Advertisement

Share this:

  • Twitter
  • Facebook

Like this:

ถูกใจ กำลังโหลด...

Related

เพราะเหตุใดเราจึงต้องเรียนรู้เรื่องเพศศึกษา

ดังนั้นการให้ความรู้ทางเพศศึกษาที่ถูกต้อง จะเป็นการปิดกั้นโอกาสในการเบี่ยงเบนทางเพศ และพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการทางเพศในชีวิตคู่อีกด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข และเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

นักเรียนคิดว่าการเรียนวิชาเพศวิถีศึกษามีความจำเป็นหรือไม่ อย่างไร

เพศวิถีศึกษา จึงมีความสำคัญต่อเด็กและเยาวชนไทยในการสร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าของตนเอง ครอบครัวมีทักษะในการดำเนินชีวิตสามารถรู้เท่าทันภัยของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ และการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การให้ความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยให้เด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังของชาติมีอนาคตที่ดี ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อ ...

เพศศึกษามีประโยชน์อย่างไรต่อผู้เรียนและสังคม

เพศศึกษา มีประโยชน์อย่างไรต่อผู้เรียนและสังคม ผู้ที่เรียนเกี่ยวกับเพศศึกษา มักมีความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายตนเองมากขึ้น รู้จักความต้องการของตนเอง เคารพสิทธิ์ในร่างกายของผู้อื่น เข้าใจความแตกต่างระหว่างเพศตรงข้ามและเพศวิถีอื่น รวมทั้งรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากความเสี่ยงในเรื่องเพศ ระมัดระวังและรู้จักดูแลสุขอนามัยทางเพศ

เพศศึกษา เรียนเรื่องอะไรบ้าง

1. สอนให้เด็กรับรู้ไปตามพัฒนาการทางเพศ และพัฒนาการทางจิตใจ เริ่มตั้งแต่เกิด แบ่งสอนตามวัยและความสามารถในการรับรู้ของเด็ก ผู้สอนต้องมีความรู้ว่าวัยใดควรให้ความสนใจเรื่องใด เช่น วัยอนุบาลควรให้ความสนใจกับการถ่ายทอดแบบอย่างทางเพศ พ่อแม่มีความสำคัญที่เด็กจะพัฒนาบทบาททางเพศตามเพศของตนเองอย่างถูกต้อง