คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสได้มีอะไรบ้าง

การ จดทะเบียนสมรส ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ควรจะมองข้าม งานแต่งงานที่จัดขึ้นเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งของชีวิตคู่ เป็นเพียงแค่วันประกาศว่า “คุณไม่โสดแล้วนะ” “คุณมีสามีหรือภรรยาแล้วนะ” แต่! ถ้าจะให้พูดได้เต็มปากเต็มคำว่า คุณและคนรักเป็นของกันและกัน เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย

การ จดทะเบียนสมรส นั้นอาจดูเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่แค่ไปอำเภอ เซ็นชื่อบนกระดาษ ก็เสร็จแล้ว ใช่ค่ะ แต่คุณก็ต้องเตรียมตัว และ เตรียมเอกสารให้พร้อม เวลาไปอำเภอจะได้ไม่เสียเที่ยวนะคะ วันนี้ VenueE เลยพาทุกคนมาเปิดคู่มือการจดทะเบียนสมรสกันนนน

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสได้มีอะไรบ้าง
ตัวอย่างใบสำคัญการสมรส

ทะเบียนสมรส คืออะไร?

ก่อนอื่นเลย คู่รักต้องรู้ก่อนว่า ทะเบียนสมรสคืออะไร ทะเบียนสมรส เป็นเอกสารทางกฎหมายเพื่อยืนยันสถานะการสมรสของบุคคลสองคน ให้มีสถานะเป็นสามี-ภรรยา หรือ คู่ชีวิต ให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย เช่น การรับรองบุตร การแบ่งสินสมรส รวมไปถึงการฟ้องหย่า

ข้อดีของการจดทะเบียนสมรส

  1. สามี-ภรรยาต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งหาเลี้ยงอีกฝ่าย หรือช่วยกันหาเลี้ยงกันและกัน
  2. ภรรยามีสิทธิ์ในการใช้ชื่อสกุลของสามี หรือ จะไม่ใช้ก็ได้ค่ะ
  3. ถ้าภรรยาเป็นชาวต่างชาติมีสิทธิ์ขอถือสัญชาติไทยตามสามีได้ถ้าต้องการ
  4. มีสิทธิ์จัดการทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส หรือ ที่เรียกว่า สินสมรสร่วมกัน
  5. มีสิทธิ์รับมรดกของคู่สมรสเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิตไปก่อน
  6. มีสิทธิ์รับเงินจากทางราชการ หรือ นายจ้าง เช่น กรณีที่คู่สมรสตายเพราะปฏิบัติหน้าที่ หรือจากการทำงาน (บำเหน็จตกทอด) หรือ การรับเงินสงเคราะห์บุตรตามกฎหมายแรงงาน
  7. มีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือ ค่าทดแทนจากผู้ที่ทำให้คู่สมรสของตัวเองเสียชีวิตได้
  8. สามารถหึงหวงคู่สมรสของตัวเองได้ตามกฎหมาย และ หากพบว่าคู่สมรสมีชู้ ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้ทั้งจากคู่สมรสและชู้ค่ะ
  9. บุตรมีฐานะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้นามสกุลพ่อได้ สมัครเข้าเรียนได้ และ รับมรดกจากผู้เป็นพ่อได้ (ทั้งนี้ บุตรเป็นสิทธิ์ตามชอบธรรมตามกฎหมายของแม่อยู่แล้วค่ะ)
  10. ได้รับการลดหย่อนค่าภาษีเงินได้ตามเงื่อนไขการลดหย่อนภาษี ได้แก่ ลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนบิดามารดาของคู่สมรส ลดหย่อนประกันชีวิตของคู่สมรส ลดหย่อนประกันสุขภาพของบิดามารดาคู่สมรส ลดหย่อนบุตร
  11. สามี-ภรรยาที่ทำความผิดระหว่างกัน เช่น สามีขโมยเงินภรรยา ภรรยาบุกเข้าบ้านสามี ผู้ที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย
  12. สามีหรือภรรยาฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำร้ายคู่สมรสของตัวเองได้ เช่น หากภรรยาถูกโจรปล้น สามีสามารถฟ้องร้องดำเนินดคีแทนได้ค่ะ

ข้อเสียของการจดทะเบียนสมรส

  1. การจัดการทรัพย์สินจะยุ่งยากมากขึ้นเพราะเป็นสินสมรส ดังนั้นจะจัดการทรัพย์สิน เช่น จะซื้อ จะขาย จะปล่อยเช่า หรือจะยกหนี้ ฯลฯ ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย
  2. ดอกผลจากสินส่วนตัวของเรา รวมถึงเงินเดือนของเรา โบนัสของเรา หลังแต่งงานจะถือเป็นสินสมรสด้วย
  3. ถ้าเป็นหนี้ที่มีมาก่อนจดทะเบียนสมรส จะยังคงเป็นหนี้ส่วนตัวของใครของมัน ใครก่อหนี้ไว้คนนั้นต้องรับผิดชอบเอง แต่หากทรัพย์สินส่วนตัวมีไม่พอสำหรับการชดใช้หนี้ เจ้าหนี้ก็จะสามารถมายึดสินสมรสได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยึดได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสินสมรส
  4. ถ้าเป็นหนี้หลังจดทะเบียนสมรส กฎหมายให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ในการบังคับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องสามีภรรยาเพื่อบังคับเอากับสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่ายได้ แม้ว่าคู่สมรสอีกฝ่ายจะมิได้ลงชื่อร่วมในฐานะคู่สัญญาด้วยหรือไม่ก็ตาม

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสได้มีอะไรบ้าง

คุณสมบัติของผู้จดทะเบียนสมรส

  1. อายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว สามารถทำการจดทะเบียนสมรสได้ด้วยตัวเอง
  2. อายุมากกว่า 17 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย
  3. อายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์ จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อนค่ะ
  4. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
  5. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา (มีพ่อหรือแม่คนเดียวกัน)
  6. ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น (ห้ามจดทะเบียนสมรสซ้อน)
  7. ไม่เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรม 

สำหรับผู้หญิงที่เคยจดทะเบียนมาก่อนหน้านี้ ถ้าจะจดกับสามีคนใหม่จะต้อง เว้นระยะเวลาจากการหย่าครั้งล่าสุดอย่างน้อย 310 วัน เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ค่ะ เว้นแต่ว่าถ้ามีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ไม่จำเป็นต้องรอ 310 วัน

  1. คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
  2. มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
  3. ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้ 

เอกสารจดทะเบียนสมรส 

  1. บัตรประชาชนตัวจริงที่ยังไม่หมดอายุ หรือ บัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ พร้อมด้วยสำเนา
  2. ทะเบียนบ้านตัวจริง และ สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. พยาน 2 คน (พร้อมบัตรประชาชนตัวจริงและสำเนาของพยานด้วย) ที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
  4. ถ้าเคยหย่ามาก่อน ต้องมีหลักฐานการหย่า เช่น ใบสำคัญการหย่า
  5. กรณีคู่สมรสคนก่อนหน้าเสียชีวิตแล้ว ต้องมีหลักฐานการเสียชีวิต เช่น ใบมรณบัตร
  6. สูจิบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร กรณีที่มีลูกก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสค่ะ
  7. แบบฟอร์ม คร.1 ซึ่งสามารถขอได้จากที่อำเภอ หรือสำนักทะเบียนที่ไปจดทะเบียนสมรส
  8. กรณีชาวต่างชาติ จะต้องมีหนังสือเดินทาง (Passport) ตัวจริง และ แบบฟอร์มรับรองที่ได้จากสถานทูตหรือกงสุลที่แปลแล้ว

ขั้นตอนการจดทะเบียนสมรส 

  1. ตรวจสอบเอกสาร
  2. สอบถามข้อมูลทั่วไป
  3. สอบถามการยินยอมเปลี่ยน/ไม่เปลี่ยนคำนำหน้า
  4. เซ็นเอกสารพร้อมด้วยพยาน 2 คน
  5. รับหลักฐานหรือใบสำคัญการสมรส 

โดยขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสอาจเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับแต่ละสำนักทะเบียนนั้น ๆ ซึ่งปกติจะใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง หรืออาจเร็วกว่านั้นค่ะ

ค่าธรรมเนียม

  1. การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จด ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม 
  2. การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียน ต้องเสียค่าธรรมเนียน 200 บาท  พร้อมจัดยานพาหนะ รับ – ส่ง นายทะเบียน 
  3. การจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกล เสียค่าธรรมเนียม 1 บาท

จดทะเบียนสมรสตอนไหนได้บ้าง? 

ในการจดทะเบียนสมรสนั้นจะต้องอยู่ในวันและเวลาทำการของสำนักทะเบียนคือ วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. (เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และ พักเที่ยง) โดยยึดเป็นเวลามาตรฐานทั้งการจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต สำนักงานทะเบียนเขตพื้นที่ รวมไปถึงการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักงานทะเบียนด้วยค่ะ 

การแก้ไขเอกสารหลังสมรส 

ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหญิงมีการยินยอมที่จะเปลี่ยนคำนำหน้า เปลี่ยนนามสกุล อย่าลืมว่าต้องไปดำเนินการแก้ไขเอกสารสำคัญกันด้วยนะคะ เช่น

  1. บัตรประชาชน
  2. ใบขับขี่
  3. หนังสือเดินทาง (Passport)
  4. วีซ่า
  5. บัญชีธนาคาร
  6. บัตรเครดิต
  7. ประกันสังคม
  8. ประกันสุขภาพ 

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสได้มีอะไรบ้าง

ซึ่งในปัจจุบัน กรมการปกครองได้ให้งานบริการงานทะเบียน และ บัตรประจำตัวประชาชน รูปแบบใหม่สไตล์ New Normal ด้วยการเปิดให้จองคิวบริการนัดหมายล่วงหน้าแบบออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ https://q-online.bora.dopa.go.th/

ซึ่งในเว็บไซต์นี้ คู่สามี-ภรรยา สามารถเลือกงานบริการ การจดทะเบียนสมรส ได้ รวมทั้งสามารถเลือก สำนักทะเบียน อำเภอ จังหวัด และ วัน – เวลา ได้อีกด้วย ทำให้คู่สามี-ภรรยา ไม่ต้องเสียเวลารอคิวนาน ๆ ค่ะ

สำหรับคู่สามี-ภรรยา ที่มีแพลนจะจดทะเบียนสมรส ก็อย่าละเลยข้อควรรู้เหล่านี้กันนะคะ นอกจากนี้ยังควรเช็กเรื่องทรัพย์สินให้ดี ว่าส่วนไหนเป็นสินส่วนตัว ส่วนไหนเป็นทรัพย์สินที่หาได้ร่วมกัน และ ถือว่าเป็นสินสมรสที่ต้องดูแลร่วมกันค่ะ

คลิกชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ VenueE หรือ ติดตามบทความอื่นๆ ผ่านทาง VenueE blog และสามารถติดตาม เพจเฟสบุ๊ค VenueE

  • 5 สถานที่จัดงานแต่งงานในฝันที่สาวๆ หมายปอง
  • 5 เวดดิ้งแพลนเนอร์ สุดเจ๋ง ช่วยบริหารจัดงานแต่งให้คุณได้ดั่งใจฝัน
  • เคล็ดลับจัดงานแต่ง Virtual Wedding ให้ออกมาปังเวอร์
  • รวม 9 สถานที่จัดงานแต่งงานขนาดเล็ก สไตล์ Micro wedding
  • รวมลิตส์ เพลงงานแต่ง เพราะ ซึ้ง กินใจคนทั้งงาน