เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอะไร

หน่วยที่1 เศรษฐศาสตร์เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
เศรษฐศาสตร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์ เป็นการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ กิจกรรมการผลิต การกระจายสินค้าและบริการต่างๆที่ผลิตได้ไปสู่ผู้บริโภคและผู้ใช้บริการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน เพราะเราต่างก็คือผู้ผลิตและ/หรือ ผู้บริโภค เศรษฐศาสตร์จึงมิใช่วิชาที่อยู่ไกลตัว หากเราได้ศึกษาและทำความเข้าใจกฎเกณฑ์และเนื้อหาของวิชาเศรษฐศาสตร์ไปตามลำดับขั้น ก็ย่อมจะเกิดความเข้าใจในสาขาวิชานี้ได้ไม่ยากนัก
ความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์
ความหมายตามคำศัพท์ คำว่า “เศรษฐศาสตร์” (Economics)
เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “Oikonomikos” (Oikos = บ้าน + nomos = การดูแลจัดการ) ซึ่งแปลว่าการบริหารจัดการของครัวเรือน อย่างไรก็ตามคำว่า “เศรษฐศาสตร์” นั้น มีความหมายที่ลึกซึ้งและมีขอบเขตกว้างกว่ารากศัพท์เดิมมาก
ถ้าพิจารณาคำว่าเศรษฐศาสตร์จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 หมายถึง วิชาว่าด้วยการผลิต จำหน่ายจ่ายแจกและการบริโภคใช้สอยสิ่งต่างๆของชุมชน
ความหมายตามนิยาม
มีผู้รู้ได้ให้คำนิยามของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้มากมายหลายท่าน อาทิ
อัลเฟรด มาร์แชลล์ (Alfred Marshall) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวถึงความหมาย ของวิชาเศรษฐศาสตร์ไว้ในหนังสือPrinciple of Economics ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม ของมนุษย์ทั้งระดับบุคคลและสังคม ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อการดำรงชีพให้ได้รับความสุขสมบูรณ์
ส่วนคำนิยามที่ได้รับความนิยมได้แก่คำนิยามของไลโอเนล รอบบินส์ (Lionel Robbins) ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือชื่อ An Essay o¬n the Nature and Significance of Economic Science ว่าเศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาถึงการเลือกหาหนทางที่จะใช้ปัจจัยการผลิตอันมีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามจุดประสงค์ที่มีอยู่อย่างนับไม่ถ้วน
ประยูร เถลิงศรี ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ หลักเศรษฐศาสตร์ ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับการศึกษาว่ามนุษย์เลือกตัดสินใจอย่างไรในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อผลิตสิ่งของและบริการ และแบ่งปันสิ่งของและบริการเหล่านั้นเพื่ออุปโภคและบริโภคระหว่างบุคคล ต่างๆในสังคม ทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคต
มนูญ พาหิระ ให้คำนิยามไว้ในหนังสือ ทฤษฎีราคา ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาในเรื่อง ที่เกี่ยวกับการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจมาทำการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองหรือบำบัดความต้องการของมนุษย์
อย่างไรก็ตาม พอสรุปได้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาถึงวิธีการจัดสรรทรัพยากรอันมีอยู่อย่างจำกัดเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆสนองความต้องการของมนุษย์ซึ่งโดยทั่วไปมีความต้องการไม่จำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์
แนวความคิดทางเศรษฐศาสตร์มีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยแทรกอยู่ในข้อเขียนและหนังสือสอนศาสนาของนักปราชญ์ในสมัยนั้น เช่น หลักปรัชญาของโซเครตีส (Socrates) เพลโต (Plato) ฯลฯ แต่แนวความคิดดังกล่าวยังไม่ถือเป็นหลักหรือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นสมัยที่การค้าทางยุโรปเจริญรุ่งเรืองมาก ได้เกิดลัทธิพาณิชย์นิยม (mercantilism) หรือพวกที่นิยมการทำการค้า นักพาณิชย์นิยมมีความเชื่อว่าประเทศจะมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจก็ต่อเมื่อประเทศนั้นๆขายสินค้าขาออกให้ต่างประเทศเป็นมูลค่ามากกว่าการซื้อสินค้าขาเข้า หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเศรษฐกิจของประเทศจะมั่นคงก็ต่อเมื่อประเทศนั้นมีดุลการค้าที่เกินดุล ทั้งนี้ เพราะเห็นว่าการที่ประเทศมีดุลการค้าเกินดุลทำให้มีทองคำและเงินตราไหลเข้าประเทศมากๆจะเป็นการส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ เนื่องจากเมื่อประเทศมีปริมาณเงินหมุนเวียนมากจะทำให้การค้าเจริญ เมื่อการค้าเจริญการผลิตย่อมเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลให้เกิดการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในที่สุด ประชาชนจะมีความอยู่ดีกินดีเนื่องจากมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักพาณิชย์นิยมยังมีความเชื่อว่า การที่ประเทศจะมั่งคั่งคือมีดุลการค้าที่เกินดุลนั้น รัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการค้ากับต่างประเทศ กล่าวคือ รัฐจะต้องส่งเสริมให้มีการส่งออกให้มากพร้อมกับให้มีการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการค้าและนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเอกชนเป็นผู้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
กล่าวโดยสรุป แนวความคิดของลัทธิพาณิชย์นิยมไม่สนับสนุนแนวความคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี แต่เป็นลัทธิที่สนับสนุนให้รัฐบาลมีบทบาทในการควบคุมและแทรกแซงกิจกรรมทาง เศรษฐกิจ โดยพยายามทำให้ประเทศมีดุลการค้าที่เกินดุลมากๆแล้วเศรษฐกิจของประเทศจะมั่งคั่ง ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 อดัม สมิท (Adam Smith) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งเป็นแกนนำของนักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิก (classical school) ได้เขียนหนังสือชื่อ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations หรือที่นิยมเรียกสั้นๆว่า The Wealth of Nations ใน ค.ศ. 1776 นับได้ว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกและยิ่งใหญ่ที่สุด เล่มหนึ่งของโลกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้อดัม สมิทได้รับการยอมรับและยกย่องให้เป็น บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ แนวคิดหลักของสำนักคลาสสิกสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม (laissez-faire) โดยจำกัดบทบาทของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจเพราะมีความเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม จะทำให้ประเทศพัฒนาไปได้ด้วยดี เศรษฐกิจของประเทศจะมีความมั่งคั่งก็ต่อเมื่อรัฐบาลแทรกแซงหรือมีบทบาทในกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด (ไม่แทรกแซงเลยดีที่สุด) รัฐบาลมีหน้าที่เพียงแต่คอยอำนวยความสะดวก รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และป้องกันประเทศ ปล่อยให้เอกชน เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเสรี นั่นคือ สมิทเชื่อใน พลังงานกลไกตลาด (ราคา) หรือ ที่เขาเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น (invisible hand) นอกจากสมิทแล้วนักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่มของ คลาสสิกยังมีทอมัส มัลทัส (Thomas Multhus) เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) จอห์น มิลล์ (John Mill)
กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยคาร์ล มาร์กซ์ (Carl Marx) โดยสามารถสรุปแนวคิดของมาร์กซ์ได้ดังนี้ 1.ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ตั้งแต่แรกเรีมจนถึงปัจจุบันเช่นทาส กับนาย ไพร่กับผู้ดี นายจ้างกับลูกจ้าง จะมีคนหนึ่งเป็นผู้ข่มเหง กับอีกคนหนึ่งเป็นผู้ถูกข่มเหง 2.โลกของนายทุน ในโลกปัจจุบันเกิดชนชั้นใหม่ที่บทบาทในสังคมมากคือชนชั้นนายทุน นายทุนเอาเปรียบชนชั้นแรงงานทุกวิถีทาง อำนาจของนายทุนคืออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง โดยกษัตริย์และผู้ปกครองก็อยู่ภายในใต้อิทธิพลนายทุนด้วย
หลังจากกลุ่มของสำนักคลาสสิกก็เป็นกลุ่มของสำนักนีโอคลาสสิก (neoclassical school) ซึ่งเป็นสำนักเศรษฐศาสตร์ที่ก่อตัวและพัฒนาขึ้นในตอนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แนวคิดหลักของสำนักนีโอคลาสสิกส่วนมากสืบต่อหรือดัดแปลงแก้ไขมาจากแนวคิดของสำนักคลาสสิก โดยเชื่อว่าการแข่งขันอย่างเสรีจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจมีความมั่งคั่ง นั่นคือ สนับสนุนแนวคิดของระบบเศรษฐกิจแบบเสรีเช่นเดียวกับของสำนักคลาสสิก นอกจากนั้น ยังเน้นให้เห็นว่าเนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนจำกัด ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องพยายามเลือกบริโภคสินค้าและบริการเพื่อให้ได้รับความพอใจสูงสุด และเช่นเดียวกัน ผู้ผลิตจะต้องตัดสินใจเลือกวิธีการผลิตที่ทำให้เสียต้นทุนต่ำที่สุดหรือให้ได้กำไรสูงสุด นั่นคือ แต่ละฝ่ายจะต้องพยายามใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้ วางรากฐานแนวคิดที่สำคัญของสำนักนีโอคลาสสิกคืออัลเฟรด มาร์แชลล์ ได้เสนอทฤษฎีว่าด้วยการผลิต (Theory of the Firm) ซึ่งต่อมากลายเป็นที่มาของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จุลภาค นอกจากนี้ ยังมีเลอง วาลรา ( Walras) วิลเฟรโด พาเรโต (Vilfredo Pareto) ฯลฯ
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของทั้งสำนักคลาสสิกและนีโอคลาสสิกต่างมีความเชื่อว่า อุปทานจะเป็นตัวสร้างอุปสงค์ (supply creates its own demand) ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันว่าคือ กฎของเซย์ (Say’s law) ซึ่งมีสาระสำคัญว่า อุปทานจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ กล่าวคือ ไม่ว่า ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าหรือบริการอะไรออกมาก็จะมีผู้รับซื้ออยู่ตลอดเวลา นั่นคือ จะไม่เกิดภาวะสินค้าล้นตลาด ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือเกิดการว่างงาน ซึ่งต่อมาแนวความคิดนี้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เกิดปัญหาการว่างงานจำนวนมากใน ค.ศ. 1930 ซึ่งกฎของเซย์ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้
ในขณะนั้น จอห์น เคนส์ (John Keynes) แกนนำแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economics) ได้เขียนหนังสือชื่อ The General Theory of Employment, Interest and Money ซึ่งถือว่าเป็นตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเล่มแรกของโลก ใน ค.ศ. 1936 เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของภาวะสินค้าล้นตลาด เศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานจำนวนมากตลอดจนวิธีการแก้ไข นับเป็นครั้งแรกของวงการเศรษฐศาสตร์ที่ได้มีการศึกษาเศรษฐศาสตร์โดยรวมของทั้งระบบเศรษฐกิจหรือของทั้งประเทศ เคนส์มีความเชื่อว่าแนวความคิดที่ถูกต้องคืออุปสงค์จะเป็นตัวกำหนดอุปทาน ซึ่งตรงข้ามกับกฎของเซย์ โดยอุปสงค์และอุปทานดังกล่าวเป็นตัวมวลรวมของทั้งประเทศ เคนส์อธิบายว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำคือการที่ระบบเศรษฐกิจมีอุปสงค์มวลรวมน้อยเกินไป ดังนั้นวิธีแก้ไขคือการเพิ่มอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินการคลัง จะเห็นได้ว่าเคนส์เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนแรกของโลกที่กล่าวถึงหรือให้ความสนใจกับเศรษฐกิจมวลรวม อันเป็นมูลเหตุที่ทำให้มีการแยกศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคเศรษฐกิจส่วนย่อยซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์จุลภาค กับภาคเศรษฐกิจส่วนรวมซึ่งเรียกว่าเศรษฐศาสตร์มหภาค และยกย่อง ให้ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์เป็น บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค
นักเศรษฐศาสตร์ที่สำคัญ
• อัลเฟรด มาร์แชล ผู้ริเริ่มทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์จุลภาคเป็คนแรก เขียนผลงานพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ผลิต (เสนอทฤษฎีว่าด้วยการผลิต)
• จอห์น เมนาร์ด เคนส์ ผู้ริเริ่มทฤษฏี ทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นคนแรก ได้รับยกย่องว่าเป็น “บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค” โดยเสนอ นโยบายวิธีแก้ปัญหาการว่างงาน การเงิน การคลัง การออม การลงทุน
• อดัม สมิธ ชาวอังกฤษ “บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์” เขียนหนังสือ “An inquiry in to the Nature and causes of the Wealth of Nations” หรือ ความมั่งคั่งของประชาชาติ The Wealth of Nations เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์เล่มแรกกล่าวถึงทำอย่างไรประเทศจึงจะร่ำรวย พูดถึงเรื่องกลไกสำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างสังคมกับธุรกิจให้ผลประโยชน์ร่วมกัน เรื่องกลไกของตลาด การกำหนดมูลค่าของราคาสิ่งของ การบริหารการคลัง การกระจายรายได้ การค้าระหว่างประเทศ
• คาร์ล ไฮน์ริช มาร์กซ (Karl Heinrich Marx) คนนี้ เป็นชาวยิวในประเทศเยอรมนีโดยคาร์ล มาร์กซ์ (Carl Marx) เป็นผู้ประกาศลัทธินี้ Das Kapital (ทุน)เป็นหนังสือสำคัญของคาร์ล มาร์กซ์ กล่าวถึงวิธีการขูดรีดของนายทุนจากกรรมกร และแนวคิดเรื่องการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันและแบ่งผลประโยชน์อย่างเสมอภาค
ความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทย
ปี พ.ศ. 2454 พระยาสุริยานุวัตรได้แต่งตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทยขึ้นมีชื่อว่า “ทรัพยศาสตร์” โดยมีสาระเกี่ยวกับการสร้างทรัพย์และผลตอบแทนในรูปต่างๆ ได้แก่ ค่าเช่า ค่าจ้าง กำไร ฯลฯ แต่ก็มิได้นำออกเผยแพร่ในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 จึงได้พิมพ์เผยแพร่โดยใช้ชื่อว่า เศรษฐศาสตร์วิทยา ภาคต้น เล่ม 1 และในปี พ.ศ. 2459 กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ได้ ทรงแต่งตำราเรื่อง ตลาดเงินตรา ขึ้น แต่ก็ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก
การศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทยเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477 โดยได้มีการเปิดสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในขณะนั้นได้มีผู้รู้ทางเศรษฐศาสตร์ของไทยแต่งตำราเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมจากเดิม ได้แก่ นายสหัส กาญจนพังคะ แปลตำราชื่อ หลักเศรษฐศาสตร์ของชาลส์ จีด จากตำรา The Principles of Political Economy ของศาสตราจารย์ชาลส์ จีด (Charles Gide) ในปี พ.ศ. 2492 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้จัดแบ่งการศึกษาออกเป็นสาขาวิชาต่างๆ 4 คณะด้วยกัน คือ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ นับตั้งแต่นั้นมาจึงได้มีการศึกษา วิชาเศรษฐศาสตร์กันอย่างแพร่หลายในสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปัจจุบันในระดับปริญญาเอก รวมทั้งได้ขยายการศึกษาออกไปสู่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีด้วย
ทำไมต้องศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์
โดยธรรมชาติมนุษย์มีความต้องการตลอดเวลา และไม่มีที่สิ้นสุด แต่จำนวนสินค้าและบริการมีจำกัด ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างสินค้า บริการและความต้องการ จึงเกิดการเลือกที่จะต้องตอบสนองความต้องการ ในการเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้หมดโอกาสที่จะทำสิ่งอื่นไปโดยปริยาย เราเรียกว่าสูญเสียโอกาส จึงกล่าวว่าเมื่อตัดสินใจเลือกจะเกิดต้นทุนเกิดขึ้นพร้อมกันเราเรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส ดังนั้นการที่จะเลือกเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีต้นทุนต่ำสุด สรุปได้ว่า
1. ความต้องการมีไม่จำกัด (unlimited wants)
2. ทรัพยากรมีจำกัด (scarcity resources) ทำให้เกิดความขาดแคลน
3. จึงเกิดการเลือก (choice)
4. เมื่อเกิดการเลือกสิ่งที่ตามมาคืออะไร
สินค้าและบริการ(goods and services) เป็นสิ่งที่มีอรรถประโยชน์(utility)คือสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคได้รับความพอใจโดยไม่คำนึงว่าผิดกฏหมายหรือผิดศีลธรรม
สินค้าและบริการที่ใช้ตอบสนองความต้องการมนุษย์มี 2 ประเภท
1. สินค้าไร้ราคาหรือทรัพย์เสรี(free goods) มีตามธรรมชาติ เกินความต้องการของมนุษย์ ใช้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น น้ำ อากาศ แสงแดด
2.สินค้าทางเศรษฐศาสตร์หรือเศรษฐทรัพย์(economic goods) สินค้าที่มีต้นทุนการผลิต มีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ ต้องซื้อหรือจ่ายค่าตอบแทน
ผู้ศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์สามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมายดังนี้
1. ในฐานะผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ทำให้ตนได้รับความพอใจสูงสุดภายใต้ระดับรายได้ที่มีอยู่ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้นๆได้เป็นอย่างดี
2. ในฐานะผู้ผลิต ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิต สินค้าและบริการอย่างคุ้มค่า ประหยัด ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ธุรกิจได้รับกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตมีความเข้าใจในปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เช่น เข้าใจ ในความเป็นไปของปรากฏการณ์ของวัฏจักรเศรษฐกิจว่าโดยปกติเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆอย่างนี้เรื่อยไป ทำให้ผู้ผลิตสามารถตัดสินใจเลือกลงทุนในการดำเนินธุรกิจเหมาะสมกับสถานการณ์ ในขณะนั้นๆ เป็นต้น
3. ในฐานะรัฐบาล การที่รัฐบาลมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์จะทำให้เข้าใจลักษณะและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจและหาแนวทาง แก้ไข โดยกำหนดออกมาเป็นแผนและนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์แยกการศึกษาเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 2 สาขาใหญ่ๆ คือ
1. เศรษฐศาสตร์จุลภาค (microeconomics) เป็นการศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจในระดับหน่วยย่อยซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องราคา หน่วยธุรกิจ การดำเนินงานของตลาดต่างๆ นักเศรษฐศาสตร์บางท่านจึงเรียกวิชาเศรษฐศาสตร์อีกชื่อหนึ่งว่า ทฤษฎีราคา (Price Theory)
2. เศรษฐศาสตร์มหภาค (macroeconomics) เป็นการศึกษาภาวะเศรษฐกิจโดยส่วนรวม ทั้งระบบเศรษฐกิจหรือทั้งประเทศ อันได้แก่ การผลิตของระบบเศรษฐกิจ การบริโภค การออม และการลงทุนรวมของประชาชน การจ้างงาน ภาวะการเงินและการคลังของประเทศ ฯลฯ เศรษฐศาสตร์มหภาคโดยทั่วไปจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น รายได้ประชาชาติ วัฏจักรเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและระดับราคา การคลังและหนี้สาธารณะ เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ การเงินและสถาบันการเงิน และเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ฯลฯ
ความสัมพันธ์ของวิชาเศรษฐศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆ
เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในด้านต่างๆ เช่น การเลือกการผลิต การบริโภค การดำรงชีพ และการปฏิบัติต่อบุคคลต่างๆที่อยู่ในสังคมเดียวกันหรือต่างกัน ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงเป็นวิชาหนึ่งของสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในหมู่มนุษย์ที่มี ผลมาจากการอยู่รวมกันในสังคม
เศรษฐศาสตร์กับการบริหารธุรกิจ มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ ในการศึกษาเศรษฐศาสตร์นั้นส่วนหนึ่งจะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ผลิต เช่น การศึกษาทฤษฎีการผลิต ต้นทุนการผลิตและตลาด ฯลฯ ดังนั้นกล่าวได้ว่าการบริหารธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นการนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ให้ได้รับกำไรสูงสุดและธุรกิจเจริญเติบโตก้าวหน้า
เศรษฐศาสตร์กับรัฐศาสตร์ มีความสัมพันธ์กันในแง่ที่ว่าแต่ละประเทศจะไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญรุ่งเรืองได้หากประเทศไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่มีความมั่นใจจึงชะลอการลงทุน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าปัญหาการเมืองกับปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาควบคู่กันไม่สามารถแยกจากกันได้ กล่าวคือ จะต้องพัฒนาไปพร้อมๆกันประเทศจึงจะมีการพัฒนาอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ
เศรษฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม และส่วนหนึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นหากนักกฎหมายมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ย่อมจะเป็นผลดีต่อการตราหรือออกใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์เองจำเป็นจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายด้วย ทั้งนี้ เพื่อการใช้กฎหมายในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะได้เป็นไปตามที่มุ่งหวัง
เศรษฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งส่วนหนึ่งสามารถใช้เป็นบทเรียนหรือเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างน้อยที่สุดประวัติศาสตร์จะเป็นกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงลำดับของเหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้น
เศรษฐศาสตร์กับจิตวิทยา เนื่องจากวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาของมนุษย์ย่อมช่วยให้เข้าใจการกระทำบางอย่างของมนุษย์ได้ ในเวลาเดียวกัน นักจิตวิทยาอาจนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้
เศรษฐศาสตร์กับคณิตศาสตร์และสถิติ สาขาหนึ่งของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษากันอยู่ในปัจจุบันคือการศึกษาเศรษฐศาสตร์เชิงปริมาณ ซึ่งเป็นวิชาที่ต้องอาศัยคณิตศาสตร์และสถิติเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆหรือเพื่ออธิบาย ความสัมพันธ์ของตัวแปรทางเศรษฐกิจเหล่านั้น
กล่าวโดยสรุป เศรษฐศาสตร์มิใช่วิชาเอกเทศ ผู้ที่จะศึกษาเศรษฐศาสตร์ได้ดีและสามารถนำ ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ให้เกิดผลจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจศาสตร์อื่นๆด้วย แต่ก็มิได้ หมายความว่าจะต้องศึกษาศาสตร์ทุกแขนงโดยละเอียด เพราะอาจเป็นเรื่องสุดวิสัยที่จะทำได้ การศึกษา ศาสตร์อื่นๆเฉพาะในแง่ที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์จะช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ดีขึ้น
การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์
– การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์แบบใดที่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะเหตุใด
1. เศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริง หรือ เศรษฐศาสตร์พรรณา (Positive หรือ descriptive economics) การศึกษาเศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจหรือระบบเศรษฐกิจในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้รู้ว่าอะไรคือสาเหตุ ทำให้เราสามารถพยากรณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ทั่วๆไปได้ โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายทางสังคม ไม่นำเอาจริยธรรม ค่านิยม ความคิดทางสังคมมาพิจารณาร่วมด้วย เช่น กรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ การศึกษาเศรษฐศาสตร์ตามความเป็นจริงจะศึกษาเพียงว่า น้ำในแม่น้ำเน่าก่อให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นจำนวนเท่าไร จะไม่ชี้แนะว่ารัฐบสลควรจะดำเนินการเช่นไร เศรษฐศาสตร์ที่เป็นจริงถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง เพราะการศึกษาสามารถให้ข้อสรุปที่เป็นกฏเกณฑ์ได้
2. เศรษฐศาสตร์ตามที่ควรจะเป็น หรือเศรษฐศาสตร์นโยบาย (normative หรือ policy economics) การศึกษาที่กล่าวถึงพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจ หรือระบบเศรษฐกิจโดยมีการสอดแทรกข้อเสนอแนะที่เห็นว่าถูกหรือควรจะเป็นลงไปด้วย โดยคำนึงถึงเป้าหมายทางสังคม
สอดแทรกความต้องการของสังคม มีการนำเอาค่านิยม จริยธรรม แนวคิดทางสังคมเข้าร่วมพิจารณา เช่น รัฐบาลต้องการเพิ่มภาษีสินค้ารถยนต์ นอกจากศึกษาถึงผลกระทบต่างๆแล้วสิ่งที่อาจเกิดขึ้นยังศึกษาว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวเป็นธรรมหรือไม่ ให้ข้อชี้แนะแก่รัฐบาลว่าควรหรือไม่ควรขึ้นภาษีสินค้าชนิดนั้นหรือไม่ เศรษฐศาสตร์ที่ควรจะเป็นจะให้ข้อสรุปที่แตกต่างกันแล้วแต่การวินิจฉัยของบุคคลว่าอะไรถูก อะไรควร ไม่อาจกำหนดเป็นกฏเกณฑ์ที่ตายตัวได้
ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ทุกๆประเทศในโลกไม่ว่าจะมีระบบเศรษฐกิจแบบใดก็ตามต่างต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวทั้งสิ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ปัญหา คือ
1.ผลิตอะไร (what to produce) เนื่องจากทรัพยากรทางเศรษฐกิจของโลกมีจำกัดและไม่สามารถตอบสนองความต้องการทั้งหมดของมนุษย์ได้ จึงจำเป็นต้องมีการเลือกว่าจะผลิตสินค้าและบริการอะไรบ้าง ผลิตในจำนวนเท่าใด ลำดับของการผลิตควรเป็นอย่างไร อะไรควรผลิตก่อน อะไรควรผลิตหลัง เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด ไม่พอเพียงกับความต้องการ เราจึงควรเลือกผลิตสินค้า และบริการซึ่งเป็นที่ต้องการและมีความจำเป็นมากที่สุดก่อนเป็นลำดับแรก และผลิตตามความต้องการ ลดหลั่นลงมาเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อให้สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาได้นั้นสามารถนำไปใช้ตอบสนองความ ต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าไม่ผลิตตามความต้องการแล้วสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมา ได้ก็จะเกิดการสูญเปล่าเนื่องจากไม่ได้ถูกนำไปใช้ ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์
2.ผลิตอย่างไร (how to produce) เมื่อทราบแล้วว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าใด ปัญหาต่อมาก็คือจะเลือกใช้เทคนิคการผลิตอย่างไรจึงจะทำให้การผลิตสินค้าและบริการนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำที่สุด โดยให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ 3.ผลิตเพื่อใคร (for whom to produce) ปัญหาสุดท้ายคือ สินค้าและบริการที่ผลิตขึ้น มาได้แล้วนั้นจะจำหน่ายจ่ายแจกหรือกระจายไปยังบุคคลต่างๆในสังคมอย่างไร (ให้แก่ใคร จำนวนเท่าใด) จึงจะเหมาะสมและเกิดความยุติธรรม เพื่อแต่ละบุคคลจะได้ประโยชน์สูงสุดจากสินค้าและบริการนั้น
แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
1.ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม (capitalism) จะใช้กลไกตลาด (ราคา) หรือทีมักเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ ราคา จะเป็นตัวช่วยตอบปัญหาต่างๆตั้งแต่เริ่มผลิตอะไร อย่างไร และเพื่อใคร ปกติสินค้าและบริการใดที่เป็นที่ต้องการผู้บริโภคก็จะเสนอราคาซื้อสูง นั่นคือ ราคาจะเป็นตัวสะท้อนที่ทำให้ผู้ผลิตทราบความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าและบริการตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
2.ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะถูกกำหนดมาจากส่วนกลางหรือรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนดำเนินการสั่งการแต่เพียง ผู้เดียว เอกชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ รัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าใด อย่างไร และจำหน่ายจ่ายแจกหรือกระจายสินค้าและบริการไปให้กับใคร
3.ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบ เศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจนี้จึงใช้กลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม มีการใช้กลไกราคาอยู่บ้าง แต่ยังมีบทบาทค่อนข้างจำกัด
4.ระบบเศรษฐกิจแบบผสม แนวทางการแก้ไขปัญหาจะใช้ทั้งกลไกราคาและกลไกรัฐร่วมกันไป กล่าวคือ กิจการที่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อประชาชนโดยส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้บริการกับประชาชนเอง (กลไกรัฐ) แต่กิจการโดยทั่วไปจะปล่อยให้เป็นไปตามระบบของกลไกตลาด (ราคา)
หน่วยเศรษฐกิจและวงจรเศรษฐกิจ
หน่วยเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ครัวเรือน (Household) หมายถึง กลุ่มคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยมีการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับการขายปัจจัยการผลิตและซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อบริโภค
2. ธุรกิจ (Business) หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจซื้อปัจจัยการผลิตมาเพื่อทำการผลิตเป็นสินค้าและบริการ และขายสินค้าบริการที่ผลิตขึ้นให้กับผู้บริโภคในหน่วยเศรษฐกิจอื่น
3. รัฐบาล (Government) หมายถึง คณะรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในทางการเมือง และควบคุมดูแลการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจและครัวเรือน
ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยเศรษฐกิจคือวงจรเศรษฐกิจ กล่าวคือ ครัวเรือนจะเสนอขายปัจจัย และธุรกิจจะเป็นฝ่ายซื้อปัจจัย อำนาจของทั้ง 2 ฝ่ายจะเป็นตัวกำหนดราคาและปริมาณของปัจจัยในตลาดปัจจัย และสำหรับตลาดสินค้าและบริการก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ แรงผลักดันของธุรกิจซึ่งเป็นฝ่ายเสนอขายสินค้าและบริการกับครัวเรือนซึ่งเป็นฝ่ายซื้อก็จะกำหนดราคาสินค้าและบริการในตลาด
ประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจสามารถแบ่งได้เป็น 5 ยุคด้วยกันคือ
1. ยุคการล่า
มีการล่าสัตว์ ล่าอาณานิคมและล่าทรัพยากร เครื่องมือในยุคนี้คือ อาวุธ
2. ยุคเกษตรกรรม
มีการปลูกพืช และมีการปลูกเป็นจำนวนมาก ผู้ที่มีต้นทุนการปลูกที่ต่ำกว่าและนำเครื่องจักรมาใช้ในการเกษตรได้ก็จะร่ำรวยกว่า เช่น ประเทศอังกฤษ เป็นต้น ส่วนในระดับจังหวัดนั้น ถ้ายังอยู่ในภาคการเกษตรก็จะมีรูปแบบการพัฒนาแบบหนึ่งไปตามสังคมเกษตรกรรม ในขณะที่จังหวัดที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมแล้วก็จะมีรูปแบบการพัฒนาที่แตกต่างกันไป การนำผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าก็จะทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น แรงงานส่วนเกินในภาคเกษตรจึงเริ่มแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรมากขึ้น ทำให้หลายประเทศเริ่มเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน เครื่องมือในยุคนี้ที่ดินและแรงงาน
3. ยุคอุตสาหกรรม
ประเทศที่พัฒนาแล้วหรือ Industrial Country ซึ่งในระดับจังหวัดดูได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมมากหรือเป็นเขตอุตสาหกรรมหรือไม่ ถ้าเป็นอุตสาหกรรมก็จะบริหารสาธารณูปโภค สาธารณูปการและสิ่งแวดล้อม เครื่องมือในยุคนี้คือ เครื่องมือเครื่องจักร
4. ยุค IT ข้อมูลข่าวสาร โทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน
เป็นยุคที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ทั้ง Software และ Hardware ในการวิเคราะห์ ประเทศไหนที่เข้าสู่ยุคนี้ก่อนก็จะเป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา เข้าสู่ E-business และ E-learning เป็นต้น ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์และอินเดียเข้าสู่ยุคองค์ความรู้ เป็นต้น เครื่องมือในยุคนี้คือ เทคโนโลยี, ข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ต้องมีเหนือกว่าคนอื่น คือ ความสามารถและความรู้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและข่าวสารต่างๆ และต้องมีระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้เพื่อการตัดสินใจได้อย่างดีและรวดเร็ว ต้องมีความรู้แบบสหวิชา และ เปิดรับต่อองค์ความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา ดังนั้นการฝึกอบรม(Training) จึงมีความสำคัญมาก
5. ยุค GMOs หรือ พันธุวิศวกรรม

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
หมายถึง กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคน ซึ่งจะประกอบไปด้วย การผลิต (Production) การแลกเปลี่ยน (Exchange) การบริโภค (consumption)และการกระจาย (Distribution) โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วทำธุรกิจการค้าเพื่อมุ่งหวังการมีกำไร รายได้ จึงก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจขึ้นมา ทุกคนต้องทำหน้าที่เพื่อการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ด้วยกันเอง ซึ่งเป็นความต้องการแบบที่ไม่จำกัดขอบเขตในขณะที่สินค้าและบริการต่างๆที่มนุษย์ต้องการนั้นมีอยู่จำนวนจำกัด
ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ( Distribution )ประกอบไปด้วยคือ
1.การผลิต (production) เป็นการกระทำต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดเป็นสินค้าและบริการขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งมีความต้องการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด และสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตขึ้นมานั้นจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์มีอยู่ 2 ประเภท คือ ทรัพย์เสรี สินค้าสาธารณะ (Distribution)หรือสินค้าเสรีที่ได้เปล่า (Distribution)
ขั้นตอนการผลิตนี้สามารถแบ่งออกได้ 3 ขั้นตอนดังนี้
1.1การผลิตขั้นต้น( Distribution)เป็นขั้นตอนการผลิตที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากธรรมชาติโดยไม่มีการดัดแปลหรือแปรสภาพ เช่น การทำเกษตร ทำป่าไม้ เป็นต้น
1.2การผลิตที่สอง (Secondary production) เป็นกิจกรรมการผลิตที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าของวัตถุดิบที่ได้จากการผลิตขั้นต้น เพื่อให้มีคุณค่า และราคาสูงขึ้น
1.3 การผลิตขั้นที่สาม( Tertiary production) เป็นกิจกรรมการให้บริการที่จะช่วยให้การจำหน่ายจ่ายแจกผลผลิตที่เกิดจากขั้นต้นและขั้นที่สองไปสู่มือผู้บริโภค ซึ่งต้องอาศัยการคมนาคมขนส่งเป็นตัวกลาง
2.การแลกเปลี่ยน (exchange) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
2.1 การแลกเปลี่ยนสถานที่ จะทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนสถานที่ในการแลกเปลี่ยน
2.2 การแลกเปลี่ยนเจ้าของ มูลค่าของสินค้าจะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการเป็นเจ้าของสินค้า เช่น การค้าปลีก การค้าส่ง เป็นต้น
3. การกระจาย(Distribution) คือ การจำหน่ายสินค้า หรือบริการที่ผลิตขึ้นมาไปยังผู้บริโภค และการนำรายได้จากการจำหน่ายจ่ายแจกสินค้าหรือบริการนั้นๆ มาแบ่งสรรให้แก่เจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีส่วนร่วมในการผลิต
สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
3.1 การกระจายสินค้าบริการ จากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค
3.2 การกระจายรายได้ ให้แก่เจ้าของปัจจัยการผลิต
4.การบริโภค (consumption) เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจขั้นตอนสุดท้ายคือเป็นการใช้สินค้าและบริการตามความพึงพอใจของผู้บริโภคในแต่ละคน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ
4.1 การบริโภคโดยตรง คือ ตอบสนองความต้องการของร่างกาย
4.2 การบริโภคทางจิตใจ คือ การบริโภคตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ
4.3 การบริโภคทางอ้อม คือ การนำสินค้าและบริการไปสู่การผลิตอักกระบวนการหนึ่งซางจะสามารถนำมาตอบสนองความต้องการทางด้านร่างกายและจิตใจได้
ความแตกต่างของระดับความต้องการ
ความต้องการระดับ Needs
ความต้องการของมนุษย์ในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการความจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น ความต้องการ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ซึ่งถ้ามนุษย์ขาดสิ่งที่จะมาสนองความต้องการระดับนี้ การดำเนินชีวิตอาจสิ้นสุดลง หรือเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการระดับนี้เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด แต่เมื่อมนุษย์ได้รับสิ่งที่มาสนองความต้องการเหล่านี้แล้ว ก็อาจเกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้นไปอีก ซึ่งเรียกว่าเป็นความต้องการระดับ Wants
ความต้องการระดับ Wants
ความต้องการของมนุษย์ในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการความที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่สิ่งที่จะมาสนองความต้องการในระดับนี้ จะมีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นความต้องการที่เป็นการ อยากได้ มากกว่า จำเป็น เช่น ชื่อเสียง เงินทอง บ้าน รถ สิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้วถ้ามนุษย์ขาดสิ่งที่จะมาสนองความต้องการระดับนี้ก็ไม่เป็นไรดังนั้น มนุษย์บางกลุ่มจึงต้องดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการระดับนี้ ทำให้ความต้องการในระดับนี้เปลี่ยนแปลงได้บ่อยตามปัจจัยทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อบุคคลแต่ละคน
ความต้องการระดับ อุปสงค์ Demands
ความต้องการในระดับนี้นั้น หมายถึง ความต้องการอีกระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะประกอบด้วยความต้องการแล้วยังต้องมีอำนาจซื้อหนุนหลัง และเจ้าของความต้องการนั้นมีความเต็มใจที่จะจ่ายเงิน หรือกล่าวอีนัยหนึ่งก็คือ ความต้องการซื้อ นั่นเอง ซึ่งไม่ได้หมายถึงความต้องการในระดับ Wants แต่เป็นความต้องการที่มีอำนาจซื้อ กำกับอยู่ด้วย กล่าวคือ ผู้บริโภคจะต้องมีเงินเพียงพอ และต้องมีความเต็มใจ ที่จะจ่ายซื้อสินค้าและบริการนั้นๆได้ด้วย ซึ่งความต้องการในระดับอุปสงค์นี้ จะก่อให้เกิดการซื้อขายสินค้ากันขึ้นได้ และความต้องการในระดับอุปสงค์นี้ เป็นความต้องการที่ นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดสนใจ

Advertisement

Share this:

  • Twitter
  • Facebook

Like this:

ถูกใจ กำลังโหลด...

เรียนเศรษฐศาสตร์ไปเพื่ออะไร

เศรษฐศาสตร์จะเรียนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ การวิเคราะห์ตลาด ไปจนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆก็คือ การวิเคราะห์ตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งจะมีกราฟหรือตัวเลขเป็นเครื่องมือสำหรับบอกค่าต่างๆว่า แต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะอะไร และจะส่งกระทบอย่างไรต่อใครบ้าง ทุกอย่างจะเป็นเหตุเป็นผล ...

เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องในเรื่องใดมากที่สุด

เศรษฐศาสตร์ (อังกฤษ: economics) เป็นวิชาทางสังคมศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับการผลิต การกระจาย การบริโภคสินค้าและบริการ

เศรษฐศาสตร์จัดอยู่ในประเภทใด

เศรษฐศาสตร์ (Economics) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในวิชาสังคมศาสตร์ โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดการ รวมถึงการเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตที่มีอยู่อย่างจำกัด ในการผลิตสินค้าและบริการให้สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด

ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มีอะไรบ้าง

ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิตสินค้า และบริการอย่างคุ้มค่า ประหยัด ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ธุรกิจได้รับกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ช่วยให้ผู้ผลิตเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจ และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การที่เกิดขึ้น สามารถตัดสินใจเลือก ลงทุนหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสมกับ ...