กฎหมายไทยในปัจจุบัน มีอะไรบ้าง

ความหมายของกฎหมาย

     กฎหมายคืออะไร? เชื่อได้เลยว่าทุกคนหรือแทบจะทุกคนในสังคมคงจะรู้จักคำๆนี้เป็นอย่างดี แต่หากจะให้อธิบายความหมายของคำนี้ หลายๆคนคงไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้ ซึ่งจริงๆแล้วแม้แต่ในทางวิชาการก็มีการให้นิยามความหมายแตกต่างกันออกไปมากมาย เนื่องจากเป็นการยากที่จะนิยามความหมายออกมาให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด แต่พอจะสรุปได้ดังนี้

     กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐหรือผ็มีอำนาจสูงสุดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม และมีสภาพบังคับเป็นเครื่องมือในการทำให้บุคคลในสังคมต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับนั้น

     มนุษย์ถือได้ว่าเป็นสัตว์สังคมจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่เนื่องจากความคิด อุปนิสัย สภาพแวดล้อม เพศ ฯลฯ ที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมให้สังคมมีความสงบเรียบร้อย กฎหมายบางอย่างก็กำหนดขึ้นเป็นขั้นตอนหรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบเรียบร้อย หรือเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนในสังคมปฏิบัติตามในแนวทางเดียวกัน ก็จะสร้างความเป็นระเบียบให้เกิดขึ้นอีกด้วย เหล่านี้ถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญของสังคม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวนี้เมื่อคิดย้อนกลับไปแล้ว ก็จะมาจากคนในสังคมนั่นเอง

ลักษณะของกฎหมาย

 เราสามารถแยกลักษณะของกฎหมายออกได้เป็น 5 ประการ คือ

     1.กฎหมายต้องเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ ซึ่งจะแตกต่างกับการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตาม คำสั่งหรือข้อบังคับนั้นมีลักษณะให้เราต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าเป็นการเชื้อเชิญหรือขอความร่วมมือ เราจะปฏิบัติตามหรือไม่ก็ได้ เช่นนี้เราก็จะไม่ถือเป็นกฎหมาย เช่น การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ หรือช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ

     2.กฎหมายต้องมาจากรัฐาธิปัตย์หรือผู้ที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ รัฐาธิปัตย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ในระบอบเผด็จการหรือระบอบการปกครองที่อำนาจการปกครองประเทศอยู่ในมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีอำนาจออกกฎหมายได้ เช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด พระบรมราชโองการหรือคำสั่งของพระมหากษัตริย์ก็ถือเป็นกฎหมาย ส่วนในระบอบประชาธิปไตยของเรา ถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน กฎหมายจึงต้องออกโดยประชาชน คำถามมีอยู่ว่าประชาชนออกกฎหมายได้อย่างไร ก็ออกโดยที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย ซึ่งก็คือสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)นั่นเอง ดังนั้นการเลือก ส.ส. ในการเลือกทั่วไปนั้นนอกจากจะเป็นการเลือกคนเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ยังเป็นการเลือกตัวแทนของประชาชนเพื่อทำการออกกฎหมายด้วย

     นอกจากดังกล่าวมาข้างต้น อาจมีบางกรณีที่กฎหมายให้อำนาจเฉพาะแก่บุคคลในการออกกฎหมายไว้ เช่น พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงที่ออกโดยฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี) ฯลฯ

     3.กฎหมายต้องใช้บังคับได้โดยทั่วไป คือเมื่อมีการประกาศใช้แล้ว บุคคลทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายโดยเสมอภาค จะมีใครอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ หรือทำให้เสียประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงไม่ได้ แต่อาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น กรณีของฑูตต่างประเทศซึ่งเข้ามาประจำในประเทศไทยอาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีอากร หรือหากได้กระทำความผิดอาญา ก็อาจได้รับเอกสิทธิ์ตามกฎหมายระหว่างประเทศไม่ต้องถูกดำเนินคดีในประเทศไทย โดยต้องให้ประเทศซึ่งส่งฑูตนั้นมาประจำการดำเนินคดีแทน ฯลฯ

     4.กฎหมายต้องใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลง เมื่อมีการประกาศใช้แล้วแม้กฎหมายนั้นจะไม่ได้ใช้มานาน ก็ถือว่ากฎหมายนั้นยังมีผลใช้บังคับได้อยู่ตลอด กฎหมายจะสิ้นผลก็ต่อเมื่อมีการยกเลิกกฎหมายนั้นหรือมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเท่านั้น

     5.กฎหมายจะต้องมีสภาพบังคับ ถามว่าอะไรคือสภาพบังคับ นั่นก็คือการดำเนินการลงโทษหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบหรือหลาบจำ ไม่กล้ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอีก และรวมไปถึงการบังคับให้กระทำการ งดเว้นกระทำการหรือบังคับให้ส่งมอบทรัพย์สินด้วย

     ตามกฎหมายอาญา สภาพบังคับก็คือการลงโทษตามกฎหมาย เช่น การจำคุกหรือการประหารชีวิต ซึ่งมุ่งหมายเพื่อจะลงโทษผู้กระทำความผิดให้เข็ดหลาบ แต่ตามกฎหมายแพ่งฯนั้น สภาพบังคับจะมุ่งหมายไปที่การเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือการบังคับให้กระทำการตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ฯลฯ ซึ่งบางกรณีผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายก็อาจต้องต้องถูกบังคับทั้งทางอาญาและทางแพ่งฯในคราวเดียวกันก็ได้

     แต่กฎหมายบางอย่างก็อาจไม่มีสภาพบังคับก็ได้ เนื่องจากไม่ได้มุ่งหมายให้ผู้คนต้องปฏิบัติตาม แต่อาจบัญญัติขึ้นเพื่อรับรองสิทธิให้แก่บุคคล หรือทำให้เสียสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้วสามารถทำนิติกรรมได้เองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม หรือบุคคลที่มีอายุ 15 ปีแล้วสามารถทำพินัยกรรมได้ ฯลฯ หรือออกมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ซึ่งกฎหมายประเภทนี้จะไม่มีโทษทางอาญาหรือทางแพ่งแต่อย่างใด

ที่มาของกฎหมาย

     1.ศีลธรรม คือกฎเกณฑ์ของความประพฤติ คำๆนี้ฟังเข้าใจง่ายแต่อธิบายออกมาได้ยากมาก เพราะเป็นสิ่งที่แต่ละคนเข้าใจได้ในตัวเองและมีความหมายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สภาพแวดล้อม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ความหมายของศีลธรรมของแต่ละคนก็จะมีมาตรฐานใกล้เคียงกัน แม้อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้าง  แต่โดยหลักแล้วก็จะหมายถึง ความรู้สึกผิดชอบหรือความดีงามต่างๆที่ทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยสงบสุข ดังนั้นการบัญญัติกฎหมายจึงต้องใช้ศีลธรรมเป็นรากฐาน เพื่อให้เกิดความสงบสุขแก่สังคมให้มากที่สุดนั่นเอง

     2.จารีตประเพณี คือแบบแผนที่คนในสังคมยอมรับและถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านาน แต่ละสังคมก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่สภาพแวดล้อม ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ เช่นเดียวกับศีลธรรม การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจารีตประเพณี คนในสังคมนั้นๆก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่สมควรกระทำ จึงนำมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่คนในสังคมนั้นๆยอมรับ ตัวอย่างที่สำคัญก็คือกฎหมายในประเทศอังกฤษนั้น ผู้พิพากษาจะใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษา ซึ่งคำพิพากษานั้นถือเป็นกฎหมาย ส่วนประเทศอื่นๆก็มีการนำจารีตประเพณีมาใช้เป็นรากฐานในการบัญญัติกฎหมายเช่นกัน เช่นกฎหมายของประเทศไทยในเรื่องของการหมั้น การแบ่งมรดก ฯลฯ

     3.ศาสนา คือหลักการดำเนินชีวิตหรือข้อบังคับที่ศาสดาของแต่ละศาสนาบัญญัติขึ้นเพื่อสอนให้คนทุกคนเป็นคนดี เมื่อพูดถึงศาสนาเราก็อาจนึกไปถึงศีลธรรม เพราะสองคำนี้มักจะมาคู่กัน แต่คำว่าศีลธรรมจะมีความหมายกว้างกว่าคำว่าศาสนา เพราะศีลธรรมอาจหมายความรวมเอาหลักคำสอนของทุกศาสนามารวมไว้และความดีงามต่างๆไว้ในคำๆเดียวกัน เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาอิสลาม นั่นหมายถึงศีลธรรม เมื่อเรากล่าวถึงคำสอนของศาสนาพุทธ นั่นหมายถึงเรากล่าวถึงศีลธรรมเช่นกัน กฎหมายของแต่ละประเทศก็จะบัญญัติขึ้นโดยอาศัยศาสนาเป็นรากฐานด้วย เช่นในประเทศไทยเราในทางอาญาก็จะนำศีล 5 มาใช้ในการบัญญัติกฎหมาย เช่นห้ามฆ่าผู้อื่น ห้ามลักทรัพย์  ห้ามประพฤติผิดในกาม ฯลฯ

     4.คำพิพากษาของศาล มีเฉพาะบางประเทศเท่านั้นที่ถือเอาคำพิพากษาของศาลมาจัดทำเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศอังกฤษ คือใช้จารีตประเพณีมาพิจารณาพิพากษาคดีและเพื่อไม่ให้มีกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกก็จะนำคำพิพากษานั้นมาจัดทำเป็นกฎหมายเพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม หากมีคดีที่มีข้อเท็จจริงเหมือนกันเกิดขึ้นอีก ศาลก็จะตัดสินเหมือนกับคดีก่อนๆ แต่ในหลายๆประเทศคำพิพากษาเป็นเพียงแนวทางในการพิจารณาพิพากษาของศาลเท่านั้น ศาลอาจใช้ดุลพินิจพิจารณาพิพากษาต่างจากคดีก่อนๆได้ จึงไม่ถือคำพิพากษาของศาลเป็นกฎหมาย เช่น ประเทศไทยเราเป็นต้น

     5.หลักความยุติธรรม(Equity) หลักความยุติธรรมนี้จะต้องมาควบคู่กับกฎหมายเสมอ เพียงแต่ความยุติธรรมของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ดีผู้บัญญัติและผู้ใช้กฎหมายก็จะต้องคำนึงถึงหลักความยุติธรรมด้วยและความยุติธรรมนี้ควรจะอยู่ในระดับที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยอมรับ เพราะถ้าเป็นความยุติธรรมโดยคำนึงถึงคนส่วนน้อยมากกว่า ก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ทำให้ไม่เกิดความยุติธรรมแก่สังคมโดยแท้จริง ตัวอย่างที่สำคัญคือ ในอังกฤษนั้นแต่ก่อนการฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นจะฟ้องเรียกได้เฉพาะจำนวนเงินเท่านั้น จะฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไม่ได้ จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย เนื่องจากในบางรายผู้เสียไม่ได้ต้องการเงินค่าเสียหาย แต่ต้องการให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อตกลงที่ทำต่อกัน ดังนั้นจึงได้มีการนำเอาหลักความยุติธรรมาใช้โดยอนุญาตให้มีการชำระหนี้โดยการปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ตามความมุ่งหมายของผู้ที่เสียหายได้ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดียิ่งขึ้น

     6.ความคิดเห็นของนักปราชญ์ ก็คือผู้ทรงความรู้ในทางกฎหมายนั่นเอง อาจจะเป็นนักวิชาการ หรืออาจารย์สอนกฎหมายก็ตาม เนื่องจากนักปราชญ์เหล่านี้จะเป็นผู้ค้นคว้าหลักการและทฤษฎีต่างๆเพื่อสนับสนุนหรือโต้แย้งกฎหมายหรือคำพิพากษาของศาลอยู่เสมอ ทำให้เกิดหลักการหรือทฤษฎีใหม่ๆที่เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายได้ เช่น แนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ในประเทศรัสเซีย ฯลฯ

ระบบกฎหมาย

ระบบกฎหมายหลักๆในโลกนี้มีอยู่ 4 ระบบใหญ่ๆด้วยกัน คือ 

     1.ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์(Civil Law) หรือก็คือระบบกฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร จุดกำเนิดอยู่ที่อาณาจักรโรมัน ระบบกฎหมายนี้จะมีลักษณะเป็นการรวมรวมเอาจารีตประเภณีหรือกฎหมายต่างๆหรือบัญญัติกฎหมายขึ้นใหม่ โดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและจัดไว้เป็นหมวดหมู่อย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเรียกว่าประมวลกฎหมาย ซึ่งแต่เดิมนั้นไม่มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ชนชั้นที่ถูกปกครองในโรมันจึงมีการเรียกร้องให้ชนชั้นสูงทำการเขียนกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ชนชั้นที่ถูกปกครองได้รู้กฎหมายด้วย ซึ่งระบบกฎหมายนี้ก็ได้มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยก็ใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ ตัวอย่างก็เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ

     2.ระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์(Common Law) หรือก็คือระบบกฎหมายจารีตประเพณี จุดกำเนิดอยู่ที่อังกฤษ เนื่องจากแต่เดิมนั้นประเทศอังกฤษมีชนเผ่าอยู่มากมายหลายชนเผ่าด้วยกัน ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลหลวงหรือศาลพระมหากษัตริย์ขึ้น โดยคัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความรู้จากส่วนกลางไปพิจารณาคดีในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ละชนเผ่าก็มีจารีตประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดปัญหาในการพิจารณาคดีมากมาย แต่ในภายหลังปัญหาก็ค่อยๆหมดไปเพราะเริ่มมีจารีตประเพณีที่มีลักษณะเป็นสามัญขึ้นโดยศาลหลวงได้ใช้จารีตประเพณีเหล่านี้ในการพิจารณาคดี ในระบบคอมมอน ลอว์แต่เดิมจะไม่มีการบัญญัติกฎหมายไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อศาลใช้จารีตประเพณีในการพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ก็จะมีการบันทึกคำพิพากษานั้นเอาไว้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆไป หาข้อเท็จจริงในคดีต่อๆมาเหมือนกับคดีก่อน ศาลก็จะพิพากษาไปตามที่ได้มีการบันทึกไว้แล้ว ถือได้ว่าคำพิพากษาของศาลก็คือกฎหมายนั่นเอง แต่ปัจจุบันนี้ในประเทศอังกฤษก็ใช้ทั้งระบบกฎหมายแบบซีวิล ลอว์และคอมมอน ลอว์ ควบคู่กันไป

     3.ระบบกฎหมายสังคมนิยม(Socialist Law) จุดกำเนิดของระบบกฎหมายน้อยู่ที่รัสเซีย แต่เดิมรัสเซียใช้ระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ แต่ในภายหลังเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ครองอำนาจ ก็ได้มีการนำหลักการและแนวความคิดของ คาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน มาใช้โดยเชื่อว่ากฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดระเบียบและกลไกในสังคม เพื่อให้คนในสังคมมีความเท่าเทียมกัน ปราศจากการกดขี่ข่มเหง ปราศจากชนชั้นวรรณะ ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมดร่วมกัน กฎหมายมีอยู่เพื่อความเท่าเทียม เมื่อใดที่สังคมเกิดความเท่าเทียมกันแล้วกฎหมายก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ส่วนลักษณะของกฎหมายสังคมนิยมนั้นจะมีการผสมผสานระหว่างกฎหมายลายลักษณ์อักษรกับจารีตประเพณีเข้าด้วยกัน โดยมีการบัญญัติกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนจารีตประเพณีนั้นเป็นตัวช่วยในการตีความและอุดช่องว่างของกฎหมายเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และที่สำคัญก็คือกฎหมายในระบบสังคมนิยมนั้นต้องแฝงหลักการหรือแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และ เลนิน ด้วยเสมอ  

     4.ระบบกฎหมายศาสนาและประเพณีนิยม ลักษณะของกฎหมายในระบบนี้ โดยเนื้อหาของกฎหมายแล้วก็จะอาศัยศาสนาหรือประเพณีนิยมเป็นฐานในการบัญญัติกฎหมายขึ้นมา เช่น กฎหมายศาสนาอิสลามกำหนดหน้าที่ของชาวมุสลิมที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้า  ในปัจจุบันประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม กฎหมายอิสลามมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดก แต่ส่วนกฎหมายในเรื่องอื่นๆก็จะใช้แนวทางของกฎหมายของทางโลกตะวันตก หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่จังหวัดสตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในเรื่องครอบครัวและมรดกก็จะต้องนำกฎหมายศาสนาอิสลามมาใช้บังคับ ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นเฉพาะ 4จังหวัดดังกล่าวเท่านั้น  ส่วนในเรื่องอื่นๆทุกจังหวัดก็จะใช้กฎหมายฉบับเดียวกันรวมไปถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เช่นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นต้น

     ส่วนประเพณีนิยมนั้น คือ สิ่งที่คนในสังคมยอมรับและปฏิบัติสืบต่อกันมา เช่นในประเทศจีนก็มีการนำประเพณีนิยมของนักปราชญ์อย่าง ขงจื้อ มาเป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมาย หรือประเภณีโบราณของลัทธิชินโตก็ใช้เป็นแนวทางในการบัญญัติกฎหมายในประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ฯลฯ

วิวัฒนาการกฎหมายในประเทศไทย

     เดิมกฎหมายของประเทศไทยนั้นมีที่มาจากจารีตประเพณี ศาสนา รวมไปถึงพระราชโองการของพระมหากษัตริย์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีกฎหมายที่เรียกว่า “พระราชศาสตร์” ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยหลักใน “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์” จนกระทั่งการเสียเมืองครั้งที่ 2 ให้แก่ประเทศพม่า เอกสารสำคัญทางกฎหมายได้มีการถูกทำลายและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาในสมัยของรัชการที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการรวบรวมกฎหมายขึ้นใหม่แต่ก็เหลือเพียงหนึ่งในสิบของกฎหมายที่มีอยู่เดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังมีเนื้อหาที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทำให้กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถตัดสินคดีได้อย่างยุติธรรม รัชกาลที่ 1 จึงทรงชำระสะสางกฎหมายเสียใหม่กลายเป็น “กฎหมายตราสามดวง” ถือเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญของไทยเรา นักวิชาการทั้งหลายถือว่าแม้จริงแล้วกฎหมายตราสามดวงนี้ก็คือกฎหมายในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

     คดีสำคัญที่ก่อให้เกิดกฎหมายตราสามดวงก็คือ “คดีอำแดงป้อม” (อำแดง เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงในสมัยก่อน) คดีนี้มีข้อเท็จจริงคือ นายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษพระเกษมและนายราชาอรรถ เนื่องจาก อำแดงป้อม ภรรยาของนายบุญศรีเป็นชู้กับ นายราชาอรรถ แต่อำแดงป้อมกลับมาฟ้องหย่านายบุญศรี นายบุญศรีไม่ยอมหย่า แต่พระเกษมกลับพิจารณาเข้าข้างอำแดงป้อมแล้วคัดข้อความส่งให้ลูกขุน ณ ศาลหลวง มีคำตัดสินให้อำแดงป้อมกับนายบุญศรีขาดจากการเป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย เมื่อรัชการที่ 1 ทรงทราบเรื่องจึงตรัสว่า หญิงนอกใจชายแล้วมาฟ้องหย่า ลูกขุนปรึกษากันแแล้วให้หย่าตามคำฟ้องนั้นไม่เป็นการยุติธรรม จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เจ้าพระยาคลังตรวจสอบกฎหมายดังกล่าว ปรากฎได้ความว่า ชายไม่ผิด หญิงมาขอหย่า ก็สามารถหย่าได้(ตามที่บันทึกใช้คำว่า ชายหาผิดมิได้หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชายหย่าได้) จึงทรงเห็นว่าแม้แต่พระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไป ก็ยังอาราธนาพระราชาคณะทั้งปวงให้ทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกให้ถูกต้องได้ ดังนั้นเมื่อกฎหมายผิดเพี้ยนไปก็ควรต้องชำระสะสางให้ถูกต้อง พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกกระหม่อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ประกอบด้วยอาลักษณ์ 4 ลูกขุน 3 ราชบัณฑิต 4 จัดการชำระบทกฎหมายให้ถูกต้อง โดยอาศัย “คัมภีร์พระธรรมศาสตร์”(เชื่อกันว่าเป็นคัมภีร์ที่ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ หรือผู้มีอำนาจเหนือคนธรรมดาแต่งขึ้น เดิมนั้นเป็นของชาวฮินดู เป็นหนังสือในศาสนาพราห์ม) เป็นหลักในการบัญญัติกฎหมาย เช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา เกิดเป็นกฎหมายตราสามดวงขึ้น

     ในเวลาต่อมาเกิดการล่าอาณานิคมจากประเทศซีกโลกตะวันตก เช่น ประเทศฝรั่งเศสและประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นก็คือการเสียเอกราชทางศาล เนื่องจากต่างประเทศเห็นว่าประเทศไทยเรากฎหมายป่าเถื่อน ไม่เป็นธรรม เมื่อมีปัญหาหรือคดีเกิดขึ้นก็จะไม่ยอมขึ้นศาลไทย และบีบบังคับให้รัฐบาลของไทยทำสนธิสัญญาซึ่งเรียกว่า “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ได้มีการจัดตั้งศาลกงศุล และศาลต่างประเทศขึ้นเพื่อใช้ในการพิจารณาคดีสำหรับคนชาตินั้นๆโดยเฉพาะ ไม่ใช้กฎหมายของไทยและไม่ขึ้นศาลไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะนำเอาเอกราชทางศาลกลับคืนมา โดยการแก้ไขกฎหมายให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ จึงได้มีส่งข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษากฎหมายที่ต่างประเทศเพื่อนำความรู้มาพัฒนากฎหมาย รวมถึงจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษา ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการตรวจแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายขึ้นใหม่ โดยตั้งตณะกรรมการซึ่งมีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์(พระบิดาแห่งกฎหมายไทย) เป็นประธาน โดยร่างประมวลกฎหมายอาญาเสร็จก่อน(ในสมัยนั้นคือ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127) อีกทั้งได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างกฎหมายอื่นๆด้วย ต่อมาในสมัยรัชการที่ 6 ก็ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และปรกาศใช้ในปี พ.ศ.2468 แรกเริ่มเดิมทีมีเพียง 2 บรรพ คือบรรพ 1 ว่าด้วยบทเบ็ดเสร็จทั่วไป และบรรพ 2 ว่าด้วยหนี้ หลังจากนั้นก็มีการร่างบรรพอื่นๆขึ้นจนครบ 6 บรรพในภายหลัง 

     ในการปฏิรูประบบกฎหมายจากระบบเดิมที่ล้าสมัยมาเป็นระบบใหม่นั้น ไทยได้รับเอาระบบซีวิล ลอว์มาใช้ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ฝรั่งเศสและเยอรมันใช้กัน โดยระบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากอาณาจักรโรมัน เริ่มแรกเดิมทีนั้นคณะกรรมการร่างกฎหมายประสงค์ที่จะนำเอาระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์มาใช้บังคับ แต่เนื่องจากระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ เพราะระบบกฎหมายนี้เป็นระบบกฎหมายที่พัฒนามาเป็นเวลาช้านานจากจารีตประเพณีและระบบสังคมโดยเฉพาะ ตัวบทกฎหมายก็ไม่มีการรวบรวมเอาไว้เป็นหมวดหมู่ทำให้ยากแก่การศึกษา ซึ่งแตกต่างกับระบบซีวิล ลอว์ ที่มีการรวบรวมกฎหมายไว้เป็นหมวดหมู่อย่างมีระเบียบ ทำให้ง่ายแก่การศึกษาและนำมาใช้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งประเทศส่วนใหญ่นอกจากฝรั่งเศสและเยอรมันแล้ว ต่างก็ใช้ระบบกฎหมายนี้ทั้งสิ้ง การที่ประเทศไทยใช้ระบบเดียวกับนานาประเทศก็จะทำให้กฎหมายของไทยมีความเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งก็จะมีผลทำให้ไทยอาจได้รับเอกราชทางศาลคืนได้ง่ายขึ้น

     ดังนั้นประเทศไทยจึงนำเอาระบบซิวิล ลอว์มาใช้ โดยนำกฎหมายของประเทศอื่นๆมาผสานเข้ากันกับกฎหมายไทยดั้งเดิม และมีการปรับปรุงให้ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ จนในที่สุดก็ได้รับเอกราชทางศาลคืนมา และกฎหมายไทยก็ยังมีการพัฒนาขึ้นมาอีกเรื่อยๆเพื่อสามารถใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้ จนถึงปัจจุบัน

ลำดับชั้นของกฎหมายในประเทศไทย(ศักดิ์กฎหมาย)

     ลำดับชั้นของกฎหมายมีไว้เพื่อบ่งบอกถึงระดับสูงต่ำและความสำคัญของกฎหมายแต่ละประเภทรวมไปถึงภาพรวมของกฎหมายที่ใช้กัน กฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่าจะมีผลยกเลิกหรือขัดต่อกฎหมายที่มีลำดับชั้นสูงกว่าไม่ได้ ซึ่งเราจัดลำดับได้ดังนี้

     1.กฎหมายแม่บทที่มีศักดิ์สูงที่สุด ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 

     รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์การปกครองและกำหนดโครงสร้างในการจัดตั้งองค์กรบริหารของรัฐ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชนรวมไปถึงให้ความคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ดังกล่าว กฎหมายอื่นๆที่ออกมาจะต้องออกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายใดที่ขัดกับรัฐธรรมนูญจะก็จะไม่มีผลใช้บังคับได้ เราอาจเปรียบเทียบอย่างง่ายๆโดยนึกไปถึงผู้ว่าจ้างคนหนึ่ง จ้างผู้รับจ้างให้ก่อสร้างบ้าน โดยให้หัวข้อมาว่าต้องการบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงมั่นคง รูปแบบบ้านเป็นทรงไทย ผู้รับจ้างก็ต้องทำการออกแบบและก่อสร้างให้โครงสร้างบ้านแข็งแรงและออกเป็นแบบทรงไทย ถ้าบ้านออกมาไม่ตรงตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ ก็อาจถือได้ว่าผู้รับจ้างผิดสัญญาได้ หัวข้อที่ผู้ว่าจ้างให้มาอาจเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเพียงแต่กำหนดกฎเกณฑ์หรือรูปแบบเอาไว้เป็นแนวทางหรือเป้าหมาย ส่วนการออกแบบและการก่อสร้างอาจเปรียบได้กับกฎหมายอื่นๆที่ต้องออกมาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ถ้าออกแบบมาหรือสร้างไม่ตรงกับความต้องการก็เปรียบเทียบได้กับการออกกฎหมายอื่นๆมาโดยไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลเป็นการผิดสัญญาหรืออาจเปรียบเทียบในทางกฎหมายได้ว่ากฎหมายนั้นๆใช้ไม่ได้ 

     2.กฎหมายที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ ประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด กฎหมายเหล่านี้ถือว่ามีศักดิ์เป็นลำดับที่สองรองจากรัฐธรรมนูญ

     -ประมวลกฎหมาย คือเป็นการรวมรวบเอาหลักกฎหมายในเรื่องใหญ่ๆซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปมาจัดเป็นหมวดหมู่ให้เป็นระเบียบ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายแพ่งและเพาณิชย์ ฯลฯ ประมวลกฎหมายต่างๆ ถือเป็นกฎหมายที่เป็นหลักทั่วๆไป ที่กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลแต่ละคน บุคคลในสังคมต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรและห้ามประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง และรวมไปถึงการให้ความคุ้มครองต่อสิทธิต่างๆของบุคคลแต่ละคนด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่างๆที่รัฐธรรมนูญวางไว้

     -พระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง คือเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น พระราชบัญญัติล้มละลาย ก็จะเป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับการล้มละลาย หรือพระราชบัญญัติสัญชาติ ก็จะเกี่ยวข้องเฉพาะกับเรื่องสัญชาติของบุคคล ฯลฯ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาลค่อนข้างมาก เพราะฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายในการบริหารประเทศ และเสนอกฎหมายเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้นๆให้สภานิติบัญญัติทำการออกนั่นเองและกฎหมายที่ออกมานั้นแม้จะมีการเปลี่ยนฝ่ายบริหารหรือฝ่ายรัฐบาลแล้ว ก็จะมีผลใช้บังคับอยู่ จนกว่ากฎหมายนั้นจะถูกยกเลิกหรือมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง

     -พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารหรือก็คือรัฐบาล เป็นกฎหมายที่ออกใช้ไปพลางก่อนในกรณีที่มีจำเป็นเร่งด่วน หลังจากมีการใช้ไปพลางก่อนแล้ว ในภายหลังพระราชกำหนดนั้นก็อาจกลายเป็นพระราชบัญญัติซึ่งจะมีผลบังคับเป็นการถาวรได้ ถ้าสภานิติบัญญัติให้การอนุมัติ แต่ถ้าสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดนั้นก็ตกไป แต่จะไม่ทระทบกระเทือนถึงกิจการที่ได้กระทำไปในระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น ซึ่งพระราชกำหนดจะออกได้เฉพาะกรณีต่อไปนี้เท่านั้น คือ กรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือเพื่อจะป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ หรือมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรหรือเงินตรา 

     3.กฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออก ได้แก่ พะราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง

     (ก).พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ซึ่งจะออกได้เฉพาะในกรณีต่อไปนี้คือ

     -รัฐธรรมนูญกำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาในกิจการอันสำคัญที่เกี่ยวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ

     -โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนด คือจะต้องมีพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดให้อำนาจในการออกไว้ เช่น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากร พ.ศ. 2528 กำหนดว่าหากจะเปิดศาลภาษีอากรจังหวัดเมื่อใด ต้องประกาศโดยพระราชกฤษฎีกา ฯลฯ ด้วยการที่พระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าพระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ดังนั้นจะออกมาขัดกับพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทนั้นไม่ได้

     -กรณีที่จำเป็นอื่นๆในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย

     (ข).กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงเป็นผู้ออก โดยอาศัยอำนาจจากกฎหมายแม่บทซึ่งก็คือพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดฉบับใดฉบับหนึ่ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นๆ พระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดจะกำหนดกฎเกณฑ์กว้างๆเอาไว้ ส่วนกฎกระทรวงก็จะมากำหนดรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง เช่น ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้กำหนดว่า ในกรณีที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลใดเพื่อขายทอดตลาด ผู้ที่มีอำนาจสั่งให้ยึด อายัดหรือขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เราก็ต้องไปศึกษาในกฎกระทรวงอีกชั้นหนึ่งว่าผู้ที่มีอำนาจสั่งนั้นคือใครบ้าง ฯลฯ

     4.กฎหมายที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ออก ได้แก่ เทศบัญญัติ ข้อบัญญัติจังหวัด ข้อบังคับสุขาภิบาล ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ข้อบัญญัติเมืองพัทยา

     เป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับโดยเฉพาะในแต่ละองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หรือในกรณีที่กฎหมายให้อำนาจไว้ก็ทำการออกได้เช่นกัน เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นกฎหมายที่กรุงเทพมหานครตราขึ้นเพื่อใช้บังคับในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น  หรือเทศบัญญัติ ก็เป็นกฎหมายที่เทศบาลบัญญัติขึ้นใช้บังคับเฉพาะในเขตเทศบาลของตน

ประเภทของกฎหมาย

     การแบ่งแยกประเภทกฎหมายที่นิยมใช้กันมีอยู่  2 ประเภท คือ

     1.การแบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะแห่งการใช้ เป็นการแบ่งแยกโดยพิจารณาถึงลักษณะการใช้กฎหมายเป็นหลัก ได้แก่

     -กฎหมายสารบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงเนื้อหาหรือเรื่องทั่วๆไป เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมความประพฤติรวมไปถึงกำหนดสิทธิและหน้าที่ต่างๆของพลเมืองไว้ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา

     -กฎหมายวิธีสบัญญัติ คือกฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการหรือวิธีการที่จะบังคับหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัตินั่นเอง ได้แก่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ฯลฯ ตัวอย่างเช่นในประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าผู้ใดฆ่าผู้อื่นผู้นั้นมีความผิด แต่ไม่ได้กำหนดว่ามีจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้อย่างไร ไม่มีขั้นตอนการดำเนินการกำหนดไว้ เราก็ต้องอาศัยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการจับตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เราอาจเปรียบเทียบเป็นตัวอย่างง่ายๆได้ว่า หากเราเปรียบเทียบว่ากฎหมายสารบัญญัติเปรียบได้กับเครื่องกรองน้ำที่ใช้ในการกรองน้ำให้สะอาด  กฎหมายวิธีสบัญญัติก็จะหมายถึงวิธีการใช้เครื่องกรองน้ำนั้นหรือกระบวนการการทำงานของเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นที่มาของน้ำสะอาดให้เราใช้ดื่มกินนั่นเอง ถ้าเราไม่รู้วิธีใช้หรือไม่มีกระบวนการการกรองน้ำติดตั้งอยู่ในเครื่อง เราก็จะทำการกรองน้ำให้สะอาดไม่ได้  เช่นเดียวกันนี้ถ้าไม่มีกฎหมายวิธีสบัญญัติ การบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัติก็จะทำได้ยาก เพราะไม่มีแบบแผนและวิธีการแน่นอน ขาดความเป็นระเบียบและไร้ประสิทธิภาพ 

     2.แบ่งแยกประเภทของกฎหมายตามลักษณะของความสัมพันธ์ของคู่กรณี ได้แก่

    -กฎหมายเอกชน เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง ซึ่งกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่ของแต่ละเอกชน รวมไปถึงสิทธิและหน้าที่ของเอกชนที่มีต่อเอกชนด้วยกันด้วย กฎหมายเอกชนก็ได้แก่กฎหมายแพ่ง  และกฎหมายพาณิชย์ กฎหมายแพ่งจะกำหนดถึงสิทธิและหน้าที่รวมไปถึงความสัมพันธ์ของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนกฎหมายพาณิชย์ก็จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคลที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อกัน เช่น กำหนดถึงสิทธิแบะหน้าที่ระหว่างคู่สัญญาซื้อขาย คู่สัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ

     -กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน หรือความสัมพันธ์ระหว่างรํฐ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าที่ของรัฐกับประชาชน เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

     -กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงกฎเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากประเทศต่างๆในโลกต้องมีการติดต่อมีความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ทั้งในการค้า เศรษฐกิจ และการประสานงานช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศอาจมาในรูปของสนธิสัญญา จารีตประเพณีหรือความตกลงกันระหว่างประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศอาจไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน แต่ก็ถือเป็นกฎหมายได้ เนื่องจากเป็นกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐ  เช่นกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ฯลฯ

การใช้บังคับกฎหมาย

     การที่จะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

     1.การประกาศใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่ามีกฎหมายใดออกมาใช้บังคับแล้ว ก็จะมีการจัดพิมพ์ “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ทุกๆสัปดาห์เพื่อประกาศให้ประชาชนและหน่วยงานราชการทราบถึงกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบข้อบังคับรวมไปถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างใดๆหรือข้อเท็จจริงซึ่งมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการประกาศแล้วให้ถือว่าประชาชนทุกคนทราบโดยถ้วนหน้ากัน ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ดังที่มีหลักทั่วไปในการใช้บังคับกฎหมายว่า “ความไม่รู้กฎหมาย ไม่เป็นข้อแก้ตัว”

     2.วันเริ่มใช้กฎหมาย ก็คือวันที่กำหนดให้กฎหมายที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วมีผลบังคับใช้นั่นเอง โดยปกติเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายก็จะมีการกำหนดวันใช้บังคับไว้ในกฎหมาย ซึ่งก็มีดังนี้

     -กำหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใดก็มีผลใช้บังคับในวันนั้นทันที ใช้ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนหากใช้บังคับล่าช้าไปอาจทำให้มีผลเสียหายเกิดขึ้นได้

     -ให้ใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือมีผลใช้บังคับถัดในวันถัดไปหลังจากวันที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทราบล่วงหน้าก่อนหนึ่งวัน ซึ่ง เป็นวิธีที่ใช้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ

     -กำหนดให้ใช้ในอนาคต คือกำหนดให้มีผลใช้บังคับภายหลังที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาหลายๆวัน เพื่อให้ทางราชการ เจ้าพนักงานและประชาชนเตรียมพร้อมหรือที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้น

     -ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดวันใช้บังคับไว้ คือมีการประกาศให้ประชาชนทราบแต่ไม่ได้กำหนดว่ากฎหมายที่ประกาศนั้นจะให้มีผลใช้บังคับเมื่อใด วันที่มีผลใช้บังคับอาจกำหนดขึ้นตามมาภายหลัง

     ***กฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังในทางเป็นโทษ คือ เมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาหรือมีการแก้ไขกฎหมายในทางที่เป็นโทษแก่บุคคลใด ก็จะมีผลตั้งแต่วันที่กำหนดให้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปเท่านั้น จะไม่มีผลย้อนไปก่อนวันที่กำหนดให้กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ เช่น ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2539 การขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่เป็นความผิด ต่อมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 มีกฎหมายประกาศใช้บังคับว่าผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หากไม่ปฏิบัติตตามจะมีความผิด เช่นนี้กฎหมายจะไม่มีผลย้อนไปเอาผิดแก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2539 จะมีผลเอาผิดกับบุคคลที่ฝ่าฝืนนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เท่านั้น

     แต่กฎหมายจะมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นคุณ คือ เมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาหรือมีการแก้ไขกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์แก่บุคคล ก็จะมีผลใช้บังคับย้อนหลังไปก่อนวันที่กำหนดให้กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับด้วย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับ กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วน ที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด...” ฯลฯ

     3.สถานที่ใช้กฎหมาย กฎหมายย่อมใช้บังคับได้ทั่วราชอาณาจักรเว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นการเฉพาะว่ากฎหมายใดให้ใช้เฉพาะในท้องที่ใด หรือให้ใช้บังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร เช่น ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ. 2498 กำหนดว่าในการพิจารณาวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามของศาลชั้นต้นในเขต  4 จังหวัด ให้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือการกระทำความผิดบางประเภทที่ได้กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักร ก็อาจถูกลงโทษในราชอาณจักรได้ เช่น ความผิดฐานปลอมแปลงเงินตรา ฯลฯ

     4.บุคคลที่กฎหมายใช้บังคับ โดยทั่วไปแล้วกฎหมายย่อมใช้บังคับแก่บุคคลในสังคม แต่ก็มีข้อยกเว้นแก่บุคคลบางประเภทซึ่งกฎหมายไม่อาจใช้บังคับด้วยได้ แต่บุคคลเหล่านั้นต้องมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง เช่น

     -ตามกฎหมายไทย รัฐธรรมนูญกำหนดว่ากฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่พระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ผู้ใดจะฟ้องพระมหากษัตริย์เป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ทั้งสิ้น ฯลฯ

     -ตามกฎหมายอื่น เช่น ตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดว่าจะไม่ใช้กฎหมายภายในประเทศของตนบังคับแก่ ฑูต บุคคลในคณะฑูตหรือประมุขของรัฐต่างประเทศ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลดังกล่าว ฯลฯ

     5.การใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริง ก็คือการนำบทบัญญัติของกฎหมายไปปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และสรุปออกมาว่าจะมีผลทางกฎหมายอย่างไรบ้างนั่นเอง  ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในภายหลัง

ข้อคิดบางประการเกี่ยวกับกฎหมาย

     กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเพื่อทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบและสงบสุข ซึ่งด้วยข้อจำกัดหลายๆประการทำให้กฎหมายไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ในทุกๆเรื่อง เป็นผลทำให้เราคิดว่ากฎหมายไม่ดีบ้าง กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง ไม่มีใครเกรงกลัวกฎหมายบ้าง และมีการแก้ไขกันอยู่เรื่อยไป

     แต่เรากำลังมองข้ามจุดสำคัญไปอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายก็เป็นเพียงข้อความหรือตัวหนังสือธรรมดาๆถ้าไม่มีผู้นำกฎหมายนั้นมาใช้ กฎหมายอาจกลายเป็นอาวุธป้องกันตัวที่ดีเยี่ยมถ้าเราใช้มันโดยถูกต้อง แต่กฎหมายก็อาจเป็นอาวุธทำร้ายผู้อื่นได้เช่นกันถ้าใช้มันผิดวิธี ดังนั้นจุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่ากฎหมายดีหรือไม่ดีเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ใช้กฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายในทางที่ถูกต้องเหมาะสมด้วย จะขาดปัจจัยอย่างหนึ่งอย่างใดไปไม่ได้ จริงๆแล้วกฎหมายนั้นไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ถ้าคนในสังคมอยู่กันอย่างเป็นระเบียบและสงบสุข แต่สังคมแบบนั้นเป็นเพียงสังคมที่อยู่ในอุดมคติเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วตรงกันข้ามกันอย่างมาก ดังนั้นกฎหมายจึงยังมีความจำเป็นตราบเท่าที่ยังมีสังคมอยู่

     สิ่งที่สังคมเราต้องช่วยกันดำเนินการในตอนนี้เป็นอันดับแรก ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่อง เพราะปัญหาจะเกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆตามสภาพสังคมและกาลเวลา แต่เราต้องพัฒนาตัวบุคคลในสังคม พัฒนาตัวผู้ใช้กฎหมาย ให้มีความรู้และมีศีลธรรมควบคู่กันไป กฎหมายนั้นออกโดยคนในสังคมและผู้ใช้ก็คือคนในสังคม ดังนั้นถ้าคนในสังคมมีคุณภาพแล้ว กฎหมายและการใช้บังคับก็จะดีตามไปด้วยนั่นเอง และนี่คือการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นที่ต้นเหตุโดยแท้จริง

ที่มา :http://www.oknation.net/blog/knownledgelaw/2007/09/01/entry-2

วิวัฒนาการกฎหมายไทย

ตามคำไทยแต่เดิม "กฎหมาย" หมายแต่เพียงว่าเป็นคำสั่งของพระเจ้าแผ่นดินที่โปรดให้กดไว้หมายไว้เพื่อใช้บังคับเป็นการคงทนถาวร จะเห็นได้ในพงศาวดารเหนือ (ฉบับของพระวิเชียรปรีชา) ตอนที่พระยาพสุจราชแห่งราชวงศ์พระร่วงได้จัดการแต่งบ้านแต่งเมืองออกรับกองทัพพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีความว่า "แล้วให้กำหนดกฎหมายไว้ทุกหน้าด่าน แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองกัมโพชนคร ให้กำหนดกฎหมายสืบ ๆ กันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมือง... ฯลฯ" ในภาษาไทยแต่เดิม กฎหมายจึงหมายถึงคำสั่งที่ได้กดไว้หมายไว้ให้เป็นที่แน่นอนเท่านั้น ทั้งนี้ คำว่า "กฎหมาย" เป็นคำกริยา ซึ่งประกอบขึ้นจากกริยา "กฎ" มีความหมายว่า "จดบันทึก, จดไว้เป็นหลักฐาน, ตรา" อันเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรว่า "กต่" มีความหมายว่า "จด" + นาม "หมาย" ซึ่งแปลว่า "หนังสือ"

แต่โบราณกาล เพื่อให้คำสั่งอันเป็นกฎหมายเป็นของขลังและเป็นที่เคารพเชื่อฟัง จึงมักมีการอ้างเอาความศักดิ์สิทธิ์แห่งสรวงสวรรค์ว่าเป็นที่มาของกฎหมายหรือเป็นที่มาของอำนาจที่ใช้ออกกฎหมาย เช่น ของอังกฤษ ในตอนต้นของกฎหมายมักเขียนว่า "อาศัยพระราชอำนาจอันทรงได้รับประทานจากเทพยุดาฟ้าดิน สมเด็จพระราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราขึ้นไว้ดังต่อไปนี้" (The Queen, by the Grace of God, enacts as follows:)

ถึงแม้ว่าชั้นเดิม กษัตริย์จะชื่อว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์คือมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน แต่การจะสั่งให้เป็นกฎหมายนั้นก็ต้องอาศัยอ้างเหตุอ้างผลเพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นคำสั่งที่เป็นธรรม เหตุผลที่ยกขึ้นส่วนมากคือจารีตประเพณี เช่น กฎหมายไทยที่ว่า "อันว่าสาขาคดีทั้งหลายดั่งพรรณนามานี้ อันบูราณราชกษัตริย์มีบุญญาภินิหารสมภารบารมีเป็นอธิบดีประชากร ผจญข้าศึกเสร็จแล้ว แลเป็นอิสรภาพในบวรเศวตรฉัตร ประกอบด้วยศีลสัจวัตรปฏิบัติเป็นอันดี...ทรงพระอุตสาหะพิจารณาคำนึงตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ แล้วมีพระราชบัญญัติดัดแปลงตกแต่งตั้งเป็นพระราชกำหนดบทพระอัยการไว้โดยมาตราเป็นอันมาก...มาตราบเท้าทุกวันนี้"

สำหรับประเทศไทยนั้นเดิมทีมีกฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งเรียกเป็นการทั่วไปว่า "พระอัยการ" เป็นกฎหมายแม่บทเสมอรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน พระอัยการนี้ต่อมารู้จักกันในชื่อ "กฎหมายตราสามดวง" ซึ่งเป็นกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้ชำระขึ้นใหม่เพราะของเก่าล้วนสูญหายไปเมื่อตอนกรุงศรีอยุธยาแตกก็มี วิปริตผิดเพี้ยนไปก็มี เป็นต้น แต่พระอัยการนั้นพึงเข้าใจว่าเป็นกฎหมายก่อนกฎหมายตราสามดวง แต่มีวิวัฒนาการไปเป็นกฎหมายตราสามดวง

พระอัยการดังกล่าวมีที่มาจากคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ของอินเดีย เนื่องจากเชื่อกันมาพระอัยการนี้เป็นของที่เทวดาบัญญัติขึ้น และจารึกไว้ที่กำแพงจักรวาลตรงสุดป่าหิมพานต์ มนุษย์เราเพียงแต่ไปพบมา จึงเป็นของศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรือเพิ่มเติมอย่างไรไม่ได้ทั้งสิ้น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายเกี่ยวกับระบบกฎหมายเก่าของไทยว่า

แต่บทพระอัยการนี้เป็นของเก่า เขียนมาแต่โบราณ บางทีก็มีบทซับซ้อนกัน บางทีก็เขียนด้วยภาษาเก่าจนไม่สามารถจะเข้าใจได้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นในบทพระอัยการเช่นนี้ก็เป็นหน้าที่ของขุนศาลตระลาการจะต้องนำบทพระอัยการที่เป็นปัญหานั้นขึ้นถวายให้ทอดพระเนตร และกราบบังคมทูลขอพระราชวินิจฉัยว่าเป็นอย่างไรกันแน่ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินจึงทรงพระราชวินิจฉัย...พระราชวินิจฉัยนั้นก็ถือว่าเป็นกฎหมายเอาไว้ใช้เป็นหลักได้ต่อไป เรียกว่าพระราชบัญญัติ ส่วนพระราชกฤษฎีกานั้นมีบทลงโทษเช่นเดียวกับกฎหมาย แต่ถ้าจะว่าไปแล้วเป็นระเบียบภายในพระราชฐานหรือเท่าที่เกี่ยวกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น มิได้ใช้บังคับในบ้านเมืองทั่วไปเหมือนกับกฎหมาย อีกอย่างหนึ่งคือพระราชกำหนด พระราชกำหนดนั้นแต่ก่อนมิได้เป็นกฎหมาย แต่เป็นคำสั่งหรือข้อบังคับซึ่งใช้กับข้าราชการที่รับราชการอยู่เท่านั้น จะได้ใช้บังคับแก่ราษฎรโดยทั่วไปก็หาไม่

ปรากฎในเสภาขุนช้างขุนแผนว่าพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องส่วนพระองค์เท่านั้น ในตอนที่ขุนช้างจะเข้าไปถวายฎีกาฟ้องร้องพลายงามต่อสมเด็จพระพันวษา บังเอิญว่าทรงเสด็จประพาสทางเรือ ขุนช้างจึงไปรอถวายฎีกาอยู่ริมน้ำ พบเรือพระที่นั่งกลับมาพอดีก็โจนลงน้ำลอยคอชูหนังสือฎีกาเข้าไปถวาย ณ เรือพระที่นั่ง ทำเอาบรรดาฝีพายและผู้อยู่บนเรือตกในไปตาม ๆ กัน แต่การถวายฎีกานั้นมีธรรมเนียมว่าราษฎรมีสิทธิถวายที่ไหนก็ได้ และพระมหากษัตริย์ก็จะต้องทรงหยุดรับเสมอไป สมเด็จพระพันวษาจึงโปรดให้รับฎีกาของขุนช้างไว้ และทรงให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นใหม่ให้ชาวพนักงานคอยอารักขาพระองค์ให้จงดี อย่าให้ผู้ใดผลุบเข้ามาได้โดยง่ายเช่นครานี้ มิเช่นนั้นต้องระวางโทษถึงประหารชีวิต

กฎหมายที่มีในประเทศไทยมีกฎหมายอะไรบ้าง

(1) รัฐธรรมนูญ.
(2) กฎหมายปกครอง.
(3) กฎหมายอาญา.
(4) กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม.
(5) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา.
(6) กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง.

กฎหมายไทยในปัจจุบันจะอยู่ในชื่ออะไรบ้าง

1. บทนา ... .
2. ชื่อของกฎหมายไทยที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ... .
2.1 รัฐธรรมนูญ ... .
2.2 กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560. ... .
2.2.1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ... .
2.2.2 พระราชบัญญัติ ... .
2.2.3 พระราชกาหนด9. ... .
2.3 ประกาศหรือคาสั่งของคณะทหารที่ยึดอานาจในการปกครองได้.

กฎหมายใดที่มีความสำคัญที่สุดของคนไทยในปัจจุบัน

1. รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายใดขัดแย้งไม่ได้ โดยจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจอธิปไตย ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน

แหล่งที่มาของกฎหมายไทยในปัจจุบันคือข้อใด

2. การออกกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ในปัจจุบันนี้กฎหมายส่วนใหญ่ออกมาโดยผ่านองค์การของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งกฎหมายแต่ละฉบับล้วนมีรากฐานมาจากขนบประเพณีและหลักความยุติธรรมของสังคม การที่ฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายมีวัตถุประสงค์และเหตุผลเพื่อที่จะควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกของสังคมและสร้างความยุติธรรมให้บังเกิดมีขึ้นในสังคม