โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไรและประกอบด้วยโรคอะไรบ้าง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไรและประกอบด้วยโรคอะไรบ้าง
09 ต.ค. 2017

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร และเกี่ยวข้องกับเชื้อ HIV อย่างไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือ STD (Sexually Transmitted Disease) หมายถึง โรคที่ติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง โดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีดังนี้:

  • HIV (Human Immunodeficiency Virus)

เป็นไวรัสสาเหตุของภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคเอดส์

  • หนองในเทียม (Chlamydia)

เป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดเชื้อโรคซึ่งไม่ใช่หนองในแท้ (Gonococcal Urethritis) สำหรับเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคหนองในเทียมที่พบบ่อยที่สุดคือ Chlamydia trachomatis คนไทยจะรู้จักกันในชื่อ “ฝีมะม่วง” ซึ่งหมายถึงต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบอักเสบจากการติดเชื้อ เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่มาด้วยก้อนที่ขาหนีบและปวด หรือที่ชาวบ้านเรียก “ไข่ดันบวม” ก็เกิดจากเชื้อ Chlamydia trachomatis นี่เอง

  • โรคติดเชื้อทริโคโมนาส (Trichomoniasis / Trich)

โรคติดเชื้อทริโคโมนาสเป็นโรคติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธุ์ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวชนิดหนึ่ง ปกติแล้วมักอาศัยอยู่ในช่องคลอด แต่ก็พบเชื้อนี้อาศัยอยู่ในท่อปัสสาวะ (องคชาติ) ของผู้ชายเช่นกัน ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการใดๆ แต่บางคนอาจตกขาวสีเหลือง มีลักษณะเป็นฟอง มีอาการคันที่อวัยวะเพศหรือเจ็บบริเวณแคมของช่องคลอด ส่วนผู้ชายมักจะไม่มีอาการ แต่อาจทําให้ปัสสาวะขัดได้ โรคติดเชื้อทริโคโมนาสติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธุ์ทางช่องคลอดกับผู้ที่เป็นโรคโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

  • โรคหนองในแท้ (Gonorrhea)

เป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria gonorrhoea เชื้อนี้จะทำให้เกิดโรคเฉพาะเยื่อเมือก mucous membrance เช่น

  • เยื่อเมือกในท่อปัสสาวะ, ช่องคลอด, ปากมดลูก และเยื่อบุมดลูก
  • ท่อรังไข่
  • ทวารหนัก
  • เยื่อบุตา
  • ปาก และคอ
  • โรคหงอนไก่ (Human papilloma virus / HPV)

HPV เป็นเชื้อไวรัสที่พบบ่อย คนส่วนใหญ่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้ โดยเฉลี่ยไวรัสนี้มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ และมากกว่า 30 สายพันธุ์เกิดบริเวณอวัยวะเพศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  1. ความเสี่ยงต่ำ: อาจทำให้เกิดหูดบริเวณอวัยวะเพศ ที่เรียกว่า condyolma หูดหงอนไก่
  2. ความเสี่ยงสูง: อีกประมาณ 13 ประเภทที่เป็นชนิดความเสี่ยงสูง สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกและทวารหนัก

บางคนที่ติดเชื้อ HPV โดยไม่มีอาการแสดงออกของโรคและหายไปเอง แสดงว่าเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมาก โดยทั่วไป HPV จะติดต่อกันโดยการสัมผัสผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศ บริเวณหูด หรือส่วนที่ติดเชื้อไวรัส เป็นส่วนน้อยที่ติดต่อกันจากการร่วมเพศทางปาก ซึ่งยังไม่มีผลยืนยันว่าการสัมผัสของนิ้วมือหรือวัตถุที่ติดเชื้อไวรัสจะสามารถส่งต่อเชื้อได้ ส่วนยารักษาในปัจจุบันยังไม่มีตัวยาที่ใช้ฆ่าเชื้อไวรัส HPV ได้ แต่ยาสามารถรักษาอาการของหูดได้

  • เริม (Genital herpes)

เริม คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มาจากเชื้อ herpes simplex virus type 1 (HSV-1) หรือ type 2 (HSV-2) ที่พบเห็นส่วนมากมักจะเป็นชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการติดเชื้อเริมที่ผิวหนัง ริมฝีปาก และอวัยวะเพศ อาจลามติดเชื้อไปที่ส่วนอื่นของร่างกายและทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ลักษณะผื่นของโรค herpes จะเหมือนกันไม่ว่าเกิดที่ไหน จะเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ บนผิวหนังที่อักเสบสีแดง

เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายและอยู่ในชั้นของผิวหนัง เชื้อจะแบ่งตัวทำให้ผิวหนังเกิดอาการบวมเป็นตุ่มน้ำและเกิดการอักเสบ หลังจากนั้นเชื้อจะเคลื่อนย้ายเข้าสู่ปมประสาท ganglia เป็นเวลานานโดยที่ไม่มีการแบ่งตัว แต่หากปัจจัยแวดล้อมเหมาะสมเชื้อก็อาจเกิดการแบ่งตัวได้ และทำให้เกิดอาการเป็นซ้ำ

ผู้ป่วยที่เป็นเริมที่ริมฝีปากจะมีอัตราการเกิดซ้ำประมาณร้อยละ 20-40 สำหรับเริมที่อวัยวะเพศจะมีอัตราการเกิดซ้ำประมาณร้อยละ 80

ปัจจัยที่กระตุ้นยังไม่แน่ชัด เชื่อว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับแสงแดด ไข้ การมีประจำเดือน ความเครียด การเป็นซ้ำจะมีอาการน้อยกว่า และหายเร็วกว่าการเป็นครั้งแรก

  • ซิฟิลิส (Syphilis)

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Treponema pallidum เชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อเมือกเช่น ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ปาก เยื่อบุตา หรือทางผิวหนังที่มีแผล เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้ากระแสเลือดและไปจับตามอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดโรคตามอวัยวะ

  • โรคไวรัสตับอักเสบบี

โรคตับอักเสบบี เป็นการอักเสบของตับซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี โดยเชื้อไวรัสจะบุกรุกเข้าสู่เซลล์ตับและก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น ในบางกรณีเชื้ออาจจะอยู่นิ่งเป็นปีๆ ซึ่งผู้ที่มีเชื้ออาจไม่ทราบว่าตนเองมีเชื้ออยู่ในร่างกาย เชื้อนี้สามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วในเซลล์ตับ ส่งผลก่อให้เกิดการอักเสบและทำลายตับ

  • โรคไวรัสตับอักเสบซี

ไวรัสตับอักเสบซี แพร่กระจายมากขึ้น เนื่องจากพบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยประมาณประมาณ 1-2% ของคนที่มาบริจาคเลือด หลังเป็นตับอักเสบแล้วก็มีแนวโน้มเกิดเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

20% ของผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังชนิดซี จะเป็นตับแข็งภายใน 10-20 ปี บางส่วนกลายเป็นมะเร็งตับ

แหล่งข้อมูล: www.adamslove.org