อาชีพหลักของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คืออะไร *

ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ ค.ศ.๑๙๘๐

บทความนี้เดิมเขียนเป็นภาษาอังกฤษ (มีฉลองภพ สุสังกรกาญจน์
เป็นผู้ช่วย) สำหรับการประชุมที่นิวยอร์ก ในเดือนมิถุนายน ๒๕๑๖

โดยกลุ่มที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADAG)
ของสมาคมเอเชีย (Asia Society) เป็นผู้จัด

ผู้เขียนได้ขยายความในบทภาษาอังกฤษเล็กน้อยหลังจากการประชุม
และได้เรียบเรียงใหม่เป็นภาษาไทยในเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๖

ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้ขอบคุณ SEADAG, Asia Society
ที่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนบทความเป็นอย่างดี

ตอนที่ ๑. ความพยายามพัฒนาในอดีต
และปัจจุบัน: เป้าหมายกับการปฏิบัติ

๑. เมื่อสมัชชาของสหประชาชาติประกาศนโยบายทศวรรษที่ ๒ แห่งการพัฒนาของสหประชาชาตินั้น ได้กำหนดเป้าหมายสำหรับประเทศด้อยพัฒนาไว้หลายประการ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

  • เพิ่มผลผลิตประชาชาติในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖ ต่อปี
  • เพิ่มรายได้ประชาชนเฉลี่ยในอัตรา ๓.๕% ต่อคนต่อปี
  • จัดสรรเฉลี่ยรายได้และสมบัติให้ชอบธรรมยิ่งขึ้น
  • เพิ่มระดับการประกอบอาชีพให้มากพอใช้
  • เพิ่มความมั่นคงในการหารายได้
  • ขยายและปรับปรุงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในด้านการศึกษาอนามัย
  • โภชนาการ ที่อยู่อาศัย และสวัสดิภาพของประชาชน
  • บำรุงรักษาป้องกันสิ่งแวดล้อม

๒. บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เท่าที่มีแผนพัฒนาได้รับเอาเป้าหมายและจุดประสงค์เหล่านี้ไว้โดยชัดแจ้ง จะยกตัวอย่างโดยสังเขป ๓ ประเทศ

(ก) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ ๓ (ค.ศ.๑๙๗๒–
๑๙๗๖) ของประเทศไทย ได้ยกข้อเหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์สำคัญ คือ

  • จะสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจเสียใหม่และส่งเสริมความจำเริญทางเศรษฐกิจ
  • จะรักษาเงินสำรองระหว่างประเทศให้อยู่ในระดับอันสมควรและรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้า
  • จะส่งเสริมความจำเริญทางเศรษฐกิจในชนบทและทำให้รายได้แตกต่างกันน้อยลงในประเทศ
  • จะก่อให้เกิดความยุติธรรมในทางสังคม
  • จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสร้างโอกาสการประกอบอาชีพ
  • จะทำนุบำรุงเศรษฐกิจภาคเอกชน

(ข) แผนที่ ๒ (ค.ศ.๑๙๗๑–๑๙๗๕) ของมาเลเซีย กำหนด “นโยบายใหม่ด้านเศรษฐกิจ” ซึ่งใช้วิธีดำเนินการ ๒ ด้านพร้อมๆ กันคือ (๑) กำจัดความยากจนโดยสิ้นเชิง และ (๒) สร้างสรรค์สังคมขึ้นใหม่และให้มีดุลยภาพทางเศรษฐกิจ

“จะเพิ่มผลผลิตไปในทำนองที่จะให้ประโยชน์อย่างมากที่สุดต่อเป้าหมาย เฉลี่ยรายได้ให้ชอบธรรมยิ่งขึ้น ให้ประชาชนได้มีส่วนในกิจการแบบทันสมัย ให้ชนบทก้าวหน้าในระบบใหม่ ให้ทุกคนมีโอกาสรับประโยชน์จากการศึกษา อาคารที่อยู่ การอนามัย และสาธารณูปการประเภทอื่นๆ กับให้มีโอกาสในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้นโดยรวดเร็ว”

(ค) เป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในแผนพัฒนา ๔ ปี (ปีการเงิน ค.ศ.๑๘๗๒–๑๙๗๕) ของฟิลิปปินส์ มีดังนี้ รายได้แต่ละคนสูงขึ้น การประกอบอาชีพแพร่หลายขึ้น เฉลี่ยรายได้ให้ชอบธรรมขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคต่างๆ และเสถียรภาพในการพัฒนาและความมั่นคงภายในประเทศ ในแผนนั้นได้กำหนดอันดับความสำคัญขั้นสูงไว้สำหรับเรื่องต่อไปนี้ การปฏิรูปที่ดินที่อยู่อาศัย การไฟฟ้าตามชนบท การผลิตอาหาร การส่งเสริมสินค้าออก ส่งเสริมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมขนาดย่อม การประกอบอาชีพ การเฉลี่ยที่ดิน และการสาธารณสุข

๓. เป้าหมายการเพิ่มผลผลิตประชาชาติร้อยละ ๖ ต่อปีนั้น พิจารณาจากผลที่ได้มาในอดีตแล้ว คงจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๐ミ๗๐ ล้วนแต่มีความจำเริญก้าวหน้าเกินอัตราเป้าหมายนี้ทั้งนั้น อัตราเพิ่มของฟิลิปปินส์ในระยะ ๑๐ ปีนั้นต่ำกว่า ๖% เล็กน้อย แต่ใน ค.ศ.๑๙๗๑ ได้แสดงว่ามีอัตราเพิ่มถึง ๖.๕% อัตราเพิ่มของอินโดนีเซียในระยะ ค.ศ.๑๙๖๐ミ๖๕ ต่ำมากถึงอัตรา ๑.๖% ต่อปี เพราะความระส่ำระสายในการบริหารประเทศ แต่หลังจากนั้นได้เพิ่มดีขึ้นเป็นลำดับ จนอัตราเฉลี่ยสำหรับ ค.ศ.๑๙๖๕ミ๑๙๗๐ ขึ้นถึง ๕.๑% พม่าจงใจใช้นโยบายเศรษฐกิจและการเมือง ทำให้อัตราความจำเริญทางเศรษฐกิจใน ค.ศ.๑๙๖๐ミ๗๐ เพียง ๒ミ๓.๕% แต่ในปี ๑๙๗๐ミ๗๑ อัตราเพิ่มถีบขึ้นไปถึง ๖.๕% (ลาว กัมพูชา และเวียดนามจะนำมากล่าวเปรียบเทียบมิได้ ด้วยเหตุผลที่ประจักษ์แจ้งแล้ว)

๔. อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราความจำเริญส่วนรวมน่าจะสูงพอสำหรับประเทศต่างๆ เราก็ไม่ควรจะประมาท เพราะเท่าที่ผ่านมาแม้จะใช้ความเจริญทางวัตถุส่วนรวมเป็นเครื่องวัดก็ตาม ประเทศต่างๆ ก็ยังพลาดพลั้งบ่อยๆ อินโดนีเซียสมัยซูการ์โนเจริญได้ช้า เพราะบริหารราชการไม่ดีและมีการทุจริตอยู่มาก ประเทศทั้งหลายที่ผลิตและขายสินค้าประเภทที่ราคาขึ้นลงฮวบฮาบ หรือประเภทที่ฝนฟ้าอากาศเปลี่ยนแปรบ่อยๆ ย่อมจะประสบความยุ่งยากได้โดยฉับพลันคาดไม่ได้ เช่น ประเทศไทยเมื่อฝนแล้งในฤดู ค.ศ.๑๙๖๙–๗๑ เป็นต้น คณะผู้สำรวจของธนาคารโลกได้ออกความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาฉบับที่ ๓ ของไทยไว้ ซึ่งใช้ได้เป็นจริงสำหรับประเทศอื่นๆ ด้วย ดังนี้

“เมื่อคำนึงถึงทรัพยากรด้านมนุษย์และด้านธรรมชาติอื่นๆ กับความต้องการของประชากรซึ่งเพิ่มขึ้นโดยรวดเร็วแล้ว พอจะลงความเห็นได้ว่าเป้าหมายการพัฒนาส่วนรวมได้กำหนดไว้พอเหมาะพอดี แผนดำเนินงานส่วนรวมที่ระบุไว้ในแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นก็เป็นแผนที่เหมาะสม แม้ว่าบางตอนนโยบายบางเรื่องจะไม่ได้แถลงไว้ชัดแจ้งสมบูรณ์ก็ตาม... ถึงกระนั้นก็ตาม ปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญนั้นใหญ่หลวงนัก และรัฐบาลกับแหล่งเงินที่จะช่วยเหลือไทยทั้งหลายจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหน่วง จึงจะบรรลุถึงเป้าหมายได้ และไม่ว่าจะใช้ความพยายามสักเพียงใด ประเทศไทยก็ยังอาจจะคงมีปัญหายุ่งยากเรื่องดุลชำระเงินระหว่างประเทศ และเรื่องการชำระหนี้ต่างประเทศอยู่เป็นสำคัญภายหลังปีสุดท้ายของแผนพัฒนาฉบับนี้”

๕. เป้าหมายสำหรับอัตราเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนนั้น คำนวณจากสมมุติฐานว่าประชากรในประเทศด้อยพัฒนาจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ ๒.๕ ต่อร้อย ตลอดทศวรรษพัฒนาที่ ๒ นี้ สำหรับประเทศพม่า อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ในรอบทศวรรษ ๑๙๖๐ミ๗๐ ประชากรได้เพิ่มขึ้นในอัตราไม่เกิน ๒.๕ จริง แม้ว่าแต่ละประเทศก็ยังเป็นอัตรา ๒ ในร้อยขึ้นไป ส่วนมาเลเซีย (๓.๐%) ฟิลิปปินส์ (๓.๑%) และไทย (๓.๑%) อัตราเพิ่มยังสูงกว่าอัตราเป้าหมายมากนัก ฉะนั้นในประเทศทั้งสามจึงเป็นที่ประจักษ์ว่า ต้องการนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับประชากรอย่างหนักแน่นและกว้างขวางโดยด่วนยิ่ง

๖. เมื่อหวนไปพิจารณาเป้าหมายอื่นๆ ของทศวรรษพัฒนาที่ ๒ แห่งสหประชาชาติ ซึ่งอาจรวมไว้ในหัวข้อการพัฒนาด้านสังคมและความยุติธรรมในสังคมก็จะรู้สึกสลดใจ แผนพัฒนาของประเทศต่างๆ ในบทต้นๆ มักจะแถลงนโยบายงามๆ ด้วยคำประกาศอุดมคติอันสูงส่ง (การเฉลี่ยเงินได้โดยชอบธรรม โอกาสประกอบอาชีพ ความมั่นคงของอาชีพ การศึกษา สาธารณสุข โภชนาการ อาคารสงเคราะห์ สวัสดิภาพทางสังคม) ครั้นต่อมาในบทหลังๆ หาได้ปรากฏหลักฐานเพียงพอมิได้เพื่อแสดงให้อุ่นใจว่าหลักการดังกล่าวจะได้นำมาสู่แผนปฏิบัติอย่างที่ควร

ยกตัวอย่างแผนพัฒนาของไทยเป็นต้น คณะผู้สำรวจของธนาคารโลกได้วิจารณ์ไว้ดังนี้

“ความแตกต่างระหว่างรายได้ในกรุงเทพฯ (เฉลี่ยประมาณ ๕๐๐ เหรียญต่อคนในปี ๑๙๗๐) กับรายได้ทั่วประเทศนอกกรุงเทพฯ เฉลี่ยประมาณ ๑๔๐ เหรียญต่อคน) นั้นใหญ่หลวงนัก ในภาคอีสานซึ่งรัฐบาลสนใจพัฒนาเป็นพิเศษเพราะเกี่ยวกับความมั่นคงและสงบเรียบร้อย รัฐบาลได้พยายามพัฒนาชุมชนด้วยการสร้างถนนและสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น พลังงานและน้ำ แต่ปรากฏว่าผลของการพัฒนากำลังการผลิตในภาคนี้มีน้อยเต็มที”

“ในอดีต ได้มีการเน้นหนักพัฒนาในกรุงเทพฯ และทุ่งราบภาคกลางจนกระทั่งรายได้ของภาคต่างๆ ห่างไกลกันมาก ฉะนั้นความพยายามทำให้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างภาคลดน้อยลงย่อมเป็นจุดประสงค์อันพึงปรารถนาของแผนที่ ๓ นี้ และหมายความว่าจะต้องใช้ความพยายามเป็นพิเศษเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ห่างไกลทั้งหลาย แผนพัฒนาภาคอีสานนั้นได้จัดทำขึ้นแล้วด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ
อเมริกา...ถ้านำมาปฏิบัติกันอย่างเข้มแข็ง ข้อเสนอต่างๆ นั้นจะยังผลให้เศรษฐกิจก้าวหน้ามากและยั่งยืนดีกว่าในอดีต กับจะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายเรื่องการส่งออกของประเทศและเรื่องการสร้างอาชีพ แต่ทว่าการบริหารงานพัฒนาในภาคอีสานขณะนี้ไม่มีการประสานงานกันดีพอ ฉะนั้นรัฐบาลควรมอบอำนาจหน้าที่ให้แก่ศูนย์ประจำภาคซึ่งมีอยู่แล้ว และสนับสนุนหน่วยราชการเทศบาลท้องถิ่นให้มีอิสรภาพดำเนินงานทั่วไปและงานด้านการเงินได้ดีขึ้น”

ในตอนว่าด้วยการศึกษา รายงานธนาคารโลกกล่าวไว้ว่า

“แม้ว่าแผนพัฒนาจะได้จัดทำไว้ดีกว่าเก่าเป็นอันมากก็ตาม ที่จะหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ซึ่งจำเป็นสำหรับปรับปรุงการศึกษาทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณนั้นหวังได้ยากในระยะ ๕ ปีข้างหน้า” และว่าด้วยการประกอบอาชีพ

“การก่อให้เกิดมีอาชีพมากขึ้นในแผนที่ ๓ นี้ สงสัยว่าจะทำไม่ได้มากพอเมื่อเทียบกับจำนวนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้น และการว่างงานอาจจะมีระดับสูงขึ้นบ้าง”

๗. ผลการพัฒนาของมาเลเซียในอดีต และผลงานในปัจจุบันเท่าที่คาดได้ก็ไม่ดีกว่าไทยนัก ตอนหนึ่งของเอกสารแผนที่ ๒ ของมาเลเซียมีความว่า

“ภาวะว่างงานเลวลงจาก ๖% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในปี ๑๙๖๒ เป็น ๖.๖% ในปี ๑๙๖๗ จำนวนคนว่างงานเพิ่มจากประมาณ ๑๕๕,๐๐๐ คน เป็น ๑๙๐,๐๐๐ คน การเพิ่มอาชีพสุทธิในภาคเกษตร-
กรรมได้ผลน้อยลง เพราะภาคการทำสวนยางขนาดใหญ่มีการจ้างงานลดลง

“ในส่วนการพัฒนาด้านสังคมปรากฏว่า โครงการการศึกษาได้ปฏิบัติไปต่ำกว่าเป้าหมายมาก เฉพาะอย่างยิ่งในการอาชีวศึกษาและการศึกษาขั้นเทคนิค ทั้งนี้เนื่องจากกำลังในทางปฏิบัติไม่พอเพียง ครูอาจารย์ไม่มีพอ และความล่าช้าในการได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศเป็นเหตุสำคัญ แผนงานขยายมหาวิทยาลัยได้ดำเนินไปเป็นที่พึงพอใจ แต่แผนงานประถมศึกษาและมัธยมศึกษาล่าช้ากว่ากำหนดในแผนนัก โครงการสาธารณสุขก็ล่าช้า ด้วยเหตุปัญหาการปฏิบัติงานและปัญหาขาดเจ้าหน้าที่”

๘. ผมได้ยกเอากรณีของไทยและมาเลเซียมากล่าวในที่นี้ เพราะ ๒ ประเทศนี้ (นอกจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นกรณีพิเศษ) ประสบผลสำเร็จดีที่สุดในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะ ๑๙๖๐ミ๑๙๗๐ สำหรับประเทศอื่นก็มีประจักษ์พยานแสดงว่าไม่ได้ทำดีไปกว่า ๒ ประเทศนี้ ในด้านพัฒนาสังคม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจของสหประชาชาติสำหรับเอเชียและตะวันออกไกล จัดให้มีการติดตามผลการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทวีปเอเชีย ๒ ปีต่อครั้ง และได้เน้นศึกษาหนักไปในเรื่องการกระจายเงินได้ ความยุติธรรมในสังคม และการประกอบอาชีพ[1] ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสำรวจผลดังกล่าวนั้นหาได้ทำให้เกิดความสบายใจอย่างใดไม่ คณะกรรมาธิ-
การฯ สำรวจพบว่าในปีที่เพิ่งผ่านไป ๒ミ๓ ปี メปัญหายุ่งยากทางสังคมคงเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ตลอดมา อาทิ การว่างงานและการทำงานน้อยและการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งหมายความว่า ส่วนใหญ่ของประชากรชาวเอเชียยังคงได้รับผลร้ายจากโภชนาการที่ผิดหลักอนามัย และการศึกษาที่ด้อย และที่อยู่อาศัยเลว กับความยากลำบากขาดแคลนด้านต่างๆ อีกประการหนึ่ง การพัฒนาเศรษฐกิจนั่นแหละก่อให้เกิดปัญหาสังคมใหม่ๆ ขึ้นหลายอย่าง เช่น ปัญหาของเมืองที่มีราษฎรแออัดและปัญหาสิ่งแวดล้อมเสื่อมทราม เป็นต้น[2]

ประธานธนาคารโลกมีความรู้สึกอย่างเดียวกันถึงกับแถลงว่า

メหลังจากที่เราได้ช่วยกันพัฒนามาหลายสิบปีแล้ว คนจำนวนร้อยล้านคน คือ ๔๐ ในร้อยของราษฎรทั้งหมดในโลกด้อยพัฒนา ยังคงยากจนอยู่เหลือเข็ญ ผลของการพัฒนาจะได้แพร่ขยายออกถึงคนเหล่านั้นก็หาไม่... สิ่งที่เราต้องการมากๆ คือ เจตนาอันแรงกล้าของนักการเมือง ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจกันโดยทั่วไป และนโยบายอันแน่วแน่กับการทำจริงモ[3]

ตอนที่ ๒ ความต้องการของปัจเจกชน:
อยู่ดีกินดี

๙. ประเด็นเรื่องการพัฒนาประเทศนี้ ถ้าจะพิจารณาจากทัศนะของปัจเจกชน คงจะเป็นประโยชน์ดี เพราะแท้จริงวัตถุประสงค์ที่เป็นแก่นสำคัญของการพัฒนาก็คือการส่งเสริมให้มนุษย์แต่ละคนอยู่ดีกินดี และให้สังคมหรือชุมชนของมนุษย์นั้นมีคุณภาพและสวัสดิภาพสูงขึ้น เมื่อเรากำหนดทราบแล้วว่ามนุษย์แต่ละคนต้องการอะไรบ้าง และความต้องการนั้นๆ เป็นความต้องการอัน メสมควรモ เราก็จะสามารถศึกษา ซาบซึ้งยิ่งขึ้นถึงหน้าที่รับผิดชอบของรัฐบาล ทั้งนี้โดยสมมุติว่าหน้าที่ของรัฐบาลคือการอำนวยสนองตอบความต้องการ メอันสมควรモ ของราษฎรทุกคนและทุกชั้น

๑๐. การพิจารณาในตอนนี้จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับอุดมคติและใจของผู้เขียน สิ่งที่ “สมควร” ในความเห็นของผมอาจจะไม่ตรงตามความเห็นของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ก็เป็นได้ เช่น เงินได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีสำหรับประเทศไทยใน ค.ศ.๑๙๘๐ อาจจะเป็นเป้าหมายอันสมควรสำหรับผมในจำนวนเงิน ๓๐๐–๔๐๐ เหรียญอเมริกัน โดยมีข้อแม้ ในชุมชนไทยเราจะมีการเฉลี่ยทรัพย์และรายได้เสมอภาคกันยิ่งขึ้น และข้อแม้ว่าคนไทยเรายังจะคงได้รับประโยชน์สำคัญอื่นๆ อันคำนวณเป็นเงินมิได้อีกบางประการ แต่จำนวนดังกล่าวอาจจะไม่เป็นที่พอใจแก่คนไทยอื่น โดยคำนึงว่าชาวสิงคโปร์ในปี ๑๙๗๐ มีเงินได้เฉลี่ยถึง ๙๕๐ เหรียญอเมริกันต่อปี ในกรณีเช่นนี้ ผมย่อมแย้งได้ว่า ก็เมื่อในปี ๑๙๗๑ เงินได้เฉลี่ยของไทยเรามีเพียงระดับ ๒๑๐ เหรียญอเมริกัน จะเป็นไปได้หรือที่เราจะถีบขึ้นไปสูงถึงระดับหรือเกินระดับ ๔๐๐ เหรียญอเมริกันในปี ๑๙๘๐ แม้จะเพิ่มให้ถึง ๓๕๐ เหรียญในระยะ ๑๐ ปี เราก็จำเป็นต้องอาศัยความสามารถและโชคดีเป็นพิเศษตามนัยนี้ อะไรที่ “สมควร” ย่อมหมายความว่า “เป็นไปได้” ด้วย

อย่างไรก็ตาม メเนื่องจากมนุษย์เราส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะไม่สำเหนียกถึงข้อที่อาจจะเป็นได้แต่ซ่อนเร้นมองไม่เห็นในขณะใดขณะหนึ่ง แต่มักจะสนใจเอาใจใส่พะวงเปรียบเทียบกับสถานการณ์ที่เลวร้ายในอดีต มนุษย์เราจึงมีท่าทีทัศนะต่อปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับสภาพที่เคยชิน มากกว่าที่จะเปรียบเทียบสภาพที่อาจเป็นไปได้モ[4]

สำหรับเอกชนที่เกิดมาเป็นคนจน ที่จะให้ไล่ทันคนมั่งมีกว่า โดยอัตราเพิ่มรายได้อัตราเดียวกันเสมอนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้โดยหลักการคำนวณ นอกเสียจะเกิดเหตุการณ์ผันแปรไปอย่างรุนแรง เช่น การปฏิวัติ เป็นต้น ที่น่าเสียใจก็คือ คนจนมักจะเพิ่มรายได้โดยอัตราต่ำกว่าคนรวย ในประเด็นนี้ผมมีความเห็นว่า “สมควร” แล้วที่รัฐจะเข้าแทรกแซงโดย (ก) เน้นมาตรการพัฒนาให้เป็นประโยชน์แก่การครองชีพของคนจน และ (ข) จัดสรรเฉลี่ยรายได้เสียใหม่ด้วยมาตรการภาษีอากรและการสังคมสงเคราะห์ ที่ผมเห็น “สมควร” นี้อาจจะมีผู้ที่ไม่เห็นด้วย และคิดเห็นแตกต่างกันเช่นนี้ก็เนื่องมาจากจิตใจและอุดมคติต่างกัน

๑๑. มีอีกกรณีหนึ่งที่ต่างคนก็อาจต่างใจกัน คือ การเลือกระหว่างเงินได้กับความสบาย บุคคลหนึ่งอาจจะเลือกข้างความสบายมากโดยได้เงินได้น้อย แต่อีกคนหนึ่งอาจจะเลือกไปในทำนองตรงกันข้าม การที่จะกำหนดว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการอะไรบ้างตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี ๑๙๘๐ จึงจะเป็นการเลือกถูกลักษณะ “คุณภาพสูงของชีวิต” นั้นเป็นปัญหาที่จะตัดสินไปเด็ดขาดหาได้ไม่

๑๒. อย่างไรก็ตาม ผมขอเสนอว่าถ้าเราจะถือการวางแผนพัฒนาเป็นเรื่องจริงจังแล้ว เราก็จำเป็นที่จะเสี่ยงตั้งข้อสมมุติฐานขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องต่างคนก็ต่างใจ ในการร่างแผนพัฒนาไม่ว่าจะเป็นสำหรับประเทศใด ผู้ร่างย่อมต้องกำหนดไว้ในใจว่าโครงการต่างๆ นั้นมีไว้เพื่อสนองความต้องการของราษฎรในประเทศ และอะไรเป็นความต้องการ ผู้ร่างแผนพัฒนาก็ต้องกำหนดไว้ในใจเป็นสมมุติฐาน ข้อที่น่าสังเกตก็คือตามปกติข้อสมมุติฐานดังกล่าวเก็บไว้ในใจ ผู้ร่างไม่ได้มีการอภิปรายโต้แย้งหรือวิเคราะห์กัน ผมเห็นว่าถ้านำเอาข้อสมมุติฐานเกี่ยวกับความต้องการของเอกชนมาอภิปรายวิเคราะห์กันโดยเปิดเผยคงจะได้ประโยชน์ดีนักในแง่ที่จะได้ใช้สติปัญญาพิจารณากันโดยสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นในบทความนี้ ผมจึงจะ “ยื่นคอออกมา” พิจารณาข้อเสนอสมมุติฐานและพร้อมที่จะรับฟังข้อวินิจฉัยเกี่ยวกับ “ความสมควร” แห่งสมมุติฐานของผม

๑๓. ในชั้นนี้ ควรจะกล่าวว่าเอกชนแต่ละคนนั้นเห็นเงินได้และทรัพย์สมบัติเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเงินเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่
สรรพสิ่งจำนวนมากที่เขาต้องการ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การบำรุงรักษาอนามัย ความเพลิดเพลิน ความมั่นคงแห่งชีวิต อิสรภาพ ความนับถือยกย่อง แม้แต่อำนาจด้วย อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้งหลายย่อมต้องถูกจำกัดมิให้มีเงินได้และทรัพย์สินมากจนเกินไปนัก ข้อจำกัดที่สำคัญคือข้อจำกัดทางสังคม สังคมที่ใฝ่ในความยุติธรรมย่อมต้องการให้รัฐบาลเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราที่สูงกว่าคนจน อีกประการหนึ่ง นอกจากข้อธรรมะที่อาจจะโต้แย้งกันได้ คือ ทรัพย์สินเงินทองมักจะชักนำให้คนทำบาป ยังเป็นความจริงด้วยว่าเงินไม่สามารถซื้อความสุขและความชื่นบานได้ ฉะนั้นผมจึงถือเป็นยุติได้ว่า ในชุมชนของเรานั้นไม่จำเป็นที่คนใดคนหนึ่งจะร่ำรวยเกินหน้าคนอื่นไปมากนัก เพียงแต่ให้มีรายได้พอกินพอใช้สำหรับการครองชีพของตนและครอบครัว เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาของบุตรก็พอแล้ว

มองในมุมกลับ เมื่อแต่ละคนมีเงินพอกินพอใช้อย่างสบาย การแบ่งสรรเงินรายได้ของประชาชาติก็ต้องเป็นไปโดยชอบธรรมทั่วทั้งประเทศ

๑๔. ผมใคร่จะได้เห็นเพื่อนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีงานทำชนิดที่คู่ควรแก่สิทธิของมนุษยชน และเป็นงานที่ไม่น่าเบื่อหน่าย อาชีพของเขานั้นควรจะมีความมั่นคงพอ และถ้าเผอิญต้องออกจากงาน การตกงานก็ควรจะไม่นานนัก กับมีเบี้ยเลี้ยงชีพสำหรับคนว่างงานพอสมควร

๑๕. ผมใคร่จะได้เห็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีรายได้จากการทำงานพอที่จะเก็บออมไว้ได้บ้าง และเงินออมนี้เขาจะใช้ซื้อที่นาเรือกสวน ถ้าเขาเป็นชาวนาชาวสวน หรือถ้าเขาเป็นลูกจ้างในอุตสาห-
กรรมหรือพาณิชยกรรม ก็สามารถซื้อหุ้นในบริษัทห้างร้านที่เขาทำงานรับใช้อยู่ การมีอะไรเป็นกรรมสิทธิ์ในงานที่เราทำอยู่นั้น ต้องถือว่าเป็นปัจจัยอันหนึ่งของชีวิตที่มีคุณภาพสูงและมั่นคงในสังคมระบบทุนเอกชน

๑๖. ระหว่างการบริโภคกับการออมทรัพย์ (และการลงทุน) ผมใคร่จะได้เห็นดุลยภาพอันเหมาะสม แน่ละ บุคคลที่จะใช้เงินเกินตัวอยู่เสมอ หรือใช้เงินได้เพื่อบริโภคเสียหมดนั้นหาควรไม่ ความก้าวหน้าและความจำเริญของบุคคลและประชาชาติย่อมขึ้นอยู่กับการออมทรัพย์และการลงทุน แต่อีกนัยหนึ่ง การกระเบียดกระเสียรอดออมมากเกินไปในปัจจุบัน แม้ว่าจะเพื่อประโยชน์ความก้าวหน้ารวดเร็วและไปได้ไกลก็ตาม ก็มิใช่เป็นเรื่องพึงนิยม คนเราแต่ละคนย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ดีกินดีพอควร ผมจึงไม่เห็นด้วยกับวิธีการของโซเวียตรัสเซียในปี ๑๙๒๐–๔๐ ที่บังคับให้คนรุ่นนั้นอดออมจนเหลือแสนเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นหลัง แม้ว่านโยบายเช่นนั้นจะบันดาลให้ประเทศเรืองอำนาจขึ้นได้สักเพียงใด

๑๗. ระหว่างความสบายกับการทำงานก็เช่นเดียวกัน ควรจะชั่งให้ได้ดุลอันเหมาะ มีผู้กล่าวอยู่เสมอว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรามักจะชอบสนุกและสบายจนไม่ใคร่ทำงานจริงจัง ข้อนี้ก็มีความจริงอยู่บ้าง เป็นการไม่พัฒนาและขัดกับการพัฒนา แต่อีกด้านหนึ่งในสังคมที่ขวนขวายเอาแต่เงินในนิวยอร์ก โตเกียว หรือแม้แต่กรุงเทพฯ การทำงานเกินตัว ความวิตกกังวลจนเกินไป และความเร่งรีบแห่งจังหวะชีวิตย่อมเป็นศัตรูต่อสุขภาพและความชื่นบาน

บุคคลใดเลือกทำงานน้อย บุคคลนั้นย่อมได้รับผลโดยตรง คือมีรายได้น้อย ถ้าเขาเลือกเช่นนั้น เขาก็น่าจะทำได้โดยเสรี ไม่ควรจะได้รับการเหยียดหยาม หรือประณามต่อหน้าธารกำนัล หรือลงโทษ ผมไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์แรงงานแบบนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใด และไม่ว่าจะได้มีผลดีมีผู้สรรเสริญมาแล้วก็ตาม

๑๘. บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะต้องการมีสังคมให้ความปลอดภัยอย่างเพียงพอแก่ชีวิตและร่างกายของตนและครอบครัว และให้สังคมคุ้มครองทรัพย์สินของเขาด้วย ข้อนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาเพราะ メความไม่ปลอดภัยในร่างกายและทรัพย์สินนั้น เปรียบได้กับความไม่แน่นอนของกฎแห่งกรรม คือความอุตสาหวิริยะและความเสียสละของมนุษย์นั้นไม่แน่เสียแล้วว่าจะนำไปสู่จุดหมายอันพึงประสงค์จากการพยายามและเสียสละนั้นๆ หมายความว่า เกิดความไม่แน่นอนเสียแล้วว่าใครหว่านพืชจะหวังผลได้ หรือใครผลิตจะบริโภคได้ หรือใครอดมื้อนี้จะได้กินมื้อหลัง ความพากเพียรและความมัธยัสถ์นั้นไม่ใช่เป็นมรรคนำไปสู่ความมั่งคั่งเสียแล้ว กลายเป็นความทุจริตใช้กำลังแทนモ[5]

บุคคลพึงมีสิทธิในฐานมนุษยชนและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมเพื่อนมนุษย์อื่นๆ และไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวการเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงของข้าราชการหรือนักการเมือง เขาจะถือศาสนาอะไรหรือไม่ถือก็แล้วแต่ความศรัทธาของเขา ทำได้โดยเสรี และไม่จำเป็นต้องประพฤติและปฏิบัติตามแบบของคนหมู่มาก ตราบใดที่เขามิได้ประทุษร้ายต่อผู้ใด เขาควรจะมีโอกาสพักผ่อนเพลิดเพลินตามใจชอบ ซึ่งอาจจะเป็นการหย่อนใจทางวัฒนธรรม ทางศิลปะประเภทต่างๆ ทางกีฬา หรือแม้ว่าจะหย่อนใจอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เฉพาะอย่างยิ่งในชนบท คือ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ศาสนา และชุมชน ความมีส่วนร่วมในชุมชนของตน ด้วยเหตุฉะนี้ วัดวาอารามในพุทธศาสนาและมัสยิดของอิสลามจึงเป็นศูนย์สำคัญสำหรับชุมชนในงานสังคม พิธี วัฒนธรรม และวรรณคดี อากาศบริสุทธิ์ ภูมิประเทศงดงาม ลำธารอันใส และสิ่งอื่นๆ ประเภทนี้ไม่ต้องซื้อต้องหาในชนบท สิ่งแวดล้อมเหล่านี้เป็นสิ่งทดแทนเงินได้ อันต่ำของชาวชนบท เราจะต้องบำรุงรักษาให้เขาและลูกหลานของเขา

๑๙. ที่สำคัญที่สุด ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องสามารถพึ่งตนเองมากที่สุดที่จะทำได้ เคราะห์กรรมและความหายนะมักจะเกิดขึ้นแก่ชาวชนบทเสมอ แต่เมื่อเหตุร้ายเหล่านี้เกิดขึ้น หรือราคาพืชจะต่ำลงเขาจะต้องสามารถพลิกแพลงแก้ไขได้สำเร็จ บางทีอาจจะต้องอาศัยคนอื่นหรือรัฐบาลช่วยบ้าง และเมื่อเหลือกำลังแบกก็ควรจะสามารถออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม กลับกัน เขาควรจะสามารถช่วยเพื่อนบ้านที่ตกทุกข์ได้ยาก การช่วยเหลือซึ่งกันและกันเช่นนี้พวกเราชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในชนบทได้ทำกันมาเป็นประเพณีแล้ว การสหกรณ์เพียงแต่เป็นเรื่องเดียวกันมาในรูปแบบใหม่

๒๐. โดยสรุป ผมใคร่จะได้เห็นการวางแผนพัฒนาและปฏิบัติตามแผนเป็นไปในทางสนับสนุน และรักษาไว้ซึ่งคุณภาพแห่งชีวิตของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือพูดให้ง่ายเข้าคือการอยู่ดีกินดี การอยู่ดีกินดีนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

(ก) สันติภาพ การปลอดจากความกลัว การพ้นจากสงคราม การปล้น การกดขี่ข่มเหง การเบียดเบียนประทุษร้าย และการบีบบังคับเผด็จการของข้าราชการและนักการเมือง

(ข) สุขภาพอันดีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ การแพทย์ที่ดีและใช้ได้ง่าย

(ค) การปลอดจากความหิวโหยอดอยาก

(ง) การประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์ น่าสนใจและมั่นคง มีรายได้พอใช้

(จ) ที่อยู่อาศัยสะอาดและสบาย

(ฉ) สิทธิที่จะยึดกรรมสิทธิ์ในผลของการออมทรัพย์

(ช) เสรีภาพในการเชื่อถือและศาสนา เสรีภาพที่จะปฏิบัตินอกแบบ

(ซ) โอกาสในการหย่อนใจด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และอื่นๆ

(ฌ) มีส่วนในชุมชนท้องถิ่น

(ญ) การรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

(ฎ) ความสามารถช่วยตนเองและช่วยผู้อื่นซึ่งกันและกัน

ตอนที่ ๓. ความรับผิดชอบของรัฐบาล

๒๑. ถ้าเป็นที่ยอมรับกันว่าเกณฑ์การอยู่ดีกินดีของเอกชนดังกล่าวมาข้างต้นพอจะใช้เป็นหลักได้ เราจะเห็นว่าเป้าหมายสำคัญของสหประชาชาติซึ่งได้สรุปไว้ในวรรค ๑ แห่งบทความนี้ เป็นเป้าหมายที่เพียงพอใช้ได้สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้ได้สำหรับประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ ด้วย

(กรณีของกัมพูชา ลาว และเวียดนาม เป็นกรณีพิเศษซึ่งจะต้องดำเนินการแตกต่างออกไป การฟื้นฟูบูรณะประเทศทั้ง ๓ นี้จะต้องกระทำกันอย่างแข็งขันและกว้างขวางทั้งในด้านมนุษย์และด้านวัตถุเพื่ออำนวยให้กลับคืนจากสภาวะศึกมาสู่สภาวะการพัฒนาตามปกติ)

๒๒. หน้าที่ของรัฐบาลซึ่งอ้างว่าจะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศก็เห็นได้โดยชัดแจ้ง รัฐบาลจะต้องพยายามสนองความต้องการของราษฎร ตามที่ได้ระบุไว้ในวรรค ๒๐ โดยให้บริการในด้านต่างๆ ความรับผิดชอบทั้งหลายมีดังนี้

(ก) การรักษาความสงบเรียบร้อยและเสถียรภาพ

(ข) การบริหารที่ดีมีสมรรถภาพและเห็นอกเห็นใจราษฎรในด้านต่างๆ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง

(ค) บริการขั้นพื้นฐานประเภทต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการสนเทศการค้าอันทะมัดทะแมง การส่งเสริมการเกษตรด้วยสมรรถภาพ และการอบรมด้านอุตสาหกรรม

(ง) นโยบายอันเหมาะสมเพื่อสร้างสรรค์และดำรงไว้ซึ่งโอกาสในการประกอบอาชีพ

(จ) เฉลี่ยรายได้และทรัพย์สินให้ทั่วถึงกัน ด้วยวิธีการคลังและสังคมสงเคราะห์

(ฉ) มุ่งงานพัฒนาโดยเน้นให้ได้ประโยชน์แก่หมู่ชนที่ยากไร้

(ช) ลงทุนในการสร้างสรรค์ทรัพยากรมนุษย์ด้วยวิธีโภชนาการและการศึกษา

๒๓. ความสำคัญของความสงบเรียบร้อย ความชอบธรรมตามกฎหมายนั้นจำเป็นต้องกล่าวย้ำ เพราะรัฐบาลหลายรัฐบาลซึ่งมีแผนพัฒนาอันใหญ่โตโอ้อวดได้ มักจะลืมหน้าที่ประจำวันในการรักษาความสงบราบคาบ ไปเอาใจใส่กับโครงการพัฒนาที่จับตาจับใจ และสร้างความนิยมกับตนเองเสียแทน ผู้อำนวยการสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์แห่งหนึ่งในภาคอีสานของไทยได้กล่าวว่า “ไม่ทราบว่าจะไปแนะนำและสนับสนุนให้ชาวไร่ชาวนาเพาะพันธุ์สัตว์กันทำไม ในเมื่อมีการลักโค
กระบือกันชุกชุมอย่างนี้ และตำรวจก็เป็นด้วยกับเขาบ่อยๆ”

๒๔. การบริหารราชการแผ่นดินโดยเอาใจใส่นั้นเป็นการพัฒนาชนิดเอกอยู่ในตัว ถ้าเงินมีเสถียรภาพโดยนโยบายการคลัง การงบประมาณ และการเงินดีแล้ว ประชาชนก็ย่อมมีแก่ใจที่จะออมทรัพย์และลงทุน ถ้าการบัญชีของราชการบกพร่อง หรือมีช่องรั่วไหลและเหลวไหลในการควบคุมเงินได้เงินจ่ายของรัฐบาล ผลก็คือการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อย และผลต่อมาก็คือเป็นการถ่วงความเจริญในการพัฒนา

รัฐบาลที่บริหารราชการโดยดี ย่อมต้องคำนึงถึงการส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมและการศาสนาเป็นเรื่องสำคัญด้วย ศิลปะประเภทต่างๆ วรรณคดีและจินตกวีนิพนธ์และดนตรี ช่วยให้สมองและประสาทเจริญมีสุขภาพดี ซึ่งนับว่าสำคัญอย่างน้อยก็เสมอกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

๒๕. ในบรรดาบริการขั้นพื้นฐาน โครงการที่รัฐบาลนิยมมากก็คือ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อวดได้ง่ายเพื่อการไฟฟ้า และการสร้างทางหลวงสายเอก[6] โครงการอื่นซึ่งจำเป็นเช่นเดียวกัน แต่มักจะถูกทอดทิ้งละเลย ได้แก่ คลองส่งน้ำชลประทาน คันนาและคูน้ำ สถาบันสินเชื่อการเกษตร และการสนเทศข่าวพาณิชย์ การให้ข่าวพาณิชย์รวดเร็วทันใจและถูกต้องกับการหาตลาดส่งออกนั้นสำคัญยิ่งนักสำหรับชาวนา[7]

บางรัฐบาลชอบตั้งองค์การตลาดสำหรับพืชผล แต่องค์การชนิดนี้มักจะมีพิษ ใช้แทนการสนเทศข่าวการค้าไม่ได้ เพราะเปิดช่องทางให้เกิดการทุจริตได้ง่าย และเพราะเหตุที่นโยบายราคาสินค้านั้นยากที่จะกำหนดลงไปได้โดยถูกต้องและรัดกุม ถ้าราคาที่กำหนดไว้ต่ำเกินไป องค์การนั้นก็ไร้ประโยชน์ ถ้าราคากำหนดสูงเกินไปผู้ผลิตก็จะผลิตมากเกินต้องการอย่างเรื้อรัง และสินค้าคงเหลือขายไม่ออกจะสะสมเพิ่มพูนอยู่เรื่อยๆ

๒๖. นโยบายที่ถูกต้องสำหรับการสร้างและรักษาไว้ซึ่งโอกาสการประกอบอาชีพนั้นมีอยู่หลายสถาน อาทิ

(๑) หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมือการผลิตชนิดที่ต้องลงทุนมาก
เกินไป ซึ่งอาจเป็นได้เพราะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินกับต่างประเทศไว้สูงเกินไป หรือเพราะยกเว้นหรือลดภาษีนำเครื่องจักรเข้าประเทศ

(๒) สนับสนุนการผลิตโดยกรรมวิธีที่ใช้คนมาก เครื่องจักรน้อย

(๓) สนับสนุนการใช้กรรมวิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาวะของประเทศ

(๔) งานสาธารณประโยชน์ในชนบท ซึ่งอาจจะรวมทั้งการป้องกันและบำรุงสิ่งแวดล้อม[8]

๒๗. เรื่องการหางานอาชีพให้คนทำนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งในชนบทและในเมือง แต่ปัญหาเรื่องนี้รุนแรงมากเป็นพิเศษในชนบท เพราะในชนบทมีแรงงานที่ว่างงานเป็นจำนวนมากและที่ทำงานน้อย และขณะเดียวกันก็มีงานหลายอย่างที่เป็นสาธารณประโยชน์ซึ่งถูกเพิกเฉย ชนบทจึงมีความกันดารและยากไร้อยู่ตลอดไป อนึ่ง เมื่อการศึกษาดีขึ้น คนในชนบททั้งหญิงและชายที่แข็งแรงมีสติปัญญาดีกว่าคนอื่นมักจะเดินทางเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ๆ ผลก็คือสร้างปัญหาการว่างงานและปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ให้เมืองใหญ่มากขึ้น ผมคิดว่าการแก้ปัญหาทั้งมวลนี้ขึ้นอยู่กับความเฉลียวฉลาดช่างคิดริเริ่มของนักวางแผนพัฒนาและผู้มีหน้าที่ดำเนินการพัฒนาประการหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการกระจาย
อำนาจการบริหารไปสู่ท้องถิ่นประการหนึ่ง และเมื่อองค์การบริหารท้องถิ่นได้รับอำนาจหน้าที่มาแล้ว ก็ควรจะดำเนินการและดำริริเริ่มให้ต้องด้วยลักษณะความต้องการของท้องถิ่น โดยรัฐบาลกลางสนับสนุนในด้านการเงินและวิชาการอย่างจุใจ

๒๘. เรามักจะได้ยินผู้อ้างว่า การกระจายเงินได้และทรัพย์สินให้ทั่วถึงในขณะนี้จะทำให้ประเทศด้อยพัฒนามีอัตราการก้าวหน้าลดต่ำลง หรืออีกนัยหนึ่งเป้าหมาย ๒ ข้อนี้ขัดกัน แต่ศาสตราจารย์คุณนาเมียร์ดาล ดร.เจมส์ กรานท์ และนายโรเบิร์ต แมคนามารา และผู้อื่นอีกหลายคน ได้แสดงเหตุผลวิเคราะห์ไว้น่าเชื่อว่า แม้จะแบ่งเงินได้และทรัพย์สินให้ลำเอียงเข้าข้างคนมั่งมี ก็มิใช่ว่าจะช่วยให้มีการออมทรัพย์และการลงทุนสูงขึ้น อีกด้านหนึ่งนั้น เมื่อประเทศจัดการกระจายรายได้และทรัพย์สินให้เสมอภาคกันมากขึ้นแล้ว ก็ปรากฏบ่อยๆ ว่าได้มีการออมทรัพย์และการลงทุนสูงขึ้นอันเป็นสื่อให้เศรษฐกิจก้าวหน้าได้ดี[9]

ประธานธนาคารโลกในที่ประชุมผู้ว่าการประจำปีเมื่อเร็วๆ นี้ได้แสดงตัวเลขที่น่าสนใจไว้อย่างมีหลักฐานมั่นคง ดังนี้ “ในบรรดาประเทศด้อยพัฒนา ๓๙ ประเทศที่เราได้ศึกษา เราพยายามคำนวณดูว่าในแต่ละประเทศคนมั่งมีที่สุด ๕% แรกมีรายได้เป็นกี่เท่าของคนที่จนที่สุด ๔๐% ในเบื้องต่ำ ปรากฏว่าผลลัพธ์แตกต่างกันมากแล้วแต่ประเทศ มี ๘ ประเทศที่คนมั่งมีที่สุดมีเงินได้แต่ละคนมากกว่า ๓๐ เท่าของหมู่คนจนที่สุด และมี ๑๖ ประเทศที่กลุ่มคนมั่งมีที่สุดมีเงินได้แต่ละคนต่ำกว่า ๑๕ เท่าของหมู่คนจนที่สุด... เมื่อนำเอาประเทศทั้ง ๒ ประเภทนี้มาเปรียบเทียบกันดูว่าในระยะปี ๑๙๖๐ ถึง ๑๙๗๐ ประเภทใดสามารถเพิ่มรายได้ต่อคนมากกว่า ปรากฏว่าไม่มีความสัมพันธ์กันเลยระหว่างอัตราความจำเริญกับการล่อใจด้วยโอกาสที่จะรวยได้เร็ว”

๒๙. บรรดามาตรการเพื่อเฉลี่ยกระจายเงินได้และทรัพย์สินนั้นมีภาษีเงินได้ ภาษีมรดกและการรับมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน และการปฏิรูปที่ดิน เป็นอาทิ ศาสตราจารย์จาน ทินเบอเกน มีความเห็นว่าภาษีเงินได้นั้น แม้จะมีอัตราก้าวหน้าสักปานใดก็ตาม ยังไม่เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุด ท่านศาสตราจารย์เห็นว่าภาษีทรัพย์สินดีกว่า[10]

สำหรับการปฏิรูปที่ดินนั้น จะสังเกตได้ว่ามีรัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แถลงอยู่ตลอดศกว่าจะต้องดำเนินการ แต่น่าพิศวงที่รัฐบาลเหล่านั้นไม่ได้ลงมือดำเนินการสักที เลื่อนๆ ไปตลอดศก น่าจะเป็นได้ว่าเจ้าของที่ดินมักจะมีอิทธิพลอยู่มากในวงการรัฐบาล หรืออาจเป็นได้กระมังว่า พอใครได้เป็นรัฐมนตรีเข้าก็เลยกลายเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ไปโดยอัตโนมัติ

๓๐. ในวรรคที่ ๖ ถึง ๘ ได้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศต่างๆ ได้แถลงไว้โจ่งแจ้งว่าจะปราบความยากไร้อย่างเด็ดขาด แต่ประเทศเหล่านี้หาได้เอาใจใส่ที่จะเน้นงานพัฒนาชนิดที่จะเป็นคุณแก่คนจำพวกที่ยากจนที่สุดไม่ ข้อนี้อาจจะเป็นผลจากการวิเคราะห์ต้นทุน–กำไร ชนิดที่เป็นมิจฉาทิฐิก็เป็นได้ หรืออาจจะเป็นเพราะความบกพร่องในเจตนาของนักการเมืองตามที่นายแมคนามารากล่าวไว้ก็เป็นได้

ในการวิเคราะห์โครงการพัฒนาด้านสังคม ถ้าเราจะมาเพ่งเล็งเปรียบเทียบต้นทุน–กำไรด้านการเงินเท่าที่เห็นได้ง่ายอย่างเดียวนั่นแหละเป็นมิจฉาทิฐิ เพราะในโครงการเหล่านี้กำไรหรือประโยชน์จะคำนวณตัวเงินอย่างเดียวหาพอเพียงไม่ เมื่อเรามีโครงการลงทุนในท้องถิ่นกันดาร ซึ่งมีคนทำงานชนิดที่หย่อนในวิชาชีพ และดินฟ้าอากาศเล่าก็มีคุณภาพต่ำ เอาโครงการเช่นนี้มาวิเคราะห์ผลลัพธ์ ก็แน่ละ ต้องแสดงว่าประโยชน์ที่จะได้นั้นต่ำ แต่เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ใช่เหตุผลพอเพียงที่จะโยนโครงการนั้นลงตะกร้า ตรงกันข้าม ถ้าเราพยายามร่างโครงการขึ้นหลายๆ โครงการซึ่งเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระดมลงทุนในท้องถิ่นกันดารนั้นผลอาจจะปรากฏว่า ประโยชน์ส่วนตัวของโครงการเหล่านั้นจะสูงกว่าผลบวกของแต่ละโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโครงการศึกษาและอบรมเข้าร่วมในโครงการผสมนั้นด้วย อย่างไรก็ตาม หน้าที่สงเคราะห์คนที่ยากไร้เป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นหน้าที่ที่พึงปรารถนาในตัวของมันเอง เพราะการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และการป้องกันมิให้ทรัพยากรท้องถิ่นต้องสูญเสียเปล่าประโยชน์ไปนั้นมิใช่เป็นเรื่องสำคัญดอกหรือ

๓๑. จริงอยู่ การดำเนินแผนงานสวัสดิภาพประชาชนอย่างสมบูรณ์แบบและโดยทั่วประเทศนั้น ถ้าได้เตรียมงานไว้ไม่ดีและดำเนินงานลุ่มๆ ดอนๆ ย่อมเป็นอันตรายแก่ประเทศได้ ผู้ที่คัดค้านเรื่องสวัสดิภาพประชาชนมักจะอ้างกรณีของลังกาและยุรุเกวเป็นบทเรียน แต่ในด้านตรงกันข้าม ความสำเร็จของไต้หวันก็น่าจะนำมาพิจารณาด้วย ประเด็นข้อนี้น่าจะมีการศึกษาวิจัยกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ความเห็นของผมนั้นคือความจำเริญก้าวหน้าส่วนรวมกับการส่งเสริมสวัสดิ-
ภาพของคนที่ยากไร้ย่อมไม่ขัดกัน ถ้าหากว่า (ก) รัฐบาลพยายามเพิ่มผลผลิตของคนส่วนใหญ่ในประเทศ (ข) รัฐบาลใช้นโยบายและมาตรการอันเหมาะสมและสุขุมด้านการคลังและการเงินในการวางแผนพัฒนาและสวัสดิการ (ค) รัฐบาลพยายามจูงใจให้ราษฎรออมทรัพย์เพิ่มมากขึ้นกว่าในกรณีปกติ

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงสวัสดิภาพของประชาชนนั้นมักจะช่วยให้เศรษฐกิจก้าวหน้าได้อยู่ในตัว เช่น การกำจัดมาลาเรีย ทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น และเพิ่มผลผลิตของแต่ละคน เป็นอาทิ

๓๒. รัฐบาลที่จะปฏิบัติหน้าที่ความรับผิดชอบได้ดีนั้น ย่อมเป็นรัฐบาลที่ได้รับประโยชน์จากความสัมพันธ์เกื้อกูลกันระหว่างสถาบันประเภทต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เสรีภาพของประชาชนและการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งของเจตนาของนักการเมืองที่จำเป็นต้องมี เพื่อจะเน้นแก้ปัญหาความยากจนของมวลชนหมู่ใหญ่ ลัทธิเผด็จการไม่ว่าจะเป็นไปโดยแบบพ่อปกครองลูกหรือแบบอื่น ย่อมตัดช่องทางของการพัฒนาอันพึงปรารถนาให้เรียวลง และบางครั้งอาจจะทำลายไปเสียเลย ฉะนั้นเสรีภาพของประชาชนและการมีสิทธิ์ร่วมในการเมืองการปกครองของประชาชนจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๓๓. การลงทุนพัฒนามนุษย์นั้นมีความสำคัญอันดับสูงสุดในแผนพัฒนา เพราะจะช่วยให้ประชาชนพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้

นักวิทยาศาสตร์ได้แสดงว่า ความเจริญของสมองนั้นเป็นปัจจัยโดยตรงต่อการเล่าเรียนและความประพฤติ メขดสำคัญของสมองซึ่งเป็นศูนย์แห่งความรู้สึก การพูด การควบคุมกล้ามเนื้อ ความคิด และความทรงจำนั้น เจริญเติบโตขึ้นแต่เพียงน้อยในทารก เมื่อแรกเกิดรูปทรงของขดสมองและการทำหน้าที่ของสมองเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ในบางแถบยังไม่ขยายตัวเต็มที่ เมื่อทารกอายุได้ ๒ ขวบบางแถบจะคงตัวอยู่ไม่ขยายเต็มที่จนกระทั่งอายุถึงขีดวัยรุ่น ในระยะที่เด็กเติบโตขึ้นนั้น จำนวนของสายสัมพันธ์ (dendrites) ในระหว่างขดสมองจะเพิ่มขึ้นทุกที และอาจจะเป็นไปได้ที่เซลล์สมองเซลล์หนึ่งจะเกื้อกูลช่วยเหลือเซลล์อื่นๆ ได้โดยพาดสายสัมพันธ์ติดต่อกัน ซึ่งเราเรียกกันว่า メconnectivityモ[11] เจราลด์ ลีช เรียก メconnectivityモ นี้ว่า เป็นระบบ メพาดสายモ ที่เกิดขึ้นอย่างอุดม และกล่าวว่า メระบบการพาดสายอย่างอุดมน่าประหลาดนี้คือสิ่งที่ทำให้สมองของมนุษย์สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างน่าพิศวง แต่สิ่งที่พิสดารที่สุดในสมองของเราก็คือ ถ้าเรายิ่งใช้สมอง สมองก็จะเพิ่มโครงสร้างได้เอง มีการพาดสายอย่างละเอียดและสมบูรณ์ ทุกวันนี้เราเชื่อกันว่า เมื่อสมองถูกใช้งานมากขึ้น การพาดสายต่อเนื่องกันก็ยิ่งมีมากขึ้น และสายเหล่านี้เชื่อมโยงกันทำให้สมองส่วนต่างๆ แล่นถึงกันได้มากขึ้นモ[12] กล่าวโดยง่ายขึ้น ถ้าสมองได้รับการฝึกใช้งานมากจะเป็นโดยการศึกษาเล่าเรียนก็เป็นได้ สมองนั้นจะมีโครงร่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และเหตุการณ์ข้อนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษในระยะที่เด็กเติบโตจนถึงวัยรุ่น

ความหมายของนักวิทยาศาสตร์นั้นพอจะจับความได้ชัดว่า ถ้าเราอยากให้สมองเจริญขึ้นโดยดี (ด้วย “connectivity” หรือการพาดสาย) เราจะต้องฝึกสมองด้วยการเล่าเรียนและการขบคิดปัญหาต่างๆ ซึ่งเรากระทำในระหว่างเล่าเรียน การฝึกสมองนี้ต้องทำระหว่างที่เด็กกำลังเติบโตจึงจะได้ผลตราบจนกระทั่งถึงวัยรุ่น ในประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราให้การศึกษาแก่เด็กเพียง ๔ หรือ ๕ หรือ ๖ ปีในโรงเรียนแล้วก็เลิกให้ ระยะเวลาเพียงเท่านี้ไม่เพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้สมองเจริญขึ้นเต็มที่ ฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องลงทุนในการศึกษาให้มากขึ้นสำหรับเด็กทุกคนจนกระทั่งถึงวัยรุ่น

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงว่า โภชนาการที่ถูกหลักนั้นช่วยให้เด็กเจริญเติบโตขึ้นทั้งทางร่างกายและสมอง ระยะเวลาที่สำคัญคือระยะที่ยังเป็นทารกเล็กๆ หลังจากนั้นจะสายเกินไป ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทุกประเทศ เว้นแต่สิงคโปร์ เรารับประทานอาหารประเภทโปรตีนต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ฉะนั้น โภชนาการที่ถูกหลักสำหรับมารดาและทารกจึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับสูงในการพัฒนามนุษย์

๔. ความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนา

๓๔. คนส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครองชีพอยู่ในชนบทและมีอาชีพอยู่ในชนบท และมีอาชีพทางเกษตรกรรมหรือการผลิตสินค้าขั้นปฐมอย่างอื่น ผลผลิตของพวกเราจะต้องสูงขึ้น และราคาสินค้าเกษตรและรายได้จะต้องเพิ่มขึ้น ชาวนาจะต้องพลิกแพลงการผลิตได้มากขึ้น และแหล่งรายได้ของเขาจะต้องมีหลายแหล่ง ถ่ายเทได้โดยง่าย

การแบ่งงานกันทำเพื่อผลิตอาหารประเภทต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่น่ากระทำ และประเทศต่างๆ ควรร่วมมือกันและประสานแผนพัฒนาซึ่งกันและกันในการผลิตสินค้าขั้นปฐมและการค้า เพื่อจะป้องกันมิให้ราคาของสินค้านั้นขึ้นลงฮวบฮาบจนเกินไป

๓๕. การแบ่งงานกันทำและการประสานแผนพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมก็ยิ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ในปัจจุบันแต่ละประเทศต่างก็มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไปโดยไม่คำนึงถึงประเทศอื่น และมักจะสนับสนุนอุตสาหกรรมประเภทที่ผลิตมาเพื่อทดแทนสินค้าขาเข้า ในการนี้แต่ละประเทศต้องแย่งกันชักจูงให้บริษัทอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ที่มีชื่อเสียงทำการค้าอยู่หลายประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศของตน ในขณะเดียวกันตลาดสินค้าอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศก็แคบ กำลังซื้อก็น้อย นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมของทุกประเทศจึงน่าเกรงว่าจะประสบความล้มเหลว ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ถ้าจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้ดี (เป็นผลให้รายได้ของประชาชนสูงขึ้น) และถ้าจะคำนึงถึงเหตุผลอย่างอื่นด้านเศรษฐกิจและการเมือง ความร่วมมือระหว่างประเทศในแถบนี้จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

๓๖. ตั้งแต่ปี ๑๙๗๐ ได้มีคณะทำงานของสหประชาชาติรับเชิญจากองค์การอาเซียนให้ศึกษาโดยละเอียดถึงช่องทางที่ประเทศสมาชิกของอาเซียนจะร่วมมือกันโดยใกล้ชิดในภาคเศรษฐกิจต่างๆ และในการดำเนินงานเศรษฐกิจ ในปี ๑๙๗๒ คณะทำงานนี้ได้ทำรายงานเสร็จ[13] มีข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการค้าโดยเสรีซึ่งกันและกันในหมู่ประเทศสมาชิก เกี่ยวกับการตกลงกันร่วมมือทำอุตสาหกรรมประสานกัน และมีข้อเสนอละเอียดในเรื่องนี้ ในอุตสาหกรรมเคมีและวิศวกรรม ๑๓ โครงการ ข้อเสนอแนะอื่นๆ ว่าด้วยความร่วมมือในเกษตรกรรม การป่าไม้ การประมง และการเดินเรือ ผมเข้าใจว่ารายงานนี้ยังอยู่ในมือของรัฐบาล สมาชิกอาเซียนและยังไม่มีการดำเนินงานอย่างใด จึงเป็นที่หวังว่ารัฐบาลที่เกี่ยวข้องจะถือการพิจารณารายงานนี้เป็นเรื่องด่วน และเริ่มดำเนินงานก่อนปี ๑๙๘๐ หลายๆ ปี เป็นที่หวังอีกข้อหนึ่งว่า การร่วมมือดังกล่าวจะได้ขยายให้ทั่วถึงทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมายความว่ารวมทั้งประเทศที่ยังมิได้เป็นสมาชิกอาเซียนในปัจจุบันด้วย

ภาคผนวก

การอยู่ดีกินดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน)

ดูวรรค ๒๐

เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้กินอาหารถูกหลักโภชนาการและได้รับการเอาใจใส่ด้านสวัสดิการแม่และเด็ก

ผมไม่ต้องการมีพี่น้องมากมายอย่างที่พ่อแม่ผมมีมา และผมไม่อยากให้แม่มีน้องกระชั้นชิดกับผมเกินไปนัก

แม่กับพ่อผมจะแต่งงานกันตามประเพณีหรือไม่ ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือแม่กับพ่อต้องอยู่ร่วมกัน และไม่ทะเลาะกันบ่อยๆ

ในระยะ ๒-๓ ปี หลังจากที่ผมเกิดมา ผมอยากให้แม่กับผมได้กินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เพราะเป็นระยะที่ร่างกายและสมองผมเติบโตขึ้น และเป็นระยะที่จะส่งผลดีผลร้ายให้ผมในอนาคต

ผมต้องไปโรงเรียน และอยากให้พี่สาวหรือน้องสาวผมได้เรียนหนังสือด้วย แล้วเรียนรู้วิชาที่จะไปทำงานได้ กับให้โรงเรียนอบรมสั่งสอนเรื่องศีลธรรมจรรยาให้เรา ถ้าเผอิญผมเรียนได้เก่งไปได้ถึงชั้นสูงๆ ก็ขอให้มีโอกาสเรียนได้สูงที่สุด

เมื่อออกจากโรงเรียน ผมก็อยากทำงานเลี้ยงชีพ และงานนั้นควรจะน่าสนใจพอที่จะรู้สึกว่าผมได้ทำประโยชน์แก่คนอื่น

บ้านเมืองที่ผมอยู่ควรจะมีขื่อมีแป มีความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และพวกเราไม่ถูกกดขี่ข่มเหงประทุษร้าย

บ้านเมืองเราควรจะติดต่อมีความสัมพันธ์อันมีประโยชน์และชอบธรรมกับต่างประเทศ เราจะได้เรียนรู้วิชาทั้งด้านปัญญาและด้านอาชีพจากมนุษย์ทั่วโลก กับเราจะได้มีทุนจากต่างประเทศมาช่วยเราพัฒนา

บ้านเมืองของเราส่งสินค้าที่ผมทำขึ้นหรือที่เพื่อนร่วมชาติผมทำขึ้นไปขายต่างประเทศ ราคาสินค้านั้นควรจะเป็นราคาที่ยุติธรรม

ถ้าผมเป็นชาวนา ผมก็อยากมีที่นาของผมเป็นกรรมสิทธิ์ และมีช่องทางที่จะได้สินเชื่อมาลงทุน ได้วิชาแบบใหม่มาใช้เพาะปลูก ได้ตลาดมั่นคง และราคายุติธรรมสำหรับพืชผลของผม

ถ้าผมเป็นชาวเมืองทำงานรับจ้างเขา ผมก็อยากจะมีหุ้นส่วนในงานที่ผมทำ และมีส่วนในการดำเนินงานโรงงานหรือห้างที่ผมทำอยู่

ในฐานที่เป็นมนุษย์ ผมอยากจะได้อ่านหนังสือพิมพ์ถูกๆ หนังสือถูกๆ มีวิทยุฟัง มีโทรทัศน์ดู (แต่ไม่อยากฟังหรือดูโฆษณาสินค้ามากนัก)

ผมอยากมีสุขภาพแข็งแรง และหวังว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการบริการอนามัยป้องกันโรคชนิดฟรีและบริการการรักษาโรคชนิดที่ถูกและเรียกหาได้ง่าย

ผมหวังว่าจะมีเวลาพักผ่อนเป็นของตนเองบ้าง จะได้มีความสุขร่วมกับครอบครัวผม ถ้าอยากไปเที่ยวสวนก็ไปได้ อยากดูศิลปะชนิดต่างๆ ก็ได้ชม อยากไปงานวัดงานวัฒนธรรมก็ได้ไปเที่ยว

ผมจำเป็นต้องมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ และน้ำสะอาดสำหรับดื่ม

ผมอยากได้ร่วมมือเป็นสหกรณ์กับเพื่อนฝูง จะได้ช่วยกัน เขาบ้างเราบ้าง แล้วแต่ความจำเป็น

ผมจำเป็นต้องมีโอกาสได้ร่วมงานของชุมชนที่ผมอาศัยอยู่ และสามารถมีปากมีเสียงในการกำหนดชะตาของบ้านเมืองทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในประเทศของผม

เมียผมก็ควรมีโอกาสอย่างเดียวกัน และเราทั้ง ๒ คนควรได้รับความรู้และทราบวิธีการวางแผนครอบครัว

พอผมแก่ลง บ้านเมืองก็ควรจะให้บริการทางการเงินและสังคมสงเคราะห์แก่ผม เพราะผมก็ได้ออกเงินบำรุงมาตลอด

เมื่อผมตายแล้ว และเผอิญมีทรัพย์สมบัติเหลืออยู่ ผมอยากให้รัฐบาลแบ่งให้เมียผมไว้พอกิน แล้วเอาที่เหลือไปทำประโยชน์ให้คนอื่นได้อยู่ดีกินดีด้วย

นี่แหละคือความหมายอันแท้จริงแห่งชีวิต นี่แหละคือการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของทุกคน

(ภาคผนวกได้ตัดตอนลงใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์
ปีทีี่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๑๖)

[1]     メEconomic Survey of Asia and the Far Eastモ (Un, 1971) Also the preliminary draft of the 1972 issue: First Biennial Review

[2]     メEconomic Survey of Asia and the Far Eastモ (Un, 1972 draft), Part One, Chapter 8

[3]     Robert S. McNamara, メAddress to the World Bank Board of Governorsモ (September 25, 1972)

[4]     P.A. Baran, The Longer View (Monthly Review Press, 1969), p.27

[5]     J.S. Mill, Principles of Political Economy Book 5, Chapter 8

[6]     Barbara Ward & Rene Dubos, Only One Earth (Penguine Books, 1972). Part Four

[7]     Uma J. Lele & John W. Mellor, メJobs, Poverty and the Green Revolution,モ (The Agricultural Development Council, Inc., August, 1972)

[8]     Several writers have dealt convincingly with the various aspects of this subject; for example:

         Barbara Ward & Rene Dubos, op. cit.

         Uma J. Lele & John W. Mellor, op. cit.

         Gustav Renis, “Employment and Income Distribution in Development Countries” (IBRD Economic Staff Working Paper No. 115, September 1971)

         James P. Grant, “Equal Access and Participation vs. Trickle Down and Redistribution” (Discussion Paper: Press Foundation of Asia, One Asia Assembly, Feb. 5-8, 1973)

         Annual Report 1970-71 (Intermediate Technology development Group Ltd, 9 King Street, London WC2E 8HN) Paul Streetten, “Technology Gaps Between Western and Asian Countries,”Journal of the Royal Central Asian Society (Feb. 1973)

          Matching Employment Opportunities and Expectations: A Programme of Action for Ceylon (Geneva: ILLO, 1971): Employment. Incomes and Equality Kenya (Geneva: JLO. 1972)

         Economic Survey of Asia and the Far East (ECAFE 1971 and 1972.)

[9]     Gunnar Myrdal, The Challenge of World Poverty: A World Antipoverty Programme in Outline (Penguin Books, 1971). Chapter 3.

         James P. Grany, op. cit.

         Robert S. McNamara, op. cit.

[10]  See Jan Tinbergenユs writing from 1969 to date: for example in メCoexistenceモ (Vol.6, 1969): メThe Review of income and Wealthモ (Series 16, No. 3, 1970): メAnnals of the New York Academy of Sciencesモ (Vol. 184, 1971): メFestschift fur Walter Georg Waffenschmidtモ (Anton Hain-Meisenheim and Glan)

[11] Rene Dubos, Man, Medicine and Environment (Penguin Books, 1970), p.58

[12]  Gerald Leach, The Biocrats (Penguin Books, 1972), p.216

[13]  Economic Co-operation for ASEAN-Report of a United Nations Team (undated, but circulated in 1972)