การเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันทำให้เกิดสิ่งใด

การเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันทำให้เกิดสิ่งใด

เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ฝูงโดรนโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันในประเทศซาอุดิอาระเบีย 2 แห่ง คือโรงกลั่นน้ำมันอับไคก์ โรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทซาอุดิอาระเบีย และอีกแห่งคือการโจมตีบ่อน้ำมันในเมืองคูไรส์ ซึ่งเป็นบ่อขุดเจาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ

เหตุโจมตีดังกล่าวทำให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรง ทำให้ต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงชั่วคราว และมีการคาดคะเนว่าแรงจูงใจเริ่มต้นน่าจะมาจากความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ผลที่สืบเนื่องตามมาก็คือ กำลังการผลิตน้ำมันของโลกลดลง และราคาก็ปรับตัวสูงขึ้น ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ทางซาอุดิอาระเบียก็ออกมาชี้แจงและรับประกันว่ายังมีน้ำมันสำรองในคลังอยู่ สามารถกลับมาเร่งผลิตได้เท่าเดิมในไม่กี่สัปดาห์ การแถลงข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง

ต่อกรณีดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร จงผาติวุฒิ จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์บ่อน้ำมันซาอุฯ ถูกโจมตี ราคาน้ำมันอยู่ที่ราวๆ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่หลังจากเกิดเหตุโจมตีผ่านไปได้ 2 วัน ราคาก็พุ่งไปอยู่ที่ 69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

“ราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับอะไร อันดับแรกก็เรื่องเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ คืออุปสงค์กับอุปทาน ยิ่งถ้าเศรษฐกิจขยายตัวมาก แต่ละประเทศต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ทำให้ใช้พลังงานเยอะ ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูง ในทางตรงข้าม ฝั่งอุปทานก็มีกลุ่มประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่หรือ OPEC ขึ้นอยู่กับปริมาณการผลิตและจำนวนน้ำมันคงคลังเป็นผู้ควบคุม”

อาจารย์ศิริพรระบุอีกว่า ปัจจัยอื่นๆ ที่ยังส่งผลต่อราคาน้ำมันคือปัญหาจากภัยพิบัติ สงคราม หรือแม้แต่ปัญหาทางการเมืองที่ส่งผลต่อการผลิต นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนก็มีผลต่อราคาน้ำมันเช่นกัน

สถานการณ์วิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้น สะท้อนความไม่แน่นอนอย่างสูง โดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน เนื่องจากการขนส่งน้ำมันโลกกว่าร้อยละ 20 จากดินแดนตะวันออกกลาง ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซของอิหร่าน หากถูกปิดก็จะไม่สามารถส่งน้ำมันได้ และยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองนี้จะจบลงเมื่อใด

“ตอนนี้ซาอุฯ เกิดปัญหา ประเทศที่เดือดร้อนหนักๆ คือจีนกับเกาหลีใต้เพราะเป็นลูกค้ารายใหญ่ แต่จีนประกาศแล้วว่าตอนนี้ตัวเองมีน้ำมันสำรองอยู่ 325 ล้านบาร์เรล สามารถใช้ได้นานราว 33 วัน ส่วนเกาหลีมีสำรองใช้ได้ประมาณ 90 วัน การถูกโจมตีในซาอุฯ 2 แห่ง คิดเป็นน้ำมันโลกหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 5 เปอร์เซ็นต์จากทั้งโลกซึ่งใช้ราวๆ 120 ล้านบาร์เรลต่อวัน”

สำหรับกรณีของประเทศไทย ภาครัฐกำหนดว่าต้องมีการสำรองพลังงานไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6  ของการผลิตทั้งปี หรือราว 20 วัน และหลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงพลังงานได้ออกมาแถลงยืนยันว่าไทยมีแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีสำรองน้ำมันทางกฎหมายและการค้ารวมได้ถึง 54 วัน ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในระยะสั้น

ทั้งนี้ อาจารย์ศิริพรอธิบายเพิ่มเติมว่า ไทยใช้ปริมาณน้ำมันวันละ 1 ล้านบาร์เรล มีการนำเข้าน้ำมันกว่าร้อยละ 88 โดยแบ่งเป็นประเทศจากในกลุ่มตะวันออกกลางกว่าร้อยละ 61 ตะวันออกไกลหรือมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย อีกร้อยละ 14 ที่เหลือจากประเทศอื่นๆ และมีการผลิตเองจากแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยกว่าร้อยละ 12

“ไทยเน้นการสั่งซื้อน้ำมันจากหลายๆ แห่ง ไม่พึ่งพาที่ใดที่หนึ่งอย่างเดียว เพราะหากเกิดปัญหาแล้วจะส่งผลกระทบสูง ถ้าที่หนึ่งมีปัญหาก็ไปซื้อที่อื่นได้ สิ่งที่แตกต่างกันคือน้ำมันของแต่ละประเทศซึ่งเป็นน้ำมันดิบมีความแตกต่างกัน บางที่ดีเซลเยอะ บางที่เบนซินเยอะ โรงกลั่นก็จะต้องทำงานเยอะหน่อยในช่วงนี้”

อาจารย์ศิริพรยังระบุอีกว่าวิกฤติน้ำมันที่เกิดขึ้นในอดีตจนถึงปัจจุบันคือการปรับตัวและแก้ไขสถานการณ์ ทำให้มีการพูดคุยถึงพลังงานทางเลือกซึ่งประเทศไทยสามารถผลิตได้เองโดยไม่ต้องนำเข้า โดยรัฐบาลเองก็มีนโยบาย (Bio Circular Green Economy) หรือ BCG เป็นการบูรณาการเศรษฐกิจการใช้ทรัพยากรชีวภาพ ทรัพยากรหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน

“BCG เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถทำได้ เราปลูกพืชพลังงานเองได้ และนำมาทำเป็นน้ำมันได้ แต่ตอนนี้ราคายังสูงกว่าน้ำมันดิบ 2-3 เท่า ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีต่อ ถ้าหากราคาถูกลงกว่านี้ เชื่อว่าเราไปต่อได้แน่นอน” อาจารย์ศิริพรกล่าวทิ้งท้าย

ทั่วโลกต่างก็ติดตามความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ หลังจากราคาลดต่ำลงกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล การดิ่งลงของราคาน้ำมันดิบเป็นไปอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา คาดกันว่าราคาคงจะลดลงไปอีก บางสำนักก็ทำนายว่าจะลงไปถึง 20 เหรียญ ข่าวดังกล่าวสร้างความตระหนกตกใจและทำให้เกิดความผันผวนทั่วกันไปหมด กลายเป็นวิกฤตการณ์น้ำมันขาลง กลับกันกับวิกฤตการณ์น้ำมันขาขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน

วิกฤตการณ์น้ำมันขาลงครั้งนี้ ได้ดึงเอาราคาสินค้าเกษตรเกือบทั้งหมด ทั้งที่เป็นสินค้าประเภทแป้ง ประเภทน้ำตาล ประเภทที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี อ้อย น้ำตาล น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง สินค้าเกษตรตามที่ว่ามาทุกชนิดมีราคาลดลงหมด คำถามขณะนี้ก็คือ สถานการณ์วิกฤตเช่นว่านี้จะดำรงคงอยู่ไปอีกนานเท่าใด จะมีผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกอย่างไรบ้าง

การเกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่เห็นอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นด้วยปัจจัยสองด้าน กล่าวคือ ทางด้านความต้องการใช้น้ำมันและพลังงานหรือทางด้านดีมานด์ (demand) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ทางด้านปริมาณการผลิตน้ำมันและพลังงานฟอสซิล หรือซับพลาย (supply) ที่มีการค้นพบพลังงานชนิดใหม่และแหล่งผลิตใหม่

ทางด้านความต้องการใช้พลังงานนั้น ชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ เรื่อยมาตั้งแต่หลังวิกฤตการณ์ หนี้ด้อยคุณภาพในปี 2008 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและของยุโรปชะลอตัวลง แต่ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของประเทศจีนขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นอัตราเลข 2 หลักติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 15 ปี แล้วจึงลดอัตราการขยายตัวลงมาเรื่อยๆ จนมาอยู่ที่ประมาณ 6.9 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 ซึ่งก็ยังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในโลก

การที่จีนสามารถขยายปริมาณและมูลค่าส่งออกได้ในอัตราสูงเป็นตัวเลข 2 หลัก จีนต้องนำเข้าสินค้าขั้นปฐมหรือวัตถุดิบจำนวนมหาศาล จึงเป็นเหตุให้ราคาสินค้าขั้นปฐมเป็นต้นว่า น้ำมันดิบ แร่ธาตุต่างๆ เช่น เหล็ก ทองแดง อะลูมิเนียม และอื่นๆ พากันขึ้นราคากันขนานใหญ่ ในขณะที่ตลาดสินค้าขั้นปฐมกำลังร้อนแรงก็เกิดการเก็งกำไร เกิดการกักตุนสินค้าเป็นจำนวนมาก ความต้องการเงินดอลลาร์จึงมีปริมาณสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ราคาน้ำมันดิบพุ่งสูงขึ้นไปกว่า 160 เหรียญต่อบาร์เรล การที่ราคาน้ำมันดิบมีราคาสูงขึ้นเช่นว่านั้น ก็เกิดการลงทุนในการค้นคิดหาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล รวมทั้งการลงทุนหาแหล่งพลังงานอื่นๆ

ในที่สุดสหรัฐอเมริกาก็ประสบความสำเร็จในการเจาะลงไปใต้พิภพลึกลงไปกว่า 10 กม. สามารถนำก๊าซและน้ำมันขึ้นมาบริโภคได้ในราคาถูกกว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นอันมาก จนสามารถใช้ทดแทนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลาง วันละประมาณ 10 ถึง 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเวลาผ่านไปปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐก็มีปริมาณมากขึ้นพร้อมๆ กับต้นทุนต่อหน่วยก็ลดลง จนเหลือที่จะส่งออกได้

สหรัฐอเมริกานั้นมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่มีนโยบายไม่ผลิตใช้เต็มที่ เพราะความคิดที่ว่าวันหนึ่งน้ำมันต้องหมดไปจากโลก สหรัฐคาดว่าถึงวันนั้นน้ำมันจะมีราคาแพงอย่างมหาศาล จึงมีกฎหมายห้ามส่งน้ำมันดิบออกไปขายในตลาดโลก

บัดนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนเทคโนโลยีการขุดเจาะภายใต้พิภพ ทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไปว่าก๊าซและน้ำมันมีอยู่อย่างไม่จำกัดและมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ปริมาณการผลิตก๊าซและน้ำมันจึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลจากการขุดขึ้นมาของสหรัฐอเมริกา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของจีนซึ่งขยายตัวในอัตราที่สูงเป็นตัวที่ค้ำเศรษฐกิจของโลกเอาไว้ไม่ให้ชะลอตัวตามวัฏจักร ก็เริ่มขยายตัวในอัตราต่ำลงเพราะตลาดสินค้าส่งออกที่สำคัญ อันได้แก่ สหรัฐและยุโรป ชะลอตัวลงตั้งแต่เกิดกรณีวิกฤตการณ์สินเชื่อด้อยคุณภาพตั้งแต่ปี 2008 ความต้องการนำเข้าน้ำมันดิบรวมทั้งแร่ธาตุวัตถุดิบ สินค้าการเกษตร เช่น ยางพาราและอื่นๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้กักตุนน้ำมันดิบ ยางพารา แร่ธาตุวัตถุดิบขาดทุนกันเป็นจำนวนมาก

ถ้าราคาน้ำมันดิบยังคงดำดิ่งลงมาต่ำกว่า 25 เหรียญต่อบาร์เรล โอกาสที่ราคาน้ำมันจะกลับพุ่งขึ้นก็จะเร็วยิ่งขึ้น เพราะราคาในระดับนี้ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปคก็คงจะประสบกับการขาดทุนกันหมด ผู้ผลิตหลายรายคงจะทนการขาดทุนต่อไปไม่ได้นาน

ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกมักจะเป็นประเทศที่ทำอย่างอื่นไม่เป็น เพราะการลงทุนในกิจการอื่นๆ ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในกิจการน้ำมัน รายได้ของรัฐบาลของประเทศผู้ผลิตน้ำมันเหล่านี้ กว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์เป็นรายได้จากการให้สัมปทานการขายน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เมื่อราคาน้ำมันลดลงรายได้จากธุรกิจน้ำมันจึงไม่เพียงพอที่จะชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ที่ตนกู้ยืมจากธนาคารต่างประเทศ ที่นำมาลงทุนพัฒนาประเทศ รายได้จากภาษีอากรก็มักจะมีน้อย ไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้จากการขายน้ำมัน สถานการณ์ค่อยๆ ดำเนินมาหลายปีแล้ว หลายคนวิตกว่าถ้าสถานการณ์ไม่พลิกกลับโดยเร็วอย่างที่คาดการณ์ไว้ วิกฤตการณ์ทางการเงินหรือวิกฤตการณ์ราคาปิโตรเลียมก็อาจจะเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ หนี้เสียของกิจการน้ำมันและพลังงาน อาจจะพาให้สถาบันการเงินล้มลงได้แบบเดียวกับกรณีวิกฤตการณ์หนี้ด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2008 แต่หลายคนก็คิดว่าคงจะไม่เกิดขึ้น

ภาพที่เคยวาดไว้ว่า อีกไม่เกิน 100 ปี น้ำมันและก๊าซหรือพลังงานฟอสซิลจะหมดไปจากโลก ราคาจะถีบสูงขึ้นไปเรื่อยๆ การลงทุนในการวิจัยและการสร้างพลังงานทดแทนได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล คงจะต้องมีการทบทวนใหม่ การผลิตสินค้าเกษตรพลังงานก็คงจะต้องทบทวน เพราะราคาน้ำมันจะดึงให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง แต่อีกด้านหนึ่ง ถ้าราคาน้ำมันยังคงต่ำกว่า 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล อุตสาหกรรมน้ำมันคงทนต่อการขาดทุนไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ปริมาณการผลิตก็จะลดลง ยืดเวลาการใช้พลังงานฟอสซิลให้ยืนยาวต่อไป การเมืองระหว่างประเทศก็คงจะเปลี่ยนไป ในสมัยที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่สูง ความสำคัญของตะวันออกกลางในทางการเมืองระหว่างประเทศก็จะมีสูง สันติภาพและความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค เส้นทางเดินเรือที่เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันมีความสำคัญอย่างมากต่อราคาน้ำมัน และเศรษฐกิจการเงินของโลก

สหรัฐอเมริกายอมทุ่มเทงบประมาณทางทหารของตนเพื่อรักษาอิทธิพลของตนไว้ เป็นทั้งแหล่งพลังงานป้อนความต้องการของตนและเป็นแหล่งระบายสินค้าประเภทอาวุธยุทโธปกรณ์ เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้จากการขายน้ำมันสูง บัดนี้ความสำคัญของภูมิภาคนี้ลดลง ประชากรมีรายได้ต่ำเพราะรัฐบาลมีรายได้จากการขายน้ำมันลดลง ความวุ่นวายความไม่พอใจรัฐบาลในภูมิภาคนี้ คงจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

เมื่อไม่มีมหาอำนาจเข้ามาจัดการด้วยกำลังอาวุธ หรือมีแต่ไม่ยอมรับภาระค่าใช้จ่าย การรบพุ่งต่อสู้กันเองในรัฐอาหรับคงจะมีสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ที่จะได้ค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับรัฐอาหรับมากยิ่งขึ้น

การเกิดขบวน “รัฐอิสลาม” ก็น่าจะเป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันลดลงมาเรื่อยๆ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพราะอำนาจรัฐอ่อนแอลง กระแส “อาหรับสปริง” เพื่อโค่นล้มรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาหรับก็น่าจะหวนกลับมาเป็นประเด็นสำคัญของโลกอีกครั้งหนึ่ง จากความไม่พอใจของประชาชนในภูมิภาคเพราะความร่ำรวยจากน้ำมันในอดีตที่กระจุกตัวอยู่ในหมู่ราชวงศ์ หรือหัวหน้าเผ่าที่มีชื่อเรียกต่างๆ กัน มิได้กระจายลงมาให้ทั่วถึง แต่เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำลง ประชาชนข้างล่างจะต้องเป็นผู้รับภาระ ความผันผวนทางการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางน่าจะเกิดขึ้นอีก เพราะการ “แบ่งการรับภาระย่อมจะยากกว่าการแบ่งผลประโยชน์” ปัญหาการเมืองนอกจากประเทศในกลุ่มอาหรับก็น่าจะเป็นไนจีเรีย เวเนซุเอลา ส่วนในอาเซียนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่อาจจะมีผลกระทบก็มีอยู่ 2 ประเทศ คือมาเลเซียและบรูไน แต่ก็คงไม่มีปัญหารุนแรงนัก

สำหรับประเทศไทยเราผลกระทบคงจะมีทั้ง 2 ด้าน ด้านแรกก็คือ รายจ่ายจากการนำเข้าพลังงานคงจะลดลง แต่ก็คงกระทบต่อการลงทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย การหาผู้รับสัมปทานคงหายากขึ้น หรือถ้าได้ก็คงจะได้เงื่อนไขไม่ดีเท่าเดิม สัมปทานใหม่คงจะทำยากเพราะการเมืองภายในประเทศที่ไม่สู้จะมีเหตุผลมาประกอบด้วย

ที่จะเห็นชัดโดยตรงก็คือ ราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพาราและธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย และน้ำตาล การปรับตัวสำหรับพืชล้มลุกอาจจะทำได้ง่ายกว่า แต่พืชยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ปัญหาคงจะหนักและเกิดขึ้นเร็ว ถ้าการตกต่ำของราคายืดเยื้อต่อไปเป็นเวลานาน นโยบายสินค้าเกษตรควรจะเป็นอย่างไร การใช้วิธีชดเชยราคาโดยไม่มีการจำกัดปริมาณการผลิต โดยใช้ภาษีอากรของคนทั้งประเทศ ควรทำเป็นครั้งคราวเมื่อจำเป็น แต่จะทำเป็นการถาวรคงเป็นไปไม่ได้

การพัฒนาอุตสาหกรรมใช้ยางภายในประเทศ โดยหน่วยงานของรัฐก็จะยิ่งสร้างปัญหาในการสูญเสียงบประมาณมากยิ่งขึ้น เพราะเท่ากับเอาภาษีอากรของคนไทยไปช่วยอุดหนุนผู้ใช้สินค้ายางพาราในต่างประเทศ

มีทางเดียวคือลดการผลิตลง ส่งแรงงานกรีดยางกลับบ้าน ถ้าเจ้าของสวนยางรายเล็กกรีดยางเองก็พออยู่ได้ในราคานี้ แต่นายทุนนายหัวที่มีสวนเป็นร้อยเป็นพันไร่ กรีดเองคงไม่ไหว อาจจะต้องปล่อยทิ้งไว้จนกว่าราคายางจะดีดกลับ ซึ่งไม่ทราบว่าจะนานเท่าใด

แล้วจะทำอย่างไร