หลักฐานใดที่แสดงว่ากรุงศรีอยุธยา

ชื่อ ของเมืองสุพรรณบุรี มีที่มาจากหนังสือพระราชพงศาวดารเช่นเดียวกับชื่อของกรุงศรีอยุธยา เพราะจากเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึก หรือเรื่องในตำนานบางเรื่องนั้น ชื่อเดิมของเมืองสุพรรณบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้นคือ เมืองสุพรรณภูมิ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงที่เล่าเรื่องราวในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิรวมอยู่ในกลุ่มเมือง ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง คือ เมืองแพรก (ในจังหวัดชัยนาท) เมืองสุพรรณภูมิเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ซึ่งในท้องที่ของเมืองเหล่านี้ล้วนมีโบราณสถานที่มีอายุไม่น้อยกว่า เมืองลพบุรีอยู่ด้วย ดังนั้น การที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิอยู่รวม กับดินแดนของกรุงศรีอยุธยาในลักษณะของเมืองที่มีอำนาจ ที่เจ้าเมืองสามารถเข้ามาสืบราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาได้ด้วยนั้น แสดงว่า นอกจากการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยา จะเป็นการสืบอำนาจต่อจากเมืองลพบุรี โดยการสืบราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้ว ยังประกอบด้วยดินแดนของสุพรรณภูมิที่มีกษัตริย์ต่างราชวงศ์ปกครองสืบทอด กันมาอยู่ด้วยอีกส่วนหนึ่ง

ดินแดนของกรุงศรีอยุธยา จึงมีอาณาเขตที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่ม แม่น้ำภาคกลางทั้งหมด เป็นราชอาณาจักรที่มีอิทธิพลครอบงำตลอดทั้งแหลมมลาย ูและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การวมตัวกันได้ ระหว่างดินแดนที่สืบมาจากเมืองลพบุรีเดิมกับดินแดนของสุพรรณภูมินั้น สาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการเป็นเครือญาติ ที่สืบเนื่องมาจากการสมรสกันของราชวงศ์ทั้งสอง พระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยาบางฉบับที่เขียนขึ้นภายหลัง ที่กล่าวว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ หรือขุนหลวงพ่องั่ว เป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้น อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของดินแดนทั้งสองได้ กลายเป็นราชอาณาจักรที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงที่ชาวต่างประเทศเรียก ว่า ราชอาณาจักรสยาม โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือเมืองหลวง

ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษแรกของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของราช อาณาจักรนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า การรวมตัวกันระหว่างสองราชวงศ์ คือ ราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับราชวงศ์ของสุพรรณภูมิ ยังไม่ราบรื่นนัก ดังจะเห็นได้จากการแย่งชิงราชสมบัติกัน ระหว่างทายาทของทั้งสองราชวงศ์ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคต ราชสมบัติตกอยู่กับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ โดยการยินยอมของสมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งกลับไปครองเมืองลพบุรี แต่เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จจากลพบุรีเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์จากโอรสของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จสวรรคตแล้ว โอรสของพระองค์คือสมเด็จพระรามราชาธิราช ก็ได้สืบราชสมบัติต่อไปสมเด็จพระราเมศวรและสมเด็จพระรามราชาธิราช เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาสืบทอดต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ ๒๑ - ๒๒ ปี คือ ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๒

ในช่วงเวลานี้ จดหมายเหตุของจีนได้กล่าวถึงการที่เมืองสุพรรณภูมิได้ส่งราชทูตไปติดต่อ ค้าขายกับราชสำนักจีน แสดงให้เห็นว่า ทางเมืองสุพรรณภูมิได้ปลีกตัวออกจากอำนาจของกรุงศรีอยุธยาที่ปกครองโดย กษัตริย์ต่างราชวงศ์ ในขณะเดียวกัน ศิลาจารึกของสุโขทัยบางหลัก ได้แสดงให้เห็นถึงการที่เมืองสุพรรณภูมิได้เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับ ดินแดนสุโขทัยอย่างใกล้ชิด จนถึงกับมีการประกาศความเป็น ปฐพี เดียวกัน กับดินแดนสุโขทัย ในศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร หลักที่ ๓๘ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเมืองที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่าอำนาจที่ครองอยู่ที่ กรุงศรีอยุธยา กลุ่มบ้านเมืองสุพรรณภูมิสุโขทัย ที่รวมกันได้นี้ น่าจะตรงกับที่บางครั้งจดหมายเหตุจีนบางฉบับเรียกว่า เสีย น ด้วยเหตุนี้ เมื่อถึง พ.ศ. ๑๙๕๒ เจ้านครอินทร์แห่งเมืองสุพรรณภูมิ ก็สามารถเข้ายึดราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาได้ และขึ้นเสวยราชสมบัติ โดยทรงพระนามว่า สมเด็จพระนครินทราธิราช

ประวัติศาสตร์ไทยถือว่า สมเด็จพระนครินทราธิราชทรงเป็นกษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ แต่หากพิจารณาพระชาติกำเนิดของพระองค์อย่างละเอียด จะพบว่า มีหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกของสุโขทัย และตำนานเรื่องพระร่วงไปเมืองจีนของสุโขทัย ที่ให้ข้อมูล ซึ่งมีแนวโน้มน่าเชื่อถือว่า พระองค์ทรงมีเชื้อสายทางพระราชมารดาเป็น สุโขทัย นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่เป็นศิลาจารึก และลายลักษณ์อักษร มีเชื้อสายสุโขทัย โอรส และนัดดาของพระองค์ที่ทรงครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อๆ มานั้น ก็ล้วนมีเชื้อสายทางพระราชมารดาเป็นราชวงศ์สุโขทัยทั้งสิ้น

เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดเกี่ยวกับสมเด็จพระนครินทราธิราชนี้แสดงให้เห็น ว่า กรุงศรีอยุธยา ที่เกิดขึ้น และมีความเป็นปึกแผ่น เป็นศูนย์กลางการปกครองของสยามประเทศต่อมาอีกเป็นเวลายาวนานนั้น ดินแดน และราชวงศ์สุโขทัย มีส่วนเป็นอย่างมาก ในการสร้างความเป็นปึกแผ่นนี้ เพราะนับตั้งแต่สมเด็จพระนครินทราธิราชเสวย ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อมา กรุงศรีอยุธยาก็มี ฐานะของการเป็นศูนย์กลางอำนาจโดยชอบธรรม ของราชอาณาจักรสยาม ที่มีขอบเขตชัดเจนดัง กล่าวแล้วตลอดมา

นับตั้งแต่สมเด็จพระนครินทราธิราชเป็นต้นมา กษัตริย์องค์ต่อๆ มาของกรุงศรีอยุธยาที่สืบเชื้อสายมาจากพระองค์ ก็ได้ช่วยกันเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ราชอาณาจักร และราชบัลลังก์ ทั้งที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) โอรสของสมเด็จพระนครินทราธิราช ได้ยกทัพไปปราบเมืองพระนครหลวงกัมพูชา พระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า พระองค์ตีเมืองพระนครหลวงได้ ทรงให้โอรสองค์หนึ่งของพระองค์ ขึ้นครองเมือง และขนรูปเคารพต่างๆ จากเมืองพระนครหลวง มาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาเป็นจำนวนมาก บทบาทตอนนี้ของพระองค์ถือเป็นการทำลายศูนย์กลางอำนาจโดยชอบธรรมโบราณที่ เคยอยู่ที่เมืองพระนครหลวงลงอย่างสิ้นเชิง และย้ายศูนย์กลางอำนาจโดยชอบธรรมดังกล่าวมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาอันเป็น ศูนย์กลางของจักรวาลแห่งใหม่

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ได้เริ่มกระบวนการในการนำระบบศักดินาเข้ามากำกับตำแหน่งขุนนาง ตั้งแต่ระดับสูงสุด ไปจนถึงระดับไพร่และทาส เชื้อพระวงศ์ถูกรวมเข้ามาไว้ในระบบขุนนางศักดินานี้ทั้งหมด มีการจัดระดับความสำคัญของเมืองต่างๆ ซึ่งเจ้าเมืองจะมีฐานะเป็นขุนนางที่ถูกส่งไปจาก ส่วนกลาง มีการบังคับบัญชาลดหลั่นกันไป จาก พระมหากษัตริย์ลงไปสู่เจ้าเมืองและไพร่ทาส ทุกระดับ อันเป็นการจัดระบบที่สร้างความมั่นคง ให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์และราชอาณาจักร อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในการปกครองของชาวสยาม ซึ่งแต่ก่อนที่เคยมีมานั้น อำนาจของพระมหากษัตริย์ ยังต้องขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพส่วนพระองค์ที่ไม่ เหมือนกันในแต่ละรัชกาลเป็นสำคัญ ซึ่งบางครั้ง ก็สามารถยึดโยงเมืองต่างๆ สร้างความเป็นปึกแผ่น ให้แก่แว่นแคว้นได้ แต่หากสมัยใดพระมหากษัตริย์ ไม่เข้มแข็ง บ้านเมืองต่างๆ ก็จะแยกตัวออกเป็น อิสระได้ การจัดระบบบริหารราชอาณาจักรของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ ได้เป็นพื้นฐานที่ สำคัญของระบบบริหารราชการแผ่นดินที่ยึดถือ กันตลอดทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในด้านการศาสนานั้น กรุงศรีอยุธยาได้รับพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทเป็นศาสนาประจำแผ่นดิน แม้ว่าราชวงศ์กษัตริย์ ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา จะสืบเชื้อสายมาจากเมืองลพบุรี หรือละโว้ ซึ่งมีพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นหลักก็ตาม แต่รูปแบบของพระพุทธรูปแบบอู่ทอง อิทธิพลศิลปะลพบุรี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และอยุธยาตอนต้น ได้แสดงให้เห็น ถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนับถือจากมหายาน มาเป็นเถรวาทแล้ว วัดมเหยงค์ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา และรูปแบบทางศิลปะ ยืนยันว่า มีอายุไม่เก่าไปกว่าสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ นั้น การขุดค้นทางโบราณคดี กลับพบหลักฐานของวัดแห่งนี้ว่า เก่ากว่าหลักฐานที่มีบนผิวดิน ซึ่งสอดคล้องกับในตำนานที่กล่าวว่า วัดแห่งนี้มีมาก่อนสมัยการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และชื่อวัดมเหยงค์ ก็ยืนยันการสืบสายมาจากชื่อศาสนสถานมหิยังคณ์ของลังกา แสดงว่า วัดมเหยงค์ในกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นวัดทางพระพุทธศาสนาแบบลังกาแห่งแรก ที่สถาปนาไว้ ณ ที่นั้น

 คติเกี่ยวกับพระจักรพรรดิผู้สืบสมมติวงศ์ มีหน้าที่ค้ำชู และปกป้องแผ่นดิน อันเป็นที่ตั้งของพระพุทธศาสนา ถูกนำมาเสริมให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏคำบอกเล่าของชาวยุโรปในกรุงศรีอยุธยา ที่ได้ยินได้ฟังมาเกี่ยวกับปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาว่า คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือตำนานเรื่องราวของขุนหลวงสรศักดิ์ ซึ่งเป็นโอรสของสมเด็จพระเพทราชาแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงว่า แท้ที่จริงคือ โอรสของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น แสดงให้เห็นถึงการอธิบาย ในสมัยโบราณที่ต้องการแสดงการสืบราชบัลลังก์ ของกษัตริย์ว่า อยู่ในราชวงศ์เดียวกันมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีเรื่องราวที่เหมือนกับมีการเปลี่ยนราชวงศ์ หลายครั้งก็ตาม เหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพื่อยืนยันการเป็นพระจักรพรรดิผู้สืบสมมติวงศ์ตามคัมภีร์ ในพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อมีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังที่กรุงศรีอยุธยา จึงโปรดให้สร้างกำแพงล้อมรอบหลายชั้น โดยมีพระมหาปราสาทเป็นศูนย์กลาง และมีวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์อยู่ภายในบริเวณขอบเขตกำแพงพระบรมมหาราชวัง เพื่อแสดงความหมายว่า พระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยานั้น ทรงเป็นศูนย์กลาง มีอำนาจปกครองแผ่ไปทั้งจักรวาล เป็นอำนาจที่ให้การปกปักรักษาคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป จนครบ ๕,๐๐๐ ปี ซึ่งลักษณะโดยรวมของพระบรมมหาราชวัง ตามแบบแผนของกรุงศรีอยุธยาดังที่กล่าวมานี้ ได้ถือปฏิบัติเป็นคดีในการก่อสร้างพระบรมมหาราชวังสืบมาถึงปัจจุบัน

กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเมืองอื่นๆ ร่วมสมัยเดียวกัน จากบันทึกของชาวยุโรป ที่เข้ามาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงความมั่งคั่งของราชสำนัก ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายสมัยอยุธยา เนื่องจากทำเลที่ตั้งของเมือง อยู่ระหว่างบ้านเมืองในซีกโลกตะวันตกกับราชอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ของจีน จึงทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองศูนย์กลาง แวะพักค้าขายของพ่อค้า ทั้งจากทิศตะวันตก และมีสินค้าเครื่องถ้วยชามสังคโลกจากเมืองเหนือคือ แคว้นสุโขทัยเดิม ในระยะต่อมาก็เป็นสินค้าจากป่า เช่น ไม้หอม ไม้ฝาง หนังสัตว์ พริกไทย เป็นต้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จดหมายเหตุของจีนยังกล่าวถึงการซื้อข้าวจากกรุงศรีอยุธยากลับไปด้วย ทั้งหมดนี้ล้วนนำความมั่งคั่งมาสู่ราชสำนักอยุธยาเป็นอย่างมาก รวมทั้ง การรับเอาเทคนิควิทยาการใหม่ๆ จากชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขาย และเผยแผ่ศาสนาด้วย

แม้ว่ากรุงศรีอยุธยาจะต้องเสียเอกราชให้แก่พม่าในครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้รับความเสียหายมากเท่าไร เพราะการทำสงครามของพม่าในครั้งนั้น เพื่อต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจักรวรรดิพุกาม มากกว่าการปล้นสะดมทำลายล้างบ้านเมืองของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเมื่อพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่ง การเสียเอกราชครั้งแรกกลับ เป็นการแก้ไขปัญหาให้แก่กรุงศรีอยุธยาด้วย นั่นคือ ทำให้แนวคิดเก่าๆ ของขุนนางเชื้อพระวงศ์รุ่นเก่า เกี่ยวกับการเป็นอิสระปกครองตนเองของเมืองพระยามหานคร เช่น เมืองพิษณุโลก ศูนย์กลางของแคว้นสุโขทัยเดิมต้องหมดไป เพราะขุนนางเชื้อพระวงศ์เหล่านี้ ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยทั้งหมด ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำสงครามยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพม่าอย่าง เด็ดขาด และได้ขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว ขุนนางในราชสำนักกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ปราศจากแนวคิดเกี่ยวกับการแบ่งศูนย์อำนาจไปไว้ที่อื่น ล้วนแต่ยอมรับในอำนาจอันชอบธรรม ที่กรุงศรีอยุธยาเพียงแห่งเดียวอย่างมั่นคง และกรุงศรีอยุธยาก็พบกับความสงบสุขติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน

ความสงบสุขปราศจากภัยสงครามที่มีติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ทำให้กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ในความประมาท ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ เป็นต้นมา กษัตริย์ที่เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาส่วนมากขึ้นครองราชย์ โดยการปราบดาภิเษกยึดอำนาจ ในระยะแรกๆ ก็เป็นการเข้ายึดอำนาจ ที่สูญเสียชีวิตไม่มาก แต่เมื่อเวลายิ่งผ่านไป การแย่งชิงอำนาจนั้น ก็เป็นการทำลายชีวิตฝ่ายตรงข้ามอย่างมากมาย เช่น การแย่งชิงอำนาจระหว่างเชื้อสายของวังหลวง และวังหน้า เพื่อขึ้นเสวยราชสมบัติ หลายครั้งต้องสูญเสียชีวิตของทหารและเจ้านาย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของราชอาณาจักรลงอย่างมากมาย บรรดาขุนนางอื่นๆ ตามหัวเมือง ก็ต้องพิจารณาตัดสินใจว่า ควรจะเข้าร่วมกับฝ่ายใด เพื่อความอยู่รอดของตนเอง และเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตราชการของตน ดังนั้น กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แม้จะดูมีความสงบเรียบร้อย และมั่งคั่ง แต่แท้จริงแล้ว ความมั่นคงค่อยๆ ถูกทำลายลงไปทุกขณะ และลุกลามไปทั่วระบบการบริหารภายใน

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีข้าศึกจากภายนอกคือ พม่ายกทัพเข้ามารุกราน กรุงศรีอยุธยาจึงต้องเสียเอกราชให้แก่พม่าเป็นครั้งที่สองอย่างง่ายดาย เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้บรรยายภาพเหตุการณ์ ที่น่าเศร้าสลดใจ ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างชัดเจน เป็นภาพของทหารหัวเมืองที่อ่อนแอ พากันหนีเอาตัวรอด และปล่อยให้กองทัพพม่าเข้าล้อมพระนครอยู่เป็นเวลานาน ภาพของพระมหากษัตริย์ที่ทรงหวาดระแวงต่อผู้มีความสามารถ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือป้องกันพระนคร และทรงประมาทว่า ป้อมปราการ และอุทกภัยตามธรรมชาติ จะช่วยให้กรุงศรีอยุธยาอยู่รอดได้ ภาพของทหารป้องกันพระนคร ที่ปราศจากความรู้เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ภาพของผู้มีความสามารถ ที่ไม่กล้าเอาตัวเองเข้าเสี่ยง เพื่อช่วยเหลือกอบกู้สถานการณ์ ภาพของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้ป้องกันตนเองอย่างโดดเดี่ยว ไม่ได้รับการเหลียวแลจากส่วนกลาง จนต้องตายไปทั้งหมด ภาพของพลเมือง ที่ขาดที่พึ่งยึดเหนี่ยว ในการป้องกันชีวิตของตนเอง ต้องอาศัยผู้มีเวทมนตร์คาถามาช่วยเหลือ และสุดท้ายคือ ภาพของพระมหากษัตริย์ผู้สืบสมมติวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่ต้องตกเป็นเชลย และเสด็จสวรรคต ระหว่างทางที่ถูกจับไปเมืองพม่า กรุงศรีอยุธยาได้รับความเสียหายอย่างย่อยยับ จนยากที่จะฟื้นฟูให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองเหมือนเดิมได้อีก