คณะจิตวิทยา ทํางานอะไรได้บ้าง

จิตวิทยามีหลายสาขาตามที่ได้อธิบายไว้ในตอนที่ 3 (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุด) แต่ละสาขาเรียนแตกต่างกัน แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือความเป็นนักวิทยาศาสตร์ ศึกษาข้อเท็จจริงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ สร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายจิตใจของมนุษย์ เป้าหมายสูงสุดคือการทำนายและกำหนดพฤติกรรมในอนาคต

สายงานหลังจบการศึกษาด้านจิตวิทยาแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือสายวิชาการโดยตรง พัฒนาและสร้างความรู้ทางจิตวิทยา และอีกส่วนคือสายที่นำความรู้ในแต่ละสาขาไปประยุกต์ใช้

# สายวิชาการโดยตรง #

นักวิจัย

ไม่มีสายงานไหนที่ทุ่มเทชีวิตของตัวเองเพื่อค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ไปมากกว่านักวิจัย นักวิจัยคือคนที่ศึกษาข้อเท็จจริงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เริ่มจากตั้งหัวข้อที่จะศึกษา ตั้งสมมติฐาน ออกแบบการวิจัย เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล อภิปรายและสรุปผล เมื่อมีข้อมูลจากหลายงานวิจัยไปในแนวทางเดียวกันจะเกิดการสร้างทฤษฎีใหม่หรือล้มล้างทฤษฎีเดิม นักวิจัยสาขาจิตวิทยาคือคนสำคัญที่สร้างความรู้ด้านจิตวิทยาให้คนอื่นได้นำไปใช้ ส่วนจะเป็นงานวิจัยสาขาใดก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของนักวิจัย เช่น สาขาจิตวิทยาสังคม สาขาจิตวิทยาประสาท สาขาจิตวิทยาคลินิก

หลายครั้งจะเรียกคนที่ทำงานในกลุ่มวิจัย (รวมทั้งนักวิจัย) ว่างาน

Research and Development (R&D) มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่งจะเปิดรับสมัครนักวิจัย ส่วนในองค์กรเอกชนตำแหน่งนักวิจัยสาขาจิตวิทยายังไม่ค่อยเป็นที่นิยม ถ้าพิจารณาแนวโน้มในอนาคตบริษัทที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) น่าจะต้องการนักจิตวิทยามากขึ้น เพราะต้องการสร้าง AI ที่มีความคล้ายมนุษย์มากขึ้น นักวิจัยสาขาจิตวิทยาจะเป็นผู้ช่วยเหลือวิศวกรในการสร้าง AI เมื่อมองภาพรวมแล้วนักวิจัยในองค์กรรัฐบาลมีรายได้น้อยกว่านักวิจัยในองค์กรเอกชน แต่ในปัจจุบันองค์กรรัฐบาลเปิดรับตำแหน่งนักวิจัยสาขาจิตวิทยามากกว่าองค์กรเอกชน

นอกจากนี้ยังมีบางคนที่เป็นนักวิจัยอิสระ ไม่สังกัดหน่วยงานใด นักวิจัยอิสระก็คืออาชีพฟรีแลนซ์รูปแบบหนึ่ง รับทำวิจัยจากรัฐบาลหรือเอกชนทีละงานไป เมื่อจบงานก็แยกย้ายกัน นักวิจัยอิสระจะมีรายได้ไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับความยาก ความสำคัญ ต้นทุน และระยะเวลาในการวิจัย ถ้าเป็นงานวิจัยที่สำคัญหรือยากมาก ๆ อาจได้เงินถึงหลักล้านบาทต่อหนึ่งงาน แต่ต้องท่องไว้ในใจเสมอว่างานวิจัยมีโอกาสล้มเหลวได้ทุกเมื่อ เพราะการทำวิจัยคือการค้นพบสิ่งที่ยังไม่มีใครในโลกเคยค้นพบ (ยกเว้นงานวิจัยที่ทำซ้ำเพื่อทดสอบทฤษฎี)

อาจารย์มหาวิทยาลัย

อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอีกหนึ่งอาชีพสุดคลาสสิกที่ตรงสาย งานของอาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับนโยบายของมหาวิทยาลัย บางมหาวิทยาลัยเน้นสอนนิสิตนักศึกษามากกว่าทำวิจัย บางมหาวิทยาลัยเน้นทำวิจัยเพื่อสร้างผลงานให้มหาวิทยาลัย คุณสมบัติขั้นต่ำของตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยคือต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยา และมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มผลักดันให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเรียนจบปริญญาเอก (อาจเข้าทำงานก่อนแล้วมหาวิทยาลัยออกทุนให้อาจารย์ไปเรียนต่อปริญญาเอก)

มหาวิทยาลัยบังคับให้อาจารย์มหาวิทยาลัยทำวิจัยและตีพิมพ์ผลงาน ความรู้ด้านจิตวิทยาหลายอย่างก็มาจากงานวิจัยของอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เมื่อเทียบกับนักวิจัยแล้วนักวิจัยสามารถทุ่มเทเวลากับงานวิจัยได้มากกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องแบ่งเวลาไปสอนนิสิตนักศึกษา จัดเตรียมการสอน และทำงานของคณะหรือมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยจึง

เหมาะกับคนที่รักการสอนมากกว่าการทำวิจัยโดยตรง

# สายประยุกต์แต่ละสาขา #

สาขาจิตวิทยาสังคม

นักจิตวิทยาทำได้แทบทุกงาน เพราะแทบทุกงานต้องมีมนุษย์” ข้อความนี้เป็นเรื่องที่ฟังดูเกินจริง แต่คนที่เรียนจิตวิทยาหลายคนเห็นด้วยกับข้อความนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาจิตวิทยาสังคมจะยิ่งสอดคล้องกับข้อความนี้มากกว่าสาขาอื่น เพราะสาขาจิตวิทยาสังคมเรียนกว้างมากตั้งแต่เรื่องของคนสองคน ธุรกิจ ไปจนถึงเรื่องของคนทั้งโลก น้องสามารถย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดของสาขาจิตวิทยาสังคมได้ในตอนที่ 3 (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุด)

นักจิตวิทยาสังคมสามารถทำงานได้กว้างมากขึ้นอยู่กับหัวข้อที่ตัวเองสนใจ ตัวอย่างงานเช่น การตลาด, เซลล์แมน, โฆษณา, สื่อ, เนื้อหา, นักธุรกิจ, การเมือง, ระบบยุติธรรม, และงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยงานเหล่านี้นำความรู้ทางจิตวิทยาไปประยุกต์ได้ เช่น เจตคติ, แรงจูงใจ, การโน้มน้าวใจ, การต่อรอง, การตัดสินใจ, การคล้อยตามสังคม ฯลฯ

สายงานประยุกต์ของสาขาจิตวิทยาสังคมจะค่อนข้างซ้อนทับกับคณะอื่นเยอะ จะมองว่าเป็นเพราะคณะอื่นนำจิตวิทยาสังคมที่เกี่ยวข้องกับคณะของตัวเองไปสอนก็ได้ หรือจะมองว่านักจิตวิทยาสังคมพยายามพูดเข้าข้างตัวเองก็ได้ จริง ๆ แล้วนักจิตวิทยาสังคมจะเน้นไปที่การทำวิจัย (นักวิจัย) มากกว่าจิตวิทยาสาขาอื่น ถ้าเป็นสายงานประยุกต์ในธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบแล้วคณะอื่นเรียนมาตรงสาย มากกว่า เช่น สายบริหารธุรกิจก็เรียนธุรกิจมากกว่าจิตวิทยาสังคม แต่นักจิตวิทยาสังคมมีความรู้เรื่องจิตใจมนุษย์มากกว่าคณะอื่น ถ้ามีคนทั้งสองแบบอยู่ในธุรกิจเดียวกันก็จะช่วยกันเสริมความรู้ที่อีกคนไม่มี สิ่งที่ยากคือการนำเสนอตัวเองให้นายจ้างเห็นความสำคัญของการจ้างนักจิตวิทยาให้ทำงานในธุรกิจของตัวเอง

สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organization: I/O) โดดเด่นในสายงาน

ทรัพยากรบุคคล (Human Resource: HR) HR แบ่งย่อยได้เป็นฝ่ายจัดการบุคคล (Human  Resource  Management: HRM) ซึ่งเป็นงานจัดการกับพนักงานทั่วไป, ฝ่ายพัฒนาบุคคล (Human  Resource  Development: HRD) ซึ่งเน้นการพัฒนาทักษะและความรู้ของพนักงาน, และฝ่ายรับสมัคร (Human  Resource  Recruitment: HRR) ซึ่งรับสมัครและคัดเลือกพนักงานใหม่เข้าองค์กร องค์กรที่มีขนาดใหญ่จะมีพนักงานเดิมลาออกเยอะกว่าองค์กรขนาดเล็ก จึงต้องมีคนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับสมัครพนักงานใหม่โดยเฉพาะ

สายงาน HR เป็นตำแหน่งที่เปิดรับคนที่จบจากหลายคณะ เช่น คณะรัฐศาสตร์หรือคณะนิเทศศาสตร์ก็สามารถสมัครตำแหน่ง HR ได้ แต่ถ้าบริษัทมีผู้สมัครเป็นจำนวนมากส่วนใหญ่จะเลือกคนที่จบสาขาจิตวิทยา I/O หรือสาขาทรัพยากรบุคคล (ในคณะบัญชีหรือคณะที่ใกล้เคียง) เป็นลำดับแรก เนื่องจากเรียนมาตรงสายกว่าคณะอื่น HR เป็นสายงานที่หางานในภาคเอกชนง่าย เพราะทุกบริษัทต้องมี HR ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือบริษัทขนาดใหญ่

สาขาจิตวิทยาพัฒนาการ

อย่างที่กล่าวไปในตอนที่ 3 (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุด) สาขาจิตวิทยาพัฒนาการศึกษาจิตใจของมนุษย์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงตาย สายงานของนักจิตวิทยาพัฒนาการจึงแบ่งไปตามช่วงวัยที่สนใจ เช่น ถ้าทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุก็ทำงานในบ้านพักคนชราหรือองค์กรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ จัดหาวิธีดูแลจิตใจของผู้สูงอายุ จะดูแลผู้สูงอายุทั่วไปอย่างไร จะดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังอย่างไร (ลูกหลานอยู่คนละจังหวัด) จะโน้มน้าวใจและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างไร

สาขาจิตวิทยาพัฒนาการโดดเด่นในด้านวัยเด็กและวัยรุ่นมากที่สุด สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและวัยรุ่นจะเป็นงานที่อยู่ตามโรงพยาบาล (บำบัดเด็กและวัยรุ่นที่มีปัญหา) สถานศึกษา (แนะแนวนักเรียนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมนักเรียนแก่ครู) สถานรับเลี้ยงเด็ก (จัดกิจกรรมที่เหมาสมกับพัฒนาการของเด็ก) และระบบยุติธรรม (เป็นตัวกลางระหว่างอาชญากรที่เป็นเด็กและวัยรุ่นกับตำรวจและศาล)

สาขาจิตวิทยาการปรึกษา

นักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝัน เพราะอยากช่วยเหลือคนทั่วไปที่มีปัญหาทางจิตใจ (ถึงแม้คนทั่วไปมักจะสับสนกับนักจิตวิทยาคลินิกก็ตาม แต่จริง ๆ คืองานของนักจิตวิทยาการปรึกษา) หน้าที่ของนักจิตวิทยาการปรึกษาคือการช่วยเหลือผู้รับการปรึกษาที่กำลังมีปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องเพื่อน, ครอบครัว, ความรัก, การเรียน, การทำงาน, ปมในวัยเด็ก, ฯลฯ การช่วยเหลือไม่ใช่การให้คำปรึกษา ซึ่งได้กล่าวไปแล้วในตอนที่ 3 (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุด) นักจิตวิทยาการปรึกษาเป็นเพียงผู้ช่วยเหลือเท่านั้น รับฟังความรู้สึก ค้นหาสาเหตุของปัญหา และหาวิธีแก้ปัญหา แต่การตัดสินใจว่าจะทำตามหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้รับการปรึกษา

สายงานจิตวิทยาการปรึกษาในประเทศไทยยังมีอยู่น้อย เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับนักจิตวิทยาคลินิกมากกว่านักจิตวิทยาการปรึกษา (ซึ่งตามหลักการโรงพยาบาลทำถูกแล้ว) นักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำงานอยู่ใน

ศูนย์สุขภาพจิตมากกว่าโรงพยาบาล ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนสร้างแอพพลิเคชันที่พูดคุยกับนักจิตวิทยาการปรึกษาแบบออนไลน์ได้ ถือว่าเป็นการช่วยให้นักจิตวิทยาการปรึกษามีงานทำเพิ่มขึ้น และช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงนักจิตวิทยาการปรึกษาง่ายขึ้น (ถ้าไปโรงพยาบาลก็เจอแต่จิตแพทย์ อย่างมากก็เจอนักจิตวิทยาคลินิก ไม่ค่อยได้เจอนักจิตวิทยาการปรึกษา ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงนักจิตวิทยาการปรึกษายาก)

นักจิตวิทยาการปรึกษาต้องเรียนสาขาจิตวิทยาการปรึกษา

สาขาจิตวิทยาคลินิก

  ไม่ต้องสงสัยเลยว่านักจิตวิทยาคลินิกทำงานที่ไหน นักจิตวิทยาคลินิกคืออาชีพแรก ๆ ที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักนักจิตวิทยา ส่วนใหญ่ทำงานตาม

โรงพยาบาลแผนกจิตเวช มีหน้าที่คือการวินิจฉัยและรักษาโรคทางจิตเวช  (หมายความว่าเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่คนทั่วไปที่มีปัญหา) เช่น โรคซึมเศร้า, โรคไบโพลาร์, โรคจิตเภท ขอย้ำอีกทีว่านักจิตวิทยาคลินิกไม่ใช่ผู้ช่วยของจิตแพทย์ และจิตแพทย์ไม่ได้เหนือกว่านักจิตวิทยาคลินิก อ่านความแตกต่างระหว่างนักจิตวิทยาคลินิกกับจิตแพทย์ได้ในตอนที่ 2 (ลิงค์อยู่ด้านล่างสุด)

นักจิตวิทยาคลินิกต้องเรียนจบสาขาจิตวิทยาคลินิก และต้องมีใบประกอบวิชาชีพ

# สรุปและปิดท้ายตอน #

นักจิตวิทยาคือนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาจิตใจของมนุษย์ ดังนั้นสายงานที่ตรงสายมากที่สุดคือนักวิจัยสาขาจิตวิทยา เพราะเป็นงานที่ศึกษาจิตใจของมนุษย์โดยตรงผ่านการทำวิจัย นอกจากนี้การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตรงสาย

แต่ในความเป็นจริงคนที่เรียนจิตวิทยาไม่ได้อยากเป็นนักวิจัยหรืออาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหมด หลายคนอยากทำงานที่ประยุกต์ความรู้ในสาขาที่ตัวเองเรียนมา เช่น HR, นักจิตวิทยาคลินิก, นักจิตวิทยาการปรึกษา, นักจิตวิทยาพัฒนาการ มีคำกล่าวว่า “นักจิตวิทยาทำได้แทบทุกงาน เพราะแทบทุกงานต้องมีมนุษย์” แม้จะฟังดูเวอร์เกินจริง แต่ก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ คนที่เรียนจิตวิทยาจะเข้าใจความหมายของคำกล่าวนี้เป็นอย่างดี การทำงานด้านอื่นไปเลย เช่น การตลาด, สื่อ, โฆษณา จะเรียกว่าเป็นการทำงานข้ามสายก็พูดได้ไม่เต็มปากนัก เพราะสุดท้ายอาชีพที่ต้องเกี่ยวข้องกับมนุษย์ก็ต้องใช้จิตวิทยาอยู่ดี แม้แต่คณะอื่นหลายคณะยังต้องนำความรู้ด้านจิตวิทยาไปสอนในคณะของตัวเอง นักจิตวิทยาอาจจะเรียนเฉพาะทางมาไม่ลึกเท่ากับคณะที่เรียนโดยตรง แต่ถ้าพยายามศึกษาเพิ่มเติมและประยุกต์ความรู้ที่มีอยู่ก็สามารถทำงานด้านอื่นได้เช่นกัน

อีกปัญหาหนึ่งที่พบเจอบ่อยคือนายจ้างหลายคนไม่รู้ว่าจิตวิทยาเรียนอะไร บางคนคิดว่านักจิตวิทยาต้องทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น บางคนรู้เพิ่มขึ้นหน่อยว่านักจิตวิทยาทำงาน HR ได้ (คนที่รับสมัครพนักงานใหม่ก็คือ HR ด้วยกันนี่ล่ะ) ส่วนนอกจากนั้นมักจะคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับงานที่เปิดรับสมัคร บริษัทที่เคร่งมาก ๆ เห็นว่าเรียนไม่ตรงกับที่กำหนดก็ปัดทิ้งไปเลย บางบริษัทเปิดกว้างหน่อยคือให้โอกาสมาสัมภาษณ์งานก่อน ถ้าได้มีโอกาสสัมภาษณ์งานให้อธิบายว่าจิตวิทยาเรียนอะไร ทำงานอะไรได้บ้าง จิตวิทยาไม่ได้ทำงานแค่ในโรงพยาบาลหรือ HR เท่านั้น พร้อมยกตัวอย่างการประยุกต์ความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในธุรกิจ ยิ่งถ้ามีผลงานในอดีต เช่น เคยฝึกงานด้านนั้น หรือผลงานขณะเรียนที่เกี่ยวข้อง ก็จะยิ่งมีโอกาสได้ทำงานในด้านนั้นมากขึ้น

# เกี่ยวกับบทความชุดนี้ #

พี่ชื่อดาดา เรียนคณะจิตวิทยา จุฬาฯ มีน้องหลายคนสนใจคณะจิตวิทยา ทั้งรุ่นน้องที่โรงเรียนเก่า น้องที่สมัครค่ายเจาะจิต และน้องที่ถามพี่ในเว็บเด็กดี มีหลายคำถามและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคณะจิตวิทยา พี่ตอบคำถามไปหลายครั้งแล้วจนรู้สึกว่าควรเขียนบทความขึ้นมาจริงจังสักที ให้น้องรู้จักคณะจิตวิทยาอย่างละเอียดเลย ถ้ามีน้องตั้งกระทู้ถามในสิ่งที่พี่เคยเขียนในบทความชุดนี้แล้ว พี่จะให้ลิงค์บทความชุดนี้ให้น้องมาอ่านนะ

ถ้าสนใจเรื่องไหน หัวข้อไหน หรือมีคำถาม อยากให้พี่อธิบายก็โพสต์ตอบได้ในกระทู้เลย

[Review] คณะจิตวิทยา จุฬาฯ

อาจมีตอนอื่นเพิ่มในภายหลัง...

[Quiz] แบบทดสอบเกี่ยวกับจิตวิทยา
คุณรู้จัก "จิตวิทยา" มากแค่ไหน? - ทดสอบก่อนเลือกเข้าคณะ

ถ้าชอบ ถูกใจ หรือมีประโยชน์....
อย่าลืม SHARE ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านด้วยล่ะ